fbpx
บทเรียน 10 ปี 'พฤษภา 53' - 10 คำถาม กับ สมบัติ บุญงามอนงค์

บทเรียน 10 ปี ‘พฤษภา 53’ – 10 คำถาม กับ สมบัติ บุญงามอนงค์

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

 

ภาพจำของสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด นอกจากความเป็นนักคิดและนักกิจกรรมทางสังคม เขายังเป็นผู้สร้างนวัตกรรมในการท้าทายเผด็จการมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย

ในช่วงชีวิตที่เกิดมาเจอรัฐประหารตั้งแต่ปี 2534, 2549, 2557 ไม่มีครั้งไหนที่เขาจะลังเลในการยืนหยัดต่อสู้กับอำนาจนอกระบบ

แต่กับเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 สำหรับเขา อาจบีบคั้นที่สุด เจ็บปวดที่สุด เศร้าตรมที่สุด

รัฐบาลใช้กระสุนจริงสาดใส่ผู้ชุมนุมเสื้อแดง คนตายเฉียดร้อยและอีกไม่น้อยถูกยิงที่หัว เลือดนองเมืองกรุง ควันไฟและกลิ่นไหม้คลุ้งไปทั่วเมือง สมบัติอยู่ตรงนั้น – ที่เกิดเหตุ

ให้หลังไม่กี่เดือนในปีเดียวกัน ระหว่างแกนนำ นปช. ถูกคุมขังรอการไต่สวน เขาพามวลชนที่มีภาวะทรอม่าจากการถูกปราบปรามกลับไปกลางสี่แยกราชประสงค์ เพื่อเอาผ้าแดงไปผูกที่ป้ายสี่แยก เสมือนร่วมกันบำบัดเยียวยาและประกาศว่าคนเสื้อแดงยังอยู่…

แต่การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่เรียบง่ายและลึกซึ้งของเขากลับมีต้นทุนที่ต้องแลกด้วยการถูกจับกุมคุมขังในหลายคดีที่สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ผ่านมา 10 ปี 19 พ.ค. 2563 เขาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เรื่องที่ผมไม่เคยเขียนเล่าในที่สาธารณะสำหรับเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค. 53 เรื่องหนึ่งคือ

ตอนที่เวทีใหญ่ที่ราชประสงค์ถูกล้อมและมวลชนไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ ผมมาช่วยครูประทีปที่เวทีย่อยคลองเตย หลังจากขึ้นพูดบนเวที Thanathorn Juangroongruangkit ได้มาคุยกับผมที่หลังเวทีและเล่าปัญหาที่ถนนราชปรารภว่ามีประชาชนโดนยิงที่นั่นหลายคนมาก (น้องเฌอเป็นหนึ่งในนั้น) เพราะมวลชนพยายามหาทางเข้าไปที่เวทีใหญ่ แต่ทหารยิงสกัด ผมถามธนาธรว่าเขาต้องการให้ผมทำอะไร ?

“พี่หนูหริ่งต้องไปตั้งเวทีที่สามเหลี่ยมดินแดงเพื่อไม่ให้คนหลุดเข้าไปในแดนสังหาร”

ไม่ต้องคิดอะไรมาก ผมปฏิเสธทันที ผมจะไปรับผิดชอบชีวิตคนได้อย่างไร ถ้าผมตั้งเวทีแล้วคนยังเข้าไปในราชปรารภเขาไม่เชื่อผมเกิดเจ็บตายขึ้นมา คนตั้งเวทีอยู่ตรงนั้นจะไม่กลายเป็นการส่งคนเข้าไปตายเหรอ

ผมปฏิเสธเสียงแข็ง

“ขออภัยครับเอกผมทำสิ่งนั้นไม่ได้”

การสนทนาก็จบลง ผมเดินไปยังพื้นที่โดยรอบๆ เวทีที่คลองเตยสักพักใหญ่ ธนาธรมายืนข้างผมอีกครั้ง

