fbpx

Political Rebranding: พี่โทนี่ ลุงตู่ และการตลาดการเมืองในยุคชูสามนิ้ว กับ สรกล อดุลยานนท์

ถ้าเปรียบพรรคการเมืองเป็นสินค้า วันเลือกตั้งก็คงคล้าย Black Friday ที่ผู้บริโภคถูกล้อมหน้าล้อมหลังด้วยโปรโมชันและวิธีทางการตลาดนับร้อยพัน จนกว่าเราจะตกลงปลงใจซื้อสินค้าสักชิ้นกลับบ้าน

ตลาดการเมืองไทยวันนี้คึกคักด้วยเหตุการณ์ทางการเมืองหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวนอกสภาที่ยกระดับเพดานการเมือง บทบาทของคนรุ่นใหม่ที่ทำให้พวกเขากลายเป็นกลุ่มเป้าหมายอันคลาดสายตาไม่ได้ รวมไปถึงวิกฤตโรคระบาดที่ทำให้คนจับตาการบริหารและนโยบายการจัดการประเทศอย่างเข้มงวด เมื่อประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำการจัดตั้งรัฐบาลมาเกินครึ่งเทอมแล้ว – พรรคการเมืองหลายพรรคจึงเริ่มปรับเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง เตรียมขายของกันอีกครา

ในห้วงเวลาเช่นนี้ การตลาดการเมืองกลับมาคึกคักมีสีสันเป็นพิเศษ หลายพรรคการเมืองต่างปรับใหญ่ ตั้งแต่การรีแบรนด์ดิ้งใหม่ของเพื่อไทยพร้อมกับการกลับมาใหม่ของ ‘พี่โทนี่’ การประกาศรับสมัครผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่ของก้าวไกล การเสนอนโยบายปฏิรูปที่ดินของประชาธิปัตย์ กระทั่งพรรคพลังประชารัฐที่ได้เปรียบพรรคอื่นในกติกาปัจจุบัน ก็ยังเปลี่ยนทีมบริหารพรรคและปรับกลยุทธ์ใหม่

ยิ่งกระแสแก้รัฐธรรมนูญกลับมาพีคในเดือนมิถุนายน โดยมีประเด็นสำคัญคือการรื้อระบบเลือกตั้ง เซียนการเมืองต่างคาดการณ์ว่า Black Friday การเมืองไทยอาจกลับมาเร็วกว่าที่คาด — ทั้งหมดล้วนเป็นบรรยากาศที่ทำให้ทุกการขยับตัวของพรรคการเมืองน่าจับตาเป็นพิเศษ

ภาพลักษณ์และเครดิตของพรรคการเมืองในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไร กลยุทธ์อะไรที่แต่ละพรรคใช้ เราเห็นการเดินเกมของนักการเมืองอย่างไร 101 ชวน สรกล อดุลยานนท์ หรือ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ เจ้าของพอดแคสต์การเมือง ‘The Power Game’ อดีตนักข่าวประชาชาติธุรกิจ และบรรณาธิการบริหารมติชนรายวัน มาจับตาเกมอำนาจการเมืองไทย


ในช่วงสองปีที่ผ่านมาการเมืองไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย เพดานการเมืองภาคประชาชนถูกยกระดับขึ้น พร้อมกับบทบาทของคนรุ่นใหม่ ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อตลาดการเมืองอย่างไรบ้าง

ที่ผ่านมาการเมืองไทยให้ความสำคัญกับตลาดคนรุ่นใหม่น้อย เนื่องจากการตลาดของพรรคการเมืองมีหัวใจสำคัญอยู่ที่วันเลือกตั้ง เขาจึงเชื่อสถิติการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ดูว่าคนกลุ่มไหนจะไปลงคะแนนให้ ซึ่งสถิติของคนรุ่นใหม่ก่อนหน้านี้น้อยมาก บางคนอาจขี้เกียจไป บางคนไม่มีความสนใจทางการเมือง ฉะนั้นความใส่ใจต่อกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็น้อยตามไปด้วย จนกระทั่งการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาในปี 2562 พลังของเด็กรุ่นใหม่แสดงตัวออกมาอย่างชัดเจนขึ้น เช่น แอคชันที่มีต่อแนวทางนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ หรือกระแสความนิยมในตัวคุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ)

การเลือกตั้งเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจ แต่ที่น่าสนใจกว่าคือการเคลื่อนไหวนอกสภาของกลุ่มคณะราษฎรและกลุ่มต่างๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นชัดเจนว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้คิดถึงแค่วันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่เขามีแอคชันผ่านระบบการสื่อสารยุคใหม่ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการเคลื่อนไหว การสื่อสารผ่านอุปกรณ์ที่เป็นเหมือนอวัยวะอีกอย่างหนึ่งของเขาทำให้พลังของคนรุ่นใหม่ไม่ใช่แค่จำนวนคน แต่ยังหมายถึงพลังเสียงที่ดังด้วย

