fbpx
‘Slow Violence – ความรุนแรงอันแช่มช้า’ จากปัญหาสิ่งแวดล้อม

‘Slow Violence – ความรุนแรงอันแช่มช้า’ จากปัญหาสิ่งแวดล้อม

บดินทร์ สายแสง เรื่อง

 

ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมก็เช่นเดียวกับประเด็นปัญหาทางสังคมอื่นๆ ที่มีเรื่องของ ‘ความรุนแรง’ ปะปนอยู่ด้วย ซึ่งความรุนแรงที่เห็นได้ชัด ได้แก่ ‘ความรุนแรงทางตรง’ ซึ่งก็คือความรุนแรงที่ส่งผลกระทบโดยตรงทางกายภาพอย่างเนื้อตัวร่างกาย ลองนึกถึงสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่ผ่านมา เช่น สถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย หรือหากย้อนไปอีกเล็กน้อยก็จะเห็นถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ถึงขั้นการประกาศหยุดงานเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

ขณะที่ปัญหาอย่างไฟป่าหรือปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เป็นปัญหาซึ่งปรากฏออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน แต่ยังมีประเด็นสิ่งแวดล้อมอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ปรากฎอย่างชัดเจนหรือยังไม่เห็นว่าเป็นปัญหา

ผู้อ่านลองพิจารณาถึงกรณีการทำเหมืองแร่ ซึ่งในการทำเหมืองแร่นั้นมีกระบวนการทางกฎหมายที่คอยกำกับอยู่ รวมทั้งยังมีกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) อีกทั้งในขณะเดียวกันกิจการเหมืองแร่ก็สร้างตัวเลขทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศจำนวนไม่น้อย สิ่งเหล่านี้ก็น่าจะเพียงพอที่ต่อการชดเชยความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น (หรือไม่?)

แต่สำหรับชาวบ้านที่ต่อสู้เพื่อคัดค้านการทำเหมืองแร่แล้ว นอกเหนือไปจากการถูกข่มขู่คุกคามหรือการถูกทำร้ายซึ่งเป็นความรุนแรงทางตรงแล้ว การต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่าการทำเหมืองแร่นั้นส่งผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างไรเป็นสิ่งที่ยากยิ่งกว่า เพราะเป็นความรุนแรงในรูปแบบที่ยังมองไม่เห็นหรือไม่อาจที่จะระบุบ่งชี้ลงไปได้อย่างชัดเจน

วิธีการพิสูจน์โดยการเก็บตัวอย่างดิน น้ำ และการเก็บตัวอย่างเลือดของชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบเหมือง เพื่อนำมาตรวจหาการปนเปื้อนของโลหะหนัก เช่น ไซยาไนด์และแมงกานีส ที่อาจมีค่าเกินมาตรฐานนั้น การพิสูจน์ดังกล่าวต้องอาศัยเวลาพอสมควรหรือกินเวลานานหลายปีเพื่อแสดงให้เห็นแนวโน้มของค่าต่างๆ ในขณะเดียวกันการปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินไปเช่นนี้ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อนานวันเข้าก็อาจสะสมและทวีความรุนแรงต่อระบบนิเวศจนยากเกินแก้ไขเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ อากาศ พืช และสัตว์ รวมทั้งสุขภาพของมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อระบบประสาทและสมอง หรือเด็กในครรภ์และการก่อมะเร็งในกรณีของสารหนู เป็นต้น

รูปแบบของความรุนแรงที่ไม่อาจมองเห็นได้อย่างชัดเจนนี้เองที่เป็นกระบวนการที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง รวมทั้งอาจเป็นความเสี่ยงที่ซับซ้อนซึ่งไม่เคยเป็นที่รับรู้ของผู้คนมาก่อน และ/หรืออาจสร้างความไม่มั่นคงแน่นอนในชีวิตให้เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ดี ปัญหาอย่างหลังนี้เป็นลักษณะของความรุนแรงอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งร็อบ นิกสัน (Rob Nixon) ศาสตราจารย์ด้านมนุษยศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัย พรินซ์ตัน เรียกว่า ‘Slow Violence’ โดยมีที่มาจากหนังสือของเขาเรื่อง Slow Violence and the Environmentalism of the Poor ตีพิมพ์เมื่อปี 2011

Slow Violence อาจนิยามอย่างง่ายๆ ว่าหมายถึงความรุนแรงที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ หรือเรียกว่า ‘ความรุนแรงอันแช่มช้า’ หรือหากจะเรียกกันต่อไปในภาษาพูดก็น่าจะหมายถึง ‘ความรุนแรงแบบผ่อนส่ง’ กล่าวคือ เป็นความรุนแรงที่มีลักษณะเป็นกระบวนการของการทำลายแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีรูปแบบที่แผ่ขยายและกระจายตัวอยู่ตลอดทั้งในแง่ของเวลาและพื้นที่ รวมทั้งความรุนแรงชนิดนี้ยังมีกระบวนการของการสะสมตัวและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จุดเน้นของ ‘ความรุนแรงอันแช่มช้า’ ก็คือการขยับขยายมุมมองสมมติฐานต่อความรุนแรงที่ว่า ความรุนแรงเป็นเหตุการณ์หรือการกระทำซึ่งเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใดหรืออย่างฉับพลันทันด่วน หรือระเบิดโพล่งขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว รวมไปถึงเหตุการณ์ประเภทที่สร้างความตื่นเต้นตกใจ เช่น ภัยพิบัติอันเกิดจากเขื่อนแตก เหตุการณ์แผ่นดินไหว หรือสึนามิ เป็นต้น แต่กระนั้นก็ตาม ความรุนแรงไม่ใช่เพียงแค่เหตุการณ์หรือการกระทำที่สร้างความตระหนกตกใจหรือฉับพลันทันทีเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการเพิ่มจำนวนหรือการสะสมตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก การตัดไม้ทำลายป่า ปรากฏการณ์ทะเลกรด รวมไปจนถึงการได้รับสารพิษสะสมอย่างต่อเนื่องจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อย่างเช่น การทำเหมืองแร่แบบเปิด หรือการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชนั่นเอง

