fbpx
'สังคมนอนน้อย' ในมิติเศรษฐกิจ กับเทรนด์ธุรกิจเปิด 24 ชั่วโมง

‘สังคมนอนน้อย’ ในมิติเศรษฐกิจ กับเทรนด์ธุรกิจเปิด 24 ชั่วโมง

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรื่อง

ชลธร วงศ์รัศมี ภาพ

ยามค่ำคืนอันอุดมด้วยแสงไฟ คุณได้หลับอย่างเต็มอิ่มครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ?

การพักผ่อนไม่เพียงพอดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมสมัยใหม่ โดยเฉพาะคนทำงานที่วิ่งตามความเชื่อว่า ‘The more you work, the more you earn.’ หรือ ‘ยิ่งทำงานหนัก ยิ่งได้รับผลตอบแทน’ จนถึงขั้นยอมทำลายห้วงนิทรารมณ์ของตนเอง

ทว่าการแลกเปลี่ยนนั้นอาจไม่คุ้มค่าอย่างที่คิด ทั้งต่อตนเองและต่อส่วนรวม

 

ยิ่งนอนน้อยเท่าไร ยิ่งทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่

จากงานวิจัยของแรนด์ยุโรป ในปี 2016 พบว่าการนอนหลับไม่เพียงพอของคนทำงาน ทำให้สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศนับเป็นเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

การสูญเสียนี้เป็นผลมาจากประสิทธิภาพการทำงานที่ลดต่ำลงเมื่อคนพักผ่อนน้อย ผลการศึกษาระบุว่าผู้นอนหลับน้อยกว่า 6 ชั่วโมงจะมีประสิทธิภาพการทำงานลดลง 2.4% ขณะที่ผู้นอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมง ลดลง 1.5% เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ได้นอนอย่างเพียงพอตามมาตรฐาน 7-9 ชั่วโมง

คนนอนหลับไม่เพียงพอมักมีปัญหาด้านสมาธิในการทำงาน ก่อความผิดพลาดโดยไม่รู้ตัว ความคิดสร้างสรรค์ต่ำลง ส่งผลต่ออารมณ์ การตัดสินใจ เพิ่มความเสี่ยงเรื่องได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน และแน่นอนว่าการนอนน้อยเป็นบ่อเกิดของปัญหาสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาว บุคคลเหล่านี้จึงมีแนวโน้มลาป่วย เสียชีวิต หรือกระทั่งดูเหมือน ‘ทำงาน’ แต่ไม่ได้งาน

มีสถิติชี้ว่า ผู้นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง สูญเสียเวลาที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ราว 6 วันต่อปี นอกจากนี้ งานวิจัยซึ่งเผยแพร่โดยมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ยังกล่าวถึงผลเสียหายทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์จากประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงรายบุคคลว่า ผู้พักผ่อนน้อยจะสูญเสียโอกาสที่จะสร้างรายได้สูงถึง 2,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน ต่อปี

ยิ่งรายได้น้อย ยิ่งได้นอนน้อย

ข้อค้นพบที่น่าสนใจคือประชากรในแถบเอเชีย ทรมานกับการนอนหลับไม่เพียงพอมากกว่าประชากรในแถบตะวันตก จากสถิติขององค์การนอนหลับโลก  ในปี 2013 เผยว่า จำนวนผู้นอนหลับต่ำกว่า 7 ชั่วโมงในญี่ปุ่นมีมากถึง 66% ของประชากรทั้งหมด เอาชนะมหาอำนาจอย่างอเมริกา อังกฤษ และเยอรมนี จึงไม่น่าแปลกใจที่ญี่ปุ่นจะกลายเป็นประเทศผู้สูญเสียมูลค่า GDP มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยรายงานแรนด์ยุโรประบุว่า ปี 2016 ญี่ปุ่นสูญเสีย GDP ไปมากถึง 2.92% จากเดิม 1.86% คิดเป็นเงินกว่า 138 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

ยิ่งรายได้น้อย ยิ่งได้นอนน้อย มูลค่าทางเศรษฐกิจที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วต้องสูยเสียไปกับแรงงานผู้นอนหลับไม่เพียงพอ

จากผลการศึกษาที่ว่ามา ล้วนชี้อย่างเป็นเอกฉันท์ว่า หากต้องการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ประชาชนทุกคนควรได้นอนหลับอย่างเต็มอิ่ม

