fbpx
"เผด็จการเกลียดวิชาปรัชญา" โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์

“เผด็จการเกลียดวิชาปรัชญา” โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์

วจนา วรรลยางกูร เรื่องและภาพ

การปกป้องสิทธิของใครคนหนึ่งหมายถึงการปกป้องผลประโยชน์เสมอไปไหม?

งานศิลปะจำเป็นต้องมีความงามไหม?

เหตุผลสามารถอธิบายทุกอย่างได้ไหม?

คำถามชวนปวดหัวที่อาจต้องเถียงกันข้ามวันข้ามคืนเหล่านี้ มาจากข้อสอบวิชาปรัชญาของประเทศฝรั่งเศสในการสอบเพื่อจบชั้นมัธยมปลายเมื่อปี 2017 ซึ่งเป็นข้อสอบที่ทำนักเรียนฝรั่งเศสกุมขมับทุกปี เพราะคาดเดาแนวข้อสอบไม่ได้เลย จนกว่าจะได้ไปนั่งในห้องสอบและใช้เวลา 4 ชั่วโมงตอบคำถามเรื่องชีวิต ความงาม ความจริง ความถูกต้อง

หลายประเทศในยุโรป บรรจุปรัชญาเป็นวิชาบังคับในโรงเรียน บางประเทศให้มีการสอนปรัชญาสำหรับเด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาล เพื่อพัฒนาทักษะความคิด

รายงานยูเนสโกระบุว่า การสอนปรัชญาสำหรับเด็กนอกจากจะช่วยพัฒนาการกระบวนการเรียนรู้ และทักษะการคิดวิเคราะห์แล้ว ยังช่วยพัฒนาศักยภาพของพลเมืองในอนาคต ให้มีภูมิต้านทานต่อการถูกปลูกฝังโดยลัทธิหรือโฆษณาชวนเชื่อ ให้มีเสรีภาพในการตัดสินใจ โดยเรียนรู้ผ่านการถกเถียงกันด้วยเหตุผล ก่อนจะนำไปสู่การดีเบตบนวิถีประชาธิปไตย

ขณะที่ระบบการศึกษาไทยยังให้นักเรียนท่องค่านิยม 12 ประการ นอกจากจะไม่มีแนวคิดเรื่องการสอนปรัชญาแล้ว วิชาปรัชญายังถูกมองเป็นเรื่องแปลกแยกและไกลตัว แม้จะมีการเรียนการสอนปรัชญาในระดับมหาวิทยาลัยก็ตาม

ที่ผ่านมามีเสียงเรียกร้องให้มีการสอนวิชาปรัชญา เช่นที่ ‘กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท’ เรียกร้องให้บรรจุวิชาปรัชญาและจริยศาสตร์ แทนวิชาหน้าที่พลเมือง

ศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ อาจารย์ภาคปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย ยอมรับว่าอยากให้โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการหันมาสนใจเรื่องนี้ และมีความคิดจะเข้าไปเสนอไอเดียกับผู้กุมนโยบาย

แม้ฟังดูเป็นไปได้ยาก แต่ใช่ว่าจะไม่มีทางเสียทีเดียว หากแวดวงการศึกษาไทยมีความจริงใจที่จะทำตามที่พร่ำบอก ว่าอยากให้เด็กไทยรู้เท่าทัน มีความใฝ่รู้ และคิดอย่างมีวิจารณญาณ

“คุณสมบัติเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากการเรียนปรัชญา” เป็นคำยืนยันของโสรัจจ์ในบทสนทนาต่อจากนี้ ว่าด้วยการสอนปรัชญาตั้งแต่ในระดับโรงเรียน การเสริมสร้างความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ไปจนถึงคำถามที่ว่า ทำไมเผด็จการจึงเกลียดวิชาปรัชญา

 

โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์

ทำไมปรัชญาถูกมองว่าเป็นเรื่องยาก

คำตอบเหมือนงูกินหาง พอไม่มีเรียนปรัชญาในโรงเรียน เลยไม่มีความคุ้นเคยกับวิชานี้ ไม่เหมือนการเรียนภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ตั้งแต่เด็ก ทำให้รู้จักว่าคืออะไร แต่ได้ยินคำว่าปรัชญาแล้วรู้สึกไกลตัว อาจเพราะไม่มีในโรงเรียน

