fbpx

สังคมวิทยาแห่งตัวเลข : เมื่อโลกหมุนไปด้วยตัวชี้วัด

เกริ่นนำ : ตัวชี้วัดและกลโกง

เมื่อปลายปีที่แล้ว ปรากฏข่าวเป็นที่ฮือฮาว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งในประเทศไทยได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยมากกว่า 400 ชิ้นในระยะเวลาเพียง 3 ปี ครอบคลุมหลายแขนงวิชาจนเป็นที่น่าแปลกใจ และผลงานของเขายังมียอดการอ้างอิง (reference) สูงอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นการอ้างอิงในงานวิจัยจำนวนมากของผู้เขียนเอง ไม่นานหลังจากนั้น งานวิจัยหลายชิ้นได้ทยอยถูกถอดถอนจากวารสารและได้ถูกลบออกจากฐานข้อมูลทางวิชาการที่น่าเชื่อถือต่างๆ เช่น SCOPUS

มีผู้วิจารณ์ว่า อาจารย์ท่านนี้มีการตีพิมพ์ผลงานในวารสารที่ไม่ได้มาตรฐานและมีการจัดทำที่ไม่ถูกต้อง หรือที่เรียกว่า วารสารนักล่า (predatory journal) จากแรงกดดันที่จะต้องตีพิมพ์ผลงานเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งเป็นไปตามกฎของกู๊ดฮาร์ต (Goodhart’s Law) ที่เชื่อว่าว่า ‘เมื่อตัวชี้วัดกลายเป็นเป้าหมาย มันย่อมไม่ใช่ตัวชี้วัดที่ดีอีกต่อไป’ เนื่องจากจะมีการนำกลโกงต่างๆ ออกมาใช้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ (perverse incentive)

จริงๆ แล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงตัวอย่างเดียวในหลายๆ เหตุการณ์ในทำนองเดียวกัน ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อนำตัวเลขมาเป็นตัวชี้วัด ทำให้ความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของคนเปลี่ยนแปลงไป แท้จริงแล้ว การวัดแบบว่าสักว่าวัดอย่างเดียวแบบไม่รู้เรื่องรู้ราวไม่มีอยู่จริง เพราะการวัดส่งผลเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ถูกวัดเสมอในสังคม ข้อเท็จจริงนี้จะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคตด้วยความเป็นดิจิทัลที่เพิ่มมาขึ้น นำพาไปสู่ข้อมูลมหาศาล (big data) และจำนวนสิ่งที่ถูกวัดที่เพิ่มมากขึ้น

ความเป็นกลางของการวัดและสิ่งที่ไม่ได้ถูกวัด

โลกที่เราอยู่มีความสลับซับซ้อนอยู่มาก โดยเฉพาะในทางสังคม จนอาจเรียกได้ว่าคนๆ หนึ่งแตกต่างกัน และไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับคนอื่นได้ และในการทำความเข้าใจความซับซ้อนนี้ การวัดเชิงปริมาณเป็นวิธีการที่เป็นประโยชน์อย่างมาก อย่างไรก็ตาม การวัดลดทอนความซับซ้อนเหล่านี้ให้เหลือเพียงแค่ตัวเลขที่สะท้อนสิ่งที่ต้องการวัดก็ทำให้ความแตกต่างของสิ่งต่างๆ จำนวนมากที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวถูกละเลยไป

ก่อนหน้านี้ เวลามีการประกาศจำนวนคนเสียชีวิต ไม่ว่าจากสงคราม โรคระบาด หรืออุบัติเหตุ เรามักได้ยินวาทกรรมหนึ่งอยู่เสมอว่า ทุกชีวิตที่สูญเสียไม่ได้เป็นเพียงตัวเลข คนหนึ่งคนมีคุณค่าต่อสังคมไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง โดยเขาอาจเป็นพ่อแม่ พี่น้อง หรือญาติของใครบางคน และพวกเขาเหล่านั้นย่อมเสียใจที่ต้องสูญเสียคนที่รักไป และไม่สามารถหาคนอื่นทดแทนมาได้ เนื่องจากทุกคนมีเอกลักษณ์ของตัวเอง

