fbpx
SOMETHING MISSING : ของหายไม่อยากได้คืน แต่ไม่อยากให้ ‘ลืม’

SOMETHING MISSING : ของหายไม่อยากได้คืน แต่ไม่อยากให้ ‘ลืม’

วิภัทร เลิศภูรีวงศ์ ภาพ

เราได้ยินชื่อของ คาเงะ ธีระวัฒน์ มุลวิไล มาสองสามครั้งจากการไปพูดคุยกับสมาชิกกลุ่มละคร B-Floor คนอื่นๆ ในช่วงเวลาหนึ่งถึงสองปีที่ผ่านมา

ด้วยประโยคคล้ายคลึงกันที่ว่า งานของเขาเป็นการใช้การเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อบอกเล่าเรื่องราวความเป็นไปของสังคมในภาพใหญ่ ความลักลั่น การเลื่อนไหล ความขัดแย้งของอำนาจในเชิงระบบ มากกว่าจะเล่าถึงประสบการณ์ภายใน สำรวจจิตใจของมนุษย์เหมือนคนอื่นๆ ในกลุ่ม (ซึ่งแต่ละคนใน B-Floor ล้วนสร้างสรรค์งานจากความสนใจในแขนงที่ต่างกัน จนกลายเป็น ‘ลายเซ็นต์’ ส่วนตัวของแต่ละคน)

Fundamental การแสดงที่คาเงะสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คือผลงานเมื่อปีก่อนของเขาที่เรา ‘ลองของ’ เข้าไปชมเป็นครั้งแรก – ที่ต้องใช้คำว่าลองของ เพราะถึงอย่างไร งานแสดงที่เน้นการเคลื่อนไหวร่างกายมากกว่าบทพูด ย่อม ‘เข้าใจ’ ได้ยากกว่าละครเวทีที่สื่อสารกับผู้ชมด้วยบทพูดอย่างที่เราคุ้นเคยอยู่แล้ว

แต่คำว่าเข้าใจยาก ไม่ได้หมายความว่าเราจะ ‘ไม่ได้กลิ่น’ ของสิ่งที่ผู้สร้างอยากสื่อสาร

สำหรับเรา (ที่ยอมรับอย่างไม่เขินอายว่าเดินออกจากห้องสตูดิโอของหอศิลปฯ อย่างงงๆ หลังชม Fundamental เสร็จ) ‘กลิ่น’ ที่ว่า คือเสน่ห์อย่างหนึ่งของงานประเภทนี้

เพราะในแต่ละท่วงท่าที่ผู้แสดงเคลื่อนไหว แสงไฟ ดนตรี บทพูดน้อยนิด ล้วนทำงานกับเราและผู้ชมคนอื่นๆ แตกต่างกันไปแล้วแต่ประสบการณ์ ความรู้ความเข้าใจในแบคกราวด์ประวัติศาสตร์ของแต่ละบุคคล หรือบางครั้ง มันอาจทำงานลงไปในระดับจิตใจ กับประสบการณ์ส่วนตัวของเราเลยก็ได้ในบางที งานของคาเงะ และ/หรือ ฟิสิคัลเธียเตอร์ชิ้นอื่นๆ จึงเปิดกว้างกับการตีความ ตามกลิ่นที่ส่งออกมาให้เราสังเกตดอมดม

 

 

เช่นเดียวกับงานชิ้นล่าสุดของเขาใน SOMETHING MISSING ที่คาเงะทำงานร่วมกับคณะละคร Momggol จากประเทศเกาหลีใต้ ผลัดกันสร้างสรรค์ ตีความ ‘การสูญหาย’ ของบางสิ่งบางอย่างในสังคมของทั้งสองประเทศ ที่ทั้งคาเงะและ จองยอน ยุน ผู้กำกับอีกฝั่งสลับกันใส่สิ่งที่สูญหายเข้าไปในเวอร์ชั่นของตัวเอง

สำหรับครั้งนี้ พวกเขาต้อนรับความสงสัยของเราด้วยร่องรอยสีแดงบนกำแพงฝั่งตรงข้าม และเสียงเพลงเคป๊อบราวกับเรากำลังอยู่อยู่บนเวที MAMA ของช่อง MNet ก่อนที่การแสดงจากนักแสดงทั้งฝั่งไทยและเกาหลีใต้จะเริ่มต้นขึ้นด้วยมุกตลกและจบลงด้วยความเงียบงัน (ธีระวัฒน์บอกไว้ในบทสัมภาษณ์ชิ้นหนึ่งว่าเวอร์ชั่นของเขาแตกต่างกับของจองยอน ตรงที่ของอีกฝ่ายจะเน้นความตึงเครียดและโศกเศร้า มากกว่าเขาที่จะแทรกความตลกเข้าไปด้วย)

สูจิบัตรสีชมพูที่เราได้มาก่อนเข้าโรงละครบอกไว้ว่าการแสดงจะแบ่งหกบทที่เชื่อมต่อถึงกัน แต่ละบทดัดแปลง ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมและเรื่องราวที่ต่างกันไป ไม่ว่าจะในคัมภีร์ไบเบิล นิทานพื้นบ้านเกาหลี รามเกียรติ์ จนถึงบทประพันธ์ในตำนานอย่างเรื่อง ปีศาจ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์

แต่ถึงทุกเรื่องจะเป็นฐานให้กับธีระวัฒน์และของยอนในการเอาเหตุการณ์มาตีความ สร้างใหม่ในแบบของตัวเอง ก็ไม่ได้จำเป็นอะไรที่ผู้ชมจะต้องเคยอ่านพวกมันทั้งหมดมาก่อนถึงจะเข้าใจ เพราะสิ่งที่เราได้เห็น คือการที่ผู้กำกับทั้งสองคนพยายามยืมเอา ‘กลิ่น’ จากเรื่องราวทั้งหกมาเป็นเบสในการผสมน้ำหอมจากเหตุการณ์และสิ่งที่สูญหายไปในแบบของตัวเอง เพื่อให้คนดูอย่างเราได้ลองดม และเชื่อมโยงมันเข้ากับประสบการณ์ส่วนตัวของพวกเขา

