fbpx

‘สมเด็จ วิรุฬหผล’ วีรชน 14 ตุลา ชาวจุฬาฯ

“สม    ญานามนี่นี้          มีมานานเฮย

เด็จ     เดี่ยวเดือนตุลา    แซ่ซ้อง

วิรุฬห์ เลื่องประชา         ธิปไตย

ผล      เกิดชื่อดังก้อง      ป่าวร้องฤเห็น”

(แต่งเพื่อรำลึกถึงสมเด็จโดย รศ.ดร.จุฑา มนัสไพบูลย์)

ใครจะไปรู้ว่ารูปภาพเล็กๆ จะกลายเป็นประเด็นใหญ่ ย้อนกลับไปเมื่อประมาณเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 รศ.ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ตัดสินใจถอดรูปภาพเล็กๆ ของสมเด็จ วิรุฬหผล หรือ ‘พี่สมเด็จ’ นิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 14 ตุลา ออกจากห้องสโมสรนิสิตฯ โดยจะนำภาพไปคืนครอบครัว การตัดสินใจนี้ได้จุดประเด็นร้อนซึ่งเป็นที่พูดถึงอย่างมากในโลกออนไลน์ นำไปสู่การล่ารายชื่อคัดค้านได้นับพันชื่อ (ตรวจสอบเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2564 มีผู้ลงชื่อสนับสนุน 1,269 คน)[1] คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ออกมาชี้แจงเหตุผลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เหตุที่ตัดสินใจเช่นนี้เพราะได้รับคำทักท้วงจากหลายฝ่ายว่าการตั้งรูปของพี่สมเด็จแล้วมีนิสิตมากราบไหว้บูชานั้นไม่เหมาะสม จึงได้ปรึกษากับอาจารย์บางส่วน ตัวแทนนิสิต และครอบครัวพี่สมเด็จจนเห็นสมควรว่าจะถอดรูปออก อย่างไรก็ตามด้วยแรงกดดันจากภาคส่วนต่างๆ ประกอบกับครอบครัวของพี่สมเด็จก็แสดงเจตนาชัดเจนว่าไม่เคยต้องการให้ถอดรูปออก ภายหลังทางคณบดีจึงออกมาชี้แจงว่าเพิ่งได้ทราบว่าครอบครัวสมเด็จต้องการให้ติดรูปไว้ตามเดิม และยอมให้นำรูปภาพกลับมาติดที่เดิมในที่สุด

แม้ประเด็นดังกล่าวจะทำให้คนในวงกว้างนอกเหนือจากนิสิตคณะเศรษฐศาสตร์และคนรุ่นเก่าได้รู้จักนามของวีรชนคนนี้ แต่แง่มุมชีวิตของสมเด็จดูจะยังจำกัดอยู่แค่ในฐานะของหนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 14 ตุลาเท่านั้น เมื่อลองค้นเรื่องราวต่างๆ ของเขาก็พบว่าไม่ได้มีการบันทึกเรื่องราวในแง่อื่นๆ นัยหนึ่งสมเด็จในฐานะ ‘มนุษย์’ คนหนึ่งยังไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก

ในโอกาสครบรอบ 48 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่สมเด็จเสียชีวิต ผู้เขียนต้องการทำตามเจตนารมณ์ข้างต้น (แม้ข้อมูลจะยังคงมีอยู่อย่างจำกัด) โดยบอกเล่าเรื่องราวของสมเด็จที่ไม่น่าจะเคยรับรู้กันโดยทั่วไปและเป็นเรื่องราวที่มีแง่มุมหลากหลายมากขึ้น ผ่านความโชคดีที่ได้สัมภาษณ์สมชาย วิรุฬหผล (พี่ชายของสมเด็จ) ครูประทุม มาโนชญากรกับครูจุฑามาศ ผลเจริญ (ครูผู้เคยสอนพี่สมเด็จในระดับชั้นประถมที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ) และคุณภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ (นิสิตรุ่นพี่คณะเศรษฐศาสตร์ผู้พบร่างของสมเด็จเป็นคนแรกที่โรงพยาบาลจุฬาฯ) รวมถึงผ่านการค้นคว้าเอกสารอื่นประกอบด้วย

