fbpx
ในเมืองที่ถูกพระเจ้าทอดทิ้ง Snow(Kar)

ในเมืองที่ถูกพระเจ้าทอดทิ้ง Snow(Kar)

‘นรา’ เรื่อง

 

จนถึงขณะนี้ ผลงานของออร์ฮาน ปามุก นักเขียนตุรกีผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเมื่อปี 2006 แปลเป็นภาษาไทยออกมาแล้ว 4 เรื่อง คือ My Name is Red, Snow, The Museum of Innocence และ A Strangeness in My Mind

ทั้ง 4 เล่ม มีวิธีการเล่าเรื่องที่โดดเด่นผิดแผกกันไป ขณะเดียวกันก็มีจุดร่วมเชื่อมโยงกัน คือเนื้อหาว่าด้วยตัวละครที่ตกอยู่ในใจกลางความขัดแย้งทางสังคม, ชายหนุ่มผู้หมกมุ่นลุ่มหลงในความรักต่อหญิงสาว (ซึ่งมักจะมีเงื่อนไขบางอย่างชวนให้รู้สึกอิหลักอิเหลื่อเป็นอุปสรรคสำคัญ) และการถกสนทนาถึงงานศิลปะแขนงต่างๆ

ผมชอบหมดทั้ง 4 เรื่อง และคิดว่าดีงามใกล้เคียงกัน เลือกไม่ถูกนะครับว่าชอบเรื่องไหนมากกว่าเป็นพิเศษ เหตุที่เลือกเรื่อง “หิมะ” มาเล่าสู่กันฟังมีเพียงแค่เพิ่งหยิบมาอ่านซ้ำอีกครั้ง ความประทับใจสดๆ ร้อนๆ จึงมากกว่าเรื่องอื่น

นิยายเรื่องนี้ให้อรรถรสในการอ่านที่แปลกอยู่สักหน่อย คือ เริ่มต้นด้วยความอึดอัด เคว้งคว้าง กระทั่งว่าน่ารำคาญ ไม่รู้ว่าเรื่องราวจะนำพาผู้อ่านไปสู่ทิศทางใด จากนั้นเมื่อเข้าที่เข้าทางเป็นรูปเป็นร่าง ก็ค่อยๆ เข้มข้นขึ้นตามลำดับ เกิดรสสารพัดหลากอารมณ์ (ทั้งตื่นเต้นตรึงเครียด, เย้ยหยัน, น่าสะพรึงกลัว ฯลฯ) ก่อนปิดฉากด้วยความเศร้าสะเทือนใจ

Snow (ชื่อเรื่องภาษาตุรกีคือ Kar) เป็นผลงานปี 2002 เนื้อเรื่องเล่าถึงเหตุการณ์ช่วงต้นทศวรรษ 1990 ชายหนุ่มอายุ 42 ปีชื่อคา (ชื่อจริงคือ เคริม อะลากูโชลู) เป็นกวีชาวตุรกีที่ลี้ภัยการเมืองไปใช้ชีวิตอยู่ที่แฟรงก์เฟิร์ตเป็นเวลา 12 ปี และเพิ่งเดินทางกลับมายังอิสตันบูลเพื่อร่วมงานศพแม่

คาได้รับมอบหมายจากพรรคพวกที่หนังสือพิมพ์รีพับลิกัน ให้เดินทางไปยังเมืองชายแดนชื่อคาร์ส ติดตามสังเกตการณ์การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีที่นั่น (เนื่องจากผู้ดำรงตำแหน่งก่อนหน้าถูกลอบสังหาร) และหาข้อมูลเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายอย่างต่อเนื่องเหมือนโรคระบาดในหมู่เด็กสาว เพื่อนำมาเขียนเป็นบทความ

เมื่อคาเดินทางไปถึงเมืองคาร์ส หิมะตกหนักต่อเนื่อง จนกระทั่งถนนหนทางที่ติดต่อกับโลกภายนอกถูกตัดขาด กลายเป็นพื้นที่ปิดล้อม (ถึงตรงนี้ บทความชิ้นหนึ่งที่ผมอ่านเจอสรุปใจความว่า Ka in Kar in Kars คาอยู่ในหิมะในเมืองคาร์ส)

