fbpx
กระดูกสันหลังของ 'เกียน' กับ สมบัติ บุญงามอนงค์

กระดูกสันหลังของ ‘เกียน’ กับ สมบัติ บุญงามอนงค์

ธิติ มีแต้ม เรียบเรียง

ถ้าหลับตาพูดถึง ‘Social Movement’ ในสังคมไทย ชื่อเสียงและใบหน้าของ ‘หนูหริ่ง’ สมบัติ บุญงามอนงค์ มักลอยมาเป็นอันดับต้นๆ เสมอ 

จากเอ็นจีโอหนุ่มที่ผ่านงานขับเคลื่อนผลักดันให้ชาวเขาไร้สัญชาติที่เชียงราย ซึ่งสังคมมองว่าเป็นพวกค้ายา หลบหนีเข้าเมือง ให้เปลี่ยนมุมมองใหม่มาคิดถึงสิทธิในความเป็นมนุษย์กระทั่งเกิดการแก้ไข พ.ร.บ.สัญชาติ

จากผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงาที่ขับเคลื่อนเรื่องคนหาย เปลี่ยนการรอคอยมาสร้างระบบการตามหาให้ได้มาตรฐาน

จากอาสาสมัครที่ชักชวนคนหนุ่มสาวให้ร่วมกันไปช่วยเหลือ-ตามหาผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในเหตุการณ์สึนามิปี 2547 สู่การระดมคนช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมใหญ่ปี 2554

จากแกนนำคนเสื้อแดง สู่แกนนอนที่สร้างกระบวนการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ เพื่อลดการเผชิญหน้าบาดเจ็บล้มตาย

จากผู้ต่อต้านรัฐประหารสู่การก่อตั้ง ‘พรรคเกียน’ ที่เขาให้นิยามตัวเองว่าเป็น “ผู้นำความบันเทิงสู่การเมืองไทย”

อะไรคือกระดูกสันหลังของนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนแบบเขา อะไรคือภาพการเมืองที่เขาวาดฝัน

ก้าวต่อไปของการทำพรรคการเมืองที่ชื่อแสลงหูผู้มีอำนาจจะเป็นอย่างไร

101 One on One ชิ้นนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยมี ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ถาม – หนูหริ่งตอบ 

สมบัติ บุญงามอนงค์

คุณมองว่าการเมืองภาคประชาชนสำคัญอย่างไร ต่างกับ Social Movement ยังไง

ผมจะพูดถึง movement ของคนในสังคมช่วงเวลานี้ก่อน สัก 5 ปีมานี้ ผมว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่เหลือเชื่อ มันค่อนข้างเอาเรื่องเอาราว และไม่ได้เกิดจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มเอ็นจีโอที่แอคทีฟหรือมีชื่อเสียง เช่น ประเด็นการเคลื่อนไหวเรื่องหมาแมว มันเริ่มมาจากห้องจตุจักรในเว็บไซต์พันทิปก่อน และสังคมมีส่วนร่วมมาก ผมรู้สึกว่าสังคมพร้อมออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ทันทีเลย ทำให้เกิด พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ตามมา สิ่งเหล่านี้เป็น movement ที่มันจริงมากๆ เป็นขบวนการที่ไม่มีผู้นำเหมือนประเด็นอื่นๆ ที่ผู้นำจะโดดเด่นมาก มันทันสมัยและไม่ใช่การจัดตั้งแบบเอ็นจีโอที่ต้องมีพื้นที่ให้ลงไปจัดตั้ง

ผมมองว่าขบวนการหมาแมวมีแนวโน้มจะใหญ่ที่สุดในโลกด้วย รู้สึกว่าที่อังกฤษจะมีพรรคสำหรับคนรักสัตว์ เป็นพรรคการเมือง ที่ตั้งขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิของสัตว์ด้วย 

ส่วนการเมืองภาคสังคม มันสะท้อนจิตสำนักของประชาชนว่าตัวคุณนั้นเป็นใคร สมมติว่าคุณเป็นเจ้าของประเทศ ท่าทีของคุณมันจะเป็นท่าทีแบบแอคทีฟ สนใจการมีส่วนร่วม การเมืองภาคประชาชนเป็นการเมืองของคนในสังคมที่คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของประเทศ ถ้าคนที่คิดว่าประเทศนั้นมันไม่ใช่ของเขา แค่มาเที่ยวหรืออะไรก็ตาม เขาจะไม่ movement อะไรมาก เขาไม่รู้สึกหวงแหน หรืออยากจะผลักดันให้ประเทศดีขึ้น การเมืองภาคประชาชนมันสะท้อนสำนึกของความเป็นประชาธิปไตย

ทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดง เรื่องหมาแมว การคัดค้านสร้างเหมือง ทั้งหมดนี้เป็นการเมืองภาคประชาชนหมดเลยไหม

