fbpx

โรคร้ายในแดนสนธยา : คุยกับ สมยศ พฤกษาเกษมสุข เมื่อเรือนจำติดเชื้อ

เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดในเรือนจำพุ่งจากหลักพันเป็นหลักหมื่น ยิ่งสร้างความวิตกให้แก่สังคม ด้วยทราบกันดีว่าภายในเรือนจำแต่ละแห่งมีความเป็นอยู่ที่แออัดเบียดเสียดเพียงไร หากมีผู้ติดเชื้อเพียงแค่คนเดียว ย่อมหมายความว่ามีโอกาสที่เชื้อจะแพร่ไปทั่วในเวลารวดเร็ว

ข่าวคราวแรกๆ ที่ทำให้สังคมหันมาสนใจพื้นที่คุกคือ ข่าวการติดเชื้อของผู้ต้องหาคดีการเมืองที่ถูกคุมขังโดยไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว โดยเฉพาะ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มราษฎรที่พบว่าตัวเองติดเชื้อหลังออกมาจากเรือนจำ และแพร่เชื้อต่อให้คนในครอบครัว

ตัวเลขก้าวกระโดดของผู้ติดเชื้อในเรือนจำมาจากการตรวจเชิงรุกในเรือนจำแต่ละแห่ง ทำให้พบว่ามีผู้ติดเชื้ออยู่แล้วจำนวนมาก นำไปสู่การตั้งคำถามถึงมาตรการป้องกันโรค ทรัพยากรที่ไม่เพียงพอต่อการรับมือโรคระบาดรวมถึงการจัดการผู้ป่วยโควิดที่น่าจะมีอยู่แล้วก่อนการตรวจเชิงรุก

101 จึงชวน สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมการเมือง พูดคุยถึงปัญหาโรคระบาดในเรือนจำ ในฐานะที่เขาเพิ่งก้าวออกจากเรือนจำในช่วงเดือนที่ผ่านมา จากการถูกคุมขังในคดี ม.112 เมื่อโควิดเข้ามารื้อปัญหาที่ถูกซุกซ่อนไว้ภายใต้การจัดการอันคลุมเครือของราชทัณฑ์ ทำให้ชวนพิจารณาถึงการดูแลคุณภาพชีวิตของนักโทษ อันคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่เขาควรได้รับในฐานะมนุษย์

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื้อรังของราชทัณฑ์ที่ยังทำไม่สำเร็จ ไม่ว่าจะปัญหาความแออัด การดูแลสุขอนามัย ทรัพยากรที่ไม่เพียงพอ รวมถึงความโปร่งใสในการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ภายในเรือนจำ และต้องย้อนมองไปถึงทั้งระบบยุติธรรมที่ทำให้คนจำนวนมากต้องเข้าไปอยู่ในคุกโดยไม่จำเป็น

ตอนที่ออกจากเรือนจำ สถานการณ์โรคระบาดในเรือนจำเป็นอย่างไร

ผมอยู่ในเรือนจำระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ – 23 เมษายน พวกเราเป็นนักโทษการเมืองที่ต้องอยู่แบบกักกันโรค เนื่องจากเราออกศาลบ่อย ออกไปครั้งหนึ่งก็ต้องกลับมากักกัน จึงต้องกักกันหลายรอบ มีโอกาสเข้าไปอยู่ในแดนปกติร่วมกับนักโทษคนอื่นประมาณหนึ่งอาทิตย์ ระหว่างที่ถูกคุมขังอยู่เราไม่มีข้อมูลข่าวสารใดๆ เกี่ยวกับโควิดเลย รู้แค่ว่าออกไปแล้วจะต้องถูกกักกัน 14 วัน หลังกักกันครบแล้วจะถูกจำแนกไปยังที่อื่นๆ

ทางกรมราชทัณฑ์ปกปิดความรู้และข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโควิดในเรือนจำ เราไม่รับรู้เลยว่าสถานการณ์โควิดข้างนอกเป็นอย่างไร มีผู้ติดเชื้อเท่าไหร่ มีการพัฒนาของสายพันธุ์อย่างไร อาการของโควิดที่เราควรระวังมีอะไรบ้าง หรือโควิดเข้ามาถึงเรือนจำเมื่อไหร่

จนผมถูกปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 23 เมษายน เรารับรู้กรณีแรกที่ติดโควิดคือ ชูเกียรติ แสงวงค์ (จัสติน) ผู้ต้องขังในคดี ม.112 หนึ่งในกลุ่มราษฎรที่ถูกคุมขัง เราจึงเริ่มสงสัยว่าชูเกียรติติดมาจากไหน เพราะเราอยู่ด้วยกันและอยู่ในห้องกักกันโรค เป็นที่มาให้เราเริ่มสงสัยว่าจะมีการปกปิดข้อมูลเรื่องโควิดในเรือนจำ

ตอนที่เห็นข่าวว่าเรือนจำมีคนติดเชื้อมากกว่าหนึ่งหมื่นคน นึกถึงเรื่องอะไรบ้าง

บรรดาผู้ปกครองที่รับผิดชอบต่อการแก้ปัญหาโควิดกำลังปกปิดข้อมูลที่เป็นจริงเกี่ยวกับโควิดทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่หรือคลัสเตอร์ หมายความว่าน่าจะมีหลายคลัสเตอร์ที่ไม่ยอมเปิดเผยว่ามีผู้ติดโควิดมากเพียงใด เช่น กองทัพ ห้างสรรพสินค้า เราเห็นแต่ตัวเลขกลมๆ ที่หมอทวีศิลป์มานำเสนอรายวัน แต่เราไม่รู้ว่ามันอยู่ในกลุ่มไหน กลุ่มไหนรุนแรง และคลัสเตอร์ไหนน่าระวังมากที่สุด

ไม่มีการพูดถึงเรื่องเรือนจำติดโควิดมานานมาก จนมีนักโทษการเมืองติดโควิด เช่น รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ที่ออกจากเรือนจำมาแล้วไม่รู้ว่าตัวเองติดโควิดมาจากเรือนจำ และทำให้สมาชิกในครอบครัวทั้งพี่สาวและพ่อแม่ติดไปด้วย

เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะการปกปิดข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเสียหายคือตัวเลขพุ่งจากหลักพันเป็นหลักหมื่น ผมคิดว่ามีมากกว่านี้และมีหลายที่ที่ยังไม่เปิดเผย รวมถึงไม่ได้มีการเปิดเผยรายละเอียดว่าในตัวเลขเหล่านั้น เช่น เจ้าหน้าที่นำเชื้อไปแพร่ให้สมาชิกในครอบครัวกี่คน ในจำนวนผู้ติดเชื้อป่วยระดับเขียว เหลือง แดงกี่คน อาการสาหัสกี่คน และมีปัญหาอะไรบ้างที่เกิดขึ้นในเรือนจำ

เรื่องนี้ไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลให้รับรู้ จนมีการเรียกร้อง ในช่วงแรกกรมราชทัณฑ์จึงออกมายอมรับว่าตอนนี้มีคนติดเชื้อที่ทัณฑสถานหญิงกลางและเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ คนที่เคยเข้าไปอยู่ข้างในคุกจะรู้สภาพว่าทัณฑสถานหญิงกลางอยู่ทางซ้ายสุด เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อยู่ขวาสุด และตรงกลางมีทัณฑสถานบำบัดพิเศษกับเรือนจำกลางคลองเปรมแล้วจะรอดได้อย่างไร รวมถึงโรงพยาบาลราชทัณฑ์ที่อยู่ในพื้นที่เรือนจำกลางคลองเปรมก็ไม่มีรายงาน จนเราถามไปจึงตอบว่าค้นพบคนติดเชื้อที่เรือนจำกลางคลองเปรมแล้วหนึ่งแดนคือ 500 คน ส่วนที่ยังตรวจสอบไม่แล้วเสร็จมีอีกเท่าไหร่ ถ้าให้ประมาณอาจมีมากถึงห้าเท่า จากลักษณะการอยู่อย่างหนาแน่น อึดอัดเบียดเสียดกัน

