fbpx

ภาพอนาคตในปัจจุบันและภาพปัจจุบันในอนาคตของประเทศไทยใน “สุสานสยาม”

*หมายเหตุ บทวิจารณ์ชิ้นนี้เปิดเผยให้เห็นส่วนสำคัญของนวนิยายเรื่อง “สุสานสยาม” *

“นี่คือสยามอลังการ ดินแดนที่ตรรกะและความหวังทุกอย่างพังพินาศ ชาวเมืองส่วนใหญ่หยิบยึดได้เพียงความสุขเฉพาะหน้าตามแต่สถานภาพแห่งตน! ” (หน้า 395)

ก่อนอื่นควรบันทึกเอาไว้ก่อนว่าผมเขียนบทวิจารณ์วรรณกรรมชิ้นนี้ในช่วงหลังจากเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทยหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2021 เริ่มตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2020 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง และยกเหตุผลทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยอย่างยืดยาดและยืดยาว จากคำวินิจฉัยดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสการต่อต้าน ‘ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์’ ในสังคมไทย [1]

ต่อมาในวันที่ 14 พฤศจิกายน มีการใช้กระสุนยางยิงใส่ผู้ชุมนุมทางการเมือง ก่อนที่ให้หลังไม่กี่วันคุณรุ้ง-ปนัสยาและคุณเบนจาต้องเข้าคุก และไม่ได้รับการประกันตัวด้วยคดี ม.112 นอกจากนี้ยังมีกรณีการฟ้องร้องคดีความทางวิชาการอันแสนอื้อฉาวเกิดขึ้นอีกด้วย มิพักต้องพูดถึงเรื่องการเอารถทหารออกมาวิ่งส่งของแทนรถบรรทุก (ซึ่งคว่ำไปแล้วหนึ่งคัน…เป็นอย่างน้อย) การแก้ปัญหาผักชีแพงด้วยการปลูกในค่ายทหารแทน ไหนจะเรื่องผู้นำและคณะผู้บริหารประเทศที่ไม่สามารถหาคำคุณศัพท์ใดๆ มาอธิบายทั้งความประพฤติและสติปัญญาได้อีกแล้ว…

ทั้งหมดนี้อีรุงตุงนังกันไปหมดในเดือนเดียว และในขณะที่ผมเขียนบทความอยู่นี้ยังไม่หมดเดือนพฤศจิกายนด้วยซ้ำไป… ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีกบ้าง

ท่ามกลางความอีรุงตุงนังทางสังคมการเมืองไทยทั้งหมดที่เกิดขึ้น ผมมีโอกาสได้อ่าน ‘สุสานสยาม’ ของปราปต์ ด้วยความสนใจว่านวนิยายเล่มนี้คืองานแบบ ‘ดิสโทเปีย’ เรื่องแรกของเขา ผมเคยอ่านงานของปราปต์อย่าง ‘กาหลมหรทึก’ เมื่อนานมาแล้วและรู้สึกว่าปราปต์มีวิธีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจ ผมจึงสนใจใคร่รู้ว่างานของปราปต์ที่เขียนในแนวดิสโทเปียจะมีวิธีการเล่าอย่างไร และในฐานะที่มันคือนวนิยายดิสโทเปีย ผมก็สนใจอีกด้วยว่างานดิสโทเปียในวรรณกรรมไทยร่วมสมัยนั้นจะ ‘ล้อ’ ‘เล่น’ และ ‘เล่า’ เรื่องสังคมไทยอย่างไรบ้าง

วรรณกรรมดิสโทเปียและสุสานสยาม

วรรณกรรมดิสโทเปียนำเสนอเรื่องราวในโลกอนาคตที่เต็มไปด้วยภัยอันตรายจากทั้งมลภาวะ เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกนำมาใช้ในการควบคุมมนุษย์ในระดับชีวภาพและพันธุกรรม และนำเสนอโลกที่สังคมการเมืองถูกปกครองด้วยกลุ่มเผด็จการเบ็ดเสร็จที่คอยควบคุม จับจ้องพฤติกรรมของมนุษย์ให้อยู่ในโอวาทผ่านเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการปกครองและควบคุม ความเป็นส่วนตัวของมนุษย์คือสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ เพราะอาจเป็นแหล่งที่มาของการทำลายอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ

‘สุสานสยาม’ เล่าถึงอนาคตของประเทศไทยหลัง ‘สงครามแห่งมนุษยชาติ’ ซึ่งทำให้แผ่นดินแถบสุวรรณภูมิกลายเป็นเถ้าถ่าน ชาวไทยต้องอพยพมาอยู่ในแผ่นดินของประเทศมหาอำนาจและกลายเป็นโรงงานขยะที่รับหน้าที่กำจัดขยะทั่วภูมิภาคและได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘สยามอลังการ’ ภายในโรงงานมีการแบ่งเขตที่อยู่อาศัยแตกต่างกันไปตามชนชั้น

