fbpx
SOUL วิญญาณสานฝัน ในวันผิวเปลี่ยนสี

SOUL วิญญาณสานฝัน ในวันผิวเปลี่ยนสี

‘กัลปพฤกษ์’ เรื่อง

 

ผู้กำกับ Pete Docter ต้องถือเป็นลูกหม้อคนสำคัญของค่าย Pixar Studios เพราะถึงแม้เขาจะได้กำกับงานอนิเมชันเรื่องยาวมาเพียง 4 เรื่อง แต่ Pete Docter ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้เขียนบทร่วมในผลงานเรื่องอื่นๆ ของค่ายนับตั้งแต่ Toy Story (1995) ผลงานชิ้นแรกที่สร้างปรากฏการณ์ให้ค่ายอนิเมชันน้องใหม่แห่งนี้มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก แถมผลงานการกำกับของ Pete Docter ก็มักจะโดดเด่นมีคุณภาพเป็นที่กล่าวขวัญถึงมากกว่าผลงานเรื่องอื่นๆ ในค่าย ไม่ว่าจะเป็น Up (2009), Inside Out (2015) มาจนถึงเรื่องล่าสุด Soul (2020) ที่สร้างความประทับใจให้ผู้ชมมาแล้วอย่างน่าจดจำในทุกๆ เรื่อง

ความโดดเด่นของงานอนิเมชันจากค่ายนี้ ก็คือการพยายามหาโครงเรื่องใหม่ๆ ที่ดึงดูดใจ สร้างประเด็นเนื้อหาใหม่ๆ ชนิดที่แม้จะเป็นงานภาคต่อ แต่ก็ไม่ได้ซ้ำรอยความสำเร็จจากเรื่องราวเดิมๆ ด้วยการเติมมิติการผจญภัยครั้งใหม่ให้ตัวละครได้เรียนรู้ความเป็นจริงของชีวิตในหลากหลายด้าน ผ่านเรื่องราวที่จะทำให้พวกเขาได้เติบใหญ่ในทุกๆ ครั้งอย่างมีความหมาย

 

 

ผลงานล่าสุดเรื่อง Soul ของผู้กำกับ Pete Docter นี้ก็เช่นเดียวกัน ที่ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ในแบบที่ค่าย Pixar Studios ไม่เคยทำมาก่อน นั่นคือการให้ตัวละครผิวสีรับบทบาทเป็นตัวละครเอก พร้อมทั้งเสกสร้างเรื่องราวให้เกิดขึ้นในย่านถิ่นคนดำใจกลางมหานครนิวยอร์ก Soul จึงนับเป็นงานอนิเมชันเรื่องแรกของค่ายฯ ที่อาศัยบรรยากาศภาพยนตร์ในแบบ Black Cinema อย่างเต็มตัว เนื่องจากตัวละครหลักๆ ที่รายล้อมตัวละครนำล้วนเป็นชนผิวสี โดยมีคนขาวชาวอเมริกันรับหน้าที่เป็นเพียงตัวประกอบ ซึ่งก็นับเป็นกรณีที่คล้ายคลึงกับงานอนิเมชันก่อนหน้านี้ของค่ายฯ นั่นคือเรื่อง Coco (2017) ของผู้กำกับ Lee Unkrich ที่เล่าเรื่องราวทั้งหมดผ่านวัฒนธรรมเทศกาลทิวาแห่งผู้มรณาของชาวเม็กซิกันตลอดทั้งเรื่อง

เนื้อหาหลักๆ ของ Soul เล่าเรื่องราวของ Joe Gardner ครูสอนดนตรีผิวสีในโรงเรียนมัธยมผู้มีความฝันอยากจะเป็นนักเปียโนดนตรีแจ๊สผู้โด่งดัง แต่กลับต้องหาเลี้ยงตัวเองด้วยการสอนเด็กๆ ผู้ไร้พรสวรรค์ กระทั่งวันหนึ่งเขาได้รับคำเชิญชวนจาก Curley ศิษย์เก่าที่ได้กลายมาเป็นมือกลองของนักดนตรีสตรีมือเป่าแซ็กโซโฟนแจ๊สชื่อดัง Dorothea Williams ให้มาร่วมเล่นเปียโนในวง quartet ของเธอ Joe Gardner จึงยอมละทิ้งหน้าที่การงานทุกอย่าง เดินทางไปสร้างความประทับใจให้ Dorothea ได้เห็นฝีมือ จนเธอตอบรับให้เขาได้ร่วมเล่นกับวงในคืนนั้น และในวันที่ Joe Gardner กำลังจะประสบความสำเร็จในความฝันที่เฝ้ารอมานานนี้เอง เขาก็ดันเดินตกท่อระบายน้ำกลางกรุงจนวิญญาณของเขาหลุดลอยออกจากร่างไปยังยมโลก แต่มีหรือที่ Joe Gardner จะยอมตายง่ายๆ ในช่วงเวลาเช่นนี้ เขาจึงต้องพยายามทุกวิถีทางในการสร้างสถานการณ์ ณ ปรโลกสถาน จับมือกับดวงวิญญาณเบื่อโลกผู้ไม่เคยต้องการกลับมาเกิดบนโลกมนุษย์หมายเลข 22 เพื่อจะได้ย้อนคืนร่างมาเล่นดนตรีในค่ำคืนที่จะกลายเป็นวันที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเขา

เรื่องราวการผจญภัยของคุณครู Joe Gardner ใน Soul จึงสลับสับวนระหว่างชีวิตการงานที่กำลังจะรุ่งของเขาในนครนิวยอร์กกับประสบการณ์ในแดนปรโลกที่กำลังนำเขาเข้าสู่กระบวนการเพื่อกลับไปเกิดใหม่ กลายเป็นเรื่องราวสอนใจในทำนองมรณานุสติที่กระตุ้นให้เราต้องหันมาทบทวนว่า ได้ลงมือทำในสิ่งที่อยากทำมากที่สุดในชีวิตนี้แล้วหรือยัง

 

 

ในส่วนเรื่องราวชีวิตของ Joe Gardner กลางมหานครนิวยอร์ก ผู้กำกับ Pete Docter ก็นำเสนอภาพบรรยากาศชีวิตของกลุ่มคนผิวดำในเมืองใหญ่ตามสไตล์ของงาน Black Cinema ไว้อย่างเต็มที่ บุคคลที่ใกล้ชิดและสนิทสนมกับคุณครู Joe ล้วนเป็นหมู่คนผิวดำ ทั้งมารดาของเขาและเพื่อนๆ ที่เปิดร้านตัดเสื้อเพื่อหาเลี้ยง Joe ให้เติบโต กลุ่มนักดนตรีแจ๊สของ Dorothea ที่สมาชิกในวงก็เป็นชนผิวดำล้วน และที่โดดเด่นที่สุดก็คือร้านตัดผมที่คล้ายเป็นแหล่งชุมนุมพบปะสนทนาของกลุ่มคนผิวดำ เชี่ยวชาญในการจัดแต่งทรงผมตามสภาพกายภาพหยิกม้วนอันเป็นเอกลักษณ์ของชนผิวดำโดยเฉพาะ ซึ่งก็แทบจะไม่เห็นลูกค้าสีผิวอื่นๆ เข้ามาใช้บริการเลย

ซึ่งความเป็น Black Cinema ในอนิเมชันเรื่อง Soul ก็อาจนำไปสู่คำถามสำคัญที่เคยถกเถียงกันมานานว่า ผู้กำกับที่ไม่ใช่คนผิวดำจะสามารถกำกับงาน Black Cinema ได้หรือไม่ โดยเฉพาะเมื่องานกลุ่ม Black Cinema ถูกผูกขาดโดยผู้กำกับผิวสีตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นรายดังๆ อย่าง Spike Lee, John Singleton หรือ Barry Jenkins ในขณะที่ผู้กำกับ Pete Docter เองก็เป็นหนุ่มอเมริกันผิวขาวแบบเต็มตัว! ซึ่งหลังจากที่ได้ดูงานอย่าง Soul แล้ว ก็คงจะให้คำตอบได้ทันทีว่า “ทำไมจะไม่ได้!” เพราะ Soul ไม่เพียงแต่นำเสนอภาพชีวิตคนดำในอเมริกาออกมาได้อย่างสมจริง หากยังนำเสนอมิติใหม่ๆ ให้วงการ Black Cinema หลุดพ้นไปจากขนบแห่งการเรียกร้องความเท่าเทียม ดังที่ผู้กำกับ Black Cinema รุ่นก่อนๆ มักจะพยายามขับเน้น

