fbpx
สมศรี อังสุวัฒนะ: ชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง บุตรี ภรรยา และมารดา

สมศรี อังสุวัฒนะ: ชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง บุตรี ภรรยา และมารดา

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมงานประชุมเพลิง นางสมศรี อังสุวัฒนะ ที่เมรุวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร ได้รับหนังสือ สมศิริยาลัย เป็นอนุสรณ์เนื่องในงานดังกล่าว อ่านแล้วมีหลายเรื่องที่น่าสนใจ จึงขอนำมาเขียนเล่าสู่กันฟัง เพราะนอกจากเธอจะเป็นผู้มีอายุยืนถึง 100 ปี 8 เดือน กับ 7 วันแล้ว เธอยังเป็นบุตรีของเจ้าพระยาคนสุดท้ายของประเทศไทย เป็นภรรยาของสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน และเป็นแม่ของลูกๆ อีก 3 คน

 

นางสมศรี อังสุวัฒนะ (4 กันยายน 2461 – 11 พฤษภาคม 2562)

 

กำเนิดและครอบครัว

 

สมศรี ณ สงขลา เกิดเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2461 เป็นบุตรีคนที่ 4 จาก 11 คนของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) กับท่านผู้หญิงน้อม พหลโยธิน ที่บ้านจิตตสุข

ถ้านับจากพระยาสุวรรณคีรีสมบัติ (เหยี่ยง แซ่เฮา) ต้นตระกูล ณ สงขลา ผู้ว่าราชการเมืองสงขลาคนที่ 1 มาแล้ว สมศรีนับว่าเป็นรุ่นที่ 8 ดังไล่สาแหรกย้อนกลับไปได้ว่า สมศรีเป็นลูกเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร) ซึ่งเป็นลูกของพระอนันตสมบัติ (เอม) ที่เป็นลูกพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร) ซึ่งเป็นลูกพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) ลูกชายของพระยาวิเศษภักดีศรีสุรสงคราม (เถี้ยนจัง) ผู้เป็นบุตรของพระอนันตสมบัติ (บุญเฮี้ยว) ที่เป็นลูกของพระยาสุวรรณคีรีสมบัติ

ข้างคุณย่าของเธอชื่อ เชื้อ เป็นบุตรหลวงอุปการโกศากร (เวท วัชราภัย) กับท่านปั้น ซึ่งเป็นที่มาของชื่อถนนปั้นและตรอกเวท ย่านสีลม

 

เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศกับลูกหลาน งานทำบุญบ้านจิตตสุข

 

เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศกับลูกหลาน งานทำบุญบ้านจิตตสุข

 

ส่วนท่านผู้หญิงน้อม แม่ของสมศรี เป็นลูกสาวของพระยาพหลโยธินรามินทรภักดี (นพ พหลโยธิน) บุตรพระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม) และเป็นพี่ชายต่างมารดาของพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์) หัวหน้าคณะราษฎร

พี่เลี้ยงของสมศรีตั้งแต่เล็ก ชื่อยายคำ เป็นเมียคนหนึ่งของพระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม) ซึ่งได้มาเมื่อคราวที่เขาตามเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีไปปราบฮ่อที่ลาว

นอกจากนี้พี่น้องของพระยาพหลฯ (นพ) หลายคน ก็ได้อาศัยอยู่ในบริเวณบ้านจิตตสุขด้วย เช่น จมื่นสุรฤทธิ์พฤฒิไกร (ฝั่ง) ผู้ที่ชักชวนพระยาพหลฯ (พจน์) ให้เข้าร่วมก่อการฯ  และ น.ส.ไปล่ พหลโยธิน ที่มีหน้าที่เลี้ยงหลานๆ เป็นต้น

 

ยายคำ พี่เลี้ยงของสมศรี

 

พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์) แต่เมื่อเรียนหนังสือในเยอรมนี ส่งรูปพร้อมข้อความมาให้พระยาพหลโยธินรามินทรภักดี (นพ) ความว่า “กราบท้าวเจ้าคุณกับคุณพี่ล้วนไว้เป็นที่ระลึก…รูปนี้ถ่ายเมื่อเป็นนักเรียนนายร้อย เวลาจวนจะออกไปสำรองราชการ”

 

การศึกษา

 

สมศรีเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนผดุงดรุณี ที่อยู่ใกล้บ้าน จากนั้นจึงย้ายมาโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ในช่วงเวลาเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (แต่เมื่อเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช) เข้าเรียนที่นี่ สมศรีและเพื่อนๆ จะวิ่งมาเฝ้าในช่วงพักรับประทานอาหารอยู่เสมอ

