fbpx
ลามะลิลาเชิงวิพากษ์ อิสระ ชูศรี

ลามะลิลาเชิงวิพากษ์

อิสระ ชูศรี เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ต่างคนต่างอาจมีความคิดเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับลักษณะและทิศทางการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษา และประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เกือบทั่วประเทศ ซึ่งเกาะกลุ่มกันอย่างหลวมๆ ภายใต้ ‘3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน’

แต่อย่างหนึ่งที่พอจะเห็นใกล้เคียงกัน คงเป็นความหลากหลายในการแสดงออกทางวัฒนธรรมของขบวนการนักเรียน-นักศึกษา-ประชาชน ‘ปลดแอก’ เหล่านี้

การเปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้อาจทำให้เห็นความหลากหลายของการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่กล่าวถึงได้มากขึ้น กล่าวคือในการเคลื่อนไหวของ ‘คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ หรือ  ‘กปปส.’ ที่เคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็งในปี 2557 เราสามารถที่จดจำ ‘นกหวีด’ ‘สี’ ‘ลวดลายธงชาติ’ และ ‘เพลงสู้ไม่ถอย’ ได้ว่าเป็นเครื่องหมายสำคัญในการแสดงออกทางวัฒนธรรมของการเคลื่อนไหวดังกล่าว ในขณะที่การเคลื่อนไหวของพวก ‘ปลดแอก’ ยังไม่มีเครื่องหมายที่ตายตัวในลักษณะนั้น

ลักษณะที่คนสังเกตได้ชัดเจนอีกประการหนึ่งคือการไม่ปรากฏ ‘เพลงเพื่อชีวิต’ สายพันธุ์ ‘คาราวาน’ ‘คาราบาว’ บนบนเวทีปราศรัยที่เกิดขึ้นแทบทุกวัน ทำให้เราเชื่อได้ว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่วงดนตรีต่างๆ พากันงดเว้นนำเพลงเพื่อชีวิตสายพันธุ์ดังกล่าวมาร้องในการชุมนุม

ถึงแม้นักสังเกตการณ์วัฒนธรรมทางการเมืองจะตั้งข้อสังเกตว่าในการเคลื่อนไหวของพวกปลดแอกครั้งนี้ มีการนำเอาเพลงในกระแสวัฒนธรรมสมัยนิยมระดับสากลอย่างเพลง ‘แฮมทาโร่’ และ ‘Do you hear the people sing?’ ซึ่งสะท้อนให้เห็นการเชื่อมโยงอัตลักษณ์ของกลุ่มเยาวชนในการเคลื่อนไหวครั้งนี้กับวัฒนธรรมสมัยนิยมในเอเชียตะวันออกอย่างญี่ปุ่นและฮ่องกง (นักศึกษาและประชาชนฮ่องกงใช้เพลง Do you hear the people sing? เป็นเพลงสัญลักษณ์เพลงหนึ่งของการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย) แต่ทั้งสองเพลงนี้ก็ไม่ใช่เพลงที่สะท้อนอัตลักษณ์ของการเคลื่อนไหวทั้งหมด

ในภาคอีสาน นักศึกษาใช้เพลงหมอลำและเพลงหมอลำประยุกต์อย่างเพลง ‘ทุ่งลุยลาย’ ในการชุมนุมอยู่บ่อยครั้ง มีการทำพิธีกรรมที่คล้ายคลึงกับพิธีกรรมอิงพุทธศาสนาและไสยโดยใช้ภาษาอีสานเป็นภาษาประกอบพิธี เพราะฉะนั้นการพยายามหาคำเรียกกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยคำรวมๆ แบบ “พวกแฮมทาโร่” หรือ “ม็อบฟันน้ำนม” เพื่อสร้างจินตภาพเกี่ยวกับลักษณะทางวัฒนธรรมของขบวนการเคลื่อนไหวนี้จึงไม่ค่อยครอบคลุมเท่าใดนัก เนื่องจากความหลากหลายของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรรมของผู้เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวนี้ปรากฏอยู่อย่างชัดเจน

