fbpx

จากกิ่งแก้ว น้ำมันรั่วระยอง ถึงซีเซียม : เหตุการณ์ที่สะท้อนความอ่อนแอของรัฐราชการไทย กับ สนธิ คชวัฒน์

ซีเซียม

‘ประเทศไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้’ เป็นประโยคที่ไม่เกินจริงแต่อย่างใด

ปี 2564 #โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ : เกิดเหตุเพลิงไหม้และระเบิดที่โรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติกในซอยกิ่งแก้ว 21 อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

ปี 2565 #น้ำมันรั่วระยอง : เกิดเหตุน้ำมันดิบรั่วบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล

ปี 2566 #ซีเซียม137 : เกิดเหตุวัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่จังหวัดปราจีนบุรีสูญหาย จนสร้างความตระหนกแก่ประชาชน

ภายในสามปี คนไทยประสบกับเหตุการณ์ทั้งไฟไหม้ ระเบิด ไปจนถึงสารพิษอันตรายรั่วไหลจากภาคอุตสาหกรรม เรียกว่านอกจากจะต้องสู้กับฝุ่นพิษ เรายังต้องสู้กับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอย่างไม่ได้พักได้ผ่อน จนหลายคนเริ่มตั้งคำถามต่อรัฐบาลซึ่งควรจะเป็นผู้รับผิดชอบว่า พวกเขาทำอะไรอยู่? ทำไมถึงปล่อยให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก?

แม้ว่าฝ่ายรัฐบาลเองมักชวนให้ประชาชนร่วมกันถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อวางแผนรับมือในคราวต่อไป แต่ที่ผ่านมา ประชาชนก็ส่งเสียงว่าอยากได้สิ่งที่เป็นรูปธรรมมากกว่าการ ‘ถอดบทเรียน’

101 ชวนทุกคนถอยออกมาก้าวหนึ่งเพื่อมองทั้ง 3 เหตุการณ์อีกครั้งผ่านสายตาของ สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ว่าเราเรียนรู้อะไรจากมัน และเหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนอะไรเกี่ยวกับสังคมที่พวกเราอยู่

เหตุการณ์การสูญหายของวัตถุกัมมันตรังสี ‘ซีเซียม-137’ เราสามารถถอดบทเรียนอะไรได้บ้าง

สำหรับเหตุการณ์นี้ สังคมไทยต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการประเมินความเสี่ยง ทั้งก่อนเกิดเหตุไปจนถึงการออกแบบแผนรับมือ (action plan) ว่าหากสารรั่วไหลจะต้องทำอย่างไร

ยิ่งไปกว่านั้นคือไม่รู้ว่าหายไปไหน หายไปได้อย่างไร สุดท้ายค่อยไปพบในฝุ่นแดงที่ออกมาจากเตาหลอม จึงสามารถตีความว่าโรงหลอมละแวกนั้นได้หลอมเหล็กที่มีซีเซียม-137 แล้ว แม้รัฐบาลจะออกมาชี้แจงว่าโรงงานดังกล่าวทำในระบบปิด แต่คำถามคือโรงงานเหล่านี้ดำเนินงานแบบปิดจริงเหรอ ต้องไม่ลืมว่ายังมีสารซีเซียม-137 ที่ออกไปตามปลายปล่อง อีกทั้งช่วงที่เกิดเหตุยังเป็นช่วงที่มีลมพัดผ่านด้วย ส่งผลให้โรงเรียนละแวกโรงงานพบนักเรียนป่วยกว่า 30 คน ทั้งนี้ หมอก็วินิจฉัยว่าเป็นเพียงโรคหวัดเท่านั้น คำถามคือรัฐบาลได้ออกแบบนโยบายการตรวจสุขภาพผู้คนละแวกนั้นในระยะอย่างน้อย 5 ปีหรือไม่ เพราะซีเซียม-137 เมื่อสูดดมเข้าไปในร่างกาย มันสามารถปลดปล่อยรังสีต่อได้ และในระยะเวลา 5-7 ปีก็สามารถกลายเป็นสารก่อมะเร็ง หรือเรียกว่า ‘การกลายพันธุ์’ (mutation) กล่าวคือมีการเปลี่ยนแปลงในระดับ DNA ได้

หลังจากนี้ผ่านไป 5 ปี หากประชาชนเจอผลกระทบทางสุขภาพ เราสามารถเรียกร้องย้อนหลังต่อรัฐบาลได้หรือไม่ว่าเป็นผลจากเหตุการณ์ครั้งนี้