ชนชั้นในกำแพงคือกลุ่มคนรวย อภิสิทธิ์ชน เป็นที่อยู่อาศัยของพวก ‘ฝาถัง’ หรือชนชั้นปกครอง, รัฐบาล คนกลุ่มนี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี สะอาด โอ่โถง มีน้ำดื่มที่นำเข้าโดยไม่ต้องใช้น้ำสกปรกแม้จะกลั่นกรองแล้วเหมือนพวกคนที่อยู่นอกกำแพง

ประเด็นที่น่าสนใจเรื่องการจัดชนชั้นนอกเขตกำแพงคือการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สยามอลังการเห็นคนหรือประชาชนเป็น ‘ขยะ’ และมีขยะถึงสามประเภทที่อาศัยอยู่นอกเขตกำแพง คือถัดจากเขตกำแพงเป็นเขต ‘ขยะทั่วไป‘ ซึ่งหมายถึงกลุ่มชนชั้นที่มีการศึกษา พอมีพอกิน แต่ไม่รวยและยังคงต้องทำงานอยู่นอกกำแพง หรือเราอาจเข้าใจได้ว่าเป็นชนชั้นกลางนี่เอง ถัดออกเป็นเขต ‘ขยะรีทรายโก้’ หรือ ‘รีไซเคิล’ เป็นเหมือนชนชั้นกลางระดับล่างแต่ก็ยังไม่ถึงกับเป็นชนชั้นล่างเสียทีเดียว และชนชั้นที่ต่ำที่สุดใน ‘สยามอลังการ’ ก็คือ ‘ขยะเปียก’ เป็นคนจน ชนชั้นล่าง และเป็นคนที่แทบจะไม่มีโอกาสทางสังคมเลย

โรงงานขยะสยามอลังการมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการดูแลรักษาความสงบภายในคือ หน่วยงาน รปภ. (ซึ่งก็คือทหารหรือกองทัพนั่นเอง) มีผู้นำที่ทำหน้าที่เหมือนนายกรัฐมนตรีคือ กดอ. ที่ย่อมาจาก กรรมการผู้จัดการโรงงานสยามอลังการ (ตลอดทั้งเรื่องเรียกกันว่า กดอ. ซึ่งผมคิดว่าเป็นอารมณ์ขันที่น่าสนใจดี) พวกฝาถังและชนชั้นปกครองมีอำนาจในการตรวจสอบและควบคุม สามารถสอดส่องชาวโรงงานทุกคนได้ตลอดเวลา และสำหรับใครก็ตามที่ไม่ปฏิบัติตาม ‘คำแนะนำ’ “ก็จะถูกเชิญไปเรียกสติ” (หน้า 4) นอกจากนี้ยังมีเครื่องดึงความทรงจำที่เอาไว้ตรวจตรา ‘บุคคลต้องสงสัยว่าจะเป็นภัยต่อโรงงาน’ นั้นเคยไปทำอะไรที่ไหนมาบ้าง

สยามอลังการมีแผนแม่บทที่ชื่อว่า สยามติงสติวรรษ’ ทำหน้าที่เหมือนกับทั้งรัฐธรรมนูญและแผนแม่บทในการดำเนินยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทชื่อพิลึกนี้มีหน้าที่ในการให้ ‘คำแนะนำ’ ในการใช้ชีวิตในทุกมิติของชาวสยามอลังการ หนึ่งในคำแนะนำที่เห็นได้ชัดก็คือภาษา

“ให้สมาชิกโรงงานใช้ภาษาเขียนและภาษาพูดแบบสุภาพ เป็นภาษาที่มีถ้อยคำและจังหวะไพเราะ แสดงถึงอารยธรรมอันรุ่มรวยของคนไทย คำต่างชาติทั้งหลายที่ไม่มีคำแปล แม้จะใช้ทับศัพท์ แต่ก็แผลงอย่างอนุรักษ์คำไทยไว้ อาทิ เอษะกาศ มาจาก เอสแคส อรลาย มาจาก ออนไลน์ แอบประเคนฉัน มาจาก แอปพลิเคชั่น หรือ กระติ๊กเกอร์ มาจาก สติ๊กเกอร์” (หน้า 4)

นอกจากนี้ ภาษายังแบ่งออกเป็นหลายระดับ คือภาษาที่ใช้พูดกันทั่วไปตามปกติ ภาษาที่ใช้สื่อสารกันใน ‘กระดานไฟฟ้า’ หรือสื่อสารกับคนที่ต่างชนชั้นกัน ในส่วนของพวกฝาถังกับชนชั้นสูงจะใช้ภาษา ‘กลอน’ ในการสนทนากับคนอื่นตลอดเวลา และถ้าหากอยากจะแสดงความเหนือกว่าโดยเฉพาะในเวลาโกรธหรือต้องการสั่งสอนก็จะใช้ ‘โคลง’ ภาษาจึงเป็นตัวชี้วัดว่าใครอยู่ชนชั้นใด ยิ่งไปกว่านั้น ภาษายังเป็นสิ่งที่คอยกำกับการคิดของคน การแบ่งระดับของภาษาที่แตกต่างกันไปตามชนชั้นจึงยิ่งตอกย้ำความแตกต่างระหว่างผู้คนในสยามอลังการได้เป็นอย่างดี