อีกทางหนึ่งเป็นไปได้ว่า เนื้อหาวิชาปรัชญาเป็นเรื่องนามธรรม ตั้งคำถามต่อเรื่องพื้นฐานของสิ่งต่างๆ เช่น ความจริงคืออะไร ความรู้คืออะไร คำถามง่ายๆ สั้นๆ แต่ตอบยากมาก และจะแน่ใจได้ยังไงว่าเรามีความรู้ ไม่ใช่แค่ถูกหลอก หรือไม่ใช่แค่ความคิดเห็นส่วนตัวเฉยๆ คำตอบไม่สามารถฟันธงได้อย่างตายตัว

ทำไมจึงควรมีการเรียนปรัชญาในโรงเรียน

การสอนปรัชญาในโรงเรียนไม่เหมือนการสอนในมหาวิทยาลัย ประเทศที่สอนปรัชญาในโรงเรียนก็ไม่ได้คิดว่าต้องให้นักเรียนประถมหรือมัธยม เรียนเหมือนนักเรียนเอกปรัชญาในมหาวิทยาลัย ปรัชญาระดับประถมหรือมัธยมไม่ได้มุ่งไปที่คำตอบหรือเนื้อหาในตำราวิชาปรัชญา แต่เน้นกิจกรรม โดยมีคำถามที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น เราคิดว่าสิ่งไหนดีกว่า เราควรทำอะไร ควรจะไปทางซ้ายหรือทางขวา สังคมควรจะมีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร เป็นคำถามเชิงคุณค่า ไม่มีคำตอบตายตัว

แต่คำตอบที่คิดว่าตายตัวอาจมาจากสังคม ผู้ใหญ่ หรือผู้มีอำนาจฝังหัวเด็กว่าต้องคิดแบบนี้ ซึ่งไม่ค่อยเอื้อต่อความก้าวหน้าทางความคิด และอาจไม่ส่งเสริมสิ่งที่พวกผู้วางนโยบายประเทศอยากได้ เช่น อยากให้คนไทยมีความคิดริเริ่ม ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดแบบมีวิจารณญาณ ไม่ถูกหลอกง่าย ไม่เชื่อใครง่ายๆ รู้จักตรวจสอบว่าอะไรควรเชื่อ เหล่านี้เป็นคุณสมบัติของคนเรียนปรัชญาทั้งนั้น มาจากการคิด การสงสัย และใช้เหตุผลอภิปรายกันเรื่องปัญหาเชิงคุณค่า

การเรียนปรัชญาในโรงเรียน ไม่จำเป็นต้องท่องว่าใครเป็นอาจารย์ของเพลโต แต่การอ่านงานของนักปรัชญาดังๆ อาจเป็นไปได้ในระดับมัธยมปลาย ถ้ามีพื้นฐานและพูดคุยเกี่ยวกับวิธีการคิดแบบปรัชญามาบ้างแล้ว

คำถามหนึ่งที่ผมชอบยกมาถามนิสิตจุฬาฯ เช่น นิสิตจุฬาฯ ควรจะต้องถูกบังคับให้ใส่เครื่องแบบไหม คนก็ตอบไปต่างๆ นานา พอตอบลงลึก จะไปสู่ประเด็นที่เป็นทฤษฎีว่าทำไปทำไม นี่แหละปรัชญา เรามองโอกาสที่นักเรียนจะได้คิดเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ ทำให้ความคิดเขาเปิดกว้าง ไม่ถูกตีกรอบให้คิดตามที่ครูบอกอย่างเดียว หรือคิดตื้นๆ ประเภทว่า จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ในเชิงเทคนิคอย่างไร

คำถามเกี่ยวกับ ‘อย่างไร’ กับคำถามเกี่ยวกับ ‘ทำไม’ มันต่างกัน เช่น “เปิดกระป๋องใบนี้อย่างไร” เป็นเรื่องเทคนิค แต่คำถามเช่น “เราเกิดมาทำไม” เป็นคำถามที่ลงไปลึกมากๆ บางทีผู้ใหญ่จะบอกว่าคำถามพวกนี้ไม่ค่อยมีสาระ พยายามสั่งเด็กไม่ให้สงสัย ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญต่อการพัฒนาความคิดของนักเรียน นี่คือปัญหาปรัชญา วิชาปรัชญาประกอบด้วยการถามตอบเรื่องพวกนี้

ในชั้นประถมครูสามารถให้นักเรียนมานั่งล้อมวงถามตอบเรื่องเหล่านี้ เน้นไปที่การสนทนา ให้แต่ละคนได้มีโอกาสแสดงความคิดของตัวเอง โดยไม่มุ่งไปที่คำตอบ นี่เป็นระดับพื้นฐาน และต่อไปก็ค่อยๆ พัฒนาให้ความคิดซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ อาจมีการอ้างอิงนักปรัชญาในอดีตมากขึ้น