การวัดทำให้ความเป็นเอกลักษณ์ของของสิ่งหนึ่งถูกมองข้ามไป ทำให้สามารถเปรียบเทียบสิ่งของที่ถูกวัดได้ อีกนัยหนึ่ง การวัดสร้างความเหมือนและความต่างระหว่างสิ่งของที่ถูกวัด เช่น จำนวนการอ้างอิงผลงานวิจัยสามารถใช้วัดความสามารถของอาจารย์ได้ก็จริง แต่ในโลกความเป็นจริง อาจารย์คนหนึ่งทำงานที่หลากหลาย ทั้งงานสอนและงานบริหารซึ่งการใช้จำนวนการอ้างอิงเพียงอย่างเดียวจึงลดทอนคุณค่าที่มีอยู่ของอาจารย์

นอกเหนือจากนั้น การวัดอาจทำให้นำสิ่งที่ไม่ควรเปรียบเทียบกันมาเปรียบเทียบกัน เช่น การใช้จำนวนการอ้างอิงเพื่อเปรียบเทียบอาจารย์ต่างสายวิชาเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะแต่ละสายวิชาย่อมได้รับการอ้างอิงไม่เท่ากันอยู่แล้ว เนื่องจากมีจำนวนนักวิจัยในแต่ละสายวิชาไม่เท่ากัน

การลดทอนความซับซ้อนของโลกด้วยการวัดนั้นทรงพลัง เพราะตัวเลข ‘ดูเหมือน’ มีความเป็นกลางเสมอ (objective) อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ก่อนที่ตัวชี้วัดจะถูกสร้างขึ้นมาได้ จำเป็นต้องเลือกวิธีการวัดเสียก่อน และกระบวนการนี้อาศัยความคิดเห็นหรือประสบการณ์ส่วนบุคคล (subjective) ค่อนข้างมากและแต่ละคนก็มีความคิดเห็นไม่เหมือนกัน

เมื่อตัวชี้วัดมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ถูกวัด

เวนดี้ เอซปีแลนด์ (Wendy Espeland) อาจารย์ทางด้านสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น (Northwestern University) ได้ศึกษาผลกระทบของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในระดับอุดมศึกษา ซึ่งพบว่าการจัดอันดับได้สร้างความจริงใหม่ตามการวัด บนฐานของความเชื่อเดิมที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะการจัดอันดับส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดของนักศึกษา และทำให้ความแตกต่างระหว่างมหาวิทยาลัยที่เดิมอาจมีอยู่เพียงเล็กน้อยแตกต่างกันมากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักศึกษา (self-fulfilling prophecies)

นักศึกษาที่เก่งจะเลือกเรียนในมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับที่สูงกว่า แม้ว่าในความจริงคุณภาพการศึกษาระหว่างทั้งสองมหาวิทยาลัยจะต่างกันเพียงเล็กน้อยก็ตาม หากว่าคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยทั้งสองกลับแตกต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อวันเวลาผ่านไป เนื่องจากคุณภาพของนักศึกษาที่เข้าเรียนที่แตกต่างกัน ดังนั้น การจัดอันดับของมหาวิทยาลัยสามารถเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษาที่แท้จริงได้ ตัวชี้วัดมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ถูกวัด

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเข้าใจปรากฏการณ์นี้ดีและได้ปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับระบบการจัดอันดับที่ถูกสร้างขึ้น เช่น นักศึกษาที่ได้คะแนนสูงจะได้ทุนการศึกษา หากคุณภาพของมหาวิทยาลัยถูกกำหนดจากคะแนนการสอบมาตรฐาน (อาทิ SAT GRE GMAT หรือ LSAT เป็นต้น) และมหาวิทยาลัยอาจเน้นพัฒนาบริการแนะแนวอาชีพ หากจำนวนการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่เป็นปัจจัยสำคัญ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ระบบการจัดอันดับไม่จำเป็นต้องส่งผลบวกเสมอไป เพราะทรัพยากรที่มีจำกัดของมหาวิทยาลัยอาจถูกใช้ไปในสิ่งที่ไม่จำเป็น เช่น การสอบมาตรฐานอาจไม่สามารถวัดทักษะจำเป็นที่มหาวิทยาลัยกำลังมองหา และการติดตามว่านักศึกษาทำงานอะไรหลังเรียนจบก็ไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยอาจนำกลโกงต่างๆ มาใช้เพื่อที่จะไต่อันดับให้สูงขึ้น เช่น มหาวิทยาลัยอาจรายงานข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง จ้างนักศึกษาตนเองในราคาถูกเพื่อเพิ่มตัวเลขการจ้างงาน หรือกดดันไม่ให้อาจารย์ลาหยุดเพื่อเพิ่มอัตราอาจารย์ต่อนักศึกษา เป็นต้น

