fbpx

‘เขาทำอะไรกันหลังวันปฏิวัติ?’ เครื่องสับหญ้าและวิญญาณ์งู เรื่องราวชีวิตและการต่อสู้ของสองมะกันชนในแผ่นดินจีนร่วมสมัย

ไม่มีประวัติศาสตร์ไหนที่ไม่มีอะเจนดา (agenda) ทางการเมือง ข้อเท็จจริงและข้อเท็จปลอมถูกนำมาตีความเกิดเป็นเรื่องเล่าซ้ำแล้วซ้ำอีกภายใต้วาทกรรมที่เป็นอำนาจนำ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง เกิดสนามต่อสู้ทางอุดมการณ์ดำเนินควบคู่ไปกับการต่อสู้ทางวัตถุ นี่เองคือความหมายของประวัติศาสตร์ที่จบสิ้นแล้ว 

หลังการยุบสหภาพโซเวียตอันมิชอบโดยกฎหมายเป็นสัญญาณชัยชนะชั่วคราวของระบบทุนนิยม ในความทรงจำของข้าพเจ้า การเชื่อมต่อทางโลกาภิวัตน์หลังจากนั้นเป็นต้นมาช่างเป็นโลกที่จืดชืด เมื่อประวัติศาสตร์ทางอุดมการณ์จบลง 

มวลชนคนเดินดินที่ไม่มีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐชาติถูกบังคับให้ตีตัวอยู่ภายใต้กรอบความเข้าใจเรื่องเล่าของตนเองผ่านมุมมองศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบการทูตศิวิไลซ์ แทนที่การวางตัวอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนของกระแสการเคลื่อนไหวนานาชาติ ในขณะที่อดีตกลุ่มคนสมาทานตนเป็นนักปฏิวัติในโลกที่หนึ่งแถบยุโรปตะวันตกเกิดอาการช็อกหมู่หลังสหายโจเซฟ สตาลิน ตกจากหิ้ง เสียสถานะผู้นำเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติการปลดแอกโลกที่สาม หลังสุนทรพจน์ไม่ลับของนิกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev – เลขาธิการลำดับที่หนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียต) เมื่อวาระการประชุม พ.ค.ส.ซ.ครั้งที่ 20[1] คนเคยหนุ่มสาวหัวก้าวหน้าจำนวนมาก ‘กลับใจ’ จากการเป็นคอมมิวนิสต์ มีทั้งที่หดไปเป็นซ้ายบ้างเพื่อหากินทางใจเป็นครั้งคราวกับกระแสคนรุ่นใหม่ที่ผ่านไปไม่กี่เดือนก็อาจกลายเป็นคนรุ่นเก่าเอาได้ง่ายๆ มีทั้งผงาดขึ้นเป็นอนุรักษนิยมใหม่ (Neoconservative) เพื่อหากินทางการเงินได้เรื่อยๆ กับสถานะปัญญาชนผู้ผลิตความชอบธรรมให้อำนาจของฝ่ายชนะ หรือที่หนักที่สุดคือละทางโลกการเมือง กลับบ้านไปเลี้ยงลูกหลานไม่ให้เดินออกนอกลู่นอกทางก็มี

ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่เสียงไม่ค่อยจะดัง ลีลาไม่ค่อยจะโลดโผนนักในโลกพลวัตอันอื้ออึงของเหล่าฮีโร่ เหยื่อ และมารร้ายการปฏิวัติ หนังสือเล่มนี้ที่ข้าพเจ้าอยากนำเสนอเป็นบันทึกเสียงของหนึ่งในผู้คนเหล่านั้น เป็นเรื่องราวของประวัติศาสตร์ที่ดำเนินไปอย่างไม่ไยดีต่อคำปรามาส (ตัวเอง) ของคนที่กลับใจหรือต่อคำให้ร้ายของคนผงาด  ซึ่งถ้าถามฝ่ายซ้ายไทย พวกเขาอาจจะไม่ฟิตเข้ากับรูปลักษณ์ความเข้าใจว่าอะไร หรือใครเป็นซ้ายหรือเป็นผู้ขับเคลื่อนการเมือง และแน่นอน เขาเป็นพวกจีนแดงบูชาเหมาที่ไม่มีศาสนา ไม่มีกษัตริย์ ไม่มีศีลธรรม และ (ตามมีมล้อการเมืองในโลกโซเชียล) ไม่มีอะไรจะกิน แต่ข้าพเจ้าคิดว่าความเห็นหรือการยอมรับจากคนที่สับสนระหว่างการสมาทานกับการปฏิบัติน่าจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่คอมมิวนิสต์เมียผัวในหนังสือคู่นี้ให้ความสำคัญน้อยที่สุดในโลก

