fbpx

อ่านโทรเลข ‘เซียวฮุดเสง’ ถึง ‘ในหลวงรัชกาลที่ 7’ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

“ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วว่า นายเซียวฮุดเสง สีบุญเรือง ได้เป็นนักหนังสือพิมพ์และนักการเมือง ซึ่งนิยมการปกครองระบอบประชาธิปไตย และเป็นผู้ที่ได้เคยเสียสละและฝ่าอุปสรรคนำมติมหาชนในประเทศไทยนี้ชั่วเวลาหลายปี เมื่อประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญแล้ว ขณะนั้น นายเซียวฮุดเสง กำลังอยู่ในประเทศจีน ได้มีโทรเลขเข้ามากราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์แสดงความชื่นชมยินดีที่ทรงพระกรุณาพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนชาวไทย”  

ประดิษฐมนูธรรม กรุงเทพฯ วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2482

เมื่อนึกถึงชื่อของปัญญาชนจีนสยามยุคเปลี่ยนผ่านการปกครองของประเทศไทย ชื่อของนายเซียวฮุดเสง สีบุญเรือง ย่อมได้รับการกล่าวขานขึ้นเป็นลำดับต้นๆ เมื่ออายุ 44 ปีเขาได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ที่ทรงอิทธิพลต่อสังคมไทยเป็นอย่างมากในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ระยะนั้น นอกเหนือจากนายเซียวฮุดเสงจะมีมิตรภาพส่วนตัวกับ ดร.ซุนยัดเซ็น นักปฏิวัติชาวจีนผู้สามารถพลิกประวัติศาสตร์โค่นล้มระบอบกษัตริย์ของประเทศจีนได้สำเร็จแล้ว เขายังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อสองคณะปฏิวัติที่สำคัญของประเทศสยาม คือ คณะ ร.ศ.130 และ คณะราษฎร 2475 อีกด้วย

เหตุการณ์ที่นายเซียวฮุดเสงโทรเลขกราบบังคมทูล ร.7 จากคำไว้อาลัยที่ปรีดี พนมยงค์เขียนในหนังสืองานศพของนายเซียวฮุดเสงข้างต้นนี้ หนังสือพิมพ์หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ตีพิมพ์นำเสนอไว้อย่างละเอียด ดังจะหยิบยกมานำเสนอในบทความนี้

เซียวฮุดเสง[1] สีบุญเรือง (พ.ศ. 2406-2482)

นายเซียวฮุดเสง สีบุญเรือง

นายเซียวฮุดเสง (萧佛成) จีนสยามนักหนังสือพิมพ์ นักการเมืองชื่อก้อง เชื้อสายจีนฮกเกี้ยน ลำดับชั้นที่ 6 ของตระกูลเซียว ที่เดิมอพยพถิ่นฐานจากฟอร์โมซา (ไต้หวัน) มายังสหปาลีรัฐมลายู จังหวัดมะละกา ในกลุ่มที่เรียกว่า ‘จีนบาบ๋า’ ก่อนย้ายถิ่นฐานมายังประเทศไทย เขาเป็นบุตรคนที่สองของนายเซียวเลี่ยงอันและนางหยิว เกิด พ.ศ. 2406 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.4 ถือสัญชาติอังกฤษ บิดาว่าจ้างครูชาวจีนมาสอนภาษาตั้งแต่วัยเยาว์ มีความสามารถทางภาษายอดเยี่ยมทั้งไทยและจีน มีน้องชายคนเล็กชื่อว่า นายเคงเหลียน สีบุญเรือง (พ.ศ. 2418-2483)[2] เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและคนแปลหนังสือประวัติพระถังซัมจั๋งอันเลื่องชื่อ[3] นายเซียวฮุดเสงยังเป็นบิดาของนักพากย์ภาพยนตร์ชื่อดัง ‘ทิดเขียว’

