ที่รักระทม

ที่รักระทม

อุทิศ เหมะมูล เรื่อง

 

YouTube video

 

Sorrow found me when I was young

Sorrow waited, sorrow won

Sorrow, they put me on the pill

It’s in my honey, it’s in my milk*

 

ความทุกข์ระทมค้นพบฉันเมื่อครั้งเยาว์วัย ตอนนั้นยังไม่ใช่ความระทมทุกข์ คงเป็นถ้อยคำง่ายๆ อย่าง โดดเดี่ยว ว้าเหว่ อยากเป็นที่ต้องการ – ของเพื่อนๆ ครู พ่อกับแม่ พี่ชายน้องสาว และคนข้างบ้าน

ชีวิตวัยปฐมก็เหมือนฝรั่งกับมะม่วงดิบ ที่ฉันปีนขึ้นไปปลิดกัดกินจากต้น รสฝาดเฝื่อนและเปรี้ยวดิบ คายทิ้ง มองดูเพื่อนๆ ป่ายปีนต้นไม้เล่นไล่จับกัน หรือไม่ก็เล่นซ่อนหา ฝ่ายซ่อนก็ซ่อนเก่ง ฝ่ายหาก็หาเก่ง ฉันเพียงเฝ้ามอง น้อยใจที่ไม่มีใครชวนเล่นด้วย

นั่งอยู่กลางห้องเรียน ไม่เก่งและก๋าอย่างนักเรียนหน้าชั้นกับหลังแถว กลืนหายในสายตาของครู มีการบ้านอยู่หนักกระเป๋า กลับบ้านมาอยากดูการ์ตูนแต่ถูกแม่ไล่ให้ไปถูบ้าน บางคราวหนีไปวิ่งเล่นในทุ่งข้าวโพดของเพื่อนบ้าน เล่นซ่อนหากับตัวเอง พลางคิดว่ามีใครสักคนกำลังตามหาฉันอยู่ แอบลักข้าวโพดดิบมากิน รสชาติสดเหมือนน้ำนม และได้ยินเสียงเรียก พ่อเป็นคนเดียวที่ร้องเรียกหาฉันเสมอ ไม่ได้ออกตามหา ฉันแค่ต้องออกจากที่ซ่อนเพื่อให้พ่อหาพบ พบเพื่อให้พ่อเห็นในสิ่งที่ฉันไม่อยากเป็น

นั่งอยู่พร้อมหน้าเวลากินข้าวเย็น พ่ออยากเห็นทุกคนเมื่อกลับมาจากทำงาน นั่นเมีย นี่ลูกๆ ตรงหน้ามีข้าวเย็นพร้อม ภายในผนังสี่ด้านที่โอบล้อมปกป้องเรียกว่าบ้าน ฉันนั่งมองพ่อ ความพยายามที่จะทำทุกสิ่งให้สงบ เรียบร้อย และวางใจชีวิตได้ พ่ออยากเห็นฉันอยู่ตรงนี้ ตรงหน้าพ่อ และตัวฉันอยู่ตรงนี้ มองพ่อ แต่ฉันมองเห็นบึงน้ำในแสงเย็นย่ำซึ่งไปนั่งเล่นเงียบๆ เมื่อครู่นี้ก่อนกลับบ้าน ผิวน้ำเรียบเป็นกระจกมืด ได้ยินเสียงกบเขียดร้อง และฉันร้องไห้ออกมา เงียบเชียบเหมือนแสงสนธยาลาล่ำ เหมือนแผ่นกระจกในบึงกำลังเอ่อล้นและถั่ง

‘พ่อมองฉัน’ ฉันพูดในใจ ‘ฉันไม่อยู่ตรงนี้’

ความรู้สึกโดดเดี่ยวลักพาตัวฉันไป ความไม่เป็นที่ต้องการสอนฉันเล่นซ่อนหา ฉันนั่งอยู่หน้าพ่อก็จริง นั่งอยู่ในห้องเรียนก็จริง อยู่ในบ้าน อยู่ในหมู่บ้านก็จริง แต่ฉันไม่อยู่ตรงนี้แล้ว

 

ฉันนั่งอยู่ตรงนี้ เป็นมะม่วงและฝรั่งที่กำลังแตกเนื้อห้าว ฉันกัดกินตัวเอง รสชาติสดกรอบ ผิวที่ตึงแตก เนื้อซุยร่วนและฉ่ำ ระหว่างระลึกย้อน และนั่งเขียนคำถึงความเยาว์วัย ดิบและฝาด เช่นเดียวกับความโดดเดี่ยว ว้าเหว่ ที่ซึ่งตอนนี้ ความระทมทุกข์ของฉันมีหลายถ้อยคำ กำเนิดขึ้นต่างเงื่อนไข หลากลักษณะเฉพาะ โดดเดี่ยวแบเบาะเริ่มเตาะแตะเป็นอ้างว้างเดียวดาย เสียดายที่พลาดพลั้ง และเสียใจที่ได้ทำลงไป บางทีก็สลดซึมและห่อเหี่ยว บางทีก็รวดร้าวและเศร้าหมอง จากสิ่งที่ผ่านพบ ประสบเจอ และสิ่งที่พลาดหวัง

และที่สำคัญ ความผิดหวังในตัวเอง

 

Sorrow’s my body on the waves

Sorrow’s a girl inside my cake

I live in a city sorrow built

It’s in my honey, it’s in my milk

 

ฉันนั่งเขียนถึงความระทม ที่เคยรู้สึก เคยเป็น แต่ฉันไม่สามารถเขียนทั้งๆ ที่ยังระทมอยู่ได้ ฉันเรียนรู้ว่าต้องไปอยู่ที่อื่น ไม่อาจอยู่ตรงนี้ได้ ไปอยู่บนต้นไม้ กัดกินมะม่วงดิบและฝรั่งฝาด มองทุกๆ เรือนร่างของความเศร้าป่ายปีนโลดโผนบนต้นไม้หรือเล่นซ่อนหา

ฉันไม่ทุกข์เศร้าตอนเขียนถึงความทุกข์เศร้า ฉันเป็นความเศร้า

และเอาจริงๆ ฉันรักความเศร้าด้วยซ้ำ ไม่ได้เขียนถึงอย่างคนมองหาความสุข ว้าวุ่นและหมองซึมอย่างคนทุรนหลุดออกไปจากสภาวะนี้ไม่ได้ ดังนั้นมีสิ่งที่ฉันได้รับจากความเศร้า ความไหวอ่อนที่ไม่เลื้อยเป็นเถาวัลย์ ความโดดเดี่ยวสร้างฉันให้รักสันโดษ ความไม่เป็นที่ต้องการสร้างฉันให้อยู่ลำพังได้ ความคาดหวังแล้วพลั้งพลาดทำให้ฉันเย็นชาและอาฆาต ในไขในกระดูกซี่โครง ปกป้องหัวใจของฉัน ในกะโหลกหุ้มวุ้นสมองของฉัน ความเสียใจนวดเฟ้นฉันจนเข้าเนื้อ ฉันเป็นความเศร้า และที่รักของความเศร้า

ฉันดื่มนมสดตอนเช้าและถูกลักพาไปอยู่ในทุ่งข้าวโพดวัยเยาว์ ชั่วแวบที่คุณมองหน้าแล้วถามว่า “เป็นอะไร” ฉันนึกถึงนมวัวฮ็อกไกโดร้อนๆ ที่เคยดื่มกับคุณหลังจากเดินฝ่าหิมะตกหนักที่นั่น กลิ่นคาวนมในปากตอนเราจูบกัน หรือแม้แต่ทรวงอกของคุณที่ฉันจุมพิตดูดดื่ม

“มันอยู่ในนี้” ฉันพูด หนาวสะท้านสั่นเทาในบรรยากาศเทาๆ อุ่นๆ “อยู่ตรงนี้นะ” คุณบอก “กับปัจจุบัน” คุณบอก “กับฉัน” นั่นเป็นความคาดหวังเพื่อให้ฉันเดินออกจากที่ซ่อนหา เสียงเรียกแบบพ่อ เสียงเรียกของคุณ มันแกร่งแต่เปราะ และความสั่นเทาของฉันอยากเคาะ เพื่อดูรอยร้าว มองเห็นการแตกเสี้ยวดังลายงา ระเบิดแตกดังเม็ดข้าวโพด

“ฉันอยู่ตรงนี้” ฉันตอบ มองแสงวิบวับจากการร้าวแตก

 

Don’t leave my hyper heart alone on the water

Cover me in rag and bone sympathy

Cause I don’t wanna get over you

I don’t wanna get over you

 

ในอีกที่หนึ่ง ฉันชอบทำคุณร้าวแตก มีสถานที่นั้นจริงๆ บางทีก็ในความทรงจำ บางทีก็ในความคาดหวัง กับเครื่องดื่มมึนเมาเบื้องหน้าฉัน กับการทำลายหักความคาดหวังตัวเองว่าจะไม่ดื่มแล้วลงเอยด้วยมานั่งดื่ม สุขลำพังที่ทำตัวเองผิดหวัง ยั่วล้อและท้าทายความคาดหวังของคุณและของคนอื่นๆ กับรสละมุนของความเสียใจที่ได้ดื่ม นี่คือรสชาติของมัน เศร้าและโดดเดี่ยวที่ดิบและฝาด กลั่นและหมักบ่มจนขมเปลี่ยนเป็นหวานล้ำ ยวนลึก ยั่วและโล้ไปในกาลผิดรูปจนสุกเหลืองอำพัน เป็นโศกศัลย์ ระกำระทม หม่นหมองอึมครึม ตนฉันเริ่มสลายละลาย กลืนกลายไปกับบรรยากาศ ฉันอยู่ที่นั่น ไม่ใช่ในฐานะตัวตน แต่เป็นภูมิทัศน์ของมัน จะไม่พูดว่า “ฉันโดดเดี่ยว” เพราะไม่มีตนแล้ว แต่คือความเดียวดายที่แสนอุ่นใจ

และใช่ ฉันเป็นตัวบั่นทอนความสัมพันธ์ ทำลายคนที่รักตายช้าๆ

และใช่ ฉันตายช้าๆ ลุ่มหลงความผิดหวังและเศร้า เสพติดในแก้วที่มึนเมาเบาหวิว

ฉันเป็นที่รักของคุณ และกำลังจะถึงที่สุด… คือเป็นที่รักของความระทม

โดยเดียวดาย ฉันจะเติมเครื่องดื่มอีกแก้ว

“คุณช่วยปกป้องความระทมของฉันนี้ไว้ได้มั้ย” ฉันถาม

อยากเป็นที่ถูกรักมาตั้งแต่เยาว์วัย และซุกซ่อนหัวใจไว้ที่ความเศร้าจนคล้ำหมอง พอถูกรักแล้วก็ตอบสนองด้วยความผิดหวัง “เกินเยียวยาจริงๆ” ฉันบอกตัวเอง รู้สึกขึ้นมาตอนนั้นว่าอย่าชื่นชมยินดีกับคำแดกดันตัวเองแบบนั้น ระทมควรจะไม่รักฉันบ้าง ฉันเอาแต่เรียกร้องความช่วยเหลือ แต่ฉันไม่ช่วยตัวเองเลย

 


 

*เนื้อเพลง Sorrow จากวง The National ร็อคแบนด์ยุค 2000 จากบรูกลิน อเมริกา โดดเด่นด้วยภาคดนตรีอื้ออึงเสียงสังเคราะห์ แต่ไพเราะกลมกลืนด้วยดนตรีเครื่องเป่าเครื่องสายคลุมหลัง เนื้อหาเพลงมักกล่าวถึงความรู้สึกผิดและเสียใจ ความมืดหม่น และแรงขับดิ้นรนผลักชีวิตตนสู่แสงสว่าง เสียงร้องทุ้มลึกกังวานของนักร้องนำไปกันได้ดีกับตนตรีและเนื้อหา ให้อารมณ์คล้ายฟังคนสารเลวสารภาพบาป

เพลง Sorrow นับเป็นเพลงโด่งดังของวง ถูกนำไปใช้ประกอบภาพยนตร์ และร่วมแสดงงานศิลปะกับศิลปินชาวไอซ์แลนด์ Ragnar Kjartansson ที่  The Museum of Modern Art (MOMA) PS1 นิวยอร์ก โดยวง The National เล่นเพลงนี้ต่อเนื่องยาวนานถึง 6 ชั่วโมง! ดังว่าความทุกข์ระทมนั้นยาวนานชั่วกาล ย้ำซ้ำย่ำซ้อนทับถมลงใจให้จม อานุภาพของความระทมทุกข์ของคนเป็นเช่นนั้น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save