หนังสือเล่มนี้ชื่อ Silage Choppers & Snake Spirits หรือที่ข้าพเจ้าถือวิสาสะแปลเป็นไทยว่า เครื่องสับหญ้าและวิญญาณ์งู พิมพ์ครั้งที่สามโดย สำนักพิมพ์ Foreign Languages Press เมื่อปี 2562 ข้าพเจ้าอ่านหนังสือเล่มนี้จบไม่กี่เดือนก่อนที่หนังสือประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ ของกรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์ จะพิมพ์ออกมา โดยเล่มของคุณกรพนัชสรุปจบตรงช่วงสุดท้ายของการปฏิวัติคอมมิวนิสต์จีนตอนปี 2492 เรื่องราวของเล่ม เครื่องสับหญ้าฯ ก็เริ่มรายงานการปฏิวัติจากภาคพื้น แถวๆ ช่วงเหตุการณ์นั้นพอดีกัน

โดยสรุปความ หนังสือเล่มนี้เป็นชีวประวัติตามคำบอกเล่าของโจน ฮินตัน (Joan Hinton, ชาตะ 2464 มรณะ 2553) และเออวิน เอ็งส์ (Erwin Engst, ชาตะ 2461 มรณะ 2546) ซึ่งมีชื่อเล่นว่าซิด (Sid)      

โจนเป็นนักฟิสิกส์เกิดในตระกูลนักคณิตศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ และนักเคลื่อนไหวสิทธิ โดยคนที่น่าจะดังที่สุดในตระกูลของเขาคือจอร์จ บูล (George Boole) ทวดที่เป็นตัวตั้งตัวตีของหลักพีชคณิตบูลเลียน (Boolean Algebra)      

โจนเป็นหนึ่งในผู้หญิงไม่กี่คนที่ทำงานในโปรเจกต์แมนฮัตตัน (Manhattan Project) ซึ่งเป็นโครงการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยโจนอยู่ในทีมรับผิดชอบการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์ยูเรเนียมเสริมสมรรถนะ (Enriched Uranium Reactor) และต่อมาเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์กลุ่มฝ่ายซ้ายในการแบ่งขั้วอุดมการณ์ภายในโปรเจกต์ ที่เกิดขึ้นหลังจากกองทัพสหรัฐฯ ใช้อำนาจข้ามหัวนักวิทยาศาตร์ นำระเบิดปรมาณูไปทดลองใช้กับฮิโรชิม่าและนางาซากิ[2]       

หลังจบโครงการ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ผู้มีส่วนรับผิดชอบกับการสังหารล้างบางสองครั้งนั้นจึงแบ่งออกเป็นขั้วการเมืองสามฝ่ายชัดเจนตามธรรมชาติของหลักความขัดแย้ง มีฝ่ายซ้ายที่ไปเข้าร่วมการประท้วงเคลื่อนไหวให้อาวุธนิวเคลียร์อยู่ใต้การดูแลของรัฐบาลพลเรือน, ฝ่ายขวาที่อยากให้เอาระเบิดไปใช้ต่อกับประเทศอื่นที่ริอาจจะปลดแอกออกจากจักรวรรดิอเมริกัน, กับฝ่ายวางตนบนทางสายกลาง มาพร้อมสโลแกนสวยๆ ที่ทุกคนคุ้นเคยว่า “เราเป็นนักวิทยาศาสตร์ เราไม่ยุ่งกับการเมือง” 

