เอกศาสตร์ สรรพช่าง เรื่อง
แฟนผมมีปัญหาเรื่องการนอน
ผมค้นพบเรื่องนี้โดยบังเอิญจากเสียงกรน ผมสังเกตว่าเสียงไม่สม่ำเสมอ หายใจเป็นเฮือกๆ เหมือนคนกำลังหมดลมตอนดำน้ำที่ต้องรีบว่ายขึ้นมาสูดอากาศเข้าปอด บางทีก็กรนแบบไม่เป็นจังหวะ ก็เลยลากไปตรวจที่คลินิกการนอน (การไปนอนให้คนอื่นดูนั้นแพงเอาเรื่อง) และก็แจ็กพ็อต! ว่าเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea)
โรคนี้ถ้าย้อนไปสัก 10 ปีก่อนคงไม่มีใครรู้จักเท่าไหร่ แต่ตอนนี้พบว่าคนรอบข้างผมหลายๆ เจออาการแบบนี้และคลินิกที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาเรื่องการนอนก็เปิดเต็มไปหมด เรียกได้ว่าเกือบทุกโรงพยาบาลใหญ่ๆ มีแผนกนี้แยกออกมาเป็นเรื่องเป็นราวเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้บรรดานกฮูกทั้งหลาย ที่อยากนอนเต็มอิ่ม แต่ไม่เคยทำได้ นั่นน่าจะพอติ๊งต่างได้ไหมว่า คนไทยเองเริ่มมีปัญหาเรื่องการนอนไม่พอมากขึ้นทุกที?
เหตุการณ์นี้ทำให้ผมหันมาสนใจเรื่องการนอนหลับและกลไกการทำงานของการนอนและยิ่งหาก็ยิ่งเจอว่าการนอนเป็นเรื่องสำคัญมากในชีวิตของคนเรา เรียกว่ามากกว่าที่เราคิด และกล้าพูดได้เลยว่าโลกเราอาจดีกว่านี้หากมนุษย์เราให้ความสำคัญกับเวลานอนเท่ากับเวลาตื่น
โทมัส เอดิสัน เคยบอกว่าการนอนเป็นเหมือนสัตว์ร้ายที่ทำลายความก้าวหน้า ไอน์สไตน์ก็เป็นคนที่นอนแค่วันละไม่ถึง 5 ชั่วโมง จอมพล ป. พิบูลสงครามเอง ก็บอกว่าให้เราตื่นเถิดชาวไทย จะมามัวหลับกันทำไม คนญี่ปุ่นเองถึงกับมีศัพท์ที่เรียกการงีบหลับว่า ‘อิเนมูริ’ หมายถึง การหลับอย่างโจ่งแจ้ง เป็นความหมายเชิงบอกว่าการนอนงีบหลับเล็กๆ น้อยๆ ในที่ทำงานเพราะทำงานหนักเป็นเรื่องที่สามารถทำให้คุณก้าวหน้าได้ (บ้าไปแล้ว!)
ทุกวันนี้คนเรานอนน้อยลงกว่าคนเมื่อ100 ปีก่อนมากนะครับ อย่างน้อยๆ ก็หายไปคืนละประมาณ 2 ชั่วโมง และสำหรับหลายคน การนอนให้พอเป็นกิจกรรมราคาแพงที่ต้องจ่าย
ไมเคิล ฟิงเกิล เขียนหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อ The Stranger in The Wood เรื่องจริงของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่หนีเข้าไปในป่าและใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังในป่านานถึง 27 ปี สิ่งที่เขาค้นพบและบอกกับทุกคนว่าหากอยากบรรลุซึ่งสัจธรรมที่แท้จริงอย่างหนึ่งของชีวิต ให้เริ่มจากการ ‘นอนให้พอ’
มนุษย์เริ่มศึกษาเรื่องการนอนในมุมมองที่เป็นวิทยาศาสตร์เมื่อไม่นานมานี้เองนะครับ คือปี 1924 คุณหมอฮันส์ แบรเกอร์ ชาวเยอรมัน คิดค้นเครื่องวัดคลื่นสมองสำเร็จ และถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาเรื่องคลื่นสมองของคนเราขณะนอนหลับว่ามันทำงานอย่างไร เพราะก่อนหน้านั้นมนุษย์อย่างเราๆ ก็รู้แค่ว่าการนอนเป็นกลไกอย่างหนึ่งของธรรมชาติที่สิ่งมีชีวิตทุกอย่างบนโลกก็ทำเหมือนกัน แต่พอมนุษย์เริ่มมีการศึกษาการนอนอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และพบว่าการนอนเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งของคนเราสำหรับการซ่อมแซมร่างกาย จัดระเบียบความจำ การเปลี่ยนความจำระยะสั้นให้เป็นความทรงจำระยะยาวก็เกิดขึ้นในตอนนี้
