fbpx

“เลือดต้องแลกด้วยเลือด”: การต่อสู้ในระบบอันวิปริตผิดเพี้ยนของ ‘ตะวัน-แบม’ ที่เดิมพันด้วยชีวิตและลมหายใจ

จากคำสั่งถอนการประกันตัว ใบปอ-ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ และ เก็ท-โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมการเมือง นำมาสู่การถอนประกันตัวเองของ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม-อรวรรณ ภู่พงศ์ นักกิจกรรมทางการเมือง พร้อมข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและปล่อยตัวนักโทษการเมือง

เมื่อมีเพียงความเงียบตอบกลับจากกระบวนการยุติธรรม การประท้วงของตะวันและแบมในเรือนจำจึงยกระดับเป็นการอดอาหารและน้ำ นำให้สถานการณ์น่ากังวลยิ่งขึ้น

ท่ามกลางการร่วมเรียกร้องจากผู้คนนอกเรือนจำให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง คำถามที่ดังขึ้นพร้อมๆ กันนี้คือเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการยุติธรรมและผู้คนที่ทำงานในระบบนี้

101 ชวน รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คุยถึงความผิดปกติในกระบวนการถอนประกันตัว สิทธิที่ขาดหายของผู้ต้องหาคดีการเมือง และปัญหาที่เกิดขึ้นในแวดวงตุลาการ ในรายการ 101 One-on-One Ep.287 อดอาหารกี่ครั้ง ตุลาการจึงจะเป็นธรรม? : สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ยุคสมัยแห่งความวิปริตผิดเพี้ยนของระบบยุติธรรมไทย

จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา สองนักกิจกรรมอิสระ ตะวัน-ทานตะวันและแบม-อรวรรณ จำเลยในคดีมาตรา 112 จากการทำโพลเกี่ยวกับขบวนเสด็จฯ ตัดสินใจยื่นถอนประกันตัวเองต่อศาลอาญาและศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อแสดงจุดยืนเรียกร้องให้ศาลปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน พร้อมทั้งประกาศข้อเรียกร้องสามประการ ดังต่อไปนี้

ข้อที่ 1 ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรกมาก่อนสิ่งอื่นใด ต้องเป็นอิสระปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี

ข้อที่ 2 ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง

ข้อที่ 3 พรรคการเมืองต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยเสนอการยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 และ 116

ต่อมาในวันที่ 18 มกราคม 2566 เมื่อข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่บรรลุผล ตะวันและแบมจึงยกระดับการประท้วง คือตัดสินใจอดอาหารและอดน้ำขณะถูกคุมขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลางจนกว่าข้อเรียกร้องจะบรรลุผล นับตั้งแต่วันที่ 18 มกราคมจนถึงตอนนี้ เวลาล่วงเลยมามากกว่าหนึ่งสัปดาห์ที่ทั้งคู่อดอาหารและน้ำ มีรายงานว่าทั้งสองคนมีอาการไม่สู้ดีนัก ร่างกายเริ่มทรุดลงเรื่อยๆ แม้จะถูกย้ายตัวไปที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ แต่ทั้งสองยืนยันปฏิเสธการรักษา และแจ้งความประสงค์ที่จะรับการรักษาจากโรงพยาบาลภายนอกเท่านั้น

จากอาการของทั้งคู่ที่ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ปากแห้งและคลื่นไส้อย่างหนัก คืนวันที่ 20 มกราคม จึงมีการส่งตัวตะวันและแบมไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ท่ามกลางความเป็นห่วงและกังวลจากประชาชน เนื่องจากการอดอาหารและน้ำนั้นอันตรายต่อร่างกายถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ ผนวกกับความตึงเครียดของการรอคอยความหวังว่าข้อเรียกร้องทั้งสามข้อจะบรรลุผลหรือไม่

