fbpx
“การเป็นนักแปล ไม่ใช่แค่รู้ภาษา” - เปิดชีวิตนอกตำรา ฉบับ ‘สดใส’

“การเป็นนักแปล ไม่ใช่แค่รู้ภาษา” – เปิดชีวิตนอกตำรา ฉบับ ‘สดใส’

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่องและภาพ

งานสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์เล็กๆ ที่สร้างความฮือฮาให้แก่นักอ่าน โดยเฉพาะคอวรรณกรรมคลาสสิค จากการที่สำนักพิมพ์เคล็ดไทย ตีพิมพ์งานของเฮอร์มานน์ เฮสเส ฉบับแปลโดย ‘สดใส’ ออกมาใหม่ แบบยกชุด 10 เล่ม พร้อมดีไชน์ใหม่แบบเรียบหรู น่าเก็บสะสม

ทว่าสิ่งที่ชวนให้แปลกใจยิ่งกว่า คือการที่เรื่อง ‘เดเมียน’ ซึ่งเป็น 1 ใน 10 เล่ม ขายหมดล็อตแรกอย่างรวดเร็วตั้งแต่วันแรกๆ ของงาน โดยมีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักอ่านวัยใส ที่ตามมาซื้อหนังสือเล่มนี้จากไอดอลเกาหลีชื่อดัง นามว่า ‘คิมนัมจุน’ พร้อมส่งแฮชแท็ก #นัมจุนอ่าน ให้ทะยานติดอันดับท็อปในช่วงงานสัปดาห์หนังสือ

101 จึงถือโอกาสสัมภาษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สดใส ขันติวรพงศ์ เจ้าของนามปากกา ‘สดใส’ และเจ้าของสำนวนแปลเฮสเส ฉบับภาษาไทย ที่นักอ่านคุ้นเคยมาไม่ต่ำกว่าสี่สิบปี ผ่านผลงานแปลสิบกว่าเล่ม จนทำให้เธอได้รับฉายาว่าเป็น ‘ลูกสาวเฮสเส’

แต่นอกเหนือจากนี้ เธอยังมีงานแปลอื่นๆ อีกมากมาย นับรวมแล้วเป็นหลักร้อย โดยส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่งานวรรณกรรมคลาสสิค กับงานเชิงปรัชญาและศาสนา งานขึ้นหิ้งอย่าง ภควัทคีตา, อันนา คาเรนินา, พี่น้องคารามาซอฟ ล้วนผ่านมือเธอมาแล้วทั้งสิ้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สดใส ขันติวรพงศ์

ช่วงสายของวันธรรมดาที่ผู้คนยังไม่พลุกพล่าน เราเปิดบทสนทนากับเธอกลางงานหนังสือ  ตั้งต้นจากเรื่องการทำงานแปล เพราะเข้าใจว่านั่นน่าจะเป็นงานหลักในชีวิตเธอ ก่อนจะพบว่าเข้าใจผิดอย่างมหันต์ เมื่อเธอสารภาพว่าทั้งหมดนั่นคือ ‘งานเสริม’ และเป็นงานเสริมที่เธอไม่เคยคิดว่าจะได้ทำด้วยซ้ำ

“ไม่เคยคิดเลย คิดแต่อยากเป็นครูอย่างเดียว เพราะสมัยนั้นอาชีพมันไม่ได้เปิดกว้างอะไร” คำพูดฉะฉาน บุคลิกกระฉับกระเฉง รอยยิ้มยังสดใส จนแทบจะลืมไปว่าเธอเลยวัยเกษียณมามากแล้ว

แม้จะเชี่ยวชาญด้านภาษา พ่วงด้วยดีกรีจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ แต่เธอตั้งปณิธาณแน่วแน่ว่า อยากเป็นครูสอนประวัติศาสตร์ แล้วก็เดินตามเส้นทางนั้นมาโดยตลอด จนถึงวัยเกษียณ

“ปัจจุบันก็ยังเป็นครูอยู่นะ และคิดว่าคงเป็นไปตลอดชีวิต”

ในเมื่อจิตวิญญาณความเป็นครูเข้มข้นขนาดนี้ แล้วอะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอกลายเป็นนักแปล เธอกลายเป็นลูกสาวเฮสเสตั้งแต่ตอนไหน การเป็นอาจารย์ประวัติศาสตร์กับนักแปลขัดแย้งกันหรือไม่ นั่นคือคำถามหลักๆ ที่เราสงสัย