สมองจะใช้เวลาตอนนอนนี่แหละในการทำเรื่องราวต่างๆ ที่ไม่สามารถทำได้ตอนที่เราตื่น เช่น การเรียบเรียง คัดกรอง และสร้างสมดุลให้ร่างกาย
ผมเคยอ่านเจอว่าจิตแพทย์ทหารมักแนะนำทหารเวลาออกรบว่า ถ้าเจอเหตุการณ์แย่มากๆ ในสนามรบ เช่น เห็นเพื่อนเสียชีวิตไปต่อหน้าต่อตา หรือต้องฆ่าศัตรูในระยะประชิด หากเจอเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนกับจิตใจมากๆ ทหารต้อง ‘อย่านอนทันที’ เพราะการนอนทันทีอาจทำให้สมองเก็บความทรงจำที่ (มันคิดว่า) สำคัญไว้และจะกลายเป็นภาพบอกแผลในใจและอาจส่งผลต่อการดำรงชีวิตในระยะยาว จิตแพทย์ส่วนใหญ่จะแนะนำให้อดนอนอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง หลังจากผ่านเหตุการณ์เลวร้ายนั้นมา
นั่นเป็นความร้ายกาจของสมองที่มาพร้อมกับการนอน
ส่วนการนอนไม่พอของแฟนผม สร้างผลกระทบที่เห็นได้ทันตาไม่แพ้ทหาร นอกเหนือจากสิ่งที่สังเกตได้ด้วยตา เช่น อารมณ์หงุดหงิดที่มาจากภาวะนอนไม่พอแล้ว พฤติกรรมการกินที่มากขึ้น (สมองสั่งให้เรา ‘ตุน’ อาหาร เนื่องจากนอนไม่พอติดต่อกันนานๆ เพราะสมองจะคิดว่าเราอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ ผลก็คือทำให้กินแป้งมาก) ออกกำลังได้ไม่มาก (เพราะนอนไม่พอ) ไม่สดชื่นกระฉับกระเฉง และแม้ว่าจะออกกำลังก็ไม่สามารถขจัดออกเท่าที่กินเข้าไป เพราะปัญหาตั้งต้นนั้นอยู่ที่ว่าการนอนไม่พอ
ส่วนเรื่องภายในร่างกายนั้นก็ไปกันใหญ่ ผมเคยพาแฟนไปตรวจการหลั่งฮออร์โมนก็พบว่าทุกอย่างในร่างกายรวนไปหมด อะไรที่ควรจะมาตอนกลางคืนก็มาตอนกลางวัน เช่น เมลาโทนินที่ควรจะหลั่งมากช่วงก่อนอนก็กลายเป็นว่ามาหลั่งมากตอนบ่ายแก่ๆ แต่กลางคืนกลับไม่หลั่ง หรือตอนเช้าที่ฮอร์โมนทุกอย่างน่าจะพุ่งสูง เพราะว่าเป็นช่วงที่นาฬิกาในร่างกายเริ่มกลับมาทำงานตามการขึ้นของพระอาทิตย์ก็กลับตาลปัตร ฮอร์โมนตอนเช้าของเขาเมื่อเทียบกับคนทั่วๆ ไปก็อยู่ในระดับต่ำ
ความแปรปรวนรวนเรของฮอร์โมนที่โผล่มาผิดที่ผิดทางนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ เพราะเหตุตั้งต้นทั้งหมดเริ่มจากการนอนที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งแก้ไม่ได้ด้วยการดีดนิ้วให้เข้านอนเร็วขึ้นเหมือนคนอื่นๆ เพราะการนอนไม่ดีของเขามาจากความผิดปกติของร่างกาย
ฉะนั้นราคาของการนอนของแฟนผมน่าจะสูงมากกว่าคนทั่วไป ทุกวันนี้เวลานอนแฟนผมก็ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ที่เรียกว่าเครื่อง CPAP บางทีก็ต้องใส่ที่ง้างกราม เพื่อเปิดทางให้หลอดลมขยายใหญ่ขึ้น และเรื่องพวกนี้จะยุ่งยากไปอีกเมื่อเราต้องเดินทาง
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ มีการศึกษาเรื่องมูลค่าของการนอนหลับที่คนอเมริกันต้องจ่าย พบว่าในปี 2016 คนอเมริกาใช้เงินไปกว่า 66,000 ล้านบาท หรือประมาณ 2.17 ล้านล้านบาท เฉพาะเครื่อง CPAP (เหมือนที่แฟนผมใช้) มีคนซื้อไปใช้กว่า 17,500 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5.7 แสนล้านบาท)
