fbpx
มองสิงคโปร์ย้อนมองไทย... เมื่อสิงคโปร์ถอดบทเรียนโควิด ยกเครื่องการจัดการแรงงานข้ามชา

มองสิงคโปร์ย้อนมองไทย… เมื่อสิงคโปร์ถอดบทเรียนโควิด ยกเครื่องการจัดการแรงงานข้ามชาติ

ย้อนไปเมื่อเดือนเมษายน 2563 สิงคโปร์เจอการระบาดของโควิดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติตามหอพักแรงงานหลายแห่ง โดยมีผู้ติดเชื้อสูงเหยียบหลักร้อยต่อวันนานต่อเนื่องกันถึง 4 เดือน และหากรวมจำนวนผู้ติดเชื้อที่เป็นแรงงานข้ามชาติตามหอพักทั้งหมดแล้ว จะพบว่าคิดเป็นสัดส่วนสูงเกินกว่าร้อยละ 90 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดในสิงคโปร์

มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหอพักแรงงานข้ามชาติของรัฐบาลสิงคโปร์ดำเนินไปอย่างเข้มข้น จนกระทั่งสามารถควบคุมการระบาดระลอกนั้นได้เบ็ดเสร็จในเดือนธันวาคม 2563 แต่ในเดือนเดียวกัน การระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรงในกลุ่มแรงงานข้ามชาติก็ได้เริ่มต้นขึ้นที่ประเทศไทย ด้วยสถานการณ์หลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน ทำให้ไทยสามารถถอดบทเรียนจากสิงคโปร์ มาเป็นแนวทางจัดการการระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติได้ หรือที่เรียกกันว่า ‘สิงคโปร์โมเดล’

สิงคโปร์โมเดลอาศัยการควบคุมการระบาดโดยเน้นไปที่การจำกัดวงพื้นที่อยู่อาศัยและการเคลื่อนย้ายของแรงงานข้ามชาติ ป้องกันเชื้อแพร่ไปสู่ชุมชนข้างนอก รวมทั้งการตรวจหาโรคเชิงรุก แต่หากมองลึกไปกว่านั้น สิงคโปร์โมเดลไม่ได้มีเพียงแผนการควบคุมโรคระยะเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่ยังมีการวางแผนระยะยาวที่จะปฏิรูประบบการจัดการแรงงานข้ามชาติหลายด้าน เพื่อแก้ไขจุดบอดเดิมที่อยู่ใต้พรมมานาน และเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นมาซ้ำรอยอีก โดยรัฐบาลสิงคโปร์เริ่มวางแผนระยะยาวแทบจะทันทีที่เริ่มพบการระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

ทว่า ประเทศไทยดูเหมือนจะเดินตามสิงคโปร์โมเดลอยู่แค่ในขั้นตอนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ส่วนแนวคิดในการแก้ปัญหาระยะยาวยังไม่เห็นออกมาชัดเจนนัก

101 พาไปมองวิสัยทัศน์ของรัฐบาลสิงคโปร์ที่ถอดบทเรียนจากวิกฤตโควิดสู่การปฏิรูปแรงงานข้ามชาติระยะยาว พร้อมคุยกับผู้เชี่ยวชาญทั้งในไทยและสิงคโปร์ เพื่อนำบทเรียนจากสิงคโปร์มาสู่ข้อเสนอแนะปฏิรูปแรงงานข้ามชาติในไทย

ปรับสภาพหอ-สร้างหอเพิ่ม
ปฏิรูปความเป็นอยู่แรงงานแบบสิงคโปร์

หลังพบการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรวดเร็วในกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่สิงคโปร์ ทั้งทางการและบรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างชี้ว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้การระบาดในคนกลุ่มนี้ลุกลามเร็วอย่างไฟลามทุ่งก็คือเรื่องใกล้ตัว เช่น สภาพที่พักอาศัยของแรงงานข้ามชาติเอง

“เมื่อสิงคโปร์พบการระบาดของโควิด-19 ในชุมชน ก็เลี่ยงไม่ได้ที่โรคจะติดต่อไปถึงเหล่าแรงงานข้ามชาติ และพอโรคไปถึงคนกลุ่มนี้ ก็เลยเป็นปัญหาใหญ่ เพราะแรงงานพาโรคเข้าไปยังหอพักแรงงานที่ตัวเองอยู่ ซึ่งแต่ละห้องมีแรงงานอยู่กันอย่างเบียดเสียดถึง 10-20 คน โรคจึงแพร่ไปรวดเร็วมาก” ศ.เตียว ยิกยิง คณบดีวิทยาลัยสาธารณสุขศาสตร์ ซอว์ สวี ฮ็อก แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (Saw Swee Hock School of Public Health, National University of Singapore) กล่าว พร้อมพูดถึงปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดการระบาดในหอพัก อย่างการใช้ห้องน้ำ ห้องครัว และพื้นที่ต่างๆ ร่วมกันหลายคน รวมถึงสุขอนามัยที่ย่ำแย่

ดังนั้นการลดความแออัดและปรับปรุงสุขลักษณะในหอพักจึงเป็นแนวทางแรกๆ ที่ทางการสิงคโปร์หยิบมาใช้เพื่อบรรเทาการระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติแบบเฉพาะหน้า

“สิงคโปร์พยายามลดจำนวนคนต่อห้องลงให้เหลือเพียงไม่เกิน 10 คน โดยต้องดัดแปลงเอาโรงแรม โรงงาน โกดังที่ถูกทิ้งร้าง รวมถึงเรือสำราญมาเป็นหอพักแรงงานเฉพาะกิจ (Quick-built Dormitories – QBDs) เมื่อแรงงานบางส่วนถูกย้ายกระจายไปยังที่พักเหล่านี้ ก็สามารถลดความแออัดในหอพักแรงงานได้ระดับหนึ่ง นอกจากนี้ทางการยังสั่งยกระดับการดูแลความสะอาดในทุกหอพัก โดยเฉพาะห้องน้ำที่แรงงานต้องใช้ร่วมกัน เพื่อลดความเสี่ยงที่แรงงานจะติดเชื้อด้วย” เตียวกล่าว