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่าการอดอาหารและน้ำของตะวัน-แบม ทำให้คนในสังคมต่างหันมาให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างมาก ทั้งยังมีการจัดกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองและผลักดันข้อเรียกร้องสามประการต่อไป โดยเฉพาะกิจกรรม ‘ยืนหยุดขัง’ ที่ขยายวงกว้างไปตามจังหวัดต่างๆ นอกเหนือจากภายในกรุงเทพฯ

สมชายเสริมว่ากิจกรรม ‘ยืนหยุดขัง’ ที่จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างต่อเนื่องทุกอาทิตย์ ในเวลานี้มีคนมาเข้าร่วมมากขึ้น ด้วยสถานการณ์ที่ตึงเครียดและสะเทือนจิตใจของผู้คน ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่าแม้ที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงปี 2564 จะเคยมีนักกิจกรรมอดอาหาร แต่ในช่วงนั้นเป็นการอดอาหารที่ยังกินน้ำ นม หรือเกลือแร่เพื่อให้ร่างกายอยู่รอดได้ ทว่านี่เป็นครั้งแรกที่เกิดการยกระดับเป็นอดทั้งอาหารและน้ำ ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อสังคมได้มากกว่าที่เคยเป็นมา

“ผมคิดว่าครั้งนี้ต่างจากครั้งอื่น ครั้งที่ผ่านมามีการอดอาหาร แต่ยังดื่มน้ำ ดื่มนม แต่ครั้งนี้อดทั้งอาหารและน้ำน่าจะเป็นครั้งแรกที่มีคนทำอย่างจริงจัง เราต่างรู้ว่าอดอาหารยังพอมีชีวิตอยู่ต่อได้ ดังนั้น คนที่ตัดสินใจอดทั้งข้าวและน้ำคงคิดว่านี่เป็นเรื่องสำคัญมาก” สมชายกล่าว

นอกจากนี้ สมชายตั้งข้อสังเกตว่าการอดอาหารประท้วงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมีมิติและเงื่อนไขที่แตกต่างจากการอดอาหารประท้วงที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น กล่าวคือ ในหลายประเทศ การอดอาหารจะทำไปเพื่อประท้วงรัฐบาลโดยตรง ทว่าการอดอาหารของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยส่วนใหญ่ทำเพื่อประท้วงและเรียกร้องสิทธิเสรีภาพจากศาลหรือสถาบันตุลาการ ไม่ได้เป็นการประท้วงต่อรัฐบาลโดยตรง

“ในกรณีนี้ถ้ามองให้กว้างออกไป สิ่งที่น่าสนใจคือส่วนใหญ่ที่ผ่านมาจะอดข้าวเพื่อประท้วงรัฐบาลเผด็จการ ประท้วงทหาร อดอาหารเพราะรัฐบาลเฮงซวย แต่ในไทยสองปีมานี้เป็นการอดอาหารเพื่อเรียกร้องศาลยุติธรรม ผมว่าเป็นสิ่งที่น่าคิดว่ามันเกิดอะไรขึ้นที่ใน 2-3 ปีนี้มีคนอดอาหารเพื่อสิทธิเสรีภาพเยอะมาก” สมชายให้ความเห็น

มากไปกว่านั้น สมชายกล่าวว่าข้อเรียกร้องสามประการของตะวันและแบมสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยที่เราดำรงอยู่ตอนนี้อยู่ใน ‘ภาวะวิปริตผิดเพี้ยน’ เพราะในความเป็นจริงแล้ว หากเกิดการเรียกร้องสิ่งใด ย่อมแปลว่าในทัศนะของผู้เรียกร้องมองว่าตอนนี้ตนเองกำลังขาดหรือไม่มีสิ่งนั้น เมื่อย้อนมองข้อเรียกร้องในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและทวงคืนสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องขังทางการเมือง สมชายมองว่านับเป็นเรื่องวิปริตที่นักกิจกรรมต้องออกมาเรียกร้อง ‘ความยุติธรรม’ จาก ‘กระบวนการยุติธรรม’ เสียอย่างนั้น