ด้วยความที่โรงงานสยามอลังการเป็นโรงงานกำจัดขยะ พื้นที่รอบนอกกำแพงทั้งหมดจึงเต็มไปด้วยขยะ เรียกได้ว่ามีขยะอยู่ในทุกอณูของชีวิตชาวโรงงาน เมื่อเวลาที่ฝนตกความสกปรกทั้งหลายต่างไหลมากองรวมกัน แม้กระทั่งในหยาดฝนก็ยังมีพลาสติกปะปนอยู่ด้วย นอกจากนี้ การคมนาคม ณ ที่แห่งนี้ก็มีราคาแพงลิ่ว

“ชาวขยะรู้กันดีว่ารถไฟฟ้านั้นราคาหูฉี่จนปัจจุบันแทบถูกจัดให้เป็นยานพาหนะสำหรับชนชั้นรีทรายโก้ขึ้นไปเท่านั้น — ใช่ แม้การก่อสร้างของมันจะเบียดขยี้ชีวิตชั้นล่างให้ทรมานทรกรรมกันมากกว่าปกติก็ตาม ทั้งอณูฝุ่นอันตรายที่ปกคลุมสยามอลังการชั่วนาตาปี ทั้งการสัญจรที่ทวีความยากลำบาก ส่วนรถรับจ้างก็กุมอำนาจเหนือลูกค้า บริษัทหัวสมัยเคยพยายามจัดระเบียบใหม่ให้ผู้โดยสารสามารถเรียกรถผ่านแอบประเคนฉัน หรือใช้รถส่วนตัวปันที่นั่งกันได้ แต่สุดท้ายกลุ่มผู้ขับรถรับจ้างเดิม ทั้งเก๋งและจักรยานยนต์ ต่างก็ใช้ความรุนแรงเข้าตอบโต้ ดักตีทำร้ายผู้ให้บริการเหล่านั้น จนท้ายที่สุดระบบใหม่ต้องล่าถอยไป ท่ามกลางเสียงถอนหายใจของคนใช้ถนนตาดำๆ” (หน้า 43)

อันที่จริงหากจะบอกว่าโรงงานขยะสยามอลังการกับประเทศไทยคือสถานที่เดียวกัน ก็คงตอบได้อย่างชัดเจนว่าใช่!…

สุสานสยามกับความพยายามในการเสนอปัญหาสังคมไทย

ประเด็นที่ผมสนใจประการแรกในนวนิยายเรื่องนี้คือความพยายามในการพูดถึงปัญหาสังคมไทยในปัจจุบัน ‘แทบจะทุกปัญหา’ ผ่านการนำเสนอแบบวรรณกรรมดิสโทเปีย ความพยายามดังกล่าวนี้อาจเป็นสิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้มีความหนากว่าสี่ร้อยหน้า

ในแง่ของการเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์และสังคมผมคิดว่า ‘สุสานสยาม’ มีความตั้งใจที่ดีในการบันทึกความหดหู่และสิ้นหวังของผู้คนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เอาไว้ได้เป็นอย่างดี แต่การทำให้ทุกปัญหาที่พยายามจะพูดถึงในวรรณกรรมขมวดและงวดลงเพื่อจบเรื่องในตอนท้ายของนวนิยายเรื่องนี้ สำหรับผมแล้วเป็นเรื่องที่ต้องใช้พลังงานมากในการอ่าน ซึ่งอันที่จริงหากผู้เขียนค่อยๆ คลายปมทีละน้อยโดยที่ไม่เฉลยแบบพรวดเดียวภายในไม่กี่ฉาก ก็อาจจะช่วยผู้อ่านได้ในระดับหนึ่ง

ข้อสังเกตดังกล่าวของผมนี้มีมาตั้งแต่งาน ‘กาหลมหรทึก’ แล้ว ปราปต์เป็นนักเขียนที่วางโครงเรื่องได้ดี ผูกปมความขัดแย้งของเรื่องได้น่าสนใจ แต่ในการคลี่คลายปม ปราปต์ให้ความสำคัญกับฉากหรือเหตุการณ์ในตอนท้ายเรื่องเพียงฉากหรือเหตุการณ์ที่ผมคิดว่าอาจจะน้อยเกินไปราวกับจะรีบจบเรื่องให้ได้ภายในไม่กี่ฉาก ในเรื่องสุสานสยามก็เช่นกัน ในตอนครึ่งเรื่องหลังที่ตัวเรื่องไปให้ความสำคัญกับตัวละครหลักในเรื่องแต่ละตัวและขมวดปมขัดแย้งของตัวละครเข้าไว้ด้วยกัน ปราปต์ใช้เหตุการณ์ที่ ‘ไม่มากนัก’ ในการอธิบายความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน รวมถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อปมขัดแย้งหลักของเรื่องด้วย เช่น ฉากในห้องพักที่ ยรรยง ขุนระเบ็ง และนายยุทธ์ (พ่อของยรรยง) มาเจอกัน ซึ่งเป็นฉากที่คลายปมขัดแย้งกว่าครึ่งเรื่องเอาไว้แล้ว