ใครคือสมเด็จ วิรุฬหผล

สมเด็จ วิรุฬหผล มีชื่อเล่นว่า ‘กุ๊กไก่’ (คนในครอบครัวมักเรียกสั้นๆ ว่า ‘กุ๊ก’) เป็นลูกคนสุดท้องจากบรรดาพี่น้องทั้งหมด 5 คน ครอบครัววิรุฬหผลเป็นชาวมุสลิมและอาศัยอยู่บ้านบริเวณถนนศรีเวียง จังหวัดกรุงเทพฯ เมื่อถึงวัยต้องเข้าศึกษา สมเด็จเข้าศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยเช่นเดียวกับลูกชายคนอื่นๆ ของบ้าน โดยเป็นนักเรียนรุ่นที่ 120 ของโรงเรียน

จากการสัมภาษณ์ครูประทุมและครูจุฑามาศ สมเด็จเป็นเด็กตั้งใจเรียนและมีผลการเรียนอยู่ในระดับที่ดีมาก ผลการเรียนของเขาอยู่ในระดับ 90 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว (ในสมัยนั้นใช้เกณฑ์การประเมินเป็นเปอร์เซ็นต์) เมื่ออยู่กับเพื่อนสมเด็จก็เป็นคนร่าเริงสนุกสนานทำให้เขาเป็นที่รักของเพื่อนในกลุ่ม แม้สมเด็จจะชอบการเรียน แต่เขาก็มีความสนใจด้านการทำกิจกรรมเช่นกัน เมื่อครั้งยังศึกษาอยู่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ สมเด็จร่วมกิจกรรมอยู่เสมอ มีโอกาสได้แสดงละครโรงเรียนในบทโอลิเวอร์ ทวิสต์[2] รวมถึงเป็นเชียร์ลีดเดอร์ของโรงเรียนด้วย

หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมแล้ว สมเด็จเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยถือเป็นนิสิตรุ่นที่ 6 ของคณะ เหตุที่เขาตัดสินใจเลือกคณะนี้เพราะได้รับอิทธิพลจากพี่ชาย คือสมชายที่เป็นนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังเป็นอดีตประธานเชียร์มหาวิทยาลัยด้วย (สมัยนั้นรัฐควบคุมไม่ให้นักศึกษาทำกิจกรรมมากนัก การเคลื่อนไหวทางการเมืองส่วนใหญ่จึงต้องทำผ่านการเชียร์เป็นหลัก ตำแหน่งประธานเชียร์จึงอาจเทียบได้กับนายกสโมสรนักศึกษาในปัจจุบัน) สมชายมีโอกาสเล่าเรื่องอาจารย์ป๋วยให้น้องชายฟังอยู่บ่อยครั้ง จึงเป็นไปได้ว่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้น้องชายเลือกเข้าศึกษาในคณะเศรษฐศาสตร์เช่นเดียวกับตน เมื่อเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาแล้วสมเด็จยังคงกระตือรือร้นในการทำกิจกรรม โดยจะกระตือรือร้นมากเป็นพิเศษในการเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือสังคมส่วนรวม เช่น การออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท

เหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ไม่ได้เกิดขึ้นจากความบังเอิญ แต่พอจะเห็นเค้าลางได้จากความตื่นตัวของนิสิตนักศึกษามาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว ไม่ว่าจะผ่านการทำวารสาร หนังสือต่างๆ ความตื่นตัวเรื่องการทุจริตเลือกตั้งผ่านการตั้งคณะกรรมการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง การรัฐประหารตัวเองของจอมพลถนอม กิตติขจร การลักลอบล่าสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติ รวมถึงการคัดชื่อนิสิตนักศึกษาที่เสียดสีรัฐบาลออก เหล่านี้ล้วนนำไปสู่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญและเหตุการณ์อื่นๆ ตามมา

