fbpx
ทางออกของขยะที่มองไม่เห็น

ทางออกของขยะที่มองไม่เห็น

ทำความรู้จักเรื่องราวของ “ไมโครพลาสติก” (Microplastics) ได้ในบทความ ครีมอาบน้ำ เสื้อผ้า ล้อรถ กับขยะพลาสติกที่มองไม่เห็น

 

ปัญหาไมโครพลาสติกอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การค้นพบการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อาหารของเราแทบทุกหนทุกแห่งมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อเร็วๆ นี้ที่มีการพบการปนเปื้อนใน น้ำประปา ทั่วโลกรวมไปถึง เกลือ ก็ทำให้หลายฝ่ายตื่นตัวและเป็นกังวลมากขึ้นว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากมีการสะสมของไมโครพลาสติกมากๆ ในร่างกายของเรา

 

แม้ข่าวดีในตอนนี้คือยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่าจะเกิดอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ด้านใดบ้าง แต่นั่นอาจเป็นเพียงเพราะยังไม่มีการศึกษาอย่างต่อเนื่องเพียงพอ งานวิจัยเร่งด่วนในปัจจุบันจึงเป็นการศึกษาผลกระทบจากการกลืนกินไมโครพลาสติกเข้าไปโดยไม่รู้ตัวในมนุษย์

อย่างไรก็ตามข่าวร้ายที่ค่อนข้างชัดเจนแล้วก็คือ งานศึกษาผลกระทบต่อระบบการทำงานในร่างกายของสัตว์ทะเลขนาดเล็ก แสดงให้เห็นว่าสารเคมีอันตรายจากพลาสติกจะเข้าไปรบกวนการทํางานของระบบฮอร์โมนของร่างกายและมีความผิดปกติเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ

การรับรู้ถึงการมีอยู่ของไมโครพลาสติกอย่างกว้างขวางในปัจจุบันได้นำไปสู่ความพยายามทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่นในการแก้ปัญหาดังกล่าว เริ่มจากปี พ.ศ. 2555 ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และยุโรปบางประเทศได้เริ่มรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบและอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีไมโครพลาสติกประเภทเม็ดไมโครบีดส์เป็นส่วนผสม

ต่อมาในปี พ.ศ. 2557 การประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ[1] (United Nations Environment Assembly: UNEA) ซึ่งเป็นการประชุมระดับสูงสุดด้านสิ่งแวดล้อมของโลก ที่ประชุมตระหนักว่าพลาสติกรวมถึงไมโครพลาสติกในสภาพแวดล้อมทางทะเลเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้นประกอบกับการบริหารจัดการและการกําจัดของเสียพลาสติกไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงควรมีการดําเนินการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

ขณะที่การประชุม G7[2] ปี พ.ศ.  2558 ผู้นำจากนานาประเทศแสดงความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสียและหาทางแก้ไขปัญหาไมโครพลาสติก นำไปสู่ความตกลงกันเพื่อให้สู่เป้าหมายการป้องกัน และลดมลพิษในทะเลทุกชนิดภายในปี พ.ศ. 2568 ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ในเดือนธันวาคม 2558 สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาได้ผ่านพระราชบัญญัติว่าด้วยการปลอดเม็ดไมโครบีดส์ในแหล่งน้ำ (The Microbead-Free Waters Act 2015) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในสหรัฐอเมริกาในปีนี้

สาระสำคัญคือการห้ามผลิต จัดจําหน่าย รวมถึงขายผลิตภัณฑ์ที่มีเม็ดไมโครบีดส์เป็นส่วนประกอบ พระราชบัญญัตินี้จะครอบคลุมผลิตภัณฑ์เครื่องสําอางที่ชําระล้าง ผลิตภัณฑ์ทําความสะอาดและผลัดเซลล์ผิว โดยที่ในอนาคตมีแนวโน้มว่าจะครอบคลุมไปถึงผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ด้วย นับเป็นยาแรงที่น่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ไม่น้อย

ฝั่งภาคเอกชนก็ปรับตัวตามแรงกดดันจากประชาคมโลกและนโยบายของภาครัฐ เอกชนหลายแห่งเริ่มตระหนักถึงปัญหาพลาสติกที่ปนเปื้อนสู่สภาพแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลาสติกที่มองไม่เห็นเหล่านี้ บริษัทต่างๆ จึงเริ่มมีการปรับปรุงกระบวนการผลิต การออกแบบ หรือหาวัสดุทนแทน นำไปสู่การลดการใช้วัสดุพลาสติกด้วยวิธีต่างๆกัน

Lush แบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวชื่อดังจากอังกฤษ เป็นบริษัทแรกที่เข้าร่วมโครงการ Plastic Disclosure Project (PDP) ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนให้ภาคธุรกิจประเมินปริมาณพลาสติกที่ใช้ในกระบวนการผลิตและส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ของตน และส่งเสริมให้วางแผนจัดการเพื่อลดผลกระทบของพลาสติกที่มีต่อสภาพแวดล้อม