“ถ้าพี่ไม่ช่วยจะมีคนโดนยิงและตายที่นั่นอีกเยอะ เราไม่มีทางอื่นนอกจากตั้งเวทีเรียกคนให้ออกห่างจากถนนราชปรารภ”

ผมสบถในใจที่ได้ยินเอกพูดแบบนั้นกับผมเป็นครั้งที่สอง จริงๆ ผมโกรธเขามากที่เอาภาระนี้โยนใส่บ่าผม

แล้ววันรุ่งขึ้นผมก็ยืนอยู่บนรถหกล้อที่มีชุดเครื่องเสียงตรงสามเหลี่ยมดินแดง เพื่อทำภาระกิจที่ผมกลัวที่จะทำ

101 ชวนสมบัติตอบ 10 คำถาม เพื่อย้อนทบทวนเหตุการณ์ในอดีต ท่ามกลางเสียงปืนและความตายที่ยังกึกก้องและติดตาอยู่ในความทรงจำ เขามองไปข้างหน้าอย่างไร

 

 

1. ในสายธารของประวัติศาสตร์การต่อสู้และสูญเสีย อะไรบ้างคือสิ่งที่คนเสื้อแดงเรียนรู้

ผมคิดถึงอย่างที่คนอื่นเขาบอกว่า “ยิงจริง ตายจริง” และคำที่มักพูดกันคือ “ประชาธิปไตยไม่ได้มาจากการร้องขอ แต่มาจากการต่อสู้และแลกด้วยเลือดเนื้อของประชาชน”

ต่อให้แลกแล้วก็ยังไม่ได้ด้วยนะ นี่เป็นการพิสูจน์หลักคิดชุดนี้ว่ายังเป็นจริงอยู่

ในทางการเมือง ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงแสดงว่าพลังของอีกฝ่ายหนึ่งได้รับชัยชนะ ฉะนั้นประชาธิปไตยไม่ได้หล่นมาจากฟ้าที่ไหนหรอก มันเกิดจากพลังหรือความชอบธรรมที่สูงพอที่จะทำให้ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

บทเรียนใหญ่ของสังคมคือความรุนแรงไม่ได้ให้ประโยชน์กับใคร แม้แต่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ไม่ได้ประโยชน์ ลองบวกลบคูณหารแล้วสังคมได้ประโยชน์ไหม ไม่ได้ บอบช้ำกันมาหลายปี คนที่อยู่ในเหตุการณ์ก็ลืมไม่ได้

ที่เห็นคนไปฉายเลเซอร์บนตึก #ตามหาความจริง ก็สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนเขาขอเรียกค่าใช้จ่าย มันไม่ใช่ค่าใช้จ่ายแบบเป็นเงินทอง แต่ว่ามีคนเป็นหนี้ชีวิตกันอยู่ มันมีการทวงถามกันอยู่ แม้จะรู้ว่าคนที่เป็นหนี้จะชักดาบหรือไม่สนใจ

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่มีใครได้ประโยชน์ แม้แต่ทหารผมก็เชื่อว่าเขาไม่ได้ประโยชน์ ลองบอกใครสักคนที่ได้ประโยชน์ ผมยังนึกไม่ออกเลย แต่ถามว่าใครเสียหนักที่สุดคงบอกได้

ถ้าเราทบทวนเหตุการณ์ครั้งนั้น คำถามคือข้อเรียกร้องประชาชนในเวลานั้นคืออะไร คือขอให้คุณอภิสิทธิ์ประกาศยุบสภา เป็นข้อเรียกร้องที่เคยเกิดขึ้นในรัฐบาลจำนวนมาก นายกรัฐมนตรีหลายๆ คนถูกเรียกร้องให้มีการยุบสภาหรือลาออก แต่คุณอภิสิทธิ์ปฏิเสธ แทนที่หยุดการชุมนุมโดยการยุบสภา แต่กลับเลือกใช้วิธีการสลายการชุมนุมแทน