นายเคงเหลียน สีบุญเรือง

เมื่อ พ.ศ. 2450 เซียวฮุดเสงเริ่มก่อตั้งหนังสือพิมพ์ 2 หัว ไทย-จีน มีชื่อภาษาไทยว่า จีนโนสยามวารศัพท์ และภาษาจีนว่า ฮั่วเซียมซินป่อ (華暹新報) เซียวฮุดเสงได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นไว้ว่า “ผู้ที่อ่านหนังสือพิมพ์ของเรา ถ้าได้อ่านตั้งแต่ต้นมาแล้วคงจำได้ว่า เมื่อครั้งจีนโนสยามวารศัพท์แรกออกนั้นมีอักษรจีนกับอักษรไทยรวมกันอยู่ในฉบับเดียว…เพราะเหตุนี้เราจึงได้ตั้งนามหนังสือพิมพ์ของเราให้เรียกว่าจีนโนสยามวารศัพท์ หมายความว่าเปนจดหมายเหตุข่าวรายวันที่มีทั้งภาษาไทยและภาษาจีน หรือนำข่าวที่มีในประเทศจีนมาสู่ผู้อ่านในประเทศสยาม ซึ่งไม่ผิดอะไรกับบริษัทเรือเมล์จีนสยามที่แสดงให้ทราบว่าเปนบริษัทที่ทำการเดินเรือระหว่างประเทศจีนกับสยามเท่านั้น”[4] ขณะดำเนินกิจการ มีธิดาคนเก่ง ลม่อม สีบุญเรือง (พ.ศ. 2436-2462)[5] ผู้ใช้นามปากกาว่า ‘ยูปิเตอร์’[6] และได้รับการกล่าวขานว่าเป็นเอดิเตอร์สตรีท่านแรกของประเทศสยาม บรรณาธิการผู้ดูแลหนังสือในเครือฉบับรายเดือนชื่อว่าผดุงวิทยา

จีนโนสยามวารศัพท์
ลม่อม สีบุญเรือง

ดร.ซุนยัดเซ็น รัฐบุรุษนักปฏิวัติจีนเป็นมหามิตรกับนายเซียวฮุดเสง เคยเดินทางเยี่ยมเยือนประเทศไทย จำนวน 2 ครั้งตามบันทึกของทางการสยาม[7] และ 4 ครั้งตามเรื่องเล่าอื่นๆ[8] ถึงขนาดมีเขียนเล่าไว้ในหนังสืองานศพของอดีตมหาดเล็กว่าเคยนัดพบในหลวงรัชกาลที่ 6 ขณะยังทรงเป็นพระยุพราช[9]

หนังสืองานศพของธิดานายเซียวฮุดเสงบันทึกไว้ว่า “ดร.ซุนยัดเซ็น หัวหน้าคณะเก๊กหมิ่งตั๋งสนใจในตัวท่าน และได้เดินทางมายังประเทศไทยโดยพำนักอยู่ที่บ้านของท่าน เพื่อรณรงค์ขอความสนับสนุนจากชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย”[10]