นัยยะที่กว้างขึ้นของตัวเลข

ปรากฏการณ์ที่เวนดี้นำเสนอไม่ได้จำกัดเฉพาะในระบบการศึกษาเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาปรับมาใช้ในบริบทอื่นๆ ด้วย ซึ่งจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นในยุคที่มีข้อมูลมหาศาล และสิ่งที่ถูกวัดมีจำนวนเพิ่มขึ้น

ตัวอย่างการจัดอันดับที่สำคัญในโลกดิจิทัลคือ การจัดอันดับเว็บไซต์โดยเสิร์ชเอนจิน (อาทิ กูเกิล) และดูเหมือนแนวคิดของเวนดี้เรื่อง self-fulfilling prophecies จะมีความจริงไม่น้อย Duo et al.(2010) พบว่า คนจะจำแบรนด์ที่ไม่รู้จักได้ดีขึ้น หากแบรนด์นั้นได้รับการจัดอันดับเหนือกว่าแบรนด์ที่ได้รับความนิยมในหน้าผลลัพธ์การค้นหาของเสิร์ชเอนจิน (search engine result page)

เจ้าของเว็บไซต์ยังได้ปรับกลยุทธ์ตามระบบที่เสิร์ชเอนจินสร้างขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรม Search Engine Optimization (SEO) หากเราค้นหาคำว่า SEO ในกูเกิลจะเจอผลลัพธ์มากกว่า 8 ร้อยล้านชิ้น ซึ่งแนะนำว่าเจ้าของเว็บไซต์จะไต่อันดับในหน้าผลลัพธ์การค้นหาได้อย่างไร เช่น การเลือกชื่อเว็บไซต์ที่เข้ากับเนื้อหา การอัปเดตเนื้อหาบ่อยๆ การลิงค์เว็บไซต์ภายนอกกับเว็บไซต์ของตนเอง การใส่รูปควบคู่กับเนื้อหา หรือการออกแบบเว็บไซต์ให้ใช้งานได้ง่ายและน่าสนใจ

นอกจากการจัดอันดับโดยเสิร์ชเอนจินแล้ว ยังมีการจัดอันดับชนิดอื่นๆ ที่สำคัญบนโลกออนไลน์อีก เช่น การจัดอันดับว่าผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ควรเห็นข้อความไหนก่อนหลัง (newsfeed algorithm ของเฟซบุ๊ก) และการจัดอันดับสินค้าบนแพลตฟอร์มอี คอมเมิร์ซ (อาทิ แอมะซอน) มีคำแนะนำมากมายว่าจะไต่อันดับเหล่านี้ได้อย่างไร

บทสรุป

การตีพิมพ์บนวารสารนักล่าในวงการวิชาการเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เรื่องราวของผลกระทบของการวัดต่อโลกของเรามีความสลับซับซ้อนมากกว่านั้น และการใช้ตัวชี้วัดสามารถเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของเราที่มีต่อสิ่งนั้นได้ การวัดแบบสักแต่ว่าวัดแบบไม่รู้เรื่องรู้ราวนั้นไม่มีอยู่จริง โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบัน ซึ่งการวัดสามารถเปลี่ยนแปลงความจริงได้ตลอดเวลา

เวนดี้ เอซปีแลนด์ ได้นำเสนอปรากฏการณ์ของผลกระทบของการวัดต่อความรู้สึกนึกคิด และพฤติกรรมมนุษย์อย่างสนใจ ปัญหาที่มาพร้อมกับตัวเลข (เช่น perverse incentive) ดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมชาติที่แก้ไขได้ยาก และจะคงอยู่กับเราตราบเท่าที่เรายังใช้ตัวเลขเพื่อทำความเข้าใจโลกใบนี้ ยิ่งไปกว่านั้น ปรากฏการณ์นี้ดูเหมือนจะมีความสำคัญในอนาคต เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลมีความสำคัญมากขึ้น และก่อให้เกิดข้อมูลมหาศาล ซึ่งจะทำให้จำนวนของสิ่งของที่ถูกวัดเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save