fbpx
จาก Silent Spring ถึง พาราควอต : การหายไปของแมลงในโลกแห่งยาพิษ

จาก Silent Spring ถึง พาราควอต : การหายไปของแมลงในโลกแห่งยาพิษ

เพชร มโนปวิตร เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

“มลพิษที่เกิดจากการใช้สารเคมีที่เป็นพิษอย่างไม่คิด เป็นความโอหังขั้นสูงสุดของมนุษย์ มันคือผลผลิตของความโลภและความไร้สำนึก”

ราเชล คาร์สัน

ผู้เขียน Silent Spring หนังสือที่ได้ชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นของขวนการสิ่งแวดล้อมยุคใหม่

 

ข่าวใหญ่ในวงการวิทยาศาสตร์ชีวภาพตอนนี้คือการค้นพบว่าประชากรของแมลงทั่วโลกลดลงอย่างน่าตกใจ และอาจหายไปทั้งหมดภายในศตวรรษนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การล่มสลายของระบบนิเวศ และส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงในเชิงเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตของมนุษย์

นอกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการขยายตัวของเมือง สาเหตุหลักสำคัญที่สุดในการหายไปของแมลงจำนวนมากคือการเกษตรเชิงอุตสาหกรรมที่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณมหาศาล ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่นักอนุรักษ์ส่งเสียงเตือนมา 50-60 ปีแล้วตั้งแต่ยุคหนังสือ Silent Spring มาจนถึงความพยายามล่าสุดในการแบนสารเคมีพิษร้ายแรงอย่างพาราควอต

งานวิจัยเรื่องการลดลงของแมลงทั่วโลกที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Biological Conservation พบว่า แมลงเกือบครึ่งหนึ่งกำลังลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่อีก 1 ใน 3 ถูกคุกคามจนใกล้สูญพันธุ์ อัตราการสูญพันธุ์ของแมลงในขณะนี้สูงกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นกและสัตว์เลื้อยคลานถึง 8 เท่า

ซากแมลงที่หายไปจากกระจกหน้าตอนขับรถในเวลากลางคืน คือภาพสะท้อนการลดลงของมวลแมลงที่ชัดเจน จากข้อมูลในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พบว่าประชากรแมลงลดลงในอัตรา 2.5% ต่อปี ฟังดูอาจไม่เยอะ แต่ถ้าเทียบกับประชากรมนุษย์ 7,700 ล้านคนในปัจจุบัน การลดลง 2.5% ต่อปีก็หมายความว่าจะมีมนุษย์ตายจากไปเกือบ 200 ล้านคนทุกๆ ปี มากกว่าคนไทยทั้งประเทศเกือบ 3 เท่า เพียง 10 ปีมนุษย์จะหายไป 2,000 ล้านคน หรือราว 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด ด้วยอัตราการลดลงที่รวดเร็วขนาดนี้ แมลงอาจหายไปเกือบทั้งหมดภายในศตวรรษนี้

“ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตอาหาร แมลงส่วนใหญ่อาจสูญพันธุ์ไปภายในไม่กี่สิบปีข้างหน้า ซึ่งผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรวม บอกได้คำเดียวว่า หายนะ” ฟรานซิสโก ซานเชส นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ หนึ่งในนักวิจัยหลักกล่าว

แมลงถือเป็นสัตว์บนโลกกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดและหลากหลายที่สุด มีการจำแนกชนิดแมลงได้แล้วกว่า 1 ล้านชนิดซึ่งมีจำนวนมากกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทั้งหมดรวมกัน มวลรวมของแมลงทั้งหมดบนโลกมีน้ำหนักมากกว่ามนุษย์ถึง 17 เท่า แมลงเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยให้กลไกต่างๆในระบบนิเวศดำรงอยู่ได้ ตั้งแต่เป็นอาหาร ถ่ายทอดพลังงานให้กับสิ่งมีชีวิตกลุ่มอื่น ทำหน้าที่ผสมเกสรให้กับพืชพรรณนานาชนิด ไปจนถึงการย่อยสลายอินทรียวัตถุและหมุนเวียนแร่ธาตุในระบบนิเวศ หากปราศจากแมลง ห่วงโซ่อาหารและสายสัมพันธ์ทั้งหมดในธรรมชาติจะขาดสะบั้นลง เฉพาะในสหรัฐอเมริกามีการประเมินว่านิเวศบริการที่ได้จากแมลงมีมูลค่าราว 2 ล้านล้านบาทต่อปี

