fbpx
เมืองของเซอร์คลิฟฟอร์ด

เมืองของเซอร์คลิฟฟอร์ด

คฤหาสน์ของเซอร์ ฮิวจ์ ชาร์ลส คลิฟฟอร์ด (Sir Hugh Charles Clifford) เป็นอาคารสองชั้นก่อด้วยอิฐฉาบปูนสีขาวตัดแดงโดดเด่นเป็นสง่าบนเนินเขาสูง ชั้นบนรายล้อมด้วยหน้าต่างบานเกร็ดไม้ทรงโค้งแบบโคโลเนียล มีระเบียงขนาดใหญ่อยู่ด้านหน้า ชั้นล่างเป็นห้องโถงเพดานสูงโปร่งที่มีประตูรูปโค้งเกือบจรดเพดานเรียงรายกั้นออกจากกับระเบียงทางเดินใหญ่ด้านนอก จากระเบียงแห่งนี้เป็นสนามหญ้าหน้าเขียวขจี เมื่อมองเลยจากสนามหญ้าลงไปจากเนินเขาจะเห็นเห็นบ้านเรือนกระจิดริดของชาวบ้านสลับกับอาคารสถานที่ราชการทรงโคโลเนียลมหึมาแทรกอยู่ในหมู่ไม้ 

กว่าศตวรรษมาแล้ว คฤหาสน์หลังนี้คือสถานที่พบปะสังสรรค์ของผู้มีอำนาจในรัฐเล็กๆ แห่งหนึ่งบนคาบสมุทรมลายา แม้จะไม่ได้สร้างขึ้นอย่างปราณีตโอ่อ่าเหมือนในเมืองหลวง แต่มันก็เป็นตัวแทนของความยิ่งใหญ่น่าเกรงขามของจักรวรรดินิยมอังกฤษในดินแดนป่าดงพงไพรในยามที่แขกเหรื่อถือแก้วค็อกเทลออกไปยืนตากลมตรงระเบียงแล้วทอดสายตาลงไปเห็นความกระจ้อยร่อยของมลายาเบื้องล่าง

คฤหาสน์หลังนี้ตั้งอยู่ที่เมืองกัวลา ลีปิส (Kuala Lipis) ในรัฐปะหัง (Pahang) มันเป็นเมืองบนแนวป่าดงดิบโบราณของเทือกเขาตีติวังสา (Titiwangsa) ที่พาดผ่านตอนกลางประหนึ่งกระดูกสันหลังของคาบสมุทรมลายา เป็นศูนย์กลางของกิจการเหมืองทองคำและดีบุก ประหนึ่งชุมทางเขาชุมทองของนักขุดสินแร่ใต้ดินท้องถิ่นมายาวนานหนึ่งศตวรรษ ก่อนเงื้อมมือของคนผิวขาวจะเอื้อมมาถึง ภายในเวลา 12 ปีหลังจากที่เซอร์คลิฟฟอร์ดย่างเท้ามาที่นี่ อังกฤษก็ย้ายเมืองหลวงของรัฐมาสู่เมืองเล็กๆ ที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากรแห่งนี้เป็นผลสำเร็จ

คฤหาสน์ของเซอร์ ฮิวจ์ ชาร์ลส คลิฟฟอร์ด ในเมืองกัวลาลิปิส รัฐปะหัง
ภาพถ่ายโดยปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง

เซอร์ คลิฟฟอร์ดเป็นลูกนายพล เป็นหลานบารอน และเป็นข้าราชการหนุ่มอังกฤษไฟแรงผู้ถูกส่งตัวไปปฏิบัติภารกิจพิเศษที่ราชสำนักปะหังในคาบสมุทรมลายาตั้งแต่อายุไม่ถึง 21 ปีเต็ม เมื่อ ค.ศ. 1886 หรือกว่า 135 ปีที่แล้ว เป็นเวลาที่ประเทศมาเลเซียยังไม่ก่อกำเนิด คาบสมุทรมลายาประกอบไปด้วยรัฐใหญ่น้อยที่บางรัฐปกครองโดยสุลต่านที่กำลังเผชิญหน้ากับลัทธิล่าอาณานิคมที่คืบคลานมาถึง คลิฟฟอร์ดลาชีวิตลูกหลานข้าราชการชั้นสูงในกรุงลอนดอนมาในวัย 17 ปี แล้วเดินทางมาถึงมลายาในฐานะกลไกของจักรวรรดินิยมเช่นเดียวกับชาวอังกฤษนับร้อย ก่อนจะประสบโอกาสได้แสดงผลงานชิ้นโบแดงที่ปะหัง

