fbpx

สิตตา มารัตนชัย: ว่าด้วยสิทธิ ประชาธิปไตย และภาวะโลกร้อน ก่อนเราจะไปยังจุดที่ไม่อาจหวนกลับ

“เมนูใดต่อไปนี้ที่สร้างก๊าซเรือนกระจกและส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนน้อยที่สุด”

“1.ข้าวราดไก่ผัดกระเทียมพริกไทย 2.ราดหน้าหมู 3.สเต็กปลาแซลมอน 4.สุกี้ทะเลรวม”

ข้างต้นคือคำถามจากข้อสอบชุดวิชาความถนัดทั่วไป (TGAT) ซึ่งจัดขึ้นโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และกลายเป็นคำถามที่ไม่จบแค่ในห้องสอบเท่านั้น แต่ยังถูกหยิบมาถกเถียงกันนอกห้องเพื่อหา ‘คำตอบ’ ที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียวจากตัวเลือกสี่ข้อ ที่เอาเข้าจริงก็ไม่ง่ายอย่างที่ตาเห็น เพราะไม่ว่าจะตัวเลือกใดก็ดูมีส่วนในการส่งผลต่อภาวะโลกร้อนด้วยกันทั้งสิ้น

“ถ้าเป็นเราก็คงออกแบบคำถามอีกแบบ เป็นต้นว่า ถ้าคุณสามารถเปลี่ยนเมนูอาหารในชีวิตประจำวันได้หนึ่งอย่าง ให้สามารถลดโลกร้อนได้ คุณจะเลือกอะไร เพราะอะไร แล้วให้เขียนตอบแบบอัตนัยมา” ซินดี้ – สิตตา มารัตนชัย บอกเราพร้อมรอยยิ้มพราวระยับบนใบหน้า

สิตตาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งแฮกกาธอน ไทยแลนด์ (Hackathon Thailand) เครือข่ายของกลุ่มคนที่รวมตัวกันเพื่อหาทางแก้ปัญหาที่ปรากฏขึ้นในสังคมปัจจุบัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นทุกปี ต้นธารของปัญหานั้นมีมาตั้งแต่เรื่องใหญ่อย่างทุนนิยม, การก่อตัวขึ้นของอุตสาหกรรม ขยับมาจนถึงเรื่องอาหารการกินในแต่ละมื้อตามที่ออกสอบ

หนึ่งเดือนก่อนหน้านี้ สิตตาเพิ่งออกทุนของตัวเองเพื่อบินไปร่วมงาน Conference of Youth ครั้งที่ 17 (COY17) อันเป็นงานที่เยาวชนกว่า 140 ประเทศทั่วโลกมารวมตัวกันเพื่อหาทางออกให้ปัญหาโลกร้อนก่อนที่โลกจะไปถึงจุดวิกฤต ชวนให้หันมาตั้งคำถามกับประเทศไทยต่อประเด็นใหญ่นี้ว่าเราเตรียมรับมือกันอย่างไรหรือมีหนทางหาทางออกให้สิ่งแวดล้อมแค่ไหน ก่อนจะไปถึงจุดที่ไม่อาจย้อนกลับได้

ตกลงว่าเมนูอะไรส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนน้อยที่สุด

เราว่าต้องเป็นอาหารที่ไม่ได้เป็นเนื้อสัตว์ และข้อสอบขาดตัวเลือกที่ไม่มีเนื้อสัตว์ อย่างน้อยถ้ามีสักข้อหนึ่งยังใช้ตรรกะได้ว่า สำหรับเราแล้วสิ่งที่จะช่วยได้มากที่สุดคือการงดกินเนื้อสัตว์ แต่เราก็ไม่ได้เป็นคนไม่กินเนื้อสัตว์นะคะ ทั้งนี้ โดยพื้นฐานแล้วถ้ามนุษย์บริโภคเนื้อสัตว์น้อยลงสักครึ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเนื้ออะไรก็ตาม มันจะช่วยได้ กระทั่งสัตว์ทะเลที่ชาวประมงพื้นบ้านไปจับ และมีคาร์บอนฟุตปรินต์ (carbon footprint -ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์และกิจกรรมต่างๆ) น้อย แต่ก็อย่าลืมว่าชาวประมงก็ต้องออกแรงไป ต้องใช้แหหรืออวน ทุกอย่างมีคาร์บอนฟุตปรินต์

เราจะไม่บอกว่าโลกมันร้อนแล้ว ทุกคนเลิกกินเนื้อสัตว์เถอะ ถ้าเราเชื่อวิทยาศาสตร์โลกร้อน ความตกลงปารีส (Paris Agreement -หมายถึงข้อตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ระบุว่าถ้าเราไม่อยากไปถึงจุดที่ย้อนกลับไม่ได้ ทุกคนบนโลกต้องปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์โดยเฉลี่ยสองตันต่อคน ต่อปี แต่ตอนนี้ประเทศไทยซัดไปสี่ตันแล้ว (ยิ้ม) หรือเราที่บินไปประชุมที่อียิปต์นี่ก็หนึ่งตันแล้ว ปีนี้ฉันไม่ต้องทำอะไรแล้วล่ะทั้งที่จริงๆ มีอีกหลายอย่างมากเลยที่ต้องทำ