กระทรวงแรงงานของสิงคโปร์ยังกำหนดมาตรฐานความเป็นอยู่หอพัก QBDs ที่ปรับปรุงให้ดีขึ้นจากสภาพความเป็นอยู่เดิมก่อนเกิดการระบาด อาทิ การเพิ่มพื้นที่อยู่อาศัยในหอพักต่อคน การกำหนดจำนวนเตียงนอนสูงสุดต่อห้อง รูปแบบเตียงและระยะห่างระหว่างเตียง การลดอัตราส่วนจำนวนคนต่อจำนวนห้องน้ำ ห้องครัว และเตียงพยาบาลในหอพัก

ทางการสิงคโปร์ไม่ได้หยุดอยู่แค่มาตรการระยะสั้นเหล่านี้เท่านั้น แต่ยังมีแนวคิดที่จะปฏิรูประบบการจัดการหอพักแรงงานให้มีภูมิคุ้มกันต่อการแพร่ระบาดของโรคในระยะยาว เพราะยังมีอีกหลายโรคที่ติดต่อได้จากคนสู่คน ทั้งโรคที่มีอยู่เดิม เช่น ไข้เลือดออก หัดเยอรมัน และอีสุกอีใส รวมทั้งโรคที่อาจเกิดขึ้นมาใหม่

“ตอนนี้ทางการสิงคโปร์กำลังปรับปรุงมาตรฐานหอพักแรงงานทั่วประเทศใหม่ โดยจะต้องคิดคำนึงถึงหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการวางผังห้อง รูปแบบเตียงนอน รูปแบบห้องน้ำ และระบบถ่ายเทอากาศ โดยมาตรฐานใหม่นี้จะต้องออกมาให้ได้เร็วที่สุด” เตียวกล่าว

สิงคโปร์มีกฎหมาย Foreign Employee Dormitories Act 2015 (FEDA) ที่กำกับดูแลหอพักแรงงานข้ามชาติอยู่แล้ว โดยกระทรวงแรงงานสิงคโปร์กำลังทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงเนื้อหาเกี่ยวกับมาตรฐานหอพักภายใต้กฎหมายฉบับนี้ โดยใช้การถอดบทเรียนจากการทำหอพักแบบ QBDs มาพิจารณาด้วย กระทรวงแรงงานได้ตั้งเป้าให้การทบทวนกฎหมายนี้เสร็จสิ้นภายในครึ่งปีหลังของปีนี้

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา FEDA ไม่ได้บังคับใช้ครอบคลุมหอพักแรงงานข้ามชาติครบทุกแห่งในสิงคโปร์ เพราะกฎหมายกำหนดไว้ให้เพียงหอพักที่มีจำนวนเตียงมากกว่า 1,000 เตียงขึ้นไปเท่านั้นที่จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแล จึงมีแรงงานข้ามชาติร้อยละ 60 เท่านั้นที่อยู่ในหอพักภายใต้กฎหมาย FEDA

กระทรวงแรงงานของสิงคโปร์จึงมีแผนที่จะกำหนดให้หอพักแรงงานข้ามชาติทุกแห่งไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ต้องถูกกำกับมาตรฐานโดย FEDA ทั้งหมดในอนาคตอันใกล้

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานของสิงคโปร์กำลังเดินหน้าลดความแออัดในหอพักระยะยาว ด้วยการสร้างหอพักใหม่ๆ เพิ่มเติมอีกหลายแห่ง ซึ่งจะมาแทนที่หอพักเฉพาะกิจอย่าง QBDs โดยตั้งเป้าที่จะรองรับแรงงานข้ามชาติได้มากที่สุด 1 แสนคน ในระยะแรก 1-2 ปีข้างหน้า กระทรวงแรงงานตั้งเป้าว่าจะมีหอพักใหม่สร้างเสร็จประมาณ 11 อาคาร ขณะที่หอพักอื่นๆ อีกหลายแห่งก็จะทยอยเสร็จสิ้นตามมา นอกจากจะได้รับการยืนยันว่าถูกสุขลักษณะมากขึ้นและมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันแล้ว หอพักใหม่จะช่วยให้แรงงานสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้สะดวกรวดเร็วขึ้นอีกด้วย

จัดระเบียบความเป็นอยู่แรงงานข้ามชาติในไทย
อาจไม่ง่ายเหมือนสิงคโปร์

สภาพความเป็นอยู่ของแรงงานที่แออัดและไม่ถูกสุขลักษณะก็ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยเจอการระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติอย่างรุนแรงคล้ายกับสิงคโปร์

“ปกติ แรงงานก็จะอยู่กันแบบแน่นมากจริงๆ พื้นที่แค่ประมาณ 15-20 ตารางเมตร แต่อยู่กันถึง 6-7 คน บางทีเขาก็อยู่กัน 2-3 ครอบครัวในพื้นที่เล็กๆ ซึ่งก็แออัดมาก ที่เขาต้องอยู่อย่างนี้เพราะอยากประหยัดอดออมเงินส่งกลับบ้าน แล้วที่ผ่านมา ยิ่งตอนที่พวกเขาถูกปิด ไม่ได้ไปทำงาน เขาก็ไม่สามารถรักษาระยะห่างที่บ้านได้เลย แล้วยิ่งมีการเลิกจ้างหรือถูกลดค่าจ้างลงอีก เขาก็ยิ่งย้ายเข้ามาอยู่รวมกันมากขึ้นกว่าเดิมอีก ซึ่งเสี่ยงต่อการระบาดของโรค” รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ศึกษาเรื่องแรงงานข้ามชาติในไทยมายาวนาน กล่าว

ถึงแม้ปัญหาสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติจะเป็นปัญหาร่วมกันระหว่างไทยกับสิงคโปร์ แต่ดูเหมือนว่าปัญหาของไทยจะมีความยุ่งยากซับซ้อนกว่าของสิงคโปร์อยู่มาก โดยเตียวกล่าวถึงความแตกต่างไว้ว่า

“ความแตกต่างก็คือสิงคโปร์มีกฎหมายกำกับดูแลสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติ อย่างเช่นการกำหนดอัตราส่วนพื้นที่ในหอพักขั้นต่ำต่อหัวแรงงานไว้ที่ 4.5 ตารางเมตร และข้อกำหนดเรื่องอื่นๆ ขณะที่หลายประเทศ รวมถึงไทย ไม่ได้มีกฎหมายมาดูแลเรื่องนี้”

