fbpx
ความร่วมมือระดับภูมิภาคกับการรับมือโควิด-19 ของเอเชียใต้

ความร่วมมือระดับภูมิภาคกับการรับมือโควิด-19 ของเอเชียใต้

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

นับจนถึงตอนนี้สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ถือว่าอยู่ในระดับการแพร่กระจายไปทั่วโลก (pandemic) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันสถานการณ์ในกลุ่มประเทศยุโรปค่อนข้างเลวร้าย ขณะที่สถานการณ์ในประเทศจีนซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการแพร่ระบาดค่อยๆ ดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ในพื้นที่อื่นๆ เพิ่งเข้าสู่ระยะเริ่มต้นเท่านั้น หลังจากหลายประเทศมีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สิ่งที่องค์การอนามัยโลกกังวลมากที่สุดคือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาซึ่งความสามารถทางด้านสาธารณสุขและการแพทย์ยังคงล้าหลัง

แน่นอนว่าเอเชียและแอฟริกาเป็นทวีปที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง เพราะมีประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก และมีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น หนึ่งในภูมิภาคซึ่งอยู่ในสภาพที่เสี่ยงค่อนข้างมากนั่นคือภูมิภาคเอเชียใต้ เพราะถูกจัดเป็นเป็นกลุ่มประเทศที่มีจำนวนประชากรหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในขณะที่การบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขยังคงขาดความก้าวหน้า ยิ่งไปกว่านั้นเอเชียใต้ยังเป็นภูมิภาคที่มีการเชื่อมโยงติดต่ออย่างใกล้ชิดทั้งจากประเทศจีน เอเชียตะวันตก และยุโรป หลายประเทศในภูมิภาคนี้มีแรงงานจีนจำนวนมหาศาลเข้ามาทำโครงการการพัฒนา ในขณะเดียวกันชาวมุสลิมจำนวนมากในภูมิภาคนี้ก็เดินทางไปแสวงบุญในประเทศอิหร่านซึ่งเป็นพื้นที่การระบาด

บทความนี้จึงจะชวนสำรวจสถานการณ์ในภูมิภาคนี้ วิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงของการแพร่ระบาด ตลอดจนศึกษาแนวทางการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่นับจนถึงวันนี้เอเชียใต้เป็นภูมิภาคเดียวของโลกที่เหล่าผู้นำประเทศจัดประชุมเร่งด่วนเพื่อหามาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน

 

สถานการณ์โควิด-19 ในเอเชียใต้

 

เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ต้องบอกก่อนว่าภูมิภาคเอเชียใต้นั้นประกอบไปด้วยประเทศอะไรบ้าง ซึ่งโดยปกติการนับประเทศในภูมิภาคนี้จะพิจารณาจากการเป็นสมาชิกของสมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ (South Asian Association for Regional Cooperation : SAARC) ซึ่งประกอบไปด้วย 8 ประเทศสำคัญ คือ อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ เนปาล ศรีลังกา มัลดีฟส์ ภูฏาน และอัฟกานิสถาน

หากพิจารณาจากภูมิศาสตร์จะเห็นว่าภูมิภาคนี้อยู่ติดกับพื้นที่แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสทั้งจีนและอิหร่าน แม้ว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในบริเวณนี้จะค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนหรือนักศึกษาที่เดินทางไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ แต่ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มกระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะนับตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมเป็นต้นมา ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ปัจจุบันหากอ้างอิงจากตัวเลขผู้ติดเชื้อจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ พบว่าในวันที่ 18 มีนาคม 2563 เอเชียใต้มีผู้ติดเชื้อรวมกันทั้งสิ้น 498 คน ในจำนวนนี้หายจากการรักษา 22 คน และเสียชีวิต 4 คน ในขณะที่ตัวเลข ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 เอเชียใต้มีผู้ติดเชื้อรวมกันเพียง 8 รายเท่านั้น

 

ประเทศ

ผู้ติดเชื้อ หายป่วย เสียชีวิต
1. ปากีสถาน 254 2 0
2. อินเดีย 152 14 3
3. ศรีลังกา 45 1 0
4. อัฟกานิสถาน 22 1 0
5. มัลดีฟส์ 13 0 0
6. บังกลาเทศ 10 3 1
7. เนปาล 1 1 0
8. ภูฏาน 1 0 0

รวม

498 22 4

ข้อมูลตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในภูมิภาคเอเชียใต้ ณ วันที่ 18 มีนาคม 2563 / ที่มา: https://coronavirus.jhu.edu/map.html

 