ตอนอยู่ในเรือนจำทราบข้อมูลอะไรบ้างและทางเรือนจำมีมาตรการในการป้องกันโรคอย่างไร

ความรู้เรื่องโควิดไม่มีเลย รู้แค่ว่าต้องกักกันตัวเอง 14 วันในห้องขัง เป็นห้องขังที่ถูกปิดพลาสติก ซึ่งระดับรัฐมนตรีและคนภายนอกอาจไม่รับรู้ความจริง หากฟังรายงานจากกรมราชทัณฑ์อย่างเดียวจะแก้ปัญหาไม่ถึงที่สุด เช่น รัฐมนตรีไม่รับทราบหรอกว่า คนที่ติดเชื้อโควิดและถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำเค็ญเพียงใด เขาไม่ได้นอนเตียงสนามแบบที่เราเห็นในสถานที่รักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อโควิดทั่วไป เขานอนในห้องขังด้วยผ้าห่มเพียงผืนเดียว ในห้องหนึ่งก็เบียดเสียดกันเหมือนเดิม เพียงแต่อาจจำแนกตามลำดับอาการเป็นกลุ่มสีเขียว เหลือง แดง แต่ทั้งหมดถูกกักในห้องขัง

พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นได้เลย เช่น ผู้ป่วยหญิงที่เป็นโควิดเขาขาดแคลนผ้าอนามัย หรือที่กักกันโรคแดนสองของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไฟจะดับทุกวัน วันละ 3-4 ชั่วโมง แล้วคนที่อยู่ในห้องกักกันโรคถูกปิดด้วยพลาสติก มีมาตรการที่เรียกว่า บับเบิลแอนด์ซีล (bubble & seal) ผู้ถูกกักกันไม่ได้ออกจากห้อง 14 วัน เขาจะอยู่แบบใด ในห้องมีแค่พัดลมสองตัวแล้วถ้าไฟดับจะร้อนขนาดไหน ในพื้นที่ประมาณ 40 ตร.ม. เป็นห้องน้ำ 3-4 ตร.ม. ห้องน้ำก็ใช้ร่วมกันทั้งขับถ่าย เทเศษอาหาร อาบน้ำ แปรงฟัน สำหรับคน 30-40 คนต่อหนึ่งห้องกักกันโรค รายละเอียดเหล่านี้ทำให้การควบคุมหรือการดูแลรักษาพยาบาลคนติดเชื้อโควิดไม่ได้มาตรฐานหรือต่ำกว่าการรักษาโควิดคนภายนอก

ฟังดูแล้วมาตรการป้องกันหลักที่ใช้กับผู้ต้องขังคือให้คนที่เข้ามาใหม่หรือคนที่ออกไปภายนอกต้องกักกันโรค 14 วัน?

ตอนนี้เขาขยายให้ต้องกักกัน 21 วัน คนที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ได้รับรู้ความจริงในรายละเอียดทั้งหมดว่าความเป็นอยู่มันแร้นแค้นอนาถาเพียงใดภายใต้สถานการณ์โควิดที่เข้าไปถึงเรือนจำ

ตัวอย่างหนึ่งเรื่องการเยี่ยมญาติปัจจุบันเราสามารถทำได้ด้วยวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ถ้าเรือนจำหรือกรมราชทัณฑ์มีโอกาสสัมผัสปัญหาที่แท้จริงจะเข้าใจวิธีการแก้ปัญหามากขึ้น เช่น ญาติไม่รู้เลยว่าสมาชิกในครอบครัวที่ถูกคุมขังในเรือนจำติดโควิดหรือยัง นักโทษก็ไม่รู้ว่าชีวิตสมาชิกในครอบครัวที่อยู่ภายนอกเป็นอย่างไร ระหว่างนี้ นอกเหนือจากการต้องป้องกันโควิดหรือดูแลรักษาคนติดเชื้อโควิดแล้ว เขาอาจจะเจ็บป่วยทางกายภาพและเจ็บป่วยทางจิตใจต่อไปด้วย จะซ้ำเติมสถานการณ์โควิดให้รุนแรงยิ่งขึ้น