ปิดทุกตำรา แล้วละเลียดไปกับคำตอบฉบับ ‘สดใส’ ได้ในบทสนทนาต่อไปนี้

จุดเริ่มต้นการทำงานแปล

เริ่มจากเฮสเสนี่แหละ ตอนนั้นประมาณปี 2516 เป็นช่วงที่เรียนต่อปริญญาโท ภาคประวัติศาสตร์ ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ก็มีเพื่อนเอาหนังสือเล่มนึงมาให้อ่าน บอกว่าสดใสน่าจะชอบนะ เป็นวรรณกรรมเยอรมัน เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ชื่อ The Pridogy ของเฮอร์มาน เฮสเส ปรากฏว่าเราอ่านแล้วก็ชอบมาก รู้สึกว่าอยากแปลจังเลย แค่นั้นแหละ ก็เริ่มแปลเลย ยังไม่ได้คิดว่าจะพิมพ์หรือไม่พิมพ์ ค่อยๆ แปลไปจนเสร็จเรียบร้อย ประมาณปี 2518 ก็ฝากต้นฉบับให้เพื่อนไปส่งที่สำนักพิมพ์เคล็ดไทย ตอนนั้นก็ยังไม่รู้หรอกว่าจะได้พิมพ์มั้ย เพราะมันมีเหตุการณ์ทางการเมืองพอดี เราก็ส่งต้นฉบับไปทิ้งไว้ จากนั้นประมาณปี 2520 ก็กลับไปสอนหนังสือที่สงขลา เป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์

จนถึงปี 2524 สถานการณ์บ้านเมืองเริ่มคลี่คลาย พวกนักศึกษาที่เข้าป่าเริ่มกลับมาในเมือง คนที่เคยทำงานอยู่เคล็ดไทย ก็เริ่มกลับไปรื้อต้นฉบับมาตีพิมพ์ แล้วก็เจอต้นฉบับแปลของเราเรื่องนี้ คือ The Prodigy ชื่อภาษาไทยคือ บทเรียน เขาก็เลือกมาตีพิมพ์ นั่นคือการตีพิมพ์ครั้งแรก ถ้านับจากตอนที่ต้นฉบับเสร็จ กว่าจะได้ตีพิมพ์ก็ผ่านไป 8 ปี

ทีนี้พอทำเล่มแรกออกมา คนที่สำนักพิมพ์เคล็ดไทยเขาก็ชอบ บอกว่าพี่น่าจะทำของเฮสเสต่อนะ สำนวนพี่ได้ ไอ้เราก็สบายสิ เพราะเราชอบอยู่แล้ว ที่สำคัญคือเรามีเกือบทุกเล่ม ตามซื้อเก็บไว้หมดแล้ว พอเล่มแรกพิมพ์ออกมาแล้วสำนักพิมพ์เขาชอบ ก็มีโอกาสทำต่อมาเรื่อยๆ

 

ช่วงนั้นมีคนแปลงานเฮสเสมาก่อนมั้ย

เท่าที่รู้จะมีคุณฉุน ประภาวิวัฒน์ ที่เคยแปล ‘สิทธารถะ’ ออกมา ซึ่งตอนที่เคล็ดไทยเสนอให้เราแปลต่อ  เขาบอกว่า แปลสิทธารถะสิ เราก็บอก โอ้ย มีคนแปลแล้ว เขาก็บอกว่ามันคนละอย่างกัน คนละสำนวนกัน พี่ทำของพี่ไปเลย สรุปว่าเราก็แปลสิทธารถะเป็นเล่มที่สอง หลังจากนั้นก็ทยอยทำไปเรื่อยๆ ตกปีละเล่ม

ก่อนจะมาแปลเล่ม ‘บทเรียน’ เคยคิดอยากเป็นนักแปลไหม

ไม่เคยคิดเลย คิดแต่อยากเป็นครูอย่างเดียว

ทำไมถึงอยากเป็นครู

เพราะสมัยก่อนอาชีพมันไม่ได้เปิดกว้างอะไร เราก็เรียนหนังสือไปตามปกติ ทีนี้ช่วงมัธยม จะมีอาจารย์ที่สอนสังคมคนนึง แกดุนะ แต่สอนภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์สนุกมาก มันมาก ทำให้เราอยากเป็นครูตั้งแต่ตอนนั้นเลย สอนสังคมศึกษา สอนประวัติศาสตร์นี่แหละ พอมีเป้าหมายชัด เราก็ไม่วอกแวกเลย ตั้งใจอยากเป็นครูอย่างเดียว

พอเรียนจบปริญญาตรี ก็ลงไปสอนอยู่ทางใต้เลย สอนอยู่ปีนึงแล้วก็ขึ้นมาเรียนต่อโทประวัติศาสตร์ พอเรียนโทจบ ก็ลงไปสอนยาวเลย 27 ปี ที่วิทยาลัยครูสงขลา (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา) จนถึงปี 2543 แล้วก็ตัดสินใจเออร์ลี่รีไทร์ ตอนนั้นอายุ 51 เอง ออกมาเป็นอาจารย์พิเศษแทน แล้วก็ทำงานแปลควบคู่กันไป จนถึงวันนี้ก็ยังทำสองอย่างนี้คู่กันอยู่

แต่ถ้าถามว่าตอนนั้นเคยคิดมั้ย ว่าจะได้มาทำงานแปล ไม่เคยคิด ไม่รู้จักหรอกว่าสำนักพิมพ์คืออะไร งานเขียนงานแปลเขาทำกันยังไง ไม่เคยอยู่ในสมอง แต่จำได้ว่ามีอาจารย์ที่สอนปรัชญา เคยดูลายมือกันสนุกๆ แกบอก เฮ้ย สดใสมึงต้องเป็นนักเขียน ตอนนั้นได้ยินแล้วขำกลิ้งเลยนะ เพราะไม่รู้มันจะเป็นไปได้ยังไง อย่างที่บอกว่าตอนแปล The Prodigy เราก็ทำเพื่อสนองนี้ดตัวเองล้วนๆ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สดใส ขันติวรพงศ์