การใช้ความรุนแรงในวันนั้น แน่นอนว่าทำให้ม็อบจบ อย่างน้อยก็ทำให้เขาออกจากถนนไปได้ แต่ไม่นานเขาก็กลับเข้ามาใหม่อีกในรูปแบบคือแฟลชม็อบ อีก 4 เดือนต่อมา ทุกวันอาทิตย์มีแฟลชม็อบกันทุกสัปดาห์ และมีผลต่อวัฒนธรรมหรือแนวทางของการชุมนุมต่อมาในอนาคต

สมัยรุ่นผม เวลาที่พ่อแม่ผมเห็นว่าลูกหลานไปทำกิจกรรม คนรุ่นพ่อแม่จะบอกลูกหลานว่าอย่าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะว่าพ่อแม่ผมเคยเห็นเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มาแล้ว ดังนั้นคนที่อยู่ในยุคสมัยของปี 53 ก็ย่อมมองเห็นว่ารัฐไทยอาจจะใช้วิธีการเฉกเช่นเดียวกับเหตุการณ์ปี 53 กระทำต่อลูกหลานของเขา แต่ถามว่ามันจะเกิดเหตุการณ์แบบเดิมในปี 65 ปี 70 หรือไม่ อันนี้ไม่รู้ มันอยู่ในใจ มีความกังวลไหม มี

แต่ความกังวลนี้จะมีผลต่อการชุมนุมหรือไม่ ผมคิดว่ามันจะไม่ถึงขนาดที่ปิดกั้นได้ เหมือนน้ำที่คุณพยายามจะขังไว้ แต่ว่าถ้ามีปริมาณน้ำมากเพียงพอ สะสมไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดมวลมหาศาล ต่อให้เป็นอะไรที่คุณสร้างไว้เช่นเขื่อน มันก็จะพังทลายลงไป

การที่คุณจะควบคุมพลังความโกรธแค้นของประชาชน ถ้าคุณไม่ไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของความโกรธแค้นนั้น วันหนึ่งคุณจะต้องจ่ายแพงมาก

ลองดูพรรคประชาธิปัตย์ในตอนนี้ ผมบอกไม่ถูก มันแย่มาก บุคคลทางการเมืองจำนวนมากที่ถูกลดทอนความน่าเชื่อถือหรือแม้แต่ศรัทธาที่มีต่อกันก็ถูกลดทอนไปจำนวนมาก ผมคิดว่าผู้คนสูญเสียศรัทธาต่อคนกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนหรือเข้าไปเป็นผู้กระทำในปี 53 เยอะมาก นี่เป็นราคาที่ต้องจ่าย

 

2. ภาพความประทับใจส่วนตัวของคุณที่ได้ร่วมเป็นหนึ่งในขบวนการเสื้อแดงคืออะไร

ภาพตั้งแต่วันที่ประชาชนเดินทางมาจากต่างจังหวัดเข้ามาในเมือง ในมุมมองผมน่าตื่นเต้นมาก ผมเคยคิดว่ากรุงเทพฯ ก็คล้ายๆ หมู่บ้านจัดสรรที่คนนอกเข้าไม่ได้ เป็นเมืองที่อยู่ดีๆ ชาวบ้านก็ไหลเข้ามาเต็มเมืองเลย เป็นเรื่องอัศจรรย์มาก และเขาไม่ได้มาในลักษณะมาขอทำงานด้วยนะ แต่มาในสถานะว่าเขาเป็นเจ้าของประเทศนี้ เป็นเจ้าของกรุงเทพฯ ด้วย

ส่วนที่เป็นเรื่องส่วนตัว ผมคิดถึงวันที่ผมไปผูกผ้าแดงที่ราชประสงค์ ผมรู้สึกถึงปมในใจตัวเอง เพราะผมไม่ยอมขึ้นเวทีที่ราชประสงค์กับที่ราชดำเนินเลย ผมอาจจะไปขึ้นเวทีย่อยๆ บ้าง แต่เวทีใหญ่ผมไม่ขึ้น ไม่ใช่ว่าเขาไม่ให้ขึ้นนะ เขาชวนให้ขึ้น แต่ผมไม่พร้อมที่จะขึ้น

