fbpx
Social Democracy นอร์เวย์และสวีเดน : จากมุมมองโครงสร้างครอบครัว

Social Democracy นอร์เวย์และสวีเดน : จากมุมมองโครงสร้างครอบครัว

ปรีดี หงษ์สต้น เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ปีที่ผ่านมา โลกฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยได้เฉลิมฉลองวาระ 30 ปีการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน ความทรงจำและความคำนึงของคนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังสงครามอ่าวเปอร์เซียอาจจะย้อนไปได้ไม่ไกลไปกว่าปี 1989

ในฐานะคนที่เกิดก่อนกำแพงเบอร์ลินจะล่มสลาย ผมขอถือโอกาสนี้กล่าวถึงหนังสือที่เขียนขึ้นก่อนปี 1989 สักเล่มหนึ่ง ชื่อว่า อธิบายอุดมการณ์ผ่านโครงสร้างครอบครัวและระบบสังคม (1985) เขียนโดย เอมมานูเอล ตอดด์ – นักประชากรศาสตร์ เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างของครอบครัวและอุดมการณ์ทางการเมืองของแต่ละแห่งบนโลก

เพื่อตอบคำถามง่ายๆ ว่า เหตุใดอุดมการณ์ทางการเมืองบางชนิดเติบโตได้ดีในบางที่ในโลก แต่กลับล้มเหลวไม่เป็นท่าในบางที่ เช่น ทำไมคอมมิวนิสต์สำเร็จในรัสเซีย จีน และคิวบา แต่ล้มเหลวในโปแลนด์ หรือกัมพูชา ทำไมสังคมอังกฤษจะต้องเป็นสังคมปัจเจกนิยม ทำไมฝรั่งเศสจะต้องเป็นสมภาคนิยม ทำไมรัสเซียเป็นอำนาจนิยม ?

คำตอบของเขาคือ อุดมการณ์ทางการเมืองของคนแต่ละแห่งบนโลกถูกกำหนดโดยโครงสร้างของครอบครัวแต่ละแบบอันแตกต่างกันนั่นเอง

แน่นอนว่าสำหรับคนที่เติบโตทางความคิดในโลกยุคเสรีนิยมใหม่และหลังโครงสร้างนิยม ย่อมตะขิดตะขวงใจกับคำตอบ มนุษย์ดูเหมือนจะถูกลดทอนความเป็นปัจเจกผู้กระทำการไปอย่างง่ายๆ

แต่ไหนๆ กระแสวินเทจกำลังมา ขอให้ลองมองย้อนกลับไปดูหนังสือวินเทจเล่มนี้เหมือนกับการฟังเพลงวินเทจก็แล้วกันครับ

 

สังคมประชาธิปไตย

 

สังคมประชาธิปไตยคืออะไร ในแง่นี้เราอาจจะอธิบายอย่างสั้นๆ หยาบๆ ว่า เป็นระบบทางการเมืองสังคมที่ยึดระบบรัฐสภา ยึดเสรีภาพทางสาธารณะเป็นที่ตั้ง แต่ในขณะเดียวกันสังคมประชาธิปไตยต้องการให้รัฐเข้ามาเป็นผู้จัดการวิถีชีวิตทางสังคม

ต้องย้ำว่าสังคมประชาธิปไตยไม่ต่อต้านทรัพย์สินส่วนบุคคลและไม่ต่อต้านศาสนา ทั้งยังมีผลงานชิ้นโบว์แดงคือการประนีประนอมระหว่างนายทุนและสหภาพแรงงานตลอดศตวรรษที่ 20 ทำให้สหภาพแรงงานหมดพลังลงไปแทบจะสิ้นเชิงเมื่อสิ้นศตวรรษ

 

คำถามของหนังสือ

 

หนังสือ The Explanation of Ideology: Family Structure and Social Systems (1985)

 

เอมมานูเอล ตอดด์
เอมมานูเอล ตอดด์

 

เอมมานูเอล ตอดด์ เริ่มด้วยการแสดงความไม่แล้วใจที่งานศึกษาทางรัฐศาสตร์อธิบายโลกภายใต้สองขั้วสงครามเย็น ขั้วหนึ่งคือ ‘เสรีนิยมแองโกล-แซกซอน และอีกขั้วหนึ่งคือ ‘คอมมิวนิสต์’