อาจารย์เริ่มต้นทำงานแปลจากงานของเฮสเส อยากให้ขยายความหน่อยว่า มันมีเสน่ห์หรือน่าสนใจยังไง

โอ๊ย สำหรับเรานะ มันสวยงามมาก ทั้งการบรรยายฉาก บรรยายตัวละคร เราไม่เคยอ่านงานแบบนี้มาก่อน อย่างสมัยที่ปริญญาตรี คณะอักษรฯ เราก็จะได้อ่านแต่หนังสือที่เขาให้อ่าน คือพวกงานคลาสสิคของอังกฤษ เช่น Wuthering Heights, The Pearl พูดง่ายๆ ว่ารู้จักเฉพาะวรรณกรรมที่เขาบังคับให้เรียน ส่วนพวกงานแปล โดยมากจะเป็นงานแปลสมัยโบราณ เช่น บ้านเล็กในป่าใหญ่, เหมาโหลถูกกว่า หรือไม่ก็เป็นพวกชีวประวัติของบุคคล สารคดี วรรณกรรมเยาวชน แต่วรรณกรรมเยอรมันอย่างเฮสเสนี่ไม่เคยอ่าน

วรรณกรรมส่วนใหญ่ที่อ่านจะเป็นเรื่องเล่า เป็นเรื่องของตัวละคร อย่าง Of Mice and Men ของ จอห์น สไตน์เบ็ค มันสะท้อนชีวิตของตัวละครก็จริง แต่มันไม่มีความละเอียดอ่อนอย่างเฮสเส จริงๆ เราก็ชอบนะ งานพวกนั้น แต่ของเฮสเสมันมีรายละเอียดที่ลึกลงไปมากกว่า

งานของเฮสเสจะเป็นเชิงปรัชญา จิตวิทยา แต่ไม่ได้เขียนแบบทฤษฎี เวลาเขาอธิบายอะไรสักอย่าง เขามองทะลุเข้าไปในอารมณ์ของมนุษย์ ลงไปในรายละเอียดของอารมณ์และภาวะต่างๆ จนทำให้เราเข้าใจตัวละครนั้นๆ ได้

แล้วตัวของเฮสเสเอง เขาก็มีปัญหานะ พูดง่ายๆ ว่าเขาไม่สามารถจะเรียนในระบบได้ตั้งแต่ตอนเด็ก เขาโตมาจากการสังเกตสิ่งรอบๆ ตัวในสวน อ่านหนังสือในห้องสมุดของคุณตา ซึ่งน่าคิดเหมือนกันว่า สุดท้ายแล้วระบบของโรงเรียน ที่มีกรอบบางอย่างเคร่งครัด มันช่วยส่งเสริมเด็กได้แค่ไหน แล้วในมุมกลับกัน มันทำลายบางอย่างในตัวเขาโดยไม่รู้ตัวหรือเปล่า

การที่เฮสเสเติบโตมาในสภาพแวดล้อมแบบนี้ อาจมีส่วนที่ทำให้เขาเห็นและบรรยายอะไรที่มันออกนอกกรอบไป แต่ขณะเดียวกันก็สามารถอธิบายได้ว่า สภาพจิตใจของคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบ ไม่อยู่ในร่องในรอย เขาคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร

ทีนี้ถ้าเทียบกับงานอื่นๆ สังเกตว่าพวกตัวละครที่ไม่อยู่ในระบบ ไม่ตรงร่อง มันมักจะตกขอบไปเลย นักเขียนไม่ละเอียดพอที่จะทำให้เราเห็นว่าจิตใจและความคิดเขาเป้นยังไง ส่วนมากจะไปเน้นว่าเป็นการกระทำของคนอื่น ที่ทำให้เขาต้องตกขอบไป แต่เฮสเสเลือกที่จะบรรยายสภาวะข้างในของคนๆ นั้น บรรยายจนกระทั่งเราเข้าใจมัน แม้ว่าตัวละครนั้นจะบกพร่องยังไง แต่เฮสเสจะแสดงเราให้เห็นถึงเบื้องหลังความคิด พฤติกรรม ทำให้เราเข้าใจหรือเห็นใจเขาได้

อาจารย์แปลงานของเฮสเสเยอะมาก จนได้รับฉายาว่า ‘ลูกสาวเฮสเส’ อยากทราบว่าฉายานี้มีที่มาจากไหน

มาจากคุณพจนาถ พจนาพิทักษ์ เป็นคนตั้งให้ ตอนนั้นพจนาถเขาเป็นนักเขียนอยู่ที่นิตยสาร Writer แล้วก็มาสัมภาษณ์เรา เรื่องงานแปลของเฮสเสนี่แหละ เสร็จแล้วเขาก็ตั้งชื่อบทสัมภาษณ์ว่า คำให้การของ ‘ลูกสาวเฮสเส’ หลังจากนั้นคนก็เอามาเรียกกันเรื่อยๆ

