fbpx

ทัศนียภาพใหม่ของประวัติศาสตร์สิงคโปร์

ประวัติศาสตร์สิงคโปร์

เรื่องเล่ากระแสหลักของประวัติศาสตร์สิงคโปร์วางอยู่บนโครงสร้างการเล่าเรื่องสองชุดที่สอดคล้องส่งเสริมกัน เรื่องเล่าชุดแรกมาจากหนังสือชื่อ A History of Singapore, 1819-1975 ของคอนสแตนซ์ แมรี่ เทิร์นบูล (Constance Mary Turnbull) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษผู้ได้ชื่อว่าเป็น ‘เสด็จแม่’ ของประวัติศาสตร์สิงคโปร์ เรื่องเล่าชุดที่สองมาจากบันทึกความทรงจำชุด The Singapore Story ของลี กวน ยู (Lee Kuan Yew) นายกรัฐมนตรีผู้สร้างปึกแผ่นให้กับประเทศสิงคโปร์หลังได้รับเอกราช

ประเด็นสำคัญของเรื่องเล่าชุดแรก คือการกำหนดโดยเทิร์นบูลว่าประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของสิงคโปร์เริ่มต้นในวันที่ 30 มกราคม 1819 เมื่อโทมัส สแตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์ (Thomas Stamford Raffles) ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ก่อตั้งเมืองสิงคโปร์ทำความตกลงกับเตเมงกอง อับดุล ราห์มาน (Temenggong Abdul Rahman) ในการก่อตั้งสถานีการค้าแก่บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษสำเร็จ

ส่วนประเด็นสำคัญของเรื่องเล่าชุดที่สอง คือการผูกเข้ากันเป็นเงื่อนตายระหว่างประวัติชีวิตของลี กวน ยู และความสำเร็จในการเปลี่ยนสิงคโปร์จากประเทศโลกที่สามไปเป็นประเทศโลกที่หนึ่ง

ทั้งสองเรื่องมีจุดร่วมกันคือสิ่งที่เรียกว่า ‘อภินิหารบรรพบุรุษ’

ความสำเร็จของเรื่องเล่าทั้งสองชุดคือการถูกใช้เป็นเครื่องมือกำหนดและปลูกฝังวิธีคิดของคนในสังคม รวมไปถึงการนำเสนอภาพลักษณ์ของประเทศในระดับนานาชาติ แต่ไม่ว่าความสำเร็จจะงดงามและยั่งยืนเพียงใด การศึกษาจะนำมาซึ่งคำถามและความท้าทายเสมอ

ไมเคิล ดี. บาร์ (Michael D. Barr) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและประวัติศาสตร์ร่วมสมัยสิงคโปร์จาก Flinders University มองว่าเรื่องเล่าทั้งสองชุดเป็นปกรณัมที่มีปัญหา เพราะสามารถอธิบายได้โดยข้อเท็จจริงว่าสิงคโปร์เป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญมาตั้งแต่ก่อนการมาถึงของชาติตะวันตก ส่วนความเป็นสมัยใหม่ของสิงคโปร์ในแบบอย่างตะวันตกนั้นก็เกิดขึ้นหลังจากการมาถึงของแรฟเฟิลส์ และสิงคโปร์หลังได้เอกราชไม่ได้มีลักษณะเป็นประเทศโลกที่สามตามที่ลี กวน ยู นำเสนอ

บาร์พัฒนาข้อเสนอของเขาขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมใน Singapore: A Modern History โดยใช้มุมมองเชิงภูมิศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าความสำคัญในเชิงที่ตั้งของสิงคโปร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นเมืองท่าสำคัญในด้านต่างๆ เช่น การส่งผ่านข้อมูลผ่านเคเบิลใต้น้ำ การจราจรทางอากาศ การเดินเรือ ธุรกรรมการเงิน และการค้าน้ำมันนั้น สามารถสืบค้นกลับไปได้ถึงศตวรรษที่สิบสองผ่านเส้นทางการค้าของมหาสมุทรอินเดียและทะเลจีนใต้



ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่าลักษณะทางกายภาพสิงคโปร์จะเป็นประเทศขนาดเล็ก แต่ความสำคัญของการเป็นศูนย์กลางในด้านต่างๆ ก็ทำให้สิงคโปร์มีขนาดใหญ่กว่าพื้นที่ทางกายภาพ การเปรียบเทียบเชิงสัมพัทธ์ด้าน ‘ขนาด’ นี้นำไปสู่คำถามที่ว่า เพราะขนาดที่เล็กนี้หรือไม่ที่นำมาซึ่งความใหญ่ขนาดนี้ และขนาดที่ว่า ‘เล็ก’ เป็นภาพลวงตาหรือไม่ถ้ามองว่าสิงคโปร์เป็นเพียงเกาะที่ตัดขาดจากบริบทของโลกมาเลย์ ผลที่มาจาก ‘ตำแหน่ง’ และ ‘ขนาด’ ทำให้สิงคโปร์ซึ่งมีลักษณะของนครรัฐและเป็นรัฐชาติในเวลาเดียวกันประสบกับปัญหาการจัดการความสมดุลระหว่างการเติบโตภายในประเทศและการเติบโตขึ้นเป็นเมืองของโลก

จากนั้นบาร์ได้แบ่งช่วงระยะเวลาทางประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์ขึ้นมาใหม่ โดยแบ่งออกเป็นสามช่วงผ่านมุมมองของการปกครอง ได้แก่ ก่อนสมัยใหม่ (ปลายศตวรรษที่ 14-ปี 1867) สมัยใหม่ (ปี 1867-1965) ร่วมสมัย (ปี 1965-ปัจจุบัน) ก่อนจะใช้มุมมองด้านเศรษฐศาสตร์และประวัติศาสตร์สังคมเพื่อแสดงให้เห็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นในกรอบเวลาใหม่

การแบ่งกรอบเวลาขึ้นมาใหม่และมุมมองพัฒนาการด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของบาร์มีความน่าสนใจตรงที่ลบล้างและสั่นคลอนมายาคติจากการเขียนประวัติศาสตร์แบบเดิมออกไป กล่าวแบบรวบรัดตัดความคือคำอธิบายที่ว่ามีหลักฐานต่างๆ ที่กล่าวถึงสิงคโปร์น้อยมากนั้นไม่เป็นความจริง

สิ่งที่เห็นได้ชัดจากข้อเสนอของบาร์ คือความต้องการลบล้างมุมมองประวัติศาสตร์แบบเดิมที่เป็นกำแพงในการศึกษา มายาคติที่ว่าสิงคโปร์ไม่มีความสำคัญใดก่อนการมาถึงของแรฟเฟิลส์ เป็นเพียงเกาะที่พักอาศัยของชาวประมงมาเลย์ยากจนนั้นไม่เป็นความจริง นั่นเป็นเพียงการตัดโลกในอดีตของมาเลย์ออกเพื่อเน้นย้ำความสำคัญของตะวันตก หรือกล่าวให้ชัดขึ้นไปอีกคือความเป็นอังกฤษ และเมื่อมองอย่างเป็นระบบ ความเป็นสมัยใหม่ของสิงคโปร์เกิดขึ้นเมื่อสำนักงานอาณานิคมในลอนดอนเข้ามาควบคุมดูแลสเตรตส์ เซทเทิลส์เมนต์เอง (Straits Settlements) ไม่ใช่การมาถึงของแรฟเฟิลส์

ในอีกแง่หนึ่ง การเข้ามาควบคุมสเตรตส์ เซทเทิลส์เมนต์โดยตรงจากลอนดอน คือการหักล้างมายาคติ ‘ประเทศโลกที่สาม’ ของลี กวน ยู ที่บดบังความจริงบางส่วนที่ว่า สิ่งที่อังกฤษนำมาด้วยคือแผนการพัฒนาและการจัดวางระบบต่างๆ ในเมืองท่าอย่างสิงคโปร์ให้สอดคล้องไปกับการบริหารแบบอังกฤษซึ่งเป็นประเทศโลกที่หนึ่ง ข้อเท็จจริงนี้ถือเป็นต้นทุนคงค้างสำคัญที่ส่งต่อมาถึงการพัฒนาของประเทศหลังได้รับเอกราช แน่นอนว่าอังกฤษทำไปเพื่อหาผลประโยชน์เข้าตน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่อังกฤษสร้างไว้บนเส้นทางการค้าเป็นต้นทุนที่สิงคโปร์ได้ประโยชน์ในภายหลัง