จะย้อนหลังได้อย่างไรในเมื่อภาครัฐพยายามจะปิดเคสไปว่าไม่มีรังสีหลงเหลือ จึงสำคัญที่ประชาชนต้องเรียกร้องให้ภาครัฐตรวจสุขภาพประชาชนในละแวกนั้น ข้อเสนอนี้ต้องอยู่ในเงื่อนไขข้อตกลงและหากช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีประชาชนคนใดพบผลกระทบทางสุขภาพ ภาครัฐต้องให้รักษาฟรี

นอกจากนี้ภายในระยะเวลา 2 ปีแรก รัฐบาลต้องดำเนินการตรวจดินและแหล่งน้ำรอบๆ ว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบริเวณนั้นอย่างไรบ้าง หากไม่มีการตั้งเงื่อนไขเช่นนี้ เมื่อประชาชนป่วยในอนาคตก็จะตกมาเป็นภาระของประชาชนเอง

ทุกวันนี้รัฐบาลต้องการเพียงปิดเคส โรงงานไฟฟ้า โรงหลอมก็ยังไม่ถูกปิด การกระทำลักษณะนี้ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าภาครัฐนั้นไม่เข้มแข็ง

ตลอดระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา ประเทศไทยพบกับเหตุการณ์การรั่วไหลของสารอันตรายจากภาคอุตสาหกรรมหลายครั้ง จากเหตุการณ์เหล่านี้คุณสามารถถอดบทเรียนอะไรได้บ้าง เริ่มต้นจากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว

เดิมทีพื้นที่ดังกล่าวไม่มีผังเมือง และโรงงานที่กิ่งแก้วก็เข้ามาตั้งก่อนที่จะมีการออกแบบผังเมืองในจังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาเมื่อออกแบบผังเมืองกลายเป็นว่าโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่สีม่วง (พื้นที่ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม) แต่ดันมีชุมชนอยู่รอบๆ โดยไม่มีบัฟเฟอร์โซนกั้นระหว่างโรงงานกับชุมชน เพราะฉะนั้นเหตุการณ์นี้สะท้อนถึงความผิดพลาดด้านการออกแบบผังเมืออง กล่าวคือปล่อยให้โรงงานและชุมชนอยู่ใกล้กันเกินไป อีกทั้งโรงงานขนาดใหญ่เช่นนี้กลับไม่ต้องทำรายงานด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA : Environmental Impact Assessment) ประกอบกับขาดการประเมินความเสี่ยง เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงการขาดความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายของรัฐไทย

แล้วเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่ว ที่จังหวัดระยองล่ะ

เหตุเกิดจากท่อส่งน้ำมันดิบหัก ผมเคยไปเปิดรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของบริษัทดังกล่าวพบว่า ความจริงแล้วท่อดังกล่าวเหลือเพียง 1-2 ปีที่โรงงานจะต้องเปลี่ยนท่อส่งน้ำมันดิบแล้ว

เมื่อน้ำมันดิบรั่วสร้างความเสียหายต่อทะเลสูงมาก ทั้งนี้น้ำมันดิบประกอบไปด้วยสารโลหะหนัก กล่าวคือหากปลากินเข้าไปจะเกิดอันตรายสูงมาก ช่วงเวลาดังกล่าวเกิดคำถามว่าเราสามารถกินปลาที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้นได้หรือไม่ ยิ่งกว่านั้น น้ำมันดิบได้ปนเปื้อนบนชายหาด เรียกได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างผลกระทบด้านลบต่อมิติสิ่งแวดล้อมและมิติเศรษฐกิจ

บทเรียนที่สำคัญคือ ภาครัฐต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม เพื่อฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายให้ชาวบ้านแถวนั้น และบริษัทต้องเข้าไปฟื้นฟูพื้นที่บริเวณนั้นด้วย แต่ปัจจุบัน บริษัทดังกล่าวกลับบอกว่าภาครัฐไม่ต้องฟ้องเพราะจะเข้าไปดูแลชาวบ้านด้วยตนเองผ่านการจ่ายเงินให้ชาวบ้านหัวละ 10,000-20,000 บาท ล่าสุดชาวบ้านจึงตัดสินใจฟ้องร้องเอง แต่การต่อสู้คดีนั้นใช้เวลานาน กว่าจะเข้าสู่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา

อีกทั้งเหตุการณ์นี้ เชื่อได้ว่าบริษัทไม่ปฏิบัติตามมาตรการในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการผิดเงื่อนไขสัญญา บริษัทต้องหยุดดำเนินการทันที แต่ก็ไม่หยุด แถมยังไม่ยึดใบอนุญาตก่อน ทั้งที่ภาครัฐควรยึดแล้วจึงเจรจา หากการเจรจาเสร็จสิ้นค่อยให้ใบอนุญาตดำเนินการต่อได้

แนวทางอย่างการให้บริษัทหยุดดำเนินการ คือทางออกที่รัฐควรดำเนินการเหรอ

ต้องปิดก่อนแล้วจึงเจรจา เนื่องจากคุณผิดเงื่อนไขเอง คุณต้องชดเชยทั้งมิติของตัวเงินและสิ่งแวดล้อม แต่เห็นได้ชัดเลยว่าภาครัฐนึกถึงมิติเศรษฐกิจมาก่อนมิติสิ่งแวดล้อม ทั้งสองอย่างนี้ต้องบอกว่าไปคู่กันได้ ภาคประชาชนเรียกว่า ESG โดยย่อมาจาก Environmental, Social และ Governance

ทั้งสามเหตุการณ์ตั้งแต่ไฟไหม้โรงงาน น้ำมันดิบรั่ว ไปจนถึงการรั่วไหลของซีเซียม-137 สะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐอ่อนแอทั้งมิติกฎหมายและการบังคับใช้ กลัวเรื่องกระทบเศรษฐกิจมากกว่าสิ่งแวดล้อม มากกว่าสุขภาพของประชาชน

ทุกวันนี้ประชาชนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าในละแวกบ้านของพวกเขา มีสารเคมีอันตรายอะไรอยู่บ้าง

นี่ไง! รัฐบาลถึงต้องออกกฎหมายที่เรียกว่า กฎหมายปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) คือกฎหมายที่บังคับให้โรงงานอุตสาหกรรมเปิดเผยข้อมูลสารอันตรายในโรงงานให้ประชาชนทราบ แต่พอไม่มีกฎหมายฉบับนี้ ทำให้ประชาชนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าในแถวบ้านมีสารพิษอันตรายหรือไม่ เมื่อเกิดเหตุการณ์ก็ทำให้ประชาชนไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร

หากปัญหาส่วนหนึ่งมาจากผังเมือง แต่ผังเมืองกลับเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก ภาครัฐต้องทำอย่างไร

ที่ผ่านมา วิธีการทำผังเมืองของประเทศไทย ในความเป็นจริงแล้วต้องผ่านการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนให้เสร็จสิ้นก่อน ต้องดูให้ครบทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย เพื่อที่จะได้ทราบว่าอะไรควรอยู่ตรงไหน ทุกวันนี้นอกจากจะไม่ศึกษา จะแก้ผังเมืองก็ดำเนินการเลย หากที่ผ่านมาผังเมืองมีปัญหาก็ต้องค่อยๆ ขยับ ประเด็นนี้แก้ทันทีไม่ได้ เช่น ต้องการให้โรงงานย้าย คุณก็ต้องมีเวลาและค่าชดเชยให้เขา

ผมมองว่าหลายจังหวัดสามารถกลายเป็นจังหวัดนิคมอุตสาหกรรม แต่ต้องอยู่ในเขตประกอบการหรือเขตนิคมที่มีรั้วรอบขอบชิด ประกอบกับมีบัฟเฟอร์โซน กล่าวคือให้ประชาชนอาศัยห่างออกไปอย่างน้อย 4-5 กิโลเมตร อย่างจังหวัดชลบุรีกับระยองก็กลายเป็นจังหวัดนิคมอุตสาหกรรมอย่างสมบูรณ์แล้ว ต้องแบ่งให้ชัดเจนว่าพื้นที่ท่องเที่ยวต้องไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม ไม่ใช่ว่าโรงงานติดรั้วนิคม แล้วรั้วนิคมก็ติดกับที่อยู่อาศัยเช่นนี้

ตัวอย่างแต่ละเหตุการณ์ที่ผ่านมามีความแตกต่างกันอย่างมาก การเตรียมรับมือกับเหตุการณ์จากปัญหาสารพิษอุตสาหกรรม เป็นเรื่องที่สามารถวางแผนล่วงหน้าได้มากน้อยแค่ไหน หรือส่วนใหญ่จะเป็นการแก้ไขตามสถานการณ์เฉพาะหน้า