แล้วอาจารย์รู้สึกยังไงกับฉายานี้

ก็รู้สึกดีนะ ยอมรับ (หัวเราะ) เพราะเราก็โตมาจากเฮสเสจริงๆ พูดได้เลยว่าเฮสเสทำให้เราเกิดใหม่อีกครั้ง จากเมื่อก่อนที่เราโตมาในขนบ เรียนหนังสือ ทำงาน ตามระบบทุกอย่าง แต่พอได้มาอ่านงานเฮสเส มันทำให้เราได้เห็นโลกอีกใบที่เราไม่เคยรู้จัก พูดง่ายๆ ก็คือโลกของความงาม

โดยทั่วไปเราไม่เคยถูกฝึกให้มองอย่างนี้ ทั้งในมหา’ลัยและในครอบครัวเรา เราจะถูกฝึกให้มองไปข้างหน้า มองอนาคตที่มันไกล มองความสำเร็จที่รออยู่ แต่เราไม่เคยฝึกมองอะไรที่มันอยู่ตรงหน้า

สิ่งที่เราได้จากเฮสเสมากที่สุดคือวิธีมองโลก มองให้เห็นความหมายและความงามของจากสิ่งง่ายๆ ใกล้ตัว การทำงานแปลของเฮสเสทำให้เห็นความงามที่มีอยู่แล้วในโลกนี้ ไม่ใช่ความงามแบบประดิดประดอย หรืองามเพราะถูกแต่งให้งาม อยู่ที่ว่าคุณละเอียดอ่อนพอที่จะมองเห็นหรือเปล่า

เฮสเสเป็นคนแรกที่ทำให้เรามีสายตาใหม่ที่มองเห็นสิ่งเหล่านี้ ได้รู้จักความงามของโลกที่เราไม่เคยสัมผัส ซึ่งตอนหลังๆ เราก็อ่านงานของคนอื่นอีกเยอะนะ แต่พอเริ่มตั้งหลักจากงานของเฮสเส แล้วขยับไปอ่านงานอื่นๆ มันก็ง่าย ยิ่งอ่านยิ่งแตกยอดออกไปเรื่อยๆ

สังเกตว่างานวรรณกรรมคลาสสิคทั้งหลาย ตัวนักเขียนมักถ่ายทอดจากความทุกข์หรือปมบางอย่างในชีวิต อาจารย์คิดว่าความทุกข์มีผลต่อการผลิตงานเขียนแค่ไหน

แน่นอน การที่เขาจะเขียนได้อย่างมีชีวิต มันต้องผ่านประสบการณ์จากชีวิตเขาเอง ความสุขความทุกข์ เขาต้องผ่านมาด้วยตัวเอง แต่นักเขียนพวกนี้ เราเชื่อว่าการที่เขาเขียนได้ เป็นเพราะเขายังมีความหวังท่ามกลางความทุกข์ทั้งหลาย เขายังเห็นความดีงาม เห็นแสงสว่าง เขามีความรักและความหวังอยู่ เขาถึงทำออกมาได้ ในแง่นี้เราจึงนับถือทุกคน

อย่างเฮสเส เขาก็ผจญกับชีวิตมาเยอะ อย่างตอลสตอยก็ไม่เบา พวกนี้เจอศึกใหญ่ในชีวิตทั้งนั้น ทั้งในเรื่องส่วนตัว เรื่องบ้านเมือง จนกระทั่งเขาย่อยได้ แยกได้ เห็นชัดเจน เขาถึงนำเสนอออกมาได้ มนุษย์พวกนี้เขาไม่เห็นว่าความทุกข์เป็นอุปสรรคในชีวิตเขา หรืออาจเห็น แต่สุดท้ายเขาก็ข้ามพ้น จนกลั่นมันออกมาเป็นงานเขียนชั้นยอดได้ ฉะนั้นการได้รู้เรื่องราวชีวิตอันทุกข์ยากของนักเขียนระดับโลกหลายคน ยิ่งทำให้เรานับถือและชื่นชมเขามากขึ้น

พอเริ่มแปลงานมากเข้าๆ กระทบกับการเป็นครูมั้ย

แทบจะไม่กระทบเลย ข้อดีอย่างหนึ่งของการเป็นครู คือเรามีเวลาช่วงปิดเทอมสามเดือนเป็นโบนัสเวลา เราได้ทำงานแปลสบายๆ แล้วงานแปลคือการผ่อนคลายสำหรับเรานะ เหมือนเล่นเกม เฮ้ย ประโยคนี้ จะแปลยังไง ใช้คำไหนดี พอคิดคำได้ มันก็ตื่นเต้น เหมือนได้ค้นพบอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา

ทีนี้พอเราเกษียณ มีเวลามากขึ้น ก็ทำสองอย่างควบคู่กันไป ทุกวันนี้ก็ยังเป็นครูอยู่ และคิดว่าคงเป็นไปตลอดชีวิต