“ข้อเรียกร้องก็สะท้อนสภาพที่เกิดขึ้นในสังคม เมื่อเราเรียกร้องก็แปลว่าเราเห็นว่าตอนนี้มันไม่มีสิ่งนั้น แต่ถ้าเราดูข้อเรียกร้องของแบมกับตะวัน แปลว่าตอนนี้ศาลไม่มีความยุติธรรมหรือ ศาลไม่ปกป้องประชาชนหรือ พอเป็นแบบนี้การอดข้าวที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเป็นเรื่องที่น่าตระหนกนะ เพราะเราไม่ได้เรียกร้องกับทหารหรือประยุทธ์ แต่เรากำลังเรียกร้องกับศาลที่ต้องมีความเป็นธรรมที่สุด”

“เวลามีคนเถียงประเด็นการอดอาหารของตะวันกับแบมว่าทำเกินไป หรือบอกว่ามีการจัดฉาก คำถามของผมคือ พวกคุณจะไม่ถามหน่อยเหรอว่าเขาอดอาหารกับเรื่องอะไรอยู่ ช่วยแหกตาดูหน่อย มองไม่เห็นเหรอว่ามีปัญหาอะไร เขาไม่ได้เรียกร้องอะไรมากมายเลย สิ่งที่เขาเรียกร้องอยู่มันพื้นฐานมากๆ ถ้าเป็นนักเรียนกฎหมายต้องบอกว่าโคตรพื้นฐานเลย แต่พวกเขากลับไม่ได้สิทธิ์นั้น”

สมชายเสริมว่าจากประสบการณ์ส่วนตัวของตนเอง เขาพบว่ามีหลายครั้งที่คดีการเมืองนั้นไม่มีหลักฐานหรือมูลเหตุมากพอให้อัยการส่งฟ้อง แต่อัยการกลับยังคงสั่งฟ้องให้จำเลยไปต่อสู้ในชั้นศาล เห็นได้ชัดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคือความไม่เป็นธรรมและอำนาจนำที่ฝังรากลึกอยู่ในกระบวนการยุติธรรมไทย แม้จะมีผู้มีความรู้ความสามารถในระบบยุติธรรมมากแค่ไหนคงไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ หากว่าพวกเขายังเลือกที่จะทำตามคำสั่งของผู้มีอำนาจเบื้องหลัง

“ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการแสดงความเห็นในเชิงลบต่อศาล เราเห็นปฏิบัติการมากมาย เช่น การยื่นหนังสือ การลุกขึ้นตอบโต้ การอดอาหาร หรือแม้แต่การยืนหยุดขังที่ดำเนินต่อเนื่องข้ามปี เหล่านี้สะท้อนวิกฤติของกระบวนการยุติธรรม ผมเรียกว่าเป็นภาวะวิปริตผิดเพี้ยน คือหน่วยงานที่ต้องทำหน้าที่นี้กลับทำให้สังคมเกิดคำถามอย่างต่อเนื่อง”

“คดีที่เกี่ยวกับการเมือง หรือเรียกง่ายๆ ว่าคดีที่อยู่คนละฝั่งกับรัฐบาล เมื่อไปถึงศาลเราเห็นว่าหลายคดีมีปัญหาที่การวินิจฉัยของศาล กระบวนการยุติธรรมที่ต้องเป็นกลางแต่ตอนนี้มีปัญหาเกิดขึ้น อัยการที่มีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมกลับสั่งฟ้องทุกคดี บางคนมาบอกผมทีหลังว่าเขาไม่อยากทำแต่ก็ต้องทำ ไม่อย่างนั้นตัวเองจะมีปัญหา สิ่งนี้สะท้อนว่าปัญหาไม่ใช่เรื่องรู้หรือไม่รู้กฎหมาย แต่เป็นปัญหาในกระบวนการยุติธรรมของไทยต่างหาก”

