fbpx
เมื่อม็อบกับชีวิตคนรุ่นใหม่กลายเป็นเรื่องเดียวกัน

เมื่อม็อบกับชีวิตคนรุ่นใหม่กลายเป็นเรื่องเดียวกัน

พรรณรังสี ประดิษฐ์ธรรม เรื่อง

 

ปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่าเป็นความแปลกใหม่ที่หลายคนในสังคมไทยไม่เคยพบเจอมาก่อน

ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันโอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้มีการยุบสภา เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และที่สำคัญคือเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ล้วนแล้วแต่เป็นข้อเรียกร้องที่นำโดยคนรุ่นใหม่ทั้งสิ้น— จนหลายครั้งชวนให้ผู้ใหญ่บางกลุ่มฉงนสงสัยว่าการเรียกร้องที่ว่าเป็นสิ่งที่ถูกใครบางคน พรรคการเมืองบางพรรคคอยชี้นำอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ในเมื่อคนเหล่านี้ดูเหมือนไม่มีประสบการณ์ในเกมการเมืองมาก่อน หรือกระแสการก่อม็อบจะเป็นเพียงแฟชั่นที่เด็กทำตามๆ กัน เป็นความวุ่นวายที่ทำให้สังคมและเศรษฐกิจไทยหยุดชะงัก

เรื่องเหล่านี้ยากที่จะเข้าใจยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อแกนนำหลายคนถูกออกหมายจับหรือถูกจับกุม แต่การเคลื่อนไหวยังคงดำเนินต่อและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง กระแสความเคลื่อนไหวภายในโลกโซเชียลยังคงไหลเชี่ยวกรากอยู่เช่นเดิมและอาจทวีความเกรี้ยวโกรธรุนแรงขึ้นมากกว่าเดิมด้วยซ้ำจากการกระทำของรัฐที่กระทำกับประชาชน

เราจะสามารถอธิบายพัฒนาการการเคลื่อนไหวบนท้องถนนของกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ซึ่งมาจนถึงวันนี้แม้จะปราศจากแกนนำก็ยังคงขยายตัวมากขึ้นเป็นวงกว้างได้อย่างไร รัฐใช้แนวคิดแบบไหนในการรับมือกับขบวนการนักเรียนนักศึกษา และอะไรคือทางออกที่จะพาเราออกจากวิกฤติทางการเมืองอันคุกรุ่นจากการทำความเข้าใจประเด็นข้างต้น

วันอังคารที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จัดงานเสวนาวิชาการ “ม็อบที่ไม่ใช่ม็อบ รายงานผลการสำรวจเบื้องต้นของสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองในประเทศไทย ช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563” นำโดยผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล เพื่อตอบคำถามดังกล่าว และร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนกับอาจารย์ประจำภาควิชาการปกครองท่านอื่น ๆ ประกอบไปด้วยรศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ และนายกสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

 

เข้าใจคาแรกเตอร์ของ ‘เด็กสมัยนี้’

 

ในช่วงก่อนหน้านี้ ขบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่มักถูกอธิบายว่าเป็นเพียงแค่กระแสนิยมที่วัยรุ่นทำตามๆ กัน เป็นเพียงแค่เด็กกลุ่มหนึ่งที่อยากแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของตัวเอง เมื่อได้แสดงออกจนพอใจแล้วก็กลับบ้าน บางครั้งก็ถูกอธิบายว่ามีพรรคการเมืองชักใยอยู่เบื้องหลัง หรือมีประเทศมหาอำนาจที่ต้องการเห็นสังคมไทยวุ่นวายบงการอยู่

แต่จากการสำรวจ พูดคุยกับนักเรียนนักศึกษาผู้เข้าร่วมชุมนุมกว่า 200 คนใน 8 จังหวัดทั่วประเทศ ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุลกลับเจอข้อค้นพบบางประการเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจ

ผศ.ดร.กนกรัตน์อธิบายว่า คนรุ่นใหม่กลายเป็นรุ่นที่มีความซับซ้อน เพราะเติบโตมาในสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น หลายคนประสบกับความขัดแย้งทางการเมืองเสื้อเหลือง-เสื้อแดงภายในครอบครัวตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมา อยู่ท่ามกลางการต่อสู้ปะทะกันทางความคิดระหว่างชุดความจริงของแต่ละฝ่ายอยู่ตลอดเวลา นั่นทำให้คนรุ่นใหม่เชื่อว่าโลกนี้ไม่ได้มีความจริงเพียงหนึ่งเดียว ยิ่งไปกว่านั้น โลกของคนรุ่นใหม่ยังถูกทวีความซับซ้อนผ่านสื่อและภาพยนตร์หลากหลายประเภทบนแพลตฟอร์มที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต ทำให้คุณค่ากระแสหลักที่มีอยู่ในสังคมไทยหรือสิ่งที่สอนในรั้วโรงเรียนอาจไม่สอดคล้องกับชีวิตจริงที่คนรุ่นใหม่กำลังเจออีกต่อไป

“จากการสัมภาษณ์เด็กหลายๆ คน ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ผู้ใหญ่มักจะดูถูกคนรุ่นใหม่ว่าเป็นกลุ่มคนที่เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ไม่มีความอดทน  ไม่เคยพอใจในสิ่งที่มี ซึ่งอันที่จริงแล้ว อารมณ์ความรู้สึกกังวล โกรธ แล้วกลัวนั้นเกิดจากการที่คนรุ่นใหม่มองไม่เห็นอนาคตของตัวเอง โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ และในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ไม่ได้สร้างความหวังให้พวกเขาแต่อย่างใด

“คนรุ่นใหม่เป็นรุ่นที่แสดงออกอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นผลมาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่กระตุ้นให้คนรุ่นนี้เกิดการตั้งคำถามในทุกๆ เรื่อง ประกอบกับแรงขับจากโฆษณา สื่อต่างๆ ทำให้คนรุ่นใหม่มีค่านิยมทกล้าแสดงออกมากขึ้น โดยทการแสดงออกของคนรุ่นใหม่อาจปรากฏในแบบที่มีภาษาเฉพาะกลุ่มของตนเอง มีการพัฒนาขึ้นของภาษาลู หรือการใช้คำหยาบคายที่กลายมาเป็นภาษาเฉพาะกลุ่มของคนรุ่นใหม่”

นอกจากนี้ ผศ.ดร.กนกรัตน์ยังชี้ให้เห็นว่า ฐานะของเด็กอาจอธิบายความคับข้องใจของพวกเขาได้น้อยกว่าที่คิด กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่มีฐานะใด จะเรียนเก่งหรือไม่เก่งต่างก็เผชิญกับสถานการณ์ที่ว่าตนเองกลายเป็นตัวประหลาดของครอบครัวและสังคมโรงเรียนจากการเรียกร้องในสิ่งที่พวกเขาต้องการ พวกเขากลายเป็นกลุ่มที่ถูกเบียดขับออกจากสังคม ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดในสังคมโลก เพราะตลอดสายธารประวัติศาสตร์ ในห้วงเวลาที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่สังคมไม่อาจปรับตัวตามทัน ก็มักจะมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ถูกทำให้กลายเป็นคนแปลกแยกในสังคมของตัวเองอยู่เสมอ

และผลลัพธ์คือคนรุ่นใหม่มักรู้สึกสิ้นหวังกับสังคมที่เป็นอยู่

“คนรุ่นใหม่เป็นรุ่นที่เป็นตัวของตัวเอง เชื่อมั่นในจุดยืนของตนเอง พวกเขามองว่าแกนนำเป็นเพียงคนริเริ่มกลุ่มแรกในพื้นที่สาธารณะและเป็นเพียงคนปราศรัยหลัก แต่แกนนำไม่ใช่ผู้นำของเขา คนรุ่นใหม่พอใจที่จะจัดการชุมนุมด้วยตัวเองมากกว่าการเคลื่อนไหวที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบระเบียบโดยแกนนำด้วยซ้ำ การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นสร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้ที่เข้าร่วมขบวนการ เพราะมันเป็นขบวนการที่เติบโตขึ้นท่ามกลางความเป็นปัจเจกบุคคลของพวกเขาเอง” ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าวย้ำ