 

อาจารย์ทำงานแปลมา 40 ปี สะท้อนให้ฟังหน่อยว่าชีวิตนักแปลเป็นยังไง มีภาวะไส้แห้งเหมือนที่นักเขียนชอบบ่นกันไหม

เรามีอาชีพหลักเป็นครูไง มีรายได้ประจำของเราอยู่แล้ว ฉะนั้นเรื่องรายได้จึงไม่ลำบากอะไร งานแปลถือเป็นงานเสริม เป็นการให้การศึกษากับตัวเอง เพราะสิ่งที่เราแปลมันไม่ใช่เรื่องไร้สาระ บางทีเราก็เอาสิ่งที่เราแปลไปใช้ในการเรียนการสอนได้ด้วย จริงๆ มันเอื้อกับอาชีพเราด้วยซ้ำ ไม่ได้รู้สึกว่ามันขัดแย้ง สำหรับเราถือว่ามีแต่ได้กับได้

แต่ถามว่า ถ้าจะอยู่ด้วยงานแปลล้วนๆ อยู่ได้ไหม ก็คงอยู่ยากนะ เคยคิดเหมือนกัน ช่วงที่เกษียณใหม่ๆ สุดท้ายด้วยภาระต่างๆ ก็ไม่ไหว ต้องเป็นอาจารย์พิเศษคู่กันไปด้วย ถึงจะคล่องตัวหน่อย แต่ถ้าจะจับงานแปลอย่างเดียว โดยเฉพาะหนังสือในแบบที่เราทำอยู่ ก็อาจลำบากหน่อย เพราะคนอ่านมันน้อย

ที่บอกว่าคนอ่านน้อย โดยเฉพาะงานวรรณกรรม อาจารย์มองว่าเป็นเรื่องปกติไหม

ปกติอยู่แล้ว เพราะคนกลุ่มน้อยที่จะเข้าถึงงานพวกนี้ หนึ่งคือคุณต้องมีพื้นฐานความรู้พอสมควร ถึงจะเข้าใจได้ ถ้าคุณไม่มีพื้นฐานอะไรเลย ไม่ว่าจะทางวัฒนธรรม การเมือง หรือประวัติศาสตร์ แล้วจู่ๆ คุณไปอ่าน คุณก็จะงง เฮ้ย มันคืออะไร

บางคนบอกว่าอ่าน ‘เกมลูกแก้ว’ แล้วไม่เข้าใจ เราก็เข้าใจได้นะ คือถ้าเขาไม่มีพื้นฐานทางประวัติศาสตร์เลย หรือกระทั่งวิธีคิดทางปรัชญา จิตวิทยา ก็อ่านยากเป็นธรรมดา แต่คนที่เขามีพื้นฐานเหล่านี้ จะรู้สึกอีกแบบเลย เฮ้ย มันคิดได้ยังไงวะ เจ๋ง สุดยอด

หรืออย่างเรื่อง ‘เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ’ ของ อรุณธตี รอย แปลตั้งไม่รู้กี่ภาษา ได้รางวัลมากมาย เด็กบางคนมาอ่าน บอกไม่ค่อยเข้าใจ ก็ไม่แปลก เพราะเขาไม่เข้าใจวัฒนธรรมอินเดีย ไม่เข้าใจการแบ่งแยกระบบวรรณะต่างๆ แต่สำหรับคนที่เข้าใจอารยธรรม เข้าพื้นฐานประวัติศาสตร์ จะรู้สึกเลยว่า โห มันคิดได้ยังไง มันดียังไง แล้วจะเข้าใจเลยว่า ทำไมโลกถึงยกย่องงานพวกนี้กันนักหนา

เราถึงบอกว่า บางทีมันจำเป็นเหมือนกัน ที่จะต้องปูพื้นฐานเหล่านี้ไว้บ้าง อย่างน้อยๆ ก็ตั้งแต่ระดับมัธยม เด็กควรจะรู้อารยธรรมโลกบ้าง รู้ประวัติศาสตร์บ้าง เพื่อให้เขาไปต่อได้ เรื่องพวกนี้ต้องปูพื้นฐานกันตั้งแต่ในโรงเรียน สุดท้ายก็ไปโทษได้ไม่เต็มปากหรอก ว่าทำไมคนอ่านกันน้อย เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนอ่านแล้วจะเข้าใจ อย่างตัวเราในฐานะคนแปล เราก็ทำใจอยู่แล้วว่าจะมีนักอ่านจริงๆ อยู่แค่กลุ่มหนึ่ง แต่ถึงแม้ว่ามันจะน้อย แต่สิ่งที่เขาได้มันเยอะไง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สดใส ขันติวรพงศ์

ในฐานะที่เป็นอาจารย์ประวัติศาสตร์ด้วย ความรู้ด้านนี้มีผลต่อการทำงานแปลแค่ไหน

มีผลมาก จำเป็นมาก การที่เราเรียนภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ทำให้เรารู้บริบทโลก อย่างน้อยเราก็เข้าใจว่ายุโรปเขาคิดยังไง สภาพภูมิอากาศเป็นยังไง ประวัติศาสตร์เป็นยังไง ถึงแม้เราไม่เคยไป แต่เรารู้ แล้วพอมาอ่านงานพวกนี้ เราก็พอเข้าใจ เชื่อมโยงได้