“ถ้าองค์กรต่างๆ ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เช่น ถ้าอัยการกล้าสั่งไม่ฟ้องในหลายคดี เพราะจำเลยไม่ได้ผิดแบบที่ตำรวจกล่าวหา ถ้าอัยการกล้าใช้อำนาจของตนเอง เราอาจจะมีความหวังอยู่บ้าง แต่ตอนนี้อัยการสั่งไม่ฟ้องน้อยมาก จะส่งไปสู้ที่ศาลอย่างเดียว นี่คือความวิปริตผิดเพี้ยนของระบบ มันทำให้คุณกลายเป็นคนไม่เคารพต่อหลักวิชา” สมชายกล่าว

เพราะการไม่ให้ประกันคือการลงทัณฑ์รูปแบบหนึ่ง

ปัญหากระบวนการยุติธรรมอันไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในบางห้วงเวลาที่มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องความยุติธรรมจากศาล แม้จะมีท่าทีตอบรับที่ดีขึ้นจากฝั่งสถาบันตุลาการ ทว่าสมชายมองว่ายังไม่ดีอย่างที่สังคมคาดหวังนัก และสิ่งสำคัญที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้าคือเมื่อใดที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือเกิดการประท้วง การเคลื่อนไหวเหล่านี้จะกลับกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้นักกิจกรรมถูกดำเนินมาตรการทางกฎหมายได้ง่ายมากขึ้น เช่น ถูกถอนประกัน ไม่ให้สิทธิ์ประกันตัว ส่งผลให้นักเคลื่อนไหวต้องวนเวียนออกมาทำกิจกรรมเรียกร้องกันต่อไปเรื่อยๆ

“ที่ผ่านมามีคดีขับรถชนคนตายบนทางด่วน นักการเมืองล่วงละเมิดทางเพศอย่างต่อเนื่อง ยึดสนามบิน ยึดทำเนียบรัฐบาล คนเหล่านี้ได้รับการประกันตัว ทำความผิดร้ายแรงแต่ได้ประกันตัวหมด แต่จำเลยมาตรา 112 กับ 116 ไม่ได้ประกัน คุณลองเอาเปรียบเทียบกันสิ บางคดีอาจจะผิดตามกฎมายจริง แต่อย่างน้อยควรต้องได้รับการประกันตัวออกมาสู้คดีได้”

สมชายระบุว่าปัญหาของกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรมส่วนหนึ่งเกิดจากโครงสร้างและอำนาจนำของสถาบันตุลาการที่ไม่เปิดโอกาสหรือยอมให้คนทำงานสอดคล้องกับหลักวิชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลซึ่งนับเป็นองค์กรที่มีปัญหาอย่างสำคัญ หลายครั้งการพิจารณาคดีหรือการให้สิทธิ์ประกันตัวเป็นไปอย่างไม่ชอบธรรม หรือแม้แต่ค้านสายตาประชาชนอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงการให้เหตุผลที่ไม่มีน้ำหนักเท่าที่ควร เช่น ไม่ให้สิทธิ์ประกันตัวเนื่องจากศาลพิเคราะห์ว่า ‘ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง’ ซึ่งสมชายมองว่าเป็นการให้เหตุผลแบบกำปั้นทุบดิน ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงความเป็นธรรมของระบบยุติธรรมไทยมากขึ้นไปอีก

“การเข้าไปอยู่ในคุกไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นะ มันเป็นการพรากเสรีภาพเขาไป ในความเห็นผมการไม่ให้ประกันก็คือการลงทัณฑ์รูปแบบหนึ่งแล้ว และตอนนี้ประกันออกมาก็ต้องเผชิญปัญหาอีก เช่น มีเงื่อนไขห้ามชุมนุมทางการเมือง ประเด็นคือเมื่อประกันออกมาจำเลยก็เป็นผู้บริสุทธิ์มิใช่หรือ ที่เขาโดนกล่าวหาก็ยังเป็นข้อกล่าวหาอยู่ ยังไม่มีการตัดสิน ตราบเท่าที่เรายังเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ต้องมีสิทธิพื้นฐานทางกฎหมาย”