คลิฟฟอร์ดอธิบายภารกิจสำคัญของตนไว้ในหนังสือรวมเรื่องสั้น ‘The Further Side of Silence’ ที่เขียนขึ้นใน ค.ศ. 1916  ว่ามันคือการดำเนินการให้สุลต่านแห่งปะหังทรงยินยอมทำสนธิสัญญามอบอำนาจจัดการด้านการต่างประเทศให้แก่รัฐบาลอังกฤษ และยอมให้มีการแต่งตั้งผู้แทนทางการเมือง (ของอังกฤษ) ประจำราชสำนักของพระองค์

นับเป็นโชคของเขาที่สถานการณ์แวดล้อมเป็นใจ เพราะช่วงเวลานั้น ราชสำนักปะหังกำลังอ่อนแอจากสงครามการเมืองช่วงชิงอำนาจระหว่างรัชทายาทกับน้องชายที่ยืดเยื้อเป็นเวลา 6 ปี จึงเปิดช่องให้อังกฤษเข้าแทรกแซงและกดดันให้สุลต่านทรงยอมรับเซอร์คลิฟฟอร์ดในฐานะผู้แทนของอังกฤษ (British Agent) เป็นก้าวแรก ไม่นานอังกฤษก็รุกคืบด้วยการส่งข้าราชการอาวุโสเข้าถือตำแหน่ง British Resident ทำหน้าที่ ‘ถวายคำปรึกษา’ แก่สุลต่านของปะหัง อีกนัยหนึ่งคือเป็นตัวแทนของรัฐบาลอังกฤษในการตัดสินใจในกิจการต่างๆ ของรัฐผ่านองค์สุลต่าน ซึ่งเป็นระบบการปกครองรัฐอาณานิคมทางอ้อมของอังกฤษที่ใช้ในรัฐที่มีสุลต่านในคาบสมุทรมลายา

เมื่อแรกเริ่ม อังกฤษเพียงยึดหัวเมืองท่าเรือเพื่อควบคุมเส้นทางการค้านทางทะเลคือปีนัง มะละกา และสิงคโปร์ตั้งแต่ ค.ศ. 1826 แต่สถานการณ์เปลี่ยนไปในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 เมื่อสงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกาและปัจจัยอื่นๆ กระตุ้นความต้องการดีบุกในตลาดโลก ในตอนนั้นสายตาของเจ้าอาณานิคมอังกฤษก็พุ่งตรงมาที่รัฐภายในคาบสมุทรมลายาที่มีการค้นพบแหล่งแร่ดีบุกปริมาณมหาศาลในหลายรัฐตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 มลายากลายเป็นขุมเงินขุมทองจากดีบุก และกลายเป็นแหล่งทรัพยากรอันหาค่ามิได้เมื่ออังกฤษนำต้นยางจากบราซิลเข้าปลูกเพื่อผลิตน้ำยางสนองต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ในตลาดโลก ตามมาด้วยปาล์มน้ำมัน จนถึงขั้นที่มลายาภายใต้การปกครองของอังกฤษกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ผู้ผลิตดีบุก ยาง และน้ำมันปาล์มที่ใหญ่ที่สุดในโลก