บางคนถึงบอกว่า งานแปลเนี่ย ไม่ใช่ว่าจบเอกอังกฤษมาแล้วจะทำได้เลย เพื่อนเราบางคนยังบอกเลยว่าไม่กล้าทำ เราก็ไม่แปลกใจ คือคุณเก่งภาษาก็จริง แต่การที่คุณไม่รู้บริบทวัฒนธรรม ไม่มีพื้นฐานความรู้บางอย่าง บางทีมันนึกไม่ออก จินตนาการไม่ได้ สุดท้ายก็จะส่งผลต่อการเลือกคำ เลือกประโยค ว่าจะใช้แบบไหนยังไง

เวลาเราสอนประวัติศาสตร์ เรามักจะพูดกับนักเรียนเสมอว่า หนึ่ง แผนที่เราต้องรู้นะ อะไรอยู่ตรงไหนยังไง ภูมิอากาศเป็นยังไง พืชพันธุ์ของเขาเป็นยังไง อารยธรรมเป็นยังไง โลกต้องอยู่ตรงหน้าเรา จนเราสามารถพูดได้โดยที่ไม่ต้องอ้างตำรา

เคยมีอาจารย์รุ่นพี่ถามว่า สดใสเสียใจไหมที่เรียนภูมิศาสตร์ เราบอกไม่เสียใจเลย พันเปอร์เซ็นต์ หมื่นเปอร์เซ็นต์ เป็นวิชาที่มีประโยชน์กับชีวิตมาก ยิ่งตอนหลังมาทำงานแปล ยิ่งรู้สึกว่ามีประโยชน์มาก ยกตัวอย่างว่าเราแปลงานเยอรมัน ทั้งที่เราไม่เคยไปเยอรมัน แต่เราพอจะรู้บริบทที่นั่น เพราะเคยเรียนมา อากาศเป็นยังไง บ้านเมืองเป็นยังไง ประวัติศาสตร์ของเขาเป็นยังไง เราพอจะนึกได้ มันอาจไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะเราไม่ได้ไปอยู่ในสภาพแวดล้อมจริง แต่พื้นฐานความรู้ที่เรามี เอามาใช้งานได้

หมายความว่า การจะทำงานแปลได้ดี จะเก่งภาษาอย่างเดียวไม่ได้

ไม่ได้ อย่างน้อยคุณต้องรู้บริบทวัฒนธรรมเขา รู้ความเป็นอยู่ รู้วิธีคิดจิตใจของคน เพราะคำคำหนึ่ง มันแปลได้ไม่รู้ตั้งกี่ความหมาย ถ้าคุณไม่เข้าใจ คุณจะหยิบคำไหนมาใช้ล่ะ จะใช้คำว่าข้าพเจ้า ฉัน ดิฉัน หนู แค่สรรพนามก็ต้องเลือกแล้วว่าจะเอายังไง ไม่ใช่เอะอะก็ ‘ข้าพเจ้า’ ตลอด หรือพวกคำสบถ คำอุทาน เช่นคำว่า well ในอังกฤษ จะแปลแบบไหน จะใช้ ‘เออ’ หรือ ‘เอาละนะ’ ก็ต้องเข้าใจบริบทก่อน แล้วถึงเลือกมาใช้

อีกเรื่องนึงคือ คุณต้องเก่งภาษาไทยเพียงพอ เชี่ยวชาญภาษาแม่เพียงพอ เพราะต่อให้ภาษาอังกฤษคุณเป็นเลิศ แต่ภาษาแม่ไม่ค่อยดี คุณก็จะเอาความหมายออกมาไม่ได้ สุดท้ายพอแปลออกมาแล้วมันต้องเสมอกัน ภาษาไทยเราต้องเข้มแข็งก่อน แล้วถ้าอังกฤษเข้มแข็งพอกัน มันถึงจะไปได้ดี ถ้าเธอเก่งอังกฤษแล้วภาษาไทยใช้ไม่ได้ เธอจะเขียนให้คนไทยเข้าใจได้ยังไง

ยิ่งพอเป็นงานวรรณกรรม ก็ยิ่งยากขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง

ใช่ ไหนจะอารมณ์ของมันอีก ความรู้สึกนึกคิดของตัวละครต่างๆ อีก เชื่อไหมว่าเวลาเราทำงาน เรารู้สึกเหมือนเป็นตัวละครนั้นเลย ไม่ใช่ว่าเราแกล้งนะ แต่เราอินไปกับมัน บางครั้งก็ร้องไห้น้ำตาไหลไปกับมัน ฉะนั้นเรื่องอารมณ์ก็สำคัญ ถ้าเธออารมณ์แข็งกระด้าง เธออย่ามาทำงานวรรณกรรม