นอกจากนี้ปมอีกครึ่งที่เหลืออยู่ในฉากการสอบในตอนท้ายเรื่องที่ผู้เขียนเอาเหตุการณ์กรณีกลุ่มชายฉกรรจ์บุกโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ อันเนื่องมาจากการจัดงานบวชที่ชนกับการจัดสอบของนักเรียนมาปรับปรุงเป็นส่วนสำคัญของฉากนี้ ในเหตุการณ์ดังกล่าวนอกจากจะเป็นการบุกรุกของพวกอันธพาลงานบวชและเป็น ‘ฉากหนีซอมบี้’ แล้ว ยังเป็นฉากที่เปิดเผยให้เห็นเบื้องลึกในจิตใจของตัวละครที่สำคัญอย่างเยียรยงอีกด้วย มันเป็นการตีแผ่ปมขัดแย้งในใจที่สัมพันธ์กับปมหลักของตัวเรื่องที่เกิดขึ้นในฉากอันยาวนานนี้ ฟังดูเหมือนกับว่าวิธีการดังกล่าวไม่น่าจะมีปัญหาอะไรและยังแสดงให้เห็นความสามารถของนักเขียนอีกด้วย แต่ผมกลับเห็นว่ามันอาจจะรวบรัดและควบเร่งจนเกินไป และอาจจะไม่ใช่สัดส่วนที่เหมาะสมกันกับการผูกปมที่มีก่อนหน้านี้

โลกดิสโทเปีย กับ ‘สุสานสยาม

อีกประการที่ผมสนใจคือการเอาโลกแบบดิสโทเปียมาใช้ในการเล่าเรื่อง ผมสังเกตว่า ‘สุสานสยาม’ แบ่งเรื่องออกเป็นสองส่วน – ส่วนแรกคือการอธิบายความเป็น ‘ดิสโทเปีย’ ของสยามอลังการ อีกส่วนคือตัวเรื่องที่ว่าด้วยความขัดแย้งของตัวละครสำคัญต่างๆ ในส่วนหลังนี้ความเป็นดิสโทเปียที่ปูเอาไว้ในครึ่งแรกก็ยังคงมีบทบาทในการร้อยรัดตัวเรื่องเข้าไว้ด้วยกันอย่างหลวมๆ

ดังนั้นความเป็นดิสโทเปียของ ‘สุสานสยาม’ จึงไม่ได้นำเสนออย่างคงเส้นคงวาตลอดเรื่อง แต่ดำรงอยู่ในฐานะฉาก พื้นที่ และเวลา นอกจากนี้ผมยังคงสองจิตสองใจอยู่ด้วยว่าคุณลักษณะของดิสโทเปียใน ‘สุสานสยาม’ มีความสัมพันธ์กับตัวเรื่องและปมขัดแย้งหลักของเรื่องมากน้อยขนาดไหน เพราะผมรู้สึกว่าตัวเรื่องมีการชักกะเย่อประลองกำลังกันระหว่างความเป็นดิสโทเปียกับความพยายามในการเล่าเรื่องตัวละครและปมของตัวละครที่ ‘ไม่สบส่วนสมมาตรกัน’

นอกจากนี้ โลกดิสโทเปียในสุสานสยามยังมีข้อน่าสังเกตอีกหลายประการ เช่น ผมรู้สึกว่าโลกในสยามอลังการนั้นดูเหมือนเป็นการหยิบเอาส่วนผสมบางอย่างของเรื่องเล่าดิสโทเปียอื่นๆ เข้ามาไว้อยู่ในเรื่องอย่าง การให้เขตพื้นที่ในกำแพงเป็นศูนย์กลางของโรงงานสยามอลังการที่เต็มไปด้วยความสะดวกสบายนั้น ทำให้ผมนึกถึงหนังอย่าง The Hunger Games หรือ The Maze Runner โดยเฉพาะในฉากที่ ‘เยียรยง’ ต้องเข้าไปในเขตกำแพง ฉากนี้ให้ความรู้สึกเหมือนตอนที่ แคทนิส เอเวอร์ดีน ได้เข้าไปที่แคปิทอลครั้งแรก และการได้รับคัดเลือกจากฝาถังให้เป็นตัวแทนของ ‘เด็กดีศรีสยาม’ ก็ให้อารมณ์เหมือนแคทนิสต้องกลายเป็นหุ่นเชิดของทั้งฝ่ายแคปิทอลและฝ่ายกบฏ หรือการมีรายการโทรทัศน์ที่ใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อของผู้มีอำนาจในการปกครองก็ยังเห็นได้ในเรื่องสุสานสยาม

นอกจากนี้การกำกับความคิดผ่านภาษาก็เป็นสิ่งที่อยู่ในวรรณกรรมเรื่อง 1984 ของ จอร์จ ออร์เวล นั่นคือภาษาแบบพูดสองครั้ง (double speaking) แต่ในสุสานสยามเป็นการใช้คำทับศัพท์แบบไทยๆ และชนชั้นสูงต้องใช้ภาษากวีนิพนธ์ในการพูดจากัน แต่ละชนชั้นมีภาษาที่แตกต่างกัน ซึ่งช่วยให้ความแตกต่างทางชนชั้นถูกฝังรากลึกลงไปในความคิดของผู้พูด

