fbpx
สุขภาพ vs. เสรีภาพ สำรวจสิทธิคนไทย ยุคโควิด-19 กับ ศิริกาญจน์ เจริญศิริ

สุขภาพ vs. เสรีภาพ สำรวจสิทธิคนไทย ยุคโควิด-19 กับ ศิริกาญจน์ เจริญศิริ

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

ยศธร ไตรยศ ภาพ

 

 

หลังการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลไทยได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าจะถูกขยายไปถึงสิ้นเดือนมิถุนายน ทั้งที่สถานการณ์ผู้ติดเชื้อในประเทศที่ลดลงเหลือเลขหลักเดียว สะท้อนแนวโน้มของการควบคุมโรคที่ดี พร้อมกับการคลายมาตรการล็อกดาวน์ต่างๆ

สถานการณ์ปัจจุบันทำให้เกิดคำถามถึงความจำเป็นของการต่ออายุพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่าจุดมุ่งหมายของการคงกฎหมายนี้ไว้เพื่อ ‘ควบคุมโรค’ หรือ ‘ควบคุมประชาชน’

ประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพกลายเป็นข้อกังวลที่เกิดขึ้นทั่วโลก เมื่อมาตรการจัดการโรคระบาดทำให้ต้องจำกัดสิทธิของประชาชนบางประการ และรัฐบาลอำนาจนิยมบางประเทศก็ฉวยใช้โอกาสนี้ละเมิดประชาชนเกินความจำเป็น

101 สนทนากับ ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทางรายการ 101 One-On-One Ep.139 : สุขภาพ Vs. เสรีภาพ สำรวจสิทธิคนไทย ยุคโควิด-19 ถึงมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศ เมื่อโควิด-19 สร้างข้อท้าทายใหม่ต่อการปกป้องสิทธิมนุษยชนและเป็นบททดสอบที่สำคัญของรัฐบาลทั่วโลกในการยืนยันหลักการประชาธิปไตยเพื่อรับมือกับภัยคุกคามทางสุขภาพ

เราควรตอบคำถามอย่างไร หากต้องเลือกระหว่าง ‘สุขภาพ’ กับ ‘เสรีภาพ’

 

ศิริกาญจน์ เจริญศิริ

 

รับมือโควิด-19 จำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน?

 

ตั้งแต่ช่วงแรกที่เกิดข่าวโรคระบาดที่ประเทศจีน หลายประเทศก็เริ่มมีการแจ้งเตือน และเริ่มใช้มาตรการด้านสุขภาพอนามัยเพื่อควบคุมไม่ให้โรคระบาดเข้ามาในประเทศ กฎหมายที่ไทยมีอยู่แล้วนั้นเพียงพอที่จะใช้ป้องกันตั้งแต่ต้น แต่รัฐบาลอาจมองว่าไม่ทันการ เมื่อเริ่มเข้าสู่ภาวะที่อาจไม่สามารถระงับการแพร่ระบาดในไทยได้แล้วจึงใช้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ช่วงที่มีปัญหาเรื่องหน้ากาก เราก็มีกฎหมายเกี่ยวกับการห้ามกักตุนสินค้าอยู่แล้ว ส่วนเรื่องโรคระบาด เราก็มี พ.ร.บ.โรคติด ต่อซึ่งให้อำนาจค่อนข้างกว้างอยู่แล้ว แต่รัฐบาลไทยกลับเลือกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะมุ่งเน้นรวดเร็วในการปิดสถานที่หรือประกาศเคอร์ฟิว

ไม่ปฏิเสธว่า โควิด-19 เป็นสถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน แต่การหยิบเอา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาใช้มีปัญหามาตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้

1. ต้นกำเนิดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้ถูกร่างมาเพื่อใช้จัดการกับโรคระบาด แต่ถูกนำมาจัดการกับปัญหาความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2548 ที่มีการอธิบายว่าต้องการใช้กฎหมายนี้แทนกฎอัยการศึก แต่ปัจจุบันในพื้นที่สามจังหวัดก็ยังใช้ทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความมั่นคง ชุดกฎหมายพิเศษนี้ให้อำนาจหน่วยงานความมั่นคงหรือทหารมากกว่าหน่วยงานพลเรือน มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการปัญหาความไม่สงบ ปัญหาความรุนแรง หรือในภาวะศึกสงคราม ทำให้หน่วยงานความมั่นคงมีอำนาจจัดการอะไรได้เร็ว โดยเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่รวมอำนาจหน่วยงานต่างๆ มาอยู่ในมือนายกรัฐมนตรี แต่กฎหมายพิเศษนี้ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ยาวนานกว่า 15 ปีได้