ดังนั้น เราจึงทำได้แต่เพียงระบุตัวบ่งชี้ทางวัฒนธรรมของการเคลื่อนไหวนี้ออกมาเป็นลักษณะร่วมบางประการ ได้แก่ การใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างเข้มข้นในการจัดตั้ง/นัดหมายเวลาและสถานที่ของการชุมนุมและการซักซ้อมรูปแบบของการชุมนุม การใช้ภาษาที่หลากหลายในระหว่างการชุมนุมและการเผยแพร่เนื้อหาการชุมนุมในเวลาต่อมา ทั้งภาษาท้องถิ่นและภาษาต่างประเทศที่ไม่จำกัดอยู่เฉพาะภาษาอังกฤษและภาษายุโรปเท่านั้น แต่ยังมีภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น และภาษาเกาหลีอีกด้วย สะท้อนให้เห็นลักษณะของประชากรผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่แตกต่างไปจากการเคลื่อนไหว 2-3 ครั้งก่อนหน้านี้

เมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียด ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ การแสดงออกทางวัฒนธรรมที่ผสานอยู่ในการแสดงออกทางการเมืองของพวกปลดแอก ซึ่งมักจะถูกตีตราโดยฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นพวก ‘ชังชาติ’ และขาดความเป็นไทย ฝักใฝ่ความคิดและวัฒนธรรมของต่างชาติ กลับแปรไปตามรายละเอียดของผู้เข้าร่วมในระดับกลุ่มย่อยและฉีกออกไปนิยามที่ถูกยัดเยียดให้

ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มนักเรียนมัธยมดัดแปลง ‘เพลงลามะลิลา’ มาใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงเนื้อหาการชุมนุม และบรรจุถ้อยคำประท้วงเข้าไปในเพลงนั้นด้วย ทั้งๆ ที่เพลงลามะลิลาเป็นเพลงพื้นบ้านภาคกลาง มีสถานะทางวัฒนธรรมค่อนข้างมั่นคงในวัฒนธรรมกระแสหลักของไทย ดังจะเห็นได้จากการที่เพลงนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือช่วยสอนภาษาไทยในโรงเรียนต่างๆ อย่างกว้างขวาง นอกจากนั้นเพลงลามะลิลายังเป็นเพลงเพื่อการสันทนาการและการเชียร์กีฬาอีกด้วย

การนำเพลงลามะลิลาที่นักเรียนทุกคนรู้จักดีมาดัดแปลงเป็นเพลงประท้วง อาจจะอธิบายได้ว่าเป็นเรื่องของการนำสิ่งที่คนคุ้นเคยและเข้าถึงง่ายมาใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงออก แต่ถ้าเราพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะพบว่ามีส่วนประกอบของการคิดเชิงสร้างสรรค์ในฝั่งของนักเคลื่อนไหวรุ่นเยาว์อย่างน่าชื่นชม

ผู้เขียนจะยกลักษณะทางฉันทลักษณ์ของ ‘ลามะลิลา’ มาแสดงให้เห็นว่ามีลักษณะโดยสังเขปอย่างไร จากนั้นก็ยกตัวอย่างเพลงเพื่อการบันเทิงที่นำ ‘กลอนลา’ ของมะลิลามาใช้ เทียบกับการใช้เป็นสื่อการสอนภาษาไทย จากนั้นจะชี้ให้เห็นว่าการใช้ลามะลิลาเพื่อการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง ไม่เพียงหยิบฉวยเอาฉันทลักษณ์แบบง่ายๆ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่ยังใช้โครงสร้างความหมายเชิงขัดแย้งที่แฝงอยู่ในเพลงพื้นบ้านเพลงนี้มาขยายให้กว้างขวางขึ้น

สัมผัสบังคับในเพลงลามะลิลาปรากฏอยู่ในตำแหน่งท้ายบรรทัดเท่านั้น ในขณะที่การสัมผัสระหว่างวรรคช่วยให้เกิดความไพเราะและสละสลวยเป็นธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น เพลงลามะลิลาของมานี มณีวรรณ (2480 – 2552) ในตัวอย่างที่หนึ่ง เพลงบ้องกัญชาของกาเหว่า เสียงทอง (2490 – 2554) ในตัวอย่างที่สอง และบางส่วนของหนังสือพัฒนาภาษาไทยเรื่องมะนาวไปโรงเรียน (นพดล สังข์ทอง, 2556. สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์) ในตัวอย่างที่สาม

 

(1) ลามะลิลา ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน พอแตกใบก่อนเป็นมะลิลา
เรือบินสี่เครื่องยนต์ (ซ้ำ) มาบินวนอยู่บนหลังคา
ลามะลิลา ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน พอแตกใบก่อนเป็นมะลิลา
มะลิมีดอกน้อย ๆ (ซ้ำ) มานีหยดย้อยยอดเยี่ยมมหึมา