คนคิดว่าปรัชญามีรากฐานจากตะวันตก อาจไม่เหมาะกับตะวันออก

ตะวันออกก็มี (ยิ้ม) โดนหลอกว่าเป็นของตะวันตกอย่างเดียว พุทธปรัชญาเป็นของตะวันออก และมีอะไรที่รุ่มรวยมาก มีความคิดที่ซับซ้อนมาก แต่การเรียนวิชาพุทธศาสนาในโรงเรียน ไม่เอื้อต่อการพัฒนาสติปัญญา วิธีการสอนไม่ทำให้รู้สึกว่ามีประโยชน์อะไร ทั้งที่ตัวเนื้อหามีประโยชน์มาก มีอะไรให้ถกเถียงกันได้มาก เช่น ศาสนาพุทธบอกว่า สิ่งต่างๆ ไม่มีตัวตน เป็นอนัตตา หมายความว่ายังไง ทำไมถึงคิดแบบนี้ มีเหตุผลอะไรมาสนับสนุน

เราไม่เคยเรียนศาสนาในแง่นี้

ใช่ นี่คือปัญหา แล้วนี่คือปรัชญาตะวันออก ยังมีขงจื๊อ เล่าจื๊อของจีน เป็นอีกอารยธรรมหนึ่งของปรัชญาซึ่งยิ่งใหญ่มาก ไม่มีสอนในโรงเรียน อินเดียก็ถูกลืมหมด กลายเป็นพุทธแบบสำเร็จรูป ครูยกให้แบบนี้ นักเรียนก็รับๆ ไป

การศึกษาไทยมุ่งไปที่การท่องจำ ถือว่าขัดธรรมชาติของเด็กที่ชอบตั้งคำถามหรือเปล่า

ผมว่าขัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามองว่าเด็กมีความสงสัยอยากรู้โดยธรรมชาติอยู่แล้ว เด็กอนุบาลจะถามไม่หยุด พ่อแม่ไม่ควรจะรำคาญหรือบอกปัดไม่ยอมตอบคำถามลูก ส่งผลเสียแก่เด็กในระยะยาว ทำให้ขาดความกระตือรือร้นที่จะสนใจอยากรู้เรื่องราวต่างๆ

พ่อแม่ควรตอบทุกคำถามของลูก ตอบได้หรือไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ถูกผิดไม่เป็นไร ขอให้ตอบเท่าที่ตัวเองรู้ เพราะเด็กไม่ได้ถามเพื่อเอาอะไรละเอียดมากมาย เขาต้องการเรียนรู้การใช้ชีวิตของผู้ใหญ่ แล้วครูที่ทำหน้าที่แทนพ่อแม่ ก็มีหน้าที่ตอบคำถามนักเรียนด้วย ไม่ใช่ให้นักเรียนตอบคำถามครูอย่างเดียว การถามตอบคำถามเป็นศูนย์กลางของความเข้าใจวิชาปรัชญาโดยรวม

สามารถสอนปรัชญาให้เด็กเล็กได้?

สอนได้ บางที่เริ่มสอนในระดับอนุบาล ไม่มีเนื้อหามาก เป็นเรื่องความถูกผิดที่เด็กจำเป็นต้องเรียนอยู่แล้ว ในไทยจะบอกเด็กว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้โดยไม่ชี้แจงว่าทำไม นี่แหละคือปรัชญา อาจให้นักเรียนอนุบาลลองคุยกัน ถามเล่นๆ ในคลาสว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้ เช่น การหยิบของเพื่อนโดยไม่ขอทำได้ไหม ทำไมถึงทำไม่ได้ ถ้าทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ถามโดยไม่มีธงไว้ก่อน แต่ความจริงธงเกิดขึ้นโดยธรรมชาติว่าการหยิบของคนอื่นมาโดยไม่ขอ จะก่อให้เกิดความเดือดร้อน แล้วให้เด็กลองจินตนาการว่า ถ้าคนอื่นเอาของเราไปจะรู้สึกยังไง และคนอื่นจะรู้สึกแบบเดียวกับเราไหม ให้เด็กคุยกันเอง เป็นวิธีหนึ่งที่จะสอนจริยศาสตร์ (ethics) ว่าการกระทำไหนถูกหรือผิด อภิปรายให้ได้เข้าใจจริงๆ ไม่ใช่แค่บอกว่าทำไม่ได้ หรือทำแล้วจะถูกตี เด็กก็สงสัยว่าทำไมต้องมีการลงโทษ เป็นประเด็นของการถกเถียงได้อีกหัวข้อหนึ่ง