ใช่ มันคือการเมืองภาคประชาชน เพราะเขารู้สึกเป็นเจ้าของประเทศนี้ แต่จะเป็นประชาธิปไตยไหมอีกเรื่องหนึ่ง อย่างเรื่องคนผิวสี คนผิวขาวก็จะรู้สึกเป็นเจ้าของประเทศ เพราะบรรพบุรุษเข้ามาจับจองปลดแอกจากอังกฤษ เป็นเผ่าพันธุ์แรกที่สร้างอเมริกา แล้วทาสผิวดำเข้ามาทีหลัง จนเกิดปัญหาสีผิว นี่เป็นการเมืองภาคประชาชนแบบฟาสซิสต์ แต่ถ้าจะเป็นประชาธิปไตยได้ มันต้องเป็นสังคมที่เห็นหัวคนอื่นด้วย ต้องแคร์กัน

เมื่อไหร่ก็ตามที่การเคลื่อนไหวภาคประชาชนเคารพความหลากหลาย ก็จะใกล้เคียงการเมืองภาคประชาชนที่เป็นประชาธิปไตย

คุณคิดว่าการเมืองภาคประชาชนต่างกับสมัยก่อนหน้านี้อย่างไร ถ้ามองช่วงที่ผ่านมา รัฐมีการออกกฎหมายโดยที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ เลย

มันหงอลงเยอะ เพราะการเมืองภาคประชาชนมันต้องมีกิจกรรมเยอะ มีการพูดคุย มีแอคชั่น มีพิธีกรรมเรียกแขก ทั้งเสวนา ล่ารายชื่อ แต่ตอนนี้ทำไม่ได้หรือทำได้จำกัด การเมืองภาคประชาชนดูหงอยเหงา ส่วนที่เคลื่อนไหวไปแล้วก็ติดขัด ส่วนหนึ่งก็ไปสนับสนุนทหาร พอสถานการณ์แบบนี้ก็ทำอะไรไม่ถูก คนกลุ่มนี้เกิดอาการที่เรียกว่า ‘เสียหมา’

นักเคลื่อนไหวบางส่วนเข้าใจผิดว่าถ้าไปสนับสนุนแนวทางนี้แล้ว บ้านเมืองจะเกิดการปฏิรูป คนพวกนี้ก็จะเนียน ช่วงนี้จะใช้คำพูดว่าไม่ว่าง ไม่สนใจการเมือง จริงๆ ไม่ใช่มันไม่ว่าง มันว่าง แต่เขาประเมินแล้วว่าถ้าออกมาแล้วเสีย ประเด็นคือถ้าเรามีเพื่อนฝูงที่เคยไปเป่านกหวีด แล้ววันหนึ่งเขามาสารภาพผิด เราควรมีท่าทียังไง สำหรับผม ผมพยายามจะไม่ซ้ำเติม 

ทำไมคุณถึงให้โอกาสคนที่เคยสนับสนุนรัฐประหาร 

สมมติว่า พล.อ.ประยุทธ์ จัดรายการวันศุกร์ แล้วขอโทษประชาชนผ่านรายการ ถ้าทำจริงๆ ผมว่าต้องปรบมือให้ ผมว่าภาพนี้คือสิ่งที่เราอยากเห็น ผมเป็นคนที่แยกแยะ สิ่งไหนเป็นด้านที่ดีผมแยกนะ ไม่ใช่ผมลืมภาพในอดีต แต่คนเรามีหลายมิติ เราสามารถมองในมิติบางมิติได้ เราชอบก็ไม่ได้จำเป็นว่าเราต้องเออออห่อหมกไปหมด อะไรที่มันใช่ก็ใช่ไม่ใช่ก็ไม่ใช่ ผมคิดว่าเราควรจะยึดหลักแบบนี้ 

ที่ผ่านมาจะเห็นว่าพอสังคมไทยแบ่งฝ่ายกันแล้ว ก็จะปกป้องฝ่ายตัวเอง คุณคิดยังไง

ผมว่าการเมืองแบบนี้อันตรายมาก เวลาเราขัดแย้งกัน เราคิดว่าจะเอาใครหรือไม่เอาใคร ซึ่งไม่ใช่ แต่ถ้าเราเปลี่ยนเกณฑ์เป็นเอาอะไร ไม่เอาอะไร มันจะเถียงกันได้ ทุกคนจะเอาข้อมูลมาเถียงกัน เกิดเป็นดีเบตครั้งใหญ่ แบบนี้จบ จะเห็นว่าอะไรถูกต้องกว่า ทำให้เกิดการเลือก 