แม้คุณพ่อคุณแม่ของครอบครัววิรุฬหผลจะไม่ได้มีความเห็นทางการเมืองมากนัก แต่ระหว่างพี่น้องก็มีการคุยเรื่องนี้กันอยู่บ้าง ซึ่งพวกเขาเห็นด้วยกับการเรียกร้องรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งความกล้าแสดงออกทางการเมืองเพื่อเรียกร้องในสิ่งที่ถูกต้องนี้ก็อาจตกทอดมายังน้องคนเล็กอย่างสมเด็จด้วย

เหตุการณ์ต่างๆ ทางการเมืองดำเนินมาจนถึงวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ในวันนั้นหลังจากแต่งชุดนิสิตออกไปร่วมประชุมตอนเช้าที่คณะ ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่มีทีท่าว่าจะเกิดความรุนแรง สมเด็จที่เพิ่งเป็นนิสิตปี 1 ได้หมาดๆ ก็กลับบ้านมาเปลี่ยนชุดเตรียมจะออกไปร่วมชุมนุมกับเพื่อนนิสิตนักศึกษา พี่น้องคนอื่นในครอบครัวต่างก็แยกกันออกไปกับกลุ่มเพื่อนของแต่ละคนด้วยเช่นกัน สมชายมาทราบภายหลังว่าหลังจากออกไปชุมนุม สมเด็จกลับมาบ้านแล้วครั้งหนึ่ง แต่เมื่อติดตามสถานการณ์ทางโทรทัศน์และทราบว่าเริ่มมีการใช้ความรุนแรงต่อนิสิตนักศึกษาประชาชน สมเด็จเป็นห่วงเพื่อนๆ ที่ร่วมชุมนุมอยู่จึงตัดสินใจกลับออกไปอีกครั้ง ซึ่งก็เป็นการออกไปที่เขาไม่ได้มีโอกาสได้กลับมาอีกเลย ขณะที่กำลังมุ่งหน้าไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมเด็จถูกยิงเข้าที่ด้านหลัง กระสุนทะลุอกและขาทั้งสองข้างและเสียชีวิตทันที ณ บริเวณกองบัญชาการตำรวจนครบาล ผ่านฟ้า[3]

ภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ รุ่นที่ 3 (ซึ่งขณะนั้นยังเป็นนิสิตปี 3) เล่าให้ฟังว่า วันนั้นตัวเขาและเพื่อนตั้งใจจะไปร่วมชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ทราบว่ามีคนเยอะมากจึงเปลี่ยนใจไม่ได้ไปร่วม ประกอบกับได้ข่าวว่ามีการปะทะกันจนบาดเจ็บ ต้องการเลือดด่วน จึงเลือกไปบริจาคเลือดที่สภากาชาดไทย เมื่อมาถึงพบว่ามีคนรอคิวกันเยอะมาก จึงออกมายืนรอบริเวณห้อง OPD ของโรงพยาบาลจุฬาฯ เพื่อรอฟังข่าวจากทางโทรทัศน์ ระหว่างรอได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าหน้าของโรงพยาบาลทำให้ทราบว่ามีนิสิตคณะเศรษฐศาสตร์เสียชีวิตและทางโรงพยาบาลเก็บร่างไว้ในห้องเก็บศพ ตนจึงแสดงตัวว่าเป็นนิสิตคณะเศรษฐศาสตร์เพื่อจะได้ดูว่าผู้เสียชีวิตเป็นใคร จนเมื่อพบร่างจึงทราบว่าเป็นสมเด็จ วิรุฬหผล รุ่นน้องปี 1 ที่เคยเห็นหน้าค่าตากันในคณะ เมื่อกลับถึงบ้านจึงรีบแจ้งไปยังอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้ดำเนินการติดต่อครอบครัวของสมเด็จ