ในแง่หนึ่งหากผมพยายามทำความเข้าใจว่าทั้งภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Games และหนังสือ 1984 เป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ในสังคมไทยลุกขึ้นมาต่อสู้ทางสังคมการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ สิ่งที่ปราปต์นำเสนอเอาไว้ในสุสานสยามไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ก็มีความสัมพันธ์กับเรื่องเล่าดิสโทเปียชุดอื่นๆ ด้วย และ (อีกเช่นกัน) ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ผมเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างสุสานสยามกับเรื่องเล่าดิสโทเปียชุดอื่นๆ ได้สะท้อนภาพสังคมการเมืองที่เข้มข้นและดุเดือดที่สุดยุคหนึ่งของสังคมไทยนับตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา

ความเป็นดิสโทเปียในตัวเรื่องยังเป็นสิ่งที่ตัวละครตระหนักรู้ได้ด้วย เช่นในตอนที่ ธนลภย์ คุยกับ เลอไถง เรื่องประวัติศาสตร์ความเป็นมาและสภาพสังคมของสยามอลังการ ผู้เล่าเรื่องได้เล่าถึงความเข้าใจต่อโลกของธนลภย์ที่ดูเหมือนจะมากกว่าคนอื่นๆ เนื่องมาจากตัวเขามีโอกาสได้อ่านหนังสือและข้อมูลต่างๆ จำนวนมากเลยทำให้เขาตระหนักในความไม่ชอบมาพากลของสยามอลังการแห่งนี้ ผู้เล่าเรื่องได้บอกถึงความคิดและความเข้าใจของธนลภย์ที่มีต่อสยามอลังการเอาไว้ว่า

“อันที่จริง ทางเลือกดังกล่าว (การย้ายจากประเทศไทยมาอยู่ที่โรงงาน — อาทิตย์) ยังตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า วิวัฒนาการทางการแพทย์ไม่ได้ทำให้โลกกลายเป็นสังคมยูโทเปีย ตรงข้าม มันคือ ดิสโทเปีย เพราะคนแข็งแรง เจ็บยาก ตายยาก จึงต้องแย่งทรัพยากรกันไม่สิ้นสุด แล้วก็ผลิตขยะและมลภาวะออกมาไม่สิ้นสุด ชาติใหญ่ตั้งตัวเป็นขั้วอำนาจยื้อยุดกัน ประเทศไทยใช้นโยบายเหยียบเรือสองแคม เจรจาพลิกลิ้นเพื่อความอยู่รอด” (หน้า 163)

ผมมีคำถามอยู่ในใจด้วยความอัศจรรย์ว่า ตัวละครในวรรณกรรมดิสโทเปียสามารถตระหนักรู้ได้อย่างไรว่าตนเองกำลังอยู่ในโลกแบบดิสโทเปีย ก็ในเมื่อมีการควบคุมอย่างเข้มงวดจากผู้มีอำนาจในการปกครอง (ซึ่งก็คือพวกเผด็จการเบ็ดเสร็จนั่นเอง) ชีวิตในทุกมิติแทบจะไม่มีความเป็นส่วนตัวเลยด้วยซ้ำไป และแม้นว่าตัวละครจะสามารถตระหนักรู้ได้ด้วยวิธีใดก็ตาม คำว่าดิสโทเปียที่ผุดมากลางเรื่องเช่นนี้มาจากไหน ถ้าตัวละครไม่ตระหนักรู้ แต่ผู้เล่าเรื่องต่างหากที่เป็นผู้เล่าเรื่องแบบรู้รอบทั้งหมดจึงสามารถหล่นคำว่าดิสโทเปียลงไปกลางเรื่องได้นั่น ก็ยังเป็นเรื่องที่ผมสงสัยอยู่ดี เพราะการจะตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของโลกแบบดิสโทเปียในวรรณกรรมดิสโทเปียนั้นเป็นสิ่งที่ผมยังเข้าใจไม่ได้ ณ ตอนนี้

ความย้อนแย้งของดิสโทเปียแบบไทยๆ

สิ่งที่ผมอยากจะชวนให้คิดต่อไปอีกคือในวรรณกรรมหรือเรื่องเล่าดิสโทเปียในรูปแบบอื่นๆ คณะผู้ปกครองที่เป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จต่างใช้อำนาจและเทคโนโลยีในการควบคุมผู้คนอย่างตรงไปตรงมาและมีประสิทธิภาพมากเสียด้วย จะมีก็แต่เพียงตัวละครเอกเพียงน้อยนิดที่ตระหนักรู้ถึงความไม่ปกติเช่นนี้ ซึ่งก็ทำให้ตัวเรื่องดำเนินต่อไปได้ และที่น่าสนใจอีกประการคือ ถ้าหาก 1984 เป็นหนึ่งในวรรณกรรมดิสโทเปียที่มีความสัมพันธ์ที่สำคัญกับเรื่อง ‘สุสานสยาม’ ดังที่ผมพยายามชี้ให้เห็นแล้ว สิ่งที่หลายคนอาจจะลืมไปคือใน 1984 ออร์เวลวิจารณ์ระบอบสังคมนิยมโดยเฉพาะระบอบสตาลินอย่างตรงไปตรงมา ดังนั้นสิ่งที่เราจะเห็นได้คือ พลังการเมืองแบบฝ่ายซ้ายที่เรามักจะเข้าใจกันว่าเป็นพลังที่ก้าวหน้านั้น คือสิ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นสิ่งที่คุกคามมนุษย์ ลดทอนความเป็นมนุษย์ลงไป [2]