ถ้าพูดถึงทั้งสองฝ่าย เรื่องแรก ผมคิดว่าปัญหาเรื่องความรุนแรงมีอยู่จริง เรื่องที่สอง สื่อประเภทพวกใต้ดิน การจัดวิทยุออนไลน์ ที่ใช้การพูดปลุกระดม และพูดโดยไม่มีข้อเท็จจริง จุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความปั่นป่วน ผมคิดว่ามันเกินไป ในสังคมจริงๆ เราไม่ได้ขัดแย้งกันขนาดนั้น เราไม่ได้เป็นเผ่าพันธุ์ที่ต้องฆ่ากัน แล้วคนที่คิดเห็นต่างทางการเมืองก็อยู่รอบตัวเรา เป็นญาติพี่น้องรอบตัวเรา ครูบาอาจารย์ ลูกศิษย์ เราจะผลักพวกเขาไปไว้ไหน

ส่วนวงการเอ็นจีโอที่มีส่วนทำให้อำนาจนอกระบบเข้ามา ส่วนตัวผมยังรักพี่ๆ น้องๆ ผมอยู่ และมั่นใจว่าคนที่ทำงานตรงนี้คือคนที่อยากเห็นสังคมเปลี่ยนแปลง แต่สถานการณ์รัฐประหารปี 2549 ตอนผมออกมาเคลื่อนไหว มีเอ็นจีโอรุ่นใหญ่ไปกระซิบบอกรุ่นพี่ผมคนหนึ่งให้มาบอกผมว่า “หนูหริ่ง ไม่ต้องรีบร้อน ใจเย็นๆ” ผมเห็นว่าปัญหาคือมันมีความอยากชนะรัฐบาลทักษิณ และตอนปี 2557 ก็ยังอยากชนะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พวกเขาเชื่อว่าทุนนิยมสามานย์คืออุปสรรค

คนพวกนี้จำนวนหนึ่งไม่ใช่แค่อยากชนะ แต่มีความหวังว่าจะใช้ช่วงไฟดับ ประเทศมืด ยื่นมือมาล้วงอำนาจ อาศัยจังหวะในการมีรัฐประหารเข้าไปมีตำแหน่งในอำนาจรัฐ คนพวกนี้ผิดหวังกับการเมืองในระบบ เพราะส่วนหนึ่งระบบพรรคการเมืองไทยไม่ใช่ระบบเปิด มันเป็นกลุ่มก้อน ล็อบบี้ยาก 

สมบัติ บุญงามอนงค์

ตอนรัฐประหาร 49 มีรุ่นพี่เอ็นจีโอเรียกผมไปคุย “หนูหริ่ง รู้มั้ย ตอนนี้ฟ้าเปิดแล้ว” ผมอึ้งเลย ฟ้าเปิดอะไรวะ “เราจะมีคนของเราเข้าไปนั่ง ผู้ใหญ่ของเราก็เข้าไปนั่งในตำแหน่ง ถ้าอยากทำอะไร เต็มที่เลย”

มีคนเขาเล่าให้ผมฟังว่า ตอนไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปี 2550 เดินทางไปตรวจราชการต่างจังหวัด พวกเจ้าหน้าที่กระทรวงฯ เขาจะเรียกเอ็นจีโอในพื้นที่มา “มาต้อนรับลูกพี่คุณหน่อย” คือเวลาอาจารย์ไพบูลย์ไปคุยกับพวกข้าราชการ มันเหมือนเป็นคนละ format เหมือนอีกคนหนึ่งใช้ windows อีกคนใช้ Linux มันคุยกันไม่รู้เรื่อง 

อีกเรื่องคือผมจะนึกถึงชุดคำที่อาจารย์ไพบูลย์ชอบใช้ อย่างปัจจุบันคำว่า ‘ประชารัฐ’ ผมรู้ว่าใครเป็นคนประดิษฐ์ประดอยชุดคำพวกนี้ ข้าราชการคิดคำบ้าๆ บอๆ พวกนี้ไม่ได้ เอ็นจีโอนี่แหละคิด เราอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตคำอย่างซับซ้อน

คุณคิดว่าเอ็นจีโอที่เคยไปร่วมกับอำนาจนอกระบบได้บทเรียนหรือยัง

การที่ไปเข้าร่วมมันไม่ได้อะไรนอกจากเสียหาย ขบวนเสียหาย ตัวเองก็เสียหายด้วย ภาคประชาสังคมไทยรอบนี้เจ็บมาก ในทางเศรษฐศาสตร์มันไปยึดโยงกับทุนของ สสส. (กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) แล้วรัฐบาล คสช. เข้ามาก็ถล่ม สสส. ยับเลย 

ผมคิดว่ารัฐบาลทหารคงรู้สึกแปลกๆ ว่า คุณเป็นใคร ข้าราชการไม่ใช่ เอ็นจีโอเป็นใคร ทหารเขามาจากปีกความมั่นคง เวลาเขาใส่แว่น เขาใส่แว่นดำ จะมองคนพวกนี้ว่ามีเบื้องหลังหรือเปล่า ใช้ทฤษฎีสมคบคิดว่ามึงมาจากไหนกัน พวกนี้ชอบวิจารณ์กู มึงมีมวลชนได้ยังไง ได้เงินจากไหนมา พอเช็คว่าได้เงินมาจาก สสส. ซึ่งมีเป็นร้อยเป็นพันองค์กรที่วิ่งไปที่ สสส. แต่เขาคิดว่า สสส. รณรงค์แค่เรื่องเมาไม่ขับไม่ใช่เหรอ ทำไมซัพพอร์ตองค์กรพวกนี้ด้วย ก็เลยต้องฟรีซมึงไว้ก่อน 