ขณะเดียวกัน รศ.ศรีวงศ์ สุมิตร อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้เขียนถึงสมเด็จโดยเล่าถึงเรื่องราวในครั้งนั้นว่า ปีการศึกษา 2516 มีนิสิตใหม่ชายหนึ่งคนหน้าตาคมคายเข้าเรียนที่คณะเศรษฐศาสตร์ ดูว่าเป็นเด็กที่สุภาพเรียบร้อย ยังไม่ทันได้สอนเขา ปีนั้นมีการประท้วงรัฐบาลถนอม-ประภาส นิสิตนักศึกษาประชาชนออกมาเป็นจำนวนมาก ฝ่ายปราบปรามก็เข้าล้อม สมเด็จก็ร่วมชุมนุมด้วย ต่อมาช่วงบ่ายวันนั้นก็ได้รับโทรศัพท์จากนิสิตชั้นปีที่สองว่าสมเด็จถูกยิงตกน้ำที่สะพานผ่านฟ้าและถูกนำร่างไปไว้ที่ตึก 38 ซึ่งเป็นสถานที่เก็บร่างผู้เสียชีวิต จึงออกไปพร้อมกับอาจารย์อีกท่านหนึ่ง พอไปถึงเขาก็เปิดลิ้นชักซึ่งมีอยู่หลายสิบลิ้นชักก็ไม่พบ แต่ตรงกลางห้องมีเตียงซึ่งมีผ้าคลุมไว้ ก็ไปเปิดดูหน้า จนในที่สุดได้พบสมเด็จนอนอยู่ จึงติดต่อญาติให้นำร่างไปบำเพ็ญกุศล เนี่องจากสมเด็จนับถือศาสนาอิสลามจึงต้องทำพิธีให้เสร็จใน 24 ชั่วโมง แล้วตามไปที่สุสานแถวบางรักร่วมพิธีฝังร่างสมเด็จร่วมกับญาติและเพื่อนของเขา

ด้าน สมชาย วิรุฬหผล เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่า หลังจากที่น้องชายไม่ได้กลับมาบ้าน ตนรู้สึกเป็นห่วงจึงได้ขับรถออกไปหาน้องชายอยู่นานแต่ก็ไม่พบ ระหว่างนั้นจิตใจก็ไม่อยู่กับเนื้อกับตัวเพราะเป็นห่วงน้องชาย แต่ไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากขับรถวนหาน้องชายอย่างไร้จุดหมาย ภาพที่เห็นบนท้องถนนตลอดทางคือผู้ชุมนุมบางส่วนได้รับบาดเจ็บ ขณะที่บางส่วนโห่ร้องด้วยความโกรธเคืองต่อเจ้าหน้าที่ที่ใช้ความรุนแรง ผู้ชุมนุมไม่ได้มีอาวุธอย่างที่รัฐกล่าวอ้าง อย่างมากผู้ชุมนุมก็ทำได้แค่ฉวยเอาไม้หรือหินข้างทางมาเพื่อป้องกันตัวเท่านั้น ต่อมาหลังจากมีโทรศัพท์แจ้งว่าสมเด็จอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ครอบครัวจึงรีบเดินทางไปรับ แต่เมื่อมาถึงโรงพยาบาลจึงรู้ว่าสมเด็จเสียชีวิตแล้ว ซึ่งสร้างความตกใจให้กับทุกคนเป็นอย่างมาก พี่สาวคนโตถึงกับเป็นลมล้มทั้งยืนเมื่อได้ทราบข่าว

หลังจากรับร่างของสมเด็จแล้วครอบครัวได้นำไปประกอบพิธีภายใน 24 ชั่วโมงตามหลักศาสนาอิสลามที่ครอบครัวนับถือ และได้รับเกียรติจากจุฬาราชมนตรีมาเป็นประธานในพิธีศพช่วงบ่ายด้วย โดยในพิธีมีเพื่อนและคณาจารย์เข้าร่วมอย่างเนืองแน่น สิงห์โต จ่างตระกูล อดีตผู้อำนวยการและศิษย์เก่าโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ได้เคยเล่าถึงการร่วมคำนับศพสมเด็จไว้ในบทความ ‘กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี’ ซึ่งลงในหนังสืออุโฆษสาร 1973 ของโรงเรียนอัสสัมชัญ มีใจความว่า

“… ข้าพเจ้ามาคำนับศพ สมเด็จ วิรุฬหผล ที่บ้านถนนศรีเวียง ศพของเข้าห่อหุ่มด้วยธงไตรรงค์ ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่า วิญญาณของสมเด็จคงดีใจ เมื่อทราบว่าสิ่งที่เขาต่อสู้เรียกร้องได้สำเร็จลงไปแล้ว เพราะรัฐบาลชุดใหม่รับปากว่าจะร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน … ” [4]

