fbpx

เฟซบุ๊กขอลองตลาด Smart Glass กับคำถามว่าแล้วเราจะเชื่อเฟซบุ๊กได้จริงหรือ?

เชื่อว่าทุกคนที่สนใจเทคโนโลยีน่าจะเคยได้ยินเรื่องความล้มเหลวของ Google Glass มาบ้างไม่มากก็น้อย

Google Glass เป็นสินค้าที่ถูกคิดค้นและผลิตโดยบริษัทเสิร์ชเอนจินเจ้าใหญ่ของโลก แต่สุดท้ายล้มไม่เป็นท่าเพราะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าไม่ได้และโปรเจ็กต์ก็จบไป

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2021 มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กสร้างข่าวฮือฮาให้วงการเทคโนโลยีอีกครั้งโดยการเปิดตัว Ray-Ban Stories ที่เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ smart glass หรือแว่นตาอัจฉริยะที่สามารถถ่ายรูป อัดวิดีโอ เล่นเพลง เล่นพอดแคสต์ หรือพูดคุยโทรศัพท์ได้เช่นกัน แน่นอนว่านี่อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการ smart glass เพราะมีอีกหลายบริษัทที่พยายามยึดหัวหาดเป็นเจ้าตลาดนี้ให้ได้อย่าง Bose, Amazon หรือแม้แต่ Snapchat แต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก แล้วทำไม เฟซบุ๊กถึงจะต่างออกไปล่ะ?

อย่างแรกที่ชัดเจนเลยก็คือเฟซบุ๊กเลือกเดินทางต่างจากคนอื่น คือไม่ทำแว่นของตัวเองขึ้นมา แต่ไปร่วมงานกับผู้ผลิตชื่อดังระดับโลกอย่าง Ray-Ban เพราะมีชื่อเสียงด้านนี้อยู่แล้ว เป็นพลังของการทำงานร่วมกันของสองแบรนด์ด้านเทคโนโลยีและแฟชัน เพราะอย่าลืมว่า smart glass ไม่ใช่แค่ต้องมีเทคโนโลยีล้ำๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นแฟชันที่คนต้องสวมใส่ในทุกวันจริงๆ ซึ่งถ้าย้อนกลับไปดูดีไซน์การออกแบบของ Google Glass จะเห็นได้เลยว่ามันดู ‘อนาคต’ เกินไปหน่อย ใส่แล้วรู้สึกว่าวันนี้จะต้องนั่งรถยนต์ลอยฟ้าไปทำงานมากกว่านั่งพี่วินหน้าปากซอย แต่เฟซบุ๊กเลือกที่จะเอาเทคโนโลยีไปผสมกับแฟชันที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว และทำออกมาได้ดีเลยทีเดียว

Mike Issac นักข่าวของ The New York Times เขียนบทความหลังจากที่เอาแว่นตามาลองใส่เดินเที่ยวเหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไปที่ซานฟรานซิสโก เขาเล่าถึงประสบการณ์ว่ามัน “รวดเร็ว เรียบง่าย และไม่ดึงดูดความสนใจของคนอื่น” เขารู้สึกเหมือนถูกดึงให้ไปอยู่ในอนาคตที่เส้นแบ่งระหว่างโลกแห่งความจริงกับเทคโนโลยีเลือนหายไปแล้ว

Smart glass เป็นหนึ่งในสินค้าเทคโนโลยีที่มีคนพูดถึงเป็นอย่างมาก ในนิยายไซไฟส่วนใหญ่ถือเป็นเรื่องปกติ หรือถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่สมัย 20-30 ปีก่อน ถ้าใครเป็นแฟนมังงะจะเห็นอุปกรณ์ที่เบจิต้าใช้เพื่อวัดพลังคู่ต่อสู้ (เรียกว่า Scouter) ก็เรียกว่าเป็นหนึ่งในจินตนาการของ smart glass เช่นเดียวกัน (ที่จริงแล้ว Google Glass อาจจะได้ไอเดียออกแบบมาจากตรงนี้ก็ได้) แต่การเอาจินตนาการและสร้างให้ออกมาเป็นสินค้าจริงก็ไม่ได้เป็นเรื่องง่าย ด้วยความที่เป็นเทคโนโลยีใหม่และดู ‘creepy’ หรือลุกล้ำความเป็นส่วนตัวของคนอื่นในที่สาธารณะมากเกินไป หลายๆ สถานที่อย่างบาร์ในเมืองซีแอตเทิลหรือลาสเวกัสจะไม่อนุญาตให้ผู้สวม Google Glass เข้าไปเลย นอกจากจะถูกต่อต้านในพื้นที่ต่างๆ แล้ว มันยังไม่ได้รับความนิยมมากเพียงพอที่จะดันให้ลูกค้ากลุ่มใหญ่ๆ มาใช้ได้