บางคนนี่เครียดจนเส้นเลือดในสมองแตก บางคนติดหนี้ติดสินเลย เป็นเรื่องใหญ่ เพราะโปรเจ็กต์มันต้องดำเนินต่อ เขาทำมาเรียบร้อย วางแผนงานไว้แล้ว มีเจ้าหน้าที่ ตั้งสำนักงานแล้ว แต่โครงการถูกฟรีซ แล้วจะทำยังไง ก็ต้องแอดวาซน์ไปก่อน เรียกว่าเป็นยุคล่มสลายขององค์กรภาคประชาชนที่รับทุน สสส.

เลยมีผลให้การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนอ่อนแอลงไปด้วย

ใช่ อ่อนแอลงเรื่อยๆ ผมจึงไปมีความหวังกับพวกหมาแมว เพราะว่าหมาแมวไม่ได้รับทุน สสส. มันมีผู้สนับสนุนแบบปัจเจก 

ผมคิดว่าในกระบวนการเอ็นจีโอ มีขบวนการเครือข่ายที่ฟังดูใหญ่โต เขาเรียกว่าคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กปอพช.) เขามักจะออกแแถลงการณ์ เวลาออกแถลงการณ์ดูยิ่งใหญ่มาก องค์กรพวกนี้ก็เป็นองค์กรที่คอยเป็นเสือกระดาษ คอยเชิดชูไว้ต่อรองได้บ้าง แต่ชั่วโมงนี้ใช้ไม่ได้ ดังนั้นเราต้องมาดูการเคลื่อนไหวของคนเล็กๆ ที่เป็น Social Movement จริงๆ

กรณี Social Movement แบบพวกหมาแมว จะยกระดับไปเรื่องอื่นๆ ได้ไหม เช่น การเมือง ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม

ได้ ผมว่ามันง่ายกว่ายุคสมัยที่ผมเป็นเอ็นจีโอใหม่ๆ นึกถึงช่วงหนึ่งที่พวกมอเตอร์ไซค์รวมตัวกันประท้วงที่ตำรวจไม่ให้ขึ้นสะพาน ผมว่าใช่นะ นั่นก็ Social Movement ก็กูเสียภาษีเหมือนกัน ทำไมจะขึ้นสะพานไม่ได้ มึงบอกว่ามันอันตราย แล้วเวลามึงสร้างมึงไม่สร้างเลนมอเตอร์ไซค์ขึ้นมาด้วยล่ะ ถูกไหม แล้วมีเอ็นจีโอไหนไปจัดตั้งไหม ไม่มี

สังคมไทยไม่ค่อยคุ้นเคยกับการทำองค์กร ซึ่งเป็นคีย์หนึ่งของภาคประชาชน ความเป็นปัจเจกมันมีพลังไม่พอ เป็นเบี้ยหัวแตก เป็นทรายร่วน เวลาจับทรายร่วนขึ้นมาจะหลุดมือ คุณต้องปั้นทรายให้เป็นดินเหนียว พอเป็นก้อนได้มันจะมีความเป็นองค์กร เป็นขบวน

เช่น พวกที่เขาทำเรื่องเกษตรทางเลือก ผมว่าไปได้ไกลนะ สมัยก่อนเขาต้องรบราฆ่าฟันกับพวกสารเคมี คนถึงได้บอกว่าพวกเอ็นจีโอชอบประท้วง วันนี้เลยไปรวมกลุ่มกับชาวบ้านที่ทำเกษตรอินทรีย์ ทำกินเอง ขายกันเอง พออยู่ได้ก็แฮปปี้ และกลุ่มผู้บริโภคเขาก็แข็งแกร่งมาก

สมบัติ บุญงามอนงค์

การเมืองภาคประชาชนแบบที่โตได้เอง แต่พอเคลื่อนไหวไปสักพัก ทหารไปถึงบ้านแล้ว เรายังจะมีความหวังได้อยู่ไหม

มีความหวัง ผมคิดว่า คสช. เขาก็ไม่ได้เข้มแข็งขนาดนั้น อย่างกระแสเรื่องการเลือกตั้ง ผมว่าเขาฝืนมาก เหมือนว่ารัฐบาลกำลังเอาตัวเองเป็นบาริเออร์ขวางทางน้ำ ถ้ากระแสน้ำมันไม่แรงมาก คุณอาจขวางได้ แต่ถ้ากระแสแรงมาก เขื่อนมันก็แตกได้นะ ถ้ามวลน้ำมาเยอะ เอาไม่อยู่หรอก ผมเชื่อว่าทหารเขามีบทเรียน การอยู่ในอำนาจแล้วมันออกยาก เหมือนคนติดยาแล้วจะเลิก ผมว่าใกล้เคียงกัน