จุฬาราชมนตรี ต่วน สุวรรณศาสตร์ นำสวดขอพรให้ผู้วายชนม์ (ที่มา: ภาพส่วนตัวของครอบครัว)

นอกจากนี้หนังสืออนุสรณ์โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ปีการศึกษา 2516 ยังได้อุทิศหน้ากระดาษเพื่อสดุดีเขาในฐานะวีรชนที่เป็นศิษย์เก่า ขณะที่หนังสือที่ระลึกพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุท้องสนามหลวง 14 ตุลาคม 2517 บันทึกเรื่องราวคร่าว ๆ ของสมเด็จไว้ในฐานะหนึ่งในวีรชน 14 ตุลาที่เสียสละตนต่อสู้จนได้รัฐธรรมนูญมา

ภาพจากหนังสือรุ่นกรุงเทพคริสเตียน
ภาพจากหนังสือที่ระลึกพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุท้องสนามหลวง 14 ตุลาคม 2517

 แม้จะได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเพียงใด การเสียชีวิตของสมเด็จก็สร้างบาดแผลครั้งใหญ่ให้ครอบครัววิรุฬหผล สมชายเล่าว่า ก่อนหน้านั้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2516 ครอบครัวพึ่งสูญเสียคุณพ่อที่เป็นผู้นำไป การต้องสูญเสียน้องชายคนเล็กที่เป็นที่รักยิ่งอย่างสมเด็จไปในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้นยากจะทำใจได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้หลังจากนั้น 2 ปี คุณแม่ที่ถูกโรครุมเร้าก็ตรอมใจเสียชีวิตตามไปอีกคนด้วย

เอกสารที่พบบนโต๊ะของสมเด็จ

หลังงานพิธีผ่านไป สมชายเข้าไปเก็บของใช้ส่วนตัวของน้องชายและพบกระดาษแผ่นหนึ่งอยู่บนโต๊ะเขียนหนังสือ ในกระดาษแผ่นนั้นสมเด็จคัดลอกโคลงบทหนึ่งของนเรศ นโรปกรณ์ โดยเขียนอย่างบรรจงด้วยลายมือของตนเอง มีใจความว่า

“เพียงหวังจะเฟื่องฟุ้ง
ฤๅจึงมุ่งมาศึกษา
เพียงเพื่อปริญญา
เอาตัวรอดเท่านั้นฤๅ

“แท้ควรสหายคิด
และตั้งจิตร่วมยึดถือ
รับใช้ประชาคือ
ปลายทางเราที่เล่าเรียน”

กระดาษบทกลอนที่พบบนโต๊ะของสมเด็จ (ที่มา: ภาพส่วนตัวของครอบครัว)

จากการบอกเล่าของสมชาย ตัวสมเด็จไม่ใช่คนเจ้าบทเจ้ากลอนอะไร ประกอบกับเขาก็ไม่ได้แสดงความเห็นทางการเมืองมากนักเมื่ออยู่ในโต๊ะอาหาร จึงเข้าใจว่าเขาคงได้อ่านกลอนบทนี้ที่ไหนสักแห่ง และรู้สึกว่าตรงกับอุดมการณ์ส่วนตัวจนเกิดความประทับใจจึงคัดลอกเก็บไว้ กระดาษแผ่นนี้ซึ่งเพิ่งเปิดเผยครั้งแรกในที่นี้น่าจะเป็นหนึ่งในหลักฐานที่ช่วยบ่งบอกอย่างหนักแน่นว่าสมเด็จมีความมุ่งมั่นในอุดมคติเพียงใด

ชีวิตหลังความตาย

ภายในวันเดียวกับที่สมเด็จเสียชีวิต การเมืองไทยได้เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จอมพลถนอม กิตติขจรลาออกและลี้ภัยไปต่างประเทศ มีการตั้งรัฐบาลขึ้นมาใหม่และดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ผู้ที่อยู่ทันช่วงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างยกย่องสมเด็จเป็นหนึ่งในวีรชนผู้เสียสละตนในเหตุการณ์ 14 ตุลา ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ประชุม โฉมฉาย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ในขณะนั้น ได้ให้เกียรติติดรูปถ่ายของสมเด็จไว้อย่างเด่นชัดบริเวณบันไดหน้าลิฟต์ของคณะ เพื่อให้รุ่นพี่รุ่นน้องที่เดินผ่านได้รำลึกถึงสมเด็จและวีรกรรมในช่วง 14 ตุลา พร้อมมีป้ายบรรยายประกอบว่า