เมืองคาร์สที่ใช้เป็นฉากหลังของนิยายเรื่องนี้เป็นเมืองชายแดน (หากเปรียบเทียบคร่าวๆ ว่า ประเทศตุรกีมีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า เมืองนี้จะอยู่บริเวณมุมขวาบนสุด) เคยมีอดีตรุ่งเรืองจากการเป็นสถานีการค้ากับดินแดนจอร์เจีย ทาบริซ และคอเคซัส รวมทั้งการเข้ามายึดครองของรัสเซียเมื่อปี 1878 (มีการก่อสร้างอาคารและถนนหนทางเอาไว้มากมาย) แต่ปัจจุบันเสื่อมโทรมจนแทบจะเป็นเมืองร้าง

สาเหตุแห่งความถดถอย ปรากฏผ่านคำอธิบายคลุมเครือเลือนลางดังนี้

“คาได้ยินคำอธิบายมามากทีเดียวว่าเหตุใดคาร์สจึงตกอยู่ในสภาพยากไร้เช่นนี้ ธุรกิจที่ทำกับสหภาพโซเวียตหมดไปหลังสงครามเย็น บางคนว่าอย่างนั้น ด่านศุลกากรตามชายแดนปิดตัวไป กองโจรคอมมิวนิสต์ซึ่งเคยโจมตีเมืองนี้ในช่วงทศวรรษ 1970 เป็นตัวขับไล่เงินลงทุนออกไปจากเมือง คนรวยก็ถอนทุนย้ายไปลงทุนในอิสตันบูลและอังการาแทน ประเทศตุรกีหันหลังให้คาร์ส เช่นเดียวกับพระผู้เป็นเจ้า…”

มันเป็นเมืองแบบที่ทำให้ ‘ทุกคนอยากตายหรือไม่ก็ไปจากที่นี่’ และตามที่คาเขียนไว้ในบทกวีชิ้นหนึ่งว่า “หากคุณเคราะห์ร้ายถึงขนาดต้องใช้ชีวิตอยู่ที่คาร์ส กดชักโครกตัวเองลงโถส้วมไปซะยังจะดีเสียกว่า”

พูดอีกแบบหนึ่ง ออร์ฮาน ปามุกใช้เมืองคาร์ส ทำหน้าที่เป็นภาพจำลองย่อส่วนของตุรกี และสร้างเหตุการณ์ไม่ปกติอย่างหิมะตกหนักต่อเนื่อง จนกลายเป็นพื้นที่จำกัดปิดล้อม (ในท่วงทำนองเดียวกับนิยายฆาตกรรมสืบสวนสอบสวน) จากนั้นก็บรรจุเรื่องราวสารพัดสารพันลงไปในฉากหลังดังกล่าว

เรื่องแรกสุดที่เป็นต้นตอทำให้เกิดเหตุสืบเนื่องติดตามมามากมายคือ ทางการมีคำสั่งห้ามเด็กสาวสวมฮิญาบไปโรงเรียน เกิดแรงกดดันจากครอบครัว ตำรวจ และครู ส่งผลให้เด็กสาวที่มีศรัทธาต่อศาสนาหลายคนถูกบีบต้อนเข้าสู่มุมอับ ไร้ทางออก จนกระทั่งตัดสินใจฆ่าตัวตาย (ซึ่งผิดหลักคำสอนทางศาสนาอย่างรุนแรง)

การฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นหลายหนหลายวาระคล้ายๆ โรคระบาด เป็นจุดเริ่มต้นเผยให้เห็นถึงปัญหาฝังลึกที่มีมาเนิ่นนาน นั่นคือ ความขัดแย้งระหว่างแนวคิดแบบโลกวิสัยกับความคิดเคร่งศาสนาในแนวทางอนุรักษ์