อยากเสนอไปยังกระทรวงยุติธรรมโดยรัฐมนตรีให้รับทราบว่า ควรส่งบุคลากรทางการแพทย์เข้าไปแทนผู้คุม เพราะทุกวันนี้เราใช้ผู้คุมดูแลนักโทษรวมถึงกักกันโควิด ปริมาณผู้คุมไม่พอแน่ และผู้คุมเหล่านี้ต้องใช้ชีวิตภายนอกเรือนจำแล้วกลับเข้าไปในเรือนจำเพื่อปฏิบัติหน้าที่ด้วย ถ้าผู้ต้องขังหรือเจ้าหน้าที่ติดเชื้อโควิด อันเกิดจากความบกพร่องของกรมราชทัณฑ์เช่นนี้ รัฐจะเยียวยาชดเชยความบกพร่องของตัวเองอย่างไร

สิ่งเหล่านี้ไม่มีเลยที่รัฐมนตรีจะรับทราบหรือพูดถึง ตอนนี้เราฟังรายงานแล้วเหมือนจะสุดยอด เจ๋งมากเลย มาตรการบับเบิลแอนด์ซีล แต่เขาไม่เห็นภาพความเป็นอยู่จริงหรอก เพราะราชทัณฑ์บริหารคุกแบบมืดมน บริหารเรือนจำแบบแดนสนธยา คืออยู่ในความมืด ไม่ได้อยู่ในความโปร่งใสให้คนตรวจสอบได้ ปัญหาก็เลยแก้ยากหน่อย

แล้วอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ มีเพียงพอหรือไม่ ผมคิดว่าไม่พอ ตอนที่ผมอยู่ เครื่องวัดความดันเก่ามากและไม่เที่ยงตรง ไม่มีเครื่องชั่งน้ำหนัก ขาดแคลนเครื่องวัดอุณหภูมิ หรือกระทั่งบุคลากรในเรือนจำที่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำในตอนนี้ จะมีเงินพิเศษหรือสวัสดิการเยียวยาพวกเขาอย่างไร รายละเอียดพวกนี้มีส่วนเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับการแก้ปัญหาโควิดในเรือนจำ

การอยู่ในเรือนจำจะสามารถป้องกันตัวเองจากโรคได้แค่ไหน เช่น การรักษาระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ใช้เจลแอลกอฮอล์

ทำไม่ได้ เพราะว่าตอนนี้ใน 143 เรือนจำทั่วประเทศ มีนักโทษ 3.1 แสนคน เนื้อที่รองรับนักโทษได้ 1.5 แสนคน เมื่อเรามีนักโทษจำนวนมากขนาดนี้ มาตรการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลในเรือนจำจึงเป็นไปไม่ได้ด้วยสภาพความแออัด

เรือนจำได้รับงบประมาณในการดูแลโควิดทั่วประเทศแค่เจ็ดแสนกว่าบาท เฉลี่ยเรือนจำละห้าพันบาท ได้ต่ำขนาดนั้นเพราะที่ผ่านมามีการปกปิดว่าสามารถคุมโควิดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะใช้งบประมาณ ซึ่งงบเท่านี้ไม่พอแน่ในสถานการณ์ปัจจุบัน