2. โควิด-19 ยกระดับเป็นการระบาดทั่วโลก สิ่งสำคัญที่จะจัดการกับสภาวะนี้ไม่ใช่เรื่องการใช้กฎหมาย แต่ต้องใช้มาตรการทางสังคม มาตรการเศรษฐกิจ มาตรการสาธารณสุข พร้อมกับความร่วมมือของประชาชน

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้เหมาะสำหรับนำมาใช้จัดการโรคระบาดตั้งแต่ต้น และให้อำนาจในการจำกัดสิทธิเสรีภาพ เรื่องที่น่ากังวลที่สุดและเป็นปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดคือเรื่องความรับผิดของเจ้าหน้าที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตัดอำนาจศาลปกครองในการเข้ามาพิจารณาทบทวนมาตรการและการกระทำของเจ้าหน้าที่ แม้จะไม่ได้ตัดโอกาสยื่นเรื่องไปที่ศาลยุติธรรมหรือศาลพลเรือน แต่ศาลปกครองจะมีมาตรการที่เหมาะสมเกี่ยวกับราชการและเรื่องทางปกครองมากกว่า

กรณีมาตรการ fit to fly คนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศต้องมีใบรับรองแพทย์และใบรับรองจากสถานทูตไทย เราแสดงความกังวลแต่แรกว่ามาตรการนี้ไม่สัมฤทธิ์ผลและสร้างความยากลำบากเกินสัดส่วน และรัฐธรรมนูญรับรองว่ารัฐไม่สามารถมาห้ามไม่ให้บุคคลสัญชาติไทยเดินทางกลับประเทศ ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด ซึ่งเป็นสิทธิสมบูรณ์เด็ดขาดที่รัฐไม่สามารถมาจำกัดได้ แต่มาตรการนี้ก็ยังใช้อยู่ แล้วมีนักศึกษาไทยในต่างประเทศยื่นฟ้องไปที่ศาลปกครอง แต่ศาลไม่รับไว้พิจารณาโดยบอกว่าถูกตัดอำนาจไปแล้วตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พอไปที่ศาลยุติธรรม ศาลก็ยกฟ้องโดยบอกว่า นายกฯ มีอำนาจตามพ.ร.ก.แล้ว ถือว่าเป็นการทำตามกฎหมาย ไม่ได้ละเมิด

จะเห็นได้ว่าหากเกิดการละเมิดในระหว่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน บังคับใช้ การให้ศาลเข้ามาตรวจสอบหรือให้เจ้าหน้าที่รับผิดจะเป็นไปค่อนข้างยาก

 

ต่ออายุกฎหมาย ยกเว้นการรับผิด-ห้ามคนชุมนุม

 

ขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ที่ทางการประกาศแต่ละวันมีแนวโน้มที่ดีแล้ว การกลับมาใช้กฎหมายปกติป้องกันโรคระบาดนั้นย่อมทำได้ เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นกฎหมายที่มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อประชาชน เมื่อสถานการณ์รุนแรงน้อยลงแล้ว ก็ไม่เห็นความจำเป็นในการขยายระยะเวลาการบังคับใช้ออกไปอีก ไม่ได้หมายความว่าจะให้รัฐยกเลิกมาตรการต่างๆ แต่สามารถทำได้ด้วยกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ทั้ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ กฎหมายควบคุมการกักตุนสินค้า กฎหมายคนเข้าเมือง

หากจะมองถึงเหตุผลที่ภาครัฐต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หน่วยงานราชการและเจ้าหน้าที่รัฐอาจคิดว่าเป็นผลดีกับเขาและอาจยังอยากรวมศูนย์อำนาจไว้ที่นายกรัฐมนตรีและ ศบค.

จากการทำงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและติดตามสถานการณในช่วงโควิด เราพบว่าการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ภายใต้กรอบของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีแนวโน้มที่เข้มงวด ส่วนหนึ่งอาจเพราะเป็นกฎหมายที่มีการยกเว้นการรับผิดของเจ้าหน้าที่ ทำให้การกระทำที่อาจละเมิดประชาชนนั้นไม่ต้องรับผิดโทษทางแพ่ง อาญา และวินัย ทั้งที่มาตรการต่างๆ ที่ออกมาภายใต้ข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็บอกว่าให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดออกคำสั่ง ซึ่งผู้ว่าฯ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีอำนาจหน้าที่อยู่แล้ว แต่คล้ายเอา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาหุ้มกฎหมายปกติ เป็นการคุ้มกันความรับผิดที่อาจทำได้ยากขึ้นในบริบทนี้

อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม เป็นเหตุผลหนึ่งที่เขาอ้างว่ากฎหมายอื่นไม่สามารถให้อำนาจรัฐบาลห้ามผู้คนมารวมตัวกันชุมนุมและอาจเสี่ยงเกิดการติดเชื้อหรือแพร่ระบาดของโควิด-19ได้ แต่มาตรการนั้นก็มีความคลุมเครือ เช่นการบอกว่า ‘ห้ามทำกิจกรรม’ นั้นหมายถึงอะไรบ้าง หรือที่ระบุว่าห้ามกระทำการ ‘ยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย’ เป็นข้อกังวลว่าจะเป็นการเปิดช่องให้ตีความได้กว้าง อาจเป็นอีกวัตถุประสงค์หนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่

 

‘ปิดกั้นข้อมูล’ – ‘เคอร์ฟิว’ มาตรการเกินความจำเป็น

 

อีกสิ่งหนึ่งที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้อำนาจไว้คือการเซ็นเซอร์หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่เห็นว่าเป็นข้อความเท็จหรือบิดเบือน โดยอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเข้าใจผิด ซึ่งเป็นการสร้างความกลัวและความกังวลในการแลกเปลี่ยนและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร อีกทั้งเรื่องนี้มีกฎหมายอื่นอยู่แล้วที่รัฐใช้ดำเนินคดีการแสดงความคิดเห็นออนไลน์มาโดยตลอด คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

เราเห็นมาโดยตลอดว่ามีการสื่อสารที่ผิดพลาดทั้งโดยภาครัฐเองและประชาชน ซึ่งทำไปโดยไม่ได้มีเจตนาลวงหรือก่อให้เกิดความตระหนก แต่เป็นข้อมูลที่ต้องมีการตรวจสอบความถูกต้อง การจัดการข้อมูลเหล่านี้ไม่ถึงขั้นต้องใช้กฎหมายอย่างรุนแรง แต่สามารถใช้มาตรการอื่นๆ ได้ รวมถึงการให้เสรีภาพสื่อเป็นตัวกลางส่งต่อข้อมูล และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารให้ถูกต้องและทันท่วงที

หากมีการควบคุมข่าวสาร แล้วคุณแมทธิว ดีน ไม่ได้ออกมาเปิดเผยว่าตัวเองตรวจเจอโควิด ก็ไม่รู้ว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นมากแค่ไหนเมื่อทุกคนไม่รู้ว่าคลัสเตอร์สนามมวยแพร่กระจายโรคไปทั่วประเทศ

มีการดำเนินคดีกับการตั้งคำถามถึงมาตรการของรัฐ เช่น การจับกุมดำเนินคดี ‘คุณดนัย’ ศิลปินกราฟฟิตี้ที่เดินทางกลับมาจากสเปนแล้วโพสต์ตั้งคำถามถึงการคัดกรองคนที่สนามบินสุวรรณภูมิ การดำเนินคดีต่อการแสดงความคิดเห็นออนไลน์เช่นนี้ไม่จำเป็นและไม่ได้สัดส่วนกับสภาวะที่ประเทศอยากป้องกันการแพร่ระบาดโควิด คุณดนัยถูกจับตัวขณะกำลังกักตัวอยู่ในบ้านที่ภูเก็ต แล้วนำตัวมารับทราบข้อกล่าวหาที่กรุงเทพฯ และถูกขังรวมกับผู้ต้องขังคนอื่นหนึ่งคืน หากคุณดนัยเป็นผู้ติดเชื้อโควิดเพราะกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงก็จะเป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่และประชาชนทั่วไป