ส่วนซิดมาจากครอบครัวชาวไร่นิวยอร์กยากจน เป็นเพื่อนร่วมชั้นพี่ชายของโจนที่คณะเกษตรฯ มหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) ในยุคที่คนต่างฐานะทางการเงินยังเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาในสหรัฐอเมริกาได้ทั่วถึงกว่าปัจจุบัน 

ซิดและโจนตัดสินใจหนีออกจากสหรัฐอเมริกาเพื่อไปเข้าร่วมการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ในจีนและลงหลักปักฐานกันอยู่ที่นั่น 

โครงสร้างของเรื่องแบ่งออกเป็น 37 บทไม่นับบทนำและบทส่งท้าย คั่นเป็นหกส่วนใหญ่ๆ ตามช่วงชีวิตของทั้งสองเริ่มตั้งแต่ประวัติของโคตรตระกูลที่สหรัฐอเมริกา, เรื่องตื่นเต้นอย่างการคุกคามคนในครอบครัวและเพื่อนร่วมงานของโจนจากตำรวจลับเอฟบีไอ (FBI), การเล็ดลอดจากวงล้อมก๊กมินตั๋งด้วยความช่วยเหลือขององค์กรคอมมิวนิสต์ใต้ดิน นำโดย มาดามซุนยัดเซ็น, และการหนีตายจากกองกำลังของเจียง ไคเช็ก รวมถึงเรื่องไม่ตื่นเต้นอย่างการทำงานปฏิรูปที่ดินแถบอินเนอร์มองโกเลียกับงานฟาร์มโคนมในมณฑลฉ่านซี และอื่นๆ จนไปจบที่คอมมูนดาวแดง (Red Star Commune)[3] แถวๆ ชานเมืองปักกิ่งในช่วงสุดท้ายของการปฏิวัติวัฒนธรรม 

โจนและซิดต้องอยู่ในฐานะ ‘ฝรั่งผู้เชี่ยวชาญ’ ซึ่งเป็นคำที่สื่อในตะวันตกยุคสงครามเย็นใช้เรียกคนคอเคเชียน (Caucasian) ที่เลือกจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างโลกใหม่ตามสปิริตความเป็นนานาชาติของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ (Internationalism) แต่ไม่ว่าเขาจะเป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ หรือเปล่า คำนี้ก็เหมือนเอาไว้เรียกคนที่ทรยศต่อชาติพันธุ์ตัวเอง ทั้งสองเมียผัว โดยเฉพาะโจนยังโดนแปะป้ายเพิ่มอีกว่าเป็นสายลับที่เอาความลับเรื่องนิวเคลียร์ไปขายให้จีน จึงมีอภิสิทธิ์เป็นหน้าเป็นตาทางการทูตบางอย่าง และมีบ้างบางโอกาสที่โจนหรือซิดถูกเรียกตัวให้ออกจากชีวิตแบบชาวบ้านชาวช่อง มีรถยนต์ขับมารับไปเข้าพบคนใหญ่คนโตอย่างโจว เอินไหล (Zhou Enlai) แต่มันก็เป็นการเรียกหาของบริบทที่ทั้งสองไม่ได้เลือก 

สำหรับนักอ่านทั่วไปหนังสือเล่มนี้อ่านได้สนุกเหมือนประวัติศาสตร์ปากเปล่าเล่มอื่นๆ มีการเล่าถึงบรรยากาศในเหตุการณ์สำคัญๆ เช่น วันสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือช่วงขาดแคลนอาหารตอนนโยบายก้าวกระโดดครั้งใหญ่ (Great Leap Forward) หรือการเคลื่อนไหวร้อยบุปผาที่เลื่องลือ และอื่นๆ

