fbpx
'ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซ' กับการขับเคลื่อนเทคโนโลยีในโลกยุคใหม่

‘ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซ’ กับการขับเคลื่อนเทคโนโลยีในโลกยุคใหม่

จิตรทัศน์ ฝักเจริญผล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

สงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศจีน และการสั่งห้ามทำการค้ากับบริษัท Huawei ที่มีผลทำให้ Google หยุดทำธุรกิจกับ Huawei รวมทั้งยกเลิกการให้สัญญาอนุญาตของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ทำให้หลายคนเริ่มได้ยินเกี่ยวกับแนวคิด ‘ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซ’ 

พัฒนาการของซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซเกี่ยวข้องกับแนวคิดด้านเทคโนโลยี ด้านสังคมการเมือง รวมทั้งมีการขับเคลื่อนด้วยแรงจูงใจด้านเศรษฐกิจในมุมที่หลากหลาย  ในวันที่สิ่งของต่างๆ รอบตัวตั้งแต่โทรศัพท์ โทรทัศน์ ตู้เย็น หลอดไฟ ไปจนถึง รถยนต์ ล้วนแล้วแต่มีคอมพิวเตอร์เป็นส่วนประกอบ แนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบการเป็นเจ้าของ สิทธิ์ในการซ่อมแซม สิทธิ์ในการแก้ไขซอฟต์แวร์และเผยแพร่การแก้ไข นับเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราอย่างคาดไม่ถึง

บทความนี้จะกล่าวถึงที่มาและแนะนำบางประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซ

 

ความเป็นเจ้าของและสิทธิ์ในการซ่อมแซม

 

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น จะกล่าวถึงความเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์โดยเริ่มจากสิ่งของที่จับต้องได้ก่อน เช่น รถจักรยาน

เมื่อเราซื้อรถจักรยานจากผู้ผลิต เราก็กลายเป็นเจ้าของรถจักรยานคันนั้น เรามีสิทธิ์ที่จะปรับแต่งจักรยานให้เหมาะสมกับการใช้งานและรสนิยมของเรา เราอาจจะเลือกพ่นสีจักรยานเป็นสีต่างๆ แปะสติกเกอร์รูปสวยงาม หรือเปลี่ยนล้อและอุปกรณ์อื่นๆ ถ้าจักรยานมีปัญหา เช่น ยางแตก หรือล้มจนโครงบิดเบี้ยว เราสามารถเลือกช่างซ่อมจักรยานที่เราพอใจให้ดูแลซ่อมแซม และปรับแต่งจักรยานตามที่เราต้องการได้ โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตใดๆ จากผู้ผลิตจักรยาน นอกจากนี้ ถ้าจักรยานมีการรับประกันคุณภาพจากผู้ผลิต การปรับแต่งต่างๆ ที่กล่าวมา ไม่ควรมีผลต่อการรับประกันคุณภาพนั้น ยกเว้นกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวข้องกับการปรับแต่งที่เราดำเนินการเอง

ในโลกของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงเครื่องจักรที่ซับซ้อนอื่นๆ เช่น รถยนต์การเกษตร การซื้อผลิตภัณฑ์บางครั้งไม่ได้ทำให้เราได้สิทธิ์ในการปรับแต่งและซ่อมแซมเท่าที่กล่าวมาในกรณีของจักรยาน ยกตัวอย่างเช่น ผู้ใช้รถแทรกเตอร์ของบริษัท John Deere ไม่สามารถซ่อมแซมรถของตนเองได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ใช้สมาร์ทโฟนบางรุ่นถ้ามีการซ่อมแซมผ่านผู้ซ่อมที่ไม่ได้รับรอง ก็อาจเสียการรับประกันได้ หรืออุปกรณ์เล่นเกมบางรุ่น ถ้าชิ้นส่วนเล็กๆ แตกหัก ผู้ใช้จะต้องซื้อใหม่ทั้งชิ้น เพราะผู้ผลิตไม่ได้แยกขายอะไหล่ของชิ้นส่วนเหล่านั้น เงื่อนไขดังกล่าวทำให้ผู้ใช้ประสบความยากลำบากในการใช้งาน อาจต้องเสียค่าซ่อมที่แพงเกินจริง และกีดกันการแข่งขันในการให้บริการซ่อมบำรุงรักษาอุปกรณ์