แต่ในมุมกลับกัน ปัจจัยด้านเศรษฐกิจกลับถูกสงสัยว่าเป็นตัวการอันดับแรกๆ ที่บ่อนทำลายคุณภาพการนอนของคนในสังคม มีการศึกษาเกี่ยวกับมิติของการพักผ่อนที่สัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจำนวนไม่น้อย ชี้ว่าคนจนถูกปล้นชิงเวลาในการนอนมากกว่าคนรวย

ผู้นอนหลับต่ำกว่า 7 ชั่วโมงในญี่ปุ่นมีมากถึง 66% ของประชากรทั้งหมด

หนึ่งในนั้นคืองานวิจัยของมหาวิทยาลัยการแพทย์แห่งชิคาโก (Chicago Medicine) ซึ่งเผยแพร่ใน American Journal of Epidemiology (2006) เผยว่า ผู้มีรายได้สูงมีเวลานอนหลับมากกว่าผู้มีรายได้ต่ำ เนื่องจากฝ่ายหลังมักถูกกดดันให้ทำงานหลายประเภทและต้องทำงานข้ามคืน การทำงานหนักนอกจากทำให้อดนอน ยังก่อให้เกิดความเครียดสูงจนอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวลในเวลาพักผ่อน และเกิดโรคทางกายอื่นๆ ตามมา เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นโรคที่พบได้ทั่วไปในหมู่ผู้มีรายได้น้อย

หนังสือ American Dreamers โดย Kelly Bulkeley ระบุว่าผู้มีรายได้น้อยเป็นโรคนอนไม่หลับมากกว่าผู้มีรายได้สูง สอดคล้องกับผลการวิจัยของมหาวิทยาลัย Case Western Reserve ที่กล่าวว่า เมื่อผู้มีสถานภาพในสังคมต่ำพบปัญหาการนอน เช่น มีอาการหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) ส่วนมากไม่ยอมเข้ารับการรักษา เพราะกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ทำให้ปัญหาเหล่านั้นสั่งสมเรื้อรัง เช่นเดียวกันกับผลการศึกษาของ ศูนย์ศึกษาสังคมวิทยาการนอน แห่งมหาวิทยาลัย Surrey (The Center for the Sociology of Sleep) โดย Sara Arber เป็นอีกเสียงยืนยันว่าผู้มีรายได้ต่ำมีแนวโน้มพบการนอนหลับไม่เต็มอิ่มสูง

หนังสือ American Dreamers เขียนโดย Kelly Bulkeley กล่าวถึงเรื่องการตีความปัญหาสังคมจากการนอนและความฝัน
หนังสือ American Dreamers เขียนโดย Kelly Bulkeley กล่าวถึงเรื่องการตีความปัญหาสังคมจากการนอนและความฝัน

 

อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปเรื่อง ‘ยิ่งจน ยิ่งไม่ได้นอน’ ยังมิอาจสรุปได้ทันที เมื่องานวิจัยในปี 2016 โดย สำนักงานสถิติแรงงานในสหรัฐอเมริกา (The Bureau of Labor Statistics) เผยว่าบุคลากรในสายงานกฎหมาย ซึ่งเป็นอาชีพที่ตามค่าเฉลี่ยแล้วหาเงินได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ คือ 1,833 ดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์ กลับมีเวลานอนน้อยที่สุด เฉลี่ยวันละ 5.6 ชั่วโมงเท่านั้น

นอกจากนี้ งานวิจัยยังชี้ให้เห็นว่าตำแหน่งงานยิ่งสูง ยิ่งได้รับเงินมาก ยิ่งมีเวลานอนหลับน้อยลง 72% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า จากสถิติของกลุ่มคนทำงานระดับผู้จัดการและ CEO กว่า 500 คน กล่าวว่าพวกเขาได้นอนเพียง 6 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น

ปรากฏการณ์อดนอนเพื่อทำงานจึงไม่ได้เกิดขึ้นในหมู่ผู้มีรายได้ต่ำเพียงฝ่ายเดียว กระทั่งกลุ่มนายจ้างก็ยอมนอนหลับต่ำกว่ามาตรฐานที่เพียงพอต่อร่างกายมนุษย์ เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของตัวเองเช่นกัน ทุกชนชั้นจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการก่อร่างสร้างพฤติกรรมเบียดบังการนอนที่แพร่หลายอยู่ ณ ขณะนี้