เราเคยได้ยินว่า ‘คนต่างจังหวัดเลือกรัฐบาล ส่วนคนกรุงเทพฯ ล้มรัฐบาล’ ประเทศกลายเป็นสองนคราประชาธิปไตย คนกรุงเทพฯ มี ปริมาณไม่เยอะแต่เสียงดัง เช่น ต่างจังหวัดโดนเทวัคซีนไม่รู้เท่าไหร่ ก็เสียงไม่ดัง แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรที่กรุงเทพฯ นิดเดียว เสียงดังเลย เพราะอยู่ใกล้หูรัฐบาลที่สุด คนหนุ่มสาวในวันนี้ก็เหมือนกัน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่พลังเชิงปริมาณเท่านั้น คือปริมาณก็คงเยอะขึ้นจากวันที่หย่อนบัตรเลือกตั้งนะ แต่กระแสที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกมาม็อบ หนังสือที่พวกเขาอ่าน ไปจนถึงการพูดคุยในแวดวงของพวกเขา ทำให้มีพลังในเชิงคุณภาพด้วย และนี่คือพลังที่สำคัญ ถ้าเราสังเกตจะเห็นว่าพลังของคนรุ่นใหม่เป็นพลังแห่งการทำกิจกรรมและจิตอาสา เขาลงแรง ไม่ใช่แค่การไปหย่อนบัตรเฉยๆ แต่พยายามโน้มน้าวคนอื่นเข้ามาด้วย ดังนั้น ถ้าเลือกตั้งครั้งหน้ามีการวัดจำนวนคนรุ่นใหม่ว่าใช้สิทธิกี่เปอร์เซ็นต์ ผมเชื่อว่าจำนวนจะเพิ่มขึ้นเยอะมากทีเดียว

การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีหัวใจสำคัญคือการที่หนึ่งเสียงเท่ากัน ถ้าคนรุ่นใหม่มีอยู่ 100 คน ลงคะแนน 100 เสียง คนสูงอายุมีอยู่ 200 คน มาลงคะแนนแค่ 100 เสียง ก็ถือเป็นคะแนนเสียง 100:100 เท่ากัน นี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ผมว่าพรรคการเมืองต่างๆ ก็เริ่มมองเรื่องนี้มากขึ้นว่า จะแย่งส่วนแบ่งในคนกลุ่มนี้ได้อย่างไรบ้าง


ภายใต้ตลาดการเมืองแบบใหม่ อยากชวนคุณสวมหมวกหัวหน้าทีมยุทธศาสตร์ของพรรคต่างๆ เริ่มที่พรรคพลังประชารัฐก่อน ถ้าให้คุณวางกลยุทธ์ในการเลือกตั้งครั้งหน้า คุณจะเลือกขายอะไร สินค้าแบบ คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังขายออกไหม

(หัวเราะ) ขายได้ ขายได้ เพราะในบรรดาคู่แข่งของเขา ยังไม่ค่อยมีใครที่มีชื่อ ใช้สำนวนหน่อยก็ต้องบอกว่าเขายังสูงที่สุดในหมู่คนแคระ เหมือนการวิ่งแข่ง ถ้าคุณเจอคนวิ่งเร็วๆ วันนั้นอาจจะแพ้ก็ได้ แต่ถ้าบังเอิญไปลงแข่งในกลุ่มที่มีแต่คนวิ่งช้า คุณก็ได้ที่หนึ่ง ทั้งที่คุณอาจจะช้ากว่าคนที่ได้ลำดับที่เจ็ดของการแข่งขันปีที่แล้วเสียอีก เพราะฉะนั้นสำหรับพลเอกประยุทธ์เนี่ย อย่าลืมว่าในเจ็ดปี เขาก็มีการสั่งสมบารมี ต้องมีคะแนนความนิยมอยู่ระดับหนึ่ง พลังประชารัฐได้คะแนนครั้งที่แล้วมาเพราะพลเอกประยุทธ์เยอะทีเดียวนะ โควิดอาจจะทำให้เขาสูญเสียความนิยมไปบ้าง แต่กลุ่มฐานเสียงของเขายังมีอยู่แน่นอน


ทำไมนักการเมืองที่คนจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามอย่าง คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา, คุณประวิตร วงษ์สุวรรณ, คุณธรรมนัส พรหมเผ่า, คุณปารีณา ไกรคุปต์ ฯลฯ ยัง ‘เวิร์ก’ หรือยังได้รับความนิยมได้ในยุคนี้ คุณมองว่าอะไรเป็นจุดขายของคนเหล่านี้

คุณเคยดูละครช่องเจ็ดไหม แล้วคุณดูซีรีส์เกาหลีไหม มันต่างกันชัดเจน เราอาจคิดว่าภาพของ ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้งในพื้นที่ เป็นภาพเดียวกับที่เราเห็นในสภาหรือเวลาเขาพูดต่อสาธารณชน แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ ถ้าคุณไปต่างจังหวัด จะเห็นว่ามีคะแนนอยู่สองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือคะแนนพรรค อีกกลุ่มคือคะแนนตัวบุคคล คะแนนตัวบุคคลได้มาจากบารมีภายในพื้นที่ อาจเป็นระบบอุปถัมภ์ บารมีแบบพ่อส่งต่อถึงลูก การเป็นคนนิสัยง่ายๆ ที่คนสามารถเข้าหาได้ง่าย การเป็นคนที่ช่วยเหลือเกื้อกูลเขาได้ สำหรับคนยากคนจน จะจัดงานศพสักครั้งต้องใช้เงินเยอะนะ ถ้าคุณเข้าไปช่วยเขาสักนิด มีเต็นท์ มีน้ำดื่มให้ แค่นี้ก็เป็นความรู้สึกผูกพันแล้ว