มีข้อท้วงติงว่าปรัชญาไม่เหมาะกับเด็ก เพราะไม่มีคำตอบตายตัว ได้คำถามแต่ไม่ได้ความรู้ ทำให้เด็กสับสน

ก็เราไปมุ่งที่ความรู้ไง ถ้ามุ่งแค่ตัวกิจกรรม การได้คุยกันก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ไม่ต้องคิดว่าจะได้ความรู้ที่ตายตัว หรือธงที่ตั้งไว้ก่อน แม้กระทั่งวิชาที่มีคำตอบตายตัวอย่างคณิตศาสตร์ ก็ไม่ควรสอนให้เด็กกลายเป็นหุ่นยนต์ เราอยากให้นักเรียนที่เรียนคณิตศาสตร์เข้าใจที่มาที่ไปของปัญหาทางคณิตศาสตร์ ว่าทฤษฎีบทหรือวิธีการแบบนี้มาจากอะไร ให้เด็กเข้าใจถึงพื้นฐานที่มาที่ไป ไม่ใช่สอนให้เด็กกลายเป็นเครื่องคิดเลขเดินได้ที่อธิบายแบบปัญหา how แต่ปัญหา why ไม่สน ไม่สามารถทำให้พัฒนาไปถึงจุดสูงสุดของวิชาการได้

เรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของปรัชญา เพราะปรัชญามุ่งไปถึงรากฐานของสิ่งต่างๆ มีผลวิจัยสนับสนุนว่า ถ้ามีการเรียนปรัชญาในโรงเรียนโดยเรียนอย่างถูกต้อง จะทำให้ผลการเรียนวิชาอื่นๆ ดีขึ้นไปด้วย ทำให้ไม่รู้สึกแปลกแยกจากเนื้อหาของวิชานั้น เพราะปรัชญาสอนให้รู้จักคิดแบบ conceptual thinking เป็นการคิดถึงเรื่องนามธรรมที่ต้องใช้การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในระดับสูงขึ้น ซึ่งจำเป็นต่อการเรียนทุกวิชา

เด็กสายวิทย์ก็ควรเรียนปรัชญา

ทุกสายควรจะเรียนมากพอกัน เพราะความสามารถในการมองเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ แล้วคิดแบบนามธรรมได้นั้นสำคัญต่อการเรียน อย่างเศรษฐศาสตร์ที่พูดถึง อุปสงค์-อุปทาน เป็นความคิดในเชิงนามธรรมมาก ซึ่งมาจากปรัชญา อุปสงค์ไม่ได้คิดถึงคนนี้ที่อยากซื้อของชิ้นนี้ตอนนี้ แต่คิดถึงสถานการณ์โดยทั่วไปของความต้องการซื้อสินค้า ความสามารถในการคิดแบบนี้ฝึกโดยตรงมาจากปรัชญา

ในท้ายที่สุดทุกอย่างงอกมาจากปรัชญาทั้งนั้น ในตะวันตกแต่ก่อนมีแค่วิชาปรัชญา นึกถึงต้นไม้ใหญ่ที่ลำต้นใหญ่สุดคือปรัชญา แล้วกิ่งต่างๆ พวกจิตวิทยา วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา งอกมาจากปรัชญาทั้งนั้นในเวลาที่ต่างกัน

โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์

ความเป็นไปได้ของการสอนในไทย จะเอาใครมาสอน

ต้องคิดไปพร้อมกัน หากมีนโยบายหรือสังคมตกลงกันได้ว่าจะสอนปรัชญาในโรงเรียน ทางหนึ่งที่ทำได้คือชวนอาจารย์ที่สอนปรัชญาในระดับมหาวิทยาลัยให้มาสอนในระดับมัธยมด้วย หลายประเทศทำแบบนี้ ไม่ถึงกับเพิ่มงานให้เขามากเกินไป เนื่องจากเป็นกิจกรรมมาคุยกัน ไม่ได้เน้นเนื้อหาเหมือนในมหาวิทยาลัย ส่วนข้อบังคับที่ว่าต้องจบครุศาสตร์อย่างเดียวถึงไปสอนในโรงเรียนได้ อันนี้ต้องทบทวน ต้องเอาคนจบเอกปรัชญาจากคณะมนุษยศาสตร์หรืออักษรศาสตร์ไปสอนด้วย โดยอาจให้เขาได้ฝึกวิชาครูเพิ่มขึ้นมา

