fbpx
สบตากับ COVID-19 : เรียนรู้วิกฤตเพื่อสร้างกลไกการออกแบบนโยบาย กับ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์

สบตากับ COVID-19 : เรียนรู้วิกฤตเพื่อสร้างกลไกการออกแบบนโยบาย กับ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์

ปกป้อง จันวิทย์ สัมภาษณ์

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรียบเรียง

 

 

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มาชวนคิดเรื่องนโยบายรับมือ COVID-19 ในแง่มุมต่างๆ ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง ในรายการ 101 One-on-One ตอนที่ 109 “นโยบายรับมือ COVID-19: พลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้อย่างไร”

ตั้งแต่การเชื่อมประสานนโยบายเศรษฐกิจเข้ากับนโยบายควบคุมโรค จนถึงการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในฐานะทางออก

นอกจากนั้น วิกฤต COVID-19 สะท้อนให้เราเห็นปัญหาอะไรบ้างของระบบสาธารณสุขไทย และเราจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขไทยได้อย่างไร

 

เศรษฐกิจ VS สาธารณสุข

จุดสมดุลของนโยบายสาธารณะ

 

ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีคนพูดถึงโอกาสที่จะเกิดโรคระบาดทั่วโลก เหมือนสมัย Spanish Flu (ไข้หวัดใหญ่สเปน) ซึ่งตอนนี้ก็ถือว่าใกล้เคียงกันมากคือเกิดโควิด-19 ทั่วโลก ผมก็เคยจินตนาการว่า รอบนี้น่าจะสบายเพราะระบบสาธารณสุขกับเทคโนโลยีก้าวหน้ากว่าสมัยปี 1918 เยอะ แต่พอมาเจอของจริงก็เห็นชัดเลยว่าไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด

จริงๆ ที่คิดว่าเทคโนโลยีเราดี ก็ไม่ผิดหรอก แต่เรามีไม่พอ รอบนี้เป้าหมายหนึ่งของการควบคุมการแพร่ระบาด คือทำให้เชื้อแพร่ช้าๆ เพราะตอนนี้สิ่งที่กลัวที่สุดคือระบบบริการรับไม่ไหว เราเก่งก็จริง มีเทคโนโลยีก็จริง แต่ถ้าเจอคนไข้เข้ามาทีละเยอะๆ ก็ลำบาก เพราะฉะนั้นที่เคยจินตนาการว่าจะสบาย เชื้อก็แพร่ไป เราก็รักษาไป ก็ไม่จริง

นอกจากนี้ยังเกิดผลอย่างหนึ่งที่ชัดเจน คือการชะลอการแพร่เชื้อ เพราะมาตรการชะลอต้องอาศัยการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็มีแรงกดดันกลับมาว่าเมื่อไหร่จะเลิกชะลอ แล้วถ้าเลิกชะลอ แต่เชื้อยังแพร่อยู่ ก็มีกลุ่มคนที่ยังติดเชื้อได้ ความยากจะอยู่ตรงนี้

บทเรียนใหม่ๆ ที่ผมได้เรียนรู้ในวิกฤตครั้งนี้คือเรื่องนโยบายสาธารณะ เมื่อก่อนถ้าเทียบความสำคัญระหว่างเรื่องสุขภาพกับเศรษฐกิจ คนจะโต้ว่าเศรษฐกิจสำคัญกว่า สาธารณสุขเราเจอเรื่องนี้มาเป็นระยะอยู่แล้ว สมัยที่มีการควบคุมการบริโภคยาสูบ แล้วอเมริกาให้เราเปิดตลาด ก็มีการบอกว่าถ้าเราไม่เปิดเขาก็จะตัด GSP เรา (Generalized System of Preference หรือระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร) เศรษฐกิจจะกระทบ เพราะฉะนั้นยอมเปิดตลาดเถอะ เรื่องเศรษฐกิจกับเรื่องสาธารณสุขจึงมีความขัดแย้งทางนโยบายมาโดยตลอด แล้วสาธารณสุขก็มักจะได้รับความสำคัญน้อยกว่า แต่รอบนี้ชัดเจนว่าภายใต้มาตรการทางสาธารณสุขที่ป้องกันไม่ให้คนติดเชื้อ ไม่ให้มีคนตาย สำคัญมาก จนทุกคนเห็นตรงกันว่าเรื่องเศรษฐกิจมาทีหลัง เป็นเรื่องน่าสนใจมาก