งานของคลิฟฟอร์ดมีความหมายมากกว่างานราชการในเมืองเล็กๆ ของรัฐเล็กๆ กลางป่า แต่มันคืองานที่สนองต่อจักรกลของจักรวรรดินิยมในกระแสทุนนิยมโลกที่ตื่นเต้นกับการค้นพบขุมทรัพย์แห่งใหม่ในตะวันออกไกล ความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อยส่งให้อนาคตทางราชการของเขาสดใสเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงตลอดระยะเวลา 20 ปีในมลายา เขาได้เลื่อนตำแหน่งไปเรื่อยๆ จนกลายเป็น British Resident ในปะหัง แล้วเลื่อนขั้นไปดำรงตำแหน่ง Resident ในพื้นที่ใต้อาณานิคมอังกฤษในแอฟริกาและซีลอน ท้ายสุดเขากลับมาเกษียณอายุที่มลายาในตำแหน่งสูงสุดคือ ‘ผู้ว่าราชการอาณานิคมช่องแคบและข้าหลวงใหญ่ของบริติชในมลายา’ (Governor of the Straits Settlements and British High Commissioner in Malaya)

คลิฟฟอร์ดคงจะเป็นคนที่น่าสนใจไม่น้อย ถึงขั้นที่วีเอส ไนพอล (V.S. Naipaul) นักเขียนเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมขอยืมเขาไปเป็นตัวละครใน ‘The Mimic Man’ นวนิยายการเมืองยุคหลังอาณานิคมที่สร้างชื่อให้ผู้เขียนอีกชิ้นหนึ่ง ไม่มีใครรู้ว่าเหตุใดไนพอลจึงเลือกคลิฟฟอร์ดจากบรรดาข้าราชการระดับสูงนับร้อยของอังกฤษที่ปรากฏตัวอยู่แทบทุกมุมโลก แต่สิ่งหนึ่งที่อาจเชื่อมโยงคนทั้งสองเข้าหากันได้อาจเป็นความเป็นนักเขียนของทั้งสอง โดยคลิฟฟอร์ดเขียนหนังสือเกี่ยวกับมลายาและพื้นที่ใต้อาณานิคมของอังกฤษเอาไว้ไม่ต่ำกว่า 7 เล่ม ผ่านสไตล์การเขียนที่แสดงความรู้สึกนึกคิดอย่างตรงไปตรงมาไม่มีกั๊ก เป็นหลักฐานที่อ่านสนุกให้คนรุ่นหลังได้เข้าใจว่าแขนขาของเจ้าอาณานิคมเขามองเมืองขึ้นของตนอย่างไร

“ด้วยอายุที่น้อยกว่าปกติ ข้าพเจ้าเป็นกลไกหลักในการผนวกดินแดน 38,849 ตารางกิโลเมตร เข้าเป็นดินแดนในอารักขาด้านตะวันออกของสหราชอาณาจักร” คลิฟฟอร์ดเขียนถึงบทบาททางการเมืองของตนไว้ในคำปรารภในหนังสือ The Further Side of Silence ในสายตาของเขา ปะหังใน ค.ศ. 1887 มีสภาพที่เกือบจะไม่ผิดอะไรกับรัฐศักดินาของยุโรปยุคกลาง เขาสารภาพไว้ตรงๆ ในหนังสือว่าตนเองได้นำดินแดนแห่งนี้เข้าสู่ ‘ความคุ้มครองของบริเตน’

ความสนุกของหนังสือเล่มนี้คือวิธีการเขียนที่พยายามที่จะชี้แจงการทำหน้าที่ของตนด้วยวิธีบรรยายแบบถามเองตอบเอง ในฐานะปัญญาชนการทำหน้าที่ข้าราชการคงไม่เพียงพอสำหรับเขา คลิฟฟอร์ดเขียนหนังสือตั้งข้อสังเกตและอภิปรายประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมลายาจนเอ็นไซโคลพีเดีย บริแทนนิกา (Encyclopedia Britannica) ระบุว่าเขาเป็นทั้งข้าหลวงใหญ่และนักเขียนไปพร้อมๆ กัน ใน The Further Side of Silence เขายืนยันว่าตนเองต้องการชี้แจงบทบาทของตนในมลายาให้แจ่มแจ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อ่านคิดว่าตัวเขานั้นไม่ต่างอะไรกับ ‘หัวขโมย’ ที่อาจต่างกันกับหัวขโมยทั่วไปแค่ว่าขอบเขตการขโมยของเขากว้างขวางกว่ามากเท่านั้นเอง