เหมือนเช่นเคย มีบางช่วงบางตอนที่เราไม่เข้าใจสิ่งที่ธีระวัฒน์ต้องการจะสื่อ (เช่นในพาร์ทจากพระคัมภีร์ไบเบิ้ล และเรื่อง คอยโกโดต์) แต่ขณะเดียวกับ บางช่วงบางตอนที่เหลือก็เชื่อมโยงกับตัวเราเองอย่างน่าตกใจ เมื่อรวมเข้ากับดนตรีประกอบที่เล่นสดอยู่ด้านข้างโดย กมลพัชร พิมสาร การออกแบบเวที เอฟเฟ็กต์ (เลือด [?] กระดาษปลิวออกมาจากสิ่งที่มองไม่เห็นคือ element หนึ่งที่สวยงามมากในการแสดงครั้งนี้) แสง และภาพการเคลื่อนไหวบนลานกว้างด้านหน้าที่เติมเต็มโดยนักแสดงทั้งเจ็ดคนก็สั่นสะเทือนสิ่งที่อยู่ข้างในตัวของเราจนขนลุกเกรียว

บางฉากบางตอน แม้จะถูกปกคลุมด้วยบรรยากาศของความสนุกสนานจนเสียงหัวเราะดังก้องโรงละคร แต่ในอีกไม่กี่นาทีถัดมา ธีระวัฒน์ก็เปลี่ยนให้ความรู้สึกของพวกเราเงียบงัน จาก ‘กลิ่น’ ที่เขาค่อยๆ ปล่อยออกมาแรงขึ้นเรื่อยๆ ให้เราเริ่มรู้สึกถึงบางอย่างที่หายไป

 

 

อะไรที่หายไปบ้าง, เราหามันเจอหรือยัง, เราลืมมันหรือยัง

น่าจะเป็นสามสิ่งที่ธีระวัฒน์และจองยอนอยากจะตั้งคำถามกับเราที่กำลังนั่งชมอยู่ตรงข้ามรอยเลือดสีแดงรูปมนุษย์บนกำแพงนั้น

สิ่งที่ทำให้โปรเจ็กต์นี้น่าสนใจคือความเป็นฟิสิคัลเธียเตอร์ของมัน ทีทำให้การตีความของผู้ชมในแต่ละประเทศต่างกันไป ก่อนหน้าที่ SOMETHING MISSING เวอร์ชั่นนี้แสดงไปที่เกาหลีใต้ ผู้ชมที่นั่นอาจตีความเชื่อมโยงกับหลายสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมของเขา (เช่นในช่วงท้าย ที่พวกเขาอาจเชื่อมโยงกับการกลั่นแกล้งหรือความรุนแรงทางกายในสังคมวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ [เป็นการเดาล้วนๆ]) แต่เมื่อมาแสดงที่ไทย แม้จะเป็นมูฟเมนต์เดียวกัน (ซึ่งธีระวัฒน์อาจทำหรือดีไซน์ภาพบนเวทีแตกต่างบ้างจากจองยอน) สิ่งที่คนดูในไทยได้รับ ไม่น่าจะตีความคล้ายกับคนดูในครั้งแรก

สำหรับเรา ภาพบนเวทีในช่วงท้ายที่บอกว่าสั่นสะเทือนสิ่งที่อยู่ข้างในตัว คงเป็นเพราะความรุนแรงและหนักหน่วงของภาพ ที่ตีความออกมาได้เป็นฉากๆ – ตามความคิด ความเชื่อ ความเข้าใจของตัวเอง – ว่าสิ่งที่ผู้กำกับผู้หลงใหลในการสื่อถึงอำนาจเชิงระบบกำลังจะสื่อสาร เขาหมายถึงเหตุการณ์อะไร

มันไม่ใช่สิ่งใหม่ ไม่ใช่การชวนขบคิดหาคำตอบหรือหาทางแก้ไขจบในตัวเอง แต่ภาพที่เห็นตรงหน้า คือการที่ธีระวัฒน์บอกกำลังว่า ‘อย่าลืมมันไปเสียก่อนล่ะ’

กีชีวิต กี่ความคิดที่ต้องสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอยในลานกว้างที่เรานั่งมองดูอยู่ พวกเขาถูกจารึกไว้บนกำแพงนั้นด้วยรอยเลือดสีแดง แม้จะมองเห็นลางๆ ว่าเป็นรอยของมนุษย์ แต่ไม่ช้าไม่นานตามกาลเวลา มันจะกลายเป็นหนึ่งในรอยเปื้อนสีแดงจากความมือบอนของใครสักคนที่ไม่น่าจดจำ

น่าลบออก เพราะดูสกปรก

นั่นคือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในลานกว้างแห่งนี้ ที่เรากำลังเป็นคนดู

และผู้กำกับทั้งสองไม่อยากให้เราลืม

 

 

Something Missing เปิดการแสดงจนถึงวันที่ 17 ธันวาคมนี้ ที่ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บัตรราคา 600 บาท (โอนล่วงหน้าก่อนวันแสดง 470 บาท นักเรียนนักศึกษา และกลุ่ม 5 คนขึ้นไป คนละ 370 บาท) จองบัตรเข้าชมโทร. 094-4945104 หรือ [email protected] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของการแสดงได้ที่นี่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save