สิ่งอำนวยความสะดวกในเรือนจำก็ไม่มี เรือนจำไม่แจกหน้ากากอนามัย นักโทษต้องหาเอาเอง แต่คนส่วนใหญ่จะมีหน้ากากที่ได้มาตั้งแต่ก่อนเข้าเรือนจำ แล้วต้องคอยซักหรือซื้อใหม่เอง เจลแอลกอฮอล์ก็มีเฉพาะจุดของเจ้าหน้าที่เรือนจำ แต่ไม่มีในส่วนที่นักโทษสามารถใช้ได้ ชุดพีพีอีก็มีไม่เพียงพอที่จะให้นักโทษที่ต้องทำหน้าที่บริการนักโทษที่ถูกกักกัน ปัจจุบันเขาไม่ได้ใช้พยาบาลหรือบุคลาการจากภายนอก แต่ใช้นักโทษด้วยกันดูแล จึงมีโอกาสที่คนเหล่านี้จะติดโควิดเพราะไม่มีอุปกรณ์ป้องกันอย่างเพียงพอหรือไม่ได้มาตรฐาน นี่เป็นรายละเอียดที่คิดว่ายังขาดแคลนอยู่

เวลาพูดกันว่าเรือนจำแออัดนี่สภาพจริงที่เจอคือขนาดไหน

เอาง่ายๆ ว่านอนแบบไหล่ติดกัน แต่ในสถานที่กักกันอาจจะโอเคขึ้น ตอนนี้จำนวนผู้ต้องขังลดลง ศาลพยายามไม่ส่งคนไปในคุกเพิ่มมากจนเกินไป โดยเฉลี่ยอาจไม่รุนแรงเท่าเดิม แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการที่ต้องนอนในห้องเดียวกัน 20-30 คนได้ ซึ่งจริงๆ แล้วห้องเนื้อที่ประมาณ 30-40 ตร.ม. ควรอยู่ไม่เกินสิบคน ทำอย่างไรที่ทางเรือนจำ กรมราชทัณฑ์ หรือกระทรวงยุติธรรมจะหาทางระบายพวกเขาออกมาให้เร็วที่สุดด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การพักการลงโทษ หรือการออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษ เพื่อให้เขาออกมาได้โดยเร็วที่สุด สิ่งเหล่านี้ควรรีบทำ เพื่อระบายความหนาแน่นแออัดออกไปให้มากที่สุด อย่างน้อยต้องระบายออกไปหนึ่งแสนคนทั่วประเทศ 

ในเรือนจำมีคนเปราะบาง ผู้พิการ และผู้ป่วยจิตเวชเยอะ ส่วนนี้ราชทัณฑ์สามารถปล่อยไปได้เลย บางคนโดนคดีวิ่งราวแต่เขาขาขาด ออกไปก็วิ่งราวไม่ได้อีกแล้ว ก็อาจปล่อยโดยใช้กำไลอีเอ็มติดตามตัวว่าห้ามออกนอกพื้นที่เกินรัศมี 5 กม.จากที่อยู่อาศัย ซึ่งปัจจุบันนี้สามารถทำได้ เพียงแต่ราชทัณฑ์จะลงทุนในสิ่งที่ควรทำมากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง

เวลามีคนบอกว่า “คนที่อยู่ในเรือนจำเป็นคนทำผิด ไม่สมควรได้รับการดูแลดีเหมือนคนข้างนอก” จะโต้แย้งอย่างไร

คนที่เขาทำผิดก็ควรรับผิด แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องมารับโควิดไปด้วย เวลามีคำสั่งพิพากษา เขาก็ไม่ได้พิพากษาให้ไปรับโทษโควิด โควิดที่เกิดขึ้นตามปกติก็ไม่เป็นไร แต่นี่เกิดขึ้นจากความบกพร่องของราชการในการควบคุม ตรงนี้ต่างหากที่เป็นปัญหา เขาควบคุมได้แต่ไม่ควบคุม หรือควบคุมไม่ได้แต่กลับปกปิดข่าวสารไว้

หากคุณแก้ปัญหาอาชญากรรมด้วยการลงโทษแบบนี้จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ผู้กระทำความผิดเหล่านี้เป็นผลผลิตของสังคมปัจจุบัน เป็นปัญหาของพวกเรา เพราะความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคม คนรวยก็รวยล้นฟ้า คนจนก็ไม่มีโอกาสขาดแคลนยากไร้ คนเหล่านี้ไม่มีอาชีพ ว่างงาน อดอยากก็ต้องไปปล้นชิงวิ่งราว ขโมย ก่ออาชญากรรม ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นผลผลิตของสังคมนี้ที่มีความรุนแรงมาตลอด เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างแล้วไประบายเป็นความรุนแรงเชิงบุคคล ทั้งหลายทั้งปวงนี้ทำให้เกิดผู้กระทำความผิด