ทั้งๆ ที่หากนับกันจริงๆ ประชากรที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีระบบการเมืองข้างใดข้างหนึ่งในนี้ มีจำนวนอยู่ร้อยละ 40 ของประชากรโลกเท่านั้น ส่วนใหญ่ที่เหลืออีกร้อยละ 60 ดูจะไม่ได้เข้าไปอยู่ในประวัติศาสตร์กับเขาด้วย

เมื่อตั้งต้นเช่นนี้แล้ว การอธิบายวิเคราะห์ระบบอุดมการณ์ทางการเมืองของประเทศใดๆ ที่ “อยู่ระหว่าง”​ สองขั้วนี้ จึงเป็นเพียงการแสดงออกของ “เฉด” หรือระดับอุดมการณ์ระหว่างสองขั้วเท่านั้น เช่น สังคมประชาธิปไตย (social democracy), คริสต์ประชาธิปไตย (Christian democracy), ระบบการเมืองแบบละตินอเมริกา, ระบอบทหารในไทยและอินโดนีเซีย, พุทธสังคมนิยม (Buddhist socialism) ของพม่าและศรีลังกา, รัฐสภานิยม (parliamentarianism) ของญี่ปุ่น, อิสลามรากฐานนิยม/สังคมนิยม (Islamic fundamentalism/socialism), มาร์กซิสม์แสนย์ (militarist Marixsm) ของเอธิโอเปีย, หรือระบบที่ผสมรัฐสภาเข้ากับระบบวรรณะอย่างในอินเดีย ฯลฯ

ถ้าอธิบายแบบสงครามเย็นแล้ว ระบบทั้งหลายเหล่านี้กลายเป็นตัวแสดงเฉดความเข้ม-อ่อนของโลกสองขั้วเท่านั้น

ตอดด์บอกอีกว่า หากขยับการอธิบายแบบสองขั้วนี้ไปสู่เรื่องศาสนายิ่งแล้วใหญ่ สิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับคอมมิวนิสต์ไม่ใช่เสรีนิยม แต่เป็นประเทศใดๆ ก็ตามที่เป็นรัฐศาสนา หรือมีศาสนาเป็นส่วนหนึ่งในการกระทำของรัฐ​

การอธิบายของเสรีนิยมเพื่อพยายามหาสาเหตุว่าทำไมจึงเกิดความขัดแย้งระหว่างคอมมิวนิสต์และอิสลามในอัฟกานิสถาน หรือระหว่างคอมมิวนิสต์และคาธอลิกในโปแลนด์ ในทำนองว่าคอมมิวนิสต์ปิดกั้นการแสดงออกซึ่งความเชื่อทางศาสนา ฯลฯ ก็หมดพลังลงโดยพลัน

ตอดด์ยืนกรานเสนอว่า อุดมการณ์การทางการเมืองต่างๆ ของโลก (ย้ำว่าทั้งโลก) ล้วนมีที่มาจากรูปแบบของครอบครัวอันแตกต่างกันเป็นจุดตั้งต้น

 

ครอบครัวแนวดิ่ง
เยอรมนี สวีเดน นอร์เวย์

 

ตอดด์แบ่งประเภทครอบครัวในโลกนี้ออกเป็น 7 ประเภท ในที่นี้ผมขอนำมาเล่าเพียงประเภทเดียว เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคที่สังคมประชาธิปไตยเติบโตและประสบความสำเร็จมากที่สุด นั่นคือ เยอรมนี สวีเดน และนอร์เวย์

ดินแดนเหล่านี้มีโครงสร้างครอบครัวเดียวกัน คือครอบครัวแนวดิ่ง (authoritarian/vertical family)

ครอบครัวแนวดิ่งมีองค์ประกอบหลักดังต่อไปนี้

  • มรดก (โดยเฉพาะที่ดิน) ของครอบครัวแบ่งไม่เท่ากันระหว่างพี่ชายกับน้องชาย ที่ดินจะตกเป็นของลูกชายคนหนึ่งมากกว่าอีกคน
  • เมื่อรุ่นลูกแต่งงานแล้ว จะยังอาศัยอยู่ในไร่นาบ้านเดียวกับพ่อแม่
  • ไม่มีการแต่งงานกันระหว่างลูกของพี่ชายกับน้องชาย

 