สังเกตง่ายๆ ว่า เวลาเลือกตั้งซ่อมทุกครั้ง พรรคพลังประชารัฐหรือพรรครัฐบาลทุกยุคทุกสมัยจะมีโอกาสชนะสูง ประชาชนส่วนหนึ่งในพื้นที่ต่างจังหวัดเลือกคนเหล่านี้ เพราะวิธีการหาเสียงของ ส.ส. รัฐบาลนั้นง่าย ไม่ซับซ้อน คือถ้าคุณเลือกผม ผมเป็นฝ่ายรัฐบาลที่มีงบและอำนาจไง ฝ่ายค้านไม่มีงบนะ คนกรุงเทพฯ อาจจะไม่เข้าใจความต้องการของคนต่างจังหวัด คนกรุงเทพฯ อาจจะต้องการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แต่คนต่างจังหวัดอาจจะต้องการไฟฟ้า น้ำประปา ถนนที่เรียบขึ้น ไม่ต้องลาดยางก็ได้ ขอให้โรยหินสักหน่อย นี่เป็นความต้องการ (demand) ที่แตกต่างกัน ฉะนั้น นักการเมืองเหล่านี้จึงไม่สนใจภาพลักษณ์โดยรวมเท่าไหร่ ถ้าโครงการคนละครึ่ง หรือมาตรการอื่นๆ ยังมัดใจได้ ก็อาจจะทำให้เขาได้คะแนนขึ้นมา ภาพลักษณ์แบบที่ชนชั้นกลางหรือคนรุ่นใหม่สนใจอาจไม่ใช่เป้าหมายของเขา

คนทุกคนก็อยากมีภาพพจน์ที่ดีแหละ แต่เมื่อเลือกไม่ได้ ก็เลือกเอาคะแนนมากกว่า


คุณเคยเขียนถึงการบริหารบ้านเมืองที่ต้องคำนึงถึง ‘อารมณ์’ ของสังคมด้วย ในช่วงภาวะวิกฤตที่คนตกที่นั่งลำบาก คนเริ่มตั้งคำถามว่าเราควรจะเปลี่ยนม้ากลางศึกไหม หรือบางคนก็ถามว่าที่ขี่อยู่เป็นม้าหรือเปล่า คุณคิดเห็นอย่างไรกับการบริหารอารมณ์สังคมของรัฐบาลนี้

ผมว่าตอนนี้พลเอกประยุทธ์เริ่มขอโทษเป็นแล้วนะ ขอโทษมาสองครั้งแล้ว พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์  ผู้อำนวยการ ศปก.ศบค. ก็เริ่มขอโทษบ่อยมาก คือผมว่าคำขอโทษมันช่วยอารมณ์สังคมได้เยอะ ถ้าคุณรู้สึกว่าทำพลาด แล้วขอโทษ คนอาจจะดีขึ้น นี่เขาพยายามปรุงแต่งอารมณ์สังคมอยู่พอสมควร และอย่าลืมว่าอารมณ์สังคมไม่หยุดนิ่ง ณ วันนี้เราอาจจะโกรธ โกรธมาก เพราะวัคซีนมันขาด แต่ถ้าระดมฉีดวัคซีนได้สักสามเดือนขึ้นมา สมมติคนกรุงเทพฯ สามารถใช้ชีวิตอย่างกึ่งธรรมดาได้พอสมควรแล้ว มู้ดมันจะเปลี่ยนนะ บางทีคนก็ลืมง่ายเหมือนกัน เพียงแต่ว่าพอถึงช่วงเลือกตั้ง คนก็จะขุดคุ้ยสิ่งเหล่านี้กลับมาอีกรอบหนึ่ง

ผมชอบคำพูดของนักธุรกิจใหญ่คนหนึ่ง เขาบอกว่าเรื่องบริหารบ้านเมืองก็เหมือนเวลาเราไปหาหมอ เรารักษาตัวเองไม่เป็นหรอก แต่ถ้าเรารักษากับหมอคนหนึ่ง แล้วเขารักษาเราไม่ได้ เราก็เปลี่ยนหมอ อำนาจของเราคืออำนาจของการเปลี่ยนหมอ ฉะนั้นผมเชื่อว่าถ้าคนไม่พอใจ ไม่ต้องกลัวหรอกครับ ม้ากลางศึกหรือไม่กลางศึก มันเปลี่ยนแน่นอน


การรับมือกับวิกฤตครั้งนี้ รัฐบาลสร้างเครดิตหรือเสียเครดิตมากกว่ากัน โดยเฉพาะเครดิตในสายตาภาคเอกชนที่น่าจะคาดหวังผู้นำที่มีประสิทธิภาพ รับมือวิกฤตได้ดี และเท่าทันโลก

ภาคเอกชนโกรธจริงๆ เท่าที่ผมได้ฟังอารมณ์ของเขามานะ โอ้โห โกรธอย่างนึกไม่ถึง โดยเฉพาะผู้ประกอบการระดับล่าง คือถ้าเขาพลาดเพราะตัวเขาเอง คงไม่เท่าไหร่ แต่บางอย่างดันพลาดเพราะรัฐบาลไง

วิกฤตครั้งนี้ทำให้คนรู้สึกถึงการบริหารจัดการที่เหลื่อมล้ำเยอะขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกระแสอย่างคลัสเตอร์ทองหล่อ หรือกรณีของวีไอพีทั้งหลายที่ไปฉีดวัคซีนก่อน คนรู้สึกมากเลยนะ มันกรุ่นในอารมณ์อยู่ค่อนข้างเยอะ ไหนจะพวกผู้ประกอบการที่เห็นธุรกิจเจ๊งไปกับมืออีก คือถ้าวันนี้ไม่มีโควิดแล้วมีม็อบไล่รัฐบาล ผมเชื่อว่าคนมาเพียบร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมมั่นใจเลยว่าชนชั้นกลาง ผู้ประกอบการ นักธุรกิจใหญ่ๆ ทุกคนที่เคยเชียร์รัฐบาล ตอนนี้เริ่มไม่เอาละ เพราะรู้สึกว่าบริหารไม่เป็น