“เวลาเราโต้แย้งศาลเรื่องมาตรา 112 นักเรียนกฎหมายทุกคนรู้ว่ากฎหมายมาตรานี้คุ้มครองตำแหน่งใดบ้าง แล้วคิดว่าผู้พิพากษาจะไม่รู้เรื่องนี้เหรอ เขารู้อยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่โครงสร้างหรืออุดมการณ์ของศาล เพราะนี่เป็นคดี 112 ที่สัมพันธ์กับเงื่อนไขปัจจัยอื่นๆ”

ในความคิดของสมชาย เขามองว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อพิทักษ์สิทธิเสรีภาพประชาชนตั้งแต่ต้น แม้นักกฎหมายจำนวนมากจะบอกว่าระบบกฎหมายสมัยใหม่ของไทยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อไทยรับระบบกฎหมายจากตะวันตกมาปรับใช้ ทว่าสมชายชี้ให้เห็นว่าการปกครองของประเทศไทยในสมัยนั้นเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รากฐานของระบบกฎหมายไทยจึงไม่ได้สร้างขึ้นบนพื้นฐานที่ประชาชนเท่าเทียมกัน และเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองคนในสังคม แต่ระบบกฎหมายไทยเป็นเครื่องมือไว้จัดการความขัดแย้งระหว่างสามัญชน และเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างสามัญชนกับรัฐ ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทยจะทำหน้าที่คอยกำราบสามัญชนที่กระด้างกระเดื่อง

มากไปกว่านั้น สมชายให้ความเห็นว่าต่อให้ในปี 2475 จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นไม่หมายรวมถึงการเปลี่ยนแปลงรากฐานทางความคิดของตุลาการ โครงสร้างของระบบตุลาการยังคงเหมือนเดิม อีกทั้งเมื่อเกิดการรัฐประหารปี 2490 ยิ่งเป็นจุดหักเหให้ศาลกลายเป็น ‘ฝั่งขวา’ มากขึ้น ทั้งยังเสริมว่าการรัฐประหารครั้งนั้นมีตุลาการเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ 2490 อยู่ก่อนแล้ว หมายความว่าพวกเขาต่างมีส่วนร่วมในการรัฐประหาร สมชายมองว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ระบบยุติธรรมไทยเป็นเรื่องของกลไกตุลาการที่เชื่อมโยงกับกลไกรัฐในการควบคุมความสงบเรียบร้อยของสังคมมาโดยตลอด

“ที่ผมพูดเรื่องนี้เพราะจะชี้ให้เห็นว่าตุลาการหันขวาอย่างเต็มที่ตั้งแต่ปี 2490 คือมีความเป็นราชาชาตินิยมมากขึ้น สังเกตว่าเวลาศาลอ้างอิงถึงความศักดิ์สิทธิ์ ศาลจะอ้างคำว่า ‘ในพระปรมาภิไธย’ ผมจึงมองว่าตุลาการไทยเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐ และสิ่งที่เห็นศาลทำคือหน้าที่ของกลไกรัฐที่เข้ามาจัดการกับอะไรก็ตามที่รัฐมองว่าเป็นความไม่สงบเรียบร้อย” สมชายกล่าว

หากจะหาความเป็นไปได้ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมดังข้อเรียกร้องของตะวัน-แบม สมชายมองว่าสิ่งสำคัญคือต้องทำให้คนในแวดวงกฎหมายตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและตกผลึกกับตัวเองได้ อีกทั้งเงื่อนไขหนึ่งที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปคือการลุกฮือของนักกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน อาจารย์ ทนายความ และผู้ทำอาชีพในแวดวงกฎหมาย รวมถึงผลักกันให้นักกฎหมายเหล่านี้ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง แสดงความคิดเห็น และแสดงออกทางความคิดเพื่อเรียกร้องความถูกต้องชอบธรรมในกระบวนการยุติธรรมไทย เช่น จัดกิจกรรมยืนหยุดขังตามโรงเรียนสอนกฎหมายต่างๆ