การสอนจะเริ่มที่ระดับประถมและมัธยมพร้อมกันเลยก็ได้ เพราะไม่ต่างกันมาก ชั้นอนุบาลกับประถมจะเน้นที่การคุยกัน เหมือนเป็นกิจกรรมเจอกันตอนเช้า แล้วมัธยมอาจมีเนื้อหาเพิ่มเข้ามา ให้นักเรียนได้อ่านหนังสือ ‘โลกของโซฟี’ จะได้เข้าใจพัฒนาการปรัชญาในโลกตะวันตก แต่ข้อเสียของการเรียนในโลกตะวันตก คือการละเลยอารยธรรมตะวันออก บางส่วนที่เริ่มมองเห็นก็พยายามเพิ่มเนื้อหาปรัชญาตะวันออกมากขึ้น แต่เราอยู่ในโลกตะวันออกสามารถเริ่มได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพุทธปรัชญา ที่ต้องทำให้ถูก ไม่ใช่สอนศีลธรรมแบบที่เป็นอยู่ จับพุทธศาสนาแบบพระมาสอนแบบโบราณ อันนี้เป็นข้อเสียเต็มๆ เลย

ถ้าสอนปรัชญาในโรงเรียน ควรแทนที่ในวิชาไหน หน้าที่พลเมือง ศาสนา สังคม หรือแยกเป็นวิชาใหม่

จะเรียกว่าหน้าที่พลเมืองก็ไม่ผิด เพราะหน้าที่พลเมืองก็เป็นปรัชญาการเมือง เช่น พลเมืองมีหน้าที่เสียภาษี ทำไมรัฐจำเป็นจะต้องได้ภาษี ทำไมการเสียภาษีจึงเป็นหน้าที่ รัฐมีอำนาจอะไรมาบังคับเราให้เสียภาษี ทำไมรัฐมีอำนาจ แล้วอำนาจนี้มีแค่อำนาจจากปลายกระบอกปืนหรือเปล่า

การที่รัฐ “ดูเหมือนจะมีความชอบธรรม” ในการบังคับเราเสียภาษี แล้วความชอบธรรมนั้นมาจากไหน พวกนี้ปัญหาปรัชญาทั้งนั้น คุยกับนักเรียนได้เลย จะเรียกวิชาหน้าที่พลเมืองก็ได้ จะเรียกปรัชญาก็ไม่เป็นไร แต่เนื้อหากิจกรรมข้างในเป็นแบบนี้ แทนที่จะให้นักเรียนท่องว่าหน้าที่พลเมือง ข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 มีอะไรบ้าง

แต่ปัญหาอาจอยู่ที่ว่า นี่ไม่ใช่จุดมุ่งหมายที่กระทรวงศึกษาฯ หรือรัฐ ต้องการให้มีในวิชาหน้าที่พลเมือง

เขาต้องเปลี่ยนความคิดไง (หัวเราะ) ยากแต่ไม่ถึงกับว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะในหลายประเทศเปลี่ยนมาแล้ว การเปลี่ยนความคิดเป็นเรื่องของคน ขอให้ได้คนที่ใช่ไปอยู่ในนั้น ตอนนี้คนยังไม่ใช่ก็ต้องใจเย็นๆ ต้องคอยกระทุ้ง สร้างกระแสไปเรื่อยๆ

เห็นด้วยไหมถ้าจะให้เรียนปรัชญาศาสนา แทนวิชาศาสนา

ปรัชญาศาสนาเป็นศัพท์เฉพาะ ส่วนมากจะพูดถึงศาสนาที่มีพระเจ้าอยู่แล้ว คำถามเช่น “อะไรเป็นเหตุผลสนับสนุนว่าพระเจ้ามีจริง” แต่เมื่อนักเรียนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ ก็น่าจะเรียนเรื่องพุทธศาสนาแบบที่เป็นปรัชญา เรียกว่าพุทธปรัชญา อันนี้เห็นด้วย ไม่มีการบังคับว่าจะต้องเชื่อ ทุกอย่าง เปิดรับการสงสัยได้ทั้งหมด สิ่งใดที่จะให้นักเรียนเชื่อว่าเป็นคำสอน จะต้องมีเหตุผลมาสนับสนุนเสมอ และมีการเชื่อมโยงประเด็นที่ถกเถียงกันในพุทธปรัชญากับปรัชญาอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตะวันตก เช่น เรื่องอนัตตา เรื่องอนิจจัง ไม่มีสิ่งใดอยู่คงที่ถาวร หมายความว่าอะไร พอคิดไปลึกๆ เรื่องพวกนี้น่าสนใจมาก คุยกับนักเรียนได้ และไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับครูคนหนึ่งที่เคยเรียนปรัชญามาจะทำได้

แต่ในเมื่อโรงเรียนยังไม่เปิดพื้นที่ให้เรียนรู้ศาสนาอื่นมากพอ เราควรให้นักเรียนได้ศึกษาหลายศาสนาไปพร้อมกันไหม