“นายสมเด็จ วิรุฬหผล

นิสิตปีที่ ๑ คณะเศรษฐศาสตร์

ได้สละชีวิตในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖

ขอให้อนุชนรุ่นหลังจดจำและพิทักษ์รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยด้วยชีวิต

เยี่ยงวีรชนที่ได้สละชีวิตของตนมาแล้ว”

ภาพสมเด็จในห้องสโมสรนิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ (ที่มา: เฟซบุ๊ก Netwit Ntw)
ภาพพิธีไว้อาลัยและเปิดป้ายอนุสรณ์ของสมเด็จ (ที่มา: หนังสือพิมพ์ที่ครอบครัวตัดเก็บไว้)

นอกจากนี้ครอบครัวของสมเด็จยังได้ตัดสินใจมอบเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ทางคณะเพื่อจัดตั้งทุนการศึกษาขึ้นมาในนามของสมเด็จ วิรุฬหผล

แต่เมื่อเวลาผ่านไปเรื่องราวของสมเด็จก็เริ่มจางหาย พร้อมๆ กับความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ไม่กี่ปีหลังจากนั้น นานวันเข้าทางคณะได้ยุบทุนในชื่อของสมเด็จไปด้วยเหตุผลว่าไม่เหมาะสมเพราะไม่สมควรให้ทุนเป็นชื่อบุคคล และเอาเงินที่ได้มาไปรวมกับของส่วนกลางมหาวิทยาลัย กระแสสังคมจำนวนหนึ่งก็เริ่มมองว่า เขาเป็นแค่ผู้โดนลูกหลงที่เสียชีวิตจากความโกลาหลทางการเมืองมากกว่า ส่วนรูปภาพที่เป็นอนุสรณ์รำลึกถึงสมเด็จนั้นตั้งอยู่ได้อีกสักพักหนึ่ง ก่อนจะถูกย้ายขึ้นไปไว้บริเวณชั้น 5 ของคณะเพราะบริเวณนั้นไม่ค่อยมีคนขึ้นไป จนเกิดข่าวลือแปลกๆ ว่าผีสมเด็จที่ชั้น 5 เฮี้ยนมาก เมื่อคณะต้องการใช้พื้นที่เพื่อทำการเรียนการสอนมากขึ้น ผีสมเด็จก็ไม่อาจจะอยู่ชั้น 5 ได้ รูปสมเด็จจึงได้ถูกย้ายไปมาอยู่หลายที่ จนในปัจจุบันก็มาอยู่ที่ห้องสโมสรนิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งนิสิตที่เดินผ่านไปมายังสามารถเห็นได้อยู่ แต่กระนั้นเรื่องราวที่น้อยนิดของสมเด็จก็ไม่ได้ถูกขยายผลให้มีคนเข้าใจมากขึ้น ในยุคสมัยของการหลีกหนีการเมืองและกิจกรรมโซตัสที่กลับมาเบ่งบาน สมเด็จกลายเป็นผีประจำคณะ เป็นรุ่นพี่คนตายที่รุ่นพี่คนเป็นใช้หลอกให้นิสิตเข้าใหม่ยกมือไหว้และขอพรให้เดินทางไปค่ายอย่างปลอดภัย หรือบนบานศาลกล่าวให้สอบได้คะแนนดี