ตอดด์ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเราพิจารณาประเทศกลุ่มนี้ เราจะนึกถึงรูปแบบการเมืองสังคมประชาธิปไตยแบบโดดๆ ไม่ได้ เราต้องนึกถึงคริสต์ศาสนาด้วย ฐานทางการเมืองของระบบสังคมประชาธิปไตย เป็นฐานทางการเมืองเดียวกันกับพรรคคริสต์ศาสนาทั้งนั้น เพราะถึงที่สุดแล้วสังคมประชาธิปไตยไม่ได้ต่อต้านคริสต์ศาสนา

นี่ยังไม่นับข้อเท็จจริงว่าผู้นำเยอรมันคนปัจจุบันสังกัดพรรคอะไรนะครับ

 

สังคมประชาธิปไตยและคริสต์ศาสนา

 

ทั้งสังคมประชาธิปไตยและศาสนจักรต่างเห็นความสัมพันธ์ทางสังคมในแนวตั้ง ต่างมุ่งเคารพอำนาจที่วางอยู่บนระบบราชการอันเข้มแข็งชัดเจน

เราจะเห็นว่าระบบราชการของสวรรค์ (ศาสนจักร) และระบบราชการบนโลก (รัฐ) ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กันแต่อย่างใด

ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ศาสนจักรของรัฐคริสต์นิกายลูเธอรันในนอร์เวย์และสวีเดน ก็รับบาทหลวงมากมายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ และนี่เป็นผลให้ดินแดนแถบนี้มีระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพที่สุดในยุโรป รวมทั้งอัตราการรู้หนังสือที่เพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในยุโรปศตวรรษที่ 18

สังคมประชาธิปไตยในสแกนดิเนเวียจึงเป็นการทำงานร่วมกันของสวรรค์และรัฐ (ซึ่งสำหรับคอมมิวนิสต์แล้วนี่เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้)

บาทหลวงโปรแตสแตนท์เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญที่สุดกลุ่มหนึ่งในการก่อตัวของความเคลื่อนไหวสังคมประชาธิปไตยทั้งหมด ลากยาวตั้งแต่สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี สวีเดน ไปจนถึงนอร์เวย์

ขณะเดียวกันสังคมประชาธิปไตยก็ไม่ปฏิเสธทรัพย์สินส่วนบุคคล (ซึ่งคอมมิวนิสต์ปฏิเสธ) สำหรับตอดด์แล้วนี่เป็นสิ่งสะท้อนโครงสร้างทางสังคมของครอบครัวแนวดิ่ง ซึ่งที่ดินของพ่อทั้งหมดจะส่งผ่านให้ลูกคนใดคนหนึ่ง ระบบราชการของโลกสังคมประชาธิปไตยจึงเก็บภาษีที่ดินจากเอกชนแทน ไม่ใช่ถ่ายโอนมาเป็นของรัฐ

 

โครงสร้างของครอบครัวในยุโรป ในบทความนี้เรากล่าวถึงพื้นที่สีเขียวเข้ม
โครงสร้างของครอบครัวในยุโรป ในบทความนี้เรากล่าวถึงพื้นที่สีเขียวเข้ม

 

สวีเดนและนอร์เวย์ : เกณฑ์อายุการแต่งงาน

 

ด้วยความที่เป็นนักประชากรศาสตร์ เอมมานูเอล ตอดด์ใช้เกณฑ์เรื่องอายุเฉลี่ยแต่งงานมาเป็นดัชนีวัดความเชื่อทางศาสนา

เขาเสนอด้วยทั้งตัวเลขและการวิเคราะห์ว่า อายุเฉลี่ยแต่งงานของประชากรที่ลดลงทำให้คนมีความเป็นศาสนาน้อยลง หมายความว่าพวกเขาจะออกไปเลือกพรรคทางโลกมากกว่าพรรคการเมืองศาสนา

ในระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้ง อายุเฉลี่ยแต่งงานของคนสวีเดนและนอร์เวย์ลดลงอย่างรวดเร็วกว่าที่อื่นในยุโรป จาก 26 เป็น 22 ปีในนอร์เวย์ และจาก 27 เป็น 23 ปีในสวีเดน ซึ่งถือว่าลดลงอย่างยิ่ง

นี่ทำให้พรรคสังคมประชาธิปไตยของทั้งสองประเทศได้รับชัยชนะ โดยเฉพาะในสวีเดน พรรคนี้จะเป็นรัฐบาลยาวนานมาตลอดตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนเกือบจะสิ้นสุดศตวรรษเลยทีเดียว นับว่ายาวนานที่สุดในโลกสำหรับพรรคสังคมประชาธิปไตยของที่ใดๆ