อันนี้ก็เป็นอีกข้อเสียหนึ่ง เราควรรู้ว่าศาสนาคริสต์มีคำสอนหลักยังไง พระเยซูคือใคร ชาวคริสต์แบ่งเป็นนิกายอะไรบ้าง ในปรัชญาศาสนาที่เถียงกันมากคือ มีเหตุผลอะไรสนับสนุนว่าพระเจ้ามีอยู่จริง แล้วเอาเหตุผลมาวิเคราะห์ว่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน อย่างเหตุผลหนึ่งบอกว่า มีบางอย่างในธรรมชาติที่ซับซ้อนมาก จนกระทั่งเชื่อไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ เช่น ดวงตาของมนุษย์ ดังนั้นจึงต้องมีผู้ที่ออกแบบและสร้างขึ้นมา เหมือนกับบ้านหนึ่งหลังที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ

ฉันใดฉันนั้น โลกทั้งใบไม่สามารถเกิดขึ้นได้เอง ต้องมีคนออกแบบและสร้างขึ้นมา ก็คือพระเจ้า เป็นการให้เหตุผลยอดนิยมมาก ในห้องเรียนระดับประถม-มัธยมก็เอามาคุยกันได้ ว่ามีเหตุผลเพียงพอไหม ตรงกับหลักตรรกศาสตร์มากน้อยแค่ไหน บ้านที่สร้างตัวเองขึ้นมาไม่ได้นั้นสามารถเปรียบเทียบกับโลกได้ไหม มีอะไรไม่น่าเชื่อถือ

ฝรั่งเศสสอนปรัชญาในโรงเรียนมายาวนาน คิดว่ามีส่วนในการสร้างพลเมืองไหม

การเรียนปรัชญาของเขาเป็นประเพณียาวนานเป็นพันปี เพราะเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนของพระที่เป็นคนผูกขาดการศึกษาในสมัยก่อนยุคกลาง เนื้อหาหลักสูตรเป็นปรัชญาทั้งนั้น มาจากอริสโตเติลเป็นหลัก ซึ่งเป็นนักปรัชญาคนสำคัญที่สุดของหลักสูตรศาสนาคริสต์ในยุคกลาง จากนั้นพัฒนาเป็นหลักสูตรปรัชญาปัจจุบัน ซึ่งขยายมาเรียนนักปรัชญาในยุคสมัยหลังๆ ด้วย

ฝรั่งเศสเรียนปรัชญาเป็นวิชาโดยเฉพาะ ไม่ใช่นั่งคุยปัญหากว้างๆ แต่เอาหลักสูตรมหาวิทยาลัยมาใส่ในมัธยม เด็กอ่านเพลโต อโพโลจี ยูไธโฟร แล้วเขียนความเรียงตอบยาวๆ เอาเนื้อหามาว่ากันโดยตรง ไม่รู้ว่าโรงเรียนไทยจะไปขนาดนั้นหรือเปล่า ฝรั่งเศสทำมาเป็นประเพณีแล้วเขาไม่รู้สึกว่ามันแปลก

เนื่องจากพลเมืองเขาเรียนปรัชญากันทุกคน เวลาพูดถึงชื่อนักปรัชญา สปิโนซา เดการ์ต ไลบ์นิซ รู้จักกันหมด ชื่อพวกนี้คุ้นหูเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเขา เวลาใครพูดถึงเรื่องการเมืองปัจจุบัน แล้วอ้างอิงความคิดของนักปรัชญา จะไม่รู้สึกแปลกแยก เหมือนคนไทยพอพูดถึงขุนแผนก็รู้จักกันหมด เป็นข้อดีของการศึกษาในแง่ที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เหมือนพูดถึงขงจื๊อกับคนจีนก็รู้จักกันหมด บางคนเรียนสายวิทย์อาจไม่เคยเรียนขงจื๊อ แต่รู้จักชื่อนี้และรู้ว่าเป็นยังไง เขาโตมาในอารยธรรมแบบนั้น

โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์

ปรัชญาสำคัญกับประชาธิปไตยอย่างไร

ช่วยให้เกิด critical thinking คือคิดแบบมีวิจารณญาณ ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ เรื่องนี้สำคัญมากกับประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง ที่มีความพยายามโน้มน้าวใจประชาชนให้เชื่อ เพื่อโหวตให้พวกตัวเองด้วยวิธีการต่างๆ นานา ถูกบ้างผิดบ้าง แต่ผิดมากกว่าถูก ที่ว่าผิดคือเป็นวิธีการที่ผิดหลักการ เช่น โจมตีอีกฝ่ายหรือเอาข้อมูลเท็จมาป้ายสีอีกฝ่ายให้ดูเป็นคนแย่ ถ้าประชาชนไม่มี critical thinking ก็จะเชื่อทุกอย่างที่ปรากฏอยู่ในหน้าจอทีวีหรือมือถือ