แน่นอนว่า ความรุนแรงที่ผู้คนคุ้นเคยมักเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นฉับพลันทันทีทันใดและสร้างความแตกตื่นตกใจ แต่ทว่าสำหรับความรุนแรงอันแช่มช้านั้น จะปรากฏตัวออกมาให้เห็นได้ก็ต่อเมื่อมันสะสมจนเกินกว่าภาวะอิ่มตัว ซึ่งความหมายก็คือ ความรุนแรงได้สะสมตัวจนสูงกว่าขีดขั้นที่ศักยภาพของบริบทแวดล้อมจะสามารถรับเอาไว้ได้ จนในท้ายที่สุดต้องเผยตัวออกมา เช่น การปรากฎของสารโลหะหนักที่มีค่าเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานปะปนในเลือดของชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบเหมือง ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะมีแนวโน้มที่สูงขึ้นทุกปีหากไม่มีมาตรการแก้ไข และนำไปสู่อันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรงในที่สุด

นอกจากการสะสมตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปแล้ว ความรุนแรงอันแช่มช้ายังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระยะหรือห้วงของเวลาด้วย ระยะเวลาของกระบวนการกระจายตัวความรุนแรงออกไปในวงกว้างนี้ส่งผลกระทบต่อการรับรู้และตอบสนองต่อสาเหตุของความทุกข์ยาก ความเจ็บป่วย หรือปัญหาทางสังคมรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ความรุนแรงภายในครอบครัวไปจนถึงสภาวะป่วยทางจิตใจภายหลังจากเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเด็นปัญหาหรือภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น ความรุนแรงอันแช่มช้าจึงพยายามขยายกรอบเกณฑ์ความสนใจไปในเรื่องของระยะเวลา ความเคลื่อนไหว และการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ ไม่เพียงสนใจแต่ความรุนแรงที่แฝงฝังอยู่เท่านั้น แต่ยังสนใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วย ด้วยเหตุนี้ประเด็นเรื่อง ‘เวลา’ (time) จึงกลายมาเป็นปัจจัยที่สำคัญของความคิดเรื่องความรุนแรงอันแช่มช้าไม่น้อยไปกว่าประเด็นเรื่อง ‘ตัวแสดงหรือผู้กระทำ’ (agency)

ไม่เพียงแต่เท่านี้ รูปแบบที่แตกต่างกันออกไปของภัยพิบัติหรือปัญหาสิ่งแวดล้อมย่อมส่งผลต่อการให้น้ำหนักหรือการให้ความสนใจที่มากน้อยต่างกันออกไปอีกด้วย

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใดและสร้างความตื่นตกใจย่อมได้รับน้ำหนักความสนใจมากกว่าเหตุการณ์หรือการกระทำที่มีลักษณะสะสมค่อยเป็นค่อยไปและกินเวลานานๆ เช่นกรณีเหมืองแร่ที่กล่าวเป็นตัวอย่างในที่นี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อความตระหนักรับรู้หรือความใส่ใจให้น้ำหนักของผู้คนในสังคม การทำงานเพื่อตีแผ่ประเด็นเหล่านี้ของสื่อมวลชนหรือนักเคลื่อนไหวรณรงค์ ไปจนถึงการกำหนดนโยบายสาธารณะหรือการที่นักการเมืองจะเข้ามาให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องและจริงจัง กระทั่งถึงที่สุดแล้ว ผู้ที่ขาดซึ่งทรัพยากรด้านต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนอย่าง ‘คนจน’ หรือชาวบ้านธรรมดา ก็คือผู้ที่ได้รับผลกระทบหลักหรือผู้ที่แบกรับภาระหนักที่สุดของความรุนแรงรูปแบบนี้

ท้ายที่สุดแล้ว การตีแผ่ให้เห็นถึงความหลากหลายในมิติของความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางตรง ความรุนแรงทางโครงสร้าง ความรุนแรงทางวัฒนธรรม และความรุนแรงอันแช่มช้านี้ มีความสำคัญในแง่ที่จะทำให้ผู้คนเห็นว่า ความรุนแรงสามารถซ่อนตัวอยู่ในรูปแบบและความสัมพันธ์ที่หลากหลายและยังมีความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ รายล้อมหรือเหลื่อมซ้อนทับอยู่ด้วย

‘ความรุนแรงอันแช่มช้า’ คือการพาเราไปให้เห็นรูปแบบของความรุนแรงที่ถูกแฝงฝังแอบซ่อนไว้ และไม่อาจเห็นมันได้อย่างชัดเจนในเริ่มแรก ขณะเดียวกันก็ยังชี้ชวนให้เราเห็นความสำคัญของการเฝ้าระวังตั้งแต่ระยะของการสะสมตัวของความรุนแรงในลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป

เราจะทำอย่างไรที่จะกระตุ้นความสนใจหรือสร้างความตระหนักรับรู้แก่ผู้คนในสังคมต่อความรุนแรงที่ไม่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที พร้อมๆ กับที่ขณะเดียวกันก็ให้เราพึงตระหนักว่า ‘คนจน’ หรือคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังคือผู้ที่แบกรับภาระหนักที่สุดของความรุนแรง

 


อ้างอิง

Nixon, R. (2011). Slow Violence and the Environmentalism of the Poor. Harvard University Press.

 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018