จากปัญหาดังกล่าวจึงมีความพยายามรณรงค์เรื่องสิทธิ์ในการซ่อมแซม (Right to repair) ขึ้น กฎหมายที่สนับสนุนสิทธิ์ดังกล่าวมักบังคับให้ผู้ผลิตต้องเปิดเผยคู่มือการซ่อมแซมพื้นฐาน ปรับเปลี่ยนแนวทางการยกเลิกการรับประกันเมื่อมีการซ่อมแซมบางอย่างเอง

สังเกตว่าการควบคุมและจำกัดขอบเขตการใช้งานและการเป็นเจ้าของ กระทำผ่านทางเงื่อนไขการใช้งาน (ที่เรียกว่าสัญญาอนุญาต หรือ license) และผ่านทางการควบคุมการเข้าถึงคู่มือและอุปกรณ์อะไหล่

 

ซอฟต์แวร์ ซอร์ซโค้ด และความเป็นเจ้าของซอฟต์แวร์

 

คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องจักรอัตโนมัติที่ทำงานตามคำสั่งที่มนุษย์พัฒนาขึ้น หรือที่เรียกแบบรวมๆ ว่า ‘ซอฟต์แวร์’ คอมพิวเตอร์ที่ไม่มีซอฟต์แวร์เปรียบเสมือนหนังสือที่มีแค่ความว่างเปล่า เหมือนโทรทัศน์ที่ไม่มีช่องรายการใดๆ ฉาย เหมือนเด็กแรกเกิดที่ยังไม่ได้เรียนรู้อะไรจากโลกภายนอกเลย คอมพิวเตอร์ที่มีแต่ฮาร์ดแวร์เป็นเสมือนเครื่องจักรที่พร้อมจะประมวลผลข้อมูล แต่ไม่รู้วิธีในการประมวลผล

ซอฟต์แวร์คือชุดของข้อมูลและคำสั่งที่ควบคุมให้คอมพิวเตอร์ประมวลผลต่างๆ แม้ว่ากลไกภายในคอมพิวเตอร์จะต้องอ่านคำสั่งที่ถูกแปลงเป็นรหัสตัวเลขแล้วเท่านั้น แต่ในปัจจุบันมนุษย์มักเขียนคำสั่งในรูปแบบที่มนุษย์สามารถเข้าใจได้สะดวก

ทำนองเดียวกับการสื่อสารระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองที่ดำเนินการผ่านทางภาษาธรรมชาติ มนุษย์ก็เขียนซอฟต์แวร์ด้วยภาษาโปรแกรม ยกตัวอย่างด้านล่างนี้ เป็นโค้ดโปรแกรมภาษาหนึ่งที่บอกให้คอมพิวเตอร์นำตัวเลขสองตัวมาบวกกันและแสดงผลลัพธ์

 

a = int(input())

b = int(input())

print(a + b)

 

คำสั่งที่เขียนมาข้างต้นเรียกว่าซอร์ซโค้ด (source code) โค้ดเหล่านี้จะถูกแปลงให้อยู่ในรูปแบบที่คอมพิวเตอร์สามารถนำไปประมวลผลตามคำสั่งเหล่านี้ได้ต่อไป (รูปแบบดังกล่าวมักจะอ่านโดยมนุษย์ทั่วไปไม่รู้เรื่อง) ซอฟต์แวร์ที่ทำงานบนคอมพิวเตอร์จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดมาจากซอร์ซโค้ดที่มนุษย์เขียน เพื่อระบุการทำงานและพฤติกรรมของซอฟต์แวร์นั้นๆ

เนื่องจากซอฟต์แวร์กำหนดพฤติกรรมของคอมพิวเตอร์ การเป็นเจ้าของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใดๆ ที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ก็ควรจะครอบคลุมถึงการเป็นเจ้าของซอฟต์แวร์ที่ทำงานบนอุปกรณ์นั้นๆ ด้วย ในทำนองเดียวกับการเป็นเจ้าของจักรยาน สภาวะการเป็นเจ้าของนี้ ควรจะครอบคลุมสิทธิ์ในการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์นั้น เช่น การนำไปศึกษา แก้ไข ปรับปรุง รวมถึงแจกจ่ายส่งต่อการแก้ไขและปรับปรุงที่ได้ดำเนินการขึ้นด้วย  

อย่างไรก็ตาม ซอฟต์แวร์นั้นเป็นสิ่งที่เรามักมองไม่เห็นและมีลักษณะเป็นสิ่งของนามธรรม ความเป็นเจ้าของจึงมักไม่เหมือนการเป็นเจ้าของสิ่งของต่างๆ ทั่วไป