แล้วตอนนี้กระแสโลก สังเกตว่าคนเริ่มกลับมาโหยหา slow reading กันมากขึ้น เพื่อพัฒนาด้านอารมณ์ เพราะตอนนี้มนุษย์จะกลายเป็นเครื่องจักรหมดแล้ว เห็นอะไรก็เฉยเมยไปหมด เป็นปัญหาระบบการศึกษาทั่วโลกเลยนะ เขาบอกว่า เฮ้ย ต้องกลับมาอ่านหนังสือ โดยเฉพาะวรรณกรรม เพราะมันจะทำให้เธอได้ลงลึกในความรู้สึก ต่างจากการอ่านในออนไลน์ที่เป็นการอ่านแบบผ่านๆ ไม่ทันได้รู้สึกอะไร

 

แล้วถ้าคนที่ไม่มีพื้นฐานความรู้ แต่สนใจอยากอ่านวรรณกรรม ควรเริ่มต้นยังไง

ก็ต้องเริ่มเลย ยังไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร ค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ แกะไป ไม่ใช่ว่าไม่มีพื้นฐานแล้วปฏิเสธเลย

บางทีเราก็ต้องก้าวออกจากตัวเราเอง ออกจากความเคยชินของเรา โลกมันรอเราอยู่ข้างหน้าแล้ว เราจะก้าวออกไปเจอมันหรือเปล่า บางคนก็ได้เรียนรู้โลกผ่านวรรณกรรมแบบนี้ แต่บางคนก็อาจจะชอบออกไปเผชิญโลกของจริงมากกว่า ซึ่งก็ดีไม่ต่างกัน แต่ข้อดีของการอ่านคือ ถ้าเราไม่พร้อมที่จะออกไปเผชิญโลกจริง หรือไม่มีโอกาสที่จะเผชิญกับภาวะอารมณ์บางอย่างได้ เราสามารถเผชิญโลกเหล่านั้นได้ผ่านการอ่าน ผ่านประสบการณ์ของคนอื่น

ยกตัวอย่างเรื่องความเมตตา เราคิดว่าเฮสเสเป็นคนที่พูดเรื่องความรักความเมตตาได้โดยที่ไม่ต้องเทศน์ อย่าง ‘สิทธารถะ’ ถ้าในภาวะปกติ พวกที่เป็นพระ เป็นนักบวช ไม่มีครอบครัว ก็จะดูถูกพวกมีครอบครัว  แต่อย่างตัวสิทธารถะเอง พอมันมีลูกบ้าง ก็เริ่มเข้าใจ การรักลูกหวงลูกมันเป็นยังไง สุดท้ายก็เริ่มเข้าใจคนอื่นมากขึ้น เข้าใจว่าการรักลูกหวงลูกเป็นอารมณ์หนึ่ง แล้วจึงเกิดความเห็นใจ แล้วจึงเกิดเมตตาในที่สุด ความเข้าใจในเรื่องแบบนี้ เราได้จากการอ่านวรรณกรรม ไม่ได้จากการอ่านคัมภีร์

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีกระแสที่บอกว่าหนังสือกำลังตาย อาจารย์คิดว่ามันจะตายจริงไหม

ไม่เชื่อ อย่างวันนี้ (ที่งานสัปดาห์หนังสือ) คุณก็เห็นใช่ไหม เด็กมากันเยอะแยะ ทั้งเด็กเล็กๆ ทั้งวัยรุ่น เราไม่เชื่อหรอกว่ามันจะตาย โอเค มันอาจน้อยลง แต่ยังไงก็ไม่ตาย

สิ่งสำคัญคือเวลาพูดถึงเรื่องส่งเสริมการอ่าน นอกเหนือจากการอ่านของใครของมัน เราต้องส่งเสริมให้เกิดการพูดคุยกันต่อด้วย ไม่ใช่ว่าอ่านตัวใครตัวมันแล้วก็จบ เราเชื่อว่าการพูดคุยจะทำให้เกิดความเข้าใจ ครูต้องอ่าน พ่อแม่ต้องอ่าน ไม่ใช่พ่อแม่บอกให้ลูกอ่าน แล้วปล่อยให้ลูกอ่านตามมีตามเกิด เพราะบางทีเด็กเขาก็ไม่รู้จะเริ่มยังไง พ่อแม่ต้องช่วยอีกทาง

หรืออย่างในโรงเรียน การให้เด็กอ่านวรรณคดี ไม่ควรให้อ่านเพื่อเอามาสอบ ตัวละครนั้นชื่ออะไร ต้นไม้อันนั้นชื่ออะไร บ้าหรือเปล่า วรรณคดีคือที่รวมของทุกอย่าง ตั้งแต่เรื่องชีวิต การเมืองการปกครอง ปรัชญา ศาสนา ทุกอย่างรวมอยู่ในนั้น การมาถามตอบแบบนั้นมันเสียของ แล้วเด็กก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร มันควรอ่านแล้วมานั่งพูดคุยกัน เธอคิดยังไง ฉันคิดยังไง มาแชร์ประสบการณ์กัน แบบนั้นเป็นประโยชน์กว่า เพราะมันไม่ใช่แค่ท่องจำ แต่เขาต้องคิดต่อ พอคิดแล้วก็ต้องมาคุยกับคนอื่น เห็นมุมมองอื่นๆ ที่เขาอาจไม่ทันคิด หรือคิดไม่ถึง ซึ่งจะช่วยให้เขาเปิดโลกได้อีกเยอะ