ถ้าพรรคพลังประชารัฐเป็นแบรนด์หนึ่งแบรนด์ เขาน่าจะเริ่มเป็นที่จดจำ (ในทางที่ดีหรือไม่ดีก็ตาม) จากจุดนี้พรรคพลังประชารัฐจะเดินหน้าต่ออย่างไรให้แบรนด์เข้มแข็ง หรือว่าต้องรีแบรนด์ไปเลย

ถ้าผมคิดแบบพลังประชารัฐ ผมจะคิดแบบช่องเจ็ดสี คือเอากลุ่มแมส คุณลองไปดูเรตติ้งละครช่องเจ็ดสิ บางทีคุณไม่รู้จักเรื่องนี้ด้วยซ้ำ แต่เรตติ้งสูงกว่าช่องสาม สูงกว่าช่องวัน ก็แปลว่าจริงๆ มีกลุ่มมวลชนจำนวนมากเลยที่ยังนิยมแบบนี้อยู่ ฉะนั้นถ้าเขาจะเอาคะแนนเสียง เขาอาจจะเดินไปตามทางเดิมของเขาก็ได้ คือเอาบารมีของ ส.ส. เป็นที่ตั้ง ใช้อำนาจทางการเมืองเข้าไปกดบางสิ่งบางอย่างไว้เพื่อให้เขาทำอะไรได้ง่ายขึ้น เขาใช้การเดินเกมแบบเก่าๆ เพราะการรีแบรนด์เป็นเรื่องของการปรับภาพลักษณ์ให้สดใสขึ้น เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น แต่ถ้าเขาไม่สนใจกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือถ้าเขาเชื่อว่าส่วนแบ่งคนกลุ่มนี้มีอยู่ไม่มาก เขาเจาะกลุ่มแมสดีกว่า


ในด้านหนึ่ง คนรุ่นใหม่เป็นคนที่ไ่ม่เอาพรรคพลังประชารัฐมากที่สุด แต่เป็นไปได้ไหมที่จะมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เชียร์พรรคพลังประชารัฐ พรรคควรจับตลาดคนรุ่นใหม่ไหม

ไม่ค่อยเจอคนเชียร์นะ (หัวเราะ) แต่ผมว่าในต่างจังหวัดอาจจะมีอยู่บ้าง อาจจะเชียร์ ส.ส. ในพื้นที่เขา แต่ถ้าพลังประชารัฐกล้าขนาดเอาคุณธรรมนัสมาเป็นเลขาธิการพรรค ไม่ต้องคิดเลยว่าเขาจะคิดเรื่องรีแบรนด์ เขาใช้การเมืองแบบเดิม ชนะด้วยแบบเดิมๆ เหมือนขายของน่ะครับ สินค้าบางอย่างขายวัยรุ่น บางอย่างก็ไม่ขายวัยรุ่น ผมเชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐจะให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ไม่เยอะ เขาไปกินกลุ่มอื่นดีกว่า เขาอาจรู้สึกว่าถ้าสู้ไม่ได้ ก็แตะมันบ้างเพียงเล็กน้อย แต่คงไม่แตะเยอะ ถ้าผมเป็นพลังประชารัฐผมก็จะทำแบบนี้


พรรคที่เปลี่ยนแปลงมากในช่วงที่ผ่านมาคือพรรคเพื่อไทย ทั้งการลาออกของคุณสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ การที่ขุนพลพรรคไทยรักไทยในอดีตอย่างหมอมิ้ง (นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช) และ หมอเลี้ยบ (นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี) กลับมามีบทบาทอีกครั้ง รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงวิธีการสื่อสาร และ performance ในสภา คุณมองเห็นอะไรบ้างในการเปลี่ยนแปลงนี้

ต้องยอมรับว่าคุณสุดารัตน์เป็นคนที่มีบารมี การสูญเสียคนที่มีบารมีไปก็ทำให้พรรคเพื่อไทยยวบไปบางส่วน โดยเฉพาะในพื้นที่กทม. ซึ่งคุณสุดารัตน์ทำงานการเมืองในพื้นที่มานาน และผมไม่แน่ใจว่า ส.ส. ต่างจังหวัดบางส่วนจะตามคุณสุดารัตน์ไปหรือเปล่า เพราะบางทีพอใกล้ถึงเลือกตั้ง แบรนด์เพื่อไทยอาจจะพลิกกลับมาอีกรอบก็ได้

แต่การที่เพื่อไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ผมคิดว่าเป็นความขัดแย้งภายใน เขาต้องการกระชับวงเข้ามา ใช้คนกลุ่มที่เขาถือว่าคุ้นชินหรือควบคุมได้ระดับหนึ่ง และเป็นกลุ่มที่เคยทำพรรคไทยรักไทยขึ้นมา ซึ่งเป็นมุมที่น่าสนใจมากทีเดียว

อย่างการทำกลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย ก่อนที่ทั้งหมอมิ้งและหมอเลี้ยบจะเข้าพรรค ก็เกิดขึ้นตอนที่คุณสุดารัตน์ยังอยู่เพื่อไทย ดูเป็นการแยกกลุ่มขึ้นมาอีกกลุ่มที่ไม่เกี่ยวกับเพื่อไทย แต่พอวันที่คุณสุดารัตน์ออก กลุ่ม CARE ก็ใกล้ชิดกับเพื่อไทยยิ่งกว่าเดิม


ถ้าเราดูลักษณะการสื่อสารผ่านแพลตฟอร์ม THINK คิด เพื่อ ไทย เรามองเห็นอะไรบ้าง ถือว่านี่เป็นการสื่อสารเพื่อเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ได้ไหม