แมลง insects
ที่มา : http://insectbiodiversity.blogspot.com/2016/05/our-project-begins.html

ถ้าแมลงหายไปผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคงจะเป็นแหล่งอาหารที่หายไปของนก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ปลา รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิด สัตว์พวกนี้จะสูญพันธุ์ตามไปด้วย กลายเป็นผลกระทบแบบโดมิโนซึ่งจะไม่เหลืออะไรเลยในท้ายที่สุด เราเริ่มเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว เช่นงานวิจัยในเปอเตอริโกเมื่อไม่นานมานี้ที่พบว่าการหายไปของแมลง 98% ภายในเวลาแค่ 35 ปี กำลังส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นที่เหลืออยู่

“สาเหตุหลักของการลดลงคือการเกษตรแบบอุตสาหกรรม ทั้งในแง่ของการเปลี่ยนแปลงแหล่งที่อยู่อาศัยดั้งเดิมที่มีความซับซ้อนเชิงโครงสร้างของพืชพรรณไปเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว ที่เต็มไปด้วยปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง”​ ฟรานซิสโก เปิดเผย เขาบอกว่า การลดลงของแมลงเริ่มปรากฏชัดในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษ 1950 และ 1960 พร้อมกับอุตสาหกรรมเคมี ก่อนจะกลายมาเป็นวิกฤติการล่มสลายของแมลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

เขาให้ข้อมูลว่าสารเคมีและยาฆ่าแมลงที่นำมาใช้ในช่วง 20 ปีหลังมานี้โดยเฉพาะกลุ่มนีโอนิโคตินอยด์ (neonicotinoids) และ ฟิโปรนิล (fipronil) มีผลร้ายแรงต่อแมลงเป็นพิเศษ เพราะมีการใช้อย่างแพร่หลายและตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานาน “สารเหล่านี้แทบจะทำให้ดินปลอดเชื้อและฆ่าตัวอ่อนแมลงทั้งหมด” การใช้สารเคมีดังกล่าวส่งผลกระทบไปถึงเขตอนุรักษ์ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันอีกด้วย เช่นงานศึกษาในเยอรมันที่พบว่าแมลงในเขตอนุรักษ์ลดลงถึง 75%

เมื่อปลายปีที่แล้ว ศาสตราจารย์ เอียน บอยด์ หัวหน้าที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของกระทรวงสิ่งแวดล้อม รัฐบาลอังกฤษ ออกมาให้ความเห็นว่า “เป็นความผิดพลาดร้ายแรงที่เราเชื่อกันว่าการปล่อยให้มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณมากมายมหาศาลในภาคการเกษตรเป็นเรื่องปลอดภัย”​

“การที่สารเคมีต่างๆ ผ่านการทดสอบในห้องปฏิบัติการหรือในแปลงทดลอง ไม่ได้หมายความว่าสารเหล่านี้ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้ในปริมาณมากๆ อย่างแพร่หลายเช่นในปัจจุบัน”​ ศาสตราจารย์เอียน บอยด์ เรียกร้องให้มีการจำกัดปริมาณการใช้สารเคมีในการเกษตรเชิงอุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัดในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science เมื่อปี 2017

แม้แต่สหประชาชาติก็ออกรายงานเตือนถึงผลกระทบขั้นหายนะจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อสุขภาวะของมนุษย์ สิ่งแวดล้อม และสังคมโดยรวม ซึ่งรวมถึงผู้เสียชีวิตจากพิษเฉียบพลันของสารเคมีเหล่านี้ปีละ 200,000 คน รายงานดังกล่าวพยายามลบล้างความเชื่อที่ว่าการใช้สารเคมีในการเกษตรเป็นความจำเป็นของเกษตรกรรมยุคใหม่เพื่อให้ได้ผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการของประชากรมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น