ผมไม่สงสัยนะ ยังไงประเทศนี้ก็ต้องปกครองในระบบประชาธิปไตย ขนาดคุณประยุทธ์ยังพูดเลยว่าต้องใช้ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ขนาดผู้นำรัฐประหารพูด ถึงจะถูกวิจารณ์ว่าไม่เป็นประชาธิปไตยก็ตาม เพราะน้ำมันไปทางนี้เขาก็ต้องตามไป แต่มันยากตรงที่เขาเป็นอุปสรรคเอง 

เวลาไปเจอทหารอาชีพ ผมคิดว่าคนพวกนี้เข้าใจเรื่องประชาธิปไตย เขารู้คุณค่าของมัน เพียงแต่ว่าคนพวกนี้ยังคิดว่ามันเป็นสถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น มีความชอบธรรมที่เข้ามาชั่วคราว ซึ่งผมถือว่านานไปแล้ว ผมคิดว่าพอคุณอยู่นาน มันจะมีคนมาเคาะประตูเอง

ถ้าน้ำไหลมาทางนี้ เราต้องทำอะไรอีกบ้าง หรือว่านอนดูก็ได้

มันมีสิ่งที่เรียกว่า critical mass หรือจุดหักเห จุดพลิกผัน เมื่อสะสมปริมาณถึงจุดหนึ่งมันจะเกิดการเปลี่ยน ถ้าไม่ทำก็จะไม่ถึงจุดที่เปลี่ยน เหมือนน้ำจะเปลี่ยนจากของเหลวเป็นไอได้ ต้องอยู่ที่ 100 องศาฯ ถ้าคุณขวางทางน้ำ เวลาเขื่อนมันแตก มันจะหนัก วิธีการจัดการความเสียหายคือการปล่อยให้น้ำมันไหลออกบ้าง ไม่ใช่กักน้ำไว้จนเขื่อนแตก ถ้าปล่อยน้ำไหลไปได้ สถานการณ์แบบนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น 

ทำไม คสช. อยู่นานขนาดนี้ critical mass ยังไม่มาเหรอ

แสดงว่ามันยังไม่ถึงไง ผมว่ามันเหมือนกับเวลาคุณดูพวกเมายาแล้วปีนเสาไฟฟ้าความแรงสูง หรือเสาสัญญาณโทรศัพท์ แล้วก็ลงไม่ได้ ติดอยู่ข้างบน จริงๆ มันอาจอยู่ในสถานการณ์ใกล้เคียงกันนะ น่าเห็นใจ เวลาลงมาจะเสียวมากเลย ตอนแรกอาจมีไม้พาดขึ้นไป แต่ตอนนี้ลงไม่ได้แล้ว 

แรกๆ ก็มีคนเชียร์ขึ้นไปใหญ่เลย สมัยบิ๊กบัง (พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน) ก็เป็น ทั้งเงื่อนไขการเข้ามา กองเชียร์ การจัดเลี้ยงเฮฮา แต่ของคุณประยุทธ์จะหนักกว่าบิ๊กบังเยอะ เพราะว่าอยู่นานกว่า สาหัสกว่า

ที่คุณบอกว่าพรรคการเมืองที่ผ่านมาเป็นระบบปิด ปัญหาของระบบปิดเป็นอย่างไร

ผมเห็นว่าระบบพรรคการเมืองต้องเป็นระบบเปิดให้มีความเห็นหรือข้อเสนอได้ เราเอาตัวเองเข้าไปเชื่อมโยงกับกลุ่มก้อนที่เป็นภาคประชาสังคมต่างๆ เพื่อที่จะถ่ายเทประเด็นให้เข้าสู่ระบบในสภาและฝ่ายบริหารได้ เช่น ในประเทศที่พรรคการเมืองหรือประชาธิปไตยก้าวหน้าแล้ว พวกพรรคการเมืองจะตามช็อปปิ้งไอเดียพวกเอ็นจีโอ เพราะว่าเอ็นจีโอพวกนี้จะลึกในประเด็นที่เขาทำและมุ่งมั่น หรือไม่เขาจะเปิดให้มีการล็อบบี้ การดีลกัน แสดงว่าพรรคการเมืองมีระบบเปิดให้สาธารณะเสนอไอเดียได้