ผมว่าเขาต้องการกลุ่มคนรุ่นใหม่ หมอมิ้ง-หมอเลี้ยบ คือคนหนุ่มสาวในยุคสมัยพรรคไทยรักไทย ไม่ได้เด็กมาก อาจจะอายุประมาณสักสี่สิบกว่าในยุคนั้น ซึ่งมีประสบการณ์ผ่านการเมือง 14 ตุลา, 6 ตุลา มีคนเดือนตุลาเข้ามาช่วยขับเคลื่อนพรรคไทยรักไทยจำนวนหนึ่ง และได้ฐานคนรุ่นใหม่ไปพอสมควร แต่ช่วงหลังๆ เขาสูญเสียฐานคนรุ่นใหม่ให้กับอนาคตใหม่และก้าวไกลไปค่อนข้างเยอะ ฉะนั้น ผมว่านี่คือการแย่งคนรุ่นใหม่กลับมา

ความแตกต่างกันก็คืออนาคตใหม่หรือก้าวไกลยังไม่มีผลงาน เพราะเขายังไม่เคยเป็นรัฐบาล เขามีไอเดีย มีความคิด มีผลงานในฐานะฝ่ายค้านที่น่าประทับใจมาก วิธีการสื่อสารแบบมีเนื้อหาสาระของเขาก็โดนใจคนรุ่นใหม่ แต่ถ้าพูดถึงผลงาน เนื่องจากว่าไทยรักไทยเคยเป็นรัฐบาลมาก่อนอย่างยาวนาน ผลงานก็จะเยอะกว่า โดยเฉพาะในยุคคุณทักษิณ (ชินวัตร) ซึ่งสร้างปรากฏการณ์ในหมู่คนรุ่นใหม่ขึ้นมาได้ ผมว่าทางหนึ่งก็ต้องขอบคุณ clubhouse ถ้าไม่มีนวัตกรรมนี้เกิดขึ้น ปรากฏการณ์ โทนี่ วูดซัม จะไม่เกิด


ปรากฎการณ์ ‘โทนี่ วูดซัม’ ใน club house ของคุณทักษิณสร้างความฮือฮาในโซเชียลมีเดียแทบทุกครั้ง และดูจะมีภาพลักษณ์ที่ค่อนข้างบวกในสายตาคนรุ่นใหม่ คุณเห็นกลยุทธ์อะไรจากปรากฏการณ์นี้บ้าง

ผมว่าตอนเข้าไปพูดครั้งแรกเขาอาจจะไม่ได้คิดอะไรเท่าไหร่ แต่พอพูดไปสักพักนึง เขาเริ่มรู้ว่า เฮ้ย สิ่งที่เขาทำมาในอดีต เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้ แต่พอได้รู้ก็ ‘ว้าว’ ไปตามๆ กัน ว่ามีอะไรแบบนี้เคยเกิดขึ้นในเมืองไทยมาก่อนด้วยหรือ เพราะตอนปี 2544 ที่เขาเป็นรัฐบาล คนรุ่นใหม่ยังเด็กมาก บางทียังไม่ถึงสิบขวบกันเลย ทำให้ไม่รู้ว่า TK park หรือ TCDC เป็นผลงานของทักษิณนะ รัฐบาลสมัยไทยรักไทยเป็นคนทำนะ ไม่รู้ว่าตอนนั้นเด็กแรกเกิดเคยได้ถุงของขวัญเหมือนฟินแลนด์เลย ไม่รู้ว่ามีหนึ่งตำบลหนึ่งทุน ที่ให้ทุนการศึกษาไปต่างประเทศด้วย

พอเขาจับช่องทางสื่อสารแบบนี้ได้ปุ๊บ เขาก็ปล่อยยาวเลย คราวนี้เริ่มคุยเรื่องงานในอดีต ฉะนั้น สังเกตว่าไม่ว่าเขาจะพูดเรื่องอะไรก็ตาม เขาจะวนไปที่ผลงาน คำพูดของคนที่เคยทำมาแล้วก็มีน้ำหนัก เขาก็หยิบสิ่งเหล่านั้นมาพูดซ้ำ ในขณะที่ก้าวไกลหรืออนาคตใหม่ยังไม่มีน้ำหนักตรงนี้ เช่น เวลาคุณธนาธรพูดว่าถ้าเขาจะแก้ปัญหาประเด็นใดประเด็นหนึ่ง เขาจะแก้ยังไง เขาก็แก้ในมุมของคนที่เคยประสบความสำเร็จในภาคเอกชน ขณะที่คุณทักษิณจะโชว์ความเก๋าที่เคยเป็นนายกฯ มาตั้งยาวนาน แล้วก็เชื่อมโยงไปยังบุคคลอื่น พูดถึงแต่ละคนเหมือนกับไพ่ในมือที่เขาเคยเล่น และต้องยอมรับว่าการบริหารงานราชการหรือรัฐบาลไม่แตกต่างจากภาคเอกชน ทั้งวิธีการบริหารงานหรือการตัดสินใจ คุณทักษิณจึงหยิบสิ่งเหล่านี้มาขาย ซึ่งผมคิดว่าทำให้คนรุ่นใหม่ยอมรับเขามากขึ้น แต่พอถึงวันเลือกตั้ง สิ่งหนึ่งที่จะแตกต่างกันก็คือ คุณทักษิณอยู่ไกล เป็นไอเดียได้เฉยๆ กลับมาเมืองไทยไม่ได้


การที่คุณทักษิณกลับมาขายประเด็นทางเศรษฐกิจ แต่ไม่เคลื่อนประเด็นการเมืองที่แหลมคมในยุคที่เพดานเปลี่ยน จะยังตอบโจทย์ตลาดการเมืองปัจจุบันไหม