นายเซียวฮุดเสงไม่เพียงเป็นนายทุนเจ้าของสำนักพิมพ์เท่านั้น แต่ยังแสดงความปราดเปรื่องผ่านนามปากกา ‘ผดุง’ ‘อโยมัยเสตร’ ‘บาทกุญชร’ ถึงกับเคยโต้เถียงอย่างครึกโครมกับในหลวงรัชกาลที่ 6 ที่ใช้นามแฝง ‘อัศวพาหุ’ อยู่พักใหญ่ หลวงวิจิตรวาทการหวนรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ว่า “เมื่อราว 20 ปีมาแล้ว ในขณะที่ประเทศจีนเปลี่ยนการปกครองแล้วใหม่ๆ ข้าพเจ้ามีอายุ 15 ปี แต่ก็พอใจอ่านความเห็นของอัศวพาหุที่โต้ตอบกับหนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ ข้าพเจ้าอ่านซ้ำซากจนเกือบจะจำถ้อยคำของอัศวพาหุได้ทุกคำ และในเวลานั้นก็ได้แลเห็นชัดว่า อัศวพาหุกับจีนโนสยามวารศัพท์ผลัดกันแพ้ผลัดกันชะนะ และหักโค่นกันคนละครั้ง อัศวพาหุเคยแพ้อย่างขนานใหญ่ครั้งหนึ่ง เมื่อเวลาที่ยวนซีไก๋ตั้งตนเป็นพระราชาธิราช อัศวพาหุลงความเห็นว่าเมืองจีนยังรักราชาธิปตัยอยู่ ฉะนั้นยวนซีไก๋คงสามารถตั้งราชวงศ์ครองประเทศจีนไปได้อีกชั่วหลายสิบปี คำทำนายอันนี้ผิดถนัด เพราะสามวันภายหลังจากเวลาที่อัศวพาหุได้ออกความเห็นมาดังนั้น ยวนซีไก๋ก็ถูกถอดออกจากราชบัลลังก์จีนและต่อมาไม่ช้าก็ถึงแก่กรรม ซึ่งทราบกันอยู่ทั่วไปว่าไม่ได้ตายโดยบริสุทธิ์ นี่แหละ อัศวพาหุเป็นใครและรู้วิชชาการเมืองดีเพียงไร เราทราบกันอยู่แล้ว แต่ถึงกระนั้นยังทายผิดได้อย่างเถียงไม่ขึ้น ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่าไม่มีใครเลยจะทายการเมืองไม่ผิด ถ้าคนไหนทายการเมืองไม่ผิดเลย คนนั้นก็เป็นเจ้าโลก.”[11]

นายทรงขิม ศรีบุญเรือง บุตรชายเล่าถึงบิดาในการปะทะคารมอุดมการณ์ผ่านสวนอักษรครั้งนั้นไว้ว่า “ท่านสามารถอ่านเขียนหนังสือไทยอย่างคล่องแคล่ว โดยศึกษาด้วยตนเอง สามารถเป็นเอดิเตอร์ แปลว่าบรรณาธิการสมัยนี้ ท่านกล้าหาญพอที่จะทำสงครามปากกากับล้นเกล้า รัชกาลที่ 6 แต่พระองค์ท่านเป็นประชาธิปไตยอย่างถ่องแท้ ไม่ถือพระองค์และยังทรงพระราชทานเรียกบิดาผมเป็นซินแซ บิดาผมขณะนั้นทำหนังสือพิมพ์อยู่ 2 ฉบับ ภาษาไทยเรียกว่าจีนโนสยามวารศัพท์ ภาษาจีนเรียกว่าฮำ่เสี่ยงซินป่อ”[12]

ทั้งนี้ นายเซียวฮุดเสงเคยต้องโทษคดีหมิ่นประมาทกรมหมื่นสวัสดิวัดนวิสิษฎ์ พระราชโอรส และดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการศาลฎีกาอยู่ในขณะนั้น เพราะบทความ ‘ข้าขายเจ้า’ ในจีนโนสยามวารศัพท์ฉบับวันที่ 21 พ.ย. พ.ศ. 2455 เป็นเหตุให้ติดคุกกองมหันตโทษหรือคุกต่างประเทศ 6 เดือน ยังผลให้ได้ทำความรู้จักกับคณะ ร.ศ.130 อย่างใกล้ชิด[13] นับแต่นั้นจึงเริ่มทยอยให้เนื้อที่หนังสือในเครือเป็นสนามวรรณกรรมแก่นักโทษการเมืองกลุ่มนี้