เตียวพูดถึงความแตกต่างประการต่อมาว่า “แรงงานข้ามชาติในสิงคโปร์มักอาศัยอยู่กันในหอพักอยู่แล้ว เพราะต้องลงทะเบียนหอพักอย่างชัดเจน ทำให้ทางการรู้แน่ชัดว่าใครอยู่ที่ไหนบ้าง ขณะที่แรงงานข้ามชาติในไทยและอีกหลายประเทศไม่ได้ขึ้นทะเบียนที่พักชัดเจน หลายคนอาจไม่อยู่ในหอพัก แต่อยู่ตามอพาร์ตเมนต์ หรือเช่าบ้านกันอยู่กระจัดกระจายในพื้นที่ชุมชน เพราะฉะนั้นเลยเป็นปัญหาเมื่อเกิดโควิด-19 เพราะเมื่อแรงงานติดเชื้อ ก็สามารถแพร่เชื้อไปสู่ชุมชนได้ง่าย และทำให้การจำกัดวงพื้นที่การระบาดทำได้ยากกว่าสิงคโปร์ที่จัดโซนนิ่งที่อยู่อาศัยสำหรับแรงงานข้ามชาติไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม”

“ประเทศไทยเคยมีแนวคิดเรื่องการทำโซนนิ่งมาแล้วในหลายรัฐบาลแต่ไม่สำเร็จ เพราะผังเมืองสมุทรสาครจัดการยาก ใครอยากขึ้นหอพักก็ขึ้น ใครอยากสร้างโรงงานก็สร้าง ผังเมืองผสมปนเปกันไปหมด แล้วแรงงานก็มักเลือกที่พักใกล้ๆ โรงงาน ไม่อยากอยู่ไกล เพราะฉะนั้นการจัดโซนนิงให้แรงงานไปอยู่รวมกันทั้งหมดเลยจึงยากมาก เว้นแต่จะสร้างเมืองใหม่ขึ้นมาเลย แล้วสร้างระบบการขนถ่ายคนจากที่พักไปที่ทำงาน ซึ่งเป็นไปได้ยากในประเทศไทย” สมพงษ์ สระแก้ว ผอ.มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Right Promotion Network – LPN) กล่าว

สมพงษ์ให้ความเห็นต่อว่า “ถ้าจะทำโซนนิ่งได้ เต็มที่ก็คือการใช้โครงการบ้านเอื้ออาทร ซึ่งที่ผ่านมาก็มี แต่อาจจะไม่เยอะ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่เป็นคนสร้างก็ไม่ค่อยเข้ามาดูแลมากเท่าไหร่ แต่ถ้าเราทำให้มีบ้านเอื้ออาทรเยอะขึ้นมาได้ แล้วราคาไม่แพง มีพื้นที่เป็นสัดเป็นส่วน มีการเข้ามาดูแลระบบระเบียบห้องพัก แรงงานก็อยากไปอยู่กันแน่นอน ซึ่งก็อาจจะช่วยระบายความแออัดในพื้นที่ชุมชนออกไปได้ ขึ้นอยู่กับว่าทางการจะทำหรือเปล่าแค่นั้นเอง”

ขณะที่กิริยาก็เห็นตรงกันว่าการจัดโซนนิงที่พักอาศัยให้แรงงานข้ามชาติในไทยเกิดขึ้นได้ยาก แต่ถึงแม้จะทำไม่ได้ถึงขั้นนั้น กิริยามองว่าอย่างน้อยก็ควรมีการเข้ามาดูแลและจัดระบบระเบียบที่พักอาศัยมากขึ้น

“ส่วนตัวคิดว่าภาครัฐอาจไม่ต้องถึงขนาดเข้าไปสร้างหอพักหรืออะไรเพิ่มอีก แต่อาจจะแค่เข้าไปตรวจสอบมาตรฐานความเป็นอยู่มากกว่า เราควรมีกฎเกณฑ์อะไรบางอย่างที่ค่อนข้างชัดเจนออกมา อาจไปกำหนดว่าครัวเรือนหนึ่งอาศัยอยู่ได้กี่คน ทางการก็ต้องลงไปดูแลจัดระเบียบ ทำให้ถูกสุขลักษณะ ขณะที่สถานทูต เช่น สถานทูตพม่าเองก็อาจเข้ามาช่วยได้ ด้วยการเข้าไปเยี่ยมเยือนดูสภาพความเป็นอยู่ของแรงงาน ดูว่ามีตรงไหนควรแก้ไขปรับปรุงบ้าง” กิริยาให้ความเห็น

โควิด-19 สู่การยกระดับ
ปกป้องสิทธิสวัสดิการแรงงานข้ามชาติในสิงคโปร์

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่หยุดชะงักกิจกรรมเศรษฐกิจไทยอย่างไม่ทันตั้งตัว ส่งผลสะเทือนต่อธุรกิจมหาศาล และแน่นอนว่าผลกระทบได้ถูกส่งเป็นลูกโซ่ไปถึงบรรดาแรงงาน ไม่เว้นแม้แต่แรงงานข้ามชาติ กิจการหลายเจ้าที่ชะลอตัว รวมทั้งที่ต้องปิดลงไม่ว่าจะชั่วคราวหรือถาวร ทำให้เกิดปรากฏการณ์แรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งเจอปัญหาได้รับค่าจ้างไม่ครบ หรืออาจถึงขั้นถูกเลิกจ้างกะทันหัน นอกจากนี้ การระบาดของโควิดที่สมุทรสาคร ยังทำให้เห็นปัญหาว่าแรงงานข้ามชาติส่วนหนึ่งเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ยากลำบาก

โควิด-19 จึงนำมาสู่อีกคำถามในสังคมว่า ระบบการคุ้มครองสิทธิสวัสดิการแรงงานข้ามชาติที่เป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจสำคัญไม่แพ้แรงงานไทย ยังมีช่องโหว่อะไร และจะต้องปรับปรุงอย่างไร

หากข้ามไปมองที่สิงคโปร์ โควิด-19 ก็ทำให้แรงงานข้ามชาติในสิงคโปร์จำนวนหนึ่งประสบปัญหาด้านสิทธิสวัสดิการ รวมถึงการเข้าถึงบริการสาธารณสุข คล้ายกับในไทย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มคิดและเริ่มลงมือที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวในระยะยาวแล้ว  

