fbpx
นโยบายแก้จน: บทเรียนจากนักเศรษฐศาสตร์โนเบล 2019 ถึงสังคมเศรษฐกิจไทย

นโยบายแก้จน: บทเรียนจากนักเศรษฐศาสตร์โนเบล 2019 ถึงสังคมเศรษฐกิจไทย

ปี 2019 รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ได้ถูกมอบให้กับ อภิจิต แบนเนอร์จี (Abhijit Banerjee) เอสเธอร์ ดูฟโล (Esther Duflo) และไมเคิล เครเมอร์ (Michael Kremer) สามนักเศรษฐศาสตร์พัฒนาผู้มีส่วนสำคัญในฐานะบุกเบิกความรู้ใหม่ในด้านการแก้ไขความยากจน

ปี 2019 แม้ประเทศไทยจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงมาหลายปีแล้ว แต่การเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจนคือความจริงที่ฟ้องว่า สังคมไทยยังมีปัญหาใหญ่เรื่องการพัฒนา ข้อมูลล่าสุด (ปี 2018) พบว่า ประเทศไทยยังมีจำนวนคนจนกว่า 6,600,000 คน หรือคิดเป็นกว่า 9.5% ของประชากรทั้งประเทศ ไม่ต้องพูดถึงว่า ยังมีอีกคนอีกหลายล้านคนที่อยู่มีชีวิตอย่างเปราะบาง และสุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็น ‘คนจน’ ได้ตลอด

นโยบายแก้จนของไทยเป็นอย่างไร เดินมาถูกทางหรือไม่ และเราเรียนรู้อะไรจากโลกได้บ้าง

คุยกับ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

:: ความจนไม่จางหาย ::

คุยกับ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

อะไรเป็นปัญหาของการคิดเรื่องนโยบายความยากจน ทำไมความยากจนจึงยังเป็นปัญหาของโลกอยู่ ?

ส่วนหนึ่งคือเรายังมีประเทศที่ยากจนอยู่ หมายถึงว่ารายได้ต่อหัวของประเทศนั้นๆ ค่อนข้างต่ำ พอต่ำแล้วยังมีความเหลื่อมล้ำในประเทศด้วย ก็ไม่แปลกที่จะมีบางคนที่รายได้น้อยมากๆ คนที่ไม่มีการศึกษาเลย ไม่มีที่ดิน ไม่มีช่องทางในการจะไปรับจ้างต่างๆ มีคนประเภทนี้จำนวนไม่น้อย เยอะที่สุดอยู่ในแอฟริกา สมัยก่อนอยู่ที่จีนด้วย แต่ว่าจีนประสบความสำเร็จสูงมากในการลดจำนวนคนจนลง ระดับว่ากันเป็นหลายร้อยล้านคน แต่ในจีนก็ยังมีคนจนเหลืออยู่ เพราะฉะนั้นปัญหาคนจนเป็นปัญหาที่จะอยู่ไปเรื่อยๆ

แล้วยังมีประเด็นที่ซับซ้อนกว่านั้น คือบางทีคนหายจนแล้ว พอมีพอกิน มีปัจจัยสี่ครบแล้ว แต่มีความรู้สึกว่าโอกาสของฉันยังไม่เท่าเทียมกับชนชั้นกลาง ซึ่งจริงๆ เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำนะ แต่คนที่รู้สึกอย่างนั้นมักจะเรียกปัญหาของตัวเองว่าเป็นปัญหาของคนจน เพราะฉะนั้นในแง่ของวาทกรรม ปัญหาความยากจนจะไม่หมดไปจากโลกนี้ ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน

:: คนยากจน vs คนอยากจน ::

สิ่งที่ซีเรียสที่สุดสำหรับโครงการที่ต้องไปบอกว่าใครจนหรือไม่จน คือกระบวนการที่บอกน่ะมันพลาด พอมันพลาดก็จะมีทั้งประเภทที่คนไม่จนได้เงิน แล้วคนจนตัวจริงกลับไม่ได้เงิน ซึ่งเป็นปัญหาคลาสสิกมากเมื่อคุณมีการเจาะจง

ยกตัวอย่างเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เจาะจงว่าจะช่วยเฉพาะคนจน ซึ่งก็มีปัญหาตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกว่าใครอยู่ในฐานข้อมูลแล้ว เริ่มจากให้เขามารายงานตัวก่อน ประกาศตัวว่าฉันเป็นคนจน แล้วกระทรวงการคลังก็พยายามไปสกรีนออกว่าคนนี้มีบ้านนะ คนนี้มีเงินฝากนะ จนสุดท้ายเหลือคนจน 14.5 ล้านคน แต่ถ้าใช้นิยามของสภาพัฒน์ฯ คือเกณฑ์รายได้ 3,000 ต่อเดือน ตัวเลขคนจนจะไม่ถึง 14.5 ล้านคน