เหตุการณ์นี้ทำให้นึกถึงเรื่อง smart watch ที่ก่อนหน้า Apple Watch เข้าสู่ตลาดนั้น ไม่ใช่ว่าไม่เคยมี smart watch มาก่อนเลย หลายๆ เจ้าอย่าง Samsung, Garmin, Pebble และ Motorola ล้วนต่างลงสนามกันมาหมดแล้ว แต่ก็ไม่มีใครสามารถจับตลาดกลุ่มใหญ่ได้เลยจนกระทั่ง Apple Watch เข้ามาแล้วทำให้ตลาด smart watch เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มใหญ่จริงๆ ตอนนั้นสิ่งที่ทำให้ Apple Watch ประสบความสำเร็จนอกจากดีไซน์ที่สวยพอประมาณ (แม้จะไม่เหมือนนาฬิกาทั่วไปซะทีเดียว) ใส่แล้วไม่เคอะเขิน ไม่รู้สึกว่าตัวเองดูแปลกประหลาดอะไร และที่สำคัญคือการเชื่อมต่อแบบไม่สะดุดกับ iPhone ที่ทุกคนมีอยู่แล้วในตอนนั้น เป็นการขายสินค้าใหม่ให้ลูกค้าเก่าที่รักในระบบนิเวศของ Apple อยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้เลยทำให้ Apple Watch กลายเป็นสินค้าที่เหล่าสาวก Apple ไปสอยมาได้ไม่ยาก (แม้มันอาจจะไม่ได้ทำงานได้ดีมากนักในตอนนั้นด้วยซ้ำ)

กลับมามองที่เฟซบุ๊ก ตอนนี้เราเห็นแล้วว่าโซเชียลมีเดียมีส่วนสำคัญในชีวิตของหลายๆ คนมากขนาดไหน การไลฟ์สด การแชร์รูปภาพ การบันทึกเรื่องราวเก็บไว้เป็นความทรงจำ สิ่งเหล่านี้คือชีวิตประจำวันของหลายล้านคนบนโลกใบนี้ แต่ปัญหาหนึ่งของการหยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมาถ่ายรูป อัดคลิปวิดีโอ ก็คือการ ‘หยิบสมาร์ตโฟน’ ออกมานั่นแหละ บางทีมันยุ่งยาก หยิบขึ้นมาถ่ายก็จ้องแต่หน้าจอ ไม่เห็น/มีประสบการณ์/รู้สึกกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เรามักได้ยินคนพูดว่าให้ใช้เวลากับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงนั้น เพราะประสบการณ์จะผ่านไปโดยที่เราไม่รู้สึกอะไรถ้ากังวลแต่กับการอัดวิดีโอหรือถ่ายรูป แต่ถ้าใส่แว่น Ray-Ban รุ่นนี้ก็คือกดปุ่มอัดวิดีโอแล้วก็ลืมไปเลย ทำทุกอย่างเหมือนปกติ ใช้เวลากับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้เต็มที่ จะไลฟ์ก็ได้ หรือเก็บไว้ภายหลังมาตัดต่อเพื่ออัปโหลดก็ได้เช่นกัน เป็นการเชื่อมต่อประสบการณ์ของโลกความจริงกับโลกเสมือนที่ไร้รอยต่อเหมือนที่ Mike กล่าวไปข้างต้น

แต่ถึงแม้ว่ามันจะเชื่อมต่อกันได้ดีเยี่ยมขนาดไหน คำถามที่หลายคนอาจจะเป็นกังวลก็คือเรื่องของข้อมูลว่าจะเป็นอย่างไร เพราะทุกคนรู้ดีว่าประวัติความเป็นมาของเฟซบุ๊ก ในการดูแลข้อมูลของลูกค้านั้นอยู่ในโซนสีเทามาโดยตลอด แล้วแบบนี้ถ้าใส่แว่นตาถ่ายวิดีโอในที่สาธารณะ (หรือในพื้นที่ส่วนตัว) มันจะไม่ล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นหรือ สมมติเหตุการณ์ง่ายๆ เลยว่า ผู้ชายคนหนึ่งแอบไปเจอกิ๊กที่สวนสาธารณะ แล้วคุณดันใส่แว่นตาตัวนี้ไลฟ์ออกอากาศว่าวันนี้อากาศดีจังเลยพาน้องหมามาเดินเล่น แต่บังเอิญไปจ๊ะเอ๋เห็นแฟนคนอื่นนั่งจับมือกับสาวอื่นอยู่ ถามว่าล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวไหม แน่นอนเลยว่าละเมิด