ข้อกำหนดนี้เป็นการทำให้เกิดความหวาดกลัวเป็นหลัก เราจะเกิดความกลัวในการตั้งคำถามหรือแลกเปลี่ยนกับคนอื่นเรื่องการป้องกันและยับยั้งโรคระบาด กลายเป็นผลร้ายมากกว่าผลดีต่อการระงับยับยั้งโรคระบาด ประชาชนมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เพื่อจะได้รู้อย่างทันท่วงทีว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างและเขาต้องดูแลรักษาตัวเองอย่างไร

อีกส่วนหนึ่งคือผลกระทบต่อบทบาทของสื่อ โดยเฉพาะเรื่องเคอร์ฟิวที่ประกาศห้ามบุคคลออกจากเคหสถานจาก 4 ทุ่มถึงตี 4 ในหลายประเทศก็มีเคอร์ฟิวในลักษณะต่างกัน ต้องดูว่าเบื้องหลังการประกาศเคอร์ฟิวนั้นรัฐบาลคำนึงถึงอะไรบ้าง คนขับรถบรรทุกกะกลางคืนจะได้รับผลกระทบทันทีทันใด สื่อห้ามไปรายงานข่าวหลังสี่ทุ่ม ถือเป็นมาตรการที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพเกินความจำเป็น และทำให้ผู้ฝ่าฝืนเจอโทษอาญาและโทษปรับ มีการดำเนินคดีคนฝ่าฝืนเคอร์ฟิวเยอะมาก คนกลุ่มที่ลำบากมากคือคนที่ไม่มีบ้านอยู่ รัฐไปซ้ำเติมจากการที่เขาต้องตกงานไม่มีบ้านแล้วต้องถูกดำเนินคดีด้วย

 

มาตรการ ‘ฉุกเฉิน’ ต้องใช้ชั่วคราว

 

กฎหมายระหว่างประเทศระบุชัดเจนว่า หากรัฐเจอสถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามความอยู่รอดของรัฐหรือของชาติก็จะอนุญาตว่า 1. รัฐสามารถเลี่ยงพันธะกรณีบางอย่างได้ 2. มาตรการฉุกเฉินที่เกิดขึ้นอาจไปจำกัดสิทธิเสรีภาพบางส่วนได้ 3. ต้องเป็นไปตามกรอบของคำว่า ‘ฉุกเฉิน’ คือเป็นมาตรการชั่วคราวตามความจำเป็นที่จะจัดการให้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้นยุติโดยเร็ว

ที่สำคัญคือประเทศที่เป็นภาคีกติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในกรอบกฎหมายสิทธิมนุษยชนยูเอ็นจะต้องแจ้งไปที่สหประชาชาติหากมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วจะเลี่ยงพันธกรณีต่างๆ ซึ่งอาจแจ้งทันทีหรือแจ้งไปภายหลังก็ได้

สิทธิเสรีภาพบางอย่างที่จำกัดได้ในสถานการณ์นี้ เช่น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการเดินทาง แต่ต้องประเมินว่าได้สัดส่วนไหม จำเป็นไหม ถูกกฎหมายไหม ไม่เลือกปฏิบัติหรือเปล่า แต่มีสิทธิเสรีภาพที่จะจำกัดไม่ได้เลยแม้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น สิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน ไม่ถูกอุ้มหาย ไม่ถูกบังคับให้ไปเป็นแรงงานทาส สิทธิที่จะไม่ถูกควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม

มุมมองจากประชาคมสิทธิมนุษยชนที่มองไทยตอนนี้จะมีความกังวลในหลายระดับ

1. การเลือกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สร้างความน่ากังวล เพราะเป็นกฎหมายที่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้กับโรคระบาด แต่ถูกใช้กับความรุนแรงทางการเมืองเป็นหลัก

2. มีข้อกำหนดไม่ชัดเจน ข้อกังวลหลักคือเรื่องการควบคุมการรายงานข่าว ในมุมมองกฎหมายระหว่างประเทศมองว่าส่วนนี้เกินความจำเป็นและละเมิดเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและแสดงออกมากจนเกินไป

3. นโยบายเกี่ยวกับการเดินทางเข้าประเทศของบุคคลสัญชาติไทยเป็นการกีดกันที่สร้างความยากลำบาก และเป็นการละเมิดที่ชัดเจนมาก

ส่วนความจำเป็นเรื่องการขยายระยะเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นอำนาจของรัฐนั้นๆ ที่จะพิจารณาว่าสถานการณ์มีความจำเป็นต้องขยายต่อไปหรือไม่ หากพ้นภาวะฉุกเฉินควรเริ่มผ่อนคลายและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ใช้กฎหมายที่มีอยู่เพื่อไม่ให้เสรีภาพและสิทธิขั้นพื้นฐานถูกทำลายจนไม่สามารถที่จะเยียวยากลับมาได้เหมือนเดิม

 

ข้อท้าทายใหม่สิทธิมนุษยชนโลก

 

สถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกเกิดข้อท้าทายมาระยะหนึ่งแล้ว รัฐบาลทั่วโลกมีแนวโน้มอำนาจนิยมมากขึ้น จึงเป็นข้อท้าทายจากมุมมองของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์ โควิด-19 ระบาดทั่วโลก

ตอนนี้มีกว่า 80 ประเทศประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องทบทวนกันว่าแต่ละรัฐมีกรอบอย่างไรที่จะใช้กฎหมายนี้ไม่ให้ผิดพันธกรณีกฎหมายระหว่างประเทศและไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทำอย่างไรที่ทั้งโลกจะผ่านโควิด-19 โดยคงไว้ซึ่งมวลมนุษย์ชาติและไม่ได้ทำให้คนต้องมาล้มหายตายจากไปเพราะมาตรการควบคุมโรค

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้แวดวงสิทธิมนุษยชนมีการพูดคุยกันถึงความเชื่อมโยงระหว่างสิทธิที่เราคุ้นชิน เช่น เสรีภาพการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพการชุมนุม สิทธิพลเมือง กับสิทธิอื่นๆ ที่ยังไม่ได้เน้นมากนัก เช่น สิทธิในสุขภาพ มีการตั้งคำถามว่ารัฐควรลงทุนและให้ความสำคัญกับหลักประกันด้านสุภาพอย่างเต็มรูปแบบไหม เพื่อให้เกิดสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือสิทธิอื่นๆ ที่เป็นข้อท้าทายขึ้นมา เช่น สิทธิแรงงาน สิทธิผู้ลี้ภัย สิทธิกลุ่มเปราะบางต่างๆ สิทธิคนไร้บ้าน แต่ไม่ได้หมายความว่าเรื่องไหนสำคัญกว่ากัน เพราะในกรอบกฎหมายระหว่างประเทศ ทุกสิทธิมีความเกี่ยวพันกัน ไม่มีสิทธิใดสิทธิหนึ่งที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง

การประกาศภาวะฉุกเฉินของรัฐบาลทั่วโลก นอกจากกระทบต่อการจำกัดเสรีภาพและละเมิดสิทธิแล้ว ยังกระทบต่อหลักนิติธรรม (rule of law) และกระบวนการทางประชาธิปไตย รัฐบาลหลายประเทศใช้ความเงียบในวิกฤตนี้เพิ่มอำนาจให้กับตัวเอง โดยเฉพาะประเทศที่มีแนวโน้มอำนาจนิยม บางประเทศแก้กฎหมายภาวะฉุกเฉินให้เข้มข้นกว่าเดิม ฮังการีออกกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินพิเศษออกมาซึ่งค่อนข้างได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์มาก เพราะเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารมากและไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจากรัฐสภา

สำหรับไทยก็เลี่ยงไม่ได้ที่ประชาชนจะตั้งคำถามว่าจำเป็นต้องขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปไหม มันไม่ควรถูกนำไปใช้เพื่อควบคุมหรือทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ทางการเมืองหรือคงไว้ซึ่งการจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน

จากรายงานทั่วโลกมีความกังวลเรื่องการเซ็นเซอร์ข้อมูลข่าวสาร ที่เกิดจากมาตรการควบคุมข้อมูลในสถานการณ์นี้ หลายประเทศควบคุมทางออนไลน์โดยใช้เทคโนโลยีสอดแนม ติดตามสัญญาณโทรศัพท์มือถือ โดยอ้างว่าเพื่อแจ้งเตือนเมื่อเข้าใกล้ผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อ ซึ่งเป็นการล่วงล้ำไปสู่พื้นที่ความเป็นส่วนตัวจนเกินไป และเราไม่รู้เลยว่าหลังยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ข้อมูลเหล่านี้จะถูกรัฐนำไปใช้อย่างไร จะถูกจัดเก็บอย่างไร จะมีการทำลายทิ้งไหม ใครเข้าถึงได้บ้าง เจ้าตัวยินยอมหรือไม่

ประเทศจีนมีการปราบปรามไม่ให้ประชาชนพูดถึงกรณีการติดเชื้อ ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบโพสต์ในโซเชียลมีเดีย บทความที่โพสต์โดยครอบครัวคนติดเชื้อที่ต้องการความช่วยเหลือก็ถูกรัฐบาลเซ็นเซอร์ ในบราซิล ประธานาธิบดีประกาศใช้มาตรการฉุกเฉินโดยให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องตอบคำถามต่อสาธารณะหรือไม่ให้ข้อมูลเมื่อประชาชนสอบถามระหว่างการระบาดของโรค แต่ในภายหลังศาลฎีกาก็ระงับข้อกำหนดนี้ไป

รัฐบาลเติร์กเมนิสถานพยายามจำกัดการใช้คีย์เวิร์ด คำว่า ‘โคโรนาไวรัส’ ให้มากที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลเรื่องโรคระบาดกระจายไป เช่น มีคำสั่งให้ลบคำว่า ‘โคโรนาไวรัส’ ออกจากโบรชัวร์สุขภาพที่โรงพยาบาล โรงเรียน หรือสถานที่ทำงานแจกจ่าย ในเอลซัลวาดอร์มีรายงานว่านักข่าวไม่ได้รับอนุญาตให้ถามคำถามระหว่างการแถลงข่าวของรัฐบาลเกี่ยวกับวิกฤตโรคระบาด

เวียดนามที่รัฐควบคุมทั้งสื่อดั้งเดิมและโซเชียลมีเดีย มีการดำเนินคดีคนใช้เฟซบุ๊กหรือบล็อกเกอร์ที่พูดเรื่องการระบาดของโควิด

การละเมิดเสรีภาพสื่อเกิดขึ้นทั่วโลก มีการจำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก จากข้อมูลบางส่วนของยูเอ็นมีมากกว่า 130 กรณี กรณีที่มีมากคือการใช้คำว่า ‘เฟกนิวส์’ หรือ misinformation กับสื่อ มีการจับกุมดำเนินคดีนักข่าวกว่า 40 คนในหลายทวีป ทางยูเอ็นและประชาคมสิทธิมนุษยชนมีความกังวลเรื่องนี้เพราะสื่อมีความสำคัญมากในสถานการณ์ที่คนกำลังสับสนและหวาดกลัว ถ้าสื่อมีเสรีภาพจะเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ส่งผลให้มาตรการจัดการโควิดได้ผลจริงๆ

ประชาชนต้องการความโปร่งใสและการเปิดเผยที่จะสร้างความเชื่อใจระหว่างรัฐกับประชาชน และทำให้เกิดความร่วมมือในการต่อสู้กับโควิด โดยที่กฎหมายฉุกเฉินไม่จำเป็นต้องมีบทบาทหลัก แต่บทบาทหลักคือ flow of information การทำให้ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงทุกคน การดำเนินคดีกับสื่อหรือการปิดกั้นสื่อในภาวะนี้ถือว่าเลวร้ายมาก เป็นการซ้ำเติมสถานการณ์โรคระบาด

 

สุขภาพ vs. เสรีภาพ ทำไมประชาชนต้องเลือก?

