fbpx
เพลงที่เราอยากเริงระบำ

เพลงที่เราอยากเริงระบำ

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

 

หมายเหตุ – คอลัมน์ เมื่อเวลามาถึง ผู้เขียนบันทึกไว้ล่วงหน้าเพื่อให้ลูกสาวอ่านในอนาคต
____________________________

 

หลายโรงเรียนเปิดเทอมแล้ว แต่เด็กไม่ต้องไปโรงเรียน ทั้งครูเล็กครูใหญ่ยังแต่งตัวตามฟอร์มมาตรฐานระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ

อาจจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเรียนการสอนที่คุณครูจำต้องยืนอยู่หน้าชั้นเรียนโดยที่ไม่มีลูกศิษย์สักคนเดียว มีเพียงกล้องวิดีโอเรคคอร์ดเสียงการสอนที่ครูพูดอยู่ฝ่ายเดียว ทำท่าทางโบกไม้โบกมือคนเดียว ไร้เสียงตอบโต้ ไร้เสียงเจี๊ยวจ๋าว งอแงดื้อดึง

โลกเรายังไม่มีวัคซีนหยุดการระบาดไวรัส สถานการณ์ก็บังคับให้เด็กๆ ต้องเรียนออนไลน์ นั่งดูคุณครูจากจอสี่เหลี่ยม

แต่นั่งก็แล้ว ยืนก็แล้ว นอนก็แล้ว ครูยังพูดไม่หยุด ดูๆ ไปสักพักเด็กบางคนหรือหลายคนก็นอนหลับไปเลย หลับไปทั้งๆ ที่ครูก็ไม่รู้ หนูๆ หลายคนจึงไม่ต้องกังวลว่าจะถูกครูตีเพราะหลับระหว่างเรียน

เราแอบคิดว่าบางทีถ้าครูเปลี่ยนจากพูดเป็นร้องเพลง เด็กอาจจะไม่หลับ ซ้ำยังจะร้องเล่นเต้นตามไปด้วยจนครูจะหมดแรงเอาก่อน

แต่เพลงอะไรล่ะ ที่เราจะเริงระบำ…

 

ร่วมสองเดือนที่พวกเราถูกสถานการณ์บังคับให้อยู่บ้าน ทำงานที่บ้าน กินที่บ้าน เรียนที่บ้าน เล่นที่บ้าน แต่นานวันเข้าจากความอบอุ่นเริ่มแปรเปลี่ยนเป็นอึมครึม เราเริ่มเข้าใจคำว่าถูกกักบริเวณมากขึ้น

ใช่, อากาศเรามีเพียงพอ ได้สายลมบ้างประปราย แสงแดดไม่ต้องพูดถึง ยังร้อนแรงเหลือเฟือ

แต่ถ้าออกไปไหนได้ยาก ขยับตัวลำบาก ถนนจากที่เคยวิ่งได้เสรี ถูกจำกัดเส้นทาง ถูกจำกัดเวลา มันก็ชวนอึดอัด

เสรีแปลว่าเสรี เสรีไม่มีเพดาน ไม่มีอะไรกั้นขวาง

คนเราถ้ามันเคยไปไหนก็ได้ เคยค่ำไหนนอนนั่น แต่ต้องถูกบังคับให้ค่ำไหนต้องรีบเข้าบ้าน มันจะพานหายใจหายคอลำบาก

เราอยู่ในยุคสมัยที่ไม่เหมือนในเพลง ‘เสรี เสรี’ ของสมพงค์ ศิวิโรจน์ ที่ว่า “ยิ้มได้ทุกสิ่ง เพลินได้ทุกอย่าง หัวเราะได้ทุกอย่าง ร้องไห้ไม่อายใคร ร้องไห้ไม่อายใคร เดินไปเรื่อยเปื่อย ไม่กำหนดจุดหมาย ที่ไหนก็นอนได้ เสรี เสรี เสรี เสรี”

“ไม่ตามไม่นำทาง ทุกอย่าง ไปตามฝัน  ไม่เเยกไม่แย่งไม่เเข่งกัน ทุกอย่างเสรี เสรี ไม่มีไม่อยากได้ ไม่รอคอย ไม่เคยหวัง  ไม่เอาเปรียบไม่สะสม ไม่มี..ไม่มี  ไม่มี..ไม่มี”

 

YouTube video

 