สมมติว่าเราพบว่าระบบคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานอยู่ทำงานผิดพลาด แม้เหตุการณ์ดังกล่าวอาจไม่ได้เกิดบ่อย สำหรับผู้ใช้ทั่วไปทางออกที่สะดวกที่สุดคือแจ้งไปยังผู้ขายระบบคอมพิวเตอร์นั้น ถ้าความผิดพลาดมาจากซอฟต์แวร์ ในกรณีที่ดีที่สุด ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ก็อาจจะแก้ไขและมอบซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ให้เรานำมาติดตั้งเพื่อแก้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น   

อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดบางอย่างอาจไม่ใช่สิ่งที่ผู้พัฒนาคิดว่าเป็นประเด็นที่สำคัญ หรืออาจไม่มีทีมงานที่มีเวลาพอที่จะแก้ข้อผิดพลาดเหล่านั้น หรือในกรณีที่แย่ที่สุดก็คือกรณีที่บริษัทผู้พัฒนาปิดไปแล้ว ในกรณีเหล่านี้ผู้ใช้ธรรมดาแทบไม่มีทางออกอื่น นอกจากทนใช้งานระบบคอมพิวเตอร์ที่มีปัญหานั้นต่อไป หรือไม่ก็ต้องจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ใหม่

ทั้งนี้ ถ้าความผิดพลาดนั้นเกิดจากซอฟต์แวร์ เป็นไปได้ที่ผู้ใช้หรือผู้เชี่ยวชาญคนอื่นนอกจากนักพัฒนา ที่สามารถตรวจสอบและแก้ไขปัญหานั้นได้ คำถามก็คือผู้ใช้มีสิทธิ์ที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับซอฟต์แวร์บนระบบคอมพิวเตอร์ที่ตนเป็นเจ้าของอยู่หรือไม่? ประเด็นดังกล่าวยังครอบคลุมไปถึงการพัฒนาและปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้ใช้ควรจะเป็นเจ้าของด้วยเช่นกัน

ในรูปแบบที่คล้ายๆ กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตสามารถควบคุมรูปแบบการใช้งานและการเป็นเจ้าของซอฟต์แวร์ได้หลายแบบ กระบวนการแรกคือการควบคุมผ่านทางสัญญาอนุญาต ในทางกฎหมายแล้ว ซอร์ซโค้ดรวมถึงซอฟต์แวร์ยังจัดว่าเป็นผลงานสร้างสรรค์ ซึ่งมักมีการคุ้มครองโดยกฎหมายลิขสิทธิ์โดยอัตโนมัติ  กฎหมายดังกล่าวให้สิทธิ์กับผู้พัฒนาในการจำกัดการใช้งาน การแก้ไข และการแจกจ่ายซอฟต์แวร์เหล่านั้นได้

ในกรณีของสินค้าดิจิทัล เช่น ซอฟต์แวร์ ภาพยนตร์ และเพลง การตัดสินใจซื้อสินค้าเหล่านี้แบบออนไลน์ บางครั้งเป็นการซื้อแค่สิทธิ์การเข้าถึง และสิทธิ์การเข้าถึงเหล่านี้อาจถูกยกเลิกเมื่อใดก็ได้ เช่น เพลงหรือหนังสือที่เราซื้อในบริการอย่าง iTunes หรือ Kindle อาจถูกลบออกเมื่อใดก็ได้ (โดยอาจมีการชดเชยเงินให้กับผู้ซื้อ)

นอกจากความซับซ้อนเกี่ยวกับสัญญาการอนุญาตและรูปแบบการเป็นเจ้าของแล้ว สิ่งหนึ่งที่ซอฟต์แวร์แตกต่างจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรกลอื่นๆ คือผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ที่เผยแพร่ทั่วไป (ที่เราสามารถดาวน์โหลดมาติดตั้งในคอมพิวเตอร์) จะอยู่ในรูปของแฟ้มรหัสตัวเลขที่คอมพิวเตอร์สามารถทำงานได้ การเผยแพร่ดังกล่าวสะดวกในการนำไปใช้งาน แต่ปิดโอกาสในการแก้ไขซอฟต์แวร์ดังกล่าว เพราะว่าการศึกษาทำความเข้าใจซอฟต์แวร์ที่ซับซ้อนนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ถ้าปราศจากซอร์สโค้ด