ยิ่งทำงานดึกมากเท่าไร ยิ่งหลับได้ยาก

แน่นอนว่าต้นเหตุของการนอนน้อยข้อหนึ่ง ย่อมต้องมีเทรนด์การทำงานของคนยุคปัจจุบัน คือการหอบงานกลับไปทำที่บ้านหลังเสร็จสิ้นเวลาประจำการในออฟฟิศรวมอยู่ด้วย

จากผลสำรวจของ สำนักสถิติแรงงานแห่งสหรัฐอเมริกา (The Bureau of Labor Statistics) เผยว่าคนทั่วไปทำงานเฉลี่ย 4.5 ชั่วโมง ที่บ้านต่อสัปดาห์ และมีประชากรวัยทำงานถึง 20% ใช้เวลาทำงานมากกว่าวันละ 10 ชั่วโมง พฤติกรรมนำงานกลับไปทำที่บ้าน มีสาเหตุจากผู้คนเริ่มรู้สึกว่าไม่ได้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพในเวลาทำการปกติ ไม่สามารถบริหารจัดการเวลาและปริมาณงานได้อย่างเหมาะสม

แต่คงไม่มีใครคาดคิดว่า การทำงานตอนกลางคืนเพิ่มขึ้น 1 ชั่วโมง จะส่งผลต่อเวลานอนหลับสนิทลดลง 10 นาที และเมื่อสั่งสมยาวนาน ร่างกายจะรู้สึกอ่อนล้า ประสิทธิภาพการทำงานต่ำลง ทำให้คนต้องหยิบงานติดมือกลับบ้านซ้ำแล้วซ้ำเล่า วนเวียนเป็นวัฏจักรเหน็ดเหนื่อยอย่างไม่รู้จบ

ทีละเล็ก ทีละน้อย มนุษย์เริ่มเปลี่ยนแปลงวิถีการทำงานจากกลางวันไปสู่กลางคืน เริ่มต้นด้วยการทำงานล่วงเวลามากขึ้น นอนดึกยิ่งขึ้น จนสุดท้ายพฤติกรรมทำงาน ‘ครึ่งค่อนคืน’ ก็พัฒนากลายเป็นทำงาน ‘เต็มคืน’ ที่เรียกว่า ‘shift work’

การทำงานตอนกลางคืนเพิ่มขึ้น 1 ชั่วโมง จะส่งผลต่อเวลานอนหลับสนิทลดลง 10 นาที

นิยามของ shift work คือการทำงานนอกเหนือเวลา 8.00-18.00 น. ซึ่งหมายถึงคนจะทำงานตอนกลางคืนเป็นหลัก และสลับไปพักผ่อนตอนกลางวันแทน แม้ว่าคนกลางคืนจะได้นอนทดแทนยามกลางวัน แต่การทำงานติดต่อกันในช่วงเวลาพักผ่อนทำให้หลับยาก และหลับสนิทน้อยลงเนื่องด้วยสิ่งรบกวนตามธรรมชาติเช่น แสงแดด หรือเสียงจากกิจกรรมต่างๆ ในตอนกลางวัน หากบ่มเพาะเนิ่นนาน บางรายจะพบภาวะนอนหลับมากเกินไประหว่างวัน (Hypersomnia) บางรายมีประสิทธิภาพการทำงานลดลง มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุด้านยานยนต์ เพิ่มโอกาสเกิดโรคสมองเสื่อมและโรคมะเร็ง

แม้การทำงานกลางคืนจะส่งผลต่อสุขภาพอย่างใหญ่หลวง แต่รูปแบบเช่นนี้มีแนวโน้มได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ สมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา (American Psychiatric Association) คาดการณ์ว่ามีแรงงานจำนวน 1 ใน 5 ทั่วโลกที่ทำงานในผลัดเวลาไม่ปกติ และแรงงาน 16-20 เปอร์เซ็นต์  ‘เลือก’ ทำงานยามค่ำคืนโดยเฉพาะ

ธุรกิจ 24 ชั่วโมง เพื่อคนตื่นนาน 

ธุรกิจ 24 ชั่วโมง เพื่อคนตื่นนาน 

การเติบโตของพฤติกรรมทำงานตอนกลางคืน ทั้งครึ่งค่อนคืน และทำเต็มๆ คืน ทำให้ช่วงเวลานิทราอันเงียบสงบได้จากเราไป แลกกับค่ำคืนที่เต็มไปด้วยแสงไฟและสีสันของธุรกิจ 24 ชั่วโมง ซึ่งแพร่หลายเพิ่มขึ้นในสังคม ทั้งร้านสะดวกซื้อ โรงพยาบาล รวมถึงคาเฟ่และ co-working space