วันที่ลูกโตขึ้น แล้วย้อนมาอ่านบันทึกนี้ โปรดรู้ว่าในปี 2020 นอกจากคนรุ่นลูกถูกบังคับให้เรียนออนไลน์แล้ว เพลงที่พวกเราฟังก็ล้วนออนไลน์ทั้งสิ้น คอนเสิร์ตตัวเป็นๆ เบียดจริงๆ แหกปากจริงๆ เหงื่อไหลจริงๆ ลืมไปได้เลย

เราได้แต่ตามขุดค้นคอนเสิร์ตแห่งความเพ้อฝันในยูทูบ ไม่ว่าจะเกิดตั้งแต่หลายทศวรรษก่อน หรือจะเพิ่งเกิดไปไม่นาน เพื่อชดเชยอาการพร่องเพ้อฝันจากการกักบริเวณ

ถามว่าชดเชยได้ไหม ก็ไม่ได้หรอก

แต่อย่างน้อยมันยืนยันว่าเรายังเพ้อฝันได้อยู่ และนั่นอาจเป็นไม่กี่อย่างที่ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดในใจผ่อนคลายลง

พ่อเขียนจดหมายออนไลน์ไปหาเพื่อนๆ ที่ต่างก็จำต้องกักบริเวณเช่นกันว่า เมื่อโควิด-19 นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงพร้อมๆ กับความเพ้อฝัน ฉะนั้นเพื่อไม่ให้ความเพ้อฝันถูกทำลายไปพร้อมกับไวรัส จึงขอวาดภาพตัวเองเข้าไปนั่งอยู่ในคอนเสิร์ตแห่งความเพ้อฝัน เพื่อรักษาความเพ้อฝันสืบต่อไป และเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความเพ้อฝัน จึงขอเชิญเพื่อนๆ แนะนำคอนเสิร์ตแห่งความเพ้อฝันกันและกัน โดยไม่ต้องอธิบาย เพียงแค่โพสต์ชื่อวง สถานที่เล่น ปี (ถ้ามี) และ link (ควรมี เพราะจะตามไปดูด้วย)

สำหรับพ่อ คอนเสิร์ตที่อยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการร้องรำทำเพลง ได้แก่ HAGGARD live in Mexico ปี 2001 วงแนวเมโลดิก เดธ เมทัล จากเยอรมัน, PANTERA live in Moscow ปี 1991 วงแนวเฮฟวี่ เมทัล จากอเมริกา, MILES DAVIS เจ้าพ่อแห่งดนตรีแจ๊สที่เล่นเพลง so what ไว้ในปี 1959

หรือจะเป็น, ERIC CLAPTON live unplugged 1992 ที่เป็นอีกหนึ่งสุดยอดของนักดนตรีที่ได้รับการเรียกขานว่า ‘บลู อาย โซล’ และสุดท้ายพ่อไม่ลืมที่จะเพ้อไปถึง, LOSO คอนเสิร์ตเพื่อเพื่อน 2001 ที่เป็นตำนานของร็อกแอนด์โรลเครื่องดนตรีสามชิ้นแห่งยุค 90

ไม่กี่ชั่วโมงที่เขียนชวนไป เพื่อนๆ ก็เขียนตอบกลับมา

อลงกต ใจสงค์ กวีและอาร์ติสต์หนุ่มสาย Post core เป็นคนแรกที่ตอบกลับมาว่า “ขอแช่อยู่ข้างเวทีที่ Moscow ปี 1991 ยาวๆ แล้วกลับมาดู Loso แล้วไป Mexico แล้วเข้าไปในปี 1992 แล้วย้อนกลับไปปี 1959 แล้วขอกลับไปเมาต่อที่ Moscow ปี 1991 นะ”

กฤตพร โทจันทร์ กราฟฟิกดีไซน์สาว แนะนำคอนเสิร์ตที่เธอเพ้อฝันอยากไปชมกลับมาว่า Little Mix LM5: The Tour – LONDON 2019, Girls’ Generation World Tour Girls & Peace in Seoul 2013 ดูได้ที่ Part 1 และ Part 2, The 1975 Full Live Show (Vevo Presents: Live at The O2, London), Kehlani live in NYC Sweet Sexy Savage Tour at the Playstation Theater, Troye Sivan Live on the Honda Stage at the iHeartRadio Theater LA 2016

ส่วนชัชชล หรือ Chutthedoor แรปเปอร์หนุ่มคัดสรรคอนเสิร์ตที่นึกถึงขึ้นมาทันทีที่พ่อถามไป

เขาเริ่มตั้งแต่เจ้าพ่อเพลงบลูส์อย่าง BB.King live at the Regal 1964 ตามด้วย Hendrix at Woodstock 1969 ต่อด้วยพังค์ยุคบุกเบิกอย่าง Black Flag 1984 และคณะ Death live in L.A. 1998 วงที่เริ่มต้นยุคสมัยของเพลงแนวเดธ เมทัล

