fbpx
สังคมนิยมไม่ใช่คำตอบ: มุมมองผ่านแว่นตาของดักลาส นอร์ธ

สังคมนิยมไม่ใช่คำตอบ: มุมมองผ่านแว่นตาของดักลาส นอร์ธ

อิสร์กุล อุณหเกตุ เรื่อง

 

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 เพจเยาวชนปลดแอก – Free YOUTH ประกาศเปิดตัว Restart Thailand Movement โดยมีเป้าหมายเพื่อ “ปลุกสำนึกทางชนชั้นของเหล่าแรงงานผู้ถูกกดขี่” อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตัวอักษร R และ T ในโลโก้มีรูปร่างลักษณะใกล้เคียงกับสัญลักษณ์ค้อนเคียว ซึ่งชวนให้นึกถึงพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการเคลื่อนไหวดังกล่าว รวมถึงสร้างข้อถกเถียงเกี่ยวกับ ‘คอมมิวนิสต์’ และ ‘สังคมนิยม’ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 เพจดังกล่าวยังโพสเนื้อหาแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า คอมมิวนิสต์ไม่เท่ากับเผด็จการ รวมทั้งเสนอว่า คอมมิวนิสต์คือประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ

บทความนี้มิได้ต้องการถกเถียงเกี่ยวกับแนวคิดเชิงทฤษฎีว่าด้วยสังคมนิยม (ไม่ว่าจะเป็นแบบมาร์กซิสม์หรือของนักสังคมนิยมคนอื่นๆ) หากแต่ต้องการแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมที่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก (ไม่ว่าจะเป็น ‘คอมมิวนิสต์ที่แท้จริง’ หรือไม่) ผ่านกรอบแนวคิดแบบสำนักเศรษฐศาสตร์สถาบันแนวใหม่ (New Institutional Economics: NIEs) ของดักลาส นอร์ธ เพื่อตอบคำถามว่า ระบบเศรษฐกิจดังกล่าวเหมาะสมกับไทยหรือไม่ อย่างไร

 

ดักลาส นอร์ธ คือใคร?

 

ดักลาส นอร์ธ (ค.ศ.1920-2015) เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน ‘เจ้าพ่อ’ สำนักเศรษฐศาสตร์สถาบันแนวใหม่เช่นเดียวกันกับโรนัลด์ โคส และโอลิเวอร์ อี. วิลเลียมสัน (และอาจรวมถึงเจ้าแม่อย่างเอลินอร์ ออสตรอม) นอร์ธเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ (หรือชื่อจริงคือ รางวัลเพื่อระลึกถึงอัลเฟรด โนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์) ประจำปี ค.ศ.1993 จากการนำทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และระเบียบวิธีเชิงปริมาณมาใช้เพื่ออธิบายการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและเชิงสถาบัน เขาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งหลอดอาหารเมื่อปี ค.ศ.2015 ซึ่งถ้าหากเขายังมีชีวิตอยู่ก็จะมีอายุครบ 100 ปีพอดีในปีนี้

ความสนใจในโลกวิชาการของนอร์ธได้รับอิทธิพลจากนักเศรษฐศาสตร์หลายคน เช่น แนวคิดแบบมาร์กซิสม์ เมื่อเขายังศึกษาระดับปริญญาตรีอยู่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และทฤษฎีของโจเซฟ ชุมปีเตอร์ ระหว่างที่เขากำลังเขียนวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษา รวมถึงการทำงานร่วมกับไซมอน คุซเน็ต ในช่วงที่เขาอยู่ที่สำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ (National Bureau of Economic Research: NBER)

ผลผลิตทางวิชาการในช่วงแรกของนอร์ธเป็นงานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ซึ่งใช้แนวคิดแบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและอาศัยเครื่องมือเชิงปริมาณ เช่น The Economic Growth of the United States 1790–1860 (1961) แต่หลังจากนั้น นอร์ธก็เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวทางการศึกษาแบบเศรษฐศาสตร์สำนักนีโอคลาสสิกมากขึ้น งานวิชาการของเขาจึงค่อยๆ ขยับไปสู่การค้นหาต้นตอของผลิตภาพ (Productivity) ซึ่งเป็นที่มาของการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น Sources of Productivity Change in Ocean Shipping, 1600-1850 (1968) งานชิ้นดังกล่าวเป็นการกรุยทางไปสู่งานที่ถือเป็นการบุกเบิกวิชาเศรษฐศาสตร์สถาบันแนวใหม่ในเวลาต่อมา เช่น Institutional Change and Economic Growth (1971) และ Structure and Change in Economic History (1981) รวมถึง Institutions, Institutional Change, and Economic Performance (1990)