“เหตุผลในการเปิด 24 ชั่วโมง เพราะเมื่อ 3 ปีที่แล้วยังไม่มีคู่แข่งในพื้นที่นี้ ซึ่งจริงๆ ตอนนี้ก็ยังไม่มีครับ และส่วนตัวผมชินกับชีวิตกลางคืนอยู่แล้ว ผมเป็นคนตื่นกลางคืน นอนกลางวัน ตั้งแต่ก่อนทำธุรกิจ”

เสียงหัวเราะดังคละเคล้าเมื่อ จิฬาชัย พิทยานนท์ หรือ แม็ค เล่าถึงเบื้องหลังของร้าน ‘Let’s Say Café’ ที่เขาเป็นผู้จัดการ

คาเฟ่แห่งนี้เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงตลอด 7 วันในย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เกิดขึ้นด้วยไอเดียการเป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์ ทำงานร่วมกันของกลุ่มคนนอนดึก โดยมีอาหารหลากหลายเมนูให้กินเอาอิ่มจริงจัง มีเครื่องดื่มมากมายให้เลือก มีสิ่งอำนวยความสะดวกเช่นคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต ปลั๊กไฟ เครื่องปรินท์ เครื่องถ่ายเอกสารครบครัน มีห้องสำหรับเล่นบอร์ดเกม พื้นที่จัดกิจกรรม และบรรยากาศเป็นกันเองเหมือนกำลังนั่งอยู่ใน ‘บ้านเพื่อน’

บรรยากาศชั้น 2 ของ Let's Say Café ที่เป็นห้องเล่นบอร์ดเกม
บรรยากาศชั้น 2 ของ Let’s Say Café ที่เป็นห้องเล่นบอร์ดเกม

ช่วงหกโมงเย็นไปจนถึงสี่ทุ่ม เป็นช่วงที่ ‘บ้านเพื่อน’ แห่งนี้คึกคักไปด้วยกลุ่มลูกค้า ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษา ที่มาจับจองพื้นที่อ่านหนังสือ และคนทำงานซึ่งแม็คบอกว่าเคยมาอยู่ในร้านติดต่อกัน 2-3 วันเพื่อเร่งทำงานเลยก็มี

“ส่วนตัวเห็นว่าคนกรุงเทพฯ ไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง ชีวิตอยู่หอพักก็ทำงานได้ แต่ถ้าเรามีตัวเลือกช่วยให้เราทำงานแล้วรู้สึกว่าได้งานมากกว่า สบายกว่า การออกมาคาเฟ่ทำให้เปลี่ยนบรรยากาศ สะดวกสบายเรื่องอาหารเครื่องดื่ม และทำงานพร้อมเพื่อนได้ด้วยถ้าเป็นงานที่ต้องทำร่วมกัน”

นอกจากข้อจำกัดด้านที่อยู่อาศัยอันคับแคบ ไม่เหมาะแก่การทำงานของคนในเมืองใหญ่ สภาพเศรษฐกิจซึ่งไม่สู้ดีนักในปัจจุบันเป็นอีกปัจจัยที่แม็คคิดว่าทำให้ผู้คนต้องทำงานตอนกลางคืนเพิ่มขึ้น

“ผมว่ามันเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผมมีลูกค้านะ เพราะทำให้เขาต้องขยันขึ้น ดิ้นรนหาสถานที่ที่สามารถจัดการงานให้เสร็จ เพื่อให้เขาได้งานได้เงินมากขึ้น” เจ้าของธุรกิจเปิด 24 ชม. กล่าว

จิฬาชัย พิทยานนท์ (แม็ค) สวมเสื้อยืดของร้านที่พิมพ์สโลแกนร้าน 'Always be here for you 24 Hours' ย้ำจุดยืนการเป็นเพื่อนคนไม่นอน
จิฬาชัย พิทยานนท์ (แม็ค) สวมเสื้อยืดของร้านที่พิมพ์สโลแกนร้าน ‘Always be here for you 24 Hours’ ย้ำจุดยืนการเป็นเพื่อนคนไม่นอน

การทำงานยามค่ำคือทางเลือก

 