ดังนั้น ถ้าคุณจะให้คนเหล่านี้เปลี่ยนแปลง สังคมภายนอกก็ต้องดีด้วย ต้องสามารถรองรับคนเหล่านี้ให้กลับไปเป็นคนดีในสังคมได้ ต้องมีโอกาสทำงาน มีโอกาสอยู่ในสังคมโดยไม่ถูกเอาเปรียบหรือถูกกดขี่ ต้องมีรัฐสวัสดิการที่เพียงพอ มีการประกันการว่างงาน การประกันการเจ็บป่วย การคลอดบุตร ไปจนถึงแก่ชรา ทุกวันนี้คนแก่ได้แค่เดือนละ 600 บาท เขาไม่พอกินหรอก ก็ต้องดิ้นรนทำทุกทางเพื่อแก้ปัญหาความหิวโหย จนมีการลักเล็กขโมยน้อยเกิดขึ้น นี่เป็นปัญหาของสังคม

ขณะเดียวกัน ถ้าคิดว่าเรือนจำเป็นสถานที่ลงโทษ แล้วให้ผู้กระทำผิดมีความเป็นอยู่ที่ไม่ดี คุณก็จะได้คนผิดออกไปอีก เพราะการอยู่ในเรือนจำเหมือนกระบวนการหล่อหลอม ถ้าเรือนจำมีสิ่งแวดล้อมที่แย่และเลวร้าย คุณจะได้คนที่แย่และเลวร้ายออกไปนอกเรือนจำ คุณต้องยอมรับว่า แม้ว่าเขากระทำความผิด เขาเป็นผู้ต้องขัง แต่เขาก็ยังเป็นมนุษย์อยู่ดี เขาไม่ได้สูญเสียความเป็นมนุษย์ เขายังมีบัตรประชาชนที่แสดงความเป็นพลเมืองของประเทศนี้อยู่ เพียงแต่พวกเขาถูกจำกัดเสรีภาพและถูกควบคุมในที่คุมขังเท่านั้นเอง ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องให้เขากินอยู่แบบหมูหมากาไก่แบบที่หลายคนอยากเห็น ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาอาชญากรรมหรือความรุนแรงใดเลย

เราควรทำให้เรือนจำเป็นสถานที่ที่อบรมบ่มเพาะและให้โอกาสคนกลับไปต่อสู้ใช้ชีวิตในสังคม เป็นพลเมืองดีได้ โดยจำเป็นต้องมีสังคมที่ดี เรื่องเหล่านี้ไม่ได้แก้ปัญหาได้ด้วยการพูดเรื่องศีลธรรมแบบที่ทำกันอยู่ เช่นนั้นแล้วเราจะไม่ได้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคม ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ช่องว่างระหว่างคนจนคนรวย การเอารัดเอาเปรียบ การคดโกง

เราต้องยอมรับว่า ถึงแม้เขาเป็นผู้ต้องขังก็แค่ถูกจำกัดพื้นที่ แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องไม่สามารถเข้าถึงการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีได้ เขาสูญเสียอิสรภาพแต่อย่าให้สูญเสียความเป็นคนไปด้วย

มีความกังวลอย่างไรบ้างสำหรับผู้ต้องหาคดีการเมืองที่ยังอยู่ในเรือนจำและตอนนี้หลายคนติดโควิดแล้ว

พวกเขาควรได้สิทธิการประกันตัวเพื่อออกมาต่อสู้คดีได้ พวกเขาไม่ได้เป็นอาชญากรผู้กระทำความผิด เพียงแต่เขามีความคิดอ่านที่แตกต่างจากผู้ปกครองหรืออำนาจรัฐ และพวกเขาปรารถนาจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าขึ้น อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่นำมาสู่เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ที่เรียกกันว่า ‘ม็อบสามกีบ’ มันมีความหมายที่เขาปรารถนาอย่างนี้ เขาไม่ควรต้องไปใช้ชีวิตเป็นนักโทษในเรือนจำขณะนี้