น่าสังเกตว่าตัวละคร Joe Gardner มีความเป็น loser ที่มีลักษณะ anti-hero อยู่ในที เขาเป็นเพียงคนธรรมดาที่ช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตก็เคยจมปลักอยู่กับความล้มเหลวไม่ได้ดั่งใจฝัน ซึ่งก็เป็นภาพของตัวละครผิวดำที่ผู้กำกับผิวดำด้วยกันเองก็อาจไม่เลือกนำเสนอ ในขณะที่ผู้กำกับผิวสีอื่นอย่าง Pete Docter สามารถมองตัวละครผู้น่ารักรายนี้ในฐานะของการเป็นมนุษย์ผู้อุดมไปด้วยข้อบกพร่อง ในยุคสมัยที่เขาไม่จำเป็นต้องต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมใดๆ อีกต่อไป นอกเหนือไปจากการฝ่าฟันเพื่อให้ได้ทำตามความฝันในหัวใจของตัวเองเท่านั้น!

ท่ามกลางกระแสการต่อสู้เรียกร้อง Black Lives Matter และความเฟื่องฟูของวงการ Black Cinema ที่ขยายอาณาจักรจนหลุดพ้นจากเนื้อหาแสวงหาความเท่าเทียมแบบเดิมๆ จนเรามีหนังในกลุ่มนี้ที่ทำออกมาจนประสบความสำเร็จในหลากหลายแนวทางมากขึ้น ไม่ว่าเป็นงาน Spaghetti Western ที่มีตัวละครหลักผิวสีอย่าง Django Unchained (2012) ของ Quentin Tarantino, หนังเกย์รางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอย่าง Moonlight (2016) ของ Barry Jenkins, หนังสยองขวัญประเด็นหนักยอดฮิต Get Out (2017) ของ Jordan Peele, หนัง Marvel superhero ระดับ blockbuster อย่าง Black Panther (2018) ของ Ryan Coogler หรือล่าสุดหนังชุด British Black Cinema อย่าง Small Axe (2020) ของ Steve McQueen ผลงานเรื่อง Soul จึงนับเป็นอีกหนึ่งส่วนเพิ่มขยาย ที่ทำให้ในที่สุดเราก็มีอนิเมชันค่าย Pixar ที่ว่าด้วยเรื่องราวของคนดำโดยเฉพาะกันแล้ว!

 

 

สำหรับงานภาพในส่วนชีวิตของครู Joe Gardner ในนิวยอร์ก ผู้กำกับ Pete Docter ก็ออกแบบฉากหลังต่างๆ ให้ดูมีความเป็นนิวยอร์กแบบสมจริง โดยเน้นการใช้แสงสว่างอุ่นที่เล่นกับประกายรังสีออกมาได้สวยงามเป็นพิเศษ ความสมจริงของฉากหลังจะถูกคอนทราสต์ด้วยการออกแบบหน้าตาตัวละครให้ดูผิดรูปจากคนปกติทั่วไป นั่นคือให้ตัวละครมีใบหน้าผอมยาว แขนขาลีบแกร็นเก้งก้างตามขนบของงานอนิเมชัน โดยที่ต้องไม่พยายามทำให้ทุกๆ อย่างดูสมจริงจนแห้งแล้งเหมือนไปแอบตั้งกล้องถ่ายมา องค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างก็คือเสียงพากย์ของตัวละครที่ผู้กำกับ Pete Docter เจาะจงให้นักแสดงผิวดำมาพากย์ให้ตัวละครผิวสีในเรื่องกันโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น Jamie Foxx, Libba Gardner หรือ Angela Bassett  เพราะลักษณะสำคัญของเหล่าคนดำมิได้เข้มคมขำเฉพาะเพียงสีผิวเท่านั้น แม้แต่การออกเสียงส่งสำเนียงภาษาอังกฤษพวกเขาก็มีเอกลักษณ์ที่บางครั้งก็ไม่สามารถมาตีเนียนเลียนแบบกันได้เลย!