ประชาธิปไตยจะไปไม่รอดในสถานการณ์ที่ประชาชนถูกปั่นหัว กลายเป็นเครื่องมือของคนที่ใช้วิธีการผิดๆ ในการหาอำนาจ ซึ่งผิดหลักการประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ และอำนาจตามมาด้วยความรับผิดชอบ จึงต้องกลับมาพูดเรื่องหน้าที่พลเมือง คือรู้จักตรวจสอบ ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ที่จะใช้เสียงโหวตของประชาชนเป็นที่มาของอำนาจเพื่อตัวเขาเอง

เราไม่ได้พูดเรื่องซื้อเสียง แต่พูดถึงการออกสื่อสร้างข้อมูลป้ายสี ที่อาจไม่ได้ทำอย่างตรงไปตรงมา แต่ใช้เทคนิคที่ทำให้อีกฝ่ายดูไม่ดีในเวลาซ้ำๆ กัน ถ้าเราไม่ระวังก็จะกลายเป็นเครื่องมือ และประชาธิปไตยจะกลายเป็นแค่ฉากบังหน้าจากเครื่องมือแสวงหาอำนาจ

เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นในเมืองไทยอย่างเดียว แต่ประเทศอื่นอย่างสหรัฐอเมริกาก็มีเยอะ จึงต้องรู้ว่าสำนักข่าวนี้อยู่ฝ่ายนี้ เว็บไซต์นี้อยู่ฝั่งนั้น ข่าวแบบไหนตั้งใจปั่นกระแสยุยงให้เกลียดชัง ปรัชญามีความสำคัญมากต่อประชาธิปไตย ทำให้ประชาชนไม่ถูกหลอก

เป็นการช่วยสร้างพลเมืองที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมกับสังคม?

การตัดสินใจประเด็นเชิงนโยบาย ต้องอยู่บนพื้นฐานความถูกต้องของความรู้ เราไม่สามารถรู้ทุกอย่างได้อยู่แล้ว แต่ต้องรู้เรื่องระดับสาธารณะ ซึ่งเป็นเรื่องเชิงคุณค่าหรือทิศทางของประเทศโดยรวม และจำเป็นต้องแสดงความคิดเห็นเพื่อชี้แจงว่า ถ้าประเทศจะไปทางนี้มันไม่ถูก

อังกฤษ 2 ปีก่อนเถียงกันเรื่องเบร็กซิท ตอนนี้ปรากฏชัดเจนว่าคนอังกฤษส่วนใหญ่ถูกหลอก มีเสียงเรียกร้องมากเกินครึ่งว่าอยากมีประชามติอีกครั้งหนึ่ง แล้วตอนนั้นพวกไนเจล ฟาราจ-โบริส จอห์นสัน ใช้เทคนิคในฐานะที่เป็นนักการเมือง พูดชักจูงประชาชน ป้ายสีอีกฝ่ายว่าถ้าอังกฤษอยู่ในอียูจะเสียเอกราช แล้วเอาข้อมูลที่ปรากฏภายหลังว่าไม่จริงมาหลอก ทั้งที่สิ่งที่อังกฤษได้จากการอยู่ร่วมกับอียูมีมากกว่าแต่ไม่พูด การมี critical thinking จะช่วยในกรณีแบบนี้ พลเมืองที่รับผิดชอบจะหมั่นตรวจสอบหาข้อมูลเท่าที่จะหาได้

กรณีนี้เทียบกับประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ของไทยได้ไหม?

ผมไม่อยากบอกว่าโดนหลอก ประเด็นที่หลอกคนได้มากที่สุดคือขู่ให้กลัว ตอนนั้นมีการพูดว่า “ไม่รับประกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้” แล้วคนส่วนใหญ่ก็กลัวสิ่งที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

กลัวว่าจะไม่ได้เลือกตั้ง?

ใช่ กลัวว่าจะไม่ได้เลือกตั้ง เอาเรื่องขู่ให้กลัวมาเป็นวิธีการในการโน้มน้าวใจคนอย่างผิดๆ เพราะ 2 ปีผ่านไปก็ยังไม่ได้เลือกตั้งอยู่ดี

ถ้าปรัชญาเป็นการฝึกพลเมืองให้มี critical thinking ไม่หลงตามโฆษณาชวนเชื่อ ปรัชญาจะเป็นวิชาที่เผด็จการไม่ชอบหรือเปล่า

เผด็จการเกลียดวิชานี้โดยธรรมชาติอยู่แล้ว เพราะเผด็จการจะต้องการประชาชนที่ว่านอนสอนง่าย ไม่เถียง ไม่ตั้งคำถามยากๆ ที่ทำให้เขาอึดอัด ซึ่งปรัชญาทำอย่างนี้ทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นปรัชญาจึงเหมือนกับเป็นศัตรูโดยธรรมชาติของเผด็จการ

จริงๆ ก็มีนักปรัชญาที่ผันตัวไปสนับสนุนเผด็จการ และเสนอทฤษฎีให้เหตุผลบอกว่าเผด็จการยี่ห้อนี้ดีอย่างไร แต่ไม่ใช่ส่วนใหญ่ของนักปรัชญา

นักปรัชญาที่สนับสนุนเผด็จการ เสนอความคิดว่าประชาชนไม่ควรมีปากมีเสียงมากเกินไป ควรเชื่อฟังและไว้ใจผู้ปกครอง เพราะว่าผู้ปกครองรู้ดีกว่า มีข้อมูลมากกว่า สามารถตัดสินใจบนฐานของความปรารถนาที่จะให้ส่วนรวมมีความสุขกันทั้งหมด ประชาชนควรจะเงียบและเชื่อทุกสิ่งที่ผู้ปกครองบอก มีนักปรัชญาบางคนเป็นแบบนี้

แต่นักปรัชญาส่วนใหญ่จะบอกว่า อำนาจจะต้องอยู่ที่ประชาชน ผู้ปกครองมีสิทธิปกครองได้เฉพาะที่ประชาชนอนุญาตแค่นั้น ไม่ใช่ว่าผู้ปกครองมีสิทธิมาจากไหนก็ไม่รู้ แล้วบังคับให้ประชาชนปิดปากอยู่เงียบๆ

แต่ปรัชญาไม่ได้มีคำตอบหนึ่งเดียว ฉะนั้นอาจไม่ได้รับประกันว่า เรียนปรัชญาแล้วจะไม่ฝักใฝ่เผด็จการ

ไม่มีอะไรรับประกัน แต่อย่างน้อยช่วยสร้างทัศนคติที่เปิดใจกว้างรับฟังคนอื่น ซึ่งประชาธิปไตยต้องเป็นแบบนี้ ฉะนั้นโอกาสที่เขาจะคิดแบบประชาธิปไตยจะมีมากกว่า เพราะฐานคิดของปรัชญามาจากการยอมรับฟังความเห็นของผู้อื่น แต่ไม่ได้ยอมรับทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าเป็นความเห็นที่ผิดตรรกะมากหรือแย่มากๆ แบบนาซีที่เคยเกิดขึ้นในเยอรมัน ก็ยอมไม่ได้ การยอมแบบนั้นเปิดโอกาสให้เขามาทำลายบรรยากาศที่ทำให้การถกเถียงเป็นไปได้

แต่นักปรัชญาที่สนับสนุนเผด็จการ ก็มีตรรกะของตัวเอง

ก็ต้องเถียงกับเขา (หัวเราะ) ประชาธิปไตยก็ไม่ใช่ระบอบที่สมบูรณ์แบบ ถึงพูดกันว่าเป็นระบอบที่เลวน้อยที่สุด อย่างน้อยเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เสนอความคิดของตัวเอง ส่วนโอกาสจะไปในทิศทางที่แย่อย่างเบร็กซิท ที่คนบอกว่าประชาธิปไตยทำให้เสียงส่วนใหญ่โหวตในหนทางที่เป็นผลเสียมากต่ออังกฤษ แล้วจะบอกว่าประชาธิปไตยดีได้อย่างไร

แต่พอผ่านไปกว่า 2 ปี อังกฤษก็ยังไม่ออกจากอียู และมีเสียงเรียกร้องให้โหวตใหม่อีกรอบ เพราะคนส่วนใหญ่รู้แล้วว่าปัญหามีอะไรบ้าง ก็ไม่อยากให้ออก นี่แหละประชาธิปไตย ถ้า เทเรซา เมย์ เป็นเผด็จการ มีสิทธิคิดเองตัดสินใจคนเดียว แล้วไม่เห็นด้วยกับการอยู่กับอียู ออก ม.44 เหมือนประยุทธ์ เอาอังกฤษออกจากอียูก็จบไปนานแล้ว ทุกคนเงียบห้ามพูดอะไร เพราะว่าเป็นเผด็จการ ตรงนี้ต่างหากที่ต่างกับประชาธิปไตย

โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save