 

จากที่ภาครัฐไทยบอกว่า “สุขภาพต้องมาก่อนเสรีภาพ” นั้น สิทธิมนุษยชนต่างๆ เกี่ยวข้องกันหมด ไม่มีอะไรมาก่อน แต่หากจะจำกัดสิทธิเสรีภาพบางประการ ต้องพิจารณาว่าจำกัดได้หรือไม่และได้แค่ไหน สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ไม่สามารถตัดขาดจากสิทธิเศรษฐกิจและสิทธิสังคมได้ เช่น สิทธิด้านสุขภาพ ที่อยู่อาศัย หรือการทำงาน

การที่รัฐบอกว่าสุขภาพมาก่อนสิทธิเสรีภาพ เป็นการพูดที่ไม่ได้ให้ตัวเลือกแต่เป็นการบังคับ คล้ายการบอกว่าเรื่องความมั่นคงต้องมาก่อนเสรีภาพ คล้ายการบอกว่าประเทศต้องมีการปฏิรูปหรือต้องมีทหารเข้ามาก่อนจะมีประชาธิปไตย ตรรกะนี้มีปัญหา แต่จะมีปัญหายิ่งกว่าถ้าสะท้อนให้เห็นมุมมองของรัฐบาลในตอนนี้ว่าใจกลางของการแก้ปัญหาโควิดไม่ได้มองชีวิตของประชาชนเป็นจุดศูนย์กลาง เพราะการแก้ไขปัญหาโควิด หลักสำคัญคือการเอาผู้คนไว้ใจกลาง หมายถึงการปกป้องมนุษย์ทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ เพราะประชาชนทุกคนมีสิทธิติดโควิดเหมือนกัน แต่ผลกระทบของแต่ละคนต่างกัน เราต้องการแค่การมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง แล้วถูกพรากอิสรภาพไปหรือ แล้วเหตุใดรัฐต้องให้ประชาชนเลือก ทั้งที่รัฐมีหน้าที่ทำให้สิทธิต่างๆ ของประชาชนได้รับการเคารพ

 

โลกหลังวิกฤตโควิด

 

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงหลังจากนี้นอกจากความร่วมมือระหว่างนานาชาติเพื่อให้มีวัคซีนและการวางแผนกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงแล้ว ยังต้องวางแผนฟื้นฟูเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านสังคมและเศรษฐกิจ  แม้เราจะรอดจากภาวะนี้แต่จะยังไม่จบ มีสิ่งที่ต้องทำเพื่อจัดการให้สังคมและประชาชนกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี

ต้องมีการพูดคุยและทบทวนถึงความเข้มแข็งของประชาธิปไตยและระบบ rule of law เป็นโอกาสที่จะได้เห็นว่ากลไกต่างๆ ในการปกป้องชีวิตและสิทธิเสรีภาพของประชาชน ภายใต้กระบวนการประชาธิปไตยที่เข้มแข็งหรือระบบที่เน้นการควบคุมเพื่อความมั่นคงจนเสียสมดุล แบบไหนจะเป็นประโยชน์เมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์แบบนี้ เรื่องนี้จะเป็นดีเบตระดับโลก

อาจยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินได้ว่าประเทศประชาธิปไตยล้มเหลวในการจัดการโควิด ตอนนี้ทุกประเทศเร่งให้อัตราการระบาดยุติ แต่จะยังมีเฟสต่อๆ ไป ซึ่งจะค่อยๆ เห็นว่ารัฐบาลหรือระบอบการปกครองแบบไหนที่พร้อมจะมีระบบรองรับดูแลประชาชน เช่น ระบบที่เตรียมพร้อมดูแลคนที่ตกงานหลายเดือน ดูแลสุขภาพประชาชนได้ทันท่วงทีและทั่วถึง และสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ได้รับการประกันภายใต้ระบอบที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

หากมองประเทศที่เป็นผู้นำในโลกประชาธิปไตยใหม่ เยอรมนีก็ยังบาลานซ์ได้ดีที่จะคงไว้ซึ่งกระบวนการประชาธิปไตย ผู้นำและกลไกรัฐสามารถตอบสนองต่อการจัดการโควิด-19 และความเชื่อมั่นของประชาชนได้ ในประเทศที่เป็นตัวอย่างประชาธิปไตยมีมาตรการที่สามารถดูแลประชาชนเขาได้ โดยปฏิเสธไม่ได้ว่าก็มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนไปด้วย จึงเป็นทั้งโอกาสและวิกฤตของทั้งฝั่งประชาธิปไตยและฝั่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยว่าจะพิสูจน์ตัวเองกับวิกฤตนี้อย่างไร