การใช้สารเคมีมากขึ้นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร หรือช่วยกำจัดความหิวโหย มันเป็นแค่ความเชื่อ ปัญหาจริงๆ อยู่ที่ความเท่าเทียมในการเข้าถึง และการกระจายผลผลิตต่างหาก” ฮิลัล เอลเวอร์​ ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านสิทธิในอาหาร (Right to food) กล่าว

รายงานฉบับดังกล่าวชี้ว่าความปลอดภัยในอาหารเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งกำลังถูกคุกคามอย่างรุนแรงจากการปนเปื้อนของสารเคมีในผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และวิพากษ์บรรษัทข้ามชาติผู้ผลิตสารเคมีกำจัดศัตรูพืชว่า “ใช้กลยุทธการตลาดเชิงรุกอย่างขาดจริยธรรม และพยายามปิดบังกลบเกลื่อนอันตรายที่แท้จริงของการใช้สารเคมีเหล่านี้ นอกจากนี้ยังขัดขวางการผ่านกฎหมายที่ควบคุมการใช้สารเคมีเหล่านี้ด้วยการล็อบบี้อย่างหนัก”

ปัจจุบันธุรกิจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีมูลค่าถึง 1.5 ล้านล้านบาทต่อปีและยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่กว่า 2 ใน 3 ยังขาดกฎระเบียบในการควบคุมสารเคมีเหล่านี้ ไม่มีการติดตามผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ไม่มีการตรวจสอบการปนเปื้อนสารเคมีต่างๆ ในดินและน้ำ และที่สำคัญสารเคมีอันตรายบางชนิดที่ห้ามใช้ในหลายประเทศ ยังคงปล่อยให้มีการส่งออกไปใช้ในประเทศที่กฎหมายอ่อนแอ

Rachel Carson ปี 1951 ที่มา : the Rachel Carson Council.
Rachel Carson ปี 1951 ที่มา : the Rachel Carson Council.

สิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนที่ราเชล คาร์สันเคยเขียนไว้ว่า “เป็นความโลภและความไร้จรรยาบรรณอย่างถึงที่สุดของอุตสาหกรรมเคมี” เพราะสารเคมีที่พิสูจน์แล้วว่ามีพิษรุนแรงไม่ปลอดภัย ถึงขั้นห้ามซื้อ ห้ามขาย ห้ามใช้ ในประเทศหนึ่งๆ กลับอนุญาตให้มีการส่งออกไปขายและอนุญาตให้ใช้ต่อไปได้ในอีกประเทศหนึ่งได้อย่างไร เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นกับยาฆ่าแมลงอย่าง DDT และกำลังเกิดขึ้นกับยาฆ่าหญ้าที่ชื่อพาราควอต

ย้อนเวลากลับไปราว 60 ปีก่อน ราเชล คาร์สัน นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลซึ่งในเวลานั้นเป็นบรรณาธิการด้านวิทยาศาสตร์ของหน่วยงานอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ U.S. Fish and Wildlife Service เธอเริ่มลงมือเขียนหนังสือเกี่ยวกับผลกระทบของการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช โดยรวบรวมผลการศึกษาจากงานวิจัยหลายชิ้น ในเวลานั้นราเชล คาร์สันอาจไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง แต่กล่าวได้ว่าเป็นนักวิชาการที่มีผลงานการเขียนเป็นที่ประจักษ์และโด่งดังที่สุดคนหนึ่ง หนังสือเกี่ยวกับนิเวศวิทยาทางทะเลก่อนหน้านั้นของเธอสามเล่มติดอันดับขายดี และได้รางวัลหนังสือแห่งชาติ (National Book Award) จากหนังสือเรื่อง ‘The Sea Around Us’ ที่อธิบายการค้นพบด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลได้อย่างน่าประทับใจ

‘Silent Spring’ ตีพิมพ์เมื่อปี 1962 คือผลงานชิ้นสำคัญที่อธิบายถึงผลกระทบของการใช้สารเคมีในการเกษตรอย่างแจ่มชัดทั้งในเชิงสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ประชากรนกลดลงจนฤดูใบไม้ผลิเงียบงัน รวมถึงอันตรายต่อมนุษย์ด้วยกันเอง