ผมว่าตรงนี้เป็นจุดอ่อนของคุณทักษิณ เพราะเด็กรุ่นใหม่ทะลุเพดานไปแล้ว แต่เพดานคุณทักษิณยังเหมือนเดิม ก้าวไกลอาจไปกับคนรุ่นใหม่ได้ แต่คุณทักษิณไปไม่ได้ เขาเลือกว่าเขาจะอยู่แค่นี้ ใจเขาคิดอะไรไม่รู้นะ แต่ท่าทีที่ออกมา เขาอยู่แค่นี้

ส่วนฐานเสียงเดิม ผมว่าต้องยอมรับว่ายิ่งห่างยิ่งนาน บารมีก็เบาลง ไม่เหมือนกับเมื่อตอนหลังรัฐประหาร 2549 ใหม่ๆ หรือแม้แต่สมัยคุณยิ่งลักษณ์ คือในช่วงเจ็ดปีของพลเอกประยุทธ์ ต้องยอมรับว่าเขาบั่นทอนกลุ่มคนเสื้อแดงและฐานเสียงคุณทักษิณไปได้เยอะทีเดียว


แล้วพรรคเก่าแก่แบบประชาธิปัตย์ล่ะ ภาพลักษณ์ของพรรคเป็นอย่างไรในสังคมยุคนี้

ประชาธิปัตย์เนี่ย น่ากลัวที่สุด เดิมเขายังได้ฐานคนรุ่นใหม่ ได้ชนชั้นกลางและปัญญาชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญญาชนที่อาจจะอนุรักษนิยมนิดหน่อย แต่วันนี้เขาโดนบีบ ด้านหนึ่งก็โดนพลังประชารัฐแย่งกลุ่มอนุรักษนิยมไป ใครจะไปนึกว่าประชาธิปัตย์จะโดนเจาะทะลวงภาคใต้ได้ แต่ก่อนเพื่อไทยพยายามเจาะภาคใต้เท่าไหร่ก็ไม่เคยได้ แต่มาคราวนี้พลังประชารัฐทะลวงได้ แปลว่าประชาธิปัตย์มีจุดอ่อนในพรรค

ต้องยอมรับว่า คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีสถานะหรือชื่อเสียงดีกว่า คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เยอะเลย พอเปลี่ยนหัวหน้าพรรคเป็นคุณจุรินทร์ และมีคนลาออกจากพรรคเต็มไปหมด ผมว่าทำให้ประชาธิปัตย์อยู่ในจุดที่ลำบากมาก เพราะโดนพรรคพลังประชารัฐกินพื้นที่ ด้วยบารมีที่เยอะกว่า และยังมีภูมิใจไทยซึ่งเป็นพรรคที่ยิงลูกโดดเก่ง ไล่เจาะฐานเก่ง เข้ามาด้วย


คนแบบไหนหรือกลยุทธ์แบบใดที่จะมากู้ประชาธิปัตย์ตอนนี้ได้

โห ยากมาก เขาต้องหาตำแหน่งของเขาให้เจอ สมัยก่อนเขาเป็นพรรคที่สู้เพื่อประชาธิปไตย ในรุ่นของผม เขาคือพรรคคนรุ่นใหม่ พรรคที่ต่อสู้กับเผด็จการ แต่รัฐประหารสองครั้งที่ผ่านมานี้ ภาพลักษณ์ของประชาธิปัตย์ไม่เหมือนเดิม จุดยืนประชาธิปไตยมันหาย

เกมเดียวที่เขาน่าจะสู้ตอนนี้คือเกมรัฐธรรมนูญ มันจะทำให้เขาหล่อขึ้น ถ้าเลือกจะต่อสู้จริงๆ แบบที่แซะพลังประชารัฐไปได้  ซึ่งอาจจะมีผลในภาคใต้ ต้องไม่ลืมว่าที่ผ่านมาภาคใต้คือกลุ่มที่เป่านกหวีดเยอะที่สุดและทำให้เกิดการรัฐประหาร จากที่แต่ก่อนคนใต้ไม่ชอบเผด็จการมากที่สุด โลกมันเปลี่ยนไป ฉะนั้น การที่ประชาธิปัตย์จะหาตำแหน่งยืนที่ดีได้นั้นยากมากจริงๆ รีแบรนด์ก็ยาก เนื่องจากโครงสร้างภายในเป็นกึ่งระบบราชการ มีลำดับชั้นเต็มไปหมด แม้จะมีความเป็นประชาธิปไตยในพรรคสูง คือทุกคนเถียงกัน ว่ากันได้หมด แต่ช่วงหลังคนที่เป็นแกนของประชาธิปัตย์ก็ลาออกไปเยอะ ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จริงๆ ก็เป็นโจทย์ยากมากครับ

อย่างคุณอภิสิทธิ์ ต้องยอมรับว่าโดยส่วนตัวเขาก็มีบารมีอยู่ระดับหนึ่ง เขาได้รับความนิยม พูดเก่ง หน้าตาดี จุดยืนประชาธิปไตยก็พอใช้ได้ อาจแกว่งๆ ไปหลายช่วง แต่จริงๆ พื้นฐานเขาดีพอสมควร ช่วงเลือกตั้งครั้งที่แล้วก็แสดงจุดยืนค่อนข้างเยอะ เขาก็มีภาพเก่ากับแผนเก่าที่แก้ตัวไม่ทัน แต่ยังไงก็ยังดีกว่าปัจจุบันที่เป็นอยู่ ถ้าคุณจุรินทร์ยังอยู่และยังเป็นรูปแบบเดิมอย่างนี้ ยังไงประชาธิปัตย์ก็มีแต่โรยแน่นอน