ที่กังวลตอนนี้ คือ เรื่องชาตินิยม เมื่อเกิดโรคระบาด มีการปิดพรมแดน หยุดการเดินทาง เกิดผลกระทบกับกลุ่มประชากรคนต่างชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้ลี้ภัย แต่มีรายงานว่ามีหลายประเทศที่ปิดพรมแดนยังไม่ใช้มาตรการที่ไปละเมิดหรือขับไล่ผู้ลี้ภัยหรือคนต่างชาติออกนอกประเทศ นี่เป็นประเด็นสำคัญที่เราจะต้องพูดคุยและให้ความตระหนักรู้กับสังคมตั้งแต่วันนี้จนถึงช่วงหลังโควิด

บางประเทศที่รุนแรงมาก มีการปลุกแนวคิดชาตินิยมบอกว่าคนชาติอื่นเป็นคนนำเชื้อมา แล้วต้องขับไล่เขาออกไป ประเทศเหล่านี้จะกลายมาเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีในภายหลัง แล้วคุณจะไม่สามารถก้าวผ่านโรคระบาดได้ด้วยตัวเอง เพราะวันหนึ่งเมื่อมีวัคซีนแล้ว ความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นจะเป็นความร่วมมือระดับโลกครั้งใหญ่ และความร่วมมือจะต้องไม่ถูกจำกัดอยู่ที่พรมแดน

 

โควิดไม่ใช่ข้ออ้างปิดกั้นการแสดงออก

 

ในเวลานี้รัฐบาลไทยต้องให้ความสนใจเรื่องสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคม อยากให้เน้นการดูแลเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจ มาตรการประคับประคองและฟื้นฟูภายหลังจากนี้ รัฐบาลไม่ควรมาโฟกัสอยู่แค่การใช้กฎหมายที่เข้มข้นในการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน อย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วมองแค่ว่าจะทำให้ตัวเลขลดลงหรือหายไป หากปิดประเทศและใช้มาตรการจำกัดสิทธิมาสองเดือนแล้วพอใจแค่ผลของตัวเลขที่ลดลงเหลือหลักเดียว คิดว่ายังไม่ใช่ปลายทางสุดท้ายของการแก้ปัญหาครั้งนี้ รัฐบาลควรพิจารณาผลกระทบอื่นๆ มากกว่าที่จะทุ่มเทความสนใจไปที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อซึ่งตอนนี้เป็นที่น่าพอใจของหลายฝ่ายแล้ว

ความไม่พอใจ ความสับสน ความไม่เข้าใจของประชาชนที่เกิดขึ้นตอนนี้สามารถแก้ไขได้ หากนำเอาหลักสิทธิมนุษยชนไปใช้ น่าจะทำให้การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลราบรื่นและง่ายมากขึ้น เพราะจะทำให้มองเห็นคนทุกคนและจะไม่ทิ้งใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลัง ด้วยมาตรการเยียวยาที่ทั่วถึง เท่าเทียม และไม่เลือกปฏิบัติ

อีกเรื่องหนึ่งคือประชาชนมีเสรีภาพการแสดงออกและเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แล้ว เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องอำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไป ซึ่งรวมถึงการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันโรค เช่น ต้องมีการตรวจอุณหภูมิ มีเจลล้างมือ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านสุขอนามัย ขณะเดียวกันผู้ชุมนุมที่ไปรวมตัวกันต้องตระหนักเรื่องการป้องกันตัวเองจากโรคระบาดและไม่สร้างความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ และจะต้องเป็นมาตรการที่ไม่กระทบการแสดงออก เช่น ใส่เฟซชิลด์ จัดสถานที่ซึ่งมีที่กั้น ไม่เบียดกันมาก

หากรัฐตั้งต้นด้วยมุมมองว่าการชุมนุมไม่ควรทำเด็ดขาด จะเป็นการฉวยโอกาสอ้างโควิดมาทำลายเสรีภาพการแสดงออกและเสรีภาพการชุมนุมของประชาชนจนหมดสิ้น เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย มีวิธีการที่จะจัดการให้การชุมนุมและการแสดงออกเกิดขึ้นได้ บนพื้นฐานของสิทธิและเสรีภาพที่เรามี เพียงแต่ต้องระมัดระวังตัวเองและคนรอบข้างด้วย

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save