ประเด็นที่น่าสนใจต่อมาก็คือ รัฐใช้กลไกอะไรในการตัดสินเชิงนโยบาย เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องเลือกมาตรการทางเศรษฐกิจและทางสาธารณสุข การตัดสินใจเรื่องนี้ใช้พื้นฐานอะไร ใช้คนแบบไหน ใช้ข้อมูลแบบไหน ไม่นับว่าต้องหาจุดสมดุลให้เจอนะ แต่ให้ทั้งสองส่วนไปด้วยกันได้ดีที่สุด เรามีวิธีการมั้ย เรื่องนี้ท้าทายชัดเจนมากเลย

จุดลงตัวคือการที่สองฝ่ายมาคุยกันว่าจะเอาแค่ไหน ผมยกตัวอย่างแบบสุดโต่งนะ สมมติเราหยุดแบบนี้ไปพักหนึ่ง แล้วฝั่งเศรษฐกิจคิดว่าไม่ไหวแล้วละ อยากจะเปิด ไม่อย่างนั้นเศรษฐกิจต้องพังแน่ๆ คำถามก็คือ มีทางมั้ยที่จะเปิดโดยการควบคุมโรคยังอยู่ในระดับที่เป็นไปได้ ซึ่งขณะนี้ไม่มีใครมีความรู้หรอกครับว่าเปิดแค่ไหนที่จะทำให้การควบคุมโรคเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องตามดูด้วยกันทั้งสองฝ่าย ตัดสินใจร่วมกัน และรับผิดชอบ เป็นมิติใหม่ของการทำงานนโยบายสาธารณะ

ชัดเจนว่าคนที่สำคัญมากคือชาวบ้าน เพราะมาตรการจำนวนไม่น้อยต้องการความรู้จากชาวบ้าน ถ้าชาวบ้านไม่มีความเชื่อมั่นในมาตรการ หรือความจริงจังและจริงใจของภาครัฐ ก็คงยากที่จะทำให้มาตรการประสบผลสำเร็จได้ ไม่ว่านักเศรษฐศาสตร์กับนักสาธารณสุขจะพูดอย่างไรก็แล้วแต่

ขณะนี้มาตรการเศรษฐกิจจำนวนไม่น้อยเป็นมาตรการบรรเทาความเดือดร้อน เช่น ให้อยู่บ้าน คนก็จะไม่มีรายได้ ในทางกลับกัน พอปิดสถานบริการ เขาก็เลย์ออฟพนักงาน คนก็ต้องดิ้นรนหาทางเลือก คนที่ไม่มีงานทำหรือไม่มีรายได้ รัฐบาลก็แจกเงินเพื่อทำให้เขามีรายได้ แต่ในทางปฏิบัติ หมายถึงการสร้างแรงจูงใจให้เขาอยู่บ้านด้วยนะครับ ไม่ใช่ให้เขามีรายได้แล้วไปทำกิจกรรมอื่นๆ แต่ประเด็นนี้ เราไม่ค่อยได้พูดกันเท่าไหร่

คนได้ตังค์ก็คิดว่าตัวเองได้ตังค์เพราะรัฐบาลช่วยเหลือที่ตัวเองเดือดร้อน ถ้าขอความช่วยเหลือให้อยู่บ้าน ก็ไม่ได้คิดว่าคือเรื่องเดียวดัน ความจริงการคิดมาตรการให้เพียงพอที่จะทำให้เกิดแรงจูงใจในการอยู่บ้าน ก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่ง

ในบางกรณี การอยู่บ้าน ก็อยู่ไม่ได้ง่ายๆ เพราะบ้านเขาเล็กนิดเดียว อยู่กันเยอะแยะ ทำอย่างไรดี มีทางที่จะช่วยอย่างอื่นไหม นอกจากเรื่องการแจกเงิน เพราะฉะนั้นสองอย่างนี้ก็ต้องไปด้วยกัน คือมาตรการทางเศรษฐกิจและมาตรการทางสาธารณสุข ถ้าคิดไปด้วยกันก็จะทำให้ทั้งหมดเสริมกันไปมากขึ้น มากกว่าต่างคนต่างคิด

 

กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

กุญแจปลดล็อคปัญหา

 

ถ้าเราดูสมัยเกิดสึนามิ หรือเวลาเกิดภัยพิบัติต่างๆ ชัดเจนว่าท้องถิ่นที่เข้มแข็งจะเป็นตัวรับหน้าก่อน ส่วนการบัญชาการกลางจะไวขนาดไหน ก็ไม่มีทางลงตัวได้ง่ายๆ

