fbpx
จับตานโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่ กับ ศิริกัญญา ตันสกุล

จับตานโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่ กับ ศิริกัญญา ตันสกุล

 

แม้ ‘รัฐบาลประยุทธ์ 2’ จะเพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่ แต่ในทางปฏิบัติ สังคมไทยอยู่กับรัฐบาลนี้เข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ทีมเศรษฐกิจ’ ซึ่งแทบจะไม่มีการเปลี่ยนหน้าเลย

คำถามที่สังคมไทยไม่อาจทนเฉยคือ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลทหารดีแค่ไหน และนโยบายใหม่ที่เพิ่งแถลงต่อสภาจะสามารถตอบโจทย์ท้าทายของเศรษฐกิจไทยได้หรือไม่ อย่างไร

ต่อไปนี้คือทัศนะบางส่วนจาก ศิริกัญญา ตันสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย และ ส.ส.ดาวรุ่ง พรรคอนาคตใหม่ ว่าด้วยนโยบายเศรษฐกิจ ตั้งแต่ยุคคสช. เรื่อยมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน เก็บความจากรายการ 101 one-on-one Ep.82

 

:: ปลดปล่อยศักยภาพแรงงาน

ก้าวพ้นค่าแรงขั้นต่ำ ::

 

 

ประเทศเราเป็นเหมือนภูเขาน้ำแข็ง เราใช้คนกลุ่มเดียวในการลากเศรษฐกิจให้เดินหน้า แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ถูกกดทับไว้ใต้ภูเขาน้ำแข็ง ที่ยังรอการปลดปล่อยศักยภาพ โดยเฉพาะในภาคเกษตร

ถามว่าชาวนาชาวไร่มีศักยภาพพอมั้ย เราเชื่อเต็มที่ว่าเขามี แต่การที่เขาจะปลดปล่อยศักยภาพได้ ต้องมีกลไกของรัฐเข้าไปช่วย เช่น การอุดหนุนราคาเครื่องมือเครื่องจักร หรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับเกษตรกรรายย่อย

ในภาคแรงงานก็เหมือนกัน ถ้าเราดึงดูดแต่นักลงทุนที่จะเข้ามาตักตวงประโยชน์จากค่าแรงขั้นต่ำ หรือเห็นเราเป็นแค่โลเคชั่นในการกระจายสินค้า โดยยังใช้ทักษะฝีมือแบบเดิมๆ แรงงานก็คงได้ส่วนแบ่งไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าเราอยากพัฒนาทักษะแรงงานเรา เพื่อให้มีค่าจ้างสูงขื้น อาจต้องมองไปถึงการพัฒนาทักษะใหม่ๆ รวมไปการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษา

แทนที่จะคิดแต่ว่า จะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำยังไง อาจต้องคิดว่าจะหางานดีๆ ให้เขาทำได้ยังไง จากการเพิ่มทักษะฝีมือให้เขา แบบนี้น่าจะเพิ่มเงินในกระเป๋าให้เขาได้ดีกว่า และยั่งยืนกว่า

 

:: เมื่อกระสุนมีจำกัด ต้องโฟกัสให้ถูกจุด ::

 

 

การจะแก้ปัญหาได้ ต้องเปลี่ยนที่มายเซ็ตฝ่ายบริหารก่อน ทุกวันนี้ที่รัฐบอกว่าต้องกระตุ้นทุกภาคส่วน เรากลับมองว่าควรโฟกัสมากกว่า กระสุนคุณมีอยู่นิดเดียว คุณยิงกราดไม่ได้ ต้องยิงให้ตรงเป้า

ในมุมของพรรคอนาคตใหม่ เรามองว่าเป้าสำคัญที่สุดคือภาคการเกษตร กลุ่มนี้ต้องได้รับการช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด เพราะที่ผ่านมา 5 ปี เขาทุกข์ทนจากการที่รายได้ไม่เพิ่มขึ้น

ความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้คือภัยแล้ง วิธีการที่รัฐบาลจะใช้แก้ปัญหาคือการประกันรายได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะได้ผลผลิตเท่าไหร่ แล้วก็ได้ส่วนต่างของราคาจากที่ประกันไว้ ถ้าไม่มีภัยแล้งเขาอาจได้ราคาดี แต่ถ้าไม่มีผลผลิตไปขึ้นเงิน ปัญหาก็ไม่ถูกแก้ รายได้เกษตรกรก็ไม่เพิ่ม ฉะนั้นอาจต้องหาวิธีการใหม่หรือเปล่า

ที่สำคัญคือภัยแล้งไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น มีคนเตือนกันมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว แต่รัฐบาลก็ไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า ปล่อยให้เกษตรกรเพาะปลูกไปแล้ว แล้วค่อยมาไล่แก้กันที่ปลายเหตุ

 

:: เศรษฐกิจดี ไม่ได้วัดที่ GDP อย่างเดียว ::

 

 