แน่นอนว่าเราก็ยังอยากมีความสุข เราก็ต้องมองหาว่าไลฟ์สไตล์แบบไหนที่จะช่วยได้ กลับไปที่คำถามในข้อสอบ เราก็ยังอยากให้มันออกมาเป็นแนวไลฟ์สไตล์ อัตนัยเขียนตอบมากกว่า

ถ้าออกข้อสอบเกี่ยวกับอาหารและภาวะโลกร้อน จะออกข้อสอบอย่างไร

‘ถ้าคุณสามารถเปลี่ยนเมนูอาหารในชีวิตประจำวันได้หนึ่งอย่าง ให้สามารถลดโลกร้อนได้ คุณจะเลือกอะไร เพราะอะไร’ แล้วให้เขียนตอบแบบอัตนัยมา ซึ่งคำตอบก็อาจจะเป็นเมนูที่ไม่ได้เป็นเนื้อสัตว์ เช่น สุกี้เต้าหู้, แกงจืดเต้าหู้ แต่แค่ตัวเลือกในข้อสอบมีเนื้อสัตว์ทุกข้อเลย ซึ่งเนื้อสัตว์แต่ละชนิดก็ต้องการบริบทว่า ผลิตโดยอะไร ผลิตโดยใคร

อีกอย่างคือเราคงตอบว่าจะลดการทานพวกบุฟเฟ่ต์เวลาสังสรรค์ แล้วเลือกไปทานอย่างอื่น แล้วลดอาหารจำพวกที่ผ่านกรรมวิธีการผลิตเยอะๆ (processed meat หรือเนื้อสัตว์แปรรูป) เช่น ไส้กรอก เพราะมันผ่านหลายกระบวนการ ต้องเอาไปบด ไปแช่แข็ง ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องใช้พลังงานเยอะ แต่อาหารแปรรูปบางชนิดก็ไม่ได้ใช้พลังงานนะ ซึ่งอาจจะเป็นผลดีด้วย เช่น ปลาเค็มตากแห้ง, กล้วยตาก เป็นต้น เราจึงต้องดูว่าวัตถุดิบของอาหารที่เรากินนั้นมาจากไหน ผลิตด้วยวิธีอะไร แล้วเก็บรักษานานหรือเปล่ากว่าจะเอามากิน

มองแล้วก็เป็นเรื่องอุตสาหกรรมด้วยเหมือนกันใช่ไหม

โลกร้อนเร็วขึ้นเพราะอุตสาหกรรมนี่แหละ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อเอามาเลี้ยงคนให้ได้ แต่ถึงจุดหนึ่ง อุตสาหกรรมทุนนิยมก็ผลิตเยอะมาก เยอะจนเกินจำเป็นเพื่อ economy of scale (การประหยัดต่อขนาด หรือคือการลดต้นทุน เพิ่มกำไรในธุรกิจ) สินค้าจะได้ถูกลง และฐานการผลิตก็มักเป็นประเทศที่มีต้นทุนแรงงานต่ำ

งานประชุม COY17 ในอียิปต์ เขาพูดกันถึงประเด็นนี้ไหม หลักๆ แล้วเขาพูดประเด็นไหนกันบ้าง

ขอเล่าก่อนว่าก่อนหน้านี้เยาวชนที่ทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศรวมตัวกันในโครงการ Climate Finance Academy เพื่อมาแลกเปลี่ยนความรู้กันว่าพวกเราจะระดมเงินทุนจากประเทศพัฒนาแล้วมาช่วยประเทศกำลังพัฒนา แล้วให้ไหลไปอยู่ในกิจกรรมของเยาวชน โดยเฉพาะคนที่ทำงานด้านการสื่อสารปัญหา หรือการพัฒนาในพื้นที่จริงๆ ได้อย่างไร เราได้คุยกับคนที่ทำประเด็นการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate finance) เหล่านี้ซึ่งมาจากแอฟริกา อินเดีย บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เราเจอคนรุ่นใหม่จากประเทศเหล่านี้เยอะมาก รวมถึงเยาวชนจากประเทศพัฒนาแล้วที่สนใจเรื่องนี้ ในกลุ่มนี้เราเป็นคนไทยคนเดียวในจำนวนหนึ่งร้อยคน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่เรารู้สึกได้คือ มีคนรุ่นใหม่ที่ไม่หยุดพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและความเท่าเทียม และจะไม่ยอมให้เกิดความไม่เป็นธรรมหรือไม่โปร่งใส พวกเขาพยายามผลักดันโครงการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในประเทศตัวเอง ไม่ว่าจะช่วยลดคาร์บอนฟุตปรินต์หรืออนุรักษ์ท้องทะเล เราได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องเหล่านี้มาก และรู้สึกว่าอยากไปเจอพวกเขาในงานประชุม COY17 ด้วย เพราะได้ยินว่าหลายคนจะไปนำเสนอโครงการ หรือองค์กรของตัวเองในงานนี้