โลกดิสโทเปียในสุสานสยามนำเสนอในทางตรงกันข้าม นั่นคือพลังทางสังคมการเมืองแบบฝ่ายขวาหรืออนุรักษ์นิยมกลายเป็นผู้มีอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ ประเด็นที่ผมสนใจมากคือ วรรณกรรมดิสโทเปียในโลกตะวันตกกังวลกับพลังฝ่ายซ้ายที่มีอำนาจล้นเกิน แต่วรรณกรรมดิสโทเปีย ‘แบบไทยๆ’ กลับนำเสนอพลังการเมืองฝ่ายขวาที่กลับมามีอำนาจได้อย่างที่ไม่น่าจะมีอีกแล้ว ในขณะที่ตะวันตกกังวลกับพลังที่ดูจะก้าวหน้าในอนาคตที่ควบคุมไม่ได้ แต่ประเทศไทย สิ่งที่เป็นเศษซากจากอดีต กลับกลายเป็นสิ่งที่มีอำนาจในการควบคุมโลกอนาคตอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยที่ไม่ต้องกังวลอะไรเลย

ในโลกตะวันตกความก้าวหน้า (ทั้งทางการเมืองและเทคโนโลยี) ที่ควบคุมไม่ได้คือภัยคุกคามมนุษย์ ในประเทศไทยความล้าหลังจากอดีตยังคงกัดกินคนไทยไปจนถึงอนาคตชั่วลูกชั่วหลาน

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราเข้าใจได้ว่าในประเทศไทยสิ่งใดๆ ก็ล้วนถูกกลับหัวกลับหางได้เป็นปกติ โลกใน ‘สุสานสยาม’ ก็อาจเป็นที่เข้าใจได้ในระดับหนึ่งเช่นเดียวกัน

อำนาจที่มองไม่เห็น

ประเด็นต่อมาที่ผมอยากพูดถึงในสุสานสยามคือ ตัวเรื่องพยายามนำเสนอว่ามีความแตกต่างกันระหว่างพวกฝาถัง ชนชั้นปกครองและอภิสิทธิ์ชนในกำแพงกับคนที่อยู่นอกกำแพง และมีอำนาจของชนชั้นปกครองซึ่งพวกในกำแพงที่มีอำนาจทั้งหลายต้องรักษาเอาไว้ผ่านกลไกต่างๆ ทั้งแผ่นแม่บทชื่อพิลึก หรือหน่วยงานรปภ. พวก กดอ.

แต่สิ่งที่ปรากฏตัวน้อยที่สุดแต่ดูเหมือนว่าจะมีอำนาจมากที่สุดคือพวกชนชั้นปกครอง อันที่จริงคนเหล่านี้แทบไม่ปรากฏตัวด้วยซ้ำไป ผมคิดว่า ถ้าหากตัวเรื่องทำให้เราเห็นเรือนร่างของชนชั้นปกครองที่ชัดเจนมากกว่านี้ก็จะช่วยให้เราเห็นได้ว่าแท้จริงแล้วตัวละครอย่าง นายยุทธ์ ธนลภย์ เลอไถง สุราลัย กำลัง ‘สู้อยู่กับใคร’ หรือ ‘สู้อยู่กับอะไร’ กันแน่ อำนาจนั้นเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมและแฝงตัวอยู่ในสังคมสยามอลังการภายใต้รูปแบบใด

พูดให้ชัดเจนกว่านั้นคือ ผมคิดว่าสุสานสยามไม่ได้พูดถึงศูนย์กลางและใจกลางของปัญหาในสยามอลังการอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา เราเห็นความพยายามในการป้องกันและปราบปรามผู้เห็นต่างในสยามอลังการของหน่วยงาน รปภ. และพวก กดอ. แต่อำนาจอันล้นพ้นของชนชั้นปกครองทั้งๆ ที่มีความชัดเจนในตัวเองอยู่แล้วว่าเป็นศัตรูต่อความก้าวหน้าของชาวสยามอลังการ แต่ตัวเรื่องกลับพูดได้อย่างเต็มที่แค่เช่นการสู้รบกับขุนระเบ็งและหน่วยงาน รปภ.