“ตามกฎหมาย การจัดการดูแลเกี่ยวกับสุขภาพของแรงงานข้ามชาติในสิงคโปร์ถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ของนายจ้างเป็นหลัก แต่หลังจากวิกฤตนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ก็ตระหนักขึ้นมาว่า กระทรวงแรงงานจะต้องเข้าไปดูแลเรื่องนี้ด้วยตัวเองมากขึ้นด้วย กระทรวงแรงงานจึงมีแนวคิดที่จะยกระดับมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้ได้ด้วยว่าจะป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคในคนกลุ่มนี้ได้อีกในอนาคต” เตียวกล่าว

รัฐบาลสิงคโปร์กำลังมีแนวคิดที่จะให้แรงงานข้ามชาติทุกคนสามารถขึ้นทะเบียนกับสถานพยาบาลที่อยู่ไม่ไกลจากที่พักและที่ทำงานของแรงงานแต่ละคน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าแรงงานจะสามารถเดินทางไปใช้บริการได้ง่าย ซึ่งจะช่วยให้แรงงานสามารถรับการรักษาและบริการการแพทย์ต่างๆ ได้อย่างไม่ขาดตอนด้วย นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะทำให้สถานพยาบาลต่างๆ สอดรับกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Culturally-sensitive) มากขึ้น เพื่อให้แรงงานที่มาจากหลายชาติเต็มใจเข้าใช้บริการโดยไม่ต้องกังวลว่ารูปแบบบริการของสถานพยาบาลนั้นจะขัดแย้งกับความเชื่อทางศาสนาหรือวัฒนธรรมของตัวเอง

ราคาของการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลก็เป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อการเข้าถึงสาธารณสุขของแรงงานข้ามชาติ ตามกฎหมาย นายจ้างจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายค่าประกันสุขภาพให้แรงงาน แต่ข้อจำกัดคือมักครอบคลุมค่ารักษาในกรณีผู้ป่วยในเท่านั้น และอาจไม่ครอบคลุมต้นทุนต่างๆ ได้ครบทั้งหมด ทำให้แรงงานข้ามชาติมักกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ขณะที่บางส่วนก็ไม่มีความรู้ความเข้าใจดีพอเกี่ยวกับสิทธิของตัวเองในประกันสุขภาพ ทำให้แรงงานข้ามชาติจำนวนมากมักหลีกเลี่ยงที่จะไปโรงพยาบาล หากไม่ป่วยหนักมากจริงๆ โดยตัดสินใจซื้อยากินแทน

รัฐบาลสิงคโปร์เข้าใจว่าหากเป็นอย่างนี้ต่อไป จะทำให้เกิดปัญหาใหญ่หากมีการแพร่ระบาดขึ้นอีกในอนาคต เพราะระบบสาธารณสุขจะไม่สามารถรับรู้และจัดการการระบาดได้ทันท่วงที กระทรวงแรงงานจึงกำลังเร่งทบทวนเงื่อนไขในประกันสุขภาพของแรงงานข้ามชาติอย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับทั้งแรงงานและนายจ้าง โดยตั้งเป้าว่าจะทบทวนให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้

นอกเหนือจากการเข้าถึงบริการสาธารณสุข การทบทวนแนวทางการปกป้องสิทธิสวัสดิการแรงงานข้ามชาติ อย่างเรื่องการจ้างงานและการจ่ายค่าแรง ก็เป็นอีกประเด็นที่รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญ กระทรวงแรงงานได้ให้คำมั่นว่าจะยกระดับการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติภายใต้กฎหมายที่มีอยู่เดิมในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการสภาพแวดล้อมในการทำงาน ความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งการจ่ายค่าแรงอย่างถูกต้องและตรงต่อเวลา โดยกระทรวงแรงงานจะยกระดับการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เข้มงวดขึ้น และเตรียมที่จะเพิ่มโทษสำหรับนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตาม

ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานก็เห็นปัญหาการได้รับค่าแรงไม่ครบหรือถูกเบี้ยวค่าแรงของแรงงานข้ามชาติจำนวนไม่น้อยในช่วงโควิด กระทรวงแรงงานจึงพยายามเปลี่ยนให้นายจ้างหันมาใช้การจ่ายค่าแรงในรูปแบบ E-payment เพื่อที่จะตรวจสอบได้ง่ายขึ้น จากข้อมูลล่าสุดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบว่านายจ้างสามารถจ่ายค่าแรงงานผ่าน E-payment ให้แรงงานข้ามชาติได้แล้วถึงร้อยละ 97 ส่วนอีกร้อยละ 3 ที่เหลือ กระทรวงกำลังเจรจากับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อลดอุปสรรคข้อบังคับต่างๆ ให้นายจ้างกลุ่มนี้เข้ามาใช้ระบบ E-payment ได้ครบถ้วน

อีกสิ่งสำคัญที่รัฐบาลสิงคโปร์ไม่ได้มองข้ามก็คือการให้ความรู้แรงงานข้ามชาติเกี่ยวกับสิทธิสวัสดิการของตัวเอง เพราะที่ผ่านมาพบว่าแรงงานจำนวนมากยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ จนไม่สามารถเข้าถึงและเรียกร้องสิทธิสวัสดิการที่ควรจะได้ รวมถึงในช่วงโควิดที่ทำให้เห็นปัญหานี้ชัดเจนขึ้น กระทรวงแรงงานสิงคโปร์จึงเร่งเดินหน้าสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับแรงงานข้ามชาติ โดยเน้นสอนเรื่องสิทธิสวัสดิการ รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับช่องทางรายงานปัญหาให้ทางการ เมื่อเจอปัญหาโดนเบี้ยวค่าแรง จ่ายค่าแรงไม่ครบ หรือถูกเลิกจ้างแบบไม่เป็นธรรม ถึงแม้ที่ผ่านมารัฐจะดำเนินการเรื่องนี้บ้างอยู่แล้ว แต่โควิดกระตุ้นให้รัฐต้องทำมากขึ้นอีก นอกจากนี้ ทางการสิงคโปร์ยังจัดทำแอปพลิเคชันใหม่ให้แรงงานข้ามชาติสามารถแจ้งปัญหาเหล่านี้ได้สะดวกขึ้นด้วย