มาครั้งนี้ก็เห็นอีกประเด็นที่ชัดเจนว่า อย่างไรส่วนกลางก็ไม่มีทางสั่งโดยละเอียดทุกอย่าง ข้างล่างก็ต้องมีความสามารถในการตีความและออกมาตรการที่ดี ซึ่งอันนี้ยากกว่าเยอะ เพราะรายละเอียดจำนวนไม่น้อยมีความซับซ้อน อะไรควบคุมโรคได้ อะไรควบคุมโรคไม่ได้ ทำแบบไหนจะสร้างแรงจูงใจในการควบคุมโรค ทำอย่างไรมาตรการทางเศรษฐกิจจะไปเสริมมาตรการทางสาธารณสุขได้ ก็ต้องคุยกันเรื่องพื้นที่

วิกฤตรอบนี้มีคนพูดกันเยอะมากว่าในประเทศไทย ถ้าเราใช้มาตรการ social distancing แล้วไปรอให้ปัจเจกเห็นชอบเห็นงาม แล้วทำกันทีละคน อาจจะไม่ดีเท่ากับการไปดูกลุ่มคน เช่น ครอบครัว ชุมชน หรือท้องถิ่นก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ถ้าท้องถิ่นเข้มแข็ง ตีความมาตรการที่ลงมาได้ แล้วช่วยทำให้เกิดวิธีปฏิบัติที่ได้ผล ก็จะมีความสำคัญมาก

ผมคิดว่าเรื่องนี้มีอยู่ 3 ประเด็น

ประเด็นที่หนึ่ง คือความยากของการตีความและการออกมาตรการที่เหมาะสมลงตัว ตอนที่ส่วนกลางแถลงข่าว เขาก็พูดชัดเจนว่าคงสั่งการโดยละเอียดไม่ได้ และก็ไม่ควรจะสั่งการโดยละเอียดด้วย ข้างล่างต้องช่วยกันหามาตรการที่เหมาะสม ชาวบ้านก็ต้องรับได้ด้วยนะ ซึ่งความสามารถในพื้นที่อาจจะยังมีไม่เท่ากันทุกพื้นที่

ประเด็นที่สอง ถึงมีมาตรการลงมา แต่เอาเข้าจริง เขาก็ต้องการหน่วยงานที่ย่อยกว่านั้น เช่น ท้องถิ่น ตำบล ชุมชน หมู่บ้าน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน

ประเด็นที่สาม การตามดูและการช่วยสร้างศักยภาพเสริมการทำงาน ส่วนกลางกับส่วนพื้นที่ต้องมีความสัมพันธ์ที่กลับไปกลับมา ไม่ใช่สั่งไปแล้วบอกให้ตีความเอาให้เหมาะสมนะ ถ้าอะไรที่ยังไม่เหมาะสม ส่วนกลางก็อาจจะต้องช่วย แล้วก็สร้างความรู้ความสามารถ จะต้องฟีดแบ็ก จัดระบบสนับสนุนด้วย เช่นเดียวกัน จังหวัดก็ต้องไปดูอำเภอ ดูตำบล ดูหมู่บ้าน ผมคิดว่าการทำงานแบบเป็นพวกเดียวกันและช่วยกันจะเป็นวิธีทำงานที่ได้ผลมาก ไม่ใช่สั่งกันเป็นทอดๆ ให้ไปตีความต่อเอง ตัดขาดจากกัน

ผมขอยกตัวอย่างการทำงานในท้องถิ่นสัก 2 ตัวอย่าง มีชุมชนที่ตำบลโนนคูณ จ.ศรีสะเกษ เขาพยายามรวมกลุ่มกันสร้างมาตรการและเครื่องมือ ทำให้ตัวเองปลอดภัยจากการที่จะต้องออกไปข้างนอก พยายามให้มีการอยู่ในหมู่บ้านเยอะๆ จะได้ไม่ต้องไปสัมผัสข้างนอก พึ่งพาตัวเอง ทำอาหารได้ แล้วรวมตัวการสร้างเครื่องมือป้องกัน เช่น น้ำยาฆ่าเชื้อ หน้ากาก นี่เป็นตัวอย่างที่มีการออกมาตรการในชุมชน ให้ปัจเจกทำได้ตามใจชอบ โดยมีชุมชนเข้ามาช่วยเสริมความเข้มแข็ง