ทราบมาว่าคุณออกเงินค่าเดินทางไปเองด้วย

นั่งเครื่องสามต่อ เหนื่อยมาก (ยิ้ม) ก็มีคนบ้าๆ แบบเราไปกันเยอะนะ หลายคนบินมาจากลาตินอเมริกา นั่งถามค่าตั๋วเครื่องบินกัน แล้วคืนวันสุดท้ายนี่ตลกมากเพราะเรานั่งคุยกันว่าใครใช้เวลานานสุดในการเดินทาง ใครจ่ายแพงบ้าง บางคนจ่ายเป็นแสน ส่วนเราห้าหมื่นบาท

ความที่เราไม่รู้ว่าจะมีคนไทยคนไหนไปงานนี้บ้างไหม เราก็สมัครไปแบบธรรมดาเลย เขาจะให้เลือกว่าเราต้องการขอทุนไหม เราทำงานอะไร คงเพราะเราระบุไปว่าเราทำงานแล้วด้วยมั้ง เขาจึงจัดให้เราเดินทางไปแบบใช้เงินทุนส่วนตัว (self-funding)

ถามว่าทำไมถึงไปเหรอ (คิด) เราอยากอัพเดตข้อมูลตอนนั้นคิดว่าเราเป็นคนไทยคนเดียวใน Academy เลยสงสัยว่าแล้วประเทศเรามันไม่มีปัญหาเหรอ เยาวชนของเราก็มีคนเก่งๆ ตั้งเยอะทำอะไรกันบ้าง เขาไปอยู่ไหนกัน ทำไมประเทศอื่นๆ กระตือรือร้นประเด็นนี้กันจัง พอวันจะเดินทางก็สืบๆ หาเอากับเพื่อนๆ พบว่าจะมีเยาวชนไทยสามคนไปร่วมงาน COY17 ที่ประเทศอียิปต์ ส่วนใหญ่คนที่เราเจอในงานอายุประมาณ 20-25 ปี มาเป็นคนนำเสนอ มาเป็นวิทยากร แล้วทุกคนเป็นคนเก่งด้วยนะไม่ใช่ว่าเพราะไม่มีอะไรทำฉันจึงมาทำเรื่องสิ่งแวดล้อม (หัวเราะ) ทุกคนมีพลังกันมาก

เห็นความเคลื่อนไหวอะไรจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไปร่วมงานบ้าง

เราเห็นเด็กมหาวิทยาลัยที่ทำองค์กรของตัวเอง หาทุนเอง อยากขับเคลื่อนเรื่องมหาสมุทรจริงๆ เราได้ยินคำว่า blue job บ่อยขึ้นมาก เมื่อก่อนเราจะได้ยินคำว่า green job ที่หมายถึงงานของคนที่ทำเพื่ออนุรักษ์และปกป้องสิ่งแวดล้อม ตอนนี้เรามี blue job เป็นงานที่ทำเพื่ออนุรักษ์และปกป้องท้องทะเล หรือตำแหน่งงานที่สามารถเอื้อให้คุณได้ปกป้องท้องทะเลได้

นอกจากนี้ เราได้ยินโครงการ กิจกรรมเวิร์กช็อปหลายๆ อย่างที่เราอยากจะเอากลับมาใช้ เช่น เห็นโครงการที่เขาเรียกว่า climate science เป็นโครงการให้ความรู้ว่าด้วยวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโลกร้อน ในเว็บไซต์ก็มีเนื้อหาให้เราไปดาวน์โหลดแล้วเอามาประยุกต์ได้ แจกฟรีสำหรับครูทั่วโลก ซึ่งเราก็ถามตัวเองว่าแล้วทำไมที่ผ่านมาเราไม่เคยรู้เลยวะ (หัวเราะ)

ทุกปีก็มีการประกวดข้อเสนอโครงการวิจัย (research proposal) ที่เด็กมัธยมเป็นคนเขียน ถ้าได้รับคัดเลือก ทางทีมงานจะช่วยให้คุณได้ทำวิจัยจริงๆ กับมหาวิทยาลัยด้วย เป็นเหมือนตั๋วเข้ามหาวิทยาลัยอีกทางน่ะ อย่างเมื่อก่อนเราจะได้ยินว่าเขามีทุนนักกีฬาให้สมัครเข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่อันนี้ก็มีโครงการแบบนี้ด้วย นักเรียนก็จะได้มีโอกาสเรียนในสถาบันดีๆ และได้มานำเสนองานวิจัยตัวเองในงาน COP

เราว่ามันเป็นความเคลื่อนไหวที่จริงจัง ไม่ได้เป็นการประชาสัมพันธ์ เป็นวิทยาศาสตร์และทั้งหมดนี้มันเติบโตเรื่อยๆ

เยาวชนในงานมองว่าเวลานี้สถานการณ์โลกร้อนวิกฤตไประดับไหนแล้ว ถึงขั้นเกินเยียวยาหรือยัง