ส่วนเนื้อหาที่ต่างกับประวัติศาสตร์เล่มอื่นๆ คือ หนังสือเล่มนี้เล่าผ่านโจนกับซิด ซึ่งเป็นเรื่องเล่าจากอีกฝั่งหนึ่งของกำแพงที่เกิดกระแสการต่อต้านคอมมิวนิสต์จากฝั่งอำนาจนำอเมริกาเหนือในช่วงสงครามเย็น ผู้อ่านที่เคยแต่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับประเทศจีนจากกรอบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือกรอบอุดมการณ์ซ้ายสายยุโรปและเสรีนิยม หนังสือเล่มนี้จะทำให้เห็นภาพที่มีความซับซ้อน จากมุมมองและข้อเท็จจริงของคนเดินดินที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์เหล่านั้น มีการกล่าวถึงบุคคลสาธารณะจีนจำนวนมากที่ทั้งดังและไม่ดัง ราวกับว่ากำลังอ่านนิยายสามก๊ก ผู้อ่านอาจจะต้องตั้งใจอ่านหรือจดโน้ตหากต้องการตามให้ทันภาพประวัติศาสตร์จีนระดับท้องถิ่นตลอดเล่ม

สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของหนังสือเล่มนี้อีกอย่างหนึ่งคือ ไม่สามารถตีความได้เลยว่าเป็นบันทึกความผิดหวังของนักปฏิวัติที่มีชีวิตอยู่จนได้เห็นและสัมผัสผลที่ตามมาของชัยชนะของทุนนิยมเหมือนกับบันทึกของคนในยุคไล่ๆ กัน ไม่ว่าจะมาจากจีนหรือจากประเทศอื่นๆ หนังสือเล่มนี้เหมือนบทสนทนาของคนที่ไม่รู้จักสภาวะจมปลักหมกมุ่นอยู่ในสัจนิยมทุนของเหล่านักทฤษฎีวิพากษ์ เพราะเขาทั้งสองและคนจีนอีกเป็นสิบๆ ล้านคนได้สัมผัสและรู้แล้วว่าโลกสัจนิยมอื่นมีอยู่จริง 

สำหรับคนที่สนใจศึกษาอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ก็จะเข้าถึงหนังสือเล่มนี้ได้ในอีกระดับหนึ่ง ด้วยความที่หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งที่สามโดยสำนักพิมพ์ที่ผลิตงานโพรพากันดัม (propagandum) ให้กับแนวการเคลื่อนไหวคอมมิวนิสต์สายมาร์กซิสม์-เลนินนิสซึม-เหมาอิสซึม (Marxism-Leninism-Maoism) ซึ่งมีพื้นที่การต่อสู้หลักๆ ในปัจจุบันอยู่ที่อินเดียและฟิลิปปินส์[4] ประกอบกับตัวเจ้าของเรื่องทั้งสองอย่างโจนและซิดมีการศึกษาศาสตร์การเมืองเป็นฝ่ายซ้ายของความขัดแย้งในยุคอุดมการณ์ความคิดประธานเหมา (Mao Zedong Thought) จึงมีศัพท์แสงบางอย่างและวิธีการทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่คุ้นหน้าคุ้นตาอยู่บ้าง แต่ศัพท์แสงและทฤษฎีเหล่านี้ปรากฏอยู่ในเรื่องและวิธีการเล่าเรื่องอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องมีการอธิบายเหมือนครูสอนนักเรียนให้ยืดยาดน่ารำคาญ เริ่มตั้งแต่ชื่อหนังสือว่า เครื่องสับหญ้าและวิญญาห์งู แบ่งใจความของหนังสือออกเป็นเรื่องราวการต่อสู้ในสังคมสองระดับตามทฤษฎีการเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างฐานเศรษฐกิจกับโครงสร้างส่วนบนทางอุดมการณ์ (Economic base and ideological superstructure) 