ในขณะที่ฉากการเดินทางของเหล่าดวงวิญญาณหลังความตายทั้งหลาย ผู้กำกับ Pete Docter ก็ได้แสดงฝีไม้ลายมือและรสนิยมในการออกแบบและกำกับศิลป์อย่างเต็มที่ ทั้งฉากสไลด์บันไดเลื่อนสู่แสงแห่งสุคติอันแปลกล้ำ ดินแดน The Great Before/You Seminar คล้ายทุ่งหญ้าลาเวนเดอร์สีสวยหวาน อันคลาคล่ำชุกชุมไปด้วยเหล่าดวงวิญญาณสีฟ้าน้ำเงินที่กำลังเตรียมพร้อมไปเกิดใหม่ ภายใต้การกำกับดูแลของเหล่าผู้ให้คำปรึกษา ที่อาศัยลีลาภาพวาดพอร์เทรตผู้คนที่มีอวัยวะม้วนบิดผิดรูปร่างของศิลปินดัง Pablo Picasso มาเป็นแรงบันดาลใจ ดีไซน์ของเหล่าวิญญาณไร้จุดหมายสีคล้ำดำ และสำเภาแห่งจินตนาการที่จะช่วยให้ Joe Gardner กลับไปสานฝันยังโลกมนุษย์ได้อีกครั้งพร้อมดวงวิญญาณหมายเลข 22 ก็ล้วนถูกออกแบบมาอย่างแตกต่างและสร้างสรรค์ ทำให้ภาพนิมิตที่สุ่มเสี่ยงเหลือเกินว่าจะออกมาแปร่งเชย กลายเป็นความงดงามอันโดดเด่นแปลกตากับลีลาทางศิลปะที่ถึงพร้อมไปด้วยรสนิยม

ฉากปรโลกสีหวานอันนี้เองที่อาจทำให้หลายๆ คนนึกกลับไปเปรียบเทียบกับอนิเมชันเจาะทะลุจิตสำนึกและความทรงจำเรื่อง Inside Out ของ Peter Docter ที่ใช้จินตนาการอนิเมชันมารังสรรค์โลกแห่งความคิดอ่านภายในในช่วงวัยแห่งความเปลี่ยนแปลงของเด็กสาววัย 11 ปี แต่หากจะพินิจกันให้ดี Soul กลับมิได้มีส่วนใดที่หยิบใช้หรือซ้ำรอยกับสิ่งที่ Inside Out ได้เคยถ่ายทอดบอกเล่าเอาไว้แล้ว เพราะใน Inside Out จะเห็นได้ชัดว่าหนังพยายามอธิบายปรากฏการณ์ภายในต่างๆ ด้วยกลไกและทฤษฎีทางจิตวิทยา ในขณะที่ Soul กลับมุ่งมองไปที่ ‘จิตวิญญาณ’ ของบุคคลแต่ละคนว่าควรจะประกอบไปด้วยสิ่งใด กระบวนการเตรียมความพร้อมในการกลับไปเกิดใหม่จึงมุ่งเน้นที่บุคลิกลักษณะประจำวิญญาณด้านต่างๆ และการสร้าง spark หรือแรงบันดาลใจ อันจะนำไปสู่เป้าหมายสำคัญของการมีชีวิตใหม่เสียมากกว่า

เนื้อหาใน Soul จึงทำหน้าที่คล้ายภาคคู่ขนานกับ Inside Out ว่ามนุษย์เรามิได้ใช้ชีวิตผ่านกระบวนการทางจิตวิทยาเพียงเท่านั้น หากเรายังมีอีกส่วนประกอบสำคัญนั่นคือ ‘จิตวิญญาณ’ ที่จะมาอธิบายความหมายแห่งการเป็นมนุษย์ว่าเราเกิดมาใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้เพื่อทำสิ่งใด

 

 

น่าสังเกตว่าตัวละครเหล่าดวงวิญญาณที่เราจะได้เห็นในภาคปรโลกนี้ ล้วนมีสีผิวและลักษณะทางกายภาพที่ละม้ายคล้ายกัน นั่นคือทุกดวงมีสีฟ้าน้ำเงินเรือง และมีร่างกายที่เล็กป้อม จนเราไม่สามารถแยกแยะอีกได้ว่าแต่ละคนเคยมีผิวสีใดหรือเคยเป็นคนเชื้อชาติไหน จิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์จึงเป็นเรื่องที่มิได้ขึ้นกับชาติพันธุ์หรือลักษณะทางกายภาพแต่เพียงหยาบๆ อีกต่อไป หากมันคือตัวตนภายในที่สะท้อนผ่านความคิดอ่านรวมถึงสันดานแห่งบุคลิกประจำตัวที่จะทำให้ดวงวิญญาณของเราแตกต่างจากวิญญาณดวงอื่นๆ ได้ ภายใต้ลักษณะทางกายภาพที่ไม่ได้มีอะไรต่างกัน