แค่อ่านปรารภในหนังสือก็สนุกแล้ว แถมคลิฟฟอร์ดยังเริ่มต้นด้วยการโม้อย่างภาคภูมิใจว่า การที่กัวลา ลีปิส เปลี่ยนจากบ้านป่าเมืองเถื่อนเป็นแดนศิวิไลซ์ก็เพราะฝีมือของอังกฤษ (หรือตัวเขาเอง) แท้ๆ

“. . เมื่อข้าพเจ้าลาจากดินแดนแห่งนี้ในเวลาทศวรรษครึ่งต่อมา ที่นี่ก็กลายเป็นที่ซึ่งปลอดภัย มีความสงบสุข และมีระเบียบแทบจะเทียบได้กับชนบทของอังกฤษเลยทีเดียว”

สถานีรถไฟบนเส้นทางรถไฟสายพงไพร (Jungle Railway)
ภาพถ่ายโดยปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง

ปัจจุบันร่องรอยของ กัวลา ลีปิส แบบชนบทอังกฤษพบใด้บนถนนสายหลักชื่อจาลันเบอร์ซา (Jalan Besar) ในอาคารที่ทำการไปรษณีย์หลังเก่าใกล้ๆ กับหลักกิโลเมตรหมายเลขศูนย์บนฟุตบาทมีตู้ P.O. Box แบบฝรั่งสีแดงฉานฝังอยูในกำแพงด้านนอก สองฟากถนนรายล้อมด้วยตึกแถวทรงโบราณสีลูกกวาด สุดปลายถนนด้านหนึ่งมีทางเลี้ยวซ้ายสู่สถานีรถไฟที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับเส้นทางรถไฟสายพงไพร (Jungle Railway) อันเป็นเส้นทางคมนาคมทางเศรษฐกิจที่สำคัญของมลายาภายใต้อาณานิคม ทำหน้าที่หลักในการส่งกุลีชาวจีนไปทำงานในเหมืองต่างๆ และขนทรัพยากรโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยางพารา ทองคำและดีบุกออกสู่ถนนและท่าเรือเพื่ออังกฤษได้ขนสู่ตลาดโลก ทางฝั่งขวาของถนนเป็นทางโค้งเลียบแม่น้ำอันเป็นที่ตั้งของมัสยิดอายุ 129 ปีที่ว่ากันว่าสร้างโดยพ่อค้าชาวอาหรับผู้รอนแรมจากบ้านมาถึงที่นั่น

ห่างจากจาลันเบอร์ซาไม่กี่กิโลเมตรเป็นที่ทำการรัฐอันเป็นตึกทรงโคโลเนียลสีขาวตัดแดงมหึมาน่าเกรงขาม ถัดไปนิดเป็น ‘โรงเรียนคลิฟฟอร์ด’ โรงเรียนรัฐบาลที่ผลิตนักเรียนเชื้อเจ้าจากราชสำนักปะหังและลูกท่านหลานเธอจากครอบครัวผู้ดีมีอันจะกินรวมทั้งตระกูล ‘ราซัก’ ที่มีนายกรัฐมนตรีถึงสองคน (พ่อลูก อับดุล ราซัก และนาจิบ ราซัก) ไม่ไกลกันนักจะเห็นอาคารไม้ชั้นเดียวขนาดย่อมที่ล้อมรอบด้วยระเบียงโปร่งโล่งอันเป็นที่ตั้งของ ‘ปะหังคลับ’ สถานที่พบปะสังสรรค์ของสุภาพบุรุษชั้นแนวหน้า เป็นสถานที่ที่เหล่าข้าราชการชาวอังกฤษ พ่อค้า นายเหมือง และผู้มีอันจะกินในยุคตื่นทอง ใช้เวลาจับกลุ่มพุดคุยหาเส้นสายแกล้มสุราอาการรสเลิศตามแบบอังกฤษ

สำหรับมลายาเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว เมืองในพื้นที่ห่างไกลที่ที่มีโครงสร้างพื้นฐานครบสูตร กล่าวคือ ร้านค้า ถนน ทางรถไฟ ไปรษณีย์ โรงเรียน อาคารราชการ และสถานบันเทิง น่าจะหาไม่ได้ง่ายๆ ไม่แปลกที่คลิฟฟอร์ดจะภูมิใจนักหนาถึงขั้นเขียนอวดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

แต่กัวลา ลีปิส ในทางกายภาพเป็นเพียงภาพสะท้อนของความคิดจักรวรรดินิยมอังกฤษที่ขัดแย้งกันเองอยู่ในตัว การสร้างเมืองที่มีระเบียบแบบชนบทของอังกฤษอาจทำให้เจ้าอาณานิคมบอกตนเองได้ว่ากำลังนำเอาแสงสว่างแห่งอารยธรรมเข้าสู่มุมมืดของโลกที่ป่าเถื่อนด้อยพัฒนาในขณะที่เข้าครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ บิดผันโครงสร้างทางการเมืองเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในมลายาเป็นเวลายาวนานกว่าร้อยปี

สิ่งหนึ่งที่ฝังลึกไม่เปลี่ยนแปลงจนปัจจุบันคือผลพวงของการเปลี่ยนโครงสร้างประชากรและการใช้นโยบายแบ่งแยกและปกครองที่กำหนดวิถีชีวิตทางสังคมและการเมืองในมาเลเซียอย่างเจ็บแสบ การนำเข้าวิถีแบบทุนนิยมโดยเจ้าอาณานิคมสู่ดินแดนที่ประชากรท้องถิ่นส่วนใหญ่ดำรงชีวิตแบบชาวประมงและเกษตรกร อาชีพค้าขายส่วนใหญ่ดำเนินโดยคนจีนที่ล่องเรือมาค้าขายและตั้งหลักแหล่งในพื้นที่มานับศตวรรษที่เรียกกันว่า ‘ชาวจีนช่องแคบ’ หรือ ‘Straits Chinese’ การใช้แรงงานหนักเพื่อการผลิตในเหมืองแร่และสวนยางที่ไม่ใช่วิถีดั้งเดิมจึงถูกปฏิเสธจากคนท้องถิ่น ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 อังกฤษจึงใช้วิธีเดียวกับที่ใช้ในอาณานิคมอื่นๆ ของตน นั่นคือการนำเข้าแรงงานจากภายนอก

ปะหังคลับ (Pahang Club)
ภาพถ่ายโดยปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง

ตลอดช่วงเวลาของคลิฟฟอร์ดในมลายาและหลังจากนั้น อังกฤษนำแรงงานจากจีนตอนใต้และอินเดียเข้าสู่มลายา ในขณะที่แรงงานอินเดียถูกมอบหมายให้ทำงานในสวนยางและงานบริการสาธารณะอื่นๆ แรงงานจีนถูกส่งเข้าทำงานในเหมืองแร่ โรงสี และท่าเรือ ไม่นาน เมืองอย่างปีนัง (Penang) อีโปห์ (Ipoh) สิงคโปร์ (Singapore) และกัวลาลัมเปอร์ (Kuala Lumpur) ก็คราคร่ำด้วยชาวจีนที่เข้าหางานทำผ่านการชักจูงของพ่อค้าชาวจีนช่องแคบฐานะร่ำรวยที่อยู่มาก่อน ความแตกต่างทางเชื้อชาติ ชนชั้น และฐานะทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมสมัยใหม่เริ่มปรากฏให้เห็นใน ค.ศ. 1890 ที่อังกฤษคุมอำนาจการเมืองผ่านระบบสุลต่าน บุคคลที่น่ำรวยที่สุดในมลายาคือพ่อค้าช่องแคบชาวจีนชื่อยับ อา ลอย (Yap Ah Loy) เจ้าของเหมือง สวนยาง และร้านค้าหลายแห่ง ในขณะเดียวกันกิจการธนาคารและประกันภัยอยู่ในมือของชาวจีนช่องแคบตั้งแต่ต้น