น่าสนใจ เพราะเราพบว่ามีสองแบบ มีทั้งคนที่โกรธเกรี้ยวว่าทำไมไม่ดูแลสิ่งแวดล้อมกันเลยเพราะผลกระทบมันใกล้ตัวเขามาก เช่น เยาวชนในบังกลาเทศหรืออินเดีย เขาเห็นว่าประเทศเขาโดนคุกคาม มีพายุไซโคลนซึ่งเขาอยู่ตรงนั้นและเขารู้สึกว่ามันกระทบบ้านเขาจริงๆ แต่เขาไม่มีอำนาจที่จะพูดได้

เราเจอเพื่อนใหม่ที่พ่อแม่เป็นผู้อพยพจากอินเดีย ไปอยู่ที่แคนาดา พ่อเขาทำงานบริษัทเป็นวิศวกร แต่คนลูกสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และมีความรู้สึกว่าอยากกลับไปดูแลประเทศกำลังพัฒนาที่พ่อแม่เขาเติบโตมา คนกลุ่มนี้กระตือรือร้นกันมากเลยนะ มีคนหนึ่งเขาเป็นคนอิหร่าน ย้ายไปอยู่อเมริกาตั้งแต่เด็ก และรู้สึกว่าไม่มีองค์กรสิ่งแวดล้อมของเยาวชนในอิหร่านเลย เขาจึงเลือกกลับไปชูประเด็นนี้ในประเทศที่พ่อแม่เขาเติบโตมา ใช้ความรู้ความสามารถเรียนรู้จากประเทศพัฒนาระดมทุน เขียนเว็บไซต์ ทำโครงการ เราเห็นแต่ละคนพยายามทำอะไรสักอย่างที่เข้ากับความสนใจของตัวเอง ทั้งยังเป็นการมองย้อนกลับไปถึงรากเหง้าวัฒนธรรมของครอบครัวด้วย แต่คนที่ลงทุนเพื่อไปพบกันในงานนี้ก็คงเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ใส่ใจโลกมั้ง และเราคิดว่าเป็นคนกลุ่มนี้แหละที่กระตือรือร้นมากๆ ด้วยหลายๆปัจจัย

นอกจากนี้ก็มีคนจากยุโรป สแกนดิเนเวีย เราเจอคนกลุ่มนี้ ก็มาสนับสนุนเพื่อนๆ จากประเทศอื่นๆ ทุกคนมาร่วมใจเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตโลกรวนจริงๆ

วิธีคิดเรื่องการแก้ไขเรื่องโลกร้อนของคนที่มาจากประเทศกำลังพัฒนา เช่น บังกลาเทศ กับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างพวกสแกนดิเนเวีย ต่างกันมากไหม

ไม่ต่างกันนะ แต่หลายๆ เวิร์กช็อปที่เราเข้าไปฟัง กลุ่มที่มาจากสแกนดิเนเวียหรือกลุ่มที่มาจากประเทศประชาธิปไตย เรารู้สึกว่าเขามองว่าทรัพยากรเป็นของทุกคน มีคำอธิบายในเชิงว่าทรัพยากรเป็นของใคร ความรับผิดชอบเป็นของใคร เขาค่อนข้างมีโครงสร้างทางความคิดแบบนี้ชัด ขณะที่เยาวชนที่ทำกิจกรรมของตัวเองในประเทศของตัวเองหลายๆ คน เขารู้สึกสิ้นหวังกับรัฐบาลเขา จึงต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างด้วยตัวเองดีกว่า

ถ้าวัดกันที่ความสร้างสรรค์ในการทำโปรเจ็กต์ กลุ่มยุโรป แคนาดาหรืออเมริกาเหนือ ยังไม่ค่อยสู้พวกที่มาจากอินเดียหรือแอฟริกา ซึ่งเขาพูดเรื่องการทำโปรดักส์เพื่อช่วยเหลือผู้หญิง ทำประเด็น women entrepreneurship หลากหลายกว่า ดูเป็นสิ่งที่สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเขาจริงๆ สิ่งที่เยาวชนจากแอฟริกา ไม่ว่าจะมาจากเคนย่าหรือกาน่า เขาไม่ได้มองหาสิ่งที่ซับซ้อนมาก เช่น มีวิธีที่ทำให้การทำอาหารในบ้านแล้วลดการใช้ฟืนไหม หรือบางบ้านไม่สามารถซื้อก๊าซหุงต้มได้ มีวิธีแก้ปัญหาเรื่องนี้ไหม เราก็นึกถึงการใช้ถ่าน แต่วิธีการเผาถ่านของเขามันยังทำลายสุขภาพอยู่เลย ซึ่งนี่แหละ เขามองหาทางออกแค่นี้เอง พร้อมกันนี้เขาก็ไปผลักดันกลุ่มผู้หญิงให้ทำถ่านที่ปล่อยควันพิษน้อยกว่า เรารู้สึกว่าความสร้างสรรค์ของกลุ่มนี้ชัดมาก ขณะที่กลุ่มจากประเทศยุโรปต่างๆ ออกไปทางระดมทุน สร้างเครือข่าย หรือเพิ่มขีดความสามารถต่างๆ เป็นหลัก

ก่อนหน้านี้เคยมีข้อถกเถียงกันว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วมักพยายามทำให้ประเทศตัวเองปราศจากขยะ สิ่งแวดล้อมสะอาดด้วยการเอาขยะมากำจัดในประเทศกำลังพัฒนาแทน มองประเด็นนี้อย่างไร