ในประเทศที่ความเหลื่อมล้ำสูง การที่ GDP เพิ่มขึ้น ไม่ได้หมายความว่าเงินในกระเป๋าของทุกคนจะเพิ่มขึ้น รัฐบาลที่ผ่านมาไม่ค่อยมีใครพูดถึงมุมนี้ เราแทบไม่คุ้นเลยว่า เขาพูดว่ารายได้เกษตรเพิ่มขึ้นหรือลดลง รายได้ของภาคธุรกิจต่างๆ เพิ่มขึ้นหรือลดลง ไปจนถึงค่าครองชีพต่างๆ ทั้งราคาอาหาร ค่าเดินทาง เพิ่มขึ้นหรือลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้

ฉะนั้นเราอาจต้องปรับวิธีคิด รวมถึงตัวชี้วัดต่างๆ ด้วยว่า อะไรที่มันสามารถสะท้อนว่าเงินในกระเป๋าของคนส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นหรือลดลง

สิ่งที่รัฐบาลที่ผ่านมาพยายามเน้น มี 3 เรื่อง คือดึงดูดนักลงทุน กระตุ้น GDP และแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ

เราพบว่า GDP ที่เขากระตุ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเราไปดูเงินในกระเป๋าแรงงาน หรือค่าจ้างเฉลี่ย จะพบว่าค่าจ้างเพิ่มขึ้นแค่ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หมายความว่าโตแค่ปีละ 1 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับความก้าวหน้าในอาชีพการงานน้อย ที่แย่กว่าคือภาคเกษตร ซึ่งรายได้ลดลง 3 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แล้วถ้าไปดูหนี้ครัวเรือน จะพบว่าโตขึ้นถึง 28 เปอร์เซ็นต์ โตเร็วกว่า GDP อีก

ในทางกลับกัน ถ้าไปดูลิสต์บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะพบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทเหล่านี้เติบโตเร็วมาก กำไรของบมจ.ในตลาดหลักทรัพย์ เพิ่มขึ้นถึง 33 เปอร์เซ็นต์ และถ้าไปดูความมั่งคั่งของเศรษฐีที่ติดอันดับใน Forbes จะพบว่าสินทรัพย์ของคนที่อยู่ในลิสต์ Thailand’s 50 richest ของ Forbes เพิ่มขึ้นถึง 64 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ GDP เราโตแค่ 15 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้น การที่เค้กใหญ่ขึ้น ไม่ได้แปลว่าส่วนแบ่งเค้กของทุกคนจะใหญ่ขึ้นเสมอไป ต้องดูด้วยว่าผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นนั้นไปตกอยู่ที่ใคร หรือกลุ่มไหนเป็นพิเศษรึเปล่า

 

:: นโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้ทุนใหญ่ ::

 

 

การที่ทุนใหญ่มีความสนิทชิดเชื้อกับรัฐบาลได้มากขนาดนี้ สามารถเข้ามามีอิทธิพลทางนโยบายได้มากขนาดนี้ เส้นแบ่งระหว่างความช่วยเหลือจากเอกชน กับความขัดแย้งของผลประโยชน์ (conflict of interest) มันเป็นเส้นบางๆ มาก

เราจะรู้ได้ยังไงว่าการออกนโยบายของรัฐบาลในแต่ละครั้ง เป็นไปโดยปกติ ไม่มีอิทธิพลหรือผลประโยชน์จากกลุ่มทุน เพราะหลายๆ ครั้ง เราก็เห็นแล้วว่า นโยบายบางอย่างที่รัฐออกมา มีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนที่สนิทชิดเชื้อกับรัฐบาลอย่างชัดเจน เช่น สัมปทานดิวตี้ฟรี การประมูล 4G หรือการอุ้มทีวีดิจิทัล

แม้ที่ผ่านมาจะมีการทักทวงจากภาคประชาสังคม ภาคประชาชน มาโดยตลอด แต่รัฐบาลก็ยังคงยืนยันตามเดิม ไม่ได้มีการแก้ไขตามข้อเรียกร้องแต่อย่างใด นโยบายเหล่านี้ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า ทำไมทุนใหญ่จึงเข้ามามีอิทธิพลในรัฐบาลได้ขนาดนี้

ในทางกลับกัน เราเชื่อว่าการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม รัฐต้องเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแล เพื่อให้เกิดการแข่งขัน และเพื่อให้การแข่งขันนั้นมีความแฟร์ ซึ่งในฝั่งผู้บริโภคเองก็จะได้รับประโยชน์ด้วยจากการแข่งขันที่เป็นธรรมด้วย

 

:: ประชาชนไร้ศักยภาพ

หรือโครงสร้างสังคมไม่เอื้อ ::

 

 

รัฐบาลที่ผ่านมาค่อนข้างมีอคติกับประชาชน มองว่าประชาชนไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราว ไม่มีวินัย ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย สิ่งที่เราได้ฟังจากการแถลงนโยบาย จะมีคำพูดทำนองนี้ออกมาเรื่อยๆ แต่ในความเป็นจริง มันมีโครงสร้างบางอย่างกดทับเขาอยู่รึเปล่า ทำให้ประชาชนไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้