นักประวัติศาสตร์ช่องแคบหลายรายมองว่า อังกฤษมีความคิดว่าประชากรแต่ละเชื้อชาติของมลายามีบุคลิกลักษณะและคุณสมบัติที่ติดตัวมาแต่ดั้งเดิม จึงต้องมอบหมายให้ทำหน้าที่ที่ต่างกันตามคุณสมบัติของเชื้อชาติ ความเชื่อนี้เป็นประโยชน์ต่อการจัดสรรงานในระบบการผลิตที่เจ้าอาณานิคมยุคต้องการ ในขณะเดียวกันความคิดดังกล่าวก็เป็นจุดก่อกำเนิดของแนวคิดแบ่งแยกทางเชื้อชาติที่ฉุดรั้งการพัฒนาของมาเลเซียถึงปัจจุบัน  

ในยุคของคลิฟฟอร์ด อังกฤษใช้คนจีนเป็นตัวกลางในการค้าขายและให้โอกาสทำมาหาเงิน แต่ปิดกั้นการแสวงอำนาจทางการเมืองของคนจีน ด้วยการให้ชนชั้นสูงชาวมลายูรับตำแหน่งในสถาบันตำรวจและทหาร รวมทั้งมอบตำแหน่งราชการเล็กๆ น้อยๆ ให้ ในมาเลเซียยุคใหม่โดยทั่วไป นอกเหนือจากการทำงานออฟฟิศแล้ว ชาวมลายูจำนวนมากจึงนิยมรับราชการในขณะที่ชาวจีนชอบทำกิจการของตนเอง และพรรคการเมืองต่างๆ ก็กลายเป็นพรรคที่มีฐานเสียงตามเชื้อชาติ ที่สำคัญคือการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจหลักของประเทศส่วนหนึ่งก็วางอยู่บนฐานของเชื้อชาติเช่นกัน  

แม้คลิฟฟอร์ดจะไม่อาจรู้ได้ว่ามลายาจะเป็นเช่นไรในร้อยปีถัดมา แต่เขาก็พยายามปกป้องพฤติกรรมของเจ้าอาณานิคมเอาไว้ล่วงหน้า เขายืนยันว่าคนผิวขาวอย่างเขาเข้าไปในปะหังนั้นก็เพื่อ ‘ปลดปล่อย’ ชาวปาหังจากอำนาจเผด็จการโหดของผู้ปกครองเดิม  

“..ข้าพเจ้าจับตามองการดำรงชีวิตผู้คนเหล่านี้อย่างใกล้ชิดและสุดแสนจะทนก่อนที่คนขาวจะก้าวเข้ามาปกป้องพวกเขาจากการกดขี่โดยทรราชร่วมเชื้อชาติของพวกเขาเอง ข้าพเจ้าเห็นเขาเหล่านั้นค่อยๆ โผล่ขึ้นมาจากเงามืดที่เคยปกคลุมวันเวลาของตน เข้าสู่แสงสว่างแห่งเสรีภาพที่ชนผิวขาวให้คุณค่าเหนือกว่าเรื่องทางโลกใดๆ ทั้งปวง” 

พร้อมกันนั้น เขาก็ตอบโต้แนวคิดเรื่องเสรีภาพและสิทธิในการตัดสินใจด้วยตนเองของประชาชน ด้วยการโต้เถียงกับคำกล่าวของเซอร์ เฮนรี แคมเบลล์-แบนเนอร์แมน (Henry Campbell-Bannerman) นายกรัฐมนตรีอังกฤษผู้ล่วงลับที่เขายกขึ้นมาแย้งในหนังสือ โดยเซอร์ เฮนรี แคมเบลล์-แบนเนอร์แมน เคยกล่าวไว้ว่า “ถึงอย่างไรรัฐบาลที่ดี (good government) ก็ไม่ใช่สิ่งที่สามารถเข้าแทนที่ความพึงใจปกครองตนเอง (self-government) ของประชาชนได้” และคลิฟฟอร์ดก็เถียงคำกล่าวนี้อย่างคอเป็นเอ็นว่า “การพูดแบบนี้เป็นการพูดแบบนักวิชาการ แต่มันใช้กับมลายาไม่ได้เด็ดขาด”