พอหลังเหตุการณ์ ผมก็มาผูกผ้าแล้วทำหน้าที่เป็นตัวแทนของคนเสื้อแดงที่จะรวบรวมคนที่ยังเหลืออยู่ในสนาม เพราะว่าแกนนำถูกจับหมดแล้ว มันเหมือนฉากที่ทัพแตก คุณเคยดูหนังสงครามไหม ตอนทัพแตกมันจะมีทหารกระจัดกระจายกันอยู่ แล้วก็พวกพลทหารค่อยๆ มาเจอกันหลังรอดตาย ทำนองนี้

แล้วปรากฏว่าเรากลับมารวมได้ใหญ่มาก อัศจรรย์มาก ภาพวันที่ 19 กันยายน 2553 วันนั้นมีคนเสื้อแดงกลับมาที่ราชประสงค์ประมาณสี่หมื่นคน เป็นปริมาณที่เท่ากับการชุมนุมใหญ่เสื้อแดงในเดือนพฤษภาคมได้เลย

อารมณ์แบบนี้ผมเรียกว่าการลุกขึ้นยืน เคยล้มไปแล้วก็ยืนขึ้นมาแล้วบอกว่ากูยังไม่ตายยังมีจิตวิญญาณอยู่

การออกไปผูกผ้าแดง ทำให้ผมคิดถึงสมัยเหตุการณ์สึนามิ เวลานั้นผมไปตั้งศูนย์ประสานงานอาสาสมัครสึนามิ ทำงานฟื้นฟูชุมชนระยะยาวสามปี ผมอยู่ที่นั่นเก้าเดือน มีเหตุการณ์ที่น่าอัศจรรย์มาก คือหลังเหตุการณ์สึนามิ มีเด็กจำนวนหนึ่งกับครอบครัวชาวเลที่เขาหนีจากชายฝั่งทะเลขึ้นไปอยู่บนภูเขา เพราะบ้านเขาพังหมด เราไปเจอพวกเขาอีกทีคืออยู่บนภูเขาแล้ว อยู่นานหลายเดือนมาก และเขาไม่กล้ากลับไปที่ทะเลอีก

เราจึงทำกิจกรรมพาเด็กกลับทะเลโดยการชวนพวกเขาไปเล่นน้ำแทน ระหว่างที่เด็กๆ เล่นน้ำ วันนั้นมันมีเมฆฝน มีเสียงท้องฟ้าคำราม เด็กตกใจมาก เหมือนเขามีความกลัวตกค้างอยู่ลึกๆ แต่สุดท้ายเด็กก็สามารถกลับไปที่หาดทราย วิ่งเล่น ตะโกนเหมือนที่เขาเคยมาก่อนเกิดเหตุการณ์สึนามิได้

ภาพเหล่านี้มันเป็นกระบวนการด้านในที่ใหญ่มาก เพราะเขาเกิดมาบนทะเล มันไม่มีเหตุผลที่ต้องกลัวทะเล แต่สึนามิสร้างบาดแผลในใจเขา

เรื่องเหล่านี้ทำให้ผมนึกถึงคนเสื้อแดงที่ไม่กล้ากลับไปที่ราชประสงค์ ผมจำได้ว่ามีคนบางคนกลับไปที่ราชประสงค์แล้วจิตใจข้างในมันบอบช้ำมาก ตอนผมชวนคนเสื้อแดงกลับไปผูกผ้าแดงทำให้ผมนึกถึงเรื่องเด็กชาวเลกลุ่มนั้น ผมคิดว่าเราจะต้องยืนขึ้นให้ได้ เพราะขบวนใหญ่ โดยเฉพาะ นปช. มันย่อยยับพอสมควร เวลานั้นเหลือแกนนำแค่คุณจตุพร พรหมพันธุ์ กับอาจารย์ธิดา ถาวรเศรษฐ ซึ่งทั้งคู่ขยับอะไรไม่ได้เลย

 