ต่อมาจึงมาเรียนที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ เพราะต้องการเรียนภาษาฝรั่งเศสมากขึ้น และพี่ๆ เพื่อนๆ จากโรงเรียนเซนต์โยเซฟของเธอ ก็สนิทสนมรักใคร่กลมเกลียวกันมาก จนค่อยๆ ตายจากกันไป เช่น ท่านผู้หญิงเชื้อชื่น บุนนาค, ท่านผู้หญิงแฉล้ม กุญชร, ม.ล.ต่อ ชุมสาย, คุณหญิงกนิษฐา วิเชียรเจริญ, สุเนตรา คงศิริ ฯลฯ

สมศรีเรียนหนังสือเก่ง สอบภาษาฝรั่งเศสได้เป็นที่ 1 ของประเทศ จนได้รับรางวัลจากรัฐบาลฝรั่งเศสผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ในวันมอบรางวัล เสนาบดีได้สนทนากับสมศรีเป็นภาษาฝรั่งเศสด้วย ซึ่งทรงพอพระทัยมากที่สมศรีพูดได้อย่างคล่องแคล่ว กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัยจึงอดที่จะถามไม่ได้ว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใคร เมื่อทราบว่าเป็นธิดาของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ก็ทรงเปรยว่า ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น

เดิมเธอต้องการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าไม่เหมาะสมสำหรับผู้หญิง ด้วยเห็นว่าการดูแลครอบครัวสำคัญกว่า เรียนเพียง Finishing School ก็เพียงพอ

 

สมศรีในวัยสาว

 

การสมรส

 

สมศรีสมรสกับนายเผดิม (ชื่อเดิม บุญจือ) อังสุวัฒนะ ด้วยการแนะนำของพิพรรธน์ ไกรฤกษ์ เพื่อนสนิทของเผดิมระหว่างที่เรียนในอังกฤษ ซึ่งพิพรรธน์ได้แต่งงานกับจำนงค์ พี่สาวของสมศรีก่อนแล้ว โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นเถ้าแก่ของฝ่ายชายมาสู่ขอเธอจากเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ

เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศมิได้คัดค้านการแต่งงาน แต่ถามลูกสาวของเขาว่า “ตัดสินใจดีแล้วหรือ” แล้วกล่าวต่อไปว่า “ลูกไม่ต้องกลัว พ่อเลี้ยงลูกทุกคนได้เสมอ” ส่วนสมศรีมาเล่าให้ลูกฟังภายหลังว่า รักชีวิตที่เป็นอิสระ ไม่ต้องการเป็นนกในกรงทองของบิดา

เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศยกเรือนไม้สัก 2 ชั้นหลังหนึ่งในบริเวณบ้านจิตตสุขให้เป็นเรือนหอของทั้งคู่ ซึ่งสมศรีได้อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้จนถึงช่วงท้ายของชีวิต

 

บัตรสมาชิกวุฒิสภาของเผดิม อังสุวัฒนะ

 

วันเปิดประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2490 (หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์, ท่านผู้หญิงน้อม, เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ, เผดิม)

 

ชีวิตคู่

 

สำหรับเผดิม เขาเป็นชาวปากน้ำ จบจากโรงเรียนสวนกุหลาบแล้ว ไปเรียนวิชาเหมืองแร่จากประเทศอังกฤษ เมื่อสำเร็จการศึกษาได้กลับมารับราชการในกรมโลหกิจ และเป็นอาจารย์พิเศษที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทแร่และยางไทย จำกัด ดูแลทรัพยากรของชาติในช่วงสงคราม

ในทางการเมือง 24 มิถุนายน 2475 เผดิมเป็นสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน เป็นผู้หนึ่งที่ไปวังบางขุนพรหมในเช้าวันนั้น และเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาเมื่อ พ.ศ. 2490

หลังจากออกจากแวดวงการเมืองแล้ว เขาทำงานที่บริษัท Gerson&Sons ที่ถนนสีลม โดยไม่เคยปริปากเล่าเรื่องชีวิตทางการเมืองให้ลูกๆ ฟังเลย

สมศรีกับเผดิม มีบุตรธิดารวม 3 คน คือ ผุสดี (ตุ๊กตา) ศิโรช (ตุ๊ดตู่) และนพพงศ์ (ตั๊กแตน)

ลูกสาวคนเดียวของเธอเล่าว่า สมศรีเป็นเผด็จการเหมือนกัน เพราะเผดิมรักสมศรีมาก ตามใจเธอทุกอย่าง แม้ตอนที่ป่วยเป็นมะเร็งหลอดลม ก่อนจะเสียชีวิต ก็ยังสั่งลูกไว้ว่า ให้ตามใจแม่ อย่าขัดใจแม่ ให้ทุกทำอย่างให้แม่สบายใจ และมีความสุข

