fbpx
“จับตาเกมอำนาจการเมืองไทย” กับ สรกล อดุลยานนท์

“จับตาเกมอำนาจการเมืองไทย” กับ สรกล อดุลยานนท์

กองบรรณาธิการ เรียบเรียง

 

จากคดียุบพรรคอนาคตใหม่ ถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ + 5 รัฐมนตรีในรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดุลอำนาจในเกมการเมืองไทยขยับปรับเปลี่ยนไปอย่างไร

จับตาการเมืองไทยในภาวะแหลมคม กับ ‘สรกล อดุลยานนท์’ หรือ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ เจ้าของพอดแคสต์การเมือง ‘The Power Game’ ใน The Standard อดีตนักข่าวประชาชาติธุรกิจ และบรรณาธิการบริหารมติชนรายวัน

ติดตามทั้งหมดได้จากรายการ 101 One-On-One Ep.105 “จับตาเกมอำนาจการเมืองไทย” กับ สรกล อดุลยานนท์

 

:: หัวใจของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ::

 

“จับตาเกมอำนาจการเมืองไทย” กับ สรกล อดุลยานนท์

 

หัวใจของการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ได้ขึ้นอยู่กับการยกมือโหวต แต่ขึ้นอยู่กับเนื้อหา ถ้าเปิดแผลหรือทำให้คนรู้สึกมากขึ้นเท่าไหร่ยิ่งสำคัญ อย่าลืมนะครับว่า กองไฟไม่ได้เกิดจากประกายไฟอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับเชื้อไฟด้วย เชื้อไฟคือเชื้ออารมณ์ในสังคมตอนนี้ ช่วง 2 เดือนนี้ อารมณ์ความรู้สึกของคนต่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เมื่อเทียบกับประมาณ 6 เดือนก่อน ผมว่าต่างกันเยอะนะ

หลังจากอภิปรายเสร็จวันสุดท้าย แล้ววันรุ่งขึ้นคือวันยกมือ คืนนั้นการเมืองจะร้อนแรงที่สุด เพราะจะเป็นเรื่องการต่อรอง ถ้าใครโดนเปิดแผลหนักๆ จนสุดท้ายแล้วบางพรรครู้สึกว่าถ้ายกมือให้จะเสีย เขาก็จะมีการต่อรองขึ้นมา แล้วอย่าลืมนะครับว่าพรรคพลังประชารัฐก็ไม่ได้เป็นเอกภาพ ทุกคนรอการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ด้วยจิตใจที่มุ่งหวังว่าจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เพราะหลายคนก็อยากจะเป็นรัฐมนตรี ตรงนี้แหละที่จะเกิดปัญหาขึ้น

ตั้งแต่รัฐบาลยึดอำนาจขึ้นมา 5-6 ปี นี่เป็นครั้งแรกที่มีการอภิปรายตรวจสอบ คนที่มีอำนาจแล้วไม่มีการตรวจสอบก็มีโอกาสจะใช้อำนาจผิดพลาดได้เยอะ ถ้าเรารู้ว่ามีคนตรวจสอบ เราจะใช้อำนาจอย่างระมัดระวัง แต่ถ้าเรามีมาตรา 44 เรารู้ว่ามีอำนาจร้อยเปอร์เซ็นต์ เราก็ไม่ระวัง ไม่มี สนช. คนไหนจะมาอภิปรายพลเอกประยุทธ์ พลเอกประยุทธ์พูด ทุกคนก็ปรบมือให้ แต่วันนี้เจอตรวจสอบอย่างเข้มข้นแน่นอน เพราะฉะนั้นการตรวจสอบเข้มข้นครั้งนี้ เหมือนการเปิดแผลที่เคยโดนปิด หรือไม่เคยมีการพูดอย่างจริงจังมาก่อน ซึ่งผมเชื่อว่าจะมีเรื่องราว

 

:: เชียร์มวยรอง ยุบพรรคอนาคตใหม่ ::

 

“จับตาเกมอำนาจการเมืองไทย” กับ สรกล อดุลยานนท์

 

กรณียุบพรรคอนาคตใหม่ ผมว่าต้องระวังให้ดี จะเห็นว่ามีนักแสดง นักวิชาการ นักธุรกิจหลายคนที่กล้าเปิดตัวออกมาว่าไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคอนาคตใหม่ ปรากฏการณ์นี้กว้างกว่าที่เราคิด หลายคนคิดว่าอนาคตใหม่มีแต่คนรุ่นใหม่เลือก ซึ่งไม่จริง เพราะรุ่น 50-60 ปีก็เลือก