ปัจจัยสำคัญซึ่งส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คือ สถานการณ์การระบาดที่ขยายตัวไปหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันตก อย่าง อิหร่านและกลุ่มประเทศอ่าวทั้งหลาย รวมถึงในทวีปยุโรป อย่างอิตาลี แม้ว่าหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้จะยกระดับมาตรการในการป้องผู้ติดเชื้อขั้นสูงสุด เช่น ในอินเดียหลังมีการระบาดของไวรัสในจีน ได้ปิดรับคนจีนเข้าประเทศ รวมถึงผู้ที่เคยเดินทางไปประเทศจีนทั้งหมด เป็นต้น แต่การแพร่ระบาดยังคงเกิดขึ้น เนื่องจากมิได้มีมาตรการในการป้องกันการเข้าประเทศของกลุ่มประเทศใหม่ๆ ข้างต้น ตัวแปรดังกล่าวส่งผลให้ทุกประเทศในภูมิภาคพบผู้ติดเชื้อ แม้กระทั่งภูฏานที่ขึ้นชื่อเรื่องการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว

ตลอดหลายวันที่ผ่านมา การระบาดในภูมิภาคนี้เป็นการนำเข้ามากกว่าการติดเชื้อภายในประเทศจนหาต้นตอไม่ได้ ปัจจุบันประเทศซึ่งมีการระบาดหนักที่สุดในภูมิภาคคือปากีสถาน เพราะประชาชนจำนวนมากเดินทางไปแสวงบุญในประเทศอิหร่านและรับเชื้อกลับมา รัฐบาลปากีสถานจึงประกาศปิดพรมแดนฝั่งที่ติดกับประเทศอิหร่านเพื่อลดการเคลื่อนย้ายประชากรและสั่งกักตัวผู้กลับจากอิหร่านทั้งหมดเพื่อควบคุมโรค รองลงมาคืออินเดียซึ่งส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อเดินทางมาจากกลุ่มประเทศอ่าวและยุโรป ส่งผลให้รัฐบาลต้องออกมาตรการปิดประเทศไม่รับชาวต่างชาติเข้าประเทศจนถึงกลางเดือนเมษายน

ความวิตกกังวลต่อการระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวภายในภูมิภาคส่งผลให้อินเดียตัดสินใจเรียกประชุมด่วนผู้นำในกลุ่มประเทศเอเชียใต้เพื่อหารือในการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยหวังจะให้เกิดการประสานความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อให้ผ่านวิกฤตนี้ร่วมกันในวันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา

ความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อรับมือวิกฤตโรคระบาดของเอเชียใต้

 

สถานภาพขององค์การระดับภูมิภาคของเอเชียใต้ที่นิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า ‘ซาร์ก (SAARC)’ นั้น อยู่ในขั้นโคม่ามาตั้งแต่ราวปี 2015 ภายหลังจากเกิดปัญหากระทบกระทั่งกันระหว่างอินเดียและปากีสถาน ความขัดแย้งของทั้งสองประเทศส่งผลให้ความร่วมมือระดับภูมิภาคต้องหยุดชะงักไป ไม่มีการจัดประชุมประจำปี ข้อตกลงที่อยู่ระหว่างการพิจารณาไม่มีความคืบหน้า ที่สำคัญคืออินเดียแสดงท่าทีชัดเจนว่าจะไม่ร่วมมือกับปากีสถานหลังเกิดปัญหาผู้ก่อการร้ายและข้อพิพาทเหนือดินแดนแคชเมียร์

อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งกระจายตัวไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคส่งผลให้ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีของอินเดีย เล็งเห็นว่าหากปล่อยให้การทำงานร่วมกันในระดับภูมิภาคหยุดชะงักไว้เช่นนี้จะสร้างผลลบมากกว่าผลบวก เพราะได้เห็นบทเรียนจากปัญหาการแพร่ระบาดในทวีปยุโรปแล้ว ซึ่งแต่ละประเทศมีนโยบายของใครของมัน และมิได้ใช้กลไกระดับภูมิภาคให้เกิดประโยชน์ ทั้งยังโดดเดี่ยวอิตาลีให้เกิดการระบาดจนยากจะควบคุม

การเรียกประชุมด่วนดังกล่าวจึงเกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ของกลุ่ม SAARC ในรอบ 5 ปี หลังจากที่ไม่ได้มีการจัดประชุมร่วมกันมาอย่างยาวนาน สำคัญที่สุดคือมีผู้นำเกือบทุกประเทศในภูมิภาคเข้าร่วม ยกเว้นเพียงปากีสถาน ที่นายกรัฐมนตรีอิมราน ข่าน ส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเข้าประชุมแทน

เป้าหมายสำคัญของการประชุมนี้คือการวางมาตรการหรือออกแบบแผนในการรับมือการแพร่ระบาดร่วมกัน เพื่อให้การแก้ไขปัญหานี้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงการจัดการกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการระบาดในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงที่เกิดการระบาดและหลังการระบาด เพราะประเทศในเอเชียใต้เองก็มีความเชื่อมโยงกันอย่างแน่นแฟ้นในหลายเรื่องทั้งทางการคมนาคมและเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ที่ประชุมเล็งเห็นร่วมกันว่าการเอาชนะการแพร่ระบาดนี้ แต่ละประเทศไม่สามารถเอาตัวรอดได้ด้วยตัวคนเดียว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะการให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงระหว่างกัน จึงเกิดความเห็นพ้องกันว่าจะแลกเปลี่ยนข้อมูลการรับมือทางการสาธารณสุขและมาตรการในการควบคุมโรคเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