ราเชล คาร์สัน ใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายอธิบายถึงผลข้างเคียงของการใช้ DDT ที่เปลี่ยนแปลงกระบวนการภายในเซลล์ของพืชและสัตว์ การตกค้างของสารเคมีในปลา ทำให้นกวางไข่ไม่สำเร็จเนื่องจากเปลือกไข่บางเกินไป และสารพิษตกค้างในห่วงโซ่อาหารที่ส่งต่อมาจนถึงมนุษย์ เธอย้ำว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ร่างกายมนุษย์ย่อมดูดซับสิ่งต่างๆ รอบกาย หากสิ่งแวดล้อมเป็นพิษนั่นย่อมส่งผ่านมาสู่ร่างกายของมนุษย์ได้ในที่สุดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

Silent Spring ยังทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบทางจริยธรรมของรัฐบาลในการอนุญาตให้ใช้สารเคมีที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว ในความคิดของเธอ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเคมีถูกพัฒนาโดยมีเป้าหมายในการสร้างผลกำไรมากเกินไป โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ ในทางกลับกันรัฐบาลที่มีหน้าที่ปกป้องความปลอดภัยของสาธารณชนก็กลับไม่ทำหน้าที่ของตัวเองเพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อน

Silent Spring ฉบับครบรอบ 50 ปี เมื่อปี 2012 ที่มา ; Amazon.com
Silent Spring ฉบับครบรอบ 50 ปี เมื่อปี 2012 ที่มา ; Amazon.com

หลังจากที่หนังสือเล่มนี้กลายเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง ราเชลถูกโจมตีจากอุตสาหกรรมเคมีที่มีมูลค่าหลายล้านเหรียญทั่วทุกสารทิศ บริษัทต่างๆ อย่างมอนซานโต และเวลซิโคลผู้ผลิต DDT ทุ่มเงินมหาศาลในการลดความน่าเชื่อถือของเธอ กล่าวหาว่างานเขียนของเธอไม่เป็นวิทยาศาสตร์ พยายามทำให้เธอกลายเป็นตัวตลก เป็นคอมมิวนิสต์ที่ไม่อยากให้อเมริกาผลิตอาหารได้มากๆ เป็นนักเขียนโรแมนติกโลกสวยที่ไม่ยึดโยงกับความเป็นจริงของโลกที่ต้องการการพัฒนา

โชคยังดีที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในเวลานั้นคือจอห์น เอฟ. เคเนดี ให้ความสนใจกับเรื่องดังกล่าว และตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งเชิญให้ราเชล คาร์สัน ไปให้การต่อรัฐสภา

“มนุษย์เหมือนจะแพ้ภัยต่อพลังอำนาจของตัวเอง และยิ่งถลำลึกไปมากขึ้นเรื่อยๆ กับการทดลองต่างๆ ที่ทำลายตัวเองและโลก เทคโนโลยีที่เราค้นคิดก้าวไปเร็วกว่าความรับผิดชอบชั่วดีของมนุษย์… เป็นไปได้อย่างไรกันที่เราปล่อยให้มีการพ่นสารพิษปริมาณมหาศาลลงสู่ผืนดิน รู้ทั้งรู้ว่าเป็นการฆ่าสิ่งมีชีวิตเกือบทั้งหมดในดิน” เธอตั้งคำถาม “มันไม่ควรจะเรียกว่ายาฆ่าแมลง (insecticides) เพราะมันคือยาฆ่าชีวิต (biocides) เหมือนกับยาพิษ”​

ราเชล คาร์สัน เสียชีวิตไม่นานหลังจากนั้นด้วยโรคมะเร็งเต้านม แต่หนังสือ Silent Spring ก็เป็นการจุดประกายครั้งสำคัญที่นำไปสู่การแบน DDT ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาในค.ศ.1972 และยังทำให้เกิดกระแสความตระหนักถึงสุขภาพของระบบนิเวศที่ส่งผลโดยตรงต่อมนุษย์ จนเกิดเป็นขบวนการสิ่งแวดล้อมระดับรากหญ้าทั่วประเทศที่เรียกหาความรับผิดชอบของภาครัฐและอุตสาหกรรมจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์