ในปี ค.ศ.1993 นอร์ธได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์จากการแผ้วทางการให้คำอธิบายเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเน้นย้ำความสำคัญของสถาบันและกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน

 

‘สถาบัน’ และ ‘กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน’

 

จังหวะเวลาที่นอร์ธได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์นั้นอาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะก่อนหน้านั้นไม่นาน ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเพิ่งประกาศชัยชนะเหนือระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสม์ หลังจากการทำลายกำแพงเบอร์ลินในปี ค.ศ.1989 และการล่มสลายของสหภาพโซเวียตปลายปี ค.ศ.1991 และแนวคิดเรื่อง ‘สถาบัน’ ของเขาก็ดูจะเข้ากันดีกับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

สถาบัน (Institutions) ตามแนวคิดของนอร์ธหมายถึง “ข้อจำกัดที่มนุษย์สร้างขึ้นซึ่งก่อร่างการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันทั้งทางการเมือง สังคม หรือเศรษฐกิจ ทั้งที่เป็นสถาบันที่ไม่เป็นทางการ และสถาบันที่เป็นทางการ” ทั้งนี้ นอร์ธเห็นว่า เมื่อสถาบันมีผลต่อการกำหนดโครงสร้างแรงจูงใจของผู้คน สถาบันจึงเป็นตัวกำหนดผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อสถาบันเปลี่ยนแปลงไป ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจย่อมเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย (North, 1990)

สถาบันที่มีบทบาทสำคัญต่อผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจตามแนวคิดของนอร์ธคือ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน (Property rights) เขาให้ความหมายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินว่าเป็น “สิทธิของปัจเจกบุคคลเหนือแรงงานของตน ตลอดจนสินค้าและบริการที่ตนครอบครองไว้” (North, 1990) อย่างไรก็ดี ความหมายของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในวิชาเศรษฐศาสตร์ไม่เหมือนกับนิยามในทางกฎหมาย ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์สถาบันแนวใหม่ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินมีความไม่สมบูรณ์ในตัวเอง กล่าวคือ ไม่มีใครถือครองสิทธิเหนือทรัพย์สินใดๆ ได้ทั้งหมด (เช่น นาย ว. เป็นเจ้าของรถสปอร์ตคันหนึ่ง แต่นาย ว. จะไม่สามารถขับรถด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดได้) ซึ่งความสมบูรณ์ของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละระบบเศรษฐกิจ

 

ทุนนิยม vs สังคมนิยม

 

กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนี้เองที่เป็นข้อแตกต่างสำคัญระหว่างระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมกับระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม เพราะในขณะที่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมยินยอมให้ปัจเจกชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินได้เกือบจะสมบูรณ์ แต่ในระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน โดยเฉพาะปัจจัยการผลิต มิได้เป็นของปัจเจกชน หากแต่เป็นของส่วนรวม

นักเศรษฐศาสตร์สถาบันแนวใหม่เห็นว่า เนื่องจากกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นพื้นฐานของการแลกเปลี่ยน การกำหนดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ไม่ชัดเจนเช่นนี้จึงทำลายแรงจูงใจในการใช้ทรัพย์สินต่างๆ อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น การลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตภาพของทรัพย์สินดังกล่าว เช่นเดียวกันกับนอร์ธที่เห็นว่า โครงสร้างเชิงสถาบันของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (ที่กำหนดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินไม่ชัดเจน) เป็นมูลเหตุของผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ด้วยเหตุนี้ ประเทศเหล่านี้จึงจำเป็นต้องรื้อโครงสร้างเชิงสถาบันเพื่อเปลี่ยนทิศทางแรงจูงใจขององค์กรต่างๆ ให้กลับมาอยู่บนเส้นทางที่เพิ่มพูนผลิตภาพ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ (North, 1990; 1995)