ยกตัวอย่างคนที่เป็น SME รายเล็กรายน้อย มันมีอะไรที่ทำให้เขาไม่สามารถโตไปตามลำดับขั้น และขยับไปเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ได้รึเปล่า มีโครงสร้างบางอย่างที่กดทับเขาไว้รึเปล่า

ถ้าเราสามารถทำให้คนปลดปล่อยศักยภาพตัวเองได้ สามารถเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม เรื่องรายได้ที่เพิ่มขึ้นไม่เท่าทันกับรายจ่าย หรือปัญหาหนี้ครัวเรือน ก็น่าจะค่อยๆ บรรเทาลงไป แต่แน่นอนว่าคงไม่ใช่ในระยะเวลาอันสั้น เพราะสถานการณ์ตอนนี้ก็ยังปริ่มน้ำอยู่ อีกนิดเดียวก็จะจมแล้ว

 

:: มาตรการด้านภาษีที่ดีควรเป็นอย่างไร ::

 

 

ลักษณะของภาษีที่ดีคือ หนึ่ง ทำให้รัฐมีรายได้เพียงพอในการใช้จ่ายงบประมาณ สอง มีความเป็นธรรม คนที่มีความสามารถสูง หาเงินได้เยอะ ก็ต้องจ่ายเยอะ สาม ภาษีอาจเป็นไปเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคน แต่ต้องไม่เป็นไปเพื่อลดทอนความอยากทำงานของคน หรือทำให้พฤติกรรมคนบิดเบี้ยว

ขณะเดียวกัน การจะลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่แค่การเก็บภาษีจากคนที่มีมากอย่างเดียว แต่เมื่อเก็บมาแล้ว ต้องถ่ายโอนไปสู่คนที่มีน้อย เพื่อให้เขาลืมตาอ้าปากได้ด้วย จึงจะเป็นวงจรภาษีที่สมบูรณ์และลดความเหลื่อมล้ำได้จริง

ทั้งนี้ถ้าดูในช่วงที่ผ่านมา การหารายได้เข้ารัฐจากการเก็บภาษี ก็ถือว่าพลาดเป้ามาโดยตลอดทุกปี ปีละประมาณแสนล้านบาท ยกตัวอย่างภาษีที่อยู่บนฐานของทรัพย์สิน เช่นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จำได้ว่าร่างแรกที่เสนอ อัตราสูงกว่านี้ 3-4 เท่า แต่ไปๆ มาๆ อัตราก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ถ้าใช้อัตราแรกที่เสนอ รัฐจะมีรายได้เพิ่มอีกสี่หมื่นล้านเข้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจะลดเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางได้

อีกส่วนที่ยังไม่มีการวิจัยชัดเจน คือภาษีกำไรจากตลาดทุน ถ้ากลัวนักลงทุนรายย่อยได้รับผลกระทบ ก็อาจเริ่มจากนักลงทุนรายใหญ่ก่อน

 

:: จากนักวิจัย สู่นักการเมือง ::

 

 

ตอนเราเป็นนักวิจัย ก็มีบ้างที่เราต้องลงไปเก็บข้อมูลกับประชาชน แต่ก็ถือเป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่จะอยู่กับหน้าจอ นั่งทำข้อมูล ทำตัวเลข แต่พอมาเป็นนักการเมือง ก็ต้องมีการลงพื้นที่มากขึ้น ลงไปฟังข้อมูล ข้อคิดเห็น ฟังปัญหาจากประชาชนมากขึ้น ซึ่งให้อารมณ์ที่แตกต่างกัน ได้เห็นความทุกข์ร้อนที่อยู่ตรงหน้าจริงๆ ได้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วจริงๆ

ลำพังตัวเลขที่เราเห็นอยู่บนหน้าจอ มันอาจไม่ได้บอกว่าเขาทุกข์แค่ไหน แต่การได้เห็นน้ำตาของเขา มันมี Human touch จริงๆ ว่านี่คือความเดือดร้อนที่เราต้องรีบแก้ไข และเราต้องผลักดันอะไรมากกว่าแค่การทำเอกสารหรืองานวิชาการออกมา ถ้ามีช่องทางไหนที่สามารถผลักดัน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ เราก็ต้องทำทุกวิถีทาง

ขณะเดียวกัน การได้เข้าสภา ทำให้เห็นว่ามันไม่ต่างจากเวทีที่เอาไว้ต่อรองผลประโยชน์ แต่แทนที่จะเป็นผลประโยชน์ของตัวเราเอง มันกลายเป็นผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน เราเห็นภาพนี้ชัดขึ้นจากตอนที่เป็นแค่นักวิจัย ที่วิเคราะห์และมองทุกอย่างตามทฤษฎี

MOST READ

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save