 

ม็อบที่แปลว่าส่วนหนึ่งชีวิต

 

ในช่วงสงครามเย็น เทคโนโลยีด้านข้อมูลและสื่ออาจมีเพียงหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ที่ถูกผูกขาดโดยรัฐบาลและกลุ่มทุนบางกลุ่มผู้สามารถแบกรับต้นทุนมหาศาลในการผลิตออกอากาศ แต่เมื่ออินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทมากขึ้น สื่อหลายเจ้าก็ย้ายไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ราคาของสมาร์ตโฟนเริ่มถูกลง จนทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น ทั้งจากสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย

ความเฟื่องฟูของเทคโนโลยีนี้เองที่ช่วยเปิดโลกความรู้ให้คนรุ่นใหม่ และในขณะเดียวกัน ยังทำให้คนรุ่นใหม่สามารถผลิตสื่อได้ด้วยตนเอง

ผศ.ดร.กนกรัตน์เล่าว่ามีนักเรียนมัธยมคนหนึ่งสามารถอธิบายมูลเหตุของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 5-6 คำอธิบายด้วยชุดข้อมูลที่แตกต่างกัน ตัวเธอเองต้องใช้เวลาเป็นเทอมเพื่อสอนเรื่องราวเหล่านั้น แต่เด็กคนนี้สามารถทำความเข้าใจมันผ่านการอ่านทวิตเตอร์  การเติบโตมาพร้อมกับการใช้โซเชียลมีเดียทำให้พวกเขาจำเป็นต้องประเมินข้อมูลทุกวัน เห็นข้อมูลหลากหลายผ่านการถกเถียงกันบนโลกออนไลน์ทุกวัน การอยู่กับข้อมูลตลอดเวลาทำให้คนรุ่นใหม่เกิดความสามารถในการจัดการกับข้อมูลที่ดีกว่าคนรุ่นก่อน และนี่คือหนึ่งในทักษะที่เสริมสร้างความสามารถในการผลิตสื่อของคนรุ่นใหม่

นอกจากมีความสามารถในการจัดการข้อมูล คนรุ่นใหม่ยังถูกฝึกให้มีทักษะในการจัดงาน เป็น Event organizer เพราะนักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่มีประสบการณ์จัดกิจกรรมรูปแบบต่างๆ จากภายในโรงเรียน ดังนั้นการหาสปอนเซอร์และการทำงานหารายได้เพื่อไปทำกิจกรรมต่างๆ จึงเป็นเรื่องปกติสำหรับพวกเขา

“หลายคนสงสัยว่าทำไมคนรุ่นนี้ไปม็อบได้ทุกวันไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย นั่นเพราะว่ามันเป็นชีวิตของพวกเขาอยู่แล้ว เป็นเรื่องปกติสำหรับนักเรียนที่ต้องเรียนวันละ 8 คาบเรียน แล้วต้องซ้อมเชียร์ต่อจนถึงสองทุ่มเป็นเวลาสามเดือนเพื่องานกีฬาสี และแม้ว่าคนอื่นๆ จะเรียกมันว่าม็อบ แต่มันคือชีวิตของคนรุ่นใหม่ มันคือการชุมนุมที่แสดงออกถึงตัวตนของพวกเขา” ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าว

 

ทางออกและความหวังของคนรุ่นใหม่ : ความเข้าใจจากผู้ใหญ่

 

ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าวต่อว่า การออกมาเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ตั้งคำถามกับคนรุ่นผู้ใหญ่ว่าจะเดินต่อไปกันอย่างไร และ ณ ขณะนี้ผู้ใหญ่หลายคนยังคงปรับตัวไม่ทันกับสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การใช้วิธีการแบบเดิมอย่างการสั่งสอนตักเตือน การทำให้กลัว การจัดการกับแกนนำ หรือการระดมผู้ใหญ่ที่ต้องการปกป้องสถาบันฯ มาให้ออกมามากๆ อาจใช้ไม่ได้ผลกับการเคลื่อนไหวในปัจจุบัน ตรงกันข้าม เมื่อยิ่งทำให้กลัว ยิ่งโกรธ ยิ่งทำให้ขบวนการคนรุ่นใหม่เข้มแข็งและกว้างขวางมากขึ้น

ผศ.ดร.กนกรัตน์จบการรายงานผลสำรวจด้วยความหวังว่าจะได้เห็นการทำความเข้าใจของหน่วยงานภาครัฐกับคนรุ่นใหม่และพิจารณาข้อเรียกร้องของพวกเขาอย่างจริงจัง

“ดิฉันว่ามันควรจะมีการขยับของหน่วยงานรัฐเข้าไปคุยกับคนรุ่นใหม่ในวงกว้างมากขึ้น ในฐานะที่เรียกตัวเองว่าเป็นผู้ใหญ่ เราต้องทำให้พวกเขารู้จริงๆ ว่าเราเป็นความหวังของพวกเขาผ่านการทำความเข้าใจและการเริ่มต้นเสนอแนวทางการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรม เพื่อทำให้คนรุ่นนี้รู้ว่าผู้ใหญ่ในสังคมรับรู้ปัญหาของพวกเขามาโดยตลอด”

 

ฉากใหม่ของ Social Movement

 

รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ผู้ร่วมอภิปรายคนต่อไปได้กล่าวถึงความสำคัญของเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตที่เข้ามาเปลี่ยนภาพขบวนการทางสังคมในปัจจุบัน ทั้งสองสิ่งเข้ามามีบทบาทในกระบวนการสร้างตัวตนและยุทธวิธีของการเคลื่อนไหว  มันสร้างพื้นที่อิสระเชิงสัมพัทธ์ (Space of Autonomy) ที่ทำให้การควบคุมจากรัฐเกิดขึ้นได้อย่างจำกัด และเปิดพื้นที่ให้ผู้คนสามารถเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับขบวนการทางสังคม (Social Movement) ทั้งยังทำให้หน่วยปัจเจกย่อยในการเคลื่อนไหวแสดงศักยภาพได้เต็มที่

พื้นที่ดังกล่าวสร้างขบวนการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือที่เรียกว่า Organic Movement เพราะเมื่อพื้นที่สื่อต่างๆ เปิดกว้าง ก็ย่อมทำให้ตัวตนของผู้คนที่มีความคับข้องใจแบบเดียวกันสามารถมาเจอกันได้ง่ายขึ้นและใช้ต้นทุนต่ำ

“นอกจากนี้ การที่ขบวนการทางสังคมเกิดขึ้นได้ เพราะว่ามันมีคนถูกกดทับโดยโครงสร้างบางอย่าง การสำรวจของผศ.ดร.กนกรัตน์ช่วยอธิบายว่าคนรุ่นใหม่ถูกกดทับอย่างไรบ้างจากระบบการเมือง อำนาจนิยม ระบบการศึกษา ชุดคุณค่าใหม่หรือโลกใหม่ที่คนรุ่นใหม่ต้องการทำให้เกิดการตั้งคำถามกับสิ่งที่สังคมเป็นอยู่” รศ.ดร.ประภาสอธิบายพร้อมยกตัวอย่างความเป็นมืออาชีพในการทำงานที่คนรุ่นใหม่คาดหวัง แต่ในความเป็นจริงยังมีระบบอำนาจนิยม การประจบสอพลอฝังอยู่ในวัฒนธรรมองค์กรต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ชุดของคุณค่าที่ขัดกันเหล่านี้อาจไม่นำไปสู่การลุกขึ้นมาสู้ของผู้คน หากปราศจากสื่อที่เข้ามาช่วยให้คน สร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้ความกลัวที่จะถูกปราบหรือถูกดำเนินคดีโดยรัฐ เปลี่ยนเป็นความโกรธ เปลี่ยนเป็นความหวังและสร้างการเคลื่อนไหวให้เกิดขึ้นจริง

 

วาทกรรมที่รัฐสร้างกับความบริสุทธิ์ของขบวนการ

 

รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ หนึ่งในคณาจารย์ภาควิชาการปกครองของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เริ่มต้นการอภิปรายว่า แม้การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่จะเป็นขบวนการที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่กลับมีการใช้คำว่าปลดแอกซึ่งเชื่อมโยงกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีการใช้คำว่าคณะราษฎรซึ่งเชื่อมโยงถึงการปฏิวัติ 2475 และภายในม็อบก็มีการพูดถึงเหตุการณ์ตากใบ การชุมนุมของกลุ่มนปช.หรือกลุ่มคนเสื้อแดง พูดถึงคนที่ต่อสู้กับความอยุติธรรมมาก่อนอย่างจริงจัง

“อย่างไรก็ตาม ม็อบยังไม่สามารถหลุดออกมาจากวาทกรรมที่รัฐสร้างได้ทั้งหมด มีความพยายามระมัดระวังในการเอ่ยถึงบางคนซึ่งถูกรัฐป้ายสี เพราะเกรงว่าการเอ่ยนามเหล่านั้นจะทำให้ขบวนการไม่บริสุทธิ์หรือถูกป้ายสีไปด้วย ดังนั้นการเคลื่อนไหวส่วนใหญ่จึงหลีกเลี่ยงการพูดถึงธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ หรือทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะกลัวถูกป้ายสีว่าม็อบถูกจ้างมาโดยบุคคลเหล่านี้หรือมีพรรคการเมืองบงการอยู่เบื้องหลัง รวมไปถึงการกล่าวถึงบุคคลอื่นๆ ในประวัติศาสตร์อย่างปรีดี พนมยงค์ จอมพลป. พิบูลสงคราม ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ต่างถูกป้ายสีจากรัฐทั้งเรื่องจริงและไม่จริง” รศ.เวียงรัฐอธิบาย

 

ม็อบรุ่นใหม่ ม็อบ Civilized Mass

 

“ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมาถึงจุดที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงในระดับที่สร้างแรงสั่นสะเทือนสูง” ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ กล่าวก่อนจะเริ่มอภิปรายเป็นคนต่อมา

บัณฑิตมองว่าในระบบการเมืองทุกระบบมีวาล์วนิรภัย (Safety Valve) สำหรับคลายแรงตึงเครียดในระบบ  เมื่อวาล์วนิรภัยถูกปิดไปทีละตัวหรือกระทั่งปิดจนหมด ระบบจะไม่สามารถคลายความตึงเครียดที่มีอยู่ภายในได้ และเมื่อนั้นจะเกิดความผุกร่อนทางการเมือง (Political Decay) เพราะสิ่งเก่าไม่ยอมปรับตัว ไม่ยอมให้สิ่งใหม่เกิดขึ้นตามครรลองที่ควรจะเป็น

“ขณะที่นักรัฐศาสตร์อนุรักษนิยมจำนวนมากมักอธิบายว่าม็อบคือฝูงชนที่ไร้เหตุผล แต่ผมเรียกการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในตอนนี้ว่าเป็นมวลชนอารยะ (Civilized Mass) เราได้เห็นช่องทางการสื่อสารใหม่ๆ ถูกออกแบบขึ้นเพื่อใช้สื่อสารภายในการชุมนุม เช่น การใช้ป้ายผ้าขนาดใหญ่ในการสื่อสาร ซึ่งมันสะท้อนความเป็นมวลชนอารยะและการรักษาความสันติของการชุมนุม แม้ว่าจะมีการยั่วยุหรือตอบโต้จากฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับจุดยืนของม็อบก็ตาม”

นอกจากนี้ ผศ.ดร.บัณฑิตเสริมว่า โครงสร้างการคิดของรัฐในการจัดการกับม็อบยังเป็นความคิดในยุคสมัยสงครามเย็น ความพยายามจับแกนนำมาลงโทษหรือขังคุกเกิดจากความคิดที่ว่าหากทำลายคนที่ชักใยให้เกิดการชุมนุมหรือแกนนำได้ ม็อบก็จะสลายไปเอง ซึ่งในความเป็นจริง การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นตอนนี้เป็นสภาวะ ‘Body without organ’ เป็นการเคลื่อนไหวโดยไม่มีองค์กรชี้นำอย่างที่เคยเป็นในอดีต วิธีการที่รัฐใช้ปราบปรามอยู่ ณ ขณะนี้และความพยายามสร้างคลื่นมวลชนฝ่ายตรงข้ามมาโถมทับคลื่นมวลชนคนรุ่นใหม่รังแต่จะยิ่งเพิ่มความตึงเครียดให้ระบบการเมือง

 

คนรุ่นใหม่ในวันนี้ คือ ผลผลิตจากการสั่งสอนของผู้ใหญ่ในวันก่อน

 

รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า ผู้ชุมนุมที่ออกมาทุกวันนี้เป็นผลผลิตของวิธีคิดและการอบรมสั่งสอนโดยชนชั้นนำ

ยกตัวอย่างเช่น เราสอนคนรุ่นใหม่ว่าโตไปไม่โกง แต่ในความเป็นจริง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกลับระบุให้วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งสามารถออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีได้ การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาจึงเหมือนการชวนเล่นเกมที่บอกว่าใครชวนคนเข้าบ้านได้มากกว่ากันเสร็จก่อน คนนั้นชนะ แต่พอเด็กมองเข้าไปในบ้านกลับพบว่ามีคนมานั่งรอในบ้านอยู่แล้ว 250 คน เมื่อเด็กได้รับการอบรมสั่งสอนมาตลอดชีวิตของเขาว่าโตไปไม่โกง การชุมนุมที่เกิดขึ้นจึงแสดงให้เห็นถึงปฏิกิริยาต่อต้านของเด็กที่ได้รับการบ่มเพาะเช่นนั้น

“คนรุ่นใหม่ต้องการเพียงหลักประกันที่จะให้ความมั่นคงในชีวิตกับพวกเขา แต่เมื่อมองไปที่รัฐบาลและกติกาภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กลับไม่เห็นภาพว่ามันตอบโจทย์อะไรในชีวิตเขาบ้าง จึงเกิดการปะทุและการเรียกร้องขึ้นมา” รศ.ดร.สิริพรรณกล่าว

 

ม็อบแบบฉบับใหม่ไร้พรมแดน

 

วงเสวนาขยับมาที่ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ เขามองว่าม็อบในทุกวันนี้เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ทำให้ผู้ใหญ่หลายๆ คนไม่เข้าใจ เพราะมันคือม็อบในแบบฉบับใหม่ที่ก้าวข้ามหลายเรื่องจากม็อบในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมในทุกวันนี้หลุดพ้นจากการอยู่ภายใต้พระราชอำนาจนำบางอย่างของสถาบันกษัตริย์ มีการตั้งคำถามกับพระราชอำนาจและก้าวข้ามไปจากการพูดถึงความเป็นกลางหรือการอยู่เหนือการเมืองของพระมหากษัตริย์

อีกลักษณะหนึ่งของม็อบที่น่าสนใจ คือ การเชื่อมโยงกับต่างประเทศมากขึ้น ประเด็นต่างๆ ของคนรุ่นใหม่ไม่ได้ถูกมองอยู่ในระนาบของรัฐชาติอีกต่อไป แต่ยังเชื่อมโยงกันกับการประท้วงและความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในฮ่องกงหรือเบลารุส

“ตั้งแต่การประท้วงในช่วงสิงหาคมที่ผ่านมา สิ่งที่ชนชั้นนำตอบโต้ คือ การเล่นละครแบบเดิมๆ ไม่มีบทอะไรแปลกไปจากเดิม ไม่มีความสลับซับซ้อน ตอนนี้สื่อทั้งในประเทศและนอกประเทศ รวมไปถึงสื่อกระแสรองพร้อมตรวจสอบข้อเท็จจริงกันมาก ส่งผลให้ชนชั้นนำยากที่จะโน้มน้าวคนในสังคมให้เชื่อเหมือนๆ กันแบบเดิมเหมือนที่เคยทำ

“ดังนั้นความไม่พอใจของสังคมจะดำเนินเช่นนี้ต่อไปจนกว่าจะมีข้อตกลงร่วมกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง และหวังว่าข้อตกลงที่เราจะทำร่วมกันใหม่ครั้งนี้จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม ความเท่าเทียมกันที่มากขึ้น” เนติวิทย์กล่าวจบ

 

ยุทธศาสตร์ใหม่ของการเคลื่อนไหวในปัจจุบัน คือ การเล่นกับเวลา

 

ปิดท้ายการเสวนานี้ด้วยความเห็นของ ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ซึ่งเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวที่ผ่านมากับปัจจุบันว่ามีวิธีคิดเรื่องเวลาแตกต่างกัน การชุมนุมคราวนี้มีความสามารถในการบริหารเวลาและการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ ความสามารถที่จะบอกทันทีแล้วคนไปได้ในทันที และความแม่นยำในการควบคุมคนให้เคลื่อนไปในเวลาที่กำหนด

“ยุทธศาสตร์ของม็อบเสื้อเหลือง-เสื้อแดง คือการตรึงพื้นที่ให้ครบ 24 ชั่วโมงและการค้างคืน ขณะที่การเคลื่อนไหวในช่วงพฤษภาทมิฬ คือ การรวมตัวกันแล้วยุติ และเจอกันใหม่ในวันรุ่งขึ้นหรือนัดมาเจอกันใหม่ในตอนเย็น ส่วนการเคลื่อนไหวในครั้งนี้มีลักษณะพิเศษในเรื่องการใช้เวลาที่แม้ว่าอาจจะไม่ได้มีแก่นในตัวของมันเอง แต่การเล่นกับเวลาเป็นวิธีการที่แปลกใหม่กว่าที่เคยและได้กลายเป็นพื้นที่ของการต่อสู้ เป็นสิ่งที่สร้างความน่ากลัวให้กับการเคลื่อนไหวในครั้งนี้”

ผศ.ดร.พิชญ์กล่าวว่าการที่ผู้คนมากมายสามารถหลั่งไหลมารวมกันในช่วงก่อนเวลานัดหมายเพียงไม่นานแสดงถึงความสามารถในการใช้เวลาทั้งผู้ชุมนุมและคนที่เป็นแกนนำในการจัดการ อีกทั้งความกล้าในการสั่งยุติ ความกล้าในสับขาหลอกหรือที่เรียกกันว่าการ ‘แกง’ ในปัจจุบัน ก็สามารถทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามตามไม่ทันและไม่เข้าใจ รวมถึงอาจทำให้ฝ่ายเดียวกันเองก็โมโหด้วยว่าตัวเองก็ถูกหลอกหรือถูกแกงเช่นเดียวกัน ซึ่งมันเป็นรูปแบบใหม่ที่สำคัญในการเคลื่อนไหวในรอบนี้

ผศ.ดร.พิชญ์ยังคงมองว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้ก้าวร้าวหรือเต็มไปด้วยความโกรธตลอดเวลา หากขึ้นอยู่กับบริบทและสถานการณ์ในตอนนั้นๆ ด้วย “เราสามารถอธิบายคนเหล่านี้ได้เฉพาะตอนที่อยู่ในม็อบ แต่เมื่อกลับมาอยู่ในห้องเรียนหรืออยู่ที่บ้านก็อาจจะไม่ได้แสดงออกแบบนั้นเสมอไป การระบุบริบทก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญว่าทำไมมันถึงจุดที่คนจะต้องออกมา อะไรคือจุดสิ้นสุดความอดทนนั้น”

อย่างไรก็ตาม คำถามทิ้งท้ายจาก ผศ.ดร.พิชญ์ที่อยากฝากไปถึงคนรุ่นใหม่ คือ เราจะสร้างการสร้างการเรียนรู้และถกเถียงร่วมกันได้มากน้อยแค่ไหนในภาวะที่สื่อใหม่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะห้องแห่งเสียงสะท้อน (Echo Chamber) สูงมาก

เพราะท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าคนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นไหน ก็จะขาดการรับฟังความเห็นต่างไปไม่ได้เลย

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save