นอกจากนี้รัฐบาลอินเดียยังเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนระดับภูมิภาคเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 โดยอินเดียจะประเดิมเงินในกองทุนเป็นจำนวนเงิน 10 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ กองทุนดังกล่าวมีขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือฉุกเฉิน ในกรณีที่ประเทศในภูมิภาคมีความขาดแคลนในการรับมือทางการแพทย์และสาธารณสุข ในขณะเดียวกันอินเดียยังมีการเตรียมทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสำหรับให้ความช่วยเหลือในการควบคุมโรคระบาดสำหรับประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือ

สิ่งเหล่านี้สะท้อนความพยายามในการใช้กลไกระดับภูมิภาคเพื่อระดมทรัพยากรในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทั้งยังเพื่อช่วยเหลือประเทศในกลุ่มที่ศักยภาพทางด้านสาธารณสุขและการแพทย์ไม่ดีเท่าที่ควรนัก ถึงแม้ว่าการพูดคุยดังกล่าวจะยังไม่เห็นผลทางรูปธรรมเท่าใดนัก แต่ทุกประเทศเห็นพ้องกันว่าจะหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่องในระดับผู้นำและข้าราชการระดับสูง เพื่อช่วยเหลือกันในการผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้

 

การประชุมเฉพาะกิจผู้นำประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ / ที่มา: twitter นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี (@narendramodi)

การสร้างบทบาทนำอีกครั้งของอินเดียในภูมิภาคเอเชียใต้

 

นอกจากมุมมองทางด้านการทำงานร่วมกันในระดับภูมิภาคเพื่อสกัดกั้นไวรัสโควิด-19 ของภูมิภาคเอเชียใต้ที่ต้องยกนิ้วให้แล้ว ในอีกด้านหนึ่งการประชุมหารือร่วมกันของกลุ่มผู้นำในเอเชียใต้โดยการนำของอินเดีย ยังสะท้อนความพยายามกลับมาแสดงบทบาทนำของอินเดียในองค์การความร่วมมือระดับภูมิภาคที่หยุดชะงักไปนานด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการตัดสินใจในจังหวะที่เหมาะสม แม้ว่าอินเดียจะยังคงไม่พอใจนักที่จะร่วมมือกับปากีสถานก็ตาม

การกระทำของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ในครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นการฟื้นคืนชีวิตให้กับ SAARC อีกครั้งก็ว่าได้ แม้ว่าเราจะยังไม่รู้ว่ามาตรการและความร่วมมือในการต้านภัยไวรัสครั้งนี้ของเอเชียใต้จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่านี่ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดการพูดคุยกันระหว่างผู้นำในภูมิภาคหลังจากมุ่งเน้นการเจรจาทวิภาคีกันมาร่วม 5 ปีเต็ม

นอกจากนี้มาตรการความช่วยเหลือต่างๆ ซึ่งอินเดียในฐานะประธานในการประชุมได้นำเสนอไปนั้น ก็สะท้อนความใจกว้างและส่งสัญญาณไปยังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคของตัวเองว่า อินเดียพร้อมสนับสนุนทั้งกำลังทรัพยากร งบประมาณ และบุคคลากรทางการแพทย์ เพื่อก้าวผ่านอุปสรรคร่วมกัน ซึ่งเป็นแนวนโยบายต่างประเทศต่อประเทศเพื่อนบ้าน หรือ ‘ประเทศเพื่อนบ้านมาก่อน’ (neighbourhood first policy) ที่อินเดียมีเสมอมานับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ

หากจะวิเคราะห์พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ของอินเดียต่อกลุ่มประเทศเอเชียใต้นั้น อาจมองได้ว่าอินเดียกำลังพยายามใช้ช่วงเวลาที่สำคัญนี้แก้ไขความผิดพลาดของตัวเองที่มีต่อประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ หลังจากหลายประเทศซึ่งเคยใกล้ชิดกับอินเดียได้หันไปพึ่งพาจีนมากยิ่งขึ้น อินเดียจึงมีความหวังว่าความช่วยเหลือในยามยากนี้จะกลายเป็นเครื่องร้อยรัดให้ประเทศเพื่อนบ้านกลับมาให้ความสำคัญกับตัวเองมากยิ่งขึ้น ทั้งยังต้องการใช้เรื่องเหล่านี้ในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ตัวเองเพื่อขึ้นเป็นผู้นำโลกในอนาคตด้วย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save