อย่างไรก็ตามบริษัทเวลซิโคลผู้ผลิต DDT ยังคงได้รับอนุญาตให้ส่งออก DDT ไปขายทั่วโลกอีกหลายสิบปี โดยเพิ่งจะถูกแบนในอังกฤษเมื่อค.ศ.1986 ออสเตรเลีย ค.ศ.1987 และในที่สุดก็ถูกห้ามใช้ในการเกษตรทั่วโลกในค.ศ. 2001 หลังจากมีการรับรองอนุสัญญาสต็อกโฮล์มที่ว่าด้วยการจัดการสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Persistent Organic Pollutants: POPs) แต่ความเป็นจริง จีนเพิ่งจะหยุดผลิต DDT ไปเมื่อค.ศ.2007 และอินเดียยังคงผลิตและใช้ DDT ในการเกษตรมาจนถึงปัจจุบัน

กรณีของ DDT จึงมีความคล้ายคลึงกับพาราควอต สารเคมีกำจัดศัตรูพืชซึ่งเกษตรกรรู้จักกันทั่วไปว่า ‘ยาฆ่าหญ้า’  จากงานวิจัยมากมายพบว่าพาราควอตเป็นสารอันตรายร้ายแรง มีความเป็นพิษสูง ส่งผลเฉียบพลันต่อ ตับ ไต หัวใจ ปอด พาราควอตแค่หนึ่งช้อนชาก็ฆ่าคนได้แล้ว

ปัจจุบันพาราควอตถูกแบนใน 53 ประเทศทั่วโลกทั้งประเทศต้นทางผู้คิดค้นอย่างอังกฤษ ผู้ผลิตรายใหญ่อย่างสวิตเซอร์แลนด์และจีน ผู้ใช้รายใหญ่อย่างบราซิลและอเมริกา แต่ประเทศไทยยังคงมีการนำเข้าพาราควอตถึง 30,000 กว่าตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าราว 18,000 ล้านบาท ราว 1 ใน 3 ของมูลค่าตลาดสารเคมีกำจัดวัชพืช

ปัญหาที่ทำให้การแบนพาราควอตทำได้ไม่สำเร็จไม่ใช่งานวิจัยที่ยังไม่ชัดเจน ไม่ใช่เพราะขาดหลักฐานถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพของคน ไม่ใช่เพราะไม่มีทางเลือก แต่เหตุผลที่ทำให้รัฐบาลยังปล่อยให้มีการใช้พาราควอต หรือ DDT หรือสารเคมีอันตรายอีกมากมาย คือ เงินบาปของอุตสาหกรรมเคมีที่มีมากเกินไป คือความล้มเหลวและการขาดจริยธรรมของรัฐบาลในการปกป้องประชาชนและแผ่นดินเกิด

ถามว่าไม่ให้ใช้พาราควอตแล้วจะให้ใช้อะไร คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai)

อธิบายถึงทางเลือกต่างๆ ไว้อย่างละเอียด ตั้งแต่การปลูกพืชคลุมดิน การใช้รถแทรคเตอร์ไถกลบ การปลูกพืชแบบผสมผสาน และการใช้สารเคมีตัวอื่นที่มีพิษน้อยกว่า

แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานของสหประชาชาติที่แนะนำว่าประเทศต่างๆ ควรต้องหันกลับไปศึกษาเรื่องนิเวศวิทยาการเกษตร (Agroecology) ซึ่งเป็นรากฐานของเกษตรกรรมยั่งยืน ใช้ความเข้าใจด้านชีววิทยามาแทนที่การพึ่งพาสารเคมีต่างๆ การเกษตรรูปแบบนี้สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นได้ง่ายจึงเป็นประโยชน์โดยตรงต่อชุมชน

สำหรับราเชล คาร์สัน เธอเชื่อว่า “มนุษย์ไม่ควรเอาชนะธรรมชาติด้วยการใช้สารเคมีในนามของความก้าวหน้า นวัตกรรมเหล่านี้อาจรบกวนและสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศอย่างที่ไม่อาจแก้ไขได้”​

การแก้วิกฤติการลดลงของแมลงทั่วโลกจึงไม่สามารถจำกัดอยู่แค่สารเคมีพิษร้ายแรงไม่กี่ตัว แต่จำเป็นต้องมองไปถึงการปฏิวัติรูปแบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และฟื้นฟูความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในระบบนิเวศ​ ก่อนที่ระบบที่ค้ำจุนทุกชีวิตจะพังครืนลงมาทั้งหมด

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save