เส้นไหมเนื้อเรื่องเส้นหนึ่งยังโยงเข้ากับมหากาพย์โปรเจกต์การออกแบบเครื่องสับหญ้าหมักของโจนกับสหายหวางลี่ผิง ริเริ่มตอนปี 2497 จากการเอาใบมีดกับโครงมาติดมอเตอร์โง่ๆ ไปจนถึงการประสานงานออกแบบกับโรงงานผลิตชิ้นส่วน และการฉะกันระหว่างชาวไร่กับคนทำงานพรรคท้องถิ่นที่ไม่ยอมอนุมัติให้ใช้เครื่องจักรที่ไม่ได้เมดอินโซเวียตยูเนียน สะท้อนถึงความพยายามแบบเดียวกันนี้ที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างในชนบท เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการพัฒนาความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยตั้งต้นจากความคิดริเริ่มล่างสู่บนตอนที่มันยังเป็นวาทกรรมสำคัญในสังคมจีน คู่กันไปกับอีกเส้นหนึ่งที่พูดถึงการต่อสู้ทางอุดมการณ์กับเหล่าวิญญาณหรือผีงู หรืออำนาจทางรูปธรรมผ่านนโยบายของคนใหญ่โตระดับชาติในพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภาพรวมเบี่ยงออกไปทางทุน/ชาติ/เศรษฐศาสตร์นิยม ไฮไลต์ของการต่อสู้นี้คือบทไคลแมกซ์ของหนังสือที่เกี่ยวกับเหตุการณ์อันจะเป็นอื่นใดมิได้นอกจาก ‘การปฏิวัติวัฒนธรรม’ (The Great Proletarian Cultural Revolution) ซึ่งโจนและซิด รวมไปถึงฝรั่งผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ เข้าไปมีส่วนร่วมในบทบาทที่แตกต่างกันออกไป โดยตัวโจนมีมิติของเฟมินิสต์แม่ลูกอ่อนที่พยายามหาที่ทางในสังคมที่ตื่นตัวทางการเมืองอย่างถึงที่สุด และเพิ่งหลุดจากวัฒนธรรมศักดินาได้ไม่นาน

ความเข้าใจชีวิตตัวเองของสองเมียผัวในช่วงนี้เองที่เป็นตัวบ่งชี้ชัดเจนของความแตกต่างระหว่างอัตวิสัยเสรีนิยมและคอมมิวนิสต์ ในขณะที่สื่อกระแสหลักทุกยุคทุกสมัยประโคมข่าวโฟกัสอยู่กับความรุนแรงที่เกิดขึ้นตามวัฒนธรรมการประณามของชาวประชาธิปไตยแบบผู้ดี โจนและซิดกลับมองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง ว่าการปฏิวัติวัฒนธรรมเกิดขึ้นได้ก็เพราะคนส่วนมากสนับสนุน และรู้ดีว่าการต่อสู้ในโครงสร้างส่วนบนต้องเกิดขึ้นควบคู่กันไปกับการคงฐานเศรษฐกิจเอาไว้  ความรุนแรงและการฉกฉวยโอกาสสร้างบารมีของผู้มีอำนาจในพรรคเกิดขึ้นได้และมีปัจจัยมากมายที่ทำให้มันเกิดขึ้น แต่เนื้อหาของการเคลื่อนไหวในตอนนั้นเป็นเนื้อหาทางการเมืองปฏิบัติที่อยู่นอกเหนือ และขัดแย้งกับโครงสร้างของการเมืองอำนาจ โจนกับซิดเข้าใจดีว่าการนำความขัดแย้งเหล่านี้ออกมาพูด และแก้ไขกันด้วยวิธีที่ถูกต้องในที่สาธารณะเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะสังคมที่วาทกรรมอำนาจบอกว่าไม่ควรจะมีความขัดแย้งคือสังคมที่ไม่มีอยู่จริง[5]

ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าหนังสือเล่มนี้พอจะมีคุณค่าทางวิชาการมากน้อยขนาดไหนด้วยสถานะความเป็นเรื่องเล่าจากปาก แต่สำหรับข้าพเจ้า สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือคุณค่าทางการเมืองของมัน หนังสือเล่มนี้ผู้เขียนอุทิศไว้ให้กับคนสองกลุ่ม หนึ่งคือทุกผู้ทุกคนในโลกที่เข้าใจว่าการต่อสู้ของผู้อื่นก็เป็นการต่อสู้ของตัวเองเช่นกัน และสองคือโจนกับซิดที่เซ้าซี้ให้ผู้เขียน “ลุกจากตรงที่นั่งสบายก้นอยู่ แล้วไปทำอะไรให้โลกนี้บ้าง” มันอาจจะฟังดูไม่ถูกหูหลายคนในยุคนี้เท่าไหร่ ที่แค่ความพยายามจะหาเลี้ยงตัวเองก็เป็นการดิ้นรนจนแทบจะใช้กำลังจนหมดสิ้น และที่ขัดจริตของปัจเจกเสรียิ่งไปกว่านั้นคือมันเป็นคำพูดของคนที่ต้มน้ำร้อนอาบกลางพายุหิมะมาก่อน และเขาไม่ต้องทำอะไรแบบนั้นแล้ว แต่ถ้าคุณผู้อ่านจะได้อะไรจากมัน นอกจากวัตถุดิบให้เอาไปสำรวจความเข้าใจของตัวเองใหม่ก็คงจะเป็นข้อคิดทางจริยธรรมคอมมิวนิสต์นี้นี่เอง

References
1 แหล่งข้อมูลหลังเปิดหอจดหมายเหตุโซเวียตทำให้เกิดความเข้าใจอารยธรรมสหภาพโซเวียตใหม่ในแวดวงวิชาการนอกบริบทการใส่สีของสงครามเย็น แนะนำท่านผู้อ่านที่สนใจประเด็นนี้ให้เริ่มอ่านได้จากงานของนักประวัติศาสตร์  Mark B. Tauger หรือ J. Arch Getty หรืองานที่ย่อยมาวิจารณ์ให้ฟังแล้วโดยนักปรัชญา Domenico Losurdo
2 ตามคำบอกเล่าในหน้า 47 กองทัพสหรัฐฯ ในตอนนั้น ตั้งใจจะไม่ทิ้งระเบิดธรรมดาใส่ 3 เมืองคือ ฮิโรชิม่า นางาซากิ และโคคุระ เพื่อจะเก็บสามเมืองนี้ไว้เป็นหนูทดลองระเบิดปรมาณูในสภาพใกล้เคียงกับเมืองที่มีคนอยู่อาศัยนอกสภาวะสงครามให้มากที่สุด โคคุระรอด เพราะโดนระเบิดธรรมดาจนเละไปก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้ายังไม่ได้ไปค้นคว้าข้อเท็จจริงตรงนี้
3 ฐานเศรษฐกิจการเกษตรของจีนในยุคสังคมนิยมประกอบไปด้วยรูปแบบการจัดการที่ดินหลักๆ สองแบบคือ นา/ไร่รวม (Collective Farms) ซึ่งแต่ละคอลเลกทีฟถือกรรมสิทธิส่วนรวมตามรัฐธรรมนูญ กับนา/ไร่ของรัฐ (State Farms) ซึ่งรัฐถือกรรมสิทธิและมีลูกจ้างรัฐเป็นคนทำงาน
4 พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2552 โดย สำนักพิมพ์ IBON จากประเทศฟิลิปปินส์ ผู้เขียนคำนำฉบับแรกคือจูเลียต เดอ ลิม่า ซิซอน (Julie de Lima Sison) คอมมิวนิสต์ชาวฟิลลิปปินส์ โดยปัจจุบันน่าจะลี้ภัยอยู่เนเธอร์แลนด์
5 เช่นเดียวกับการสำรวจประวัติศาสตร์สหภาพโซเวียตใหม่ที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงในเชิงอรรถที่ 1 ข้างต้น การแย่งชิงเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ยุคสังคมนิยมในจีนยังคงดำเนินอยู่ถึงจนทุกวันนี้ตั้งแต่ก่อนจะเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และเป็นการต่อสู้ที่อยู่นอกขอบเขตความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ของคอมมิวนิสต์สาย ม.ล.ม. สำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่รู้ภาษาจีนแต่อ่านอังกฤษได้ แนะนำให้อ่านเล่ม ศึกชิงอดีตกาลจีน: เหมากับการปฏิวัติวัฒนธรรม ของนายเกาโม่โป พิมพ์ปี 2551 โดย สำนักพิมพ์พลูโต (The Battle for China’s Past: Mao and the Cultural Revolution by Gao Mobo, Pluto Press, 2008

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save