“สำหรับเรา การนอนกลางคืนเป็นทางเลือก การนอนกลางวันก็เป็นทางเลือก ทุกอย่างเป็นทางเลือกทั้งหมด”

กัญญจันทร์ สะสม หรือ ต่าย คือผู้ดำเนินธุรกิจร่วมกับแม็ค และเป็นผู้จัดการร้าน Let’s Say Café อีกคนหนึ่ง เธอกล่าวว่าเธอเป็นผู้หลงใหลในความโรแมนติกยามราตรี และไม่คิดว่าการนอนกลางวัน ทำงานกลางคืน จะเป็นผลจากการ ‘ถูกบังคับ’ แต่เป็นผลมาจากการ ‘เลือกปรับตัว’ ของบุคคลกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปเพื่อสร้างวิถีชีวิตของตนเอง

“คนเราไม่เหมือนกัน เจเนอเรชันอาจบอกความเหมือนได้แค่ในบางมิติ แต่แท้จริงแล้วมนุษย์ไม่เคยถูกประกอบสร้างเหมือนกันเลยแม้แต่คนเดียว คำว่าชีวิตที่ดีของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันด้วย” ต่ายกล่าวว่านิยาม ‘ชีวิตที่ดี’ ของเธอมีความหลากหลายพอๆ กับนิยามของ ‘การพักผ่อน’ ที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในกรอบของ ‘การนอน’

“บางทีคนทำงานกลางคืนที่ร้านเราก็พักผ่อนนะ เพียงแค่ไม่ได้นอน อาจดูซีรีส์ เทรดหุ้น เล่นเกม นั่นอาจเป็นเวลาพักผ่อนของเขา คนเราไม่มีใครพักผ่อนด้วยการนอนอย่างเดียว นอนคือพักผ่อนร่างกาย แต่ยังมีจิตใจ อารมณ์ข้างในอีกที่ต้องการพักผ่อน ซึ่งแต่ละคนต้องการไม่เหมือนกัน”

กัญญจันทร์ สะสม (ต่าย) ผู้จัดการร้านซึ่งชื่นชอบทุกอย่างที่เปิด 24 ชม. ไม่ว่าจะเป็นร้านแม็คโดนัลด์หรือฟู้ดแลนด์ จนทำธุรกิจ เปิด 24 ชม. ของตัวเอง
กัญญจันทร์ สะสม (ต่าย) ผู้จัดการร้านซึ่งชื่นชอบทุกอย่างที่เปิด 24 ชม. ไม่ว่าจะเป็นร้านแม็คโดนัลด์หรือฟู้ดแลนด์ จนทำธุรกิจ เปิด 24 ชม. ของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ต่ายไม่ปฏิเสธการนอนกลางคืน ด้วยเหตุผลที่น่าสนใจคือ เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ไม่เอื้อต่อการนอนกลางวันสักเท่าไหร่  “ถ้าคุณจะนอนกลางวันก็ต้องจัดการบรรยากาศรอบตัวให้สนับสนุนการนอนได้ มืดสนิท ไม่มีเสียง เพราะการนอนกลางวันในเมืองแบบนี้มันนอนยากจริงๆ การจัดบรรยากาศแบบนั้นยาก มันง่ายกว่าที่จะพักผ่อนในเวลาที่ควรพักผ่อน”

ทำไมคนเมืองเลือกตื่นกลางคืน? ต่ายคิดว่าเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบงานในปัจจุบัน  “คนเรามีอาชีพหลากหลายขึ้น มีงานที่ทำเวลาไหนก็ได้เพิ่มมากขึ้น ใช้เวลายืดหยุ่นได้มากขึ้น เมื่อมีคนเหล่านี้ พื้นที่ที่จัดไว้ให้คนกลางคืนก็เพิ่มขึ้นไปด้วย และเมื่อพื้นที่เพิ่มขึ้น มันก็ง่ายต่อการใช้เวลาตอนกลางคืนในสถานที่ที่ไม่ใช่ร้านเหล้า”

บุคคลที่ช่วยยืนยันข้อสังเกตของต่าย คือ สุทธิชัย บุญช่วย ฟรีแลนซ์สายกราฟิกดีไซน์เนอร์ ผู้นำงานชิ้นใหม่ของเขามานั่งทำที่ Let’s Say Cafe ระหว่างรอให้การจราจรช่วงเย็นวันศุกร์คล่องตัวขึ้นสักนิด เขายอมรับว่าชื่นชอบการทำงานตอนกลางคืนเพราะมีบรรยากาศเงียบสงบ โดยเลือกตื่นสายกว่าคนอื่นๆ เพื่อพักผ่อนให้เพียงพอ