แนวคิดโลกวิสัย สืบเนื่องมาจากหลักฆราวาสนิยม (Secularism) ซึ่งเชื่อว่าสถาบันการปกครองหรือสถาบันการเมือง และสถาบันศาสนา ‘ต้องเป็นอิสระจากกัน’ เพื่อเป็นหลักประกันว่า กลุ่มหรือองค์กรทางศาสนาใดๆ ก็ตามจะไม่เข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงกิจการของรัฐ ขณะเดียวกัน รัฐเองก็ต้องไม่แทรกแซงกิจการทางศาสนา แนวคิดโลกวิสัยมีมุมมองต่อศาสนาว่าเป็นอุปสรรคต่อความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ เพราะศาสนาเน้นไปยังความเชื่อความศรัทธาที่อยู่นอกเหนือเหตุผลและสิ่งที่พิสูจน์ได้

กล่าวได้ว่า จุดใหญ่ใจความหลักของนิยายเรื่อง “หิมะ” คือ การนำพาผู้อ่านลงลึกไปสู่รายละเอียดของความขัดแย้งนี้ ผ่านตัวละครอย่างคา ซึ่งแปลกแยกไม่เข้าพวก มีความเป็นปัญญาชนที่ผ่านการเล่าเรียนและใช้ชีวิตแบบชาวตะวันตก (แต่ก็มีรากและพื้นเพเป็นตุรกี เกินกว่าจะเรียกว่าเป็นตะวันตกได้เต็มตัว)

เพื่อเสาะหาข้อมูลมาเขียนบทความ คาได้พบปะบุคคลสำคัญหลายๆ ฝ่ายในเมืองคาร์ส ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ, ตำรวจ, เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์, นักการเมืองท้องถิ่น, เจ้าของโรงแรมที่เขาพำนัก ซึ่งมีทัศนะทางการเมืองแบบมาร์กซิสม์, เด็กหนุ่มจากโรงเรียนสอนศาสนา, ผู้นำก่อการร้ายที่เป็นอิสลามหัวรุนแรง, นักแสดงละครสะท้อนปัญหาการเมือง ซึ่งสนับสนุนแนวคิดโลกวิสัย, ทหาร, นักปฏิวัติ และ ผู้นำทางศาสนา

ทุกๆ การพบปะ ล้วนนำไปสู่บทสนทนาถกเถียงถึงข้อขัดแย้งที่มีอยู่ในแง่มุมต่างๆ สารพัดสารพัน

ปัญหาความขัดแย้งที่ปรากฏในนิยายเรื่องนี้ สลับซับซ้อนและไปไกลเกินกว่าจะเป็นแค่เรื่องความเชื่อที่แตกต่างกัน เนื่องจากมีเงื่อนไขปัจจัยห้อมล้อมประกอบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชนชั้น, เชื้อชาติ, อุดมการณ์ทางการเมือง ตลอดจนความขัดแย้งสั่งสมเนิ่นนานจากเหตุการณ์ในอดีต กระทั่งว่าในตัวบุคคลเพียงหนึ่งเดียว ก็ยังมีความลังเลสับสน ไม่มั่นใจในสิ่งที่ตนเองคิดและเชื่อถือศรัทธา (ตัวอย่างเช่น อดีตสามีของนางเอก ซึ่งเดิมทีเป็นพวกไม่เชื่อในพระเจ้า แต่ต่อมาก็เปลี่ยนมาเป็นพวกเคร่งศาสนา หรือเด็กหนุ่มจากโรงเรียนสอนศาสนา ซึ่งหวั่นเกรงหวาดกลัวว่า ตนเองอาจจะมีความคิดว่า พระเจ้าไม่มีอยู่จริง แฝงอยู่โดยไม่รู้สึกตัว ฯลฯ)

ยิ่งไปกว่านั้น ในบางครั้งมุมมองของตัวละครต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ง้างงัดขัดกันเอง เช่น การโดนห้ามสวมฮิญาบนั้นผิดต่อหลักความเชื่อ จึงพยายามฝืนต้านสุดกำลังเพื่อปกปักรักษาศรัทธาต่อพระเจ้า แต่แล้วเมื่อปราศจากทางเลือกอื่นใด กลับตัดสินใจฆ่าตัวตาย ซึ่งละเมิดหลักคำสอนในคัมภีร์กุรอานอย่างรุนแรง กลายเป็นพฤติกรรมที่ถูกมองว่านอกรีตนอกศาสนาอย่างไม่น่าให้อภัย

