fbpx
Site of Memory / Site of Contesting : การเดินทางของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

Site of Memory / Site of Contesting : การเดินทางของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ธนาวิ โชติประดิษฐ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

มาตรา 34 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน

เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น

 

มาตรา 44 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น

จาก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

 

ข้อ 21 สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติ หรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชนหรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น

จาก กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง 

 

พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ระบุว่า “การชุมนุมสาธารณะ” หมายความว่า การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่ ส่วน “ที่สาธารณะ” หมายความว่า ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน หรือที่หน่วยงานของรัฐมิได้เป็นเจ้าของแต่เป็นผู้ครอบครองหรือใช้ประโยชน์ บรรดาซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ รวมตลอดทั้งทางหลวงและทางสาธารณะ

ดังนั้น การชุมนุมสาธารณะจึงประกอบด้วยองค์ประกอบสองประการ ได้แก่ การชุมนุมนั้นเป็นการชุมนุมในที่สาธารณะ และบุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมการชุมนุมนั้นได้

 

ไม่กี่วันหลังแฟลชม็อบที่นำโดยพรรคอนาคตใหม่ที่สกายวอล์คหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มิตรสหายท่านหนึ่งได้แชร์บทความ The Secret to a Happy, Healthy City? Places for People to Protest ที่หน้าเฟซบุ๊กของตัวเอง บทความดังกล่าวว่าด้วยความสำคัญของพื้นที่สาธารณะในเมืองต่อการประท้วงและการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ ท่อนหนึ่งที่ว่า “The idea behind protests is that you have the right to expression, and that includes taking up space” ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการประท้วง สิทธิในการแสดงออก และพื้นที่เชิงกายภาพที่เปิดให้สิทธิในการแสดงออกผ่านการประท้วงนั้นเกิดขึ้น

ในแง่นี้ พื้นที่สาธารณะที่คนมารวมตัวกันชุมนุมได้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรับรองว่าการแสดงออกของผู้คนจะมีตัวตนเป็นที่รับรู้ได้ เมืองที่มีความสุขคือเมืองที่สิทธิในการแสดงออกของผู้คนได้รับการประกันความสำคัญผ่านการจัดสรรพื้นที่สาธารณะ คือเมืองที่เรามีสิทธิมีเสียง คือเมืองที่ผังเมืองเปิดโอกาสให้เราได้รับการ “เห็นหัว” (ทั้งความหมายตรงตามตัวอักษรและเชิงสำนวน)

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย สนามหลวงเคยทำหน้าที่เป็นพื้นที่สำหรับการชุมนุมทางการเมืองครั้งสำคัญในกรุงเทพฯ มานับครั้งไม่ถ้วน จนกระทั่งนโยบายปิดและปรับปรุงพื้นที่ของกรุงเทพมหานครเข้ามาปิดกั้นโอกาสการใช้พื้นที่ในบทบาทเช่นนี้ไป อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและลานพระบรมรูปทรงม้าอันเคยเป็นที่ตั้งของหมุดคณะราษฎรก็เช่นกัน การที่พื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ หดหายลงทุกทีจนถึงจุดขาดแคลน ไม่ได้เป็นผลมาจากวิสัยทัศน์ในการจัดการเมืองที่ให้ความสำคัญกับรถมากกว่าคนเท่านั้น หากยังมีประเด็นเรื่องความเป็นเจ้าของพื้นที่ อำนาจเหนือพื้นที่และมูลค่าของพื้นที่ในแต่ละย่าน แต่ละตารางนิ้ว ที่แตกต่างกัน เป็นปัจจัยในการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ด้วย

ในวาระอันบีบคั้นจนพื้นที่ถูกบีบแคบเช่นนี้ ผู้คนย่อมจะหาหนทางไป

พื้นที่หนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมาท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงสิบกว่าปีนี้ คือหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ที่แยกปทุมวัน (เปิดให้บริการเมื่อ พ.ศ. 2551 ดูแลโดยมูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร) แม้ไม่มีนัยยะเชิงการเมืองมาแต่ดั้งเดิม แต่ความหมายเกิดขึ้นได้ ณ จุดใดจุดหนึ่งที่บทบาทหน้าที่และการใช้สอยในทางการเมืองได้เกิดขึ้น สามารถทวีคูณได้ตามกาลเวลา ประเภท และจำนวนของปฏิบัติการบนพื้นที่

วาระทางการเมืองของหอศิลป์ฯ แห่งนี้ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 20 มิถุนายน 2553 หนึ่งเดือนหลังการล้อมปราบกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงใจกลางเมือง และมีกิจกรรม “Big Cleaning Day” เมื่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้จัดรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” โดยใช้หอศิลป์ฯ เป็นสถานที่ถ่ายทำ อภิสิทธิ์ยังได้กล่าวในรายการว่าจะใช้หอศิลป์ฯ เป็นสำนักงานรับฟังประมวลความเห็นเดินหน้าปฏิรูปประเทศ