ยังมีงานศึกษาอีกมากที่เห็นว่าเรื่องการนอนไม่พอของคนเราดูจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างการศึกษาเปรียบเทียบของสถาบันวิจัยด้านสุขภาพของสหรัฐอเมริกา (National Institute of Health) เก็บข้อมูลในปี 1995 ว่า คนที่นอนไม่หลับจ่ายเงินไปกับสิ่งที่ช่วยทำให้เขานอนหลับ เช่น เมลาโทนิน ใบสั่งแพทย์ หรือยาต่างๆ เป็นมูลค่า 1.9 พันล้านดอลลาร์ (62,000 ล้านบาท) แต่ในปี 2016 ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็น 9.4 พันล้านดอลลาร์ (297,000 ล้านบาท) แม้จะรวมอัตราเงินเฟ้อแล้ว ก็ยังเป็นตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นมากอยู่ดี นั่นแสดงให้เห็นว่ามีคนต้องเผชิญกับความทุกข์กับเรื่องนอนไม่พอหรือนอนไม่หลับมากขึ้นทุกที ที่น่ากลัวก็คือแนวโน้มไม่มีทีท่าจะลดลง
ในแง่ของมิติทางสังคมเกี่ยวกับการนอน เขาก็มีการศึกษากันต่อไปอีกว่า สองกลุ่มที่ต้องเผชิญกับปัญหานี้มากที่สุดก็คือ กลุ่มที่ทำงานเป็นผู้บริหารระดับสูงและกลุ่มชนชั้นล่างสุดของสังคม เช่น กลุ่มคนผิวสีที่ทำงานใช้แรงงาน ต้องเผชิญปัญหาที่มาจากการนอนมากกว่าคนผิวขาว เนื่องจากต้องทำงานหนักเพื่อให้เพียงพอกับค่าครองชีพ แต่บางประเทศก็จะเป็นเรื่องของเพศแทน เช่นในประเทศญี่ปุ่น ผู้ชายมักมีปัญหาเรื่องการนอนไม่พอมากกว่าผู้หญิง
มีการศึกษาโดยสถาบันแรนด์ (RAND) เรื่องของความสูญเสียที่เกิดจากการนอนไม่พอของประชากรในประเทศที่พัฒนาแล้ว พบว่าการนอนน้อย ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไปอย่างมากมายมหาศาลแบบเห็นตัวเลขแล้วต้องอุทานว่า แม่เจ้า!
แรนด์พบว่า 5 อันดับแรกของประเทศที่ต้องสูญเสียเงินไปกับการรักษาพยาบาลพลเมืองของตัวเอง คือ การป่วยเพราะนอนไม่พอ การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เนื่องจากอาการหลับใน ฯลฯ ญี่ปุ่นสูญเสียรายได้จากการที่ประชากรนอนน้อยมากที่สุดในโลก นั่นคือคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 2.92 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ของประเทศ (ราว 1.3 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 4.3 ล้านล้านบาท) นอกเหนือจากญี่ปุ่นแล้ว สหรัฐอเมริกาก็สูญเสียรายได้ไป 2.28 เปอร์เซ็นต์ของ GDP (ราว 4.1 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 14 ล้านล้านบาท) สหราชอาณาจักร 1.86 เปอร์เซ็นต์ของ GDP (ราว 50,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.7 ล้านล้านบาท) เยอรมนี 1.56 เปอร์เซ็นต์ของ GDP (ราว 60,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 2 ล้านล้านบาท) และแคนาดา 1.35 เปอร์เซ็นต์ของ GDP (21.4 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 7 แสนล้านบาท)