แสดงว่าในการอ่านวรรณกรรม นอกจากต้องเข้าใจบริบท ควรต้องมีการแลกเปลี่ยนด้วย

ใช่ ต้องแลกเปลี่ยน ต้องมีการตั้งวงคุยกัน เพราะถ้าอ่านตัวใครตัวมัน บางทีมันก็เคร่งเครียดนะ แล้วบางคนก็จริงจังมากไป จนกระทั่งจิตตกหรือดาวน์ไปเลยก็มี

อีกอย่างที่นึกได้คือ วรรณกรรมมันเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ การไปเน้นหรือไปจับเฉพาะบางช่วง อาจไม่ใช่เรื่องดี ทางที่ดีมันควรจะหลากหลาย อย่างของบ้านเราจะมีช่วงหนึ่งที่พยายามโปรโมตวรรณกรรมยุคศตวรรษที่ 19 ถึง 20 ต้นๆ ที่พูดเรื่องการปฏิวัติ โอเค มันก็ดีในแบบหนึ่ง ให้คำตอบในแบบหนึ่ง แต่เรารู้สึกว่าบางทีมันถูกเน้นมากไป จนเหมือนว่าชีวิตนี้ไม่มีทางออกอย่างอื่นแล้วนอกจากการปฏิวัติ

แต่ถ้าเธอลองอ่านให้กว้างกว่านั้น อ่านให้เห็นหลายๆ ยุค อาจเห็นทางออกหรือวิธีอื่นๆ ที่เอามาใช้กับบริบทปัจจุบันได้ดีกว่า แต่ถ้าในแง่ส่วนตัว เธอบอกว่าเธอชอบแนวนี้ ยุคนี้ ไม่ว่ากัน แต่ในหลักสูตรมันต้องหลากหลาย ไม่ใช่ว่าคุณชอบยุคนี้ ก็เลยจะให้เด็กอ่านแต่ยุคนี้ แบบนั้นไม่ไหว มุมมองเด็กจะแคบ

ถ้าเป็นนักเรียนของเรา เราจะให้อ่านตั้งแต่ เจ้าชายน้อย, บ็อบ แมวข้างถนน, เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ, 1984, ภควัทคีตา ฯลฯ อย่างที่บอกว่าโลกวรรณกรรมมันมหาศาล ฉะนั้นเปิดให้กว้างไว้ก่อน สุดท้ายใครจะเจาะไปทางไหนก็เรื่องของเขา

นอกจากแนวทางที่ว่ามา อาจารย์พอจะมองเห็นวิธีอื่นๆ อีกไหมที่ทำให้คนหันมาสนใจการอ่าน

ล่าสุดก็เรื่อง เดเมียน ไง วันก่อนเห็นเด็กมาซื้อกันเยอะแยะ คนที่บูธยังงงเลย เพิ่งเอามาห้าร้อยเล่ม จะหมดแล้ว ไอ้เราก็แปลกใจ พอเห็นเด็กซื้อก็ไปแกล้งถามว่ามันดียังไง ถามไปถามมา อ๋อ นัมจุนมันอ่าน (คิมนัมจุน สมาชิกวงบอยแบนด์เกาหลีชื่อดัง BTS) เราก็รู้สึกดีนะ รู้สึกว่าไอดอลที่อ่านหนังสือนี่ใช้ได้ พอตามไปดูว่านัมจุนคือใคร เฮ้ย ไอ้เด็กคนนี้มันเก่ง มันทำแคมเปญกับ UNICEF ชื่อว่า ‘Love Yourself’ ล่าสุดเมื่อเดือนก่อนเพิ่งไปพูดสปีชที่สหประชาชาติ เราชอบมากเลย พูดดีมาก ยิ่งพอรู้ว่าเขาอ่านหนังสือแบบนี้ ยิ่งรู้สึกว่าไอดอลนี่มันใช้ได้เว้ย

อีกคนหนึ่งที่เห็นคือ เอมม่า วัตสัน ที่เล่นแฮร์รี่ พอตเตอร์ คนนี้ก็เป็นนักอ่าน อยู่ในกองถ่ายมันก็อ่าน แล้วมันเคยทำแคมเปญ เอาหนังสือไปซ่อนให้คนอ่านตามสถานีรถไฟ ซึ่งสุดท้ายมันทำให้คนสนใจได้ อย่างน้อยๆ ก็อยากรู้ว่ามันอ่านอะไร ทำไมถึงอ่าน ฉะนั้นไอดอลที่เป็นคนอ่านหนังสือนี่มีอิทธิพลมาก โดยเฉพาะกับพวกเด็กๆ ตอนนี้เมืองไทยมีบ้างหรือยังล่ะ ไอดอลที่คนเห็นว่าเขาโตจากการอ่าน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สดใส ขันติวรพงศ์, วรรณกรรม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save