สมเด็จกลายเป็นประเด็นอีกครั้งในปี 2563 เมื่อคณบดีตัดสินใจถอดรูปสมเด็จส่งกลับคืนสู่ครอบครัว โดยให้เหตุผลอ้างว่าการตั้งรูปของสมเด็จไว้นั้นเป็นการไม่เหมาะสมเพราะเกรงว่านิสิตจะไปกราบไหว้อย่างงมงาย และปราศจากการทักท้วงติงของสโมสรนิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ไม่ใช่ความผิดของสมเด็จที่ทำให้นิสิตงมงายกราบไหว้ หากแต่น่าจะมาจากคณบดี สโมสรนิสิตเศรษฐศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ในระยะหลังนี้มากกว่าที่ไม่ได้ทำให้นิสิตรับรู้เรื่องราวของสมเด็จ ทั้งยังส่งเสริมกิจกรรมโซตัส แต่กลับไม่ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาและอุดมคติของสมเด็จเลย สมเด็จจึงถูกลดทอนคุณค่าลงไป จากการยกย่องในฐานะของวีรชน 14 ตุลา กลายเป็นเพียงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง กลายเป็นเพียงผีที่นิสิตต้องกราบไหว้อยู่นาน ก่อนจะได้กลับมามีชีวิตให้ผู้คนได้รู้จักในฐานะวีรชนอีกครั้งหลังจากเกือบจะหายสูญไปจากคณะอย่างถาวร

ทั้งนี้หากผู้อ่านคนใดสนใจประเด็นเรื่องการภาพถ่ายสมเด็จกับความหมายที่เกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมืองสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเรื่อง ภาพถ่ายกับชีวิตวัยรุ่นชนชั้นกลางในกรุงเทพมหานคร ทศวรรษ 2500 ถึงต้นทศวรรษ 2530 ของพงศกร ชะอุ่มดี ซึ่งในนั้นภาพถ่ายของสมเด็จที่คณะเศรษฐศาสตร์ถูกยกเป็นหนึ่งในตัวอย่างศึกษาที่น่าสนใจของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้

ภาพสมเด็จถูกถอดไปในปี 2563 (ที่มา: เฟซบุ๊ก Netwit Ntw)

สมเด็จ วิรุฬหผล ในยุคการเคลื่อนไหวอีกครั้ง

กล่าวโดยเฉพาะในเวลานี้ที่นิสิตจุฬาฯ กำลังเริ่มตื่นตัวทางการเมืองอีกครั้ง กระแสความสนใจในบรรดาผู้มาก่อนและสายธารประชาธิปไตยก็กำลังหลั่งไหลอีกครั้งเช่นกัน ในปี 2563 สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และคณะกรรมการนิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ประจำปีนั้น ได้ส่งพวงหรีดไปวางหน้าห้องสโมสรนิสิตคณะเศรษฐศาสตร์เพื่อแสดงอาลัยรำลึกต่อพี่สมเด็จเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ นอกจากนี้ สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2563 โดยความร่วมมือกับสโมสรนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้จัดทำภาพวีรชนชาวจุฬาฯ ที่ห้องประชุมวิชิตชัย อมรกุล (วีรชน 6 ตุลา) ตึกกิจกรรมคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยมีภาพของสมเด็จอยู่ร่วมกับจิตร ภูมิศักดิ์ รัตนา สกุลไทย และวิชิตชัย อมรกุล

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ที่ประชุมองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีมติจัดทำเว็บไซต์เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจุฬาฯ และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย (ดูเว็บไซต์ได้ที่นี่) ทางครอบครัววิรุฬหผลได้มอบภาพถ่ายของสมเด็จที่มีทั้งหมด รวมถึงภาพกระดาษบทกลอนลายมือสมเด็จ เพื่อทำเป็นดิจิทัล นับว่าเป็นครั้งแรกที่ภาพสมเด็จจะไม่ได้มีแต่ภาพหน้านิ่งๆ ยิ้มอ่อนๆ แต่มีภาพวัยเด็ก ขณะเล่นละคร และอยู่กับเพื่อนๆ ให้ได้ศึกษาและเป็นที่รู้จักสมเด็จในมุมอื่นๆ มากยิ่งขึ้น

หลังจากรูปภาพถูกนำกลับมาติดที่เดิมและมีการวางพวงมาลารำลึก (ที่มา: เฟซบุ๊กสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ)