หลักการสำคัญที่ภาครัฐต้องทำ คือโครงการอะไรก็ตามที่สามารถสร้างผลกระทบสูงจะต้องมีการประเมินความเสี่ยงในช่วงก่อนตั้งโรงงาน อีกทั้งต้องเข้มงวดเรื่องมาตรการไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรก็ตาม ทั้งระเบิด ไฟไหม้ สารเคมีรั่วไหล โรงงานจะมีมาตรการเช่นไรและออกแบบแนวทางรับมือ (action plan) ให้ชัดเจน นอกจากนี้รัฐบาลเองจะต้องตั้งภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกคณะกรรมการในการออกกฎหมายและออกกฎระเบียบ ที่เรียกว่า public participation  

ที่ผ่านมา มีหลายคนพูดถึงระบบการแจ้งเตือน แต่ระบบแจ้งเตือนเป็นเพียงจุดเล็กๆ คำถามสำคัญคือ เวลาเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาภาครัฐต้องทำอย่างไร กล่าวคือภาครัฐต้องมีอย่างน้อย 3 แผน คือ แผนป้องกัน แผนแก้ไข และแผนฟื้นฟู

วันนี้แผนต้องเป็นเหมือนหลักการ และใช้ได้หมด การนำไปประยุกต์เป็นอีกเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น โรงงานไฟไหม้ อย่างน้อยคุณต้องมีแผนอพยพของประชาชนให้ปลอดภัย และเมื่อเกิดเหตุการณ์ต้องทำทันที

ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีอำนาจมากพอหรือไม่ในการจัดการกับสถานการณ์

ไม่มีเลย ถึงแม้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะมีกรมควบคุมมลพิษที่ดูเหมือนเป็นผู้มีอำนาจ แต่เวลาจะเข้าไปตรวจในโรงงาน กรมควบคุมมลพิษกลับไม่มีอำนาจในการเข้าไป คุณจะต้องให้กรมโรงงานออกคำสั่งให้คุณเข้าไป และเมื่อเข้าไปก็ไม่สามารถดูทั้งโรงงานได้ ต้องเข้าไปดูแค่ระบบบำบัดเท่านั้น

ทั้งนี้เมื่อเจอปัญหา กรมควบคุมโรงงานก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องให้กรมโรงงานเป็นผู้สั่งการ คำถามคือคนที่เขาออกใบอนุญาต เขาจะสั่งปิดด้วยตนเองจริงๆ เหรอ

จากที่พูดคุยมา ปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยดูจะเกิดจากปัญหาเรื่องระบบราชการและกฎหมายเลย

กฎหมายของบ้านเราส่วนใหญ่เน้นการให้อำนาจเฉพาะแต่ละหน่วยงาน เช่น กรมโรงงาน คุณก็มีอำนาจตั้งแต่เปิดโรงงานจนสามารถปิดโรงงานได้ภายในองค์กรเดียว แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกา เขายึดหลักเรื่อง ‘ตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ’ (check and balance) คือหน่วยงานใดที่เป็นผู้อนุญาต คุณมีอำนาจเต็มที่ตราบใดที่ดำเนินการถูกต้องตามธรรมาภิบาลและกฎหมายสิ่งแวดล้อม แต่คุณไม่มีอำนาใจในการสั่งปิดหรือตรวจสอบ เพราะต้องมีอีกหน่วยงานหนึ่งทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจ อย่างในสหรัฐอเมริกาคือ องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ EPA  ที่มีหน้าที่ไปตรวจสอบและสั่งปิด เพราะบางทีคนที่อนุญาตจะไปสั่งปิดเองบางทีอาจจะเกรงใจกัน อีกทั้งกลัวว่าจะได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจ

ประเด็นต่อมาคือกฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยไม่เข้มแข็ง กล่าวคือเรามี พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2535 แต่ยังไม่ถูกบังคับใช้อย่างเต็มที่ เห็นได้จากการตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม แต่เรากลับไม่เคยเห็นบทบาทของกองทุนนี้ในการเข้าไปจัดการกับขยะที่ลักลอบทิ้ง หรือเมื่อสารพิษรั่วไหล ส่วนใหญ่กองทุนนี้ถูกใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ นำไปให้เอกชนหรือให้องค์การส่วนท้องถิ่นกู้ ทั้งที่กองทุนควรถูกใช้ในเชิง environmental guarantee fund คือกองทุนประกันเรื่องสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้กลไกอย่าง ‘ภาษีสิ่งแวดล้อม’ ก็เป็นอีกกลไกหนึ่งที่ยังขาดใน พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฉบับปัจจุบัน โรงงานไหนเป็นผู้ปล่อยมลพิษเยอะก็ควรเป็นผู้จ่ายค่าดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเยอะ แต่ปัจจุบันหากโรงงานไหนดำเนินการได้ตามมาตรฐานของกรมโรงงาน ก็สามารถปล่อยมลพิษได้ไม่อั้น ปล่อยเท่าไหร่ก็ได้ กล่าวคือไม่มีคนผิด แต่มีคนป่วย เพราะฉะนั้นในอนาคตจะต้องมีการกำหนดว่าโรงงานสามารถปล่อยมลพิษได้กี่ตันต่อปี หรือกี่กิโลกรัมต่อชั่วโมง หากโรงงานปล่อยเกินต้องชดเชยผ่านตัวเงิน

ประเด็นสุดท้ายคือการตั้งศาลสิ่งแวดล้อม เมื่อเกิดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม บางทีกว่าจะผ่านศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาใช้เวลานานกว่าชาวบ้านจะได้รับการชดเชย การตั้งศาลสิ่งแวดล้อมขึ้นจะสามารถทำให้คดีถูกตัดสินได้ไว และมีหน้าที่ดูแลประเด็นสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ

หากชวนดูโมเดลการจัดการของประเทศอื่นๆ เขาจัดการเหตุการณ์เหล่านี้อย่างไร

หนึ่งในประเทศที่จัดการได้ดีคือ ประเทศญี่ปุ่น เหตุการณ์สำคัญที่เคยเกิดขึ้นคือโรงไฟฟ้าระเบิดจากเหตุการณ์สึนามิ  ณ จังหวัดฟุกุชิมะ ส่งผลให้สารซีเซียม-137 กระจายไปประมาณ 50-100 กิโลเมตร สิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นดำเนินการคือการล้อมไม่ให้ประชาชนอาศัยในละแวก 10 กิโลเมตร

อีกมาตรการคือ การตรวจรังสีในอาหารที่อยู่ละแวกพื้นที่ดังกล่าวเป็นเวลา 10 ปี อาหารทะเลที่มาจากจังหวัดฟุกุชิมะทุกวันนี้ก็ยังคงตรวจรังสีอยู่ เพราะรังสีซีเซียมอยู่ได้ถึง 30 ปี แม้วันนี้โรงไฟฟ้าจะดำเนินงานต่อ แต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็ยังไม่ให้ประชาชนเข้าไป เขายอมเสียเรื่องเศรษฐกิจของเมือง เพราะรัฐบาลมองเรื่องสุขภาพของประชาชนมาก่อน

กลับมายังประเทศไทย มองการสื่อสารในยามวิกฤตของรัฐบาลไทยอย่างไร

ในยามวิกฤต อย่างสารเคมีรั่ว ระเบิด หรือไฟไหม้ การสื่อสารต่อประชาชนนับเป็นเรื่องที่สำคัญมาก คุณต้องสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน ที่ผ่านมา หากให้ประเมินการสื่อสารของภาครัฐผมว่าสอบตก กล่าวคือรัฐบาลพยายามทำให้เรื่องจบให้เร็วที่สุด เห็นได้จากการแถลงข่าวเรื่องซีเซียม-137 เหมือนคุณพยายามปิดบังข้อมูล ไม่บอกข้อเท็จจริง ภาครัฐบอกแค่มันรั่วไหลออกมาน้อยและไม่ต้องกังวลอะไร แต่อย่าลืมว่าคนไทยหลายคนสามารถเข้าถึงข้อมูลในโลกออนไลน์ได้ เขารู้ว่าซีเซียม-137 คืออะไร และอันตรายแค่ไหน

เขาว่ากันว่าการเมืองดี ชีวิตเราจะดีกว่านี้ หากประเทศเป็นประชาธิปไตย ประเด็นสิ่งแวดล้อมไทยจะดีขึ้นหรือไม่

ดีขึ้น หากสังคมเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เสียงของประชาชนจะถูกรับฟัง ไม่ใช่อยู่ดีไม่ว่าดีก็ไปอนุมัติสร้างโครงการใหญ่เลยโดยไม่ได้ผ่านการพูดคุย หรือตกผลึกทางความคิดของชุมชนรอบข้าง

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save