ช่วงที่พรรคอนาคตใหม่โดนยุบ คนไม่ค่อยเห็นด้วยเยอะ เพราะรู้สึกว่ารังแกกันมากเกินไป ความรู้สึกสังคมไทยต้องระวัง สังคมไทยเชียร์มวยรอง ใครที่โดนเยอะๆ ความสงสารจะตีกลับได้น่ากลัวมาก เห็นจากปฏิกิริยาครั้งล่ารายชื่อคัดค้านการยุบพรรค จนมาถึงวันที่ยุบพรรค แล้วอาจารย์ 36 คนของคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ ซึ่งมีรายชื่อที่ไม่น่าเชื่อว่าจะลงชื่อด้วย ไม่ใช่ว่าเพราะอาจารย์ปิยบุตรเคยอยู่ที่นั่น เพราะตอนนิติราษฎร์ ผมก็ไม่เห็นว่าจะมีการสนับสนุนมากขนาดนี้

กลุ่มที่ลงชื่อทั้งหมดทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกต เพราะนี่คืออาจารย์ที่ต้องเอาคำตัดสินทั้งหลายไปสอน เขาคงสับสนอยู่เหมือนกันว่าเขาจะสอนเด็กยังไง

 

 :: ลงถนน ::

 

“จับตาเกมอำนาจการเมืองไทย” กับ สรกล อดุลยานนท์

 

เราจะมองการเมืองแบบเดิมไม่ได้ ถ้าเป็นพรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ คุณสุเทพนำม็อบใหญ่แล้ว คือพร้อมที่จะปลุก พร้อมที่จะเติมคน อย่าลืมว่าพวกนี้เขามีฐานคนอยู่ การระดมคนสัก 2,000 คนมาชุมนุม ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะพรรคเขามีระบบจัดตั้งหัวคะแนน ซึ่งไม่เหมือนพรรคอนาคตใหม่ที่ใช้โซเชียลมีเดียตรงเข้าหาคนเลย เวลาไปที่ไหนต้องใจตุ๊มๆ ต่อมๆ ว่าคนจะมาเท่าไหร่

โซเชียลมีเดียสื่อสารได้กว้างและเร็ว แต่ก็เหมือนเป็นช่องทางระบายอารมณ์ พอคุณระบายอารมณ์ โอเค สบายใจแล้ว ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ไม่มีช่องทาง กระบวนการรับรู้ข่าวสารอย่างแท้จริงจะต้องไปพื้นที่ตรงนั้น แล้วมวลอารมณ์ความรู้สึกของม็อบจะเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ

ผมไม่แน่ใจว่าการลงถนนจะเป็นรูปแบบเดิมไหม เพราะคุณธนาธรบอกว่า ถ้าเขาลงถนน จะไม่ใช่ม็อบแบบเดิมที่ยืดเยื้อยาวนาน คนที่เคลื่อนไหวแบบเดิมก็จะบอกว่า ถ้าไม่ยืดเยื้อมันก็ยาก อย่างคุณจตุพร ด้วยความเชื่อเก่าของเขาก็คือ ถ้าคนมาชุมนุมกันแบบแฟลชม็อบ พอมาแล้ว 4 ครั้ง คนจะไม่มาครั้งที่ 5

สุดท้ายแล้วม็อบหวังชัยชนะ หวังได้ตามเป้าหมาย เขาบอกว่า แต่ก่อนผู้นำม็อบชอบคิดว่าเรานำ แต่พอไปสักพักหนึ่ง ม็อบจะนำเรา คุณพูดอะไรที่เป็นเป้าหมายใหญ่ๆ แล้วพอคุณเจรจาจะสลายม็อบ ยากนะ ถ้าคุณไม่ได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ การเคลียร์ความรู้สึกที่คุณตั้งเป้าไว้สูงๆ น่ะยาก เพราะฉะนั้นวิธีการแบบนี้ก็ต้องใช้เวลากับมัน

 

:: พลังคนรุ่นใหม่ ::

 

“จับตาเกมอำนาจการเมืองไทย” กับ สรกล อดุลยานนท์

 

ปรากฏการณ์ที่นึกไม่ถึงก็คือการที่นักศึกษาประท้วงในมหา’ลัย แม้จะเป็นจุดเล็กๆ แต่คนพูดกันเยอะว่าสิ่งที่คนมีอำนาจกลัวที่สุดคือนักศึกษา เพราะเป็นความบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้น ไม่มีกลิ่นทางการเมือง ไม่มีพรรคการเมืองนำ แต่เราไม่รู้ว่านักศึกษาจะเกิดแบบนี้มากน้อยแค่ไหน หรือจริงๆ มาชุมนุมจบแล้ว สบายใจ ทำแล้ว เขาอาจจะรอคอยได้ก็ได้

เด็กรุ่นใหม่สนใจการเมืองกว่าที่ผู้ใหญ่คิดเยอะ ถ้าคนทำงานแล้วจะทักผมในฐานะนักเขียน ‘หนุ่มเมืองจันท์’ แต่คนอายุประมาณ 20 จะมาทักผมในฐานะคนทำพอดแคสต์เดอะพาวเวอร์เกม แล้วเขามีข้อมูลมากกว่าที่ผู้ใหญ่คิดเยอะ เพราะโลกแห่งการค้นคว้าของเขาไปเยอะแล้ว แล้วไปได้เรื่อยๆ

ความหวังเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิต ถ้าทำให้เด็กรุ่นใหม่หลายคนไม่มีความหวังในประเทศนี้ เป็นสิทธิ์ของเขาที่จะเลือกเหมือนกันว่าจะไปใช้ชีวิตที่อื่นที่คิดว่าดีกว่า คนเราเลือกสิ่งที่ดีกว่าอยู่เสมอ แต่อย่าทำให้เขารู้สึกขนาดนั้น อย่าทำร้ายความฝันความหวังเขามากเกินไป

คนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าต่างกันที่ว่า คนรุ่นเก่า อดีตยาว อนาคตสั้น คนรุ่นใหม่ อดีตสั้น อนาคตยาว เขามีสิทธิ์เลือกไป ตอนนี้การลงทุนของต่างประเทศทั้งหลายในโลกใบนี้ ไม่ว่าบริษัทไหน ก็มีคนหลากเชื้อชาติอยู่ในบริษัท เป็นเรื่องปกติธรรมดา เป็นโลกแบบใหม่ที่คนรุ่นเก่าไม่คุ้นชิน เพราะฉะนั้นถ้ายิ่งทำร้ายความฝันความหวังของเขา เขาก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกสิ่งที่ดี ซึ่งไม่อยากให้เกิดวันนั้น

 

 :: เชื้อเพลิงอารมณ์ ::

 

“จับตาเกมอำนาจการเมืองไทย” กับ สรกล อดุลยานนท์

 

การเมืองไทยไม่แน่ไม่นอน จะยึดมั่นถือมั่นว่าแบบนี้จะคงอยู่ตลอดไปคงยาก และเชื้อไฟจะเกิดขึ้นจากอุณหภูมิรอบด้าน ซึ่งอุณหภูมิรอบด้านตอนนี้ไม่ค่อยเป็นใจกับพลเอกประยุทธ์เท่าไหร่ เพราะเรื่องเศรษฐกิจหนักมากจริงๆ หรือเรื่องไวรัสก็ถล่มทลาย ไม่ใช่แค่เมืองไทย แต่ไปทั่วโลก การเคลื่อนย้ายคนไปที่จุดต่างๆ หายไป จีนที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมของโลกก็มีปัญหา หลายบริษัทเอาคนออก ไม่รวมภัยแล้งที่แย่อยู่แล้วด้วย จิตวิทยาสังคมไม่ดีเลย

ไม่ใช่แค่อุณหภูมิเรื่องเศรษฐกิจ หรือเงินในกระเป๋าไม่มี คนตกงานเท่านั้นนะ แต่อารมณ์ความรู้สึกต่อผู้นำจากคำพูดที่ใช้ในหลายกรณีมันสั่งสม เป็นเชื้อเพลิงที่น่ากลัว พร้อมจะเป็นไฟป่าออสเตรเลียได้ทุกเมื่อ

 

:: อุณหภูมิของรัฐประหาร ::

 

“จับตาเกมอำนาจการเมืองไทย” กับ สรกล อดุลยานนท์

 

รัฐประหารจะเกิดขึ้นได้ต้องมีอุณหภูมิที่เหมาะสมพอสมควร ถ้าวันนี้เกิดขึ้นมา คนออกมาเต็มแน่นอน แต่ถ้าเวลาผ่านไปเป็นปี มีเรื่องบางอย่างเกิดขึ้น ก็ไม่รู้ แต่รัฐประหารยังมีอยู่ในสังคมไทย อ.บุญชนะ อัตถากร เคยเขียนไว้ ผมชอบมาก บอกว่า ในสังคมประชาธิปไตยทั่วไปของประเทศอื่น ถ้าไม่เคยมีการรัฐประหารเกิดขึ้นก็จะไม่มี เพราะไม่ใช่ทางแก้ ทุกคนไม่เคยคิดถึงเรื่องรัฐประหารเลยเวลามีปัญหา เพราะฉะนั้นถ้าประเทศไทยเกิดรัฐประหารขึ้นมาแล้ว ทุกครั้งที่มีปัญหา รัฐประหารจะเป็นหนึ่งในหนทางแก้ปัญหาที่คนนึกถึง

รัฐประหารปี 2549 สำหรับผม ทำให้เกิดความจำใหม่ คือหลังจากปี 2535 จนถึงปี 2549 เวลา 10 กว่าปี รัฐประหารไม่เคยเกิดขึ้น ถ้าแบบนี้แผลจะเลือน แล้วคนจะไม่คิดว่านี่คือทางแก้ของสังคมไทย แต่พอเกิดรัฐประหารปี 2549 หลังจากนั้นรัฐประหารก็เป็นทางแก้ของสังคมไทย ผมรู้สึกว่ารัฐประหาร 2549 คือบาดแผลใหญ่ที่สุดของสังคมไทย

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save