เจฟ อี บิดเดิล จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ศึกษาเรื่องการนอนหลับและการเคลื่อนย้ายของเวลาการทำงาน โดยเขาเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างใน 12 ประเทศ เขาสรุปเป็นตัวเลขให้เห็นภาพง่ายๆ ว่าทุกๆ ชั่วโมงของการทำงานที่ก่อเกิดรายได้ (market work hour) จะทำให้พนักงานมีเวลาในการนอนหลับน้อยลง 10 นาที และในอเมริกายังพบว่าหลังจากชั่วโมงการทำงานทั้งวันแล้ว โดยเฉลี่ยคนอเมริกันจะกลับมาทำงานที่บ้านอีกราว 4.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งก็นั่นก็ยิ่งหั่นเวลานอนของพวกเขาให้น้อยลงไปอีก ซึ่งแน่นอนว่าตัวเลขและสถานการณ์ก็บอกอยู่แล้วว่าการทำงานที่มากขึ้นหรือชั่วโมงที่เราตื่นมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าเราจะมีผลผลิตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
ตัวการสำคัญที่ทำให้เรานอนน้อยลงก็คือภาระหน้าที่ในแต่ละวัน และ ‘แสงสว่าง’ ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เรายังคงตื่นอยู่ต่อไป โดยเฉพาะแสงสีฟ้าจากโทรศัพท์มือถือนี่แหละตัวดีเลย บางคนมีนิสัยใหม่ว่าต้องเล่นโทรศัพท์ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะง่วง หรือเมื่อเห็นว่าดึกแล้วค่อยนอน ซึ่งแน่นอนว่าเราจะไม่ง่วงง่ายๆ เพราะแสงจากจอ กระตุ้นให้สมองตื่นตัว สุดท้ายเราก็จะนอนไม่พอ ผลกระทบของคนที่นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวันเป็นระยะเวลานานๆ นั้น เข้าขั้นน่ากลัวนะครับ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมากมาย ทั้งโรคซึมเศร้า โรคจิต หลอดเลือดสมอง และโรคอ้วน ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถป้องกันได้ไม่ยากถ้าเราเปลี่ยนพฤติกรรม
คุณหมอที่รักษาแฟนผมแนะนำว่า การนอนที่เป็นอุดมคติเลยคือนอนตามเวลาขึ้นลงของพระอาทิตย์ เพราะนั่นคือกลไกที่ถูกสร้างขึ้นมา แต่ทุ่มนึงเรายังอยู่บนถนน ไม่ก็ยังอยู่ในที่ๆ ห่างไกลมากจากเตียงนอน หากทำไม่ได้ ก็ไม่ควรนอนดึกเกินห้าทุ่ม (นี่คือแบบประนีประนอมแล้ว) และควรนอนในเวลาเดิมๆ ตื่นเวลาเดิมๆ ทุกวัน เพื่อช่วยให้นาฬิกาในร่างกายทำงานเป็นปกติ สมองก็จะรู้ว่าต้องทำอะไรตอนไหน
ส่วนของแฟนผม เราต้องต่อสู้กันต่อไป หมอให้ลดความอ้วนให้ได้จนถึงระดับที่ปลอดภัยที่จะผ่าตัดแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องโพรงจมูกคด หรือขากรรไกรที่กดหลอดลม แต่ต้องเริ่มจากการลดความอ้วนให้ได้ก่อนเพื่อลดความเสี่ยงทั้งหมดที่จะเกิดขึ้น ทว่าการลดน้ำหนักเป็นเรื่องยากมาก เพราะอย่างที่บอกครับว่า การนอนส่งผลต่อการสั่งงานของสมอง การแก้ไขปัญหาก็ต้องใช้ความพยายามและวินัยอย่างมาก มากกว่าคนธรรมดา 2-3 เท่า แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องยอมแพ้
ถ้าใครมองว่าคุณขี้เกียจเพราะต้องการจะนอนให้พอ อย่าไปสนใจครับ บอกได้เลยว่าสิ่งล้ำค่าที่สุดที่เราควรรักษาไว้ก็คือสุขภาพมากกว่าเงินทอง การมีสุขภาพที่ดีเป็นการลดรายจ่ายที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะสิ่งนี้หาซื้อจากไหนไม่ได้ ไม่มีอะไรทดแทนเหมือนของที่มาจากธรรมชาติ
เรียกว่านอนให้พอ ช่วยทั้งตัวเรา ช่วยทั้งชาติได้เลย
อ้างอิง
https://www.tuck.com/economics-of-sleep/
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/10394612
https://www.rand.org/randeurope/research/projects/the-value-of-the-sleep-economy.html
https://ideas.repec.org/p/nbr/nberwo/2988.html