ทำไมผลิตภาพจึงมีความสำคัญ? งานศึกษาเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมชิ้นหนึ่งชี้ว่า ในระหว่าง ค.ศ.1950-1989 แรงงานในระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (เชโกสโลวาเกีย ฮังการี และสหภาพโซเวียต) มีชั่วโมงการทำงานมากกว่าแรงงานในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (กรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส และสเปน) ราว 1.1-1.8 เท่าตัว แต่การเติบโตของรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี (ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ) ของประเทศในกลุ่มแรกกลับน้อยกว่าประเทศในกลุ่มหลังประมาณ 1.2-2.1 เท่าตัว ผลที่ตามมาคือ เศรษฐกิจของประเทศสังคมนิยมเดินตามหลังประเทศทุนนิยมห่างขึ้นเรื่อยๆ (Kornai, 2000)

เมื่อกลับมาพิจารณาในกรณีของไทย รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีของคนไทยในปัจจุบันอยู่ที่ราวสองแสนบาทเศษ หรือประมาณสองในสามของเกณฑ์ขั้นต่ำของประเทศรายได้สูงเท่านั้น หากจะกล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ แม้จะเกลี่ยรายได้ให้คนทั้งประเทศอย่างเท่าเทียมกันสำเร็จตามแนวคิดแบบสังคมนิยม แต่ละคนก็จะยังมีรายได้น้อยกว่าระดับรายได้ซึ่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ทัดเทียมกับประเทศพัฒนาแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ขนาดเศรษฐกิจของไทยเติบโตขึ้นโดยเฉลี่ยเพียงประมาณร้อยละสามต่อปี ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ทั่วโลก จึงต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่าจะไล่กวดทันประเทศพัฒนาแล้ว และเวลาที่ใช้จะยิ่งเพิ่มขึ้น หากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงมีแนวโน้มลดลง

จะเห็นได้ว่า นอกจากความเหลื่อมล้ำแล้ว การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าศักยภาพก็เป็นปัญหาสำคัญของไทยด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำและการเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจมิได้ขัดแย้งกันเสมอไป เราจึงไม่จำเป็นต้องสละเป้าหมายหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งอีกเป้าหมายหนึ่ง แต่เราจำเป็นต้องออกแบบสถาบันทางเศรษฐกิจให้มีส่วนผสมที่เหมาะสม ตัวอย่างที่หลายคนมักพูดถึง เช่น ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ที่แม้ว่าจะมีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเป็นพื้นฐาน แต่ประเทศเหล่านี้ก็รับเอาข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมมาใช้ และพัฒนาจนเป็นระบบเศรษฐกิจแบบที่มีรัฐสวัสดิการดังเช่นในปัจจุบัน

 

ตอนจบแบบยูโธเปียน

 

ความล้มเหลวของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมมิได้เกิดขึ้นเนื่องจากปัญหาเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเพราะสถาบันในประเทศเหล่านี้ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของมนุษย์ ในประเด็นนี้ นอร์ธเห็นว่า ปัญหาสำคัญของการเดินไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมในอุดมคติตามแนวคิดแบบมาร์กซิสม์คือ แนวทางดังกล่าวเรียกร้องให้คนต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมพื้นฐาน และแม้นอร์ธจะเชื่อว่าอุดมการณ์สามารถทำให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ แต่เขาก็เห็นว่า ที่ผ่านมาไม่มีหลักฐานใดว่ามีการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นเกิดขึ้น ในทางตรงกันข้าม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุโรปตะวันออกกลับแสดงให้เห็นว่า พลังที่เคยเอาชนะปัญหา ‘การตีตั๋วฟรี’ และก่อให้เกิดการปฏิวัติได้จะค่อยๆ เสื่อมลงตามกาลเวลา เมื่อเผชิญกับพฤติกรรมของมนุษย์ที่แสวงหาโภคทรัพย์สูงสุด (Wealth maximization) (North, 1990)

