fbpx
ในอีกชีวิตหนึ่ง (ณ ที่ซึ่งอาจมีความรัก)

ในอีกชีวิตหนึ่ง (ณ ที่ซึ่งอาจมีความรัก)

อุทิศ เหมะมูล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพ

 

 

ไหน ขอฉันคำนึงถึงฝันอันไม่อาจเป็นไป

เพื่อล่วงรู้วิธีที่ทำเป็นไม่รับรู้ ว่ามันหมายถึงสิ่งใด

เว้นแต่ได้ใคร่ครวญสิ่งที่รู้ล่วงเห็นสิ้นสงสัย…

ณ อีกฟากหนึ่งของชีวิต ณ อีกฟากหนึ่งของความเข้าใจ

 

ซึ่ง ไร้ตำแหน่งแห่งที่ทั้งสูงและต่ำ (เป็นกลาง?)

ไม่ตอบรับและตัดสินว่าสิ่งนี้ถูกต้องและสิ่งนั้นไม่เหมาะสม (อย่างไร?)

เว้นไว้สถานหนึ่งซึ่งการเสียสละหั่นแยกแบ่งออกอย่างเท่าเทียมกัน (เป็นไปได้หรือไม่?)

ซีกหนึ่งไว้อีกฟาก และอีกซีกไว้อีกฟาก

ในอีกชีวิตหนึ่ง ทั้งของฉัน และของฉัน [1]

(นั่นคือฝันที่ไม่อาจเป็นไป)

 

เธอจะเข้าใจธรรมชาติได้อย่างไรหากอ้างเอาแต่ธรรมเนียม?

มองความไม่เหมือนกันทางกายภาพ ชาติพันธุ์ แล้วสาธกว่าคนไม่เท่ากันไม่ได้

เพราะในฐานะพลเมือง ย่อมได้รับความเสมอภาค และสิทธิเป็นพื้นฐาน

เราพูดถึงสิทธิที่ควรเสมอภาพกัน ไม่ใช่อยากมีกายภาพ ชาติพันธุ์ เหมือนกันสักหน่อย

 

เมื่อเอาธรรมเนียมเป็นวิถี ‘ผลย่อมเกิดแต่เหตุ’ ‘ธรรมะคือธรรมชาติ’

ธรรมะอรรถาธิบายความดีงาม

ความดีงามนิยามคุณลักษณะตัวมันในยุคสมัยปัจจุบันอันแตกเสี้ยวและซับซ้อนได้ยากแล้ว

เหมือนแหวนหมั้น เหมือนคทา เมื่ออยู่ในมือของใครก็ศักดิ์สิทธิ์ ตั้งคำถามไม่ได้

ความดีจึงฉายแสงส่องแก่ผู้ที่อ้างใช้ แก่ผู้ที่ถือมันไว้

หาใช่ตัวความหมายของความดีจริงๆ

 

อยากรู้จัก อยากนิยาม อยากเข้าใจความหมายของมันจริงๆ อีกทางหนึ่ง

จึงต้องถอยหลังกลับ ย้อนผ่านธรรมเนียมปฏิบัติ อดีต

ที่นั่นพบผู้หลักผู้ใหญ่ คนที่มีชีวิตผ่านคืนนานวัน ผู้ที่ถูกรัฐประหารซ้ำๆ ปั้นขึ้นรูป กล่อมเกลี้ยงด้วยความสงบสุขตามอัตภาพ

โลกเหลือเล็กลงเท่าความสุขของฉัน ความสงบสุขที่ไม่ถูกรบกวน ทำให้ขุ่นใจ

บอกให้คนรุ่นใหม่ปล่อยวาง เหมือนที่ตัวเองปล่อยใจ

ไม่รู้ควรปล่อยใคร ไม่รู้ใครรั้งใคร

กลัวว่าจะถูกลืม ไม่ได้รับการเหลียวแล ไม่เห็นคุณค่า จนต้องทวงถามถึงสำนึก บุญคุณ และการตอบแทนก่อน

กลัวจนต้องผลักให้คนรุ่นหลังๆ ‘ล้ม’ เพื่อจะได้เรียนรู้รสชาติของการที่ตนเคยคุกเข่ามาก่อน

 

“ถ้าจะด่าคณะรัฐประหาร ก็ต้องด่ารัฐบาลประชาธิปไตยที่สร้างเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหาร” นักเขียนคนหนึ่งว่า

ปัญหาบ้านเมืองทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากรัฐบาลเก่าทำไว้ นายกรัฐมนตรีว่า

ถ้าชังชาติและไม่รักแผ่นดินบ้านเกิดนักก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น สื่อมวลชนบางสำนักก็ว่า

ความยุติธรรมหาไม่ได้ในกระบวนการศาลยุติธรรม

ครอบคลุมอย่างกว้างทั้งๆ ควรตีความอย่างแคบในบางมาตราของกฎหมาย

ประเทศที่ถูกย่ำยีกระหน่ำฟาดจนชอกช้ำฉิบหาย ไม่อาจมองเห็นความสูญเสีย บาดเจ็บ และน่าอับอาย เพราะคนและเหล่าคนล้วนต่างยืนอยู่ข้างการหวดกระหน่ำ

ทำร้ายร่างกาย ทำกันถึงตาย

กฎหมาย ระบอบ คุ้มครองอันธพาล ดูดายคนถูกทำร้าย

ในประเทศของฉัน ในอีกชีวิตหนึ่งของฉัน

 

อ้างรักเพื่อกักขัง ลงโทษ ใช้อำนาจเพื่อล่ามผูก รักลูกให้ตี ใครมีแนวโน้มเห็นต่างถูกป้ายสี เหยียดหยาม ถูกล่า หฤหรรษ์หรรษา

 

ไม่มีรักใดจะค้นพบได้ในความเกลียดชัง

และ/หรือจากสภาวะชำรุดเสียหายที่หัวใจถูกปั้นรูปขึ้นผ่านอำนาจเบ็ดเสร็จเผด็จการ (ในทุกๆ ระดับของความสัมพันธ์ คนสองคน สถาบันครอบครัว พลเมืองกับรัฐ)

นั่นเป็นเพียงมายาที่ความเบ็ดเสร็จจะง้างปากให้เอ่ยคำรักได้สำเร็จ หรือไม่ก็ทุบคุณให้จุกน่วม จนพูดไม่ออก

ในอีกฝั่งหนึ่งของปาก คือหัวใจ

จะได้รักจากใคร ก็จากอีกฝั่งหนึ่งเท่านั้น

 

ที่พวกเขาไล่ล่าด้วยคลุ้มคลั่งหรรษาอยู่นี้ จึงเป็นแบบวิธีและธรรมเนียม

ไม่ใช่ความรัก แต่คือความกลัว

กลัวว่าคนอื่นจะไม่กลัวเหมือนพวกเขา

พวกเขาจึงทั้งขืนและข่ม ผลักให้ล้ม ไม่ใช่เท่ากับที่พวกเขากลัว

แต่เท่ากับความขี้ขลาด สอพลอที่พวกเขาเป็น

เพื่อให้ได้รับรัก

เพื่อให้ได้รับรู้ ว่าถูกรัก

 

ฉันอยากไปอยู่อีกฟากฝั่ง

ในอีกชีวิตหนึ่งของฉัน

เพื่อที่จะรัก และอภัยให้เป็น

 

__________________________________________________

 

[1] จากคำร้องของเพลง In Another Life ของ Sandro Perri นักดนตรีและโปรดิวเซอร์ชาวแคนาดา โดยเริ่มต้นขึ้นว่า

 

“Let me into this impossible dream

And know how not to know just what that means

Except to think of all that might be seen

In another life

 

No position, ladder or pit

No more response correct or unfit

Except where evenly sacrifice split

In another life

In another life…”

 

แล้วจากนั้นก็เข้าสู่ ‘คำรำพึง’ ที่คล้ายกับบทสวดแห่งการภาวนาใคร่ครวญ ต่อเนื่องยาวนานถึง 24 นาที เนื้อร้องนั้นมีความเป็นบทกวีสูงมาก คล้ายดั่งไฮกุหรือเคนโต้สามบรรทัด (ส่งแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนบทความนี้แต่งเติมและลำนำต่อเนื่องไปเพื่อพิจารณาภาพชีวิตของประเทศ)

อัลบั้ม In Another Life บรรจุ 4 เพลง หน้าแรกคือเพลง In Another Life ความยาว 24 นาที ส่วนอีกด้านคืออีก 3 เพลง Everybody’s Paris, Part หนึ่ง สอง และสาม เป็นถ้อยคำนึงที่ไม่ซ้ำความ และได้นักร้องรับเชิญมาร่วมร้องในแต่ละพาร์ต ความยาวเพลงรวมกันเกือบ 20 นาที

นี่คืออัลบั้มที่ล้ำและน่าสนใจอย่างยิ่ง ทั้งภาคดนตรีและเนื้อร้อง มีลักษณะแนวศิลปะแบบอวองการ์ด และฟิวเจอริสม์

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save