3. ในความสูญเสียที่เกิดขึ้น อะไรคือความเจ็บปวดที่ฝังลึกอยู่ในใจคุณมากที่สุด

ผมมีสองภาพ ภาพหนึ่งคือการใช้กำลังทหาร ใช้กำลังอาวุธปราบปราม อันนี้สะเทือนใจที่สุดแล้ว และทุกคนคงรู้สึกร่วมกันในจุดนี้

แต่ภาพที่สองคือภาพขบวนการบิ๊กคลีนนิ่งที่เข้ามาล้างคราบเลือด สำหรับผมซับซ้อนมาก ผมไม่ได้เกลียดคนพวกนี้ แต่ผมรู้สึกเศร้าว่าทำไมเขาถึงรังเกียจคนเสื้อแดงได้ขนาดนั้น

กิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งเดย์เหมือนกิจกรรมล้างสิ่งสกปรก เหมือนเลือดของผู้เสียชีวิตเป็นสิ่งสกปรก เลือดของนักต่อสู้เป็นสิ่งสกปรกบนแผ่นดินนี้ คุณต้องล้างมันออกไป แต่ผมคิดว่าเขาคงไม่ได้คิดอะไรซับซ้อนขนาดนั้นหรอก ผมเชื่อว่าคนพวกนี้เป็นคนใสๆ ที่อยากเห็นบ้านเมืองสะอาดเป็นคนรักความสะอาดหรืออะไรสักอย่าง แต่สำหรับผมมันเจ็บปวดมาก

 

4. ภาพความหยาบคาย ก้าวร้าวรุนแรงที่คนเสื้อแดงได้รับ จนถึงวันนี้คุณคิดกับคำเหล่านี้อย่างไร

ผมคิดว่าโดยธรรมชาติของม็อบ ไม่ว่าจะม็อบสีไหนก็แล้วแต่ มันจะมีกลิ่นอายเรื่องทำนองนี้อยู่ไม่มากก็น้อย เป็นธรรมชาติของม็อบแบบหนึ่ง เราคงอยากจะเห็นม็อบที่ไม่มีความรุนแรง ไม่มีการหยาบคาย แต่สุดท้ายมันก็จะมีสิ่งเหล่านี้หลุดออกมาเสมอ แต่ผมไม่คิดว่านั่นเป็นภาพใหญ่จริงๆ ไม่ว่าจะสีไหนด้วยนะ มันไม่ใช่ภาพใหญ่

ผมยังเชื่อว่ามวลชนส่วนใหญ่ไม่ได้คลุ้มคลั่งขนาดนั้น อาจจะมีบางคนที่แรงไปตามปี่กลองที่ดังขึ้นมา และต้องเข้าใจว่าบางทีก็เป็นรีแอกชันจากการถูกกระทบกระทั่งโดยรัฐในเวลานั้น ถ้ารัฐกดมาก รีแอกชันก็จะแรงมากเพื่อเป็นการตอบโต้ นี่เป็นกับดักหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมือง

 

5. อะไรคือความผิดพลาดของคนเสื้อแดงในปี 2553

ผมพูดตรงๆ ผมคิดว่าคนเสื้อแดงไม่เข้าใจเรื่องผลกระทบของการปิดราชประสงค์ คุณไปปิดตั้งแต่เซ็นทรัลเวิลด์ สยามพารากอน มาบุญครอง เกษรพลาซ่า สี่ห้างนี้เป็นห้างที่คนในกรุงเทพฯ มีประสบการณ์ร่วม มีภาพจำ เพราะทุกปีเขาก็เคาต์ดาวน์กันที่เซ็นทรัลเวิลด์ คนพวกนี้ไม่ว่าจะมีแฟนคนแรกหรือแฟนคนที่เท่าไหร่ก็แล้วแต่ เขาก็จะพาไปแถวๆ นี้แหละ

แต่การชุมนุมของคนเสื้อแดงเข้าไปใช้ที่ของคนกรุงเทพฯ ผมเรียกเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนกรุงเทพฯ เหมือนกับเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณ (หัวเราะ) เป็นศาสนสถานแบบหนึ่งในโลกทุนนิยมที่ผู้คนจะไปใช้สถานที่นี้ประกอบพิธีกรรมทางการบริโภค