ชัชชลยังปรับอารมณ์ด้วยโปรเกรสซีฟร็อคเพราะๆ ด้วย David Gilmour 2001 มือกีต้าร์แห่งคณะ Pink Floyd ต่อด้วย Ceremony 2011 และคอนเสิร์ตวงไทยในดวงใจตลอดกาลของเขาอย่าง Death of a salesman

ทิฐศุภร จั่นนิธิกุล นักข่าวหนุ่มเลือกมาให้ชม ได้แก่ Muse live from Wembley Stadium 2007, Incubus Alive at Red Rocks 2004, Blur live at Glastonbury Festival 1998, X-Japan The Last Live 1997 และรวมดาวชาวร็อกไทย ตั้งแต่ Silly Fools, Blackhead, Y Not 7, Fly, Loso ใน Rock on Earth 2001

เช่นเดียวกับนักข่าวหนุ่มอีกคนอย่างกานต์บดี งามจิตร ที่หลงใหลร็อคสตาร์จากเกาะบริเตน เขาไม่ลังเลที่จะเสนอความเพ้อฝันด้วยคอนเสิร์ตอย่าง Oasis live at Manchester city stadium 2005, The Beatles rooftop concert 1969, Led Zeppelin Celebration Day 2007, Queen live at Wembley Stadium 1986 และ The Libertines live at Reading festival 2005

อีกคนที่พ่อเขียนชวนไป และเขาเขียนตอบกลับมาทันทีคือนักเขียนหนุ่ม พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

เขาแนะนำโมเมนต์ประทับใจมาแบบไวๆ ได้แก่ Silly Fools Fat Live V3, 2002, Eagles Live in Bangkok 2011, Dream Theater Breaking the fourth​ wall 2014, Yena คอนเสิร์ต​เปิดอัลบั้ม เยนา 2017 และ Clash Awake concert 2019

 

เพื่อนพ่อแต่ละคนฟังเพลงหลากหลาย เพ้อฝันกันไปคนละแบบ เช่นเดียวกับคนที่มีเสียงเพลงในหัวใจ บังคับกันไม่ได้

ลูกเองก็มีเพลงเป็นของตัวเอง หลายครั้งแม่กับพ่อเผลอได้ยินลูกฮัมเพลงของตัวเอง เราคิดว่ามันน่าจะเป็นทำนองที่ลูกได้ยินมาตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อน และกลายเป็นเสียงที่ติดตัวลูกมาจนถึงปัจจุบัน

พ่อมีเพลงของพ่อ แม่มีเพลงของแม่ ลูกมีเพลงของลูก เราผลัดกันร้องร่ำ เรียนรู้แลกเปลี่ยนถึงเนื้อหากันและกัน

แม้ความเป็นจริง เราจะไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่เสรีนัก แต่เพลงหนึ่งที่เรากลับไม่ได้ยินมานานเป็นเดือนๆ แม้กระทั่งวันเปิดเทอมออนไลน์ของเด็กๆ ก็คือเพลงชาติ

ไม่ได้ยิน ไม่ได้แปลว่าอยากร่ำร้อง ในทางกลับกันเราต่างก็ได้ยินเพลงชาติมาแต่อ้อนแต่ออก แต่ใช่หรือไม่ว่าในวันเวลาแบบนี้ เพลงชาติมันไม่จำเป็น ไม่ฟังก์ชัน ไม่มีใครคิดว่าถ้าเปิดเพลงชาติแล้วสถานการณ์จะดีขึ้น ยิ่งไม่ต้องไปคิดว่าผู้ติดเชื้อจะลดลงถ้าได้ฟังเพลงชาติ

ไม่มีใครอยากฟัง-อยากร้อง จะมีใครกันบ้างที่รู้สึกเป็นสุขทุกครั้งที่ถูกบังคับให้ยืนฟังทุกเช้าเย็นกลางแดดจัด แล้วไวรัสจะสลายไป ลำพังแค่อยู่ให้รอดในห้วงยามที่เศรษฐกิจทวีติดลบลงเรื่อยๆ มันก็ไม่ใช่คำตอบแล้ว

วันเวลาของลูกไม่ได้เติบโตไปพร้อมกับเนื้อร้อง “รวมเลือดเนื้อเป็นชาติเชื้อไทย” อีกต่อไป

แต่จะเป็นเพลงอะไรล่ะ ที่เราต่างอยากร่ำร้อง-เริงระบำร่วมกัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save