ปัญหาที่ซีเรียสคือปัญหาคนจนตกหล่น อัตราคนจนตกหล่นในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมี 57% เพราะฉะนั้นเวลารัฐบาลบอกว่าจะเอานโยบายนู่นนี่ให้ผ่านช่องทางสวัสดิการแห่งรัฐ ก็จะไปไม่ถึงมือคนเหล่านั้น แล้วคนไม่ค่อยสนใจ กระทรวงการคลังก็ไม่ค่อยสนใจ ไปสนใจเฉพาะคนอยากจน พยายามกันพวกนี้ออกไปให้เยอะ แต่คุณก็ต้องคิดถึงฝั่งคนจนตกหล่นด้วย

ใจผมอยากเสนอว่า ถ้าอะไรที่เป็นนโยบายสำคัญมากๆ ให้ทำเป็นถ้วนหน้า จะได้ตัดปัญหาเรื่องที่ว่านี้ไปเลย เรื่องคนจนตกหล่นหายไปเหลือศูนย์ แต่คนไม่จนเข้ามาอันนี้ก็ซีเรียสเหมือนกัน เพราะเข้ามาทุกคนเลย ซึ่งก็มีคนที่ไม่ชอบแบบนี้ ทำไมต้องให้คนรวยด้วย ถ้าให้ทุกคนต้นทุนก็สูง ผมจึงคิดว่าถ้าจะทำถ้วนหน้าได้ต้องเป็นนโยบายที่สำคัญจริงๆ เช่น เรื่องเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดไม่ว่ายากดีมีจนยังไง เด็กเหล่านี้ถ้าดูแลดีตั้งแต่ต้นก็จะโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ซึ่งสังคมจะได้ประโยชน์ตอนที่เขาโตขึ้น ผมคิดว่าเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

:: สถานการณ์ความยากจนในประเทศไทย ::

ผมเริ่มเป็นห่วงเรื่องนี้ ทุกครั้งที่เศรษฐกิจไม่ดีจะมีคนจนเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเศรษฐกิจดี โตสัก 3-4% คนจนมักจะลดลง ยกเว้น 2-3 ปีหลังที่คนจนเพิ่มขึ้นทั้งที่เศรษฐกิจโต ปีที่แล้วเศรษฐกิจโต 4.1% ค่อนข้างดี ไม่ขี้เหร่เลย แต่คนจนเพิ่มขึ้น เป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วง

เราเริ่มมีกลุ่มคนกระเปาะหนึ่งที่ติดพื้นข้างล่างแล้ว ต่อให้เศรษฐกิจดียังไงก็จะมาไม่ถึงคนกลุ่มนี้ World Bank ไปศึกษาข้อมูลของปี 2016 ซึ่งเป็นปีที่ความยากจนเพิ่มขึ้น พบว่า สาเหตุที่คนจนเพิ่มขึ้นในปี 2016 เนื่องจากกลุ่มคนที่หัวหน้าครัวเรือนเป็นเกษตรกรและมีการศึกษาต่ำ เป็นกลุ่มที่กลับขึ้นมาเป็นคนจน จากที่ก่อนหน้านี้มีแนวโน้มลดลง

ผมเคยไปทำอีกตัวเลขหนึ่ง พบว่าในคนไทยทั้งหมด 60 กว่าล้านคน มีคนที่อายุเกิน 40 ปี แล้วมีการศึกษาไม่เกิน ป.6 คิดเป็น 40% ของประชากรไทย ซึ่งเยอะมาก แล้วตรงกับที่ World Bank บอกพอดีว่าเป็นกลุ่มคนที่มีปัญหา คือถ้าอายุเกิน 40 แล้วการศึกษาน้อยก็มักจะเป็นเกษตรกร ถ้ากลุ่มนี้เริ่มแสดงอาการให้เห็นว่าต่อให้เศรษฐกิจโตยังไงเขาก็จนมากขึ้นได้ ก็เริ่มน่ากังวล

ไม่แน่ใจว่าสถานการณ์ความยากจนจะเหมือน 40 ปีที่ผ่านมาไหม คือเราก็สบายใจว่าคนจนลดลงเรื่อยๆ แต่ตอนนี้ผมคิดว่ามันเริ่มดื้อยา ยาที่ว่าก็คือการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แล้วผนวกกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี คนกลุ่มนี้ไม่ต้องพูดถึงเลย เขาอายุมากแล้ว เรียนถึง ป.6 เขาปรับตัวกับเทคโนโลยีรุ่นใหม่ไม่ได้เลย คนกลุ่มนี้จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แล้วคิดเป็น 40% ของประชากรไทย นี่เป็นระเบิดลูกใหญ่ของสังคมไทย

ถ้าเขาถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ถ้าเขาเริ่มสู้ใครไม่ได้ในโลกยุคใหม่ ภาครัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือ จะต้องมีระบบประกันสังคม มีสวัสดิการต่างๆ เข้าไปช่วย ซึ่งตรงนี้เรายังทำได้ไม่ค่อยดีนัก ยังมีช่องโหว่ในเรื่องของสวัสดิการ (welfare gap) ที่จะไปดูแลคนยากจนเยอะมาก