แล้วพรรคภูมิใจไทยเจ้าของฉายา ‘อภิปรายอย่างราชสีห์ โหวตอย่างหนู’ ล่ะ การออกตัวลักษณะนี้สะท้อนอะไรในเกมการเมือง และจะมีผลต่อความนิยมหรือภาพลักษณ์พรรคภูมิใจไทยอย่างไร

ภูมิใจไทยเล่นการเมืองแบบผสมผสาน จากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเห็นยุทธศาสตร์ของเขาชัดเจนว่ายิงลูกโดดเก่งมาก คือเขาโฟกัสทุกพื้นที่เลย เจาะตลาดเป็นจุดๆ รู้เลยว่าเอาตรงไหน เขายิงแม่น ยิงแล้วได้ มียุทธศาสตร์การเมืองที่ผมว่าเจ๋งในเชิงการแข่งขันนะ เขารู้ว่าพื้นที่ไหนที่จะลง ก็พยายามเลือกอันดับ 2-4 เผื่อฟลุ๊คได้ที่หนึ่ง ถ้าไม่ได้ ก็ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์มาสั่งสม พอมาเป็นรัฐบาลครั้งนี้ ผมเชื่อว่าเขาสั่งสมกระสุนดินดำค่อนข้างเยอะ จะทำให้เขายิงลูกโดดได้เยอะขึ้นกว่าเดิม


เป็นที่รู้กันว่า คุณอนุทิน ชาญวีรกูล มีที่ปรึกษาทางการเมืองชั้นเซียนอย่าง คุณเนวิน ชิดชอบ เวลาเล็งใคร ก็เข้าเป้าหมด แต่ในสถานการณ์โควิดรอบนี้ดูเหมือนอนุทินจะเมาหมัดไปเหมือนกัน คุณคิดว่าเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคภูมิใจไทยจะยืนอย่างไร และนโยบายที่ใช้การตลาดนำมากๆ (คล้ายกับนโยบายกัญชา) จะยังขายได้ไหม

อยู่ที่ว่าเขาหวังว่าจะเป็นที่หนึ่งหรือเปล่า ถ้าเขาไม่หวังเป็นที่หนึ่ง หัวหน้าพรรคก็ไม่มีผล ถ้าเขาหวังที่สอง แล้วเขาได้กระทรวงดีๆ แบบเดิม อย่างกระทรวงคมนาคมหรือพลังงาน เขาอาจจะพอใจแค่นั้นก็ได้ มันอยู่ที่เป้าหมายของแต่ละพรรค

การอภิปรายในสภาช่วงที่ผ่านมา เห็นชัดเจนว่าเป็นความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ใช้กระบวนการรวบอำนาจ แล้วหักหน้าคุณอนุทินหลายรอบ กลายเป็นว่าในพรรคร่วมรัฐบาลก็รู้กันว่าคุณเป็นนายกฯ คุณใหญ่ที่สุด จะทำอะไรก็ได้ แต่ในสภาเป็นพื้นที่ของผม ในฐานะ ส.ส. จะออกฤทธิ์ออกเดชยังไงก็ได้ ถ้าคุณเล่นงานพรรคร่วมรัฐบาล ในสภาคุณจะเจอแบบนี้ แล้วเขาก็เล่นบทบาทนั้นโดยถือว่าเป็นสิทธิของ ส.ส. ถึงสุดท้ายผลโหวตจะเหมือนเดิม แต่ก่อนหน้าที่จะโหวตเขาอัดเละ ส่วนหนึ่งเป็นการบั่นทอนคะแนนพรรคพลังประชารัฐ เพราะสุดท้ายก็ถือเป็นคู่แข่งทางการเมืองกัน ฉะนั้น คุณอนุทินก็ไม่ยอมให้พรรคพลังประชารัฐ หรือพลเอกประยุทธ์อยู่อย่างสวยๆ หล่อๆ กับเรื่องวัคซีน เรื่องโควิด-19 โดยที่อนุทินเละ แบบนี้ไม่เอา

สังเกตว่าตอนนี้คุณอนุทินปรับบทบาทแล้ว เขาพูดเลยว่าปฏิบัติตาม ศบค. พลเอกประยุทธ์เป็นคนสั่ง อำนาจทั้งหมดอยู่ทางโน้น ทันทีที่เขารู้ว่าที่ผ่านมาเขารับไว้มากเกินไปในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับทุกเรื่อง คนคิดว่าทั้งหมดเป็นเขาดูแล พอเกมเริ่มมาทางนี้ เขาจึงโยนกลับไปให้พลังประชารัฐ


เป็นไปได้ไหมที่วันหนึ่งเกมจะเดินไปถึงขั้นที่ภูมิใจไทยโหวตสวนพรรคร่วมรัฐบาล

การเมืองไม่มีอะไรแน่นอน วันหนึ่งถ้าถึงจุดที่ต้องแตกแถว เพราะผ่านปีที่สองไปแล้ว กำลังเข้าปีที่สาม ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ ยิ่งเวลาเข้าสู่ปีที่สี่ ยิ่งแล้วใหญ่ แต่โจทย์สำคัญของเขาตอนนี้คือในระหว่างที่เขาอยู่ซึ่งเขาทนไปเรื่อยๆ เมื่อเลือกตั้งใหม่เขาจะได้อำนาจเท่าเดิมหรือเปล่า จะได้กระทรวงดีๆ แบบเดิมหรือเปล่า หรืออย่างตอนนี้อำนาจต่อรองเขาสูงสุด เขาได้ทั้งกระทรวงคมนาคม ทั้งกระทรวงสาธารณสุข แต่ถ้าครั้งหน้าเขาลงเลือกตั้งแล้วทะเลาะกับพลังประชารัฐ เขาจะไปอยู่ฝั่งไหน วิธีคิดมันก็ง่ายๆ เท่านี้