หรือมาตรการของโรงพยาบาลอำเภอที่ไปติดตามผู้ติดเชื้อ และผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้ออย่างจริงจัง ทีนี้คำว่า ‘อย่างจริงจัง’ ก็จะมีความหมายเยอะมากในทางทฤษฎี ‘จริงจัง’ แปลว่าต้องไปตามตรวจดูว่าเขาติดเชื้อรึเปล่า ไม่ใช่รู้แค่ว่าเขาเป็นผู้สัมผัส แล้วไปบอกให้เขาดูแลตัวเอง ความจริงมาตรการนี้ก็ใช้กันอยู่ในประเทศเราเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าจะให้ดีกว่านั้นต้องตรวจการติดเชื้อด้วย ถ้าไม่ตรวจการติดเชื้อ ก็ยังมั่นใจไม่ได้

มากกว่านั้นก็คือ เขาต้องคิดหามาตรการที่จะทำให้ใครก็ตามที่เป็นกลุ่มเสี่ยงอยู่แยกจากคนอื่นให้ได้ ไม่ปล่อยให้ไปอยู่ในบ้าน ถ้าพูดภาษาง่ายๆ คือเขาก็ต้องตัดสินใจว่าเมื่อไหร่จะให้ไปอยู่ที่อื่น เช่น มีไข้ปุ๊บ จะมีเชื้อหรือไม่มีเชื้อก็ต้องเอามาแยกอยู่แล้ว

การแยกอยู่ก็มีปัญหาอีกว่าจะไปแยกอยู่ที่ไหน โรงพยาบาลก็รักษาคนไข้ทั่วไป จะไปเคลียร์โรงพยาบาลทันทีทันใดก็คงจะไม่ได้ บางแห่งก็ต้องไปหาพื้นที่ ต้องไปเจรจาหาโรงเรียนบ้าง บางจังหวัดก็ไปหาสนามกีฬา หรือไปหาค่ายทหาร ซึ่งพวกนี้ก็ต้องมาช่วยกัน เพราะไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง

พอทุกอำเภอทำแบบนี้ จังหวัดก็ต้องขยับตัว ต้องมีการคุยกันในระดับอำเภอกับจังหวัด ถ้าอำเภอทำไปแล้วพยายามจะช่วยตัวเองตลอดเวลา โดยที่ไม่มาบอกจังหวัดว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้ หรือบอกแล้วจังหวัดก็ไม่สามารถช่วยได้ หรือปฏิเสธที่จะช่วย มองว่าเป็นหน้าที่ของคุณที่จะต้องหาทางเอาเอง ก็ทำให้เกิดความขัดแย้งด้วยการไม่มีส่วนร่วมเท่าที่ควร

ผมยกตัวอย่างโรงพยาบาลจังหวัดบางแห่ง บอกว่าถ้าคนไข้ยังไม่ใส่ท่อห้ามส่งมาโรงพยาบาลจังหวัดนะ แล้วโรงพยาบาลอำเภอก็กลุ้มใจมาก ตอนใส่ท่อหรือดูแลก่อนส่งไปก็จะปวดหัวกังวลมาก ถ้าไม่ได้คุยกันก็จะลำบาก ถ้าคุยกันก็ง่ายขึ้น การมีกลไกที่จะทำให้ฝ่ายอำเภอ ฝ่ายจังหวัด ฝ่ายชุมชน ฝ่ายสาธารณสุข คุยกันนั้นสำคัญมาก ซึ่งเราเห็นแล้วในบางพื้นที่

 

การปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขในยุคหลัง COVID-19

 

มีความพยายามที่จะออกแบบการดูแลคนไข้แบบใหม่มานานแล้ว แต่พอมีโควิดมา หลายอย่างก็ถูกกระตุ้นขึ้นมาทันทีเลย ผมยกตัวอย่าง 2 เรื่องก็แล้วกัน

หนึ่ง เรื่องระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลของคนไข้ ถามว่าเรามีวิธีให้เขานอนโรงพยาบาลน้อยวันลงได้ไหม หรือให้ไปอยู่ที่อื่นได้ไหม พูดง่ายๆ คือ กลับไปอยู่บ้าน ไปอยู่ที่โรงพยาบาลอำเภอบ้าง หรือจัดให้เป็นระบบไป-กลับได้ไหม เรื่องพวกนี้พูดกันมานานแล้ว แล้วพอคุยกันว่าจะมีคนไข้โควิดมานะ ดังนั้นต้องลดคนไข้ธรรมดาลง เราก็ต้องนั่งคิดแล้วว่าจะลดคนประเภทไหน แล้วก็ต้องถามต่อไปว่า พอให้เขาออกจากโรงพยาบาลแล้วต้องมีบริการแบบไหนต่อ ไม่ให้เขากลายเป็นคนที่ถูกทอดทิ้ง หรือรู้สึกว่าถูกไล่ออกจากโรงพยาบาลก่อนเวลาอันควร วิกฤตนี้ก็เป็นตัวกระตุ้นให้เห็นความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนวิธีดูแลคนไข้

สอง เรื่องการนัดผู้ป่วยนอกมาโรงพยาบาล เมื่อก่อนเรานัดคนไข้มาเรื่อยๆ รับยาบ้าง มาตรวจบ้าง ระยะเวลาที่มาก็แล้วแต่ประเภทโรคและความรุนแรง แต่ตอนนี้ถ้านัดมาแบบเดิม แผนกผู้ป่วยนอกก็จะแน่น เราก็ไม่อยากให้แน่นเพราะไม่อยากให้เป็นที่แพร่เชื้อ ตอนนี้ก็มี 2 ทางเลือก หนึ่งคือไม่ให้มาเลย และสองคือคัดแยกว่าคนไหนจำเป็นหรือไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล ถ้าไม่จำเป็นก็ต้องใช้วิธีการแบบใหม่ ซึ่งคนเหล่านี้ก็ควรจะได้รับการบริการแบบใหม่มานานแล้ว ไม่ต้องมาถี่เท่าที่ควร ส่งยาไปที่บ้าน หรือให้เขารับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้าน เป็นต้น ก็พยายามทำกันอยู่

ฝ่ายผู้ให้บริการก็ต้องมาคิดแล้วว่าจะมีวิธีจัดการแบบใหม่อย่างไร จะใช้เทคโนโลยีช่วยมั้ย จะใช้ระบบการส่งต่อมั้ย จะใช้การไปนอนโรงพยาบาลอำเภอใกล้บ้านมั้ย จะให้ไปรับยาที่ รพ.สต. ถึงเวลาแล้วก็สามารถปรึกษาข้างบนได้นะ ไม่ใช่ว่ารับแล้วก็รับไปเรื่อยๆ มีเวลาก็รอให้มาหาหมอโรงพยาบาลใหญ่ ซึ่งก็ต้องรอเรื่อยๆ จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ผมคิดว่าโอกาสพวกนี้ทำให้เราออกแบบวิธีการดูแลคนไข้แบบใหม่ได้

แต่เรื่องที่ผมคิดว่าสำคัญมากประเด็นหนึ่งก็คือ คนจำนวนไม่น้อยไม่ได้คิดแบบนั้น คนกำลังคิดว่า ตอนนี้เขาถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยนวิธีทำงาน พอโลกสงบลงแล้วก็จะกลับไปทำงานวิธีแบบเดิมอีก ทีนี้โควิดชี้ความจำเป็นให้เริ่มระบบการดูแลคนไข้แบบใหม่ ซึ่งคุณภาพจะไม่ต่างจากเดิม แต่ใช้ทรัพยากรน้อยกว่า สร้างความยุ่งยากน้อยกว่า ก็น่าจะเป็นโอกาสที่ดีนะครับ ถ้าเขาเห็นปัญหาที่ควรจะถูกแก้มาตั้งนานแล้ว แต่ไม่ได้ถูกแก้ การที่มีภาวะวิกฤตโควิดทำให้เราคิดถึงเรื่องวิธีการดูแลคนไข้นอก คนไข้ใน แตกต่างกันไปด้วย

 

ทำความรู้จักปัญหา และออกแบบนโยบายจากการเรียนรู้ใหม่

 

ผมแบ่งประเด็นนโยบายเป็น 3 ส่วน

ส่วนที่หนึ่ง ว่าด้วยเรื่องกลไก วิกฤตครั้งนี้ชี้ให้เราเห็นความเป็นที่จะต้องตัดสินใจเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาที่ใหม่มาก ปัญหาที่เราไม่เคยเจอมาก่อน สิ่งสำคัญคือกลไกเรียนรู้และรับรู้ ถ้าเราเทียบกับภาวะสงคราม ซึ่งคงจะไม่ต่างกันเท่าไหร่ ตอนทำสงครามต้องตัดสินใจเร็วนะ แต่ก็มีความไม่รู้เยอะมาก ดังนั้นต้องหาความรู้เยอะๆ เวลาจะสู้กัน บางทีก็มีฝ่ายใต้ดินส่งข้อมูลให้ ไม่ใช่มีแค่ทหารที่เป็นคนหาข้อมูลให้อย่างเดียว รอบนี้ก็คล้ายกัน สังคมก็มีข้อมูล มีความเห็น ข้อเสนอแนะ ถ้าเรามีกลไกที่สามารถ ‘รับรู้’ และ ‘จัดการ’ ก็คือทั้ง ‘perceive’ และ ‘process’ แล้วนำมาสู่การตัดสินใจ ก็จะดีขึ้น