แรงงานข้ามชาตินอกระบบว่อนไทย
ถ้าแก้ไม่ได้ ปัญหาอื่นก็ไม่มีทางแก้ได้

กิริยาและสมพงษ์ให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า แรงงานข้ามชาติในไทยสามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมหรือระบบประกันสุขภาพ หรือทั้งสองอย่าง ซึ่งทำให้ได้รับสิทธิสวัสดิการไม่ต่างจากแรงงานไทย

กิริยาชี้ว่า ปัญหาที่แรงงานข้ามชาติเจออย่างการถูกเบี้ยวค่าแรง ถูกเลิกจ้างกะทันหัน หรือความลำบากในการเข้าถึงสาธารณสุขในช่วงโควิด ก็เป็นปัญหาที่แรงงานไทยเจอเหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่แรงงานข้ามชาติเข้าถึงการได้รับความช่วยเหลือคุ้มครองได้น้อยกว่า ด้วยสาเหตุจากอุปสรรคด้านภาษา โดยรัฐมักสื่อสารภาษาไทย ทำให้แรงงานขาดความเข้าใจและไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือหรือข้อมูลต่างๆ ได้ทันท่วงที การขาดความรู้ในการหางานใหม่ในไทย รวมถึงความเสียเปรียบในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมไทยเมื่อมีข้อพิพาทกับนายจ้าง

ดังนั้นการพยายามให้ข้อมูลความรู้กับแรงงานข้ามชาติถึงสิทธิสวัสดิการตัวเอง เหมือนอย่างที่สิงคโปร์กำลังทำ ก็อาจเป็นทางออกหนึ่งที่ไทยควรทำ

แม้ว่าตามกฎหมายแล้ว แรงงานข้ามชาติอาจจะมีสิทธิสวัสดิการไม่ต่างจากแรงงานไทยก็จริง แต่แรงงานข้ามชาติที่ว่านั้นคือแรงงานที่อยู่ ‘ในระบบ’ เท่านั้น

จากข้อมูลของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตทำงานถูกต้องตามกฎหมายอยู่ 2,144,073 คน แต่แน่นอนว่าจำนวนนี้ไม่ใช่จำนวนแรงงานข้ามชาติที่มีอยู่จริงทั้งหมด เพราะคาดการณ์กันว่ายังมีแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในไทยแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่อีกถึงราว 2-3 ล้านคน หรืออาจมีมากกว่านั้นอีก

นั่นแปลว่า ประเทศไทยอาจมีแรงงานข้ามชาติ ‘นอกระบบ’ มากกว่าแรงงานในระบบเสียด้วยซ้ำ และแน่นอนว่าปัญหาต่างๆ รวมถึงปัญหาที่เกิดในช่วงการระบาดของโควิด ย่อมกระทบกับแรงงานนอกระบบหนักกว่า เพราะไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

เมื่อไทยมีจำนวนแรงงานข้ามชาติที่รัฐมองไม่เห็นล่องลอยอยู่เยอะขนาดนี้ การจะเข้าไปจัดระเบียบหรือคุ้มครองสิทธิสวัสดิการและการเข้าถึงระบบสาธารณสุขของแรงงานข้ามชาติในไทยจึงยากกว่าสิงคโปร์ที่มีแรงงานข้ามชาติเกือบทั้งหมดอยู่ในระบบอย่างถูกต้อง และอยู่บนฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบระเบียบ

เตียวมองว่า “ปัญหาใหญ่สุดของประเทศไทยคือไม่สามารถขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติจำนวนมากได้ และเมื่อแรงงานจำนวนมากไม่อยู่บนฐานข้อมูล ไทยก็เลยจัดการอะไรได้ยากมาก เป็นต้นตอของหลายปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงทำให้การจัดการในช่วงโควิดที่ผ่านมายุ่งยากด้วย เพราะฉะนั้น ก่อนที่ไทยจะไปแก้ปัญหาอื่นเรื่องแรงงานข้ามชาติ จะต้องแก้เรื่องการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก ไม่อย่างนั้นก็จะทำอะไรไม่ได้เลย”

เพิ่มแรงจูงใจ ให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบง่ายขึ้น

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยมีแรงงานนอกระบบจำนวนมาก ก็คือปัญหาการลักลอบเข้าเมืองที่ไม่เคยแก้ไขได้ ด้วยความที่ไทยมีแนวพรมแดนธรรมชาติกับหลายประเทศเพื่อนบ้านเป็นแนวยาว จึงควบคุมการเข้าออกของคนได้ยาก ต่างจากสิงคโปร์ที่มีสภาพเป็นเกาะ จึงมองเห็นการเข้าออกของคนได้ง่ายกว่า

ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านนี้ก็ถูกชี้ว่าเป็นหนึ่งในต้นตอของการระบาดหนักที่สมุทรสาครด้วย

หากไทยแก้ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองผ่านชายแดนได้สำเร็จ ก็จะช่วยตัดวงจรการเกิดขึ้นของแรงงานนอกระบบได้ แน่นอนว่าการสอดส่องตรวจตราชายแดนให้เข้มงวดขึ้นเป็นหนทางหนึ่งที่ต้องทำ และอาจรวมถึงการปฏิรูประบบราชการที่เปิดให้มีการทุจริตลักลอบค้าแรงงานเข้ามาด้วย แต่ก็ต้องยอมรับว่า การจะดูแลไม่ให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านหลุดรอดข้ามพรมแดนมาได้เลยแม้แต่คนเดียว เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้สำหรับประเทศไทยในสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นอยู่นี้

เพราะฉะนั้น อีกสิ่งหนึ่งที่รัฐจำเป็นต้องทำคู่กันไปด้วยเพื่อแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาตินอกระบบล้นทะลัก ก็คือการ ‘เพิ่มแรงจูงใจ’ ให้แรงงานข้ามชาติตัดสินใจเข้ามาในไทย และขึ้นทะเบียนแรงงานอย่างถูกกฎหมายมากขึ้น

แนวทางแรกคือการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด ซึ่งจะช่วยจูงใจให้แรงงานข้ามชาติอยู่นอกระบบน้อยลง เตียวกล่าวว่า “ประเทศไทยจำเป็นต้องใช้มาตรการที่เป็น ‘ไม้แข็ง’ มากขึ้น เพื่อจะแก้ปัญหาแรงงานนอกระบบได้อยู่หมัด เหมือนอย่างสิงคโปร์ที่ใช้ไม้แข็งมาตลอด ด้วยการใช้บทลงโทษทางกฎหมายที่รุนแรงทั้งต่อตัวแรงงานและนายจ้าง ในกรณีที่ตรวจพบว่าเป็นแรงงานเถื่อน ส่งผลให้สิงคโปร์มีแรงงานนอกระบบน้อยมาก”  

ขณะที่กิริยาก็เห็นสอดคล้องกัน โดยให้ข้อมูลว่า “เรามีกฎหมายทุกสิ่งอย่างเรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องตรากฎหมายอะไรใหม่เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติเลย แต่หลายข้อกลับไม่เคยถูกเอามาใช้ทั้งๆ ที่มีพระราชบัญญัติออกมาแล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องบังคับใช้กฎหมายให้มากขึ้น ปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพ และปิดช่องโหว่ของการทุจริตต่างๆ ทำทุกอย่างให้โปร่งใส คนจะได้เข้ามาถูกกฎหมายง่ายขึ้น ส่วนนายจ้างเองก็ต้องให้ความร่วมมือและมีความรับผิดชอบด้วย”

อย่างไรก็ตาม เตียวมองว่า สำหรับประเทศไทย การใช้ไม้แข็งอย่างเดียวอาจไม่สำเร็จ หากไม่ใช้ ‘ไม้อ่อน’ คู่กันไปด้วย

“ผมเห็นว่าประเทศไทยมีการใช้มาตรการผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาตินอกระบบสามารถขึ้นทะเบียนได้ และไม่ถูกเอาผิดทางกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ (Amnesty Scheme) ในบางช่วงเวลา รวมถึงในช่วงโควิด ซึ่งนับว่าเป็นมาตรการแบบไม้อ่อนที่ถือว่าทำถูกแล้ว แต่ก็อย่าลืมว่าต้องทำคู่กันไปกับการใช้ไม้แข็งมากขึ้นด้วย” เตียวกล่าว

นอกจากนี้ อีกหนทางสร้างสำคัญที่จะช่วยจูงใจให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบมากขึ้นได้ คือการลดต้นทุนและลดความซับซ้อนของการเข้าสู่ระบบ

“ถ้าจะให้แรงงานข้ามชาติลดการหลบหนีเข้าเมือง ก็ต้องบอกให้เขาผ่านระบบถูกต้อง เข้าออกตามช่องประตู ผ่านระบบศุลกากร ขึ้นทะเบียนแรงงานให้ถูกต้อง แต่ปัญหาก็คือเราจะสร้างแรงจูงใจตรงนั้นไหม เพราะว่าพอราคาแพง คนก็ไม่อยากใช้บริการ ก็เลยมาใช้บริการนายหน้านำเข้ามาแบบไม่ถูกต้อง สมมติเข้ามาแบบถูกต้อง ต้องเสียเงินประมาณ 20,000-30,000 บาท แต่การลักลอบเสียเงินไม่เกิน 15,000 บาท อาจจะอยู่ที่ 8,000-10,000 บาทด้วย แล้วแต่เส้นทาง เขาก็เลยเลือกมาทางนี้กันมากกว่า” สมพงษ์กล่าว

สมพงษ์ชี้ว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ต้นทุนของการเข้าสู่ระบบสูงเกินไป คือระบบระเบียบของการขึ้นทะเบียนที่ยุ่งยาก มีขั้นตอนเยอะแบบไม่จำเป็น ทำให้แรงงานต้องเสียค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ หลายชั้น ซึ่งคิดรวมกันเป็นเงินจำนวนไม่น้อย โดยที่ส่วนใหญ่แรงงานต้องแบกรับต้นทุนทั้งหมดนี้ไว้เอง โดยมีเพียงบางกรณีเท่านั้นที่นายจ้างอาจเข้ามาช่วย นอกจากนี้ ตัวของระบบลงทะเบียนเองที่ซับซ้อน เข้าใจยาก มักติดขัดปัญหา และอาจเข้าถึงได้ยากสำหรับแรงงานที่ไม่ถนัดวิธีออนไลน์ เปิดช่องให้คนกลุ่มหนึ่งในกระบวนการอำนาจเถื่อนสามารถเข้ามาหาผลประโยชน์ในรูปของนายหน้าได้

“ถ้าระบบขึ้นทะเบียนยังเป็นอย่างนี้ ผมว่าก็จะล้มเหลวอยู่อย่างนี้ เราจะต้องมาคุยทบทวนกันใหม่ set zero ระบบการบริหารจัดการทั้งหมด ทำให้การลงทะเบียนง่ายขึ้น และราคาไม่แพง แต่ไม่ได้แปลว่าฟรี คือให้แรงงานมีส่วนร่วมจ่ายเหมือนเดิม แต่แค่ปรับราคาให้สมน้ำสมเนื้อขึ้นหน่อย นี่คือวิธีการอย่างง่ายที่จะทำให้แรงงานมาอยู่บนดิน” สมพงษ์กล่าว

“เราต้องคิดหาระบบที่ช่วยให้แรงงานไปจดแจ้งได้อย่างง่ายดาย เราอาจจะต้องใช้หลายระบบ มีทั้งระบบแมนนวลและอิเล็กทรอนิกส์ รองรับความถนัดของแต่ละคน นอกจากนี้ระบบจะต้องบูรณาการกันมากขึ้น แต่ละหน่วยงานแชร์ข้อมูลกัน ให้บริการแบบ one-stop service ให้แรงงานคนหนึ่งมีบัตรแค่ใบเดียว แทนที่จะใช้เอกสารเป็นปึ๊ง และผมคิดว่าเราอาจจะต้องมีภาคเอกชนเข้ามาเป็นเอเจนซีดำเนินการแทนกระทรวงแรงงานในเรื่องการขึ้นทะเบียนต่างๆ รวมถึงการเข้ามาร่วมทำ big data เชื่อมโยงฐานข้อมูล เพราะระบบเอกชนจัดการได้ดีกว่าอยู่แล้ว” สมพงษ์ให้ข้อเสนอ