ในปี พ.ศ.2554 Lush เป็นบริษัทแรกที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับพลาสติก และออกประกาศเลิกใส่ชิ้นส่วนพลาสติกในผลิตภัณฑ์ bath bomb ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 รวมถึงการลดการใช้บรรจุภัณฑ์ให้น้อยที่สุด หากไปเยี่ยมชมที่ร้านของ Lush จะพบว่าผลิตภัณฑ์จำนวนมากถูกวางโชว์โดยไม่มีบรรจุภัณฑ์ ซึ่งบริษัทระบุว่าผลิตภัณฑ์ที่วางเปลือยเปล่าเหล่านี้ช่วยลดบรรจุภัณฑ์ ซึ่งคิดเป็นปริมาณถึง 46% ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ เลยทีเดียว

 

ภาพจาก plastic disclosure project

 

 

Method แบรนด์ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมชื่อดังอีกแห่ง เริ่มพัฒนาการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 ในปัจจุบัน Method ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิลในหลายรายการ เช่น สบู่ล้างมือ สบู่ล้างจาน สเปรย์ทำความสะอาด น้ำยาทำความสะอาดห้องน้ำ และน้ำยาซักผ้า ยิ่งไปกว่านี้ บริษัทประสบความสำเร็จในการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากการรีไซเคิลขยะพลาสสติกในทะเล

บริษัทได้ริเริ่มโครงการทำความสะอาดชายหาดกับชุมชนท้องถิ่นที่ฮาวาย และจับมือมือบริษัทรีไซเคิล Envision Plastic นำขยะพลาสติกที่เก็บได้เข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นขวดสำหรับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดของ Method นอกจากนี้บริษัทยังปรับปรุงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสำหรับการนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิล และออกผลิตภัณฑ์หลายรายการในรูปแบบ refill ซึ่งประหยัดพลังงานและพลาสติกในการผลิต

 

ภาพจากเว็บไซต์ Method

 

 

สำหรับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอาหารที่เรารู้จักกันดีอย่าง McDonald’s และ Heinz ได้ปรับปรุงการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ของบริษัทตลอดหลายปีที่ผ่านมา Heinz เปลี่ยนมาใช้พลาสติกที่ทำมาจากพืชตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 ขณะที่ McDonald’s ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล และเริ่มใช้แก้วกระดาษแทนแก้วโฟมตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

ข้ามมาที่ฝั่งอุตสหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้า ไม่มีบริษัทใดรุดหน้าไปกว่า Patagonia ซึ่งสนับสนุนการศึกษาวิจัย 2 โครงการ[3] เพื่อทำความเข้าใจไมโครไฟเบอร์ที่ปลดปล่อยออกมาจากเสื้อผ้าในขั้นตอนการทำความสะอาดและปนเปื้อนลงสู่สภาพแวดล้อม โดยหวังว่าจะพบวิธียับยั้งการปนเปื้อนดังกล่าว ขณะที่งานวิจัยยังดำเนินไป บริษัทได้ดำเนินมาตรการจำกัดผลกระทบโดยออกคำแนะนำต่อลูกค้าว่าไม่ควรซักเสื้อผ้าบ่อยนัก (เพื่อลดการปนเปื้อนไมโครไฟเบอร์ลงสู่ระบบน้ำทิ้งและปนเปื้อนสู่สภาพแวดล้อม) และจับมือกับ GuppyFriend จำหน่ายถุงซักผ้าที่ดักไมโครไฟเบอร์ไม่ให้ปนเปื้อนสู่ระบบบำบัดน้ำในขั้นตอนการซักเครื่องและซักมือ ที่สำคัญ Patagonia นำถุงซักผ้านี้มาขายในราคาทุนเท่านั้น

 

ภาพอธิบายทางแก้ปัญหาเพื่อยับยั้งไมโครไฟเบอร์ที่ปลดปล่อยออกมาจากเสื้อผ้าในขั้นตอนการทำความสะอาดและปนเปื้อนลงสู่สภาพแวดล้อม | ภาพจากเว็บไซต์ patagonia

 

ถุงซักผ้าที่ดักไมโครไฟเบอร์ไม่ให้ปนเปื้อนสู่ระบบบำบัดน้ำ | ภาพจากเว็บไซต์ patagonia

 

อีกบริษัทที่ได้ชื่อว่าจริงจังที่สุดในการลดผลดระทบทางสิ่งแวดล้อมคือ Interface ซึ่งตั้งเป้าหมาย mission zero คือจะไม่สร้างของเสียจากกระบวนการผลิตเลยภายในปี พ.ศ. 2563 บริษัทได้ปรับปรุงการใช้ไนลอนซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จัดการนำพรมหมดอายุกลับมาผลิตใหม่ทั้งหมดและใช้เครื่องมือประมงเก่าที่เก็บได้มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตอีกด้วย