ลองคิดดู คุณเอาผ้าขาวม้าไปพาดหน้าพารากอน ซักกางเกงเสร็จแล้วเอาไปตากอยู่ตรงราวเหล็ก คนที่เดินพารากอนบ่อยๆ มาเห็นภาพนี้จะกรี๊ดไหม ในมุมของคนกรุงเทพฯ มันเหมือนถูกเหยียด ไม่เคารพต่อคุณค่าในระบบบริโภคนิยมของเขา

มากกว่านั้นยังตั้งส้วมกันหน้าห้างฯ ชีวิตคุณจะได้เจอภาพแบบนี้เหรอถ้าไม่มีคนเสื้อแดง มันเป็นสถานที่ถูกสร้างเป็นแลนด์มาร์กของกิจกรรมด้านบริโภคนิยม พอคนเสื้อแดงเข้าไปยึดเลยทำให้คนกรุงเทพฯ โกรธมาก แล้วพอมีไฟไหม้เซ็นทรัลเวิลด์ ไหม้โรงหนังสยาม มันใจหายสำหรับพวกเขา

ผมพูดแบบนี้เหมือนอีเดียดนะ แต่ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้คู่ต่อสู้ของคนเสื้อแดงไม่ได้มีแค่รัฐในเวลานั้น รัฐสามารถสร้างแนวร่วมและนำไปสู่การออกใบอนุญาตฆ่าได้

จริงๆ แล้ว ศอฉ.ในเวลานั้นสามารถที่จะสลายการชุมนุมได้ตั้งแต่ต้นแล้ว กำลังทุกอย่างพร้อมหมดแล้ว แต่ขาดอย่างเดียวก็คือความชอบธรรม รัฐรอจนมีใบอนุญาตออกมา เวลานั้นพระบางรูปก็พูดว่าฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน วาทกรรมแบบนี้สามารถเป็นตัวแทนความรู้สึกนึกคิดของคนไม่น้อยในกรุงเทพฯ ที่สนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงในเวลานั้น เพราะถ้ารัฐบาลไม่ได้รับใบอนุญาตก่อน กระแสทางการเมืองจะย้อนกลับและควบคุมไม่ได้

 

 

6. 10 ปีที่ผ่านมา คุณมองเห็นอะไรจากภาวะ ‘ตาสว่าง’ มาสู่ความตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่

ตาสว่างหมายถึงเราเคยมองไม่เห็น เหมือนอยู่ในห้องมืดๆ หรือที่สลัวๆ แล้วก็คิดอ่านไปเองว่าภาพที่เราเห็นทั้งหมดของห้องนี้มันเป็นแบบนี้ แต่พอเกิดปรากฏการณ์ตาสว่าง เราสามารถมองเห็นปัจจัยและตัวละครทั้งหมดในห้องได้ เหมือนอยู่ดีๆ ก็เปิดสวิตช์ไฟในห้อง ก่อนหน้านี้เรานอนอยู่แล้วได้ยินเสียงก๊อกๆ แก๊กๆ เราก็สงสัยว่าเสียงอะไร แต่พอเปิดไฟมันเห็นทั้งหมด ปรากฏการณ์ตาสว่างทำให้ภาพชัดขึ้นและจิ๊กซอว์ทางการเมืองทั้งหลายมันแจ่มแจ้งขึ้น มีความเข้าใจมากขึ้นถึงความสลับซับซ้อนของปัญหาทางการเมือง

ถามว่าสิบปีผ่านมาตาสว่างมันเป็นยังไง ผมคิดว่ามันก็ยิ่งสว่างมากขึ้นเรื่อยๆ นับวันทุกคนที่มองเห็นปัญหาทางการเมือง เห็นความเชื่อมโยงของกลุ่มพลังอำนาจต่างๆ ในสังคมไทยชัดเจนขึ้น เราเห็นว่าการเมืองไทยมีความสลับซับซ้อน ไม่ใช่มีเพียงแค่บุคคลทางการเมือง ไม่ใช่ว่าทั้งหมดเกิดขึ้นที่ทักษิณคนเดียว มันเริ่มมีตัวละครอื่นๆ เพิ่มขึ้น เห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มันเชื่อมโยงกันมากขึ้น