เรามองว่า บางประเทศที่เจริญแล้วจริงๆ เขาเชื่อในกลไกรัฐบาล โดยกลไกแล้วทุกครั้งที่เขาทำงาน จ่ายภาษี เขามอบหมายให้รัฐบาลจัดการเรื่องนี้ด้วย และเป็นส่วนหนึ่งในหน้าที่ของรัฐบาลว่าจะต้องแบ่งภาษีของคนในประเทศไปช่วยประเทศกำลังพัฒนา คือเป็นภาระของรัฐและมอบหมายว่ารัฐต้องจัดการเรื่องนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเขามีสิทธิวางใจในรัฐเขาได้เพราะเขาเชื่อในระบบ ไม่ว่าจะเยอรมนี ฝรั่งเศส หรือประเทศแถบสแกนดิเนเวีย หน้าที่ของ NGO คือเป็นอีกขาหนึ่งที่คอยตรวจสอบว่าเงิน climate finance อยู่ตรงไหน คอยวิพากษ์วิจารณ์และจับตารัฐ มันเป็นกลไกที่ตรวจสอบกันแบบนี้ได้

อย่างเรื่องขยะ เรามองว่าถ้าให้ประเทศแถบสแกนดิเนเวียจัดการการจัดการขยะด้วยตัวเอง ต้นทุนจะเยอะขนาดไหน อาจจะมากถึงขนาดเลี้ยงคนแอฟริกันสักประเทศได้ทั้งปีก็ได้ มันควรมีคนกลางที่สามารถจัดการได้ดีกว่าเขาไหม และเป็นโอกาสของคนกลางในการทำเงินและเอาเงินไปพัฒนาประเทศได้

ที่ผ่านมา คุณร่วมงานทั้งกับภาครัฐและเอกชน เห็นความแตกต่างในการดำเนินงานไหม

ไม่เคยมีคนถามคำถามนี้เลยนะ (คิด) แต่ถ้าให้นึกจากประสบการณ์ที่สัมผัสมาคือ ที่ผ่านมาถ้าเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือองค์ความรู้ที่จะช่วยเรื่องโลกร้อน ภาครัฐถืออำนาจอยู่ในมือ และเขาก็เลือกที่จะบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ โดยดึงสิทธิบางอย่างไป

ยกตัวอย่างเช่นเรื่องแนวกำแพงกันคลื่นในหลายจังหวัด คนอาจสงสัยว่ามันเกี่ยวกันยังไง จำได้ไหมว่าครั้งหนึ่งมีข่าวว่ากลุ่มเยาวชน ชาวบ้านมาประท้วงเรื่องการสร้างกำแพงกันคลื่น ซึ่งเกิดจากที่ว่าเมื่อสิบกว่าปีก่อนมีพายุไต้ฝุ่นเกย์ถล่ม น้ำท่วมเมือง ถนนขาดเสียหาย ข่าวก็ออกมาว่าโลกร้อนทำให้น้ำทะเลหนุนสูงขึ้น กลายมาเป็นข้ออ้างในการสร้างกำแพงกันคลื่น แต่จริงๆ น้ำทะเลจะขึ้นขนาดนั้นต้องใช้เวลานานมาก ขณะที่สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้สร้างเสร็จได้ภายในสามเดือน แต่ชายหาดพังไปตลอดกาล แต่คุณจะอ้างว่าโลกร้อนแล้วน้ำทะเลสูงขึ้น กลายเป็นรีบสร้างสิ่งเหล่านี้จนทำลายชีวิตหนึ่งรุ่นที่เขาต้องทำมาหากินตรงนี้ไปเลย ซึ่งเกิดจากการที่หน่วยงานรัฐบางหน่วยอยากได้งบประมาณสร้างสิ่งปลูกสร้างตรงนี้เลยอนุญาตให้สร้างได้ ชาวประมงออกไปหาปลาไม่ได้ ชายหาดเสียหาย ร้านค้าริมทะเลก็ไม่มีพื้นที่ทำมาหากิน

คุณจะเอาเรื่องโลกร้อนมาเป็นข้ออ้างในการแก้ปัญหาผิดๆ แล้วกระทบชีวิตคนโดยไม่ถามเขาไม่ได้นะ เราจึงมองว่า รัฐเองยังไม่ได้คนเข้ามามีส่วนร่วมในประเด็นเหล่านี้มากขนาดนั้น เราอยากถามเหมือนกันว่าเยาวชนที่เป็นตัวแทนประเทศไปพูดในเวทีต่างๆ ว่าจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ผ่านกระบวนการคัดเลือกอย่างไร มีเกณฑ์อะไร มาจากพื้นที่ไหนบ้าง เราจะได้ไปหาทางสร้างโอกาสให้มากขึ้น

รัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ไม่ได้ยึดโยงกับประชาธิปไตย มีส่วนทำให้ประเด็นสิ่งแวดล้อมในไทยตั้งหลักไม่ได้หรือเปล่า