ที่ล้ำหน้าสุดๆ คือบริษัทได้นำแนวคิดชีวลอกเลียน (biomimicry) มาออกแบบนวัตกรรมใหม่ (เรียกว่า Tac Tiles ที่เลียนแบบเท้าของตุ๊กแกที่ใช้ขนเล็กๆ นับล้านในการปีนผนัง) เกิดเป็นวิธีการติดตั้งพรมแบบใหม่ที่เชื่อมพรมแต่ละแผ่นด้วยพลาสติกใสขนาดเล็กแทนการยึดพรมติดกับพื้นแทนการใช้กาว ซึ่งสนับสนุนการเก็บกลับไปผลิตใหม่เมื่อชำรุดหรือหมดอายุการใช้งาน นอกจากนี้บริษัทยังใช้ Random Design ที่เลียนแบบความสวยงามของธรรมชาติ เช่น กองใบไม้ที่ร่วงปกคลุมดิน ก้อนกรวดบริเวณชายหาด เกิดเป็นพรมที่สามารถวางเชื่อมต่อกันได้ทุกทางโดยไม่ต้องจัดเรียงตามทิศทางหรือสี ซึ่งช่วยลดเศษพรมจากการปูพื้นห้องลงจากร้อยละ 12 เหลือเพียง ร้อยละ 1-2 เท่านั้น

 

Tac Tiles นวัตกรรมที่เลียนแบบเท้าของตุ๊กแกในการปีนผนัง | ภาพจากเว็บไซต์ interface

 

 

Random Design นวัตกรรมเลียนแบบความงานตามธรรมชาติเกิดเป็นพรมที่สามารถวางเชื่อมต่อกันได้ทุกทาง | ภาพจากเว็บไซต์ interface

 

จะเห็นว่ามีความพยามในการลดการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกสู่สภาพแวดล้อมด้วยวิธีต่างๆ ทั้งในเชิงกฎหมาย นโยบาย และนวัตกรรมของภาคเอกชน อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าแนวทางทั้งหมดยังไม่เพียงพอ เราจำเป็นต้องมีระบบกรองและจัดการน้ำเสียน้ำที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งจากอุตสาหกรรมและครัวเรือน ในส่วนของล้อรถยนต์ซึ่งเพิ่งมีรายงานว่าเป็นแหล่งที่มาสำคัญของไมโครพลาสติกอีกแหล่งหนึ่ง การศึกษาวิจัยเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น

ความพยายามในการนำขยะพลาสติกมาใช้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็น แบรนด์กีฬาชื่อดังอย่าง Adidas ที่ผลิตรองเท้าจากเส้นใยที่ทำมาจากขยะพลาสติกในทะเล หรือการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตบรรจุภัณฑ์อย่าง Method ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องไม่ลืมว่าการจัดการปัญหาขยะพลาสติกที่มองไม่เห็นดีที่สุดคือการลดการใช้พลาสติกให้มากที่สุด โดยเฉพาะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง

จากข้อมูลที่มีการเก็บอย่างต่อเนื่องเราพบความจริงว่ามีขยะจำนวนเพียงส่วนน้อยนิดเท่านั้นที่ถูกจัดเก็บอย่างมีประสิทธิภาพมาเข้ากระบวนการผลิตซ้ำ ดังนั้นหัวใจหลักของการแก้ปัญหาไมโครพลาสติกและพลาสติกโดยรวมยังคงเป็นการลดปริมาณการใช้ (reduce) และเมื่อเกิดขยะที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ขึ้นแล้วจึงมองไปที่การเก็บกลับ (recovery) นำมาใช้ใหม่ (reuse) หรือนำไปผลิตใหม่ (recycle) ในขั้นต่อมา

 

ไมโครพลาสติกอาจเป็นขยะที่มองไม่เห็น แต่ส่งผลกระทบกว้างไกลและช่วยกระตุ้นเตือนให้พวกเรารู้ว่า นอกจากเราทุกคนจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้ เราทุกคนก็สามารถเป็นทางออกของปัญหาได้เช่นกัน

เอกสารประกอบการเขียน

ไมโครพลาสติก: จากเครื่องสําอางสูสารปนเปอนในอาหาร วรงคศิริ เข็มสวัสดิ์* สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล  วารสารพิษวิทยาไทย 2559 ; 31(1) : 50-61

UNEP (2016). UNEP Frontiers 2016 Report: Emerging Issues of Environmental Concern. United Nations Environment Programme, Nairobi.

บทความเรื่อง Microfibers are polluting our food chain. This laundry bag can stop that โดย Mary Catherine O’Connor จาก The Guardian

เอกสารสรุปโครงการ Plastic Disclosure Project ของ LUSH Cosmetics  จาก HamiltonAdvisors

เอกสารประกอบการนำเสนอของโครงการ plastic disclosure project

บทความเรื่อง What You Can Do About Microfiber Pollution จาก Patagonia

เว็บไซต์ interface

 

เชิงอรรถ

[1] มีสมาชิก 193 ประเทศ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยตัวแทนรัฐบาลประเทศต่าง ผู้บริหารองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้นําภาคธุรกิจ โดยการประชุมมีจุดประสงค์เพื่อวางแผนนโยบายจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของโลก

[2] G7 ประกอบด้วย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐอเมริก

[3] ดูเพิ่มเติมที่นี่ 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save