สุทธิชัย บุญช่วย ฟรีแลนซ์หนุ่ม ผู้หาที่นั่งทำงานเพื่อเลี่ยงรถติดช่วงเย็นวันศุกร์
สุทธิชัย บุญช่วย ฟรีแลนซ์หนุ่ม ผู้หาที่นั่งทำงานเพื่อเลี่ยงรถติดช่วงเย็นวันศุกร์

“ผมคิดว่าเป็นทางเลือกที่ดี มีที่ให้เปลี่ยนบรรยากาศ สมมติว่าเราไม่รู้ว่าจะไปที่ไหนก็ยังมีที่นี่ บางทีผมออกมาเจอลูกค้า แล้วรู้สึกว่าการกลับบ้านในช่วงเวลานี้รถติดมาก ก็จะมองหาที่นั่งทำงานที่มันเกิดประโยชน์มากกว่าไปรอรถบนถนน”

แม้ว่าปกติจะทำงานอยู่บ้านเป็นหลัก แต่สุทธิชัยกล่าวว่าเขาสนับสนุนธุรกิจคาเฟ่เปิด 24 ชั่วโมง เพราะเป็นทางเลือกที่ดีของคนทำงานกลางคืน

ผู้คนไม่อยู่บ้านในตอนกลางคืนด้วยหลายเหตุผล รวมถึงเหตุผลหนึ่งที่ต่ายมองเห็นคล้ายแมกซ์คือ “เดี๋ยวนี้ที่อยู่อาศัยขนาดเล็กลง เล็กจนไม่สามารถเป็นห้องนั่งเล่นหรือห้องทำงานอีกแล้ว เวลาเราอยู่ในห้องเล็กๆ เราเห็นเตียงหรือทำงานบนเตียง มันเป็นบรรยากาศที่ไม่เอื้อต่อการทำงาน พอต้องการพื้นที่แบบห้องนั่งเล่น หรือห้องทำงานก็ทำให้คนออกมาที่ร้าน”

เราลองถามเธอว่า เธอเชื่อในเรื่อง work-life balance หรือการจัดสมดุลชีวิตหรือไม่ ในฐานะเจ้าของธุรกิจบริการ 24 ชั่วโมง ต่ายกล่าวว่าเธอเชื่อเรื่องสมดุลชีวิต แต่เธอมีนิยามคำว่า ‘สมดุล’ ของตัวเธอเอง

“มันไม่มีคำว่าทำงานเยอะเกินไป ถ้าบางคนคิดว่าชีวิตต้องทุ่มเทเพื่อให้บางสิ่งที่สุดยอด นั่นก็เป็นสิทธิของเขา เรารู้ว่าการทำงานอย่างเดียวโดยไม่เช็กสมดุลชีวิตตัวเอง อาจไม่ได้ผลลัพธ์เป็นความสำเร็จเสมอไป work-life balance ในแบบของเรา คือเราเป็นคนทำงานหนัก แต่เรากระตือรือร้นที่หาเวลาว่างและทำสิ่งที่เรามี passion ตลอดเวลา”

สุดท้ายแล้ว ไม่ว่ายามค่ำคืนอันอุดมด้วยแสงไฟ หรือยามกลางวันอันเปี่ยมด้วยแสงแดด สิ่งที่ผู้คนกำลังแสวงหาอาจจะเป็นแค่เวลาเว้นว่างจากงาน เพื่อเติมพลังแก่จิตใจแสนอ่อนล้าให้อิ่มเต็มในแบบของตัวเองก็เป็นได้.

หมายเหตุ  :  ย้อนรอยอ่านงานเขียนเกี่ยวกับโรคนอนไม่หลับสองตอนก่อนหน้า ว่าด้วยโรคนอนไม่หลับในทางการแพทย์ และเปิดประสบการณ์จริงผู้มีอาการนอนไม่หลับได้ใน

ตอนที่ 1  นอนไม่หลับ : โรคแห่งยุคสมัยในมุมมองแพทย์และนักจิตวิทยา 

นอนไม่หลับ : โรคแห่งยุคสมัยในมุมมองแพทย์และนักจิตวิทยา

ตอนที่  2 โลกของคนนอนไม่หลับ

โลกของคนนอนไม่หลับ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save