ต่อมาหอศิลป์ฯ ได้ถูกใช้เป็นศูนย์บัญชาการของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ในยุทธศาสตร์ “Shutdown กรุงเทพฯ” ที่เริ่มต้นในวันที่ 13 มกราคม 2557 ในขณะนั้น หอศิลป์ฯ อยู่ในความดูแลของ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งควบตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ในอีกฟากหนึ่งของอุดมการณ์ ผู้ชุมนุมหลากหลายวาระโอกาสได้พยายามจะใช้พื้นที่ลานด้านหน้าหอศิลป์ฯ เป็นพื้นที่เพื่อแสดงออกทางการเมืองเช่นกัน คำถามคือเพราะเหตุใดทั้งสองฝ่ายจึงเลือกใช้พื้นที่นี้?

นอกจากเหตุผลที่ว่ากรุงเทพฯ แทบไม่เหลือพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่อื่นๆ แล้ว บริเวณแยกปทุมวันอันเป็นที่ตั้งของหอศิลป์ฯ ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ เนื่องจากเป็นย่านธุรกิจและการท่องเที่ยวที่ที่ง่ายต่อการสัญจรด้วยทั้งรถเมล์และรถไฟฟ้า ทั้งยังอยู่ไม่ห่างจากท่าเรือสะพานหัวช้างที่เป็นเส้นทางเดินเรือโดยสารคลองแสนแสบที่เชื่อมระหว่างท่าเรือผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนิน กับย่านชานเมืองเขตบางกะปิ ความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่เป็นปัจจัยสำคัญ แม้ตัวพื้นที่เองจะมีขนาดเพียง 1,000 ตารางเมตรเท่านั้น

อย่างไรก็ดี การเปิดสกายวอล์ค ทางเดินลอยฟ้าที่เชื่อมแยกปทุมวันเมื่อปี 2560 ก็ได้เพิ่มพื้นที่ในการชุมนุมเหนือผิวถนนขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง สกายวอล์คเกิดขึ้นโดยสมาคมการค้าพลังสยาม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มพันธมิตรผู้ประกอบการกับกรุงเทพมหานคร และ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หอศิลป์ฯ ในฐานะองค์กรที่อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานครได้ร่วมจัดพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้เป็นย่านศิลปะ โดยจัดงานศิลปะกลางแจ้งในรูปของผลงานติดตั้ง จัดวางรูปใบบัวที่ใช้เป็นร่มเงาได้ จะเห็นได้ว่าทั้งลานด้านหน้าหอศิลป์ฯ และสกายวอล์คเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีผู้ดูแลคือหน่วยงานรัฐ และมีเอกชนเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินส่วนหนึ่ง แน่นอนว่าประชาชนย่อมมีสิทธิใช้งานเพราะหน่วยงานรัฐก็ดำรงอยู่ด้วยเงินภาษีของประชาชน

อย่างไรก็ดี การแสดงออกทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม กปปส. และสนับสนุนเผด็จการทหาร บนพื้นที่ลานหน้าหอศิลป์ฯ ล้วนเป็นไปอย่างยากลำบาก เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม  2557 หนึ่งวันหลังรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ มีการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารที่ลานหน้าหอศิลป์ฯ ผู้ชุมนุมรายหนึ่งคือ อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ ถูกควบคุมตัวด้วยข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง

ต่อมา กลุ่มพลเมืองโต้กลับได้จัดกิจกรรม “เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก” ที่ลานหน้าหอศิลป์ในช่วงเย็นของวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 นักกิจกรรมสองรายคือ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ถูกควบคุมตัวเข้าไปในหอศิลป์ฯ ก่อนจะถูกนำตัวไปที่ สน.ปทุมวัน (พร้อมด้วยนักกิจกรรมอีกสองรายคือ อานนท์ นำภา และวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ) หลังจากนั้น มีการชุมนุมที่ลานหน้าหอศิลป์ฯ ในวาระครบรอบหนึ่งปีรัฐประหาร ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ซึ่งก็จบลงด้วยการควบคุมตัวผู้ร่วมกิจกรรมราว 30 คน โดยฉุดกระชากลากถูเข้าไปในหอศิลป์ฯ ก่อนจะนำตัวไปที่ สน.ปทุมวันอีกเช่นกัน และในภายหลังทางการได้ออกหมายจับนักกิจกรรม 9 คนในความผิดฐานชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558