นอกจากนี้ กิริยาก็ให้ความเห็นว่า “การเอาแรงงานเถื่อนขึ้นมาอยู่ในระบบ ยากตรงที่จะทำอย่างไรที่จะรักษาเขาให้อยู่ในระบบได้ เพราะที่ผ่านมาพอขึ้นมาบนดินได้แล้วก็หลุดไปได้ง่าย เช่น เพราะเอกสารหมดอายุ หรือการที่แรงงานอยากจะเปลี่ยนนายจ้างซึ่งต้องใช้เอกสารยุ่งยาก”

ขณะที่สมพงษ์กล่าวว่า “บางทีระบบของรัฐเองก็ทำให้คนทำผิดกฎหมาย สร้างปัญหาขึ้นมาเองเหมือนวัวพันหลัก เช่นการไปสร้างกฎขึ้นมาว่าแรงงานจะต้องแจ้งเข้าแจ้งออกถ้าจะเปลี่ยนงานใหม่ ก่อนจะแจ้งเข้าได้ก็ต้องไปแจ้งออกที่เก่า บางทีนายจ้างเก่าไม่แจ้งออกให้ ระบบก็เลยไม่รับ แรงงานก็ต้องลงใต้ดิน”

“ภาครัฐสร้างระบบที่ไม่เข้าใจความเป็นมนุษย์เท่าไหร่ ถ้ามีการแข่งขันแบบเสรีจริงๆ โดยผู้ที่อยู่รอดได้คือผู้ประกอบการที่จัดระบบดี คุ้มครองแรงงานดี รายได้สวัสดิการดี แรงงานก็จะไหลเข้าไปหา แต่พอสร้างกฎแจ้งเข้าแจ้งออกนี้ขึ้นมา ก็เหมือนไปขีดเส้น ข้อเสนอของผมคือไม่ควรมีระบบแจ้งเข้าแจ้งออกแล้ว เพราะเหมือนเป็นการไปบังคับแรงงาน สุดท้ายทำให้คนลงใต้ดินมากกว่า เราน่าจะปล่อยให้ระบบแรงงานไหลไปตามธรรมชาติ เพียงแต่ต้องสร้างระบบให้มีการติดตามรายงาน โดยใช้ big data ทำให้รู้ว่าแรงงานคนไหนย้ายไปอยู่ไหนแล้วได้ง่ายเลย” สมพงษ์เสนอ

“สมัยนี้เป็นยุคเทคโนโลยีดิสรัปชัน ทำอะไรได้เยอะแยะอยู่แล้ว แต่ทำไมไม่ทำแค่นั้นเอง” สมพงษ์กล่าวเสริม

ฟังเสียงแรงงาน ร่วมมือกับประชาสังคม
ช่วยให้งานง่ายขึ้น

หากวิเคราะห์ตามที่สมพงษ์ว่าไว้ เราจะเห็นว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้การแก้ปัญหาการจัดการแรงงานข้ามชาติในไทยทำได้ยากและไม่ค่อยตรงจุด ก็คือภาครัฐยังไม่เข้าใจชีวิตและปัญหาที่แรงงานข้ามชาติต้องเผชิญดีพอ สมพงษ์จึงให้ความเห็นว่ารัฐจะต้องรับฟังเสียงของพี่น้องแรงงานให้มากกว่านี้ เพื่อจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ตรงเป้ามากขึ้น

“นอกจากฟังเสียงแรงงานแล้ว คนกลุ่มที่สองที่รัฐควรฟังก็คือองค์กรภาคประชาสังคมอย่างพวกเรา เพราะเราสัมผัสกับพี่น้องแรงงานมาตลอด เรามีข้อมูลเชิงลึกที่จะให้คำแนะนำกับคุณได้ และคนกลุ่มที่สามก็คือตัวนายจ้างหรือบรรดาบริษัท เพราะปัญหาไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของแรงงาน แต่เป็นปัญหาของนายจ้างด้วย นายจ้างก็อยากได้ระบบที่ดีเหมือนกัน นอกจากนี้ องค์กรระหว่างประเทศ และสถาบันการศึกษา ก็เป็นอีกส่วนที่น่ารับฟัง เพราะเขามีจุดแข็งคือมีการทำข้อมูลและมีการศึกษาวิจัยที่ดี” สมพงษ์เสนอ  

“ตอนนี้เราส่งข้อเรียกร้องและข้อเสนอต่างๆ เข้าไปให้รัฐอยู่เรื่อยๆ ประเด็นอยู่ที่รัฐบาลจะรับฟังหรือเปล่า หรือจะคิดเองเออเอง ถ้าสุดท้ายไปคิดเองเออเองแล้วไปแก้ปัญหา มันก็เละ” สมพงษ์กล่าว

สมพงษ์กล่าวต่อว่า รัฐจะรับฟังข้อเสนอต่างๆ มากขนาดไหน เป็นสิ่งที่ต้องรอดูกันต่อไป แต่ขณะเดียวกัน รัฐบาลสิงคโปร์ได้ประกาศแนวคิดออกมาชัดเจนแล้วว่า แนวทางหนึ่งของการปรับปรุงการจัดการแรงงานข้ามชาติคือการรับฟังและสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น

กระทรวงแรงงานของสิงคโปร์กล่าวแถลงเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาตอนหนึ่งว่า กระทรวงจะทำงานร่วมกับกลุ่มนายจ้าง เอ็นจีโอ เอเจนซีจัดหาแรงงานข้ามชาติ รวมถึงตัวแรงงานข้ามชาติเอง เพื่อที่จะปรึกษาหาแนวทางร่วมกัน นำข้อเสนอต่างๆ ของทุกฝ่ายทั้งเก่าและใหม่มาพิจารณาหาทางออกเรื่องต่างๆ ร่วมกัน

ในช่วงที่โควิดระบาดหนักตามหอพักแรงงานข้ามชาติ กระทรวงแรงงานสิงคโปร์ก็เปิดให้แรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งรวมตัวกันเป็นเครือข่ายอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติ เพื่อช่วยจัดการปัญหาและให้ความช่วยเหลือต่างๆ กับเพื่อนแรงงานด้วยกัน และยังถือเป็นตัวกลางประสานงานกับกระทรวงแรงงานด้วย ขณะที่กระทรวงก็ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อประสานกับเครือข่ายอาสาสมัครตามหอพักต่างๆ โดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือระหว่างกระทรวงและเครือข่ายแรงงานไม่ได้จบลงแค่ในช่วงการระบาด แต่กระทรวงตั้งใจสืบสานโมเดลการทำงานร่วมกันนี้ไปในระยะยาว เพราะเชื่อว่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ ในอนาคตได้ดีขึ้นด้วย