แม้แต่คนรุ่นใหม่ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ ก็ทำให้เห็นพลังความสนใจทางการเมืองมากขึ้น การวิพากษ์วิจารณ์ การอธิบายโครงสร้างหรือปรากฏการณ์ทางการเมืองยิ่งแหลมคมมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อก่อนนี้ความตื่นตัวทางการเมืองของเสื้อเหลืองขยายอยู่ในกลุ่มคนชั้นกลางขึ้นไป พอเสื้อแดงก็เป็นการตื่นตัวของชนชั้นกลางลงมา แต่ว่าคนหนุ่มสาวบางส่วนที่เคยหลับใหลมาทั้งสองขบวนเลยก็มาตื่นตัววันนี้

 

7. จากบทเรียนที่ผ่านมาของคนเสื้อแดง คุณคาดหวังหรืออยากแนะนำอะไรกับกลุ่มพลังใหม่ในอนาคต

คนที่เคยผ่านกิจกรรมทางการเมืองมาโชกโชนในอดีต เวลาจะโดดเข้าไปร่วมกิจกรรมใดๆ ในวันนี้ เขาต้องคำนวณและประเมินแล้วว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าหรือไม่ หรือต้องรอศักยภาพใหม่ เพราะว่าศักยภาพเดิมมันยังไม่สามารถฝ่าแนวรับของอีกฝ่ายหนึ่งได้ แถมยังสร้างความเสียหายจำนวนมาก ถ้าจะมีใครนำขบวนอีกรอบหนึ่งก็ต้องทำให้เชื่อได้ว่าจะมีโอกาสจะเปลี่ยนผ่านไปได้ นำไปสู่ความก้าวหน้าทางการเมืองได้จริง

การเคลื่อนไหวทางการเมือง หากเคลื่อนโดยที่ไม่คำนึงถึงกลุ่มต่างๆ จะเป็นการสร้างแนวร่วมมุมกลับให้อีกฝ่าย เสื้อแดงเป็นปฏิกิริยาจากเสื้อเหลือง และสลิ่มก็เป็นปฏิกิริยาจากเสื้อแดง

ขบวนการนักศึกษาต้องระมัดระวังการสร้างแนวร่วมมุมกลับให้มาก เพราะคู่ต่อสู้ของคุณจะใช้แนวร่วมมุมกลับนี้ในการทำให้ขบวนการต่อสู้รวน และรัฐก็จะใช้ความชอบธรรมนี้กระทำต่อคุณอีกทีหนึ่งในภายหลัง

ดังนั้น พื้นที่การต่อสู้ที่แท้จริงไม่ใช่บนถนน สนามต่อสู้ที่แท้จริงคือการรับรู้และวิธีคิด ความเข้าใจและระบบคุณค่าทางการเมือง ซึ่งมันอยู่ในหัวของคนไทย นี่ต่างหากที่เราจะต้องทำ ส่วนปฏิบัติการการชุมนุมเป็นแค่เครื่องมือหนึ่งที่จะเรียกร้องทำให้เกิดความสนใจเพื่อสื่อสารกับสังคม

 

8. ความท้าทายของการประท้วงรอบใหม่อยู่ตรงไหน เมื่อต้องเผชิญทั้งโควิด กฎหมาย แก๊สน้ำตา กระทั่งกระสุนจริง

โดยปกติแล้วรัฐบาลคุณประยุทธ์นี่ไม่มีสิทธิ์ที่จะขึ้นมาเป็นรัฐบาลได้ แต่ผมคิดว่าคนไทยเกลียดคุณประยุทธ์ไม่พอ ประยุทธ์ที่ไม่ใช่นายประยุทธ์นะ แต่ในฐานะเป็นผู้มีอำนาจหรือเป็นตัวแทนของคนที่ใช้อำนาจ คนไทยเกลียดสิ่งนี้ไม่เพียงพอ มันไม่เหมือนในพม่าที่เขาไม่พอใจรัฐบาลทหารอย่างรุนแรงเพียงพอที่จะลุกไปเปลี่ยนแปลง มันต้องการปริมาณอย่างล้นหลามกว่าที่เป็นอยู่