หลังรัฐประหาร 2557 หอศิลป์ฯ ดูจะไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยของการชุมนุมทางการเมืองอีกต่อไป หรือไม่อย่างนั้น ประเด็นก็อยู่ตรงที่ว่า อุดมการณ์ทางการเมืองแบบใดที่ได้รับการอนุญาตให้แสดงออกบนพื้นที่นี้… เว้นเสียแต่ว่าจะมีการบอกเล่าอะไรบางอย่างอยู่อย่างเงียบเชียบ

ในวันที่กลุ่มผู้ชุมนุมครบรอบหนึ่งปีรัฐประหารถูกจับไปจากลานหน้าหอศิลป์ฯ บนลานมีโครงสร้างไม้ขนาดใหญ่ชิ้นหนึ่งตั้งอยู่โดยที่ผู้คนต่างไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร อันที่จริงแล้ว โครงสร้างไม้ชิ้นนั้นคือผลงานศิลปะชื่อ Who will guard the guards themselves ของปรัชญา พิณทอง ภายในมีภาพถ่ายร้านสะดวกซื้อ 7/11 ที่ปิดทำการในช่วงเคอร์ฟิวหลังรัฐประหาร ผลงานของปรัชญาได้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของรัฐประหารต่อทั้งระบบทุนนิยมและชีวิตประจำวันผู้คนไปพร้อมกัน แต่ในวันที่ผู้ชุมนุมถูกจับกุม ผลงานชิ้นนี้ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง สุดท้าย Who will guard the guards themselves ก็จัดแสดงและเสร็จสิ้นลงไปโดยปราศจากการแทรกแซง เป็นศิลปะที่วิพากษ์รัฐประหารบนพื้นที่ที่เหล่าผู้ต่อต้านรัฐประหารหลายต่อหลายคนเคยปะทะกับเจ้าหน้าที่ ตั้งอยู่หน้าอาคารที่พวกเขาเคยถูกบังคับนำตัวเข้าไป ก่อนส่งต่อไปยังสถานีตำรวจ รัฐประหารของคนดี แต่ ใครล่ะจะเฝ้าดู ผู้เฝ้ามอง?Quis custodiet ipsos custodie สำนวนดั้งเดิมภาษาละตินของ Who will guard the guards themselves

หลังการชุมนุมครบรอบหนึ่งปีรัฐประหารได้ไม่นาน ก็เกิดพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ขึ้นมาเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม กฎเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติอันเคร่งครัดถูกตราขึ้นเป็นหมวดหมู่ ทว่านี่ไม่ใช่การจัดสรรพื้นที่สาธารณะเพื่ออำนวยความสะดวกในการแสดงออกของผู้คนตามแนวคิดเมืองที่มีความสุขตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย หากแต่เป็นข้อกำหนดที่รัดรึงทั้งในเรื่องพื้นที่และการกระทำบนพื้นที่นั้นจนแทบกระดิกไม่ได้

มาตรา 7 ที่ว่าด้วยการห้ามจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตำหนัก หรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประทับหรือพำนัก หรือสถานที่พำนักของพระราชอาคันตุกะ ทำให้ลานหน้าหอศิลป์ฯ และสกายวอล์คกลายเป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยง การชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2561 มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาชุมนุมห่างจากเขตพระราชฐานไม่เกิน 150 เมตร

แม้เสรีภาพในการแสดงความเห็นและเสรีภาพในการชุมนุม จะยังมีพื้นที่ในหน้ากระดาษของรัฐธรรมนูญและในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง แต่ในความเป็นจริง สถานการณ์อันบีบคั้นเช่นทุกวันนี้ทำให้พื้นที่ในการแสดงออกหดแคบลงทุกที ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ (ในกรณีของการแสดงความเห็นในโลกออนไลน์ กลไกรัฐที่เข้ามาควบคุมคือ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ) พื้นที่บริเวณลานหน้าหอศิลป์ฯ ที่เคยเป็นที่ขับเคี่ยวกันระหว่างมวลชนของทั้งสองอุดมการณ์ คือกลุ่มสนับสนุนรัฐประหาร/ทหาร vs กลุ่มต่อต้านรัฐประหาร/ทหารแปรสภาพเป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐบาลเผด็จการทหาร (ทั้งนี้ มวลชนกลุ่มแรกไม่มีเหตุอันใดให้ต้องออกมาชุมนุมเนื่องจากได้บรรลุเป้าหมายของตนไปแล้วตั้งแต่ปี 2557 — อาจยกเว้นบางคนที่เปลี่ยนใจ)

ครั้งหนึ่งเคยมีการนัดชุมนุมในรูปแบบแฟลชม็อบเพื่อล่ารายชื่อถอดถอน กกต. ที่บริเวณสกายวอล์ค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และลานหน้าแมคโดนัลด์ ที่แยกราชประสงค์ แต่ทั้งสองแห่งก็ไม่ใช่พื้นที่ที่สะดวกมากนัก โดยเฉพาะบนสกายวอล์ค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิที่มีลักษณะแคบยาว ผู้ชุมนุมไม่สามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนได้ ทั้งยังแน่นขนัดด้วยผู้คนที่สัญจรไปมาเป็นปกติ ตัวเลือกสุดท้ายจึงยังคงเป็นลานหน้าหอศิลป์ฯ และสกายวอล์คที่แยกปทุมวันอยู่ดี ถึงแม้ว่าทุกวันนี้จะเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดก็ตาม