(คิดนาน) เราว่าก็คงมีส่วนแหละ อย่างน้อยเรื่องที่เป็นปัญหาในพื้นที่ ถ้ามีปัญหาอะไรเราก็อยากไปบอกผู้แทนฯ ในพื้นที่ให้เขารู้ เวลาเขาจะออกงบมาปีหน้าจะได้รู้ว่าอะไรเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ถ้าผู้แทนฯ ไม่ได้เป็นผู้แทนฯ ของเรา คำถามคือเขากำลังเป็นปากเสียงให้ใครอยู่ เรายังเห็นว่าผู้แทนฯ การเมืองท้องถิ่นในหลายๆ ระดับ เขาก็ต้องพูดแทนคนในพื้นที่ อันนี้เป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยเลย เช่น หมู่บ้านฉันยอมให้ไม่มีกำแพงกันคลื่นนี้ ถ้าปีไหนฝนตกหนักก็ค่อยอพยพของ ปรับตัวกันไปปีต่อปี แต่อย่าสร้างกำแพงกันคลื่นเพราะชายหาดนี้สวยมาก อยากให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เคยถามประชาชนแบบนี้หรือเปล่า

เราจึงคิดว่ามันมีส่วนแหละ ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องสิทธิ เรื่องพื้นฐานของประชาธิปไตย มันก็มีปัญหา นี่คือปัญหาสิ่งแวดล้อม นี่คือปัญหาของทรัพยากรธรรมชาติที่เรามีร่วมกันและเรามีสิทธิปกป้อง

ถ้าในฝั่งของเอกชนล่ะ เดี๋ยวนี้บริษัทหลายแห่งพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมเยอะมาก

ปีนี้เป็นปีของแบรนดิ้งเยอะมาก ประกาศกันว่าฉันรักษ์โลก ฉันมีความ sustainability แต่เขาได้บอกไหมว่าการจัดงานสักงานนี่สร้างคาร์บอนฟุตปรินต์เท่าไหร่ แล้วเขาทำอะไรเพื่อชดเชยสิ่งนี้ไปบ้าง

บางคนอาจรู้สึกว่าการจะแก้ปัญหาโลกร้อนนั้นต้องมาจากนโยบายซึ่งกำหนดโดยภาครัฐ เพราะเกินกำลังที่ปัจเจกจะแก้ไขได้ด้วยตัวเองแล้ว มองเรื่องนี้อย่างไร

ในเชิงปัจเจก เราอยากให้เรามีพื้นที่ในการพูดสิ่งที่เราต้องการได้จริงๆ เช่น ยุคหนึ่งคุณไม่แจกถุงพลาสติก แต่ตอนนี้บางที่ก็เริ่มกลับมาแจก คำถามคือเรากล้าพูดเรื่องนี้กันตรงๆ ถ้าเราเอะใจ เรามีคำถาม แล้วกล้าพูดกันหรือเปล่า นี่คือพื้นฐานประชาธิปไตยเลย เราเชื่อว่าเรามีสิทธิในการพูดเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ หรือไปงานแล้วเขาแจกถุงผ้าฟรี ก็หยิบกลับ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว ถุงผ้าเต็มบ้านแล้วจ้า เรากล้าที่จะไม่รับของฟรีที่มีต้นทุนสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่จริงเราไม่ต้องการก็ได้ไหม  เวลาไปเที่ยวแล้วเห็นขยะเต็มชายหาด เรากล้าถามคนแถบนั้นไหมว่าทำไมตรงนี้ถึงมีขยะเยอะ ในฐานะคนมาเยือนที่อยากให้ชุมชนช่วยกันดูแลรักษา ถ้าเราไม่กล้าถาม หรือเอะใจเท่ากับว่าเราก็หลับหูหลับตาพอกันที่ปล่อยให้มันเป็นแบบนั้น

เราอาจจะต้องมองเรื่องวัสดุและอายุการใช้งานของสิ่งต่างๆ ด้วย เช่นถุงพลาสติกที่เราได้รับจากร้านสะดวกซื้อ แต่ละร้านก็เป็นถุงพลาสติกประเภทหนึ่ง ถุงขยะก็อาจจะเป็นอีกประเภทหนึ่ง โดยถุงขยะก็ควรออกแบบมาเพื่อให้มีอายุขัยสั้นๆ ได้ ย่อยสลายในทางชีวภาพได้ (biodegradable) ทั้งหมดนี้มันมีวิธีคิดเรื่อง life cycle คุณซื้อของเอาของใส่ขนมออกมาจากร้าน มีอายุกับเราแค่ห้านาที ถึงบ้านแล้วเราเอามันมาใส่เป็นถุงใส่ขยะ มันก็มีอายุกับเราแค่หนึ่งวันกับห้านาทีก็ถูกส่งไปทำลายแล้ว เช่นเดียวกับเรื่องเมนูอาหาร สมมติข้าวกระเทียมพริกไทย เราอาจใช้เวลาปลูกข้าวหกเดือน ขังน้ำทิ้งไว้สองเดือน ก็มีก๊าซมีเทนแล้ว วงจรของมันตั้งแต่ปลูก เข้าโรงสี แพ็กของ ขนส่ง  ออกมาเป็นข้าวแล้วยังต้องหุงอีก นี่คือวงจรหนึ่งของข้าว กระเทียมก็อาจใช้พื้นที่ไม่เยอะ วงจรคือเอาหัวกระเทียมไปปลูก ไม่นานก็เก็บมาได้ แต่ถ้าต้องส่งกระเทียมมาจากที่ไกลๆ ก็ต้องถามว่าต้องอบแห้งไหม ต้องใส่ถุงพลาสติกหรือเปล่า ไก่ล่ะ กว่าจะโตก็ใช้เวลาเท่าไหร่ ทุกอย่างที่นำมาประกอบอาหารจึงมีวงจรชีวิตหมดเลย

ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เสื้อผ้าที่เราใส่ ทุกอย่างมีวงจรชีวิต มีต้นทุนคาร์บอนฟุตปรินต์ หมดเลย ตัวเราเองถ้ามีความเข้าใจก็จะเริ่มจากการเป็นผู้บริโภคที่ตระหนักและใส่ใจก่อนได้ เรามีสิทธิ์ที่จะเลือกซื้อหรือไม่ซื้อ เราจึงต้องเข้าใจเรื่องคาร์บอนฟุตปรินต์ เข้าใจเรื่องวงจรชีวิตของสิ่งของต่างๆ เพื่อตัดสินใจเลือกใช้สิ่งของต่างๆ และเพื่อช่วยกันสร้างอุปสงค์ใหม่ๆ ด้วย

อันที่จริง ที่ผ่านมาก็มีข้อถกเถียงเรื่องความลักลั่นของการแก้ปัญหาโลกร้อนอยู่ เช่น เรารู้ว่าการนั่งเครื่องบินโดยสารครั้งหนึ่งแลกมากับคาร์บอนฟุตปรินต์มากมาย แต่คนก็ยังต้องบินเพื่อไปประชุมแก้ปัญหาเรื่องโลกร้อนกัน

มีวิธีคิดเรื่องคาร์บอนออฟเซ็ต (carbon offset หรือกิจกรรมชดเชยคาร์บอน) อย่างเราบินไปอียิปต์ก็ต้องหาว่าจะชดเชยอย่างไร วิธีที่ดีที่สุดคือปลูกต้นไม้ ปลูกหญ้าทะเล แต่ถ้าทำไม่ได้คุณก็ต้องจ่ายเงินให้องค์กรที่เขามีเป้าหมายด้านนี้และลงมือทำจริงๆ ให้ไปลงมือทำแทนคุณ

แนวคิดคาร์บอนออฟเซ็ตเกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ที่ว่า ในเมื่อคุณทำเองไม่ได้ เกินกำลังที่จะทำจริงๆ ก็จ่ายเงินสนับสนุนให้คนที่ทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ก็มีแนวปฏิบัติทำนองว่า เอกชนหลายแห่งมีเงินทุนมากจึงลงทุนทำโครงการที่ได้ คาร์บอนเครดิต (carbon credit หมายถึงโอกาสในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมขององค์กรแต่ละแห่งหรือแต่ละคน) เพราะลงทุนน้อยกว่าเปลี่ยนระบบการผลิตข้างในให้ลดมลพิษได้จริงๆ ก็กลายเป็นว่าคาร์บอนออฟเซ็ตนี้ไม่ได้ทำเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากธุรกิจในทุกวัน เช่น ผู้ผลิตสินค้าชนิดหนึ่งที่มีคาร์บอนฟุตพรินต์เยอะมาก จึงมาทำโครงการประหยัดพลังงาน ซึ่งโครงการนี้อาจทำให้บริษัทได้คาร์บอนเครดิตขึ้นมา แต่แทนที่เขาจะมองว่าต้องมาลดการใช้พลังงานในบริษัทตัวเอง ก็กลายเป็นว่าเอาคาร์บอนเครดิตไปขายคนอื่น เป็นรายได้เข้าโครงการแทน ซึ่งอันนี้ผิดหลักการไปมาก อยากให้พวกเขาตั้งใจลดที่กระบวนการผลิตหรือกระบวนการดำเนินกิจการของตัวเองก่อน

สิ่งที่เรากลัวคือ ผู้ผลิตเหล่านี้จะไม่ยอมช่วยกันลงทุน สร้างสรรค์ วิจัย พัฒนา เพื่อสร้างสินค้าทางเลือกที่ดีกับสิ่งแวดล้อมให้กับผู้บริโภค เพราะรู้สึกว่าถ้าต้องมาปรับปรุงกระบวนการผลิตข้างในมันใช้เงินเยอะ ปรับปรุงกระบวนการผลิตอาจใช้เงินพันล้านบาท แต่สร้างโครงการคาร์บอนเครดิตอาจใช้เงินแค่สิบล้าน ทั้งได้ภาพลักษณ์และยังไม่นับว่าเอาคาร์บอนเครดิตไปขายได้อีกต่างหาก อันนี้เราว่าผิดจากหลักการที่ควรจะเป็น