ผมคิดว่าต้องทำให้มี think tank ไม่อย่างนั้นจะผลิตความคิดขึ้นมาอย่างไร อย่างพรรคประชาธิปัตย์มีปัญหามาก เพราะเขาไม่มีหน่วย research and development ที่แข็งแรง พอเขาเป็นรัฐบาลได้ สิ่งที่เขาทำคือไปเรียกพวกปลัดกระทรวงต่างๆ มา เอานโยบายของสำนักงานนโยบายและแผนแต่ละกระทรวงมายำๆ แล้วประกาศไป

มีอยู่ครั้งหนึ่งประชาธิปัตย์เลือกตั้งแล้วก็เสนอหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ผมงงมากเลย เพราะเหมือนกับที่พรรคเพื่อไทยทำ เป็นการก๊อปปี้แบบเห่ยๆ ไม่มีการพัฒนาชัดเจน 

จริงๆ แล้วเป็นเพราะเอ็นจีโอที่รู้ลึกในเรื่องงานที่เขาทำ ไม่มีพลังพอให้พรรคการเมืองเอานโยบายใหม่ๆ ไปใช้ หรือเพราะนักการเมืองไม่สนใจ 

ผมว่าเขาเปิดไม่พอ บางคนก็พยายามนะ เช่นประเด็นโฉนดชุมชน ธนาคารต้นไม้ ไอเดียพวกนี้สะเทือนสังคมนะ ถ้าสามารถเข้าไปเป็นโยบายรัฐได้ ถ้าพรรคการเมืองเปิดและมีกระบวนการให้กับสิ่งเหล่านี้ แต่ปัญหาคือพรรคการเมืองทั้งหมดทำไปเพื่อที่จะชนะการเลือกตั้ง พอชนะเสร็จแล้วก็พยายามทำให้ตัวเองมีอำนาจ แต่ไม่ได้คิดเรื่องการพัฒนานโยบาย

แปลว่าพรรคการเมืองต้องปรับตัวก่อน

ถูก และต้องไปให้ถึงเรื่องแพลตฟอร์มด้วย ทำให้เป็นเรื่องไอเดียของพรรคเลย ทำการเมืองเหมือน open source เปิดให้คนอื่นมาร่วมได้จริงๆ เพราะว่าโดยหลักการ พรรคการเมืองเป็นองค์กรของประชาชน แต่ที่เป็นอยู่มีพรรคไหนไหมที่เดินเข้าไปในพรรคเมื่อมีประเด็นขึ้นมา แล้วเข้าไปใช้กลไกพรรคการเมืองขับเคลื่อนได้จริงๆ ไม่มี 

เราต้องวิวัฒนาการต่อว่าเราจะไปสู่พรรคการเมืองแบบที่เป็นประชาธิปไตย ตอนนี้เรายังพูดได้แค่ primary vote ว่าคนที่จะไปสมัคร ขอให้ประชาชนในพื้นที่เป็นคนเลือกก่อน เพราะว่าผู้สมัครมันเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ภายในพรรค ไม่ใช่เกณฑ์ที่ชาวบ้านนิยมชมชอบผู้สมัครคนนี้หรือไม่ เลยกลายเป็นประเด็น

นอกจากประเด็น primary vote อีกเรื่องที่พูดกันมากคือ ‘คนดี’ ในทางการเมืองเราสามารถมีมาตรฐานวัดความดีกันได้ไหม

จริงๆ มันเป็นเรื่องที่ดีนะ การที่เราเฟ้นหาความดีและคนดี แต่ว่าคนดีและความดีในทางการเมืองมันผิดเพี้ยน ไม่ใช่แค่คำนี้ แต่ทั้ง ‘ประชาธิปไตย’ และ ‘การปฏิรูป’ ก็เพี้ยน คำว่า ‘ชาติ’ ก็เพี้ยน มันต้องสังคายนาคำเหล่านี้ใหม่หมด อะไรคือคนดี คนดีแปลว่าอะไร แปลว่าคนที่ทำดีหรือเปล่า แล้วถ้าทำไม่ดีเป็นคนดีไหม การบอกว่าคนๆ นี้เป็นคนดี แล้วถ้ามันไปทำเรื่องไม่ดี เขายังเป็นคนดีไหม ถ้าเป็นอยู่เพราะว่าเขาเป็นคนดี ตรรกะแบบนี้ผิด ถ้ามันทำไม่ดีก็ต้องเป็นคนไม่ดี คนๆ หนึ่งเป็นได้ทั้งคนดีและคนไม่ดี 

อย่างกรณี เสก โลโซ คุณไปด่าเขาว่าเป็นคนไม่ดี ใช่ ตอนไปยิงปืนขึ้นฟ้า ผมคิดว่าเสกทำไม่ถูกนะ เพราะเดี๋ยวไปโดนหัวใครไม่รู้ อย่างนี้เสกทำไม่ถูก แต่เสกพยายามจะดีเฟนด์และขอโทษ เขาก็พูดว่าเขาผิด แต่เขาก็ไม่ใช่คนเลวอย่างที่คุณด่าเขา เขาก็ทำความดีเยอะแยะ ผมคิดว่าเราต้องแยกกัน ดูที่การกระทำ