ความไม่สะดวกทั้งปวงนี้นำไปสู่ความยากลำบากเรื่องระยะเวลาในการจัดชุมนุมเช่นกัน แฟลชม็อบซึ่งเป็นการรวมตัวกันระยะสั้นกลายเป็นแนวทางที่พบได้บ่อยในการชุมนุมสาธารณะ โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 เป็นแฟลชม็อบที่ชื่อว่า “เมื่อเสียงที่พวกเราเลือกเข้าสภาไม่มีค่า ได้เวลาประชาชนออกมาส่งเสียงด้วยตัวเอง” นำโดยพรรคอนาคตใหม่ จัดขึ้นเพื่อเชิญชวนผู้ที่ไม่พอใจการสืบทอดอำนาจของ คสช. หลังการเลือกตั้งให้มาแสดงพลังร่วมกัน ที่ลานหน้าหอศิลป์ฯ และสกายวอล์ค ใช้เวลาเพียงหนึ่งชั่วโมงระหว่าง 17.00-18.00 น.

เมื่อการชุมนุมสาธารณะเป็นพิธีกรรมทางการเมืองอย่างหนึ่ง เป็นหนทางที่บุคคลมีโอกาสได้แสดงตัวและความคิดเห็น “พื้นที่” กับ “ร่างกาย” และ “การเคลื่อนไหว” จึงหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการสื่อความหมาย ในการชุมนุมสาธารณะ ปัจเจกบุคคลจะมาอยู่ร่วมกันบนพื้นที่ผ่านการมีจุดร่วมเป็นพันธกิจที่สื่อถึงข้อเรียกร้องบางอย่าง

ในวันนั้น ลานหน้าหอศิลป์ฯ และสกายวอล์คเนืองแน่นไปด้วยผู้คนอย่างที่ไม่ได้ปรากฏมาหลายปี การที่สูตรคำนวณมากมายผุดโผล่ขึ้นมาเพื่อค้นหาว่าพื้นที่ดังกล่าวควรจะบรรจุคนได้มากที่สุดกี่คนนั้น ชี้ให้เห็นว่า “การเห็นหัว” ในเชิงกายภาพนั้นสำคัญ (แม้บางครั้งการให้ความสำคัญจะแสดงออกผ่านการบอกปัดว่ามันไม่สำคัญอย่างมากก็ตาม) จำนวนที่นับได้เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกับเสียงโหวตที่แสดงตัวผ่านการเลือกตั้ง และในภาวะแห่งความตระหนักรู้เช่นนี้เอง ที่กระบวนการปิดกั้นการชุมนุมไม่ให้เกิดขึ้น (อีก) จำเป็นต้องกระทำอย่างแข็งขัน

ผู้คนค่อยๆ ทยอยมาตั้งแต่ราว 16.00 น. จนเต็มพื้นที่ ยืนอยู่บนบันไดสกายวอล์คทั้งสองข้างด้านหน้าหอศิลป์ฯ ขยายไปถึงบริเวณใต้ชายคาอาคารหอศิลป์ฯ เพราะบริเวณลานด้านหน้าแน่นขนัดจนไม่เหลือที่ให้เบียดเข้าไปได้อีก ตัวเลขระหว่าง 800 ถึง 10,000 คน คือจำนวนที่เกิดจากการคิดคำนวณของทั้งสองฝั่งที่เป็นปรปักษ์ต่อกัน

สิ่งที่เห็นเบื้องหน้าอาจไม่น่าพอใจนัก หากเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ชุมนุมหลักแสนเมื่อหลายปีก่อน แต่ก็ไม่น่าจะไร้ความหวังเสียทีเดียว เมื่อธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เดินเข้าประตูหอศิลป์ฯ จากทางเชื่อมด้านบนและจากลานด้านหน้าไป ฝูงชนเคลื่อนขบวนตาม ภาพดังกล่าวชวนให้หวนระลึกถึงวันก่อนเก่าที่ผู้ชุมนุมต้านรัฐประหารถูกฉุดลากเข้าไปในอาคารหลังเดียวกันนี้ด้วยกำลังบังคับ

นี่คือชัยชนะเล็กๆ น้อยๆ ในสายตาของผู้เฝ้ามองความเป็นไปและบทบาทของหอศิลป์ฯ ควบคู่ไปกับสิบปีแห่งวิกฤตการเมือง

และแน่นอนว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น…

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save