“ผมอยากให้นักกฎหมายมีหัวใจและรู้สึกโกรธบ้าง สิ่งที่อยู่ข้างหน้าเราคือระบบที่วิปริตผิดเพี้ยน เห็นเรื่องแบบนี้ตรงหน้ายังไม่โกรธกันอีกเหรอ ต้องทำยังไงให้นักกฎหมายโกรธกันมากขึ้น ถ้าเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข เราต้องลุกฮือแสดงความไม่เห็นด้วย”

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญไม่แพ้กันคือการปฏิรูปทางวัฒนธรรม เขาเสนอว่าวงการกฎหมายควรยกเลิกวัฒนธรรมให้รางวัลศิษย์เก่าดีเด่นจากการได้ตำแหน่งใหญ่โตในศาล เพราะจะกลายเป็นว่านักเรียนกฎหมายหันไปให้ความสำคัญกับการไต่เต้าสู่ตำแหน่งสูงๆ โดยไม่สนใจการทำงานเพื่อประชาชน ควรปรับการให้คุณค่าต่อนักกฎหมายในสังคมและให้การยกย่องที่ผลงานที่เชื่อมโยงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนแทน แนวทางอาจทำให้นักกฎหมายให้ความสำคัญกับการทำงานอย่างยุติธรรมและถูกต้องตามหลักจรรยาบรรณมากขึ้น และจะเป็นการให้กำลังใจนักกฎหมายที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือสังคมมาโดยตลอด รวมถึงการลุกฮือด้านความรู้ สมชายให้เหตุผลว่าควรเลิกการเรียนกฎหมายแบบท่องจำ เพราะจะทำให้นักกฎหมายยึดมาตรากฎหมายต่างๆ เป็นดั่งคำตอบตายตัว แต่ต้องฝึกให้นักเรียนกฎหมายรู้จักตั้งคำถามมากขึ้น

“เราควรเข้าใจสถานะของผู้พิพากษาใหม่ ผู้พิพากษาก็เป็นคนธรรมดา มีจุดยืน ผลประโยชน์ ความคิดเห็นและอคติส่วนตัว ผมคิดว่าเราต้องให้เห็นว่าสถาบันตุลาการในห้วงเวลาปัจจุบันเป็นเช่นไร ถ้าเราทำให้สถาบันตุลาการคลายความศักดิ์สิทธิ์ลงได้จะเป็นการเปิดทางไปสู่การปฏิรูประบบยุติธรรม”

ความสนใจของประชาชนคือการต่อลมหายใจ

กว่าหนึ่งสัปดาห์ที่ตะวันและแบมอดอาหารและน้ำ มีรายงานจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่าตะวันมีอาการหัวใจจะหยุดเต้นจากการขาดโพแทสเซียม จึงตัดสินใจรับโพแทสเซียมจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แต่ทั้งคู่ยืนยันจะอดน้ำอดอาหารต่อไปโดยไม่ใส่สายน้ำเกลือ ไม่รับเกลือแร่ ไม่กินวิตามิน ไม่กินน้ำหวานและอื่นๆ ท่ามกลางความเป็นห่วงของสังคมว่าจนถึงตอนนี้อาจมีเวลาเหลือไม่มากแล้วก่อนที่ร่างกายของตะวันและแบมจะถึงขีดจำกัด