(2) ลาเอ๊ยลา (ซ้ำ) ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา
หน้างานสุขสันต์รื่นเริง เถิดเทิงสนุกเฮฮา
ทั้งเหล้าทั้งยาขนมามากมาย
เหล้าโรงของบ้านตาโถ สาโทของพ่อผู้ใหญ่ กับแกล้มตาแย้มแหมปรุงถึงใจ
ลาบวัวคั่วไก่ถึงไหนถึงกัน

(3) ลามะลิลา ขึ้นต้นอะไรก็ได้ แต่คำลงท้าย ต้องสระอา
ลามะลิลา ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน พอแตกใบอ่อน เป็นมะลิลา
ยามเช้าอากาศแจ่มใส มะนาวสุขใจ สดใสเริงร่า
วันนี้นั้นเป็นวันจันทร์ มะนาวตื่นพลัน แปรงฟันล้างหน้า

 

รูปแบบของการสัมผัสในตัวอย่าง (1) ถูกกำกับไว้โดยการซ้ำ “ลามะลิลา ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน พอแตกใบอ่อนเป็นมะลิลา” เป็นคู่กับการขึ้นกลอนใหม่ทุกสองบรรทัด ในขณะที่กลอนในตัวอย่าง (2) ไม่เคร่งครัดเรื่องสัมผัสเท่ากับตัวอย่างแรกเพราะมีความเป็นเพลงลูกทุ่งที่ใช้ทำนองเป็นกรอบการดำเนินคำร้องร่วมด้วย ในขณะที่ตัวอย่าง (3) มีลักษณะเป็นกลอนที่เน้นการสัมผัสที่แน่นกว่า ถ้าไม่ใช้การสัมผัสระหว่างบาทเป็นสระอาทั้งหมดจะเป็นกลอนสุภาพได้เลย

สิ่งที่ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นนอกเหนือไปจากลักษณะทางฉันทลักษณ์ของ ‘ลามะลิลา’ ก็คือการสัมผัสทางความหมายที่ทั้งมีลักษณะขัดแย้งและเชื่อมโยงกัน กล่าวคือในกลอนที่ว่า “ลามะลิลา ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน พอแตกใบอ่อนเป็นมะลิลา” โดยที่มะลิซ้อนจะมีความหมายที่แตกต่างและเชื่อมโยงกับมะลิลาไปพร้อมกัน แถมยังพ้องเสียงบางส่วนอีกด้วย

ความหมายของวรรคนี้คือเมื่อเวลาผ่านไปสิ่งที่เราคิดว่าเป็นอย่างหนึ่งกลับแปรเปลี่ยนเป็นอีกอย่างหนึ่ง คล้ายกับอีกกลอนหนึ่งคือ “ลาเอ๊ยลา (ซ้ำ) ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา” โดยที่ลำไม้ไผ่เป็นวัสดุสำหรับทำเป็นบ้องกัญชา แต่บ้องกัญชาก็ไม่ใช่ไม้ไผ่ (ในเพลงมีการเล่นมุกว่าตำรวจมาจับคนสูบกัญชา แต่คนสูบบอกว่ามันเป็นแค่ลำไม้ไผ่ – คล้ายกับการเล่นมุกว่า “มันไม่ใช่ผงขาว มันเป็นแป้ง”)

การขนานกันของความหมายในลักษณะนี้ช่วยให้เกิดความกลมกลืนกับการสัมผัสทางเสียงได้อย่างน่าสนใจ ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการนำไปใช้เป็นถ้อยคำประท้วงในการชุมนุมของนักเรียน โดยต้นเสียงสามารถชักชวนให้ผู้ชุมนุมร้องซ้ำตามกันได้โดยไม่ยากเกินไป

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าตัวอย่างที่สามที่ใช้ ‘ลามะลิลา’ เป็นสื่อการสอนภาษาไทย ไม่จำเป็นต้องนำเอาการสัมผัสกันทางความหมายมาใช้ประโยชน์ก็ได้ ในขณะที่การใช้ ‘ลามะลิลาเชิงวิพากษ์’ ในการชุมนุมทางการเมืองครั้งนี้ ใช้การสัมผัสทางความหมายเชิงขัดแย้งอย่างชัดเจน เห็นได้จากตัวอย่าง (4) และ (5) (การสัมผัสกันทางความหมายทั้งคล้องจองและขัดแย้งแสดงด้วยตัวหนา)