ดังนั้น การเข้าถึงซอร์ซโค้ดได้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากต่อการทำให้ผู้ใช้ซอฟต์แวร์มีสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของ เทียบเท่าการเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์อย่างอื่นๆ

เนื่องด้วยแนวคิดพื้นฐานดังกล่าว ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า ‘ซอฟต์แวร์เสรี’ (free software movement) อย่างเป็นทางการขึ้นในปี ค.ศ.1983  ปรัชญาพื้นฐานของการเคลื่อนไหวดังกล่าวตั้งอยู่บนสิทธิ์ของผู้ใช้งานซอฟต์แวรที่จะ (1) ใช้งานซอฟต์แวร์ (2) ศึกษาและปรับแต่งซอฟต์แวร์ และ (3) ส่งต่อและเผยแพร่ซอฟต์แวร์ดังกล่าว ทั้งในรูปแบบตั้งตนและที่ผ่านการแก้ไขปรับปรุงแล้ว   

แน่นอนว่าการจะได้มาซึ่งสิทธิ์ในข้อ (2) และ (3) นั้น จำเป็นที่จะต้องมีการส่งมอบซอร์ซโค้ดด้วย ซอฟต์แวร์ที่ถูกจัดว่าเป็นซอฟต์แวร์เสรีจะต้องมีสัญญาอนุญาตการใช้งานที่ให้สิทธิ์กับผู้ใช้ครบถ้วนทั้งสามข้อที่ระบุ

อาจเพราะการเคลื่อนไหวดังกล่าวที่เน้นประเด็นด้านสิทธิ์และเสรีภาพ ทำให้ทางภาคธุรกิจไม่ค่อยมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเท่าใดนัก ในปี ค.ศ.1998 จึงเกิดการเคลื่อนไหว ‘ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซ’ ขึ้น โดยมีเป้าหมายเน้นที่กระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์มากกว่าประเด็นด้านเสรีภาพ โดยซอฟต์แวร์ที่จัดว่าเป็นโอเพนซอร์ซ จะต้องระบุ (ในสัญญาอนุญาต) อย่างชัดเจนว่าอนุญาตให้มีการเผยแพร่ซอฟต์แวร์ได้อย่างเสรี ต้องเปิดเผยซอร์ซโค้ด และต้องอนุญาตให้มีการแก้ไขดัดแปลง เป็นต้น 

แทนที่จะเน้นด้านเสรีภาพ ผู้สนับสนุนแนวคิดโอเพนซอร์ซเชื่อว่าการพัฒนาซอฟต์แวร์โดยเปิดเผยซอร์ซโค้ด จะทำให้ซอฟต์แวร์ที่ได้มีคุณภาพดีขึ้น เพราะนักพัฒนาสามารถเข้าร่วมสนับสนุนได้มากกว่า จนมีคำกล่าวว่า “เมื่อมีสายตาจำนวนมากช่วยสังเกต ข้อผิดพลาดต่างๆ ก็กลายเป็นอะไรง่ายๆ”  

อนึ่ง แม้ว่าในทางปฏิบัติแล้วซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซกับซอฟต์แวร์เสรีจะมีลักษณะแทบไม่ต่างกัน เป้าหมายและคุณค่าที่แตกต่างกันทำให้ยังมีข้อถกเถียงระหว่างผู้สนับสนุนแนวคิดทั้งสองอยู่บ้าง แต่ในวันที่บริการบนอินเทอร์เน็ตมากกว่าครึ่งทำงานบนซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวคิดและการเคลื่อนไหวดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมต่างๆ ที่เราเห็นในวันนี้

 

เศรษฐศาสตร์ของการพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซ

 

สิ่งที่หลายคนสงสัยเมื่อทราบแนวคิดซอฟต์แวร์เสรีหรือซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซ ก็คือถ้าเปิดเผยซอร์ซโค้ดและอนุญาตให้แจกจ่ายได้อย่างเสรีแล้ว อะไรจะเป็นแรงจูงใจทางเศรษฐกิจให้มีการพัฒนาซอฟต์แวร์ในลักษณะดังกล่าว

ถ้าจะให้เปรียบเทียบ ก็เหมือนกับการที่ธุรกิจดนตรีอนุญาตให้ใครก็ได้ สามารถคัดลอกดนตรีและเพลงที่มีลิขสิทธิ์ไปทำอะไรก็ได้ตามใจชอบเลยทีเดียว 