ส่วนที่สอง เป็นประเด็นเฉพาะที่ขยายความประเด็นแรก วิธีการมองการแก้ปัญหาคราวนี้ซับซ้อนและมองได้หลายมุม ยกตัวอย่างที่ช่วงแรกอังกฤษประกาศว่าจะไม่ควบคุมการระบาด จะปล่อยให้โรคระบาดไปเลย คนจะได้มีภูมิต้านทาน แต่จริงๆ เขาไม่ได้ทำอย่างนั้นทั้งหมด แนวคิดก็คือการที่โรคแพร่ระบาดไปทำให้เกิดคนมีภูมิต้านทานเพิ่มขึ้นแน่ ก็จะเป็นตัวช่วยให้โรคไม่ระบาดซ้ำเร็ว แต่ขณะนี้เราไม่รู้ว่าที่เราพยายามไม่ให้โรคแพร่เร็ว ภูมิต้านทานในชุมชนมีเท่าไหร่ มีคนเสนอว่า สิ่งที่ต้องรีบทำตอนนี้คือการหาข้อมูลเพื่อจะรู้ว่าขณะนี้มีคนที่มีภูมิต้านทานเท่าไหร่ หรือมีคนที่มีความเสี่ยงสูงเท่าไหร่ เผื่อจะต้องมีมาตรการ social distancing หรือชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะได้โฟกัสถูกกลุ่ม นี่เป็นตัวอย่างของวิธีคิดแบบใหม่ เราไม่ได้ทำอยู่ฝั่งเดียว คือกดโรคไปเรื่อยๆ พอทนไม่ได้ก็เปิด เปิดแล้วก็ระบาด แล้วก็กดใหม่อีกรอบ คงไม่ได้เป็นเรื่องง่ายๆ แบบนั้น ต้องมีกลไกการสร้างความรู้และการคิดแบบใหม่

ส่วนที่สาม คือเรื่องการสื่อสาร ภาวะโรคระบาดก็เหมือนตลาดหุ้น ไข้มันจะแย่ ก็ต้องเตรียมการสื่อสารให้ดี ซึ่งเรายังทำได้ไม่ดีนะ ก็ต้องพูดตรงไปตรงมา แน่นอน การทำให้ทุกคนรู้ข้อมูลอย่างโปร่งใสสำคัญมาก เกาหลีใต้เป็นตัวอย่างที่ถูกพูดถึงเยอะที่สุด ใครติดเชื้อตรงไหน ชาวบ้านก็รู้หมด ไม่ได้เพื่อจะไปประณามคนที่ติดเชื้อนะ แต่คนจะได้รู้ในการหลีกเลี่ยงพื้นที่ติดเชื้อ หรือไม่ไปอยู่ใกล้ผู้ติดเชื้อ เขาใช้เทคโนโลยีช่วยเยอะ ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาอยู่ ซึ่งตอนนี้อาจจะลดไปบ้างแล้วคือ ความไม่เชื่อเนื่องมาจากความไม่รู้ หรือความรู้ไม่พอนำมาสู่ความไม่เชื่อ ยังเป็นโจทย์ที่ต้องจัดการ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็น 3 มุมสำคัญเรื่องการพัฒนานโยบาย

โควิดเป็นตัวอย่างของปัญหาซับซ้อนที่แก้ไม่ได้ง่ายๆ ต้องแก้ไปปรับไป แต่ต้องเป็นการแก้ไปปรับไปภายใต้เงื่อนไข 2 ประการ คือใช้ความรู้และการมีส่วนร่วม การบริหารสถานการณ์แบบนี้ก็ไม่ต่างจากการบริหารนโยบายสาธารณะที่ดี คือต้องทำและปรับภายใต้ความรู้และการมีส่วนร่วม กลไกแบบนี้เราต้องรีบสร้าง อาจจะเป็นโอกาสที่จะใช้โควิดเป็นการเริ่มสร้างกลไกให้เป็นตัวอย่าง แล้วเรื่องอื่นก็อาจจะมีกลไกคล้ายๆ กันเกิดมามากขึ้นก็ได้

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save