นอกจากความพยายามเหล่านี้แล้ว ไม่แน่ว่าเราอาจจะเห็นการรำลึกถึงสมเด็จแบบอื่นๆ จนถึงการตีความ การแสดงบทละครต่างๆ[5] ต่อวีรชนคนนี้หรือคนอื่นที่ชื่อเลือนหายไปเนิ่นนาน (อย่างที่ก็ยังไม่เห็นจากทางคณะเศรษฐศาสตร์เท่าที่ควร) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และจุฬาฯ คงไม่อาจหลีกหนีการต้องโอบรับเรื่องราวของสมเด็จเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย เพียงแต่ว่าจะเป็นไปอย่างไร ในลักษณะใด มากแค่ไหนเท่านั้น เพราะการยอมรับการมีตัวตนของสมเด็จ ในฐานะคนหนุ่มผู้มีอุดมคติ ไม่ได้เป็นผีที่ถูกกักตัวไว้ในคณะเศรษฐศาสตร์มีนัยที่ส่งอิทธิพลและสร้างแรงบันดาลใจให้นิสิตนักศึกษาปัจจุบันไม่ยอมรับอำนาจและสังคมที่ไม่เป็นธรรมอย่างแน่นอน ไม่ต้องห่วงเลยว่ากิจกรรมโซตัส และการเรียนเพื่อความมั่งคั่งส่วนตัวย่อมถูกท้าทาย หากแต่ทั้งหมดนี้ก็ยังเป็นเรื่องคาดเดาของผู้เขียน ชีวิตของสมเด็จรวมถึงวีรชนคนอื่นๆ ก็ยังคงต้องถูกรื้อฟื้นและประสานข้อมูลกันต่อไป

ถ้าสมเด็จยังมีชีวิตอยู่ตอนนี้เขาน่าจะมีอายุได้ 65 ปี และถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ก็คงจะได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับสังคมมากมาย อย่างไรก็ตามอาชญากรรมโดยรัฐได้พรากชีวิตของเขาและคนอื่นๆ ในยุคเดียวกันไป ชีวิตของสมเด็จอาจจะไม่ได้ยืนยาวนัก แต่เมื่อเห็นสิ่งที่สมเด็จต่อสู้ เราก็อาจจะพูดได้ว่าอันที่จริงก็ไม่ได้แตกต่างจากที่วันนี้นิสิตนักศึกษาประชาชนกำลังต่อสู้อยู่เลย ไม่มีใครสมควรต้องตายหรือถูกจองจำเพียงเพราะเขาปรารถนาอยากให้ประเทศดีขึ้น พวกเขาออกมาเรียกร้องรัฐธรรมนูญและแก้ไขกฎหมายอื่นๆ โดยเชื่อว่าหากประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนก็จะดีขึ้นตามไปด้วย ชีวิตของสมเด็จคงเป็นเครื่องเตือนใจถึงความเลวร้ายของรัฐได้ ขณะเดียวกันความพยายามย้ายหรือถอดรูปหลายครั้งก็สะท้อนให้เห็นว่า วีรชน 14 ตุลาและอุดมคติของพวกเขายังคงท้าทายต่อยุคสมัยที่พยายามเงียบงัน รวมถึงกดให้ผู้คนสยบยอมตามรัฐ ยอมต่อค่านิยมของสังคมที่มุ่งเน้นปัจเจกนิยมและความมั่งมี เหนือกว่าอุดมคติและความเป็นธรรมของสังคม


[1] คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ: คัดค้านการรื้อถอนภาพคุณสมเด็จ วิรุฬหผล วีรชน 14 ตุลาคม 2516

[2] ตัวละครเอกจากวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง Oliver Twist, or The Parish Boy’s Progress ของ Charles Dickens

[3] หนังสือที่ระลึก พิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุท้องสนามหลวง 14 ตุลาคม 2517

[4] หนังสืออุโฆษสาร 1973 ของโรงเรียนอัสสัมชัญ

[5] หนึ่งในตัวอย่างการรำลึกถึงสมเด็จอย่างน่าสนใจคือบทกวีนิพนธ์ที่แต่งโดย ดร. ฟาริดา วิรุฬหผล (หลานสาวของสมเด็จ) แต่งเพื่อรำลึกถึงอาของเธอ

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save