อย่างไรก็ตาม มีธุรกิจหลากหลายรูปแบบเกิดขึ้นเพื่อสร้างมูลค่าจากซอร์ซโค้ดที่เปิดเผยนี้ เช่น บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซ อาจต่อยอดความชำนาญของตนเองและให้บริการรองรับและดูแลระบบ ความรวดเร็วและเสถียรภาพของระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทำให้ธุรกิจดูแลทรัพยากรและระบบคอมพิวเตอร์ลักษณะนี้เป็นที่น่าสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ หน่วยงานทั้งภาคเอกชนและภาครัฐจำนวนหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากซอฟร์แวร์โอเพนซอร์ซทั้งทางตรงและทางอ้อม ได้เริ่มเข้ามาสนับสนุนทีมนักพัฒนา และสุดท้ายคือการที่โปรแกรมเมอร์จำนวนมากได้พิสูจน์ฝีมือ สร้างชื่อเสียง และโอกาสทางอาชีพจากการพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซ

ชุมชนนักพัฒนาโอเพนซอร์ซซอฟต์แวร์ขยายขนาดขึ้นมากนับตั้งแต่นั้นมา อินเทอร์เน็ตในปัจจุบันทำงานอยู่บนซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซจำนวนมหาศาล บริษัทเช่น Apple, Google, Facebook สร้างนวัตกรรมบนซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซ  กระทั่งบริษัทที่ขายซอฟต์แวร์อย่าง Microsoft ที่เมื่อก่อนมีท่าทีแข็งกร้าวต่อแนวคิดซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซ กลับทุ่มเงินเพื่อเป็นเจ้าของเว็บไซต์ Github ที่เป็นแหล่งรวบรวม จัดการและแจกจ่ายซอร์ซโค้ดบนโลกที่ใหญ่ที่สุด

ประเด็นด้านเศรษฐศาสตร์ของโครงการซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซเป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจ แม้ว่าจะมีนักพัฒนาและโครงการต่างๆ เป็นจำนวนมาก เงินทุนสนับสนุนและทีมงานที่ดูแลโครงการต่างๆ บางครั้งไม่ค่อยจะสมดุลกับความสำคัญของโครงการ ปัญหาด้านความปลอดภัยที่เกิดจากความผิดพลาดในโค้ดของซอฟต์แวร์สื่อสารแบบเข้ารหัส ก็มีสาเหตุหนึ่งมาจากความเหนื่อยล้าของทีมงานนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่รับภาระมากเกินไปด้วยเช่นกัน

 

บางครั้งโอเพนซอร์ซเป็นการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ และไม่ได้หมายถึงการละทิ้งความเป็นเจ้าของ

 

ถ้ามองย้อนในอดีต เหตุการณ์ที่เป็นจุดเริ่มต้นของซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซ คือการเปิดเผยซอร์ซโค้ดของบราวเซอร์ Netscape ในปีค.ศ.1998 เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้สามารถพัฒนาแข่งขันกับบราวเซอร์อย่าง Internet Explorer ที่แย่งชิงตลาดไปอย่างมาก เพราะมีข้อได้เปรียบที่เป็นซอฟต์แวร์ที่ติดมากับระบบปฏิบัติการวินโดวส์

ในทำนองที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ในวันที่ Google เปิดตัวระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์สำหรับอุปกรณ์สมาร์ทโฟน เมื่อปี 2008 ขณะที่ตลาดสมาร์ทโฟนตอนนั้นมี iPhone เป็นเจ้าของตลาดที่แข็งแกร่ง  ทาง Google ก็เลือกที่จะพัฒนาแกนหลักของระบบปฏิบัติการเป็นซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซ การที่ซอฟต์แวร์เป็นโอเพนซอร์ซทำให้มีการนำไปใช้ได้สะดวก นักพัฒนาสามารถทดลองและศึกษาได้ง่ายโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งหมดนี้รวมทั้งแผนการตลาดและความร่วมมือจากผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือหลายเจ้า ทำให้ในปัจจุบันระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เป็นระบบปฏิบัติการบนสมาร์ทโฟนที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด

เมื่อได้ยินว่าแอนดรอยด์เป็นระบบปฏิบัติการแบบโอเพนซอร์ซ หลายคนอาจคาดว่านั่นหมายถึงระบบปฏิบัติการที่เป็นสมบัติของสาธารณะ ใครๆ ก็สามารถนำไปใช้ได้ แต่เมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียด จะพบว่าซอฟต์แวร์ทั้งหมดที่ทำงานบนสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์นั้นมีสองส่วนหลักๆ คือส่วนการทำงานพื้นฐานระบบปฏิบัติการที่เป็นซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซ (เรียกว่า AOSP — Android Open Source Project) และส่วนบริการและซอฟต์แวร์อื่นๆ ที่ Google ไม่ได้เปิดเผยซอร์ซโค้ด เช่น ซอฟต์แวร์ยอดนิยมอย่าง Gmail, Calendar รวมไปถึงบริการขายแอพลิเคชัน Google Play ด้วย

ใครๆ ก็สามารถนำส่วนที่เป็นซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซไปใช้ได้ (แต่ไม่สามารถอ้างชื่อแอนดรอยด์ได้) แต่ถ้าต้องการส่วนอื่นๆ ก็ต้องได้รับการอนุญาตจาก Google เสียก่อน

การเปิดเผยซอร์ซโค้ดเพียงบางส่วนทำให้ Google ยังคงอำนาจควบคุมและกำหนดทิศทางของแอนดรอยด์ได้อย่างแทบจะสมบูรณ์  Google สามารถยกเลิกการให้สัญญาอนุญาตกับบางบริษัทที่ไม่ทำตามเงื่อนไขที่ Google กำหนดได้ เช่น กรณีที่มีความพยายามรองรับระบบปฏิบัติการที่ปรับแต่งมาจากแอนดรอยด์ที่ไม่ได้มาจาก Google หรือในกรณีล่าสุด รัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็สามารถออกคำสั่งให้ Google ยกเลิกการอนุญาตให้ใช้ซอฟต์แวร์กลุ่มนี้กับบริษัท Huawei ได้

 

ระบบนิเวศ

 

เมื่อเราพิจารณาอุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วไป เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า หรือเตารีด คุณค่าของอุปกรณ์นั้นอยู่ที่ความสามารถเฉพาะตัวของอุปกรณ์นั้น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันถ้าเราพิจารณาผลิตภัณฑ์หรือบริการอีกหลายแบบ เราจะพบว่าคุณค่าเกิดจากการเชื่อมโยง เชื่อมต่อ และสานต่อการทำงานกับคนอื่นๆ หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ

ยกตัวอย่างเช่น ในระบบเครือข่ายสังคมอย่าง Facebook ผู้ใช้จะได้ประโยชน์จากเครือข่ายถ้ามีผู้ใช้คนอื่นๆ ในเครือข่ายดังกล่าวด้วย หรือถ้าพิจารณาระบบปฏิบัติการบนสมาร์ทโฟน การที่ระบบปฏิบัติการหนึ่งๆ มีผู้ใช้จำนวนมาก ก็ทำให้มีแรงจูงใจให้มีเกิดการพัฒนาแอพลิเคชันจำนวนมากไปด้วย เราสามารถพิจารณาระบบที่เชื่อมโยงกันในภาพรวมที่ประกอบไปด้วยซอฟต์แวร์ต่างๆ ผู้ใช้ รวมถึงข้อมูลของผู้ใช้ และข้อมูลอื่นๆ ว่าเป็นระบบนิเวศ

ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซและซอฟต์แวร์เสรีเป็นแนวคิดที่พยายามแก้ปัญหาเรื่องสิทธิ์ในการใช้ แก้ไขปรับปรุง และเผยแพร่ซอฟต์แวร์ แต่กระนั้น แนวคิดดังกล่าวก็ไม่ได้กว้างขวางครอบคลุมถึงสิทธิ์ในการใช้งานซอฟต์แวร์ในมุมที่ใหญ่กว่าซอฟต์แวร์ชิ้นเล็กๆ ชิ้นใดชิ้นหนึ่ง  

ในปัจจุบันที่การครอบครอง ควบคุม และผูกขาด ดำเนินการอยู่ในระดับของระบบนิเวศการใช้งานซอฟต์แวร์ บางทีผู้ใช้และนักพัฒนาที่ไม่อยากจะติดอยู่ในกรอบของบริษัทใหญ่ที่อาจกลายเป็นกรงขังหรืออาจโดนไล่ออกจากกรอบเมื่อใดก็ได้ อาจต้องลองมองหากระบวนการบางอย่างหรือสร้างการเคลื่อนไหวบางแบบขึ้นเพื่อทำให้ระบบนิเวศทางระบบซอฟต์แวร์นั้นมีความเปิดกว้างมากขึ้นกว่าปัจจุบัน

 


 

เอกสารอ่านเพิ่มเติม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save