อีกอย่างหนึ่งที่ปรากฏผ่านนิยายเรื่องนี้ก็คือ แทบทุกฝ่ายความคิด ล้วนประณามเหตุการณ์ฆ่าตัวตายว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง แต่คำอธิบายกลับผิดแผกกันตามมุมมองทางการเมือง และทุกฝ่ายล้วนแล้วแต่มีเหตุผลสนับสนุนสิ่งที่ตนเองเชื่อ

ความไม่ลงรอยประการต่อมา คือกระทั่งในฝ่ายที่มีความเชื่อเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดแบบโลกวิสัยหรือกลุ่มนิยมอิสลาม ก็ยังจำแนกแยกย่อยออกได้หลายฝักหลายฝ่าย มีทั้งทัศนะแบบสุดขั้ว มุ่งไปทางสายกลาง หรือผ่อนปรนประนีประนอม จนแตกแขนงเป็นความขัดแย้งในวงย่อยอีกมากมาย

นิยายเรื่อง “หิมะ” วางตัวเป็นพื้นที่ให้ตัวละครฝ่ายต่างๆ ได้ถกเถียงกัน ได้ตีแผ่ระบายความในใจ โจมตีชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของความคิดอื่น และแก้ต่างข้อกล่าวหาที่มีต่อฝ่ายของตนเอง

พูดโดยรวม “หิมะ” เป็นนิยายการเมืองที่มุ่งแสดงให้เห็นปัญหาความขัดแย้งในสังคมตุรกีอย่างถึงรากถึงโคน ข้อดีก็คือ ออร์ฮาน ปามุก บอกเล่าด้วยการพยายามวางตัวเป็นกลาง ไม่โน้มเอียงเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจนออกนอกหน้าถึงขั้นเป็นการชี้นำ และมีสถานะใกล้เคียงกับคา ตัวเอกของเรื่อง ซึ่ง ‘แปลกแยก’ ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับทุกฝ่าย (หน้า 135 คาพูดถึงตัวเองว่า “เป็นเพราะผมเป็นคนสันโดษ ผมจึงไม่สามารถจะเชื่อในพระเจ้าได้ และเพราะผมไม่อาจเชื่อในพระเจ้าได้ ผมจึงไม่สามารถหลีกหนีความสันโดษได้”) จนเกิดความสับสนลังเลและหวั่นไหวอยู่ตลอดเวลา

เมื่อบวกรวมชั้นเชิงลีลาทางวรรณศิลป์ที่เข้ามารองรับ ทำให้นิยายที่เต็มไปด้วยฉากถกเถียงถึงปัญหาขัดแย้งทางการเมืองอยู่ตลอดเวลาเรื่องนี้ไม่แห้งแล้งแข็งกระด้าง เป็นการประกาศความคิดแบบชูธงรบ แต่เสนอรายละเอียดข้อมูลมากมายให้ผู้อ่านไตร่ตรองอย่างอิสระ

ชั้นเชิงอย่างแรกคือ “หิมะ” เป็นนิยายการเมืองที่มีความเป็นนิยายรักแทรกซ้อนปนอยู่ในนั้น ผมคิดเอาเองแบบยังไม่มีเหตุผลรองรับสนับสนุนที่ดีพอนะครับว่า มันเป็นทั้งเรื่องรักโรแมนติกของชายหนุ่มหญิงสาว ระหว่างตัวเอกคากับอิเป็ค และเป็นเรื่องรักโรแมนติกระหว่างคากับประเทศตุรกี (ถ้าหากจะมองตัวนางเอกอิเป็คเป็นสัญลักษณ์ในเชิงเปรียบเปรย)

โดยนัยนี้ อีกเส้นเรื่องหนึ่งของ “หิมะ” จึงเป็นเรื่องของชายหนุ่มที่ตกหลุมรักหัวปักหัวปำ และมุ่งกระทำทุกอย่างเพื่อให้รักสมหวัง การเดินทางมายังเมืองคาร์สของกวีหนุ่ม ในเบื้องต้นอาจมีจุดมุ่งหมายเพื่อหาข้อมูลสำหรับเขียนบทความ แต่ในบั้นปลายหรือเวลาต่อมา คาแทบจะไม่สนใจเรื่องการเลือกตั้งหรือเหตุการณ์เด็กสาวฆ่าตัวตายเลยสักนิด ความคิดจิตใจทั้งหมดของเขาจดจ่ออยู่เพียงสิ่งเดียว คือ การทำทุกอย่างเพื่อไปให้พ้นจากเมืองนี้ พร้อมๆ กับอิเป็ค และออกนอกประเทศไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยกันที่แฟรงก์เฟิร์ต