พรรคก้าวไกลที่มีวิธีสื่อสารกับคนรุ่นใหม่และทำได้ดีในการอภิปรายในสภา ถือว่าได้เปรียบในตลาดการเมืองยุคนี้ไหม  คุณคิดว่าอะไรเป็นจุดอ่อนของพรรคนี้

จุดอ่อนข้อหนึ่งของพรรคก้าวไกลอย่างที่ผมบอกไปคือ เขายังไม่เคยมีผลงานเป็นรัฐบาล มีแต่นโยบาย แต่เนื่องจากที่ผ่านมาผลงานเขาค่อนข้างดีในสภา ทำให้ต่อไปเวลาเขาพูดถึงนโยบาย น้ำหนักความน่าเชื่อถือจะมีมากขึ้น

ผมเชื่อว่าคะแนนเสียงของคนรุ่นใหม่ครั้งหน้า ส่วนใหญ่ก็ยังเทไปที่ก้าวไกล เพียงแต่เขาจะขยายฐานไปสู่กลุ่มอื่นได้มากน้อยแค่ไหน ผมว่าก้าวไกลได้ผ่านพ้นสถานการณ์หนึ่งมาได้คือ ตอนแรกที่เห็นรายชื่อ ส.ส. คนทั่วไปจะรู้สึกว่าโนเนมมาก ไม่รู้จักใครเลย แต่พอผลงานในสภาเขาเกิด เราก็ได้เห็นแล้วว่ามีหลายคนที่ใช้ได้ อภิปรายดี มีของทุกคนเลยในฐานะ ส.ส. จุดนี้ทำให้คนเริ่มมองเห็นอนาคตว่า เฮ้ย เขาก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีของนะ

โจทย์สำคัญคือเขาจะขยายตลาดไปยังคนกลุ่มอื่นอย่างไร ระบบการเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นอย่างไร ถ้าเป็นบัตรใบเดียวแบบเดิม เขาจะได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์เยอะ แต่ถ้าเป็นบัตรสองใบเมื่อไหร่ เขาจะได้น้อยลง เพราะ ส.ส. พื้นที่เขาน้อย ยกเว้นว่าเขาจะกวาดในกทม. ได้เยอะ 


การแตะเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์จะกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้การขยายฐานเสียงของพรรคยากขึ้นไหม

เป็นแน่นอน ธรรมชาติของการเมืองในต่างจังหวัดจะหาเสียงไปทั่วๆ แต่ก้าวไกลจะมีลักษณะพิเศษคือ ถ้าคุณเดินหาเสียงกับพรรคนี้ จะออกมาในลักษณะเดียวกับที่ธนาธรโดนในช่วงที่ผ่านมา เลือกตั้งครั้งหน้าก็อาจจะมีผล ภายในต่างจังหวัดประเด็นแบบนี้ปลุกเร้าง่ายกว่าในกรุงเทพฯ เยอะ

ขอแถมหน่อย คุณคิดว่าการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. จะเกิดขึ้นในปีนี้ไหม และโจทย์ที่ต้องแข่งกันในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้คืออะไร

(หัวเราะ) ตามปฏิทินการเมืองที่เขาเชื่อกัน ปลายปีนี้จะได้เลือกตั้งใช่ไหมครับ ผมว่าพอโควิดคลี่คลายก็น่าจะได้เห็นละครับว่าจะเลือกตั้งผู้ว่า กทม. เมื่อไหร่

การเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ที่ผ่านมาในอดีต ตัวบุคคลเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เรื่องพรรคเป็นเพียงเปอร์เซ็นต์ส่วนหนึ่ง เป็นคะแนนพื้นฐาน นโยบายก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่จุดขาย ส่วนใหญ่จะเลือกกันที่ตัวบุคคล ฉะนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนลงสมัครคือใคร ใครจะทำให้คนเชื่อว่าเขาจะมาเป็นผู้ว่ากทม.ที่ดีกับเราได้ เช่น ถ้าชัชชาติลง บารมีเขา ชื่อเขาตอนนี้ หาคนสู้ยากนะ 


ในอดีตคุณเคยกล่าวว่าการเมืองก็เหมือนลิเก มีคนดีคนร้ายชัดเจน เมื่อมองดูการเมืองปัจจุบัน คุณยังมองเป็นลิเกเหมือนเดิมไหม

ก็ยังมีฉายาแบบ ‘อภิปรายแบบราชสีห์ ลงคะแนนอย่างหนู’ อยู่เลยไม่ใช่หรือ (หัวเราะ)

การเมืองเป็นเกมของอำนาจและภาพลักษณ์ จริงๆ แล้วระหว่างภาพบนโต๊ะที่เราเห็นๆ กัน กับใต้โต๊ะที่เขาคุยกันหรือมือไม้ที่เขาจับกัน มันก็ยังเหมือนเดิมนะ เหมือนตอนที่เราประชุมผ่าน zoom เราแต่งหน้า แต่ท่อนล่างเราใส่กางเกงนอนขาสั้น เพราะคนต้องการเห็นแค่นี้ ก็คล้ายๆ กัน การเมืองไทยที่เราเห็นอยู่ในสภาก็อย่าไปตีค่ามันว่าเป็นจริง 100% ให้สักประมาณ 50-70% ก็พอ เพราะมันเป็นเกมของอำนาจ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save