ดังนั้นด้วยการตีความเช่นนี้ สังคมประชาธิปไตยในสแกนดิเนเวียได้รับชัยชนะเพราะคนแต่งงานเร็วขึ้น หันไปเลือกพรรคทางโลกมากกว่าพรรคคริสต์ประชาธิปไตยที่ชูธงคุณค่าทางศาสนา

พวกเขาเลือกระบบราชการทางโลกมากกว่าระบบการจัดการของสวรรค์

 

ครอบครัวแนวดิ่งกับสองผลลัพธ์ในประวัติศาสตร์ยุโรป

 

นี่นำมาสู่ความย้อนแย้งที่พิลึกพิลั่นอันชัดเจนประการหนึ่งซึ่งถูกยกขึ้นมาอภิปรายอย่างตรงไปตรงมาว่าเหตุใดภูมิภาคที่มีโครงสร้างครอบครัวแนวดิ่ง ซึ่งให้กำเนิดระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ สันติ และประกันคุณภาพชีวิตคนสูงอย่างเยอรมนี สวีเดน และนอร์เวย์ จึงเป็นแหล่งกำเนิดของสังคมนิยมแห่งชาติ (National Socialism) ในเวลาเดียวกันได้ด้วย ?

เราต้องไม่ลืมว่าเยอรมนีเป็นดินแดนที่ให้กำเนิดอุดมการณ์สังคมประชาธิปไตย สังคมประชาธิปไตยเยอรมันนั้นเข็มแข็งที่สุดในสากลที่ 2 (18891916) นี่ยังไม่นับผู้ที่สนับสนุนเยอรมันในสวีเดนและนอร์เวย์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มากมาย

ตอดด์ใช้การหาค่าสัมประสิทธิ์เพื่อแสดงให้เห็นว่า มีความสัมพันธ์กันของบริเวณภูมิศาสตร์ที่เป็นสังคมประชาธิปไตยและความสนใจสนับสนุนแนวทางสังคมนิยมแห่งชาติของฮิตเลอร์

ไม่ว่าจะอย่างไร ข้อเสนอสำคัญประการหนึ่งของเขาคือ มีความเข้าใจผิด 2 ประการว่าด้วยการกำเนิดของพรรคนาซี ความเข้าใจผิดประการแรกคือพรรคนาซีเป็นการกลายร่างของฝ่ายขวาเยอรมัน ส่วนประการที่สองคือ พรรคนาซีเป็นเพียงรูปแบบชาตินิยมของคอมมิวนิสม์ระบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ

ทั้งสองประการนี้ผิด

แต่แน่นอนว่าการจับสังคมนิยมแห่งชาติและสังคมประชาธิปไตยมาใกล้ชิดกันเช่นนี้ เขาทำด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง (นี่ไม่นับว่าเขาก็เป็นชาวยิว)

เขายืนกรานว่า เราต้องแยกเรื่องนี้กับศีลธรรมทางการเมือง หรือความชอบธรรมทางการเมืองออกไป ก่อนจะทิ้งท้ายว่า “อันที่จริงแล้ว ระบบทางมานุษยวิทยาส่วนใหญ่ปรากฏออกมา 2 แบบเสมอ คือแบบบ้าบอและแบบมีเสถียรภาพ ความรุนแรงจะเกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรม”

ก็มิใช่หรือที่ในช่วงเกิดการพุ่งสูงของอัตราการรู้หนังสืออย่างรวดเร็วในยุโรปก็ได้เกิดปรากฏการณ์การล่าแม่มดไปในเวลาเดียวกัน การอพยพเข้าสู่เมืองและการกลายเป็นอุตสาหกรรมก็ปลดปล่อยความรุนแรงนองเลือดออกมาให้เห็นในช่วงสงครามโลกทั้งสองครั้ง

การล่มสลายลงของกำแพงเบอร์ลิน 30 ปีที่แล้วจึงไม่ใช่การสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ใดๆ แต่เป็นความต่อเนื่องของระบบโครงสร้างครอบครัวในระยะยาวหลายร้อยปี ซึ่งกำลังแสดงผลใหม่ๆ ออกมาในศตวรรษที่ 21

จะมีศีลธรรมหรือความชอบธรรมหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save