fbpx
สำรวจโครงการ ‘Smart City’ ในแอฟริกา : พัฒนาเมืองด้วยไอที ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว ?

สำรวจโครงการ ‘Smart City’ ในแอฟริกา : พัฒนาเมืองด้วยไอที ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว ?

หลายประเทศในทวีปแอฟริกา กำลังวางแผนเปลี่ยนเมืองใหญ่และแออัดให้เป็นเมืองไฮเทค หรือที่เรียกว่า ‘Smart City’ โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง แก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย ส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจให้เฟื่องฟู

เราจะพาคุณไปดูว่าพวกเขามีวิธีคิดและวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเมืองอย่างไร และโปรเจ็กต์ต่างๆ ที่วางเค้าโครงไว้นั้น มีผลดี (และผลเสีย) ในแง่ไหนบ้าง

 

Transforming Africa : เริ่มต้นที่ ‘รวันดา’

สำหรับหัวเรือใหญ่ที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ก่อนใคร คือประเทศรวันดา จากประเทศที่เคยได้ชื่อว่าเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน เต็มไปด้วยอาชญากรรมและสงคราม ถึงวันนี้รวันดาพัฒนาไปแบบก้าวโดด มีอัตราการเกิดอาชญากรรมต่ำกว่าไทย เป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนง่ายเป็นอันดับที่ 42 ของโลก (ไทยอันดับที่ 46) และมีอินเทอร์เน็ตเร็วที่สุดในแอฟริกา

ปัจจุบันรวันดามีการเปิดเสรีด้านโทรคมนาคม สร้างโครงข่ายใยแก้วนำแสงขนาดใหญ่ ทำให้มีระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 4G ใช้ก่อนใครในภูมิภาค ขณะเดียวกันก็เปลี่ยนระบบการเงิน การธนาคาร รวมถึงการทำธุรกรรมต่างๆ ให้สามารถดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ได้

ส่วนโปรเจ็กต์ถัดไป คือการเปลี่ยนโฉมเมืองหลวง กรุงคิกาลี ให้เป็น ‘Vision City’ ในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผน คิกาลีจะกลายเป็นเมืองไอทีอย่างเต็มรูปแบบ มีอินเนอร์เน็ต 4G LTE ที่เข้าถึงทุกครัวเรือน ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า มีระบบคมนาคมที่ทันสมัย เป็นหมุดหมายอันเย้ายวนใจของบรรดานักลงทุนและนักท่องเที่ยว

ประธานาธิบดี พอล คากาเม่ (Paul Kagame) คือผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันเรื่องนี้ แม้ในด้านการเมืองเขาจะมีความเป็นเผด็จการสูง ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ ในแอฟริกา ทว่าสิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนคือวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เขาเห็นว่านวัตกรรมสมัยใหม่คือปัจจัยที่จะทำให้รวันดา รวมถึงประเทศอื่นๆ ในแอฟริกา เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ในการประชุมหัวข้อ Transform Africa 2017 เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พอลแสดงวิสัยทัศน์ตอนหนึ่งว่า สาเหตุที่แอฟริกายังไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร ก็เพราะว่าเมืองต่างๆ นั้น ‘เล็ก’ และ ‘โดดเดี่ยว’ เกินไป การเปลี่ยนโฉมเมืองให้เป็น Smart City จะนำไปสู่การพัฒนาและทำให้พวกเขาสามารถ ‘เชื่อมต่อ’ กับโลกได้มากขึ้น รวมถึงเป็นโอกาสอันดีในการสร้างความเข้มแข็งระหว่างภาครัฐและเอกชน

นอกจากรวันดา ปัจจุบันมีหลายประเทศในแอฟริกาที่หันมาในความสำคัญกับการพัฒนาเมืองให้เป็น Smart City เช่น ไนจีเรีย กาน่า แอฟริกาใต้ โดยหนึ่งในหมุดหมายสำคัญคือการร่วมมือกันในนาม ‘Smart Africa Aliance’ ที่นำโดยรวันดา ร่วมกับอีก 19 ประเทศในทวีปแอฟริกา สร้างข้อตกลงว่าด้วยการใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาประเทศ

อย่างไรก็ดี แม้แผนการต่างๆ ที่ว่ามานั้นจะฟังดูเข้าท่า แต่ในทางปฏิบัติยังคงมีปัญหาและช่องโหว่อยู่พอสมควร

 

ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว (ของใคร?)           