อย่างคนที่ออกมาจากคุก มีหมอคนหนึ่งเคยไปหั่นแฟน แต่พออยู่ในคุกเขาก็ช่วยดูแลคน แล้วเราจะบอกว่าหมอคนนั้นที่เป็นอาชญากร แต่ก็ช่วยเหลือคน ว่าเป็นคนไม่ดีได้ไหม ถ้าสังคมสถาปนาความเข้าใจต่างๆ ได้ถูกต้อง สังคมมันจะพัฒนามากขึ้น 

สมบัติ บุญงามอนงค์

ท่ามกลางความเคลื่อนไหวที่ยากยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน การทำพรรคของคุณถือเป็นทางออกหรือยัง 

ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน ผมคิดว่าเราควรมีสถาบันทางการเมืองที่พูดว่านักการเมือง หรือพรรคการเมือง ควรจะเป็นแบบไหน แทนที่เราจะปล่อยให้พรรคการเมืองที่มีอยู่ทำกันแบบเก่า

ผมตั้งสมมุติฐานว่าผมจะทำเอง เพื่อพิสูจน์ว่าถ้าประชาชนทำกันเอง จะทำกันได้ไหม บางคนก็บอกว่าทำไม่ได้หรอก มีคนบอกว่า “เฮ้ย หนูหริ่ง คุณทำพรรคการเมืองไม่ได้หรอก คุณรู้เปล่าว่าทำพรรคการเมืองต้องใช้เงินเยอะ มึงถูกอายัดบัญชีอยู่มึงจะเอาเงินที่ไหนทำ”

ผมก็มานั่งคิดนะ ถ้าไม่มีเงินจะทำได้ไหม คงต้องใช้เงินในระดับหนึ่ง แต่ว่าเขาให้รวบรวมจากสมาชิกคนละหนึ่งร้อยหรือหนึ่งพัน ผมว่าทำได้นะ เราสื่อสารกันบนอินเทอร์เน็ตได้ เราจะเป็นยิ่งกว่าพรรคการเมืองในพรรคการเมืองที่จะไปช่วงชิงอำนาจรัฐ เพราะเราแค่อยากจะทดลอง สำเร็จก็สำเร็จ ถ้าไม่สำเร็จก็ลองใหม่ พรรคการเมืองอื่นๆ เขาจะเสนอกันประมาณสิบนโยบายเด่นๆ แต่ผมจะเสนอเป็นกรุเลย ไม่ใช่แค่ห้าหรือสิบ แต่ว่าเป็นพัน

ถ้าผมมีสมาชิกพันคนนะ ถ้าคุณสมัครพรรคเกรียน ผมมีเงื่อนไขว่าคุณจะต้องจ่ายเงินตามที่ กกต. ระบุ คุณจะต้องส่งใบสมัครพร้อมนโยบายที่คุณอยากเห็น คุณต้องมี think tank ก่อน ว่าคุณอยากจะเสนออะไร เพราะพรรคเราเป็นพรรคที่ต้องการเคลื่อนไหว ความคิดของคุณอาจเวิร์คหรือไม่เวิร์คก็ได้ แต่ว่าต้องเสนอมาก่อนเป็นต้นทุน แสดงตัวตนว่าเราเป็นพวกเดียวกันหรือไม่ เป็นเผ่าเดียวกันหรือไม่ ใช้เครื่องมือเดียวกันหรือไม่ และความคิดต้องอยู่ภายใต้หลักประชาธิปไตยและเสรีนิยม

ความคิดต้องมีงานวิจัยหรือฐานข้อมูลรองรับไหม

ควรมีบ้าง เช่น ถ้าเสนอว่าจะส่งยางหรือผลิตผลทางการเกษตรบางอย่างไปขายในดวงดาวดวงอื่น ต้องถามกันหน่อยว่าจะต้องทำอย่างไร 

ถ้าทำแบบนี้ได้ ก็เหมือนกลายเป็นพรรคตัวอย่างให้พรรคการเมืองอื่นๆ ไหม

ผมศึกษาเรื่องพรรคกรีน พรรคกรีนเป็นพรรคสิ่งแวดล้อม คุณรู้ไหมว่าในแต่ละประเทศ พรรคกรีนไม่ค่อยประสบความสำเร็จในเรื่องเชิงปริมาณ แต่ว่าเขามาจากความมุ่งมั่นเรื่องสิ่งแวดล้อม ความสำเร็จของพรรคกรีนไม่ได้อยู่ที่การชนะเลือกตั้ง แต่ว่าเป็นความสำเร็จของการเสนอนโยบายที่ทำให้พรรคการเมืองสองขั้วใหญ่ในประเทศนั้นๆ ต้องผลิตนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมไปอยู่ในพรรคการเมืองเขาด้วย นี่แหละคือความสำเร็จ