งานศึกษาชิ้นหนึ่งชี้ว่า การวางแผนและสั่งการจากส่วนกลางทำให้วิถีการผลิต (Mode of production) ในระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมไม่เป็นไปตามทฤษฎี นอกจากนี้ การกระจายความมั่งคั่งภายใต้ระบบนี้ยังมีลักษณะเช่นเดียวกันกับเผด็จการอำนาจนิยม โดยส่วนแบ่งของความมั่งคั่งจะตกแก่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ เจ้าหน้าที่รัฐด้านเศรษฐกิจ ตำรวจ และทหาร ในสัดส่วนที่สูงกว่าระบบอื่น อีกทั้งผู้นำในระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมจะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับคนอื่นๆ ในกลุ่มชนชั้นนำด้วยการออกแบบระบบกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้เอื้อต่อการรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำไว้ แม้ว่าจะนำไปสู่ความด้อยประสิทธิภาพก็ตาม (Winiecki, 1996)

“เรื่องเล่าของมาร์กซ์มีตอนจบแบบยูโธเปียน” นอร์ธเขียนไว้ตอนหนึ่ง “แต่จากการวิเคราะห์เชิงสถาบันพบว่า ไม่มีอะไรการันตีว่าจะเป็นเช่นนั้น” (North, 1990)

 

บทส่งท้าย

 

สามสิบปีนับจากการล่มสลายของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมในยุโรปตะวันออก โลกยังคงเดินหน้าไปตามแนวทางทุนนิยม แม้จะเผชิญกับวิกฤตหลายครั้ง ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียในปี ค.ศ.1997 และวิกฤตซับไพรม์ช่วงปี ค.ศ.2007 เมื่อสังคมเศรษฐกิจมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น ความไม่แน่นอนก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย และเนื่องจากสถาบันเกิดขึ้นเพื่อลดความไม่แน่นอนในการดำเนินชีวิตของผู้คน นอร์ธจึงเห็นว่า “จากระดับของปัญหาที่กำลังวิวัฒน์ไปเรื่อยๆ เราจำเป็นต้องวิวัฒน์สถาบัน ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้” (North, 2003)

นอร์ธและบรรดานักเศรษฐศาสตร์สถาบันแนวใหม่เชื่อว่า ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจถูกกำหนดจากสถาบันทางเศรษฐกิจ และสถาบันทางเศรษฐกิจถูกกำหนดจากสถาบันทางการเมือง ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงสถาบันทางการเมืองให้เปิดกว้างมากขึ้นและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด เพราะหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงสถาบันทางการเมือง ก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลงสถาบันทางเศรษฐกิจได้

กระนั้นก็ตาม ในประเด็นสถาบันทางเศรษฐกิจนั้น หากโจทย์ของประเทศไม่ใช่แค่เรื่องความเหลื่อมล้ำ แต่เป็นความกินดีอยู่อยู่ดีของผู้คน สถาบันทางเศรษฐกิจที่เราต้องการน่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ก้าวหน้าขึ้นและมองเห็นผู้คนมากขึ้น ไม่ใช่การกลับไป ‘รีสตาร์ต’ จากระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมแบบเดิม ซึ่งความล้มเหลวจากประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่ผ่านมาคงพอจะบอกได้ว่าไม่ใช่คำตอบของสังคมเศรษฐกิจไทย

 


อ่านเพิ่มเติม

Kornai, J. (2000). What the Change of System from Socialism to Capitalism Does and Does Not Mean. Journal of Economic Perspectives14(1), 27-42.

Ménard, C., & Shirley, M. (2014). The Contribution of Douglass North to New Institutional Economics. In S. Galiani & I. Sened (Eds.), Institutions, Property Rights, and Economic Growth: The Legacy of Douglass North (pp. 11-29). Cambridge: Cambridge University Press.

North, D. (1990). Institutions, Institutional Change, and Economic Performance. Cambridge University Press.

North, D. (1995). The New Institutional Economics and Third World Development. In Harriss, J., Hunter, J., & Lewis, C. (Eds.). The New Institutional Economics and Third World Development. Psychology Press.

North, D. (2003). The Role of Institutions in Economic Development. United Nations Discussion Paper Series. No. 2003.2.

Winiecki, J. (1996). Why Economic Reforms Fail in the Soviet System: A Property Rights–Based Approach. In L. Alston, T. Eggertsson, & D. North (Eds.), Empirical Studies in Institutional Change (pp. 63-91). Cambridge: Cambridge University Press.

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save