คลิฟฟอร์ดเขียนวิจารณ์ราชสำนักปะหังอย่างไม่ไว้หน้า “ขอให้จำเอาไว้ว่าพวกมาเลย์ไม่เคยมี ‘การปกครองตนเอง’ การปกครองของเหล่าราชาและผู้นำของพวกเขาคือเผด็จการเบ็ดเสร็จและกดขี่เท่าที่จิตใจมนุษย์จะคิดขึ้นมาได้ ผู้คนที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองนั้นถูกใช้ประโยชน์อย่างไร้ความปราณีโดยไม่มีสิทธิอันใดเลย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในฐานะบุคคลหรือสิทธิต่อทรัพย์สิน”

หลังยุติการดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ประจำมลายา คลิฟฟอร์ดอำลาป่าดงพงไพรของมลายาและเมืองกัวลา ลีปิส ครั้งสุดท้ายใน ค.ศ. 1930 ก่อนกลับลอนดอนกลับบ้านเกิดที่ตนเองจากมาตั้งแต่อายุ 17 ปี

อาคารร้านค้าทรงโคโลเนียลในเมืองกัวลา ลิปิส
ภาพถ่ายโดยปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง

ปัจจุบันกัวลา ลีปิส โรยราไปกลายเป็นเมืองเงียบๆ หลังจากที่ปาหังย้ายเมืองหลวงไปกวนตันซึ่งเป็นเมืองท่าติดทะเล ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นแผ่อำนาจเข้ายึดครองมลายาอย่างบ้าคลั่งด้วยความหวังเป็นเจ้าอาณานิคมรายใหม่ในเอเชียบูรพา แต่จาลันเบอร์ซาและตึกรามเก่าแก่ก็เดินทางผ่านภัยสงครามอย่างปราศจากรอยบุบสลาย ครึ่งหนึ่งของทางรถไฟสายพงไพรที่ยาวกว่า 500 กิโลเมตรถูกญี่ปุ่นเลาะออกเพื่อนำไปสร้างทางรถไฟสายมรณะที่กาญจนบุรีในประเทศไทย ฝรั่งผิวขาวและพลเมืองภายใต้จักรภพอังกฤษถูกกวาดต้อนมาเป็นแรงงานทาสและจำนวนมากจบชีวิตลงที่นี่

ยุคของมลายาภายใต้จักรวรรดิอังกฤษหรือ British Malaya ยืดยาวถึง 131 ปี (1826-1957) The Federation of Malaya อันประกอบด้วยรัฐในคาบสมุทรมลายาภายใต้การปกครองของอังกฤษประกาศเอกราชในเดือนสิงหาคม 1957 เริ่มต้นกระบวนการก่อตั้งประเทศมาเลเซีย

เซอร์คลิฟฟอร์ดยังคงทิ้งร่องรอยของตนไว้ในรูปของคฤหาสน์ ชื่อโรงเรียน และตามถนนหนทางในกัวลา ลีปิส แต่ร่องรอยที่ใหญ่กว่าที่นำมาโดยเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ยังเป็นร่องรอยที่ลบไม่ออกในระบบสังคมการเมืองของมาเลเซียมาจนทุกวันนี้


อ้างอิง

Boon, Bruce. Malaysia: 50 years of independence – colonialism at the root of national question. International Marxist tendency, 31 August 2007. Web. <http://www.marxist.com/malaysia-fifty-years-independence-part-one.htm>.

Clifford, Hugh Charles. (1927).  The Further Side of Silence. Doubleday, Page.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save