นอกเหนือไปจากนั้น อิทธิพลทางอำนาจของอังกฤษในช่วงเปลี่ยนผ่านยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ลี กวน ยู ใช้ในการกำจัดคู่แข่งทางการเมืองเพื่อก้าวสู่อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ บาร์ใช้การอธิบายอย่างเป็นระบบผ่านตัวละครรองและองค์กรต่างๆ ที่จบสิ้นลงไปแล้ว หรือยังมีอยู่อย่างลมหายใจรวยรินในทางการเมืองให้เห็นมุมมองเชิงวิพากษ์ต่อลี กวน ยู พรรคกิจประชา (People’s Action Party) และชนชั้นนำของสิงคโปร์ที่ยังปกครองประเทศอยู่ในปัจจุบัน

จุดประสงค์ที่บาร์ตั้งใจอย่างเปิดเผยใน Singapore: A Modern History คือการนำเสนอทางเลือกใหม่ในการศึกษาประวัติศาสตร์สิงโปร์ โดยหักล้างการเขียนประวัติศาสตร์แบบเดิมที่ได้รับการยอมรับและเป็นประโยชน์ต่อการสถาปนาและคงอยู่ของอำนาจนำ

เมื่อประเมินจากเนื้อหาและการนำเสนอทั้งหมดกับสิ่งที่บาร์ต้องการ ก็ถือได้ว่า Singapore: A Modern History บรรลุจุดประสงค์ในการท้าทายประวัติศาสตร์ของเทิร์นบูล และความทรงจำของลี กวน ยู เพราะมุมมองประวัติศาสตร์ที่นำเสนอมีความเป็นเหตุเป็นผลในการหักล้างการเล่าเรื่องแบบเก่า ผลสำเร็จอย่างยิ่งจากการอ่านและเขียนประวัติศาสตร์แบบทางเลือกใหม่ของบาร์ คือการทำลายมายาคติเรื่องอภินิหารบรรพบุรุษในทางประวัติศาสตร์อย่างแรฟเฟิลส์และลี กวน ยู อย่างเป็นรูปธรรม การเห็นข้อเท็จจริงที่รอบด้านขึ้นทำให้หลุดพ้นจากความซาบซึ้งประทับใจต่อความมลังเมลืองแห่งการเชิดชูตัวบุคคลซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการปลูกฝังค่านิยมและความเชื่อในการปกครอง

อย่างไรก็ดี Singapore: A Modern History ก็ยังมีข้อด้อย เพราะบาร์ง่วนอยู่กับบอกเล่าประวัติศาสตร์ก่อนการเข้ามาถึงของตะวันตกอยู่บ่อยครั้ง จนสร้างความสับสนว่าทำไมต้องกลับมาพูดถึงเรื่องนี้ซ้ำๆ ในการเปลี่ยนมุมมองการวิเคราะห์ ซึ่งนี่อาจเป็นผลมาจากการนำการวิเคราะห์แบบ thematic approach หลายหัวเข้ามาร้อยเรียงเข้าด้วยกันเป็นภาพใหญ่ จึงต้องมีการย้อนกลับไปปูพื้นฐานทุกครั้งเพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงชัดขึ้นในแต่ละประเด็นการทำแบบนี้อาจทำให้แต่ละหัวข้อมีเอกภาพ แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ประวัติศาสตร์ภาพใหญ่ที่บาร์ต้องการบอกเล่าไม่เป็นเอกภาพอย่างที่ควรเป็น

ประวัติศาสตร์สิงคโปร์

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save