เมื่อคุณภาพทางความคิดของประชาชนสูงขึ้น ก็จะนำไปสู่ปริมาณของประชาชนที่เป็นแนวร่วมมากขึ้น เมื่อปริมาณของประชาชนที่ต้องการสร้างประชาธิปไตยหรือล้มล้างเผด็จการมีมากพอ มันจะทำให้พื้นที่ยืนของเผด็จการหดแคบลงเรื่อยๆ จนไม่มีที่ยืนเอง จะเป็นการปรับเปลี่ยนรัฐบาลหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่พลังของความต้องการประชาธิปไตยต้องเยอะกว่าที่เป็นอยู่

 

9. การเมืองไทยในรอบทศวรรษที่ผ่านมา อะไรที่เซอร์ไพรส์คุณมากที่สุด

สำหรับผม การเกิดพรรคอนาคตใหม่เซอร์ไพรส์ที่สุด และการถูกยุบไปก็เป็นธรรมดา เพราะผู้มีอำนาจต้องไปทำลายขบวน กลไก ต้องทำลายโครงสร้างรวมถึงแม่ทัพใหญ่ มันเป็นเรื่องปกติในสนามรบ

แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มีทางไปต่อนะ เพียงแต่มันจะเข้มแข็ง เดินได้ตรงๆ ตามที่อยากจะเดินแบบในตอนต้นไหมก็คงเดินไม่ง่าย เส้นทางยากลำบากมากขึ้น แต่ส่วนตัวผมประทับใจกับการเปิดปรากฏการณ์ของพรรคอนาคตใหม่มาก

ผมเซอร์ไพรส์ที่มีคนสนับสนุนเยอะมาก เขาสามารถพาคนที่ไม่เคยร่วมหรือเห็นชอบกับขบวนการไหนให้มาร่วมกันได้ และพูดตรงๆ คือสามารถรวมคนที่ไม่เห็นด้วยกับเสื้อแดง หรือแม้แต่คนที่เคยไปเป่านกหวีดก็ยังข้ามฝั่งมาสนับสนุนอนาคตใหม่จำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญได้

 

10. อนาคตพรรคเกียน (เกรียน) ที่คุณสร้างขึ้นกับที่ทางทางการเมืองในอนาคตจะเป็นอย่างไร

วันนี้พรรคเกียนไม่ได้อยู่ในสภา แต่พรรคเกียนอยู่ในทางการเมือง พอมีเลือกตั้งเดี๋ยวผมก็ออกมาอีก มันไม่ใช่เป็น fake party คนจะกล่าวหาว่าผมตั้งใจเป็นพรรคการเมืองปลอม แล้วก็ทำเนียนมาเป็นพรรคการเมืองหรือเพื่อจะมาใช้พื้นที่ทางการเมืองเล่น อันนั้นก็ส่วนหนึ่ง แต่จริงๆ ผมคาดหวังว่าพรรคเกียนจะสามารถเข้าไปได้

ชีวิตผมมีเวลาอีกยี่สิบปี เวลานี้ไม่ใช่วันของพรรคเกียน รัฐธรรมนูญแบบนี้ทำให้เราทำการเมืองในระบบไม่ได้ ถ้าพรรคเกียนจะมีที่นั่งในสภา ต้องไม่ใช่แบบ ส.ส.ปัดเศษ และพูดตรงๆ สมมติผมเข้าไปได้ในระบบแบบนี้ มันก็เป็นแค่สีสัน แต่มันไม่สร้างอะไรใหม่ แต่ถ้ามีรัฐธรรมนูญแบบปี 40 ผมมั่นใจว่าผมจะนำเพื่อนจำนวนหนึ่งเข้าไปเขย่าสภาได้

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save