สมชายให้ความเห็นตามตรงว่าการแก้ไขตามระบบอย่างข้อเรียกร้องนั้นยากที่จะประสบผลในระยะเวลาอันสั้นนี้ เนื่องด้วยขั้นตอนทางกฎหมายยุ่งยาก ซับซ้อน และกินระยะเวลานาน อย่างไรก็ดี เขามองว่าเป้าหมายที่ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษในตอนนี้คือการเรียกร้องให้ผู้บริสุทธิ์ได้รับสิทธิ์ในการประกันตัวออกมาสู้คดีต่อไป ในเบื้องต้นศาลไม่ควรลงทัณฑ์ด้วยการควบคุมตัวไว้ ทั้งยังยอมรับว่าสันติวิธีว่าด้วยการอดอาหารนั้นไม่มีรูปแบบหรือขั้นตอนที่เฉพาะเจาะจงที่จะบอกได้ว่ารูปแบบไหนจะประสบความสำเร็จหรือทำให้ความต้องการบรรลุผลได้ เพราะเป็นวิธีการที่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขปัจจัยแวดล้อมมากมายที่ไม่อาจควบคุมได้

“ข้อเรียกร้องทั้งหมดไม่ได้อยู่เหนือกฎหมาย ไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่พิเศษอะไรเลย แทนที่จะไปถามว่าพวกเขาทำทำไม ต้องกลับมาถามพวกเราทั้งหมดมากกว่าว่าทำไมพวกเราถึงไม่ทำ วิธีที่เราเลือกทำคือเรายังอยู่ในกรอบของระบบที่ดำเนินไปเรื่อยๆ พูดอีกแบบคือเราอดทนได้ เรารอคอยได้ เพราะหวังว่าข้างหน้ามันจะดีขึ้น แต่การอดข้าวอดน้ำคือการข้ามระบบไปเลย”

“ตอนนี้สิ่งที่ทำได้คือการลุกฮือขึ้น ให้การยืนหยุดขังกระจายไปให้ทั่วที่สุด ถ้าทำกันเยอะๆ มันจะต้องสะเทือนระบบ ตอนนี้ประเด็นคือทำอย่างไรให้คนรู้สึกว่าเราต้องลุกฮือ สถานการณ์แบบนี้เราต้องกระตุ้นให้คนรู้สึกว่าเราต้องทำ เราต้องการการกดดันที่กว้างขวาง ให้คนที่ถูกควบคุมตัวได้ออกมาสู้คดีกันต่อไป อย่างน้อยให้ได้ออกมาต่อสู้ด้วยกระบวนการที่มีช่องให้หายใจบ้าง”

สมขายเน้นย้ำว่าสิ่งที่สังคมทำได้และควรทำในตอนนี้คือการช่วยกันออกมากดดันและเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองมาสู้คดี นับเป็นข้อเรียกร้องที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดในตอนนี้ ทั้งนี้ นอกจากแรงกดดันของมวลชนแล้ว เสียงจากนักกฎหมายจะเป็นอีกแรงผลักดันที่สร้างแรงสั่นสะเทือนได้ไม่น้อย สมชายกล่าวว่าหากคนในแวดวงกฎหมายร่วมกันแสดงจุดยืนเคียงข้างประชาชนย่อมสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อกระบวนการยุติธรรมได้ไม่น้อย

“ประเด็นที่จะทำให้เรื่องนี้ใหญ่ขึ้นได้คือเกิดความสูญเสีย ผมไม่ได้หมายความว่าผมอยากให้เกิดความสูญเสีย เพราะถ้าเกิดขึ้นจริงๆ มันจะเป็นประวัติศาสตร์ของกระบวนการยุติธรรมไทยที่จะถูกจารึกอย่างไม่มีวันลบออก จะกลายเป็นตราบาป ถ้าคนในแวดวงตุลาการได้ยินเรื่องนี้ อย่าประเมินหรือให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ต่ำไป เห็นได้ชัดว่าตุลาการมีปัญหามาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อไรที่สถานการณ์เชิงภาพรวมเปลี่ยน ตุลาการจะต้องถูกปฏิรูป”

“ในฐานะนักเรียนกฎหมาย ถ้าอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่านักกฎหมายต้องลุกฮือขึ้นมาในมิติต่างๆ นี่คือเรื่องที่ผมฝันว่าจะได้เห็น” สมชายกล่าว

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save