สิ่งหนึ่งที่ผมยอมรับนับถือคือ แม้เขาถูกจองจำสูญเสียอิสรภาพ เขาก็ยังประโยชน์ให้กับคนในเรือนจำ โดยเฉพาะคุณอานนท์ นำภาที่เป็นทนายความ มีนักโทษที่ถูกจับกุมดำเนินคดีโดยไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการปรึกษาทนายความหรือสิทธิในการต่อสู้คดีได้ เขาเจออานนท์ที่เป็นทนายในคุก เขาจึงมาปรึกษา และอานนท์ก็ให้ความช่วยเหลือ ทุกคนที่เป็นนักโทษการเมืองยอมทุกข์ทรมาน ไม่ว่าการอดข้าวในเรือนจำหรือไปอยู่ในภาวะความเสี่ยงจนติดโควิด เขายังเป็นผู้ที่ป่าวประกาศให้สังคมรับรู้ว่าโควิดระบาดเข้ามาในเรือนจำจนเป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่แล้ว เพื่อให้มีการแก้ปัญหาที่ดียิ่งขึ้น

พวกเขาไม่สมควรถูกจองจำคุมขัง เพราะเขายังไม่ถูกตัดสินว่าผิด เพียงเพราะพวกเขาเห็นต่าง มีสำนึกความเป็นพลเมืองที่แตกต่างจากพลเมืองทั่วไป เขารักประเทศนี้ เขาอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่เขาต้องได้รับความทุกข์ทรมานและเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตแบบนี้ ถามว่ากระบวนการยุติธรรมทั้งหลายทั้งปวงจะรับผิดชอบต่อคนเหล่านี้อย่างไร ถ้าเขาเจ็บปวด ปอดหายไป ปล่อยออกมาแล้วไม่แข็งแรงเหมือนเดิม หรือขณะนี้มีบางคนมีความเสี่ยงถึงชีวิตอย่างเฮียซ้ง (ศักดิ์ชัย ตั้งจิตสดุดี) ใครจะชดเชยเยียวยาความไม่แน่นอนในกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้พวกเขาเสี่ยงอันตรายชีวิตขนาดนั้น

อยากให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพของพวกเขาและปล่อยพวกเขาออกมาโดยไม่อ้างเงื่อนไข เช่น ยังวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ไม่ได้ให้ขังเขาต่อไป หรือบอกว่าป่วยโควิดเบิกตัวมาศาลไม่ได้ ผมคิดว่ามีวิธีแก้ปัญหาทางเทคนิคที่ง่ายมาก ถ้าเราไม่มีเจตจำนงในทางเลวร้ายต่อพวกเขา เช่น เขาอาจจะเขียนคำร้องด้วยตนเองส่งให้ศาล โดยไม่ต้องไต่สวนคนรับรองว่าสิ่งที่เขาพูดหรือเขียนคำร้องถึงศาลหรือหน่วยงานต่างๆ นั้นเป็นไปด้วยความจริง เราสามารถแก้ปัญหาทางเทคนิคได้ เพื่อปล่อยเขามาอย่างรวดเร็ว จะได้ลดความแออัดในเรือนจำและสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่อยู่ในสถานพยาบาลที่เป็นคุกแล้วญาติไม่สามารถเข้าถึงได้เลย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Interviews

3 Sep 2018

ปรากฏการณ์จีนบุกไทย – ไชน่าทาวน์ใหม่ในกรุงเทพฯ

คุยกับ ดร.ชาดา เตรียมวิทยา ว่าด้วยปรากฏการณ์ ‘จีนใหม่บุกไทย’ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการท่องเที่ยว แต่คือการเข้ามาลงหลักปักฐานระยะยาว พร้อมหาลู่ทางในการลงทุนด้านต่างๆ จากทรัพยากรของไทย

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

3 Sep 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save