แม้แนวคิดเรื่อง Smart City จะเริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในปัจจุบัน แต่ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จนั้นกลับมีให้เห็นไม่มากนัก ขณะเดียวกันก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่น่าสนใจอยู่หลายประเด็น

แนนซี่ โอเอนดาล (Nancy Odendaal) ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมและผังเมือง จาก University of Cape Town ตั้งข้อสังเกตว่า แม้คอนเซ็ปต์ของ Smart City จะฟังดูน่าตื่นตาตื่นใจ แต่โดยรวมแล้วมันเป็นการพัฒนาเพื่อผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจมากกว่า ส่วนคำโฆษณาและพรีเซนเทชั่นสวยหรู ก็ดูจะมีไว้เพื่อจูงใจนักลงทุนจากประเทศเป็นหลัก ขณะที่ปัจจัยด้านความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่นั้นแทบไม่มีความสำคัญ

ในกรณีของรวันดา แม้ทุกวันนี้จะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาในหลายๆ ด้าน แต่ประชากรประมาณ 40% ของประเทศยังคงมีรายได้ต่ำ และ 80% ของประชากรในเมืองหลวง คือคนที่มีฐานะยากจนและต้องอาศัยอยู่ในสลัม นี่คือประเด็นใหญ่ที่ทำให้โครงการนี้ถูกตั้งคำถาม ว่าสุดท้ายแล้วการพัฒนาเมืองให้เป็น Smart City จะมีใครที่ได้ประโยชน์บ้าง

ผู้เกี่ยวข้องจึงต้องรีบออกมาชี้แจงว่า การจัดหาที่อยู่ให้ประชากรผู้ยากไร้ถือเป็นหนึ่งภารกิจของโครงการนี้ โดยมีวงเล็บต่อท้ายว่า จะดำเนินการใน ‘เฟสถัดไป’

ส่วนในความเป็นจริง สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในเฟสแรก คือการกำจัดกลุ่มคนที่ไม่พึงประสงค์ให้ออกไปจากพื้นที่ ตั้งแต่พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย ไปจนถึงขอทานและคนไร้บ้าน ใข้มาตรการตั้งแต่การกดดัน ขับไล่ จนถึงการคุมตัวไปไว้ใน ‘ศูนย์พักฟื้น’ นอกเมือง

จากมาตรการดังกล่าว จึงนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ว่าสุดท้ายแล้วคนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ ก็คือกลุ่มชนชั้นกลางในเมืองผู้มีอันจะกิน ขณะที่คนส่วนใหญ่ (ซึ่งมีรายได้ต่ำ การศึกษาต่ำ) อาจไม่ได้รับประโยชน์ หรือกระทั่งไม่มีโอกาสเข้าถึง ‘บริการไฮเทค’ เหล่านี้ด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ การที่รัฐต้องพึ่งพาบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติในการวางระบบต่างๆ ก็ทำให้เกิดข้อกังวลในเรื่องของอิทธิพลและความโปร่งใสในการดำเนินงานด้วย

 

คนกับเมือง เรื่องที่แยกกันไม่ได้

ถึงวันนี้ หลายเมืองในแอฟริกาที่ประกาศว่าจะทำโครงการ Smart City มีแนวโน้มที่จะทำได้ตามแผนล่าช้ากว่ากำหนด โดยมีสาเหตุหลักจากปัจจัยด้านประชากร

ไมร่า ลสาโวว่า (Mira Slavova) ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมือง จาก Gordon Institute of Business Science ชี้ว่าการพัฒนาเมืองด้วยโมเดลแบบนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงก็คือเรื่องคุณภาพของประชากร เธอบอกว่าโครงการ Smart City ในหลายๆ เมืองของแอฟริกา ทำขึ้นโดยละเลยข้อเท็จจริงที่ว่าประชาชนส่วนใหญ่ในภูมิภาคของตนนั้น เป็นคนยากจนและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก

เมื่อเป็นเช่นนี้ แทนที่การเกิดขึ้นของ Smart City จะมีส่วนช่วยให้อัตราการจ้างงานรวมถึงการผลิตต่างๆ เพิ่มขึ้น มันจึงกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม เพราะประชากรส่วนใหญ่ที่หลั่งไหลเข้ามาในเมืองนั้น ไม่ได้มีศักยภาพเพียงพอที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ ซ้ำร้ายยังจะนำมาซึ่งปัญหาความแออัดและอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้ เธอยังเสริมด้วยว่า ทิศทางในการพัฒนาเมืองที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในเงื่อนไขของประเทศที่ยังไม่พัฒนา ควรเริ่มจากการเปลี่ยนเมืองเล็กๆ ให้เจริญขึ้นก่อน ไม่ใช่มุ่งพัฒนาแต่เมืองที่เจริญอยู่แล้ว ซึ่งมีแต่จะเพิ่มความเหลื่อมล้ำ

 

เหนืออื่นใด การเปิดโอกาสให้คนในเมืองหรือพื้นที่นั้นๆ ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนา อาจสำคัญไม่น้อยไปกว่าการพยายามหยิบยื่น (หรือยัดเยียด) สิ่งใหม่ๆ โดยที่พวกเขาไม่ต้องการ

 

อ่านเพิ่มเติม

– บทความ African countries want to turn their poor, overcrowded urban centers into “smart cities” จาก Quartz

– บทความ Transform Africa 2017: Deals Signed At 2017 Transform Africa Summit โดย Afrika54 News

 

สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับรวันดาเพิ่มเติมได้ที่ ในวันที่รวันดาพัฒนาแล้ว! ของ ธีรภัทร เจริญสุข

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save