ในช่วงหนึ่งที่ดวงวิญญาณของ Joe Gardner ทักว่าเสียงพูดของ 22 ช่างละม้ายคล้ายคลึงกับสตรีผิวขาววัยกลางคน จึงกลายเป็นการหลงกลของครู Joe เองที่ยังยึดติดกับการแยกแยะปูมหลังของบุคคลผ่านการเปล่งเสียงพูดคุย ในขณะที่ 22 เองก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเขาสามารถเปลี่ยนเสียงเป็นลักษณะใดๆ ก็ได้ ซึ่งบางเสียงก็อาจจะดูห่างไกลไปจากตัวตนความเป็นตัวเขาอย่างสิ้นเชิง! น่าเสียดายที่ ‘กัลปพฤกษ์’ เองก็มิได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกันว่ามีความแตกต่างหลากหลายประการไหน จึงไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าเสียงพากย์ของเหล่าตัวละครเรืองแสงสีฟ้าน้ำเงินแต่ละรายมีนัยยะที่ต้องการสะท้อนไปถึงใครเผ่าพันธุ์ใดแอบแฝงอยู่หรือไม่ ทว่าพอจะแยกแยะได้ก็แต่เพียงตัวละครที่ใช้ ‘สมอง’ มากกว่า ‘หัวใจ’ อย่าง Terry ยอดนักบัญชีผู้มีหน้าที่คอยนับจำนวนดวงวิญญาณ ซึ่งเป้าหมายสำคัญในการดำรงอยู่ของเขาช่างแตกต่างไปจากกลุ่มเพื่อนๆ ที่ดูจะมีไมตรีและมนุษยสัมพันธ์ที่น่าคบหามากกว่า ซึ่งสุดท้ายเราก็ไม่อาจปฏิเสธได้เหมือนกันว่า ทุกสิ่งที่เห็นนั่นหละคือ ‘จิตวิญญาณ’ ที่แท้แห่งความเป็นตัวเขา ไม่ว่ามันจะต่างจาก ‘เรา’ ไปขนาดไหนก็ตาม

สำหรับดนตรีแจ๊สที่ปรากฏในหนัง ดูเหมือนจะมีฟังก์ชันในส่วนการเล่าเรื่องราวความฝันในชีวิตของครู Joe Gardner มากกว่าจะใช้เป็นสำเนียงหลักของดนตรีประกอบ เพราะเอาเข้าจริงๆ ดนตรีที่ใช้ในหนังเรื่องนี้ก็มีความหลากหลาย ทั้งการใช้สำเนียงแบบ techno new age อันโดดเด่นในฉากการเดินทางหลังความตาย หรือการใช้ดนตรี piano ballad ในการสร้างอารมณ์ประทับใจจากตัวเรื่องราว แม้แต่ดนตรี soul ตามชื่อหนังก็มิได้มีให้ได้ยินในส่วนไหน ดนตรีแจ๊สจึงทำหน้าที่เสมือนฝันอันยิ่งใหญ่ที่คนธรรมดาคนหนึ่งเฝ้ารอที่ทำให้เป็นความจริงให้จงได้ ไม่ว่าเขาจะมีร่างกายที่ห่มคลุมไปด้วยผิวสีไหนก็ตามที

แม้งานอนิเมชันอย่าง Soul พยายามทำตัวเป็นงานแนว Black Cinema กันขนาดนี้ แต่เหมือนฝ่ายผู้ชมเองก็มิได้มีความตื่นเต้นยินดีหรือกล่าวขวัญถึงในมุมที่หนังใช้ตัวละครหลักและตัวละครรายล้อมอื่นๆ เป็นคนผิวดำกันสักเท่าไหร่ หากไปสนใจอยู่กับเนื้อหาเรื่องราวจรรโลงใจให้เราได้หันมาทบทวนถึงคุณค่าและเป้าหมายของการมีชีวิต ก็อาจกลับกลายเป็นนิมิตหมายอันดีว่าประเด็น ‘สีผิว’ อะไรเหล่านี้ได้กลายเป็นเรื่อง ‘พ้นสมัย’ ที่ไม่จำเป็นต้องมีใครมาโหวกเหวกเรียกร้องอะไรอีกแล้วในยุคสมัยแห่งความเท่าเทียมนี้ หรือจะมีแต่ ‘กัลปพฤกษ์’ ที่รู้สึกตื่นเต้นยินดีเมื่อได้เห็น Pixar ทำหนัง Black Cinema ในขณะที่คนอื่นๆ กลับมองว่ามันมิได้เป็นประเด็นหรือสาระสำคัญใดๆ และนั่นก็น่าจะเป็นเรื่องดีที่สีผิวตัวละครจะไม่ matter อะไรอีกต่อไป ตราบใดที่เรายังสามารถมองพวกเขาในฐานะของการเป็น ‘มนุษย์’

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save