ความใกล้ชิดกับนักปฏิวัติจีนร่วมสมัยของนายเซียวฮุดเสง ส่งผลให้เป็นที่เพ่งเล็งของทางการตลอดช่วงสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หนังสือพิมพ์หัวภาษาไทยจีนโนสยามวารศัพท์จำต้องยุติกิจการเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2465 และเมื่อเกิดเหตุการณ์ปราบปรามก๊กมินตั๋งในสยามครั้งใหญ่ที่สมาคมตงฮั้ว เนื่องจากการจัดรำลึกวันอสัญกรรมของ ดร.ซุนยัดเซ็น ปี 2472[14] จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้นายเซียวฮุดเสงยุติกิจการหนังสือพิมพ์ฮั่วเซียมซินป่อของเขาในปี 2473 และเดินทางไปรับงานการเมืองที่ประเทศจีน พร้อมทยอยลดบทบาททางการเมืองของตนในสยามไปในที่สุด[15]

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 นายเซียวฮุดเสงรีบส่งโทรเลขแสดงความยินดีให้กับคณะผู้ก่อการทันทีที่ทราบข่าว[16] นายเซซิล ฟรานซิส ดอร์เมอร์ (Cecil Francis Dormer) อุปทูตอังกฤษประจำสยามก็ได้รายงานไว้ในเอกสารการต่างประเทศ ว่าทางพรรคก๊กมินตั๋งได้โทรเลขแสดงความยินดีกับคณะราษฎร[17] ทั้งนี้วิลาศ โอสถานนท์ หนึ่งในผู้ก่อการยังเป็นลูกเขยของเซียวฮุดเสงด้วย (สามีของธิดาคนเล็ก อมร สีบุญเรือง) หนังสืองานศพของปัญญาชนจีนสยามผู้นี้ ณ วัดแก้วแจ่มฟ้า วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2482 ในเล่มมีคำไว้อาลัยจากบุคคลเพียง 3 ท่าน ล้วนแต่เป็นคนสำคัญแห่งยุคสมัยทั้งสิ้น คือผู้ก่อการคณะราษฎรระดับหัวแถว

ภาพนายเซียวฮุดเสงจากหนังสืองานศพ
หนังสืองานศพนายเซียวฮุดเสง

หนึ่ง พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าผู้ก่อการ 2475 ท่านนี้นับญาติกับนายเซียวฮุดเสงผ่านทางภริยาโดยเรียกท่านว่า ‘แป๊ะ’ ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนทหารและชอบฟังความคิดความเห็นของท่าน ครั้นหลานชายคนนี้ขึ้นสู่อำนาจ ท่านเคยเตือนสติว่า “ขี่หลังเสือต้องระวังให้มากๆ” (ดูภาพประกอบ)

สอง หลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป.) เขียนในคำอาลัยว่ารู้จักชื่อนายเซียวฮุดเสงตั้งแต่ พ.ศ. 2454 เพราะได้อ่านหนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์

สาม หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือปรีดี พนมยงค์ เขียนยกย่องว่าหนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ได้ทำหน้าที่นำให้เกิดมติมหาชนไปในทางระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ในคำไว้อาลัยพบว่านายเซียวฮุดเสงมิเพียงแต่โทรเลขแสดงความยินดีถึงคณะผู้ก่อการเท่านั้น แต่ยังพบว่าปรีดีอ้างไว้ด้วยว่า “นายเซียวฮุดเสง กำลังอยู่ในประเทศจีน ได้มีโทรเลขเข้ามากราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์แสดงความชื่นชมยินดีที่ทรงพระกรุณาพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนชาวไทย”

หนังสือพิมพ์ศรีกรุง เคยนำสาสน์ดังกล่าวมาตีพิมพ์เผยแพร่ไว้เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ดังมีใจความดังต่อไปนี้