ในวิดีโอเปิดตัวของ Ray-Ban Stories ที่มีให้เลือกหลายสิบแบบและสีสัน มีประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องความเป็นส่วนตัวที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กพยายามชี้แจ้งให้เห็นว่าพวกเขาเอาไฟ LED เล็กๆ ติดอยู่หน้าเลนส์กล้องด้านขวามือ เพื่อแสดงให้คนอื่นเห็นว่าเรากำลังถ่ายรูปหรืออัดวิดีโออยู่ เขาบอกว่ามัน “มากกว่าที่สมาร์ตโฟนทั่วไปทำด้วยซ้ำ” ซึ่งในประเด็นนี้เขาพยายามเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนว่าทุกวันนี้คนก็ทำกันอยู่แล้วด้วยสมาร์ตโฟน เราอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำ แต่ประโยคสั้นๆ นั้นก็เป็นดาบสองคมด้วย เพราะที่จริงแล้วเวลาเราอยู่ข้างนอกเห็นคนยกโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูปส่วนใหญ่แล้วเราจะรู้ตัว แต่ว่าถ้าเป็น LED บนขอบแว่นตา คนที่ไม่รู้จักก็อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคืออะไรกันแน่ ไฟส่องทางดวงเล็กๆ หรือเปล่า?

ไหนจะเรื่องการใช้งานด้วยคำสั่งเสียง “Hey, Facebook” ที่เราสามารถสั่งให้แว่นตาที่ใส่อยู่ถ่ายรูปและวิดีโอได้โดยที่ไม่ต้องเอามือออกจากกระเป๋าไปแตะที่ปุ่มเลยด้วยซ้ำ ไม่พอ เฟซบุ๊กยังบอกว่าถ้าเราอยากช่วยให้เจ้าอุปกรณ์ตัวนี้ทำงานได้ดีมากขึ้นในอนาคต ก็สามารถอนุญาตให้แว่นตาอัดเสียงเราเอาไว้ ให้พวกเขาเอาไปถอดภายหลังด้วยมนุษย์ + แมชชีน และเอาไปสอน AI ให้มีความสามารถเพิ่มขึ้นด้วย (ส่วนตัวของผู้เขียนรู้สึกว่ารุกล้ำเกินไป) 

สำหรับเฟซบุ๊กแล้ว นี่อาจเป็นก้าวแรกของการเข้าสู่ยุคของ Metaverse ที่ให้เราสามารถเข้าไปใช้ชีวิตในโลกเสมือนได้อย่างสมจริง และเป็นเป้าหมายที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กได้ประกาศไว้ว่าคืออนาคตของบริษัทที่กำลังจะไปถึง ประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวหรือข้อมูลทั้งหลายนั้นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาแคร์มากเท่าไหร่ เพราะเป็นสิ่งที่พวกเขาเผชิญมาโดยตลอด มีทั้งคนที่ต่อต้าน ไม่เห็นด้วย และคนที่ยอมใช้โดยที่ไม่ได้สนใจ ซึ่งก็น่าจะเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ฟีเจอร์อย่าง Augment Reality มาใส่ในแว่นตารุ่นต่อไปก็คงมีโอกาสได้เห็น

ลองนึกภาพแบบนี้ครับ วันหนึ่งเราอาจจะใส่แว่นตา Ray-Ban ที่ใช้เทคโนโลยี AR ของเฟซบุ๊ก ที่เราสามารถซื้อไอเทมออนไลน์ อย่างเช่นหมวกซานตาคลอสสำหรับช่วงคริสต์มาสใส่ให้ตัวเองในโลกเสมือน ซึ่งคนที่จะเห็นเราใส่หมวกซานตาคลอสก็ต้องใส่แว่นตา Ray-Ban ที่ใช้เทคโนโลยีเดียวกันเท่านั้น หรือเราจะเป็นคนอื่นในโลกเสมือนเลยก็ได้

เทคโนโลยีไม่เคยหยุดนิ่ง แน่นอนว่า smart glass จะเกิดขึ้นไม่วันใดก็วันหนึ่ง ความพยายามของเฟซบุ๊กวันนี้ดูมีความเป็นไปได้มากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา พวกเขาจะทำสำเร็จไหม ไม่มีใครรู้ได้ แต่ถ้าวันไหนเดินออกไปตามท้องถนนแล้วได้ยินคนพูดว่า “Hey, Facebook” หรือเห็นคนใส่แว่นตา Ray-Ban ที่มีไฟ LED แสดงอยู่บนขอบเลนส์ก็สงสัยไว้เลยว่าภาพของเราจะขึ้นไปอยู่บนออนไลน์อย่างแน่นอน…ซึ่งคิดไปคิดมาก็น่ากังวลและน่ากลัวไม่น้อยเลยทีเดียว

ป.ล. (ทำให้นึกถึงหนังสือเรื่อง The Circle ของ Dave Eggers ขึ้นมาเลย)

===========

อ้างอิง

10-Second Videos From Your Sunglasses. Thank Snapchat. – The New York Times

For William Gibson, Seeing the Future Is Easy. But the Past? – The New York Times

Google Glass Picks Up Early Signal: Keep Out – The New York Times

The Circle 

Smart Glasses Made Google Look Dumb. Now Facebook Is Giving Them a Try. – The New York Times

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save