การยินยอมทำทุกอย่างเพื่อความรักของคา ส่งผลให้เขาต้องสวมบทบาทเป็นคนกลาง (จนเกือบๆ จะมีสถานะเป็นสายลับสองหน้า) เจรจาต่อรองกับกลุ่มฝ่ายต่างๆ โดยไม่ได้มีจุดหมายเพื่อส่วนรวม แต่ทำทุกสิ่งเพื่อความสุขส่วนตัว

ชั้นเชิงต่อมา คือ วิธีการเล่าเรื่อง ผ่านมุมมองของ ‘ผม’ ซึ่งในเบื้องต้นผู้อ่านไม่ทราบว่าเป็นใคร จากนั้นจึงค่อยเผยให้ทราบในช่วงท้ายๆ จนทำให้เข้าลักษณะ metafiction หรือเรื่องเล่าที่เล่าถึงตัวมันเอง แบบแสดง ‘เบื้องหลังการถ่ายทำ’

ตรงนี้ไม่ได้น่าตื่นเต้นสักเท่าไรหรอกนะครับ แต่การเล่าเรื่องผ่านมุมมองของ ‘ผม’ (ซึ่งเขียนขึ้นในอีกหลายปีต่อมา หลังจากเหตุการณ์ Ka in Kar in Kars ผ่านไปแล้ว) ยังเปิดโอกาสให้ใช้เทคนิคอีกอย่าง คือ ‘การเกริ่นการณ์’ ตามศัพท์วรรณกรรมที่เรียกว่า foreshadow แย้มพรายล่วงหน้าถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอยู่เนืองๆ

ตัวอย่างเช่น “เกิดความเงียบอันตึงเครียดขึ้น ตาคู่สวยของเนจิปมองขึ้นสูง (ตาข้างหนึ่งของเขาจะแหลกเละด้วยกระสุนในอีกสองชั่วโมงกับอีกสามนาทีข้างหน้านี้)”

การบอกกล่าวความเป็นไปล่วงหน้าอยู่เป็นระยะๆ ทำให้ผู้อ่านทราบผลลัพธ์บั้นปลายทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวละครหลักๆ ทั้งหมด พร้อมๆ กันนั้นก็เร่งเร้าให้ผู้อ่านกระหายใคร่รู้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับตัวละคร จึงนำไปสู่ผลลัพธ์เช่นนี้

ผมคิดว่า เทคนิคการเกริ่นล่วงหน้า เป็นการจัดวางองค์ประกอบลำดับเรื่องที่สำคัญในการเร้าอารมณ์สะเทือนใจตอนท้าย

เป็นความสะเทือนใจในท่วงทำนองว่า เราทราบว่ามีโศกนาฏกรรมเกิดขึ้น แต่ตัวโศกนาฏกรรมนั้นไม่ได้สลักสำคัญเท่ากับการแสดงให้เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างคืบเคลื่อนไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร?

เทคนิคต่อมาในนิยายเรื่อง “หิมะ” คือ การเล่นกับความเหลื่อมซ้อนเป็นคู่หลายๆ ชุด (กระทั่งว่า ในตัวนิยายซึ่งผู้เล่าเรื่องเผยความลับให้รู้ล่วงหน้า ก็ยังมีหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวล่วงหน้าก่อนเหตุการณ์จะเกิดขึ้นจริง)  ไม่ว่าจะเป็นเด็กหนุ่มจากโรงเรียนสอนศาสนาชื่อเนจิปกับฟาซิล, ผู้เล่าเรื่องที่ปนเปซ้อนกันระหว่างคากับ ‘ผม’, ความลับสำคัญที่พ้องพานตรงกันของสองสาวพี่น้องคือ อิเป็คกับคาดิเฟ รวมทั้งคู่ตรงข้ามที่เกิดขึ้นตลอดเรื่อง อย่างเช่นความสมจริงกับความประหลาดเหลือเชื่อ (เช่น ฉากแสดงละครถ่ายทอดสดช่วงกลางเรื่องและท้ายเรื่อง)