 

(4) ลามะลิลาขึ้นต้นอะไรก็ได้ แต่ตอนลงท้ายต้องเป็นสระอา (สร้อย)
ลามะลิลาขึ้นต้นเป็นมะลิช้อน พอแตกใบอ่อนเป็นเด็กมีปัญหา
ปัญหาไม่ใช่อะไร ก็แค่เพศต่างไป จะทำไมนักหนา (ซ้ำสร้อย)

นักเรียนมีเพศหลากหลาย แต่ทรงผมมีหญิงชาย นายนางกำหนดมา (ซ้ำสร้อย)
เส้นผมก็อยู่บนหัวเรา แต่ไปหนักหัวเขา ส่วนที่เบาคือปัญญา (ซ้ำสร้อย)
เครื่องแบบกำหนดเพศฉัน ชายหญิงเท่านั้น ไม่ยอมพัฒนา (ซ้ำสร้อย)
พวกเรากลายเป็นโรคจิต เป็นพวกวิปริต เพราะชุดความคิดในตำรา (ซ้ำสร้อย)
คุณครูเหยียดฉันทำไม พ่อแม่ก็ไม่ใช่ เมื่อไหร่จะออกจากกะลา (ซ้ำสร้อย)

(5) ลามะลิลา ขึ้นต้นอะไรก็ได้ แต่ตอนลงท้ายต้องเป็นสระอา
ลามะลิลา ขึ้นต้นก็เป็นทหาร พออยู่นานๆ ดันไปนั่งในสภา
ประเทศไทยล่ะประเทศไทย ถูกเขาครอบไว้ อยู่ในกะลา

ชาตินี้เป็นของใคร โปรดจงรู้ไว้ ว่าของประชา
ชังชาติไม่น่าใช่ แต่ชังมึงนั้นไง ประยุทธ์จันทร์โอซา

คุกคามกันหน้าด้านๆ อีรัฐบาล เราไม่ใช่ขี้ข้า
จงร่างรัฐธรรมนูญ ใหม่ เพื่อประชาธิปไตยอันโสภา
พวกเราไม่เอาเผด็จการ ขอรัฐบาลโปรดจงยุบสภา

 

ถ้าเราสังเกตวิธีการตั้งประเด็นและการคลี่คลายไปของเนื้อหาในตัวอย่างที่ 4-5 จะพบว่าการใช้สัมผัสทางเสียงเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่การใช้ความหมายขัดแย้งในแต่ละวรรคเป็นสิ่งที่ทำให้กลอนมีเอกภาพเนื่องจากการสัมผัสกันของความหมาย เช่น “ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน พอแตกใบอ่อนเป็นเด็กมีปัญหา” เป็นการเล่นกับกระบวนการเติบโตและค้นพบอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของเยาวชน ที่ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่เฉพาะระหว่างคู่ตรงข้ามชาย-หญิงเท่านั้น แต่การมีอัตลักษณ์ทางเพศสภาพนอกเหนือไปจากชาย-หญิง ทำให้เยาวชนบางส่วนถูกตีตราว่าเป็นเด็กมีปัญหา โรคจิต วิปริต

ในท่อน “เส้นผมก็อยู่บนหัวเรา แต่ไปหนักหัวเขา ส่วนที่เบาคือปัญญา” มีการขนานกันระหว่างหัวเรา-หัวเขา และหนักหัว-เบาปัญญา ทำให้เห็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างสิทธิในร่างกายและอำนาจของระบบการศึกษาที่ทับอยู่บนร่างกายของนักเรียนผ่านทรงผมและเครื่องแบบ ประเด็นที่มีความซับซ้อนอย่างสิทธิในและอำนาจเหนือร่างกายถูกนำเสนอออกมาให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ผ่านการเรียบเรียงเป็น ‘ลามะลิลา’

ตัวอย่างที่ (5) ใช้การเปรียบเทียบหน้าที่ที่แตกต่างกันระหว่างการเป็นทหารและการเป็นสมาชิกรัฐสภา ความสัมพันธ์ทางความหมายระหว่างชาติและประชาชน การชังชาติและการชังผู้นำรัฐบาล เป็นต้น การแสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำของการครองอำนาจทางการเมือง (ทหาร-ประชาชนธรรมดา) และการมีส่วนร่วมทางการเมือง (ชนชั้นนำ-ประชาชนธรรมดา) ทำให้นักเรียนสามารถขยายตรรกะออกไปเป็นข้อโต้แย้งในลักษณะเดียวกันได้อีก

ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนนักศึกษาบางคนโต้แย้งฝ่ายที่ตำหนิพวกเขาว่าไม่รู้จักหน้าที่ของตนเอง ซึ่งได้แก่การศึกษาเล่าเรียน โดยกล่าวว่าถ้าเช่นนั้นทหารก็ไม่รู้จักหน้าที่ของตนเองเหมือนกัน เพราะหน้าที่ของหทารคือการป้องกันประเทศ แต่กลับมาทำหน้าที่เป็นสมาชิกรัฐสภาโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง

จากการพิจารณาตัวอย่าง (1) – (5) เห็นได้ว่าถ้ามีการนำเอาโครงสร้างการสัมผัสทางเสียงและการสัมผัสทางความหมาย (ทั้งแบบสอดคล้องและขัดแย้ง) มาใช้ร่วมกันอย่างเป็นระบบ ก็สามารถปรับใช้ ‘ลามะลิลา’ ให้เป็นเครื่องมือของการคิดและการแสดงออกเชิงวิพากษ์และสร้างสรรค์ได้ เป็นการยึดกุมการแสดงออกทางวัฒนธรรมในแนวจารีตมาใช้เพื่อการเปลี่ยนแปลงได้

โดยสรุป ลักษณะสำคัญของ ‘ลามะลิลาเชิงวิพากษ์’ ที่แตกต่างไปจากลามะลิลาเพื่อความบันเทิง มะลิลาสื่อการสอน และลามะลิลากีฬาสี ก็คือการใช้ทั้งฉันทลักษณ์และความสัมพันธ์ทางความหมายเชิงขัดแย้งหรือ ‘ปฏิทรรศน์’ มาเป็นกรอบในการเรียบเรียงถ้อยคำประท้วง

ในแง่กระบวนการคิด เราสามารถใช้ “ลามะลิลา ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน พอแตกใบอ่อนเป็นมะลิลา” หรือ “ลาเอ๊ยลา ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปเป็นบ้องกัญชา” เป็นกรอบเบื้องต้นของการสร้างสรรค์และเรียบเรียงการวิพากษ์ได้ กล่าวคือ พยายามคิดถึงภาวะที่ทำให้ A(ตัวอย่าง: A1 มะลิซ้อน; A2 ลำไม้ไผ่) มีความหมายคล้องจองแบบเปรียบต่างกับ B (ตัวอย่าง: B1 มะลิลา; B2 บ้องกัญชา) โดยที่มีการสัมผัสกันทางเสียงด้วย

ผู้เขียนพยายามนำเอากรอบที่วิเคราะห์ได้จากตัวอย่างในเพลงเก่าและถ้อยคำประท้วงร่วมสมัยของเยาวชนมาแต่งเป็นกลอนเล่น เพื่อลองฝึกคิดตามพวกเด็กๆ เขาบ้าง ถึงแต่งออกมาแล้วไม่ไพเราะเหมือนของพวกเขา แต่ก็พอจะกล้อมแกล้มไปได้อยู่

 

(6) ลามะลิลา ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน พอแตกใบอ่อนเป็นมะลิลา
ใครเอ่ยนักรัฐประหาร (ซ้ำ) พอเป็นนายกฯ นานๆ บอกว่าเลือกตั้งมา
ชอบแต่งเพลงเป็นนิจสิน (ซ้ำ) พอคนได้ยินต้องหัวร่อทุกครา
วางท่าลุงให้นักเรียนรักใคร่ (ซ้ำ) เด็กบอกชิ่วๆ ออกไป คนไม่มีปัญญา
ชอบต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ซ้ำ) ห่วงโควิดเหลือเกิน กลัวคนประท้วงมากกว่า
ชาวบ้านอดอยากปากแห้ง (ซ้ำ) รัฐบาลจ่ายแพงซื้อเรือดำน้ำมา

(7) ลามะลิลา ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน พอแตกใบอ่อนเป็นมะลิลา
มองไกลๆ นึกว่ายาเสพติด (ซ้ำ) พอมองชิดๆ เฮ้ยมันแป้งนี่หว่า

 

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณพวกเด็กๆ ที่เป็นเหมือน “ลามะลิลา ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน พอแตกใบอ่อนเป็นมะลิลา” พวกเธอพากันผลิดอกพราวขาวบริสุทธิ์สว่างไหวและส่งกลิ่นหอมไปทั่วทั้งประเทศ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save