อีกกรณีหนึ่งคือ การที่คนตัวเล็กตัวน้อยถูกรณรงค์ให้ต้องงดใช้พลาสติก ขณะที่คนดังเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัว ล่าสุด เทย์เลอร์ สวิฟต์ ถูกจัดอันดับให้เป็นคนดังที่เดินทางด้วยเครื่องบินบ่อยที่สุดจนคนออกมาตั้งคำถามว่าต่อให้ปัจเจกงดใช้หลอดพลาสติกไปทั้งชีวิตก็ไม่เท่ากับที่เธอบินภายในวันเดียว เรามีทางจัดการเรื่องนี้ไหม

ถ้าเราจะใช้ระบบทุนนิยมกับกลไกเศรษฐกิจปัจจุบันให้เป็นประโยชน์ เราคงด่าคนดังในฐานะปัจเจกว่าตัวเลือกของคุณเป็นแบบนี้ คุณรวยขนาดนี้ คุณได้ทำอะไรบ้างหรือยัง บริจาคเงินเพื่อไปปลูกป่าบ้างไหม อนุรักษ์ทะเลบ้างไหม แต่มองในตัวระบบทุนนิยม เราก็อาจจะพูดว่า บริษัทที่ให้บริการเครื่องบินแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไร คุณได้เงินจากเหล่าคนดังนะ ตัวคนดังอาจจะบอกว่าก็ฉันจ่ายเงินไปแล้ว ฉันซื้อบริการ ก็ต้องเป็นหน้าที่บริษัทเครื่องบินที่จะต้องบริการให้ดีและรับผิดชอบต่อโลก

ถ้าจะมีกฎหมายเพื่อควบคุม เรามองว่าคงต้องออกมาเพื่อควบคุมบริษัทเหล่านี้ ให้เปิดเผยมาเลยว่าคุณออกบินไปเท่าไหร่ ได้เงินมาเท่าไหร่ ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไปเท่าไหร่ เมื่อคุณเกิดความมั่งคั่งจากสิ่งนี้แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร

เรายังมีวิธีประนีประนอมเรื่องทุนนิยมกับโลกร้อนไหม

(คิดนาน) มันมีความเชื่อสองฝั่ง กลุ่มหนึ่งก็เชื่อว่า ไม่ได้เลย เราต้องลดทุนนิยมไปเลย กับอีกฝั่งคือถ้าแก้ทุนนิยมไม่ได้ ก็ทำให้คนที่อยู่ในทุนนิยมนั้นหรือคนที่ร่ำรวยเป็นหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของโลกช่วยเมตตาคนอื่นบ้าง มันก็มีเศรษฐีโลกที่จำใจต้องมีสำนึกที่ดี แต่ก็มีคนที่รวยอยู่ในเงาและช่วยเหลือเรื่องนี้จริงๆ

กำลังจะมีการเลือกตั้งในปีหน้านี้ ถ้าให้ออกแบบนโยบายว่าด้วยสิ่งแวดล้อมให้พรรคการเมือง อยากออกแบบนโยบายอะไร ประเด็นสิ่งแวดล้อมไหนที่อยากเห็น

มีเรื่องหนึ่งที่เราอยากเห็นมากๆ แต่ไม่เคยเห็นเลย อยากให้หน่วยงานรัฐทุกหน่วยทำคาร์บอนฟุตปรินต์ ที่ผ่านมาเราบังคับแต่ภาคเอกชนมาตลอด แต่ภาครัฐล่ะ ยิ่งที่ผ่านมามียานพาหนะ เครื่องบิน รถถังต่างๆ เราก็อยากเห็นว่าก่อคาร์บอนฟุตปรินต์กันไปเท่าไหร่ หรือการเปิดไฟรัฐสภาเพื่อประชุม เต็มสภาบ้าง หายบ้าง ก็อยากเห็นรายละเอียดตรงนั้น เราเลยอยากให้มีนโยบายให้แต่ละกระทรวงแข่งกันว่าใช้งบประมาณอย่างไร ปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ และอยากเห็นกระทรวงที่เกี่ยวกับโลกร้อน อยากเห็นหน่วยงานที่บูรณาการ สิ่งแวดล้อม พลังงาน วิทยาศาสตร์ การศึกษาที่เฉพาะกับเรื่องโลกร้อน

สุดท้ายก็อยากเห็นนโยบายสนับสนุนคนรุ่นใหม่หรือรุ่นเก๋าก็ได้ที่อยากใช้ศักยภาพ ความคิดสร้างสรรค์ ทำสินค้าที่เป็นมิตรกับโลกมากกว่า ออกมาเป็นทางเลือก มาแข่งกันแบรนด์ใหญ่ๆ ได้ อยากเห็นรัฐบาลที่กล้า empower คนตัวเล็กๆ ได้ด้วย

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Interviews

3 Sep 2018

ปรากฏการณ์จีนบุกไทย – ไชน่าทาวน์ใหม่ในกรุงเทพฯ

คุยกับ ดร.ชาดา เตรียมวิทยา ว่าด้วยปรากฏการณ์ ‘จีนใหม่บุกไทย’ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการท่องเที่ยว แต่คือการเข้ามาลงหลักปักฐานระยะยาว พร้อมหาลู่ทางในการลงทุนด้านต่างๆ จากทรัพยากรของไทย

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

3 Sep 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save