นายเซียวฮุดเสงแสดงความยินดี เรื่องสยามเปลี่ยนการปกครองใหม่

เนื่องในการที่ประเทศสยามได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ โดยใช้แบบพระเจ้าแผ่นดินอยู่ใต้กฎพระธรรมนูญการปกครองประเทศคราวนี้ ปรากฏว่าเปนที่พึงพอใจแก่บรรดาชนชาวสยามทั้งในและนอกประเทศเปนอย่างยิ่ง และนอกจากนั้นชาวต่างประเทศเปนส่วนมากทั้งที่เคยอยู่และไม่เคยอยู่ในประเทศสยามก็พลอยรู้สึกปีติยินดีด้วยกับการที่สยามเปลี่ยนการปกครองใหม่ครั้งนี้อยู่ไม่น้อย ตัวอย่างที่จะยกให้เห็นได้ก็เช่นนายเซียวฮุดเสง สีบุญเรือง คนสำคัญของจีนผู้หนึ่งซึ่งได้เคยอยู่ในประเทศสยามมาช้านานและพึ่งจะออกไปทำการร่วมกับคณรัฐบาลกวางตุ้งเมื่อประมาณ 2-3 ปีมานี้เอง ท่านผู้นี้เมื่อได้ทราบข่าวการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามก็ได้ส่งโทรเลขเข้ามากราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแสดงความปีติยินดีด้วยพระองค์ ดังปรากฏตามสำเนาคำแปลโทรเลขซึ่งส่งจากนครกวางตุ้งเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน เวลา 12.45 น. ดังต่อไปนี้

“ขอเดชะฯ

“กรุงเทพฯ

“ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกราบบังคมทูลแสดงความปีติยินดีด้วยพระองค์ ในการที่ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชวโรกาสแก่ประชาชน ให้มีส่วนร่วมในหน้าที่และภาระแห่งรัฐบาลของกรุงสยาม

“ข้าพระพุทธเจ้าหวังด้วยเกล้าฯ ว่า ราษฎรของพระองค์คงจะตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณ โดยทำตนให้ประจักษ์ว่า เปนผู้สมควรทรงไว้ซึ่งความไว้วางพระราชหฤทัยนั้น

“ขอให้รัชชกาลของพระองค์จงดำรงอยู่ชั่วกาลนาน และเจริญด้วยโภคสมบัติทั้งหลายเทอญ

(ลงนาม) เซียวฮุดเส็ง สีบุญเรือง”

โทรเลขของนายเซียวฮุดเส็ง ฉะบับนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบแล้ว ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ราชเลขาธิการในพระองค์ส่งโทรเลขตอบไปเมื่อวันที่ 2 เดือนนี้ เวลา 15.35 ดังมีข้อความต่อไปนี้

“นายเซียวฮุดเส็ง

“แคนตอน ประเทศจีน

“มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าขอบใจท่านที่ได้แสดงอัธยาศัยมาโดยโทรเลขเมื่อวันที่ 30 เดือนก่อน ซึ่งเปนที่พอพระราชหฤทัยมาก

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงตระหนักในพระราชหฤทัยเปนอย่างดีมานานแล้ว ถึงความรู้สึกของราษฎร ซึ่งเจริญมาเปนลำดับ ในการที่จะมีความรับผิดชอบด้วยในการปกครอง จึงทรงยินดีพระราชทานให้ราษฎรมีส่วนในการปกครองประเทศด้วย ซึ่งจะยังความเจริญและความสุขสมบูรณ์มาสู่ชาติไทยยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

(ลงนาม) เจ้าพระยามหิธร

ราชเลขาธิการ”

นายเซียวฮุดเสง ยังคงสถานะสำคัญในการเมืองจีนเคียงคู่กับสหายคนสำคัญนายหูฮั่นหมิน (胡漢民) ผู้นำพรรคก๊กหมินตั๋งฝ่ายหรดี (國民政府西南政務委員會South-West Political Concil of The Nationalist Government of China — เป็นฝ่ายตรงข้ามกับเจียงไคเช็ก) กระทั่งเมื่อบุคคลท่านนี้สิ้นชีพลงเมื่อ 12 พฤษภาคม 2479[18] นายเซียวฮุดเสงจึงได้กลับมาพำนักในประเทศไทยอย่างถาวรเมื่อ กรกฎาคