รำพันโดยหวังใจ

รำพันโดยหวังใจ

อุทิศ เหมะมูล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

YouTube video

 

เราเคยพบกันก่อนจะได้พบกัน…

เดินสวนผ่านในสถานที่หนึ่ง ต่อแถวขึ้นโป๊ะเรือข้ามฟาก ในงานเปิดตัวหนังสือสักเรื่อง และบาร์เมารั่วสักแห่งที่คุณหัวเราะเสียงดังและผมอาจเมามาย คุณมากับคนรู้ใจ ส่วนผมมากับคู่ เราเคยพบกันแบบนั้นมาก่อน

เราอาจเคยอ่านหนังสือเรื่องเดียวกัน คุณชอบ ผมไม่ชอบ หนังสือเล่มหนึ่งผมอ่านตอนอายุ 20 ผมไม่ชอบ ไม่เข้าใจ (คล้ายว่าไม่ได้ดังใจ) บางทีอาจเกลียดมันมากด้วยซ้ำ แต่พอกลับมาอ่านอีกครั้งตอนอายุ 40 สิ่งที่ผมรับรู้ในวันวัยเช่นนั้นกลับแตกต่างออกไปในวันวัยเช่นนี้

หลายอย่างผมก็ไม่รู้เรื่อง เกี่ยวกับโลก เกี่ยวกับชีวิต คอยแต่มองหาความคาดหวัง และฝันใฝ่ คัดง้างและบิดดัดความเป็นไป เป็นจริงทั้งหมดไปตามแรงทะยานใฝ่ฝัน ถูกแล้ว! มันต้องเป็นเช่นนั้น เป็นวัยรุ่นทั้งทีไม่มีหัวใจทะเยอทะยาน ท้าทาย และฝันใฝ่ได้อย่างไร

แต่หลายอย่างในตอนนั้น ผมก็ยังไม่รู้เรื่อง ไร้เดียงสา เกี่ยวกับโลก เกี่ยวกับชีวิต เกี่ยวกับวิถี ทิศทางและหนทางข้างหน้าที่ผมต้องเดินไปในอนาคต

เช่นเดียวกับเมื่อผมบอกว่า ปรารถนาความตาย เข้าใจการสูญเสีย – ในวัย 20 นั้น (สิ่งที่ปรารถนาคือความรัก คือการเริ่มต้น) ผมมองความตายเป็นเรื่องสมสง่า ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสัจธรรมอันทรงสิทธิ์ มองเรือนร่างของมันผ่านรูปทรงของอุดมคติ ของปรัชญา ของระเบียบความคิดที่อยากจัดการ ที่อยากเข้าใจ แต่ผมไม่อาจเข้าใจ ไม่อาจจัดการ ไม่อาจยอมรับ หากความตายและการสูญเสียมอบความหมายอื่น หรือหนทางอื่นให้ เช่น ผมไม่ห่วงว่าผมจะตาย ความตายก็ไม่อยากรับรักผมเช่นกัน มันจึงไปสวมกอดและรับรักคนที่ผมห่วง พรากคนที่รักไปจากผม ตอนนั้นเองที่ผมรู้ว่า อะไรที่ผมเพียงรู้ ถูกท่วมทับและถูกทำลายได้ง่ายดายเพียงใด เมื่อต้องรับมือกับความสูญเสียจริงๆ

มีความต่างอย่างมหาศาลในกาล ในหนทาง ที่สร้างแบบวิถีของชีวิตคนคนหนึ่ง

เพราะบางทีต่อให้ผมรับและผ่านวิกฤตการณ์อย่างหนึ่ง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเข้าใจ เรียนรู้จะไม่ผิดพลาดอีก วัย 40 ก็อาจไร้เดียงสาต่อวัย 50 หากยังมีอะไรต้องห่วง ต้องทำให้ลุล่วง ก็อาจหายใจอยู่ได้ถึงวัย 50 ถึงตอนนั้นก็คงจะยัง ร้อง – ไห้ – ครวญ – สรวล รำพันและเบิกบานไปได้กับลุ่มๆ ดอนๆ ที่เป็นจริง เป็นไป

 

*Sitting in the back seat of my car

With my arms round my guitar

And the rain falls from the roof of the world

Nothing around just the trees and the ground

There’s a bird in a tree singing a song just for me

Just for me

 

Ahh, Da da da

La da da, La da da

La da da, Da da da

Da da, Da da da

 

ผมอยากโอบกอดความสมหวัง แต่การมีชีวิตคือความผิดหวังนั้นมักโอบกอดเรา เสมอ

ต่อเมื่อถ้าผมได้ต่อสู้ พยายามเสมอ ผมก็จะร้องรำกับสิ่งที่ได้รับ แม้น้อยกว่าสิ่งที่วาดหวัง

เช่นนั้นเองที่เราฝึกฝนตนต่อความหวังของเรา ไขว่คว้าและชิงชัยให้ได้มา ยังคงมีความหวังให้มุ่งหน้าไปหา ไม่ทอดทิ้งตนเองต่อความหวัง ไม่ล้มเลิก และไม่รู้สึกว่าไม่คู่ควร

บาดแผลที่มีอาจทำให้เจ็บ ให้ร้องครวญ ให้สบถสาบานรำคาญใจ แต่จงเรียนรู้ไว้ ไม่ใช่เพื่อหวังให้น้อยลง หรือหลาบจำ หลาบจำเป็นเรื่องของมนุษย์ขี้กลัว มนุษย์ขี้ข้า มนุษย์ไม่ได้เป็นหนี้ใครแม้แต่การเกิด หากแต่มีพันธะร่วมที่ต่างปฏิบัติต่อกันอย่างให้เกียรติ ให้สิทธิ์ ให้ความรักความผูกพันต่อกันได้สานถักและงอกงาม ไม่ใช่เพื่อให้ทวงบุญคุณ ให้ภักดี และตอบแทน ไม่ใช่แบบนั้น และจะไม่มีวันได้มาด้วยวิธีการแบบนั้น

 

I’ve been down for oh so long

It seemed like my soul was dead and gone

But it’s alright – I’m back in the fight

I thought my day would never come

Maybe it won’t but I’ll have fun

And I’ll hold tight ’cause that way it might

La da da da da

 

ฉันนั่งอยู่ในสวนสาธารณะ ที่ท่าเรือ ที่คาเฟ่ ที่หน้าห้างสรรพสินค้า ที่ม้านั่งบนสถานีรถไฟฟ้า พร้อมปากกากับสมุดบันทึกในมือ ผู้คนคลาคล่ำหลังเลิกงาน อนาคตของชาติทยอยออกจากโรงเรียนไปเมื่อสองสามชั่วโมงก่อน พ่อแม่ขับรถมารับ มีรถโรงเรียนขับไปส่ง และหลายคนก็เดินทางกลับเอง การจราจรบนท้องถนนเป็นอัมพาต ระบบขนส่งสาธารณะที่เขาผลักต้อนเราเข้ามาให้ช้าเชื่อง ทุกจุดทำให้เราช้าเชื่องและเสียค่าบริการ ผลักเราเข้าไปหย่อนใจในห้าง สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้เรา หลายเรื่องเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่ต้องได้ แต่เขาก็เก็บเงินจากเรา ทวงบุญคุณจากเรา และห้ามไม่ให้เราพูดมากไปว่าโมงยามนี้มีความสุขและรื่นรมย์ดี

ภาพเหล่านี้คือสิ่งที่ผมเห็น และผมจะเขียน วิธีที่พวกเขายังดำรงรักษาสถานะของลำดับชั้น รับอ้างว่าเป็นผู้เสกสร้างความสุข ปฏิเสธและลวงตาให้เชื่อว่าความทุกข์นั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคล ความสุขกระจุกล้นในห้าง ปิดหู ปิดตา ปิดปาก ปิดถนน

ภาพเหล่านี้ที่ผมเห็น ไม่น่ารื่นรมย์หรอก แต่ก็รื่นรมย์ ถ้าคุณคิดว่าคุณเห็น ภาพเหล่านี้เป็นเรื่องราว – เพื่อให้คุณเขียน บอกเล่าออกมา ไม่ว่าจะเล่าเรียบเรื่อย สุภาพหรือใส่อารมณ์ ตะโกนกราดเกรี้ยว หรือคร่ำครวญเปล่าเปลี่ยวเศร้าสร้อย – มันน่ารื่นรมย์ เพื่อคุณ เพื่อเขียน

 

Oh I know I’ll be down again with my old friend

This friendship never ends

The blues is always the same, the blues is always the same

 

อาจเริ่มต้นที่คุณกับเธอเคยพบเจอกันมาก่อน ก่อนที่จะได้พบกันจริงๆ เขียนถึงผู้คนด้วยความรัก แบบเดียวกับที่คุณรักเธอ คุณอาจเริ่มต้นด้วยเรื่องราวที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวกับเธอ ไกลห่างจากเธอ และแทบไม่มีความเป็นไปได้ที่จะได้รักกัน เขียนถึงคุณกับเธอตอนเดินสวนกัน ตอนยังไม่อยู่ในสายตา ตอนยังไม่เอ่ยทักกันคำแรก

แล้วก็มีทางเชื่อม เส้นตัดข้าม และเส้นทางล่องหน ความสัมพันธ์ที่เขาผลักคุณไปเข้าห้าง รื่นรมย์กับรักละมุนและบุญคุณ ประเทศที่เขาจับหน้าคุณให้หันไปทางอื่นได้สำเร็จทุกครั้ง เพื่อให้เขาหยุดประเทศ ขณะที่คุณยังสนุกรื่นรมย์และคิดว่าโลกยังเคลื่อนไหวอยู่ในห้าง ในขณะที่คนนอกห้างมองเข้าไป เห็นคุณยืนนิ่ง สรรเสริญ

 

Well I don’t know just where I am

I’m a nowhere man I’m a Desperate Dan

But I’ll find out – maybe if I shout

Give me your hand I’ll give you my mind

It’s a fair exchange if your deaf, dumb and blind

And we’re sold out well that’s what it’s all about

La da da da da

 


 

*เนื้อร้องจากเพลง Cannock Chase ของศิลปิน Labi Siffre

Cannock Chase คือพื้นที่ทางธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สวยงามของ Staffordshire ประเทศอังกฤษ ซึ่งกลายเป็นภูมิทัศน์บันดาลใจให้ Labi Siffre เขียนเพลงถึงด้วยท่วงทำนองรื่นรมย์ แต่เนื้อหามีความใคร่ครวญลึกซึ้งชวนตีความมากไปกว่าเนื้อความที่ปรากฏ

Labi Siffre เป็นนักดนตรีและกวีผิวสีจากเกาะอังกฤษ เป็นศิลปิน LGBT มีผลงานเพลงนับตั้งแต่ปี 1970 นับได้ว่าเป็นศิลปินรุ่นลายครามที่สร้างผลงานเพลงต้นแบบไว้มากมาย หลายเพลงของเขาถูกนำมาคัฟเวอร์ใหม่ อย่างเพลง Crying Laughing Loving Lying, It Must Be Love รวมถึงนำมาใช้เป็นแซมเปิลโดยศิลปินฮิปฮอปและอิเลคโทรนิก้า อย่างเพลง I Got The… ของเขา ถูกนำไปเล่าใหม่หลายเวอร์ชั่น ทั้งเพลง My Name Is ของ Eminem และศิลปินอื่นๆ อย่าง Jay-Z, Kanye West, Fatboy Slim กระทั่ง Primal Scream

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save