:: เก็บภาษีมั่งคั่ง ::

สิ่งที่เราควรจะทำคือการปฏิรูประบบภาษี ต้องยอมรับว่าบ้านเรามีความเหลื่อมล้ำสูงมาก พร้อมกับความจริงที่ว่าเรายังเก็บภาษีจากคนที่มั่งคั่งได้น้อยเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีที่เก็บจากทรัพย์สิน ถ้ารัฐเก็บได้น้อยมาก ก็หมายถึงคนรวยจะเสียน้อยมากเช่นกัน

เรื่องที่ต้องเก็บภาษีจากคนรวยมากขึ้น เราทำได้ไม่ค่อยดีมานานแล้ว นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐไทยไม่มีความสามารถในการดูแลคนยากคนจน เพราะฉะนั้นถ้าเราเก็บภาษีจากคนรวยมากขึ้น ได้เงินมาใช้จ่ายกับคนจนมากขึ้น ก็จะลดความเหลื่อมล้ำทั้งสองฝั่งเลย

แต่ความจริงมันออกมายากมาก เพราะคนที่ออกกฎหมายก็คือคนที่ต้องเสียภาษี เราต้องพยายามเปลี่ยน ผมใช้คำว่า social contract คือสัญญาประชาคม ต้องสร้างจิตสำนึก หรือสัญญาประชาคมในลักษณะที่คนรวยต้องรู้สึกว่าการจ่ายภาษีหรือการช่วยเหลือสังคมเป็นเรื่องที่เขาอยากจะทำจริงๆ

คนรวยดีๆ ที่ช่วยเหลือสังคมมีเยอะมาก แต่ก็มีบางคนบอกว่า ถ้าฉันจ่ายภาษีเยอะ แล้วนักการเมืองเอาไปโกงกิน ฉันก็ไม่สบายใจ รอให้การเมืองไม่มีการคอร์รัปชันเมื่อไหร่ ฉันถึงจะจ่ายภาษี ซึ่งก็เป็นปัญหาไก่กับไข่ ผมไม่อยากให้คิดอย่างนั้น คือต้องทำไปพร้อมๆ กัน

คนรวยในเมืองไทยต้องคิดคล้ายๆ คนรวยในสวีเดนที่พร้อมจะจ่ายภาษีสูง เพราะเขาคิดว่าสังคมที่เสมอภาคเป็นสังคมที่น่าอยู่ คือเขาไม่ได้ทำเพียงเพราะว่าเห็นใจคนจนในประเทศนะ เขาทำเพราะรู้สึกว่าถ้าสังคมเป็นแบบนั้นเขาจะอยู่อย่างมีความสุข

:: แจกเงิน ::

มีทัศนคติหนึ่งของสังคมไทย คือไม่อยากช่วยเหลือแบบให้เปล่า เพราะจะมีความเชื่อว่า การแจกเงินให้คนจน เดี๋ยวคนจนก็ขี้เกียจ งอมืองอเท้ารอรับเงินอย่างเดียว ซึ่งงานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลพบว่ามันไม่จริง การแจกเงินให้เปล่ากับคนจนไม่ได้ทำให้คนจนขี้เกียจขึ้นหรือทำงานน้อยลง เขาสำรวจไปทั่วโลก ผลก็คือเป็นแบบนี้เหมือนกันหมด ไม่ได้ทำให้เขางอมืองอเท้า เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามลดมายาคติแบบนี้ลง

ถ้าคนที่เชื่อใน UBI (Universal Basic Income) จะเชื่อในการแจกเงินไปเรื่อยๆ เพราะเชื่อว่าการแจกเงินจะทำให้คนจนตัดสินใจเรื่องการลงทุนกับมนุษย์ เช่น ไม่มีเงินจะส่งลูกไปเรียนนี่คิดหนักแล้ว แต่ถ้ามีเงินเข้ามาแล้วรู้ว่าเงินจะเข้ามาเรื่อยๆ ไม่หยุด ก็จะกล้าส่งลูกไปเรียน เพราะเป็นการลงทุนระยะยาว แต่ถ้าได้เงินแค่ระยะสั้นๆ จะยังไม่กล้าส่งลูกไปเรียน

ถ้าถามว่าผมคาดหวังอะไร ผมอยากให้สังคมไทยให้ความสำคัญกับสังคมที่จะมีความเสมอภาคมากขึ้น

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economic Focus

19 Apr 2023

นโยบายแจกเงินดิจิทัล: ทำได้ หรือขายฝัน?

วิมุต วานิชเจริญธรรม ชวนมองวิวาทะสองฝั่งของนโยบายแจกเงินดิจิทัลในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย พร้อมให้ข้อเสนอถึงการปรับนโยบายให้ตรงจุดขึ้น

วิมุต วานิชเจริญธรรม

19 Apr 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save