ผมคิดว่ามีตัวละครเพียงสองตัวเท่านั้นที่มีความคิดน่าสนใจในประเด็นของการต่อสู้ทางการเมืองคือ เลอไถง และ สุราลัย เพราะมีเพียงสองคนนี้เท่านั้นที่เสนออย่างชัดเจนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในสยามอลังการนั้นควรจะต้อง ‘รื้อทั้งระบบทิ้ง’ สุราลัยไม่เคยเห็นด้วยกับการแก้ปัญหาหยุมหยิมและเลอไถงเองก็เห็นว่า “…ที่จำเป็นน่ะคือพวกเราต่างหาก จำเป็นจะต้องตั้งคำถามว่าทำไมเราถึงไม่มีแบบเขา จำเป็นจะต้องรู้ให้ทันว่าระบบสังคมมันยักยอกอะไรจากเราไป เพราะงั้นทางเดียวที่จะทำได้ก็คือต้องรื้อมันทิ้ง … แล้วทำไมคนข้างล่างจะต้องสละความสุขเพื่อคนข้างบนด้วย” (หน้า 256)

อย่างไรก็ตาม ตัวละครทั้งสองตัวนี้ก็ตายไปเมื่อหมดหน้าที่ในเรื่อง ไม่ส่งต่อแม้กระทั่งความคิดในการปฏิวัติไปให้ตัวละครอื่นๆ ด้วยซ้ำ

โรคาแห่งความเกรี้ยวกราด

สิ่งที่ทำให้ตัวเรื่องดำเนินมาได้อย่างยืดยาว นอกจากเรื่องโลกดิสโทเปียและความขัดแย้งของตัวละครในเรื่องสุสานสยามแล้วคือตัวเรื่องที่พยายามสืบสาวที่มาและสาเหตุของ ‘โรควันเนาว์’ ที่เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของปมขัดแย้งภายในเรื่องทั้งหมด วันเนาว์ไม่ใช่ชื่อโรคแต่เป็นชื่อของเด็กหญิงที่มีอาการประหลาดคือกลายร่างเป็นเหมือนซอมบี้ไล่ฆ่าไล่กัดกินสมองของผู้คน โรคนี้ไม่มีชื่อเรียกในเรื่องแต่เรียกกันอย่างลำลองว่า ‘โรควันเนาว์’

โรควันเนาว์ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องคือตอนที่ธนลภย์ พยายามพา วันเนาว์ ไปส่งที่รถไฟฟ้าโดยชวน เยียรยง ไปด้วย ในระหว่างทางนั้น ป้าประไพ [3] ได้อ่านข่าวที่มีคนประท้วงให้เลิกใช้แผนแม่บทจนต้องเข้าคุก ป้าประไพจึงแสดงความสะใจด้วยการตะโกนเสียงดัง “ไอ้พวกควาย!… กูสะใจ มึงจะให้กูเงียบทำไมไอ้คูน! มีอย่างที่ไหนโรงงานมันก็เจริญดีอยู่แล้ว เสือกตั้งท่าจะประท้วงให้เลิกใช้แผนแม่บท–!… บ้านเมืองสงบแล้วไม่พอใจ มึงอยากจะวุ่นวาย อยากจะจุดไฟกันขึ้นมาอีกสิ ไอ้พวกเหี้ย!” (หน้า 13) จากนั้นวันเนาว์ก็กลายร่างเป็นซอมบี้และฆ่าป้าประไพตายแต่ “วันเนาว์ — ใคร — ตัวอะไรสักอย่างนั่น — มันสวาปาม แต่แล้วก็ขย้อนสมองของนางประไพออกมาเพราะว่ากระเดือกไม่ลง” (หน้า 81)

ตัวละครอย่างเยียรยงพยายามสืบหาที่มาของโรคประหลาดนี้ จนสุดท้ายก็ได้ความว่า

“เรื่องทั้งหมดมันก็เกิดจากโรคประสาทเท่านั้นละ ความเครียดคือตัวกระตุ้นอาการให้คนปกติหลุดข้ามไปในเขต ‘ไม่ปกติ’ จากนั้นก็ข้ามกลับมาไม่ได้ มันเป็นตัวกระตุ้น แล้วยังเป็นเหมือนอาหารเพาะโรคนี้ในร่างกายด้วย ถ้าพวกเธอรู้จักโรคซึมเศร้า ไอ้โรคที่เด็กวันเนาว์เป็นก็เกิดขึ้นคล้ายๆ อย่างนั้น…โรคที่เด็กวันเนาว์เป็นเกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทชื่อเซโรโทนิล (เซโรโทนิน — อาทิตย์) … เซโรโทนิลต่ำทำให้คนเราโกรธง่าย พอกดทับไว้นานๆ มันก็ไปเปลี่ยนแปลงการทำงานของสมองไม่ให้สมดุล คนไข้โรคเดียวกับเด็กวันเนาว์มักจะมีความผิดปกติในสมองส่วน เซเรเบ้าคอถึก (ซีรีบรัมคอร์เท็กซ์ cerebrum cortex — อาทิตย์)” (หน้า 289-290)