Welcome in my Backyard
ลดอคติ เปิดรับแรงงานข้ามชาติเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

อีกหนึ่งโครงการที่สะท้อนว่าภาครัฐของสิงคโปร์กำลังให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับประชาสังคมมากขึ้น ก็คือโครงการ Welcome in my Backyard

Welcome in my Backyard หมายถึง “ยินดีต้อนรับสู่พื้นที่หลังบ้านของฉัน” เป็นโครงการที่มุ่งขจัดแนวคิด “Not in my Backyard” (NIMBY) หรือ “อย่ามาอยู่ในพื้นที่หลังบ้านของฉัน” ของคนสิงคโปร์ เนื่องจากการระบาดของโควิดในหอพักแรงงานทำให้รัฐต้องกระจายแรงงานบางส่วนไปอยู่ที่ที่พักชั่วคราว แต่ด้วยความที่สิงคโปร์มีพื้นที่จำกัด ที่พักชั่วคราวบางแห่งจึงจำเป็นต้องตั้งอยู่ใกล้เคียงกับละแวกที่อยู่อาศัยของประชาชน ทำให้คนสิงคโปร์บางส่วนเกิดความรู้สึกต่อต้าน เพราะกังวลหลายเรื่อง ทั้งความปลอดภัยและความสะอาด ด้วยเหตุจากอคติที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ

นี่สะท้อนให้เห็นว่าการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติให้สำเร็จได้นั้น ความร่วมมือและทัศนคติที่เปิดรับต่อแรงงานข้ามชาติของประชาชนทั่วไปก็เป็นตัวแปรสำคัญ ถึงแม้แรงงานข้ามชาติจะไม่ได้มีชาติกำเนิดบนแผ่นดินสิงคโปร์ แต่ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเขาคือส่วนหนึ่งของสังคมอย่างแยกไม่ขาด หากอคติต่อแรงงานข้ามชาติยังคงฟุ้งกระจายในความรู้สึกนึกคิดของคนสิงคโปร์ ก็ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปแรงงานข้ามชาติ

ถึงแม้โครงการ Welcome in my Backyard จะไม่ได้ขับเคลื่อนโดยรัฐ แต่จัดตั้งโดยกลุ่มอาสาสมัครภาคประชาชนของสิงคโปร์ แต่รัฐก็ยื่นมือเข้ามาให้การสนับสนุนผ่านทางกระทรวงวัฒนธรรม

โครงการดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว โดยใช้อาสาสมัครเข้าไปตามพื้นที่ชุมชนต่างๆ จัดกิจกรรมให้ประชาชนและแรงงานข้ามชาติที่เพิ่งย้ายเข้ามาใหม่ทำร่วมกัน เข้าไปจัดกิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจตามโรงเรียน รวมถึงจัดกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์ เปิดให้ชาวบ้านกับแรงงานพูดคุยกันผ่านแพลตฟอร์มวิดีโอคอล โดยมีความตั้งใจให้คนสิงคโปร์มองแรงงานข้ามชาติในแง่ดี และพร้อมเปิดรับพวกเขาเข้าสู่สังคมร่วมกันมากขึ้น

ขณะที่ประชาสังคมเดินหน้าโครงการนี้ ทางฝั่งภาครัฐเองก็พยายามเตือนใจให้ประชาชนขจัดอคติต่อแรงงานข้ามชาติ บรรดารัฐมนตรี รวมถึงนายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง มักจะออกมาสื่อสารกับประชาชนบ่อยครั้งในช่วงการระบาดของโควิดว่าแรงงานข้ามชาติไม่ใช่คนอื่นไกล แต่ถือเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นฟันเฟืองสำคัญของชาติบ้านเมือง พร้อมทั้งขอให้ประชาชนปรับมุมมองต่อพวกเขาใหม่

เมื่อย้อนกลับมามองสังคมไทย อคติต่อแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านก็ยังคงฝังรากลึกมายาวนานตั้งแต่ระดับประชาชนไปจนถึงภาครัฐ การระบาดของโควิดระลอกสองที่เกิดขึ้นในไทย ก็ยิ่งทำให้ความหวาดกลัวแรงงานข้ามชาติขยายชัดขึ้น

การมองแรงงานข้ามชาติอย่างขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง นับว่าเป็นอีกอุปสรรคที่ทำให้การปฏิรูปการจัดการแรงงานข้ามชาติในไทยประสบผลสำเร็จได้ยาก

การที่คนในภาครัฐยังมีแนวคิดมองแรงงานข้ามชาติเป็นคนอื่นหรือมองด้วยความหวาดระแวง ย่อมส่งผลให้การออกนโยบายต่างๆ แก้ปัญหาตรงจุดได้ยาก ขณะเดียวกันเมื่อประชาชนบางส่วนมีทัศนคติแบบนี้ พร้อมกับที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องอยู่ร่วมสังคมกัน ก็ทำให้ปัญหาซับซ้อนขึ้น เช่นในช่วงการระบาดของโควิด ซึ่งมีชาวบ้านจำนวนหนึ่งประท้วงไม่ให้มีโรงพยาบาลสนามสำหรับแรงงานข้ามชาติใกล้ละแวกชุมชน แต่กลับยอมรับได้หากโรงพยาบาลสนามจะรับแค่ผู้ป่วยคนไทย

การปฏิรูปแรงงานข้ามชาติจึงแยกไม่ขาดจากการปฏิรูปทัศนคติของคนในสังคมที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ หากทำได้ ก็จะเป็นฐานรากสำคัญให้การปลดล็อกสารพัดปัญหาแรงงานข้ามชาติเข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น


อ้างอิง

Speech by 2nd Minister for Manpower Dr Tan See Leng at Committee of Supply 2021

Joint MND-MOM Media Release on New Dormitories with Improved Standards for Migrant Workers

Towards health market systems changes for migrant workers based on the COVID-19 experience in Singapore 

Singapore calls for ‘mindset’ change as migrant workers are rehoused

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save