ต่อให้จดทะเบียนไม่ได้ แต่เราก็ยังทำพรรคอยู่ และจะเสนอต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสำเร็จ หรือหมดแรงลงในที่สุดหรือจะมีใครที่เกรียนกว่าเรา เราก็ยอมรับ พรรคเกรียนไม่ได้แค่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง ส.ส. นะ ผมจะส่งหมดทุกส่วน ผมมีความใฝ่ฝันว่าทำไมเราไม่สนับสนุนประชาธิปไตยตั้งแต่ยังเรียนอยู่ 

เช่นการเลือกตั้งประธานนักเรียน

ใช่ ผมคิดว่าพรรคควรลงไปสนับสนุนระดับจุลภาคเลย เพราะว่าตอนนี้การเลือกตั้งยังไม่เกิด แต่ถ้าเรารวมกลุ่มกันได้สำเร็จ แล้วมีอนุบาลที่ไหนมีการเลือกตั้ง แล้วเกิดว่าเด็กหรือพ่อแม่รู้จักพรรคเกรียน เราจะเข้าไปทำงานกับเด็กกลุ่มนั้นเลย

ถ้าคุณเป็นผู้สมัคร เป็นผู้บริหาร หรือเป็นประธานนักเรียนได้แล้ว คุณจะมีนโยบายหรือแนวทางอย่างไร ประชาธิปไตยในโรงเรียนคืออะไร ถ้าเป็นระดับผู้ใหญ่บ้าน อบต. ท้องถิ่นนี่สำคัญ มันสามารถเปลี่ยนแปลงได้

จริงๆ ถ้าออกแบบสนับสนุนการปกครองส่วนท้องถิ่นให้คิดนโยบายพัฒนาท้องถิ่นได้ ถ้าพรรคเกรียนมาเป็นสถาบันที่รวบรวมไอเดีย เป็น think tank เป็นคลังความรู้ มันสามารถยกระดับได้ สโลแกนของพรรคคือ “เราเป็นผู้นำความบันเทิงสู่การเมืองไทย” ผมรับประกันเลยว่าบันเทิง อย่างอื่นจะสำเร็จหรือไม่ ผมไม่รับประกัน แต่บันเทิงแน่ ผมการันตี การเมืองไทยนี่บันเทิงนะ คนอื่นอาจมีอารมณ์ฉุนเฉียวตอนดูประยุทธ์พูด แต่สำหรับผม ผมอ่านข่าวประยุทธ์แล้วโคตรบันเทิง 

ฝ่ายประชาธิปไตยหวั่นไหวกันเรื่องนายกฯ คนนอก คุณคิดว่านายกฯ คนนอกจะทำให้สงบไหม

ผมว่าเราต้องมานิยามคำว่าสงบก่อน สงบแปลว่าไม่มีความขัดแย้ง ตอนนี้สงบไหม ผมไม่คิดว่าสงบ ความสงบมันอยู่ตรงที่เป็นการไม่เลยเถิด ความไม่เลยเถิดของผมคือความสงบ ถ้าสังคมมันมีพื้นที่ระดับหนึ่งและคนวิ่งเล่นตรงนั้นได้ ทำกิจกรรมอยู่ภายใต้สิ่งนั้นได้ แล้วทุกคนก็ยอมรับในพื้นที่แบบนั้นได้ ผมก็จะยอมรับเรื่องความสงบ 

คำถามว่าถ้ามีนายกฯ คนนอกจะสงบไหม การได้มาซึ่งนายกฯ คนนอก มีความไม่ชอบธรรม ไม่ใช่แค่มีรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้มีคนนอกเข้ามาได้เท่านั้น แต่มันมีความไม่ชอบธรรมบางอย่าง เช่น ตอนที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร รับเป็นนายกรัฐมนตรี แม้ว่ารัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามา พรรคการเมืองที่เป็นเสียงส่วนมากในสภาก็เลือก แต่ว่าเขาเป็น รสช. เป็นหนึ่งในผู้ทำรัฐประหาร แล้วเขามีคำมั่นสัญญากับสังคม พอเสียสัตย์เพื่อชาติก็ทำให้เขาไม่มีความชอบธรรมในการเป็นนายกฯ ถ้าเกิดว่ามันไม่ถูกต้องชอบธรรม ก็คงไม่สงบอยู่ดี.

สมบัติ บุญงามอนงค์


หมายเหตุ – เมื่อเดือนมกราคม สมบัติ บุญงามอนงค์ ยังเรียกพรรคการเมืองของตัวเองว่า ‘พรรคเกรียน’ แต่ปัจจุบันไม่ได้รับการอนุมัติชื่อจาก กกต. เขาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น ‘เกียน’ ซึ่งหมายถึง อ่าว, ทะเล แทน และได้รับอนุมัติแล้ว

ชมคลิปสัมภาษณ์ฉบับเต็ม ได้ที่ :

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save