พ้นจากนี้แล้ว “หิมะ” ยังเต็มไปด้วยเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า ผ่านหลายๆ ฉากที่ตัวละครพูดคุยถกเถียงกัน คู่สนทนาของคามักจะหยิบยกเรื่องเล่าในอดีตของตน, ตำนาน, นิยาย มาเล่าสู่กันฟังเป็นการเทียบเคียงเปรียบเปรย

ข้างต้นที่กล่าวมา ฟังดูเหมือนเป็นนิยายที่มีลีลาการเดินเรื่องซับซ้อนอ่านยาก ซึ่งไม่ตรงกับความจริงนะครับ ในแง่ของการลำดับเล่าเหตุการณ์แล้ว “หิมะ” เป็นนิยายที่อ่านง่ายอ่านสนุก (ผมคิดว่า ความสนุกของนิยายเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่พล็อต ซึ่งเข้าข่ายเดียวกับหนังที่พูดเยอะพูดมาก แอคชั่นน้อย แต่เป็นความบันเทิงในการคล้อยตามบรรยากาศของฉากหลัง, ความเข้มข้นของบทสนทนา และการติดตามความคิดที่ว้าวุ่นสับสนของตัวละครอย่างคา รวมถึงสำนวนโวหารคมคายที่ปรากฏอยู่ตลอดทั่วทั้งเรื่องมากกว่า)

ผมคิดว่า ความยากแท้จริงของนิยายเรื่องนี้อยู่ที่ว่า ผู้อ่านจะสะสางจัดระเบียบความคิดของตนเองอย่างไร? ต่อมุมมองทัศนะหลากหลายที่ตัวละครจำนวนมากได้กล่าวไว้ ในแง่นี้ ผมคิดว่า “หิมะ” มีความยากเข้าขั้นใช้ได้เลยทีเดียว

ความยากต่อมา คือ การตีความบรรดาสัญลักษณ์ต่างๆ โดยเฉพาะหิมะ ซึ่งมีการเน้นย้ำไว้มากสุด ทั้งที่เป็นหิมะแบบรูปธรรม และหิมะที่เป็นชื่อบทกวีเขียนโดยคา ในนิยายมีการนิยามความหมายเกี่ยวกับหิมะหลายฉากหลายตอน ตั้งแต่คำจำกัดความเป็นวิชาการผ่านหนังสือจำพวกสารานุกรม การพรรณนาเปรียบเปรยด้วยลีลาโวหารในงานวรรณกรรม และผ่านบทสนทนา

พูดอีกแบบคือ ออร์ฮาน ปามุกทิ้งร่องรอยเบาะแสให้ผู้อ่านขบคิดเอาไว้กว้างๆ หลายแง่มุม

มีอีกสัญลักษณ์หนึ่ง ซึ่งง่ายและชัดกว่า นั่นคือ การเน้นย้ำอยู่เนืองๆ ถึงเสื้อโค้ตสีถ่านตัวหนาที่คาซื้อจากห้างคอฟฮอฟที่แฟรงก์เฟิร์ต ‘ผม’ ผู้ทำหน้าที่เล่าเรื่องกล่าวไว้ว่า “เราควรตั้งข้อสังเกตตั้งแต่ตอนนี้เลยว่า เสื้อโค้ตขนสัตว์นุ่มนิ่มแสนสวยตัวนี้จะสร้างความละอายใจและอึดอัดให้กับเขาในช่วงหลายวันที่อยู่คาร์ส แต่ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกมั่นคงแก่เขาด้วย”

ผมคิดว่าเสื้อโค้ตดังกล่าว ชี้ช่องนำทางไปสู่แก่นเรื่องของนิยาย นั่นคือ สภาวะของคาที่เผชิญกับการรบราขับเคี่ยวในใจ ระหว่างความปรารถนาอยากจะเป็นตะวันตกกับความกลัวว่าจะสูญเสียความเป็นตุรกีในตนเอง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save