นอกจากนี้สิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการดังกล่าวคือน้ำ เนื่องจากคนที่อยู่นอกกำแพงต้องดื่มน้ำที่สกปรกปนเปื้อนเชื้อโรคซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นมาและนำไปสู่อาการกลายร่างดังกล่าวนี้เอง และแน่นอนว่าโรคดังกล่าวนี้จะไม่เกิดขึ้นกับคนในกำแพง โรควันเนาว์กลายเป็นโรคระบาดที่สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คน ทุกคนที่อยู่นอกกำแพงมีความเสี่ยงได้ทั้งหมด สิ่งที่น่าสนใจคือมันเป็นโรคแห่งความโกรธ โรคของความแค้นที่ไม่มีที่ระบายและความโกรธแค้นดังกล่าวนั้นมาจากความไม่เท่าเทียมกันในสังคมสยามอลังการ ความโกรธที่เกิดขึ้นจากการกดหัวคนตัวเล็กตัวน้อยไม่ให้มีคุณภาพชีวิตที่พึงมี ในแง่หนึ่งอาจเป็นอุปมานิทัศน์ได้ว่า อำนาจดิบเถื่อนที่กดใส่หัวประชาชนไม่เว้นแต่ละวันอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ท้ายที่สุดจะเป็นความโกรธที่รักษาไม่ได้และจะเป็นสิ่งที่ทำลายชนชั้นปกครองเข้าในสักวันหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม พวกฝาถังเองก็ได้หาวิธีแก้ไขโรควันเนาว์ได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งไม่มีเรื่องของการหาวัคซีนมาป้องกันใดๆ นั่นคือ

“ตอนนี้ฝ่ายปกครองเลยเตรียมโครงการฟื้นฟูอารมณ์และความรู้สึกไว้หลายโครงการบูรณาการร่วมกันหลายหน่วยงาน ภายใต้ชื่อโครงการ ‘คนอารมณ์ดีศรีสยามกู้ยิ้มงามกลับพารา’ นอกจากซุ้มการแพทย์ที่จะกระจายจุดตรวจภาวะอารมณ์และสภาพร่างกายโดยไม่คิดเงินไปยังแต่ละชุมชนแล้ว ก็มีกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ทั่วสยามอลังการตลอดเจ็ดวันเจ็ดคืน ชาวโรงงานสามารถลงทะเบียนในเว็จไซร้ ‘เราไม่ทิ้งขยะดอดคมน์’ เพื่อรับเงินห้าพันบาทสำหรับใช้ซื้อข้าวของที่จำเป็นหรือไปเที่ยวได้ เป็นการกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจที่กำลังชะงักให้กลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่งด้วย” (หน้า 301)

ส่งท้าย

สุดท้ายนี้ ผมขอจบบทวิจารณ์ชิ้นนี้ด้วยข้อคิดดีๆ จากพวกฝาถังในสุสานสยามเอาไว้เตือนใจเราทุกท่านครับ

“…อย่าลืมน้า โกรธมาก เท่ากับคุณเปิดทางให้ฆาตรกรในตัวเองเพ่นพ่านออกมา โลกนี้สวยค่ะ สยามอลังการก็เป็นเมืองที่พลานามัยสมบูรณ์ดี ทุกอย่างอยู่ที่มุมมองของเรา มองดีๆ โรควันเนาว์อาจเป็นของขวัญก็ได้นะคะ ขอแค่เรา กาด อย่าตก…” (หน้า 302)


[1] นี่คือเรื่องตลกร้ายที่สุดในรอบหลายปีสำหรับผม ที่เราต้องมานั่งไล่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ควรจะตายไปได้ตั้งนานแล้วแต่ก็ไม่ตายสักที มันทำให้ผมนึกถึงข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์การเมืองอยู่ช่วงหนึ่งว่า สรุปแล้วเหตุการณ์ 2475 ในประวัติศาสตร์ไทยนั้นจบไปแล้วหรือยัง ซึ่งนักวิชาการสองคนที่เสนอเรื่องนี้ได้อย่างแหลมคมนั้นมีชะตากรรมที่แตกต่างกัน คือ คนหนึ่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อีกคนหนึ่งโดนฟ้องพ่วงไปกับลูกศิษย์ของตนเอง เพียงเพราะคุมวิทยานิพนธ์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเคยยกย่องว่าเป็นวิทยานิพนธ์ในระดับดีมาก

[2] รายละเอียดในประเด็นนี้ผมอยากแนะนำให้ไปอ่านต่อในหนังสือ the Cambridge companion to utopian literature ในบท “The origins of dystopia: Wells, Huxley and Orwell” หน้า 107-134 นอกจากนี้ในบทดังกล่าวยังชี้ให้เห็นบริบทและที่มาของการเกิดวรรณกรรมดิสโทเปีย ซึ่งสัมพันธ์กับความเป็นสมัยใหม่ การปฏิวัติฝรั่งเศส วิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยพันธุกรรมของมนุษย์ และสังคมนิยม

[3] ผมยอมรับว่าผมชอบตัวละครตัวนี้เป็นพิเศษ เพราะมันทำให้ผมนึกถึงตัวละครสมมติทางการเมืองของนักแต่งเพลงท่านหนึ่งที่เวลาจะรำพึงรำพันทางการเมืองก็ยกชื่อ “แม่ประไพๆๆๆ” มาเป็นตัวละครบ่นเรื่องสังคมการเมืองอยู่เสมอ จนแม่ประไพกลายเป็นตัวละครตลกทางการเมืองสำหรับผมช่วงหนึ่งและไม่คิดว่าจะมาปรากฏตัวในเรื่องแต่งจริงๆ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save