 

ครอบครัวของสมศรี บ้านถนนประมวญ

 

ครอบครัวของสมศรี บ้านถนนประมวญ

 

วิถีของชีวิต

 

เธอชอบเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อนกับเพื่อนฝูงและญาติมิตรทั้งในและต่างประเทศ จนลูกชายคนสุดท้องถึงกับเปรียบว่า “หากจะถามว่าคุณแม่ไปเที่ยวครบทุกจังหวัดในประเทศหรือรอบโลกหรือยัง คงไม่ถูกต้องนัก เพราะควรจะต้องถามว่าไปเที่ยวแต่ละจังหวัดและรอบโลกมากี่ครั้งแล้วจึงจะถูก” แม้จนบั้นปลายชีวิตแล้ว ก็ยังเดินทางอยู่เสมอ ตอน 91 ไปฮ่องกง ตอน 99 ก็ยังเดินทางไปไหว้พระตามที่ต่างๆ ได้

เธอสนใจการเมืองมากพอสมควร ติดตามข่าวสารอยู่เสมอ ไปเลือกตั้งมิได้ขาด และเชียร์พรรคประชาธิปัตย์ที่บิดาของเธอเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมาด้วย

นอกจากละครกรมศิลปากร และภาพยนตร์แล้ว สมศรียังชอบดูกีฬาหลายอย่าง ดูฟุตบอลเชียร์ลิเวอร์พูล  ดูเทนนิสเชียร์โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ และราฟาเอล นาดาล เป็นต้น

สมศรีมีความจำดี แม้จะอายุถึง 100 แล้วก็ตาม ซึ่งบางครั้งยังดีกว่าลูกๆ ของเธอที่มีหลงลืมไปบ้างด้วยซ้ำ

 

สมศรีในวัย 99 ปี

 

สมศรีในวัย 99 ปี

 

การงานในชีวิต

 

กิจการงานนอกบ้านของเธอคือการช่วยงานสังคมสงเคราะห์ และการเป็นกรรมการสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์อยู่หลายสมัย

งานหลักของสมศรีคือเป็นแม่บ้าน ดูแลทุกข์สุขของสามีและลูก ไม่ว่าจะเป็นการตัดเย็บเสื้อผ้า การทำอาหาร ฯลฯ  ลูกชายคนกลางของเธอเล่าว่า แม้แม่ไม่ชอบทำอาหารมากนัก แต่ก็ทำได้อร่อย ซึ่งส่วนมากเป็นอาหารฝรั่ง เช่น ผัดมักกะโรนี ซุปหัวหอม มันก้อนบดคลุกปลาหรือไก่ เป็นต้น

แม้ลูกทั้งสามจะเกษียณอายุจากหน้าที่การงานกันแล้ว แต่ “แม่ยังเห็นว่าเราเป็นเด็กน้อยในสายตาของแม่เสมอ จำได้ทุกอย่างว่าลูกคนไหนทานอะไร ชอบทำอะไร เวลาเราไม่อยู่ พอกลับมาถึงบ้าน แม่จะเตรียมอาหารอร่อย ของโปรดแต่ละคนมาให้เรากินเสมอ

คงไม่เกินไปนักถ้าจะใช้สำนวนของศรีบูรพา มาสรุปงานของเธอว่า จริงซี ในชีวิตของแม่ ไม่เห็นมีอะไร  และในชีวิตของโคลัมบัสก็ไม่เห็นมีอะไร นอกจากไปพบทวีปอเมริกา ในชีวิตของปาสเตอร์ก็ไม่มีอะไร นอกจากช่วยให้คนไม่เป็นบ้าเมื่อถูกหมาบ้ากัด ในชีวิตของเจมส์ วัตต์ก็ไม่เห็นมีอะไร นอกจากค้นพบกำลังไอน้ำได้ ในชีวิตของบิสมาร์กก็ไม่เห็นมีอะไร นอกจากรวบรวมอาณาจักรของเยอรมันนีให้เป็นอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกัน ในชีวิตของเจ้าคุณพหลฯ และคณะของท่านก็ไม่เห็นมีอะไร นอกจากทำให้ประเทศสยามได้มีรัฐธรรมนูญขึ้น

“จริงซี ความรักของแม่ก็ไม่เห็นมีอะไร นอกจากท่านจะรักเราไปจนกว่าท่านจะตาย”

ผุสดี, เผดิม, นพพงศ์, สมศรี, ศิโรช

 

บรรณานุกรม

ศิโรช อังสุวัฒนะ (บรรณาธิการ). สมศิริยาลัย. หนังสือที่ระลึกในงานประชุมเพลิง คุณแม่สมศรี อังสุวัฒนะ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 30 มิถุนายน 2562.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save