fbpx
เมื่อประวัติศาสตร์ถูกเขียนซ้ำบนโลกออนไลน์ : แกะรอย (ยิ้ม) ในงานศิลปะของ ‘สิปปกร’

เมื่อประวัติศาสตร์ถูกเขียนซ้ำบนโลกออนไลน์ : แกะรอย (ยิ้ม) ในงานศิลปะของ ‘สิปปกร’

พิมพ์ใจ พิมพิลา เรื่องและภาพ

ขณะที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และถกเถียงเรื่องการแบ่งฝ่ายและจุดยืนทางการเมืองอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในพื้นที่ออนไลน์ที่กลายเป็นสมรภูมิต่อสู้กันด้วยคำพูดโต้เถียง ไปจนถึงระดับเฮทสปีชและการบิดเบือนข่าวเพื่อใส่ร้ายอีกฝ่าย

ความรุนแรงของการด่าทอคนคิดต่างบนพื้นที่ออนไลน์ ทำให้ ‘การไล่คนไปตาย’ กลายเป็นเรื่องเคยชินของคนหลังแป้นพิมพ์ เกิดบทบาท ‘ผู้กระทำ’ และ ‘เหยื่อ’ โดยไม่รู้ตัว เพื่อปกป้องความคิดและอุดมการณ์บางอย่าง

สิ่งเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของผลงานชุด ‘เหยื่อทางอารมณ์ในสื่อสังคมออนไลน์’ ของ เคน-สิปปกร เขียวสันเทียะ เจ้าของเพจภาพศิลปะอิงการเมือง Baphoboy ซึ่งงานชุดนี้เป็นผลงานศิลปนิพนธ์ของการเรียนปริญญาตรีคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่กำลังจัดงานแสดง ‘นิทรรศการศิลปนิพนธ์ 1971 (หนึ่งก้าวเจ็ดสิบเอ็ด)’ ร่วมกับเพื่อนในรุ่นก่อนแยกย้ายออกไปทำงานตามความฝันของตัวเอง

ภาพในงานชุด ‘เหยื่อทางอารมณ์ในสื่อสังคมออนไลน์’ คุมโทนด้วยสีดำหม่นพร้อมจำลองภาพเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์จากหลากสถานที่หลายยุคสมัย แต่เชื่อมโยงด้วยคำว่า ‘เหยื่อ’ ซึ่งมาพร้อมกับคำว่า ‘การลงทัณฑ์’ สิ่งสะดุดตาในภาพของสิปปกรคือการแทนที่ใบหน้าเหยื่อด้วย ‘อีโมจิยิ้ม’

ผลงานชุดนี้มาจากสิ่งที่เขาได้เห็น สัมผัส เรียนรู้ หรือกระทั่งได้เป็นผู้เข้าร่วมในสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมและโลกออนไลน์ จนนำไปสู่การระบายความอัดอั้นทางอารมณ์ผ่านงานศิลปะ

“สิ่งเดียวที่ทำได้ก็คือทำงานศิลปะ จะทำศิลปะโดยที่ไม่ได้เคลื่อนไหวสังคม ไม่ได้ช่วยอะไรคนอื่น ไม่ได้ทำให้คนอื่นคิดอะไรได้ แล้วจะทำไปทำไม”

สิปปกรต้องการสื่อสารกับสังคมเพื่อบอกว่าข้อความบนโซเชียลมีเดียไม่ต่างจากอาวุธที่พร้อมฆ่าใครก็ได้ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นไม่ได้น่ากลัวน้อยไปกว่าประวัติศาสตร์ที่คนเคยประณามกัน

101 ชวนเขาสนทนาเรื่องการเมืองและเหยื่อทางอารมณ์ในสังคมออนไลน์ จนถึงการปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์คนในสังคม ผ่านงานศิลปะของเขา

มองไปยังโลกเสมือนอย่างสังคมออนไลน์ แท้จริงแล้วตัวตนแท้จริงของเราคืออะไร ใครเป็นผู้กระทำ ใครเป็นเหยื่อ รอยยิ้มเหล่านั้นคืออะไร เป็นรอยยิ้มจริงๆ หรือการยิ้มเพราะยอมจำนน

เคน-สิปปกร เขียวสันเทียะ 

แนวคิดของงานชุดนี้เริ่มต้นจากอะไร ทำไมถึงต้องเป็น ‘เหยื่อทางอารมณ์ในสื่อสังคมออนไลน์’

จริงๆ มันเป็นคอนเซ็ปต์หลอก ตอนปีสามเราเป็นคนเดียวที่ทำงานแล้วมีปัญหาตลอด ช่วงแรกทำงานวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง LGBT แล้วอาจารย์ไม่เข้าใจ เขาจะมีคำถามอย่าง “มันดูหดหู่ขนาดนั้นเลยเหรอ?” “มันแย่ขนาดนั้นเลยเหรอ?” เหมือนเขาไม่เข้าใจว่าเราเจออะไรกันมาบ้าง แต่ก็ทำมาเรื่อยๆ ถึงจะไม่ลงตัวและมีปัญหาตลอดช่วง ปี 3 – ปี 4 ก็ตาม ส่วนมากเพื่อนคนอื่นจะทำงานเกี่ยวกับความสุข ความงาม ของกิน ภาพจริง ภาพลวงหลอก ส่วนอาจารย์ที่ศิลปากรจะเป็นแบบไทยๆ ชอบอะไรสวยๆ งามๆ

จนเราเริ่มทำเรื่องโซเชียลมีเดียตอนปี 4 เทอม 2 ความจริงตั้งใจจะทำเรื่องการเมือง งานที่เราทำลงเฟซบุ๊กส่วนตัวหรือในเพจ Baphoboy ก็ชัดเจนมากว่าเป็นเรื่องการเมือง อาจารย์ที่ปรึกษาก็รู้ จนสุดท้ายหาทางออกว่าจะเอาเรื่องการเมืองไปใส่ไว้ในเรื่องโซเชียล พยายามดันทุรังว่ามันเป็นเรื่องโซเชียลเพราะขี้เกียจมานั่งตอบคำถามอาจารย์

อะไรที่ทำให้ใช้คำว่า ‘ดันทุรัง’ ที่จะทำงานเกี่ยวกับเรื่องการเมืองต่อไป

วันหนึ่งมานั่งคุยกับอาจารย์ 3-4 คนว่าจะเอายังไงดี “ผมจะจบไหม?” เราเป็นคนชอบเสพข่าว ชอบอ่านประวัติศาสตร์ อินแต่ไม่รู้จะระบายออกมายังไง สิ่งเดียวที่ทำได้ก็คือทำงานศิลปะ ถ้าทำงานศิลปะโดยที่ไม่ได้เคลื่อนไหวสังคม ไม่ได้ช่วยอะไรคนอื่น ไม่ได้ทำให้คนอื่นคิดอะไรได้ แล้วจะทำไปทำไม

ที่มหาวิทยาลัยเราวิพากษ์วิจารณ์ทหารไม่ได้ การเมืองก็ไม่ได้ อย่างล่าสุดเราพูดถึงเรื่องข่าวปลอม (fake news) สมมติธนาธรถูกคนอีกกลุ่มแต่งข่าวไปโพสต์ในกลุ่มหนึ่ง แล้วคนก็เข้าไปรุมด่า แค่จะพูดถึงเรื่องนี้อาจารย์ยังไม่อยากให้พูดถึงเลย ทั้งที่งานแรกๆ เราวาดทหารกระจุยกระจาย

เราอยากอยู่ในพื้นที่ที่สร้างความเคลื่อนไหวต่อสังคมได้ ศิลปากรค่อนข้างคอนเซอร์เวทีฟ อย่างล่าสุดที่ร่วมกันลงชื่อถอดถอน กกต. มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้สนับสนุน แต่มีนักศึกษาออกมากลุ่มเล็กๆ อาจเป็นเพราะมหาวิทยาลัยเราไม่มีคณะรัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์ด้วยแหละมั้ง แต่จะมีพวกที่เรียนโบราณคดีหรืออักษรศาสตร์ที่ออกมา อาจเพราะเขาเรียนประวัติศาสตร์ทำให้เด็กมีอุดมการณ์ ทั้งที่นักเรียนศิลปะก็ควรมีอุดมการณ์ แต่สิ่งที่พบคือไม่มี

คิดว่าเรื่องการเมืองกับโซเชียลมีเดียเชื่อมโยงกันอย่างไร และอะไรที่ทำให้เกิดการปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองในปัจจุบัน

ถึงเราจะทำงานเรื่องโซเชียลแต่มันก็เป็นเรื่องการเมือง ทุกอย่างล้วนอยู่บนพื้นฐานของการเมืองทั้งหมด เพราะเราคิดว่าการที่คนมีบรรทัดฐานต่างกันแล้วทะเลาะกันไปมา เนื่องจากเราโดนหล่อหลอมโดยสังคมตั้งแต่เด็กว่าบรรทัดฐานต่างๆ เป็นเรื่องของการเมืองสองขั้ว ขั้วขวากับขั้วซ้าย จึงทำให้เกิดการถกเถียง การทะเลาะ แต่ก็เป็นสีสัน เพราะความขัดแย้งเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย

การประท้วงมีได้ เป็นเรื่องปกติ แต่เหตุที่เกิดความรุนแรงขึ้นเพราะมีคนไม่พอใจและต้องการเอาชนะ ทั้งที่การประท้วงเพื่อหาจุดร่วมตรงกลางหรือการประท้วงเพื่อให้เกิดการปรับปรุงแก้ไข มันเป็นหลักประชาธิปไตย เป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะเห็นพ้องกันหมด โดยมีคนกลุ่มเดียวเป็นคนคิดโดยขาดการวิพากษ์วิจารณ์

ไม่รู้ว่าสมัยก่อนวิจารณ์ได้ขนาดไหน ล่าสุดเห็นที่ ส.ศิวรักษ์ ออกมาพูด ทำไมเขาถึงกล้าพูดขนาดนั้น เราก็กลับไปฟังคลิปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ส.ศิวรักษ์ คุยกับ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลที่ไปอยู่ฝรั่งเศส เขาพูดออกสื่อกันอย่างตรงไปตรงมามาก แต่เหมือนว่าเราค่อยๆ กลัวกันมากขึ้นเรื่อยๆ

ไม่ใช่แค่ในเรื่องการเมือง เรื่องการศึกษาก็เป็น เมื่อ 5 ปีที่แล้วเราเห็นพวกพี่ๆ ในมหาวิทยาลัยประท้วงกันบ่อยมากเลย เพราะคณบดีจะจำกัดให้เด็กเรียนเอกนี้น้อย ให้เอกนี้เยอะ นักศึกษาเลยออกมาประท้วง แต่พอเป็นรัฐเผด็จการ เราก็เริ่มไม่กล้ากัน หลังจากนั้นเวลามีเรื่องไม่พอใจเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยก็ไม่มีใครกล้าออกมาท้วงติง งานศิลปะก็เช่นกัน ไม่มีใครกล้าออกมาทำ ไม่มีใครกล้าวิพากษ์วิจารณ์ เหมือนเรากลัวมากขึ้น จากจุดที่เราเคยกล้ามากๆ แล้วอยู่ๆ ก็หายไป

เคน-สิปปกร เขียวสันเทียะ

เคน-สิปปกร เขียวสันเทียะ

อธิบายการวิพากษ์วิจารณ์ผ่านงานศิลปะของตัวเองว่าออกมาในเชิงไหน

งานของเราไม่ได้ออกมาในเชิงด่า แต่ออกแนวจิกกัดหน่อยตามนิสัย เมื่อก่อนคนจะแอนตี้การเล่นเฟซบุ๊กตลอดเวลา แต่ทุกวันนี้เราปฏิเสธที่จะไม่เล่นโทรศัพท์ไม่ได้ เพราะว่างานหรือข้อมูลทุกอย่างอยู่ในนี้จนแทบจะไม่ต้องอ่านหนังสือแล้วเมื่อทุกคนเข้าไปอยู่ในโซเชียลมีเดีย

เราเลยคิดว่าตัวตนคนทุกคนจริงๆ แล้วคือตัวตนที่อยู่ในโลกโซเชียล การที่เราเจอกันในสังคมมันเฟคเพื่อให้เราอยู่รวมกันได้ แต่เมื่ออยู่ในโซเชียล เราจะมีผีในตัว เราอยากด่า อยากวิพากษ์วิจารณ์ เป็นเหมือนตัวตนที่เราปลดปล่อยเข้าไปในนั้น

มีศิลปินหลายคนคิดว่าสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้เราแค่สร้างภาพ ตัวตนจริงที่เป็นสัญชาตญาณดิบปลดปล่อยอยู่ในโลกโซเชียล เราเห็นคนโพสต์ด่าเพราะตัวตนของเขาต้องการจะด่าและระบายออกมาจริงๆ เราเห็นถึงความน่ากลัวของสิ่งนั้น ก็เลยเอาออกมาพูด

อย่างทวิตเตอร์เหมือนเป็นด้านมืด บางคนแต่งตัวใส่สูท เป็นครู เป็นนักศึกษาแพทย์ แต่พอเข้าไปอยู่ในโซเชียลก็กลายเป็นอีกคนหนึ่ง จึงตั้งคำถามว่าสรุปแล้วอะไรคือตัวตนของคนคนนั้น ส่วนตัวเราเทน้ำหนักว่าตัวตนจริงๆ คือตัวตนหลังม่าน

เมื่อคิดถึงเรื่องนี้แล้วก็นำไปเชื่อมโยงกับคนในอดีตที่ไม่มีโซเชียลมีเดียว่าการระบายอารมณ์นี้เกิดจากอะไร เกิดจากความคับแค้นใจ สิ้นหวังหรือจากความไม่ยุติธรรมที่ได้รับ โดยการระบายอารมณ์เหล่านั้นมีทั้งการใช้ความรุนแรง ทุบตี การด่าทอ พูดใส่ร้ายหรือแม้กระทั้งการฆ่าเพื่อเอาชีวิต

ถ้าคนในปัจจุบันแสดงตัวตนผ่านการใช้โซเชียล แล้วคนในอดีตแสดงตัวตนทางไหน

ในช่วงยุคกลางจะมีเรื่องแม่มด แม่มดเป็นแค่เหยื่อของวาติกันที่โดนสร้างขึ้นมาเป็นวาทกรรมให้คนเกลียดกัน โดยเริ่มจากศาสนาหนึ่งที่มีความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติ เป็นหมอสมัยก่อนที่สามารถรักษาคนได้ด้วยสมุนไพร แต่ศาสนาคริสต์ต้องการจะให้คนนับถือตัวเอง จึงตราหน้าศาสนานี้ว่าเป็นศาสนาด้านมืด

แล้วอยู่ดีๆ โป๊ปในสมัยนั้นก็ออกมาพูดว่าคนนี้เป็นซาตาน ทำให้คนเกลียดชังศาสนานี้ เมื่อเกิดการตราหน้าคนที่สืบทอดการใช้ธรรมชาติรักษาคนว่าเป็นแม่มด ศาสนานั้นก็เริ่มหายไปเรื่อยๆ เพราะว่าคนที่นับถือศาสนานี้จะถูกเหมารวมว่าเป็นแม่มดทั้งหมด และกลายเป็นเครื่องมือในการกำจัดคนฝ่ายตรงข้าม เช่น ไม่ชอบคนข้างบ้านก็บอกว่าเขาเป็นแม่มด การพูดว่าเป็นแม่มดเป็นการกล่าวหาที่แรงมากในยุคนั้น แล้วคนก็เริ่มพูดกันปากต่อปากว่าคนนี้เป็นแม่มด สุดท้ายก็โดนฆ่า

เราเอาเรื่องนี้เอามาเชื่อมโยงกับโลกโซเชียล เมื่อความรุนแรงป่าเถื่อนอย่างการฆ่ากันเป็นเรื่องที่ผิดมนุษยธรรม เป็นเรื่องที่โลกรับไม่ได้ คนจึงไปปลดปล่อยในโลกโซเชียลแทน การกุข่าวปลอมมากล่าวหาคนคนหนึ่งก็ไม่ต่างกัน

คิดว่าใครบ้างที่กำลังตกเป็นเหยื่อทางอารมณ์ของสื่อออนไลน์ในปัจจุบัน

ที่เห็นตอนนี้คือธนาธร-ปิยบุตร ถ้าไม่ได้มองแค่ในฝั่งประชาธิปไตยจะเห็นว่าลุงตู่ก็โดน รอยัลลิสต์ก็โดน ทุกคนสามารถเป็นเหยื่อในโลกโซเชียลได้ คนในโลกโซเชียลน่ากลัวมาก ยิ่งถ้าเข้าไปดูในเพจฝั่งขวาจัด โดยเฉพาะคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไปจะเห็นว่าไม่มีวุฒิภาวะในการเล่นเลย เขาบันดาลโทสะอย่างเดียว ด่าอย่างเดียว แต่ฝั่งเด็กๆ ก็มีเหมือนกันบางทีเวลาด่ารัฐบาลก็ด่ากันแบบไม่มีสติเลย

ในต่างประเทศมีคนที่ตายเพราะเรื่อง cyber bully เยอะมาก ในไทยก็มีเยอะแต่ข่าวไม่ได้นำเสนอ คนมองแค่สิ่งที่ตัวเองเห็นในโซเชียล ไม่ใช้วิจารณญาณ ไม่วิเคราะห์อะไรทั้งนั้น

เคน-สิปปกร เขียวสันเทียะ

เคน-สิปปกร เขียวสันเทียะ

หวังว่างานที่ตัวเองทำจะสร้างผลอะไรได้บ้าง

ต้องการให้งานออกมาในเชิงจิกกัดสังคม อย่างน้อยต้องมีคนที่เข้ามาดูแล้วเข้าใจ ถ้าเป็นไปได้เราต้องการสร้างแรงกระเพื่อมในสังคม จำได้ว่าช่วงหนึ่งเราทำภาพเกี่ยวกับ 6 ตุลา โพสต์ลงโซเชียล แล้วเกิดการแชร์ต่อเยอะมาก

ทุกงานของเราเอามาจากภาพจริงในประวัติศาสตร์ เป็นการอธิบายความรุนแรงในปัจจุบันโดยใช้ภาพอดีตมาเล่า เรากำลังเตือนสติคนว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่พวกคุณทำอยู่ไม่ได้น่ากลัวน้อยไปกว่าประวัติศาสตร์ที่คุณเคยประณามไว้ โซเชียลตอนนี้น่ากลัวไม่ต่างจากตอนนั้นเลย ขณะที่อาวุธในยุคนั้นเป็นดาบ ปืน มีด ต่อมาสัก 50 ปีที่แล้วเป็นปากกา การเขียนข่าวด่า แต่ทุกวันนี้เป็นโทรศัพท์ที่มีโซเชียลมีเดีย ตอนนี้ทุกคนต่างมีอาวุธอยู่ในมือแล้ว

เราอยากให้สังคมตระหนัก ว่าสิ่งที่ถือกันอยู่มันไม่ใช่ของเล่น มันเปลี่ยนเป็นปืนได้ มันเปลี่ยนเป็นเงิน เป็นของที่ดีและของชั่วได้หมด

คิดว่าโทรศัพท์ในปัจจุบันกับอาวุธในอดีต สิ่งไหนที่สามารถทำลายล้างได้มากกว่ากัน

เราคิดว่ามันเหมือนกัน เคยมีวาทกรรมหนึ่งที่บอกว่า ปืนหรือมีดได้เปลี่ยนมาเป็นปากกาแล้ว ปากกาในการเขียนใส่ร้ายคนอื่น อย่างช่วง 6 ตุลา สิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับเราไม่ใช่การที่ลูกเสือชาวบ้านหรือทหารออกมาฆ่านักศึกษา แต่คือการเขียนข่าวปลุกระดมคนก่อนหน้าจะเกิดเหตุการณ์ซึ่งทุกวันนี้เราได้เห็นอีกครั้งในโซเชียล

ส่วนตัวชอบภาพไหนที่สุดในผลงานชุดนี้

ชอบภาพผู้หญิงเดินขึ้นแท่นกิโยติน ภาพนี้เกิดขึ้นในช่วงที่เรากำลังอินเรื่อง ‘นิ้ง โศภิดา’ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ มีหลายเพจถูกสร้างขึ้นมาเพื่อด่าเขา ไม่ใช่แค่ด่าแต่เอารูปตัดต่อมาปรับสี เหมือนไม่พอใจที่เขาได้ตำแหน่ง แล้วเอามาบูลลี่ คนก็เข้าไปคอมเมนต์ด่าเยอะมาก เราก็คิดว่าถ้าเราเป็นนิ้งแล้วได้เข้ามาอ่านจะรู้สึกยังไง

“ฉลาดอย่างเดียวแต่ไม่สวย” เป็นคำที่ทำให้นึกถึง ‘มารี อองตัวเนต’ ของฝรั่งเศสที่คนพูดว่าสวยอย่างเดียวแต่ไม่ฉลาด แต่เราไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเขาฉลาดหรือไม่ฉลาด ช่วงพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เป็นยุคสงคราม มีการเก็บภาษีประชาชนเยอะเพื่อนำไปลงทุนกับสงครามต่างๆ

พระนางมารี อองตัวเนต ขึ้นชื่อเรื่องความสวย เกิดในราชวงศ์ อยู่ดีกินดีมาตลอด แล้วมีประโยคหนึ่ง เมื่อประชาชนที่เดือดร้อนมาบอกว่าไม่มีขนมปังกิน แล้วพระนางพูดกับประชาชนว่า “ไม่มีขนมปังก็ให้กินเค้กแทนสิ” เหมือนไม่รู้ว่าความยากจนคืออะไร ประชาชนก็เลยโมโห เกลียดนางมาก จนสุดท้ายนำไปสู่การสิ้นราชวงศ์ฝรั่งเศสและนำพระนางออกมาฆ่า เราคิดว่าใครชนะก็เขียนได้ เราไม่รู้ว่าเขาดีหรือไม่ดียังไง แต่เขาโดนฆ่าไปแล้ว

จริงๆ เราไม่ได้ต้องการให้คนมองว่าเป็นเรื่องของนิ้งหรือใคร งานของเรามันเปิด จะมองว่าเป็นเรื่องการเมืองก็ได้

สีดำที่เห็นเป็นพื้นหลังที่เป็นทหาร ถ้าเป็นสมัยก่อนก็จะเป็นประชาชนที่รุมโห่ ด่า ก่อนฆ่า แต่ทุกวันนี้เหมือนสายตาคนที่จ้องมอง เหมือนโทรศัพท์แต่ละเครื่องที่มันอยู่ในที่มืด ทุกคนต่างรุมด่ากันในโทรศัพท์แต่กระทบถึงเรา ทุกคนรุมเชียร์ รุมด่าให้ไปตาย แล้วต่อให้คนนั้นฆ่าตัวตาย คนในโซเชียลก็คงไม่สลดกับสิ่งที่ทำ หรืออาจจะสลดแล้วยังไงต่อ เพราะคนตายไปแล้ว

การพิมพ์ การด่าของคุณมีผลต่อชีวิตคน มีผลกับทุกอย่าง สิ่งที่คุณมองว่าคือความงาม ก็ไม่ใช่ว่าคนทั้งโลกจะต้องคิดเหมือนคุณ ความงามพูดไม่ได้ อะไรก็งามไปหมดถ้าเราชอบ บรรทัดฐานของคนในประเทศไทยยังปิดกันเยอะ

เคน-สิปปกร เขียวสันเทียะ

เคน-สิปปกร เขียวสันเทียะ

มองว่าการศึกษามีส่วนไหม

การศึกษาน่าจะเป็นอันดับหนึ่ง เรายังเคยถูกสอนว่านักศึกษาเป็นฝ่ายผิดในเหตุการณ์ 6 ตุลาเลย อาจารย์สอนแค่นิดเดียวแต่ใช้ความรู้สึกว่านักศึกษาคือคนผิด การศึกษาให้ค่าประวัติศาสตร์ในช่วงก่อนรัตนโกสินทร์มากกว่าช่วงร้อยปีที่ผ่านมา วิธีการเขียนหลักสูตรเป็นเรื่องอ่อนไหวง่าย ที่เห็นได้ชัดเจนคือการศึกษาไม่ได้สอนให้เด็กวิจารณ์ ไม่สอนให้เด็กตั้งคำถาม อันนี้เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็รู้ เราเรียนในระดับมหาวิทยาลัยยังไม่สอนให้เราตั้งคำถามเลย แต่ก็แล้วแต่สถานศึกษานะ

อยากให้รัฐบาลช่วยอะไรเกี่ยวกับศิลปะไหม

ถ้าลองไล่ดูประเทศที่ศิลปะเฟื่องฟูจะเห็นว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ถ้าปากท้องเราอิ่ม ไม่ต้องไปคิดว่าจะหาเงินยังไง ต้องเลี้ยงดูลูกยังไง คนก็จะบอกว่าศิลปะจำเป็น แต่สำหรับเราไม่มีศิลปะก็ได้ถ้าเราไม่มีตังค์ ถ้าต้องเลือกว่าเราจะไปหาเงินหรือจะไปวาดรูปก่อน เราก็ต้องไปหาเงินก่อนอยู่แล้ว

ถ้าประเทศเราต้องไม่ดิ้นรนขนาดนี้ ศิลปะจะพัฒนาขึ้นเอง ถึงตอนนี้จะไปสนับสนุนยังไง ก็ไม่ใช่ชนชั้นแบบเราๆ ที่จะสนใจงานศิลปะหรือมีกำลังเงินในการสนับสนุนงานศิลปะ ศิลปินไทยหลายคนบ้านโคตรรวยเลย เขาจบมาก็ไม่ต้องมานั่งคิดว่าจะต้องดิ้นรนยังไง เราอยากให้พัฒนาคุณภาพชีวิตก่อน แล้วงานศิลปะค่อยพัฒนาทีหลังก็ยังไม่สาย เราเชื่อว่าศิลปะจะดีขึ้นตามคุณภาพชีวิต

ทำไมถึงเลือกใช้อีโมจิยิ้มแทนใบหน้าของเหยื่อในภาพ

ความจริงมีศิลปินใช้สัญลักษณ์ยิ้มหลายคน แต่ในมุมมองของเรา หน้ายิ้มเป็นหน้าที่เราไม่ชอบเลย เป็นหน้าที่คนชอบส่งมา แล้วเรารู้สึกว่ามันเสแสร้ง ตอแหล ทั้งที่จุดประสงค์มันสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นรอยยิ้มจริงๆ แต่พอมาดูแล้วให้ความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง เราเอาหน้ายิ้มมาใช้แทนความรู้สึกเฉยชากับสิ่งที่เป็นอยู่ ยอมตอแหลกับสังคมที่เกิดขึ้น ด่ามาก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากยิ้มรับ ตอแหลใส่ หน้ายิ้มแต่ความในใจคืออีกอย่าง ยอมจำนนต่อสภาพสังคม และก็น่าจะเป็นไม่กี่สิ่งที่เชื่อมโยงกับเรื่องโซเชียลมีเดียได้

อาจารย์ก็ถามว่าสิ่งที่เกี่ยวกับโซเชียลมีแค่นี้เหรอ แนะนำว่าทำไมไม่ให้ถือโทรศัพท์ แต่คิดว่างานจะไม่มีชั้นเชิงเกินไป ตอนเขียนวิทยานิพนธ์ก็อึดอัดมาก เพราะต้องเขียนเป็นเรื่องโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีอยู่นิดเดียว แต่ตอนนี้เรื่องการเมืองก็กลายเป็นเรื่องโซเชียลมีเดียแล้ว

อยากให้อีโมจิอะไรกับลุงตู่ และ กกต. ประเทศไทย

หน้ายิ้มเลยครับ หน้านี้มันมีร้อยอารมณ์ มันแทนอะไรก็ได้ แต่แทนเรื่องดีๆ ไม่ได้ ส่งหน้าโกรธมันน่ารักมากเลยนะ แต่ส่งหน้ายิ้มเห็นแล้วโกรธ ดูแล้วหงุดหงิด

คิดว่าจะต่อยอดงานชิ้นนี้ยังไง

ตอนนี้เริ่มทำเป็นการ์ตูน เพราะรู้สึกว่างานบางอย่างพอเข้าใจยากหรือดูน่ากลัวเกินไปแล้วบางคนก็ไม่อยากแชร์  จึงเริ่มทำให้เป็นการ์ตูน ใช้สีสันมากขึ้นในเพจ baphoboy ทำให้คนเริ่มสนใจจากความงามก่อนแล้วค่อยมานั่งดูว่ามีอะไรสอดแทรกในนั้น

หลังจากนี้ตั้งใจจะนำเสนอให้สวย น่าสนใจ และไม่ชัดเจนขนาดนั้นเพื่อให้คนกล้าแชร์มากขึ้น ความจริงชอบทำงานสีมากเลย แต่งานชุดนี้ต้องจำกัดเทคนิคเพราะเราเรียนภาพพิมพ์ และใช้เทคนิคที่เป็นขาวดำ ก็เลยน่ากลัวมากๆ เราชอบงานที่ตรงไปตรงมาแต่ตลกร้าย ต้องการพัฒนาต่อให้เป็นอย่างนั้น

มองว่างานศิลปะของตัวเองชัดเจนหรือคลุมเครือ

ความหมายมันคลุมเครือ แต่ในรูปจะชัดเจน เราอยากให้มันดูง่ายแล้วหลอกคนดูอีกทีหนึ่ง แต่ถ้าคนมีประสบการณ์ร่วมจะดูออก มีรูปหนึ่งที่ทำลงในเพจ เป็นรูปต้นไม้แล้วมีคนงอกออกมาจากต้นไม้เหมือนมักกะลีผล แล้วคนพวกนั้นก็เดินมาหย่อนบัตรเลือกตั้ง ถ้าคนอ่านข่าวการเมืองจะรู้ว่าเป็นเรื่องบัตรเลือกตั้งเกิน ถ้าคนมีประสบการณ์ร่วมเพียงนิดเดียวก็จะเข้าใจ เราต้องการแบบนั้น

เคน-สิปปกร เขียวสันเทียะ
ผลงานในเพจ baphoboy

เคน-สิปปกร เขียวสันเทียะ

คิดว่าคนที่จะเข้าใจงานที่เราทำอย่างน้อยควรมีพื้นฐานอะไร

ต้องอ่านข่าว แต่เราไม่ได้ต้องการนำเสนอเหมือนเพจไข่แมวหรือเพจภาพการ์ตูนล้อเลียน เพราะสิ่งที่เราเรียนมายังมีความเป็นอาร์ตที่ไม่ใช่ภาพล้อเลียน เหมือนเวลาไปดูงานศิลปะที่แทรกโน่นนี่เข้ามา แต่ดูง่ายนะ ดูแล้ว “อ๋อ” เพราะเรามีประสบการณ์ร่วม แต่จะมีเพจการ์ตูนล้อเลียนที่เอาโควตคำพูดไปใส่ แบบนั้นเราไม่ได้ดูภาพ เราดูโควต ซึ่งเราไม่ได้ต้องการให้เป็นแบบนั้น

อย่างเพจไข่แมวมีชั้นเชิงนะ เอาหน้ามาใส่เลย ถ้าอ่านข่าวมาจะสัมผัสได้เลเยอร์เดียว แต่ถ้าอ่านลึกกว่านั้นจะสัมผัสได้อีกเลเยอร์

งานเราถ้าคนอ่านข่าวมาดูจะรู้ว่าเป็นเรื่องการโกงเลือกตั้ง แต่ถ้ามองลึกเข้าไปอีกจะเห็นว่าด้านซ้ายของภาพมีคนที่ยืนอยู่ใส่ชุดสีอะไร ทำไมถึงเป็นชุดฮิตเลอร์ ก็จะเชื่อมไปยังเผด็จการ ถ้ามองไปอีกมุมหนึ่งจะเห็นที่มีการใช้สีแทนสัญลักษณ์ต่างๆ เราพยายามให้มันมีชั้นเชิง ไม่ใช่แค่อ่านข่าวพอเข้าใจ แต่ถ้าอ่านมากกว่านั้นก็เข้าใจมากขึ้นอีก

งานแสดงในนิทรรศการ ‘1971’ ร่วมกับเพื่อนๆ คาดหวังกับนิทรรศการครั้งนี้ไหม

ด้วยความที่เป็นศิลปนิพนธ์ จะมีความร้อยพ่อพันแม่ของแต่ละคนที่เชิญญาติมา คนอาจจะมาเสพแค่งานที่สวย แต่อย่างน้อยคนพวกนี้ก็ได้มาเจอศิลปิน สมมติมาเจอเราอย่างน้อยก็น่าจะรู้ว่าเรามีทัศนคติยังไง งานเป็นอย่างไร สำหรับเรามันดีกว่าการแสดงนิทรรศการเดี่ยว เพราะถ้าเป็นการแสดงเดี่ยวของคนที่ทำงานเกี่ยวกับศิลปะไทย ก็จะมีแต่คนที่ชอบศิลปะไทยเข้ามาดู แต่นิทรรศการวิทยานิพนธ์ มีใครบ้างก็ไม่รู้ แค่เห็นผ่านๆ ก็ยังดีแล้วยังเป็นการสนับสนุนศิลปินด้วย สมมติเขาสนใจงานเราก็จะติดตามต่อ หวังให้คนได้มาเห็นงาน แต่คงจะสร้างแรงกระเพื่อมอะไรไม่ได้มาก

อยากมีนิทรรศการเดี่ยวของตัวเองไหม

ถ้าทำได้และมีคนสนับสนุน แต่ถึงได้ทำก็คงโดนจับ (หัวเราะ) สักวันหนึ่งก็ต้องมีแหละ วันนี้เพิ่งเป็นจุดเริ่มต้น ไม่เหมือนอาชีพอื่นอย่างเรียนแพทย์จบมาแล้วก็มาเป็นแพทย์ แต่เรียนอาร์ตจบแล้วจะทำอะไรต่อ อาจจะจบแล้วมาเป็นศิลปิน แต่ทุกวันนี้เรียนจบ 100 คน อยากเป็นศิลปินไม่ถึง 10 คนหรอก ตอนแรกทุกคนเข้ามาเพราะอยากเป็นศิลปิน แต่จะถูกตบไปมาจนสุดท้ายรู้ว่าเป็นไม่ได้ เราคิดว่าตัวเองอาจจะเดินต่อไปได้นะ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะคิดแบบเรา ทำงานศิลปะแทบตายแต่ไม่มีคนสนใจก็ท้อนะ

หลังจากเรียนจบแล้ววางแผนจะทำอะไรต่อ

ปีหน้าจะสมัครทหาร จะได้รู้ว่าเป็นยังไง เพราะ รด. ก็ไม่ได้เรียน อยากรู้ว่ามันเป็นอย่างที่เขาพูดไหม เคยไปผ่อนผันแล้วเขาจะตรวจฉี่ แต่ฉี่ไม่ออกเลยไปนั่งคุยกับพวกเขา เขาก็น่ารักกันนะ

มนุษย์ทุกคนมีความเป็นคนดีมีมนุษยธรรม แต่ที่มันหายไปเป็นเพราะว่าถูกกดด้วยสภาพแวดล้อม ถ้าคุยกันโดยไม่เอาการเมืองมาเกี่ยวก็จะมีความน่ารัก แต่พอมีเรื่องอำนาจก็จะเป็นไปอีกรูปแบบหนึ่ง ปีหน้าจะลองดู ไม่ได้ว่าการเกณฑ์ทหารเป็นเรื่องแย่ แต่คิดว่ามันเป็นการละเมิดสิทธิ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่อยากเข้าไป

เคน-สิปปกร เขียวสันเทียะ

_____________________________________

หมายเหตุ – นิทรรศการ ‘1971’ จะมีการแสดงทั้งหมด 2 รอบ รอบแรกจัดแสดงงานตั้งแต่วันที่ 17-30 เมษายน 2562 ณ หอศิลป์บรมราชกุมารี อาคารศูนย์ปฏิบัติการทัศนศิลป์สิรินธร คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์, มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม และรอบที่ 2 จัดแสดงงานตั้งแต่วันที่ 4-9 มิถุนายน 2562 ณ หอศิลป์วัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save