fbpx
เมื่อไวรัสทำให้เราต้องอยู่กันแบบดิจิทัล: 16 คำแนะนำจากศาสตร์มานุษยวิทยาดิจิทัล

เมื่อไวรัสทำให้เราต้องอยู่กันแบบดิจิทัล: 16 คำแนะนำจากศาสตร์มานุษยวิทยาดิจิทัล

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

 

เมื่อไวรัสระบาดและมนุษย์จำเป็นต้องเว้นระยะห่างจากกัน โลกดิจิทัลจึงเกือบจะเป็นพื้นที่หนึ่งเดียวที่รักษาความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวและเพื่อนฝูงไว้ไม่ให้จางหายไป และไม่ทอดทิ้งใครให้เดียวดายตามกายที่ต้องห่างกัน

ในช่วงเวลาที่สื่อดิจิทัลเป็นเครื่องมือหลักที่จะรักษาความสัมพันธ์ของมนุษย์เช่นนี้ ทีมวิจัยสายมานุษยวิทยาแห่ง Univercity College London ได้สกัดข้อค้นพบออกมา 16 ข้อ จากโครงการ Anthropology of Smartphones and Smart Ageing (ASSA) โครงการวิจัยที่ศึกษาพฤติกรรมการใช้สมาร์ตโฟนของผู้สูงวัยเพื่อสื่อสารเรื่องสุขภาพใน 8 ประเทศ 5 ทวีปทั่วโลก และบางส่วนจากงานวิจัย The Comfort of People ของ Daniel Miller นักวิจัยผู้บุกเบิกสาขามานุษยวิทยาดิจิทัล ซึ่งส่วนหนึ่งของงานได้กล่าวถึงวิธีการใช้สื่อดิจิทัลรักษาความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้สูงอายุ และผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว

ข้อค้นพบ 16 ข้อดังต่อไปนี้ คือคำแนะนำจากศาสตร์มานุษยวิทยาดิจิทัล ว่าด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการรักษาความสัมพันธ์ สร้างความอบอุ่น ดูแลกันและกัน โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย รวมทั้งทำความเข้าใจพฤติกรรมและผลจากการใช้สื่อดิจิทัลอีกด้วย

 

1. ใช้แอปพลิเคชันที่มีอยู่แล้ว

งานวิจัยพบว่าผู้สูงอายุมักไม่ค่อยอยากใช้งานแอปพลิเคชันที่ไม่คุ้นเคย ดังนั้นหากเป็นไปได้พยายามอย่าแนะนำแอปพลิเคชันใหม่ให้ใช้ แต่พยายามหาวิธีให้ผู้สูงอายุทำสิ่งต่างๆ ที่ต้องการด้วยแอปพลิเคชันที่ใช้งานเป็นประจำอยู่แล้ว เช่น Line จะดีที่สุด

 

2. ความเข้าอกเข้าใจในเวลาที่ (กาย) ห่างกัน

เมื่อไวรัสระบาด คนทุกเพศทุกวัยต้องเผชิญกับภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม (social isolation) ไม่ใช่เพียงแค่ผู้สูงอายุอีกต่อไป แต่ท่ามกลางความโดดเดี่ยวครั้งนี้ เราอาจได้เรียนรู้และเข้าใจความรู้สึกของผู้สูงอายุที่ต้องอยู่กับความโดดเดี่ยวเป็นปกติ

 

3. เลือกสื่อสารตามความชอบ (Polymedia)

งานวิจัยพบว่า ในปัจจุบันมีเครื่องมือสื่อสารให้เลือกใช้หลากหลาย ผู้คนก็เลือกวิธีสื่อสารที่ตัวเองพอใจแตกต่างกันไป เช่น บางคนอาจจะไม่มีปัญหากับการเปิดวิดีโอคอล แต่บางคนสามารถวิดีโอคอลได้ก็ต่อเมื่อต้องบอกให้รู้ก่อน เป็นต้น ดังนั้นเราควรให้ความสำคัญว่าใครถนัดสื่อสารแบบไหน อย่างไร และเคารพความต้องการของกันและกัน

 

4. กลุ่มสนทนา (forum) ในโลกออนไลน์

งานวิจัยเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคองพบว่า ผู้ป่วยที่กำลังต่อสู้กับโรคร้าย (ซึ่งในกรณีศึกษาส่วนมากเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็ง) มองว่ากลุ่มสนทนาที่เปิดให้คนเข้ามาแลกเปลี่ยนนั้นมีประโยชน์มาก แต่ผู้ใช้งานกลุ่มสนทนาแต่ละคนจะรู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยในกลุ่มต่างกันออกไป ผู้ใช้งานบางคนอาจจะอยากจะแลกเปลี่ยนข้อมูลส่วนตัวก็ต่อเมื่อผู้ใช้งานทั้งหมดไม่เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงเท่านั้น ในขณะที่บางคนจะรู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยเมื่อรู้ว่าผู้ใช้งานในกลุ่มสนทนาคือใคร ดังนั้นเราจึงต้องพัฒนาและเพิ่มจำนวนกลุ่มสนทนาทั้งสองรูปแบบ

 

5. ความบ่อยสำคัญกว่าสาระ

สำหรับผู้สูงอายุหลายคน เนื้อหาสาระที่สื่อสารออกไปไม่ได้สำคัญเท่ากับว่ามีใครติดต่อมาหาบ่อยๆ ที่จริงแล้ว ผู้สูงอายุให้ความสำคัญว่ามีใครอยากคุยด้วยมากกว่าจะคุยเรื่องอะไรเสียอีก

 

6. เส้นกั้นบางๆ ระหว่าง ‘ห่วงใย’ และ ‘สอดส่อง’

ประเด็นนี้เกิดขึ้นได้ทั้งระดับความสัมพันธ์ส่วนตัวและระดับสังคม ในระดับความสัมพันธ์ส่วนตัว ผู้สูงอายุอาจจะทั้งชอบใจที่มีคนใส่ใจไถ่ถามความเป็นไป แต่ในขณะเดียวกันก็ยังอยากจะรู้สึกว่าดูแลตัวเองได้และมีอิสระ ส่วนในระดับสังคม บางคนอาจรับไม่ได้กับมาตรการเผด็จการจัดการไวรัสของจีน แต่บางคนก็อาจมองต่างออกไปว่านั่นคือวิธีที่จีนดูแลรับผิดชอบประชาชนก็เป็นได้

 

7. พลังจากฐานล่าง 

ในปัจจุบันที่ผู้คนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างกว้างขวาง เทคโนโลยีจะเป็นตัวช่วยเปิดพื้นที่ให้ประชาชนคนธรรมดามีส่วนร่วม (democratising) ริเริ่มสร้างสรรค์นโยบายหรือโครงการเพิ่มมากขึ้น จากแต่เดิมการเสนอนโยบายส่วนมากมักเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ และเป็นไปในลักษณะ ‘บนลงล่าง’ (top-down)

นักมานุษยวิทยาพยายามทำความเข้าใจการโต้ตอบต่อวิกฤตที่สร้างสรรค์ของคนธรรมดาเหล่านี้ พยายามรวบรวมตัวอย่าง (เช่น ในเว็บไซต์นี้ หรือศึกษาวิธีที่ผู้สูงอายุในบราซิลใช้ WhatsApp ใช้พูดคุยเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่ง Marilia Duque หนึ่งในทีมนักวิจัย ASSA ได้ไปลงพื้นที่รวบรวมข้อมูลมา) และใช้ตัวอย่างเหล่านี้เพยแพร่ความรู้แก่ผู้อื่น

ไม่ใช่แค่เพียงในต่างประเทศเท่านั้นที่ประชาชนเริ่มลุกขึ้นมาใช้เทคโนโลยีสร้างสรรค์แพลตฟอร์มเพื่อเติมเต็มความต้องการของสังคม ในประเทศไทยก็เกิดการเคลื่อนไหวลักษณะนี้เช่นกัน อย่างกรณีเว็บไซต์ Covid Tracker ที่แสดงข้อมูลพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อโควิดในแต่ละจังหวัดของประเทศไทยนั้นก็ริเริ่มโดยบริษัท 5Lab ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน

 

8. ความห่วงใยแบบมีระยะ

เทคโนโลยีโลกดิจิทัลช่วยย่นระยะทางให้เราส่งความห่วงใยจากทางไกลได้ และยังส่งได้หลากหลายรูปแบบอีกด้วย โดยที่แต่ละแบบมีประสิทธิภาพและความหมายไม่เหมือนกัน อย่างคนรุ่นใหม่ในประเทศจีนและญี่ปุ่นเริ่มหันมาใช้สติ๊กเกอร์หรือวิดีโอสั้นๆ เป็นสื่อแทนความห่วงใยถึงผู้สูงอายุ ซึ่งคนรุ่นใหม่ต่างก็รู้สึกว่าการแสดงความห่วงใยเช่นนี้ทำได้ง่ายกว่าเวลาพูดคุยต่อหน้า

 

9. แบ่งปันข้อมูลผ่านกลุ่มแชท

เมื่อทุกคนตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องแยกตัวจากกันเพื่อหนีไวรัส กลุ่มแชทครอบครัวหรือกลุ่มแชทเพื่อนใน Line หรือ WhatsApp กลายเป็นพื้นที่ที่มีประโยชน์ยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากจะเป็นพื้นที่พูดคุยแล้ว กลุ่มแชทเหล่านี้ยังเป็นพื้นที่สำหรับแบ่งปันข้อมูลอีกด้วย อย่างเช่นในบราซิล เริ่มมีระบบ `WhatsApp Angels’ เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์การระบาด หรือในขณะเดียวกัน WhatsApp ก็สร้าง ‘ศูนย์ข้อมูลไวรัสโคโรน่า’ (‘Coronavirus Information Hub’) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งานแอปพลิเคชันเพื่อติดต่อกับผู้อื่นและอัพเดตข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับไวรัส

 

10. ใช้ประโยชน์จากกล้อง Webcam

การติดต่อสื่อสารในเวลาเช่นนี้ กล้อง Webcam มีประโยชน์อย่างมากที่จะช่วยให้เราเช็คความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุว่าเป็นอย่างไร สบายดีจริงหรือไม่ เพราะมีกรณีผู้สูงอายุอังกฤษที่หากโทรไปถามสารทุกข์สุขดิบ ก็จะตอบว่าสบายดีแม้ว่าจะเจ็บป่วยอาการสาหัสขนาดไหนก็ตาม

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคนที่รู้สึกว่าการเปิดกล้อง Webcam ทิ้งไว้เฉยๆ  ช่วยให้รู้สึกเหมือนได้อยู่ร่วมกัน

 

11. ผู้สูงอายุผู้ไม่เจนโลกเทคโนโลยี

การระบาดของไวรัสโคโรน่ากลายเป็นฝันร้ายสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่เคยใช้สมาร์ตโฟน เพราะการระบาดได้ตัดหนทางไม่ให้ลูกหลานหรือบริการดูแลผู้สูงอายุถึงบ้าน (care homes) มาเยี่ยมเยือนและดูแลผู้สูงอายุได้ แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ อุปกรณ์ที่ใช้เสียงสั่งงานอย่าง Amazon Echo Show จะช่วยให้ผู้สูงอายุพูดคุยผ่านวิดีโอคอลได้ง่ายขึ้น เพียงแค่ขานชื่อคนที่จะโทรหา Echo Show ก็จะต่อสายให้ทันที

 

12. ลดช่องว่างระหว่างวัยด้วย Facebook

ในปัจจุบัน Facebook ได้เปลี่ยนจากพื้นที่ในโลกออนไลน์ของคนหนุ่มสาวไปเป็นพื้นที่ในโลกออนไลน์ของผู้สูงอายุไปแล้ว แต่แทนที่จะละทิ้ง Facebook ไป คนหนุ่มสาวควรใช้ Facebook เป็นช่องทางพูดคุยเรื่องราวในครอบครัว แบ่งปันเรื่องตลกขำขัน หรือเรื่องอื่นๆ กับผู้สูงอายุ

 

13. ความลับของผู้ป่วยจะสำคัญน้อยลง

งานวิจัยเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคองเสนอว่า นโยบายรักษาความเป็นส่วนตัว (privacy) และความลับของผู้ป่วยอาจกลายเป็นเรื่องอันตรายได้ ความเป็นส่วนตัวนั้นสำคัญก็จริง แต่หากควบคุมข้อมูลของผู้ป่วยรัดกุมเกินไป อาจกลายเป็นผลเสียมากกว่า เพราะผู้ป่วยไม่ได้กังวลว่าจะมีคนแปลกหน้ารู้อาการป่วยเท่ากับกังวลว่าคนรอบตัวจะไม่รู้อาการป่วย

 

14. ความใจเย็น

ที่จริงแล้วผู้สูงอายุอาจอยากเรียนรู้วิธีใช้สมาร์ตโฟน แต่บ่อยครั้งที่ลูกหลานมักจะไม่ยอมสอนให้เพราะรำคาญ อดทนรอไม่ไหวกว่าผู้สูงอายุจะเข้าใจวิธีใช้งาน จนต้องคว้าสมาร์ตโฟนจากมือผู้สูงอายุไปจัดการแทนให้บ่อยๆ แต่เมื่อทุกคนอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องอยู่ห่างกันแบบนี้ ลูกหลานยิ่งควรช่วยประคับประคองผู้สูงอายุให้สามารถดูแลตัวเอง ทำอะไรด้วยตัวเองได้

 

15. การรับรองคุณภาพ (Kitemarking)

ในโลกที่คำตอบของทุกเรื่องอยู่เพียงปลายนิ้ว ผู้คนส่วนใหญ่มักจะรับมือกับโรคภัยไข้เจ็บด้วยการค้นหาข้อมูลจากกูเกิล แต่ผลลัพธ์การค้นหาต่างๆ ที่ออกมาเป็นเว็บโฆษณาและเรื่องเล่าน่ากลัวเกี่ยวกับโรคปะปนกันไปอาจทำให้เรารู้สึกวิตก หรือซ้ำร้ายอาจได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องอีกด้วย แต่ปัจจุบันเริ่มมีการรับรองคุณภาพ (kitemark) ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้มากขึ้นเรื่อยๆ และกูเกิลเองก็เริ่มนำนโยบายดังกล่าวมาใช้ในอังกฤษ โดยเว็บจะเลือกแสดงผลลัพธ์จากเว็บไซต์ WHO และ NHS (ระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติของอังกฤษ) ขึ้นมาทันทีเมื่อค้นหาคำว่า ‘Covid 19’ แต่อย่างไรก็ตามกูเกิลก็ยังคงแสดงข้อมูลจากเว็บโฆษณาหรือเว็บสนับสนุน (sponsored sites) อยู่อีกพอสมควร

 

16. การทดลองระดับโลก

ขณะนี้โลกได้กลายเป็นห้องทดลองขนาดใหญ่เมื่อกิจกรรมในโลกจริงอย่างการทำงาน การเรียนหนังสือและการพบปะเข้าสังคมจำเป็นต้องย้ายเข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์ และนี่คือห้วงเวลาสำคัญสำหรับศาสตร์มานุษยวิทยาดิจิทัลที่จะศึกษา ประเมินทั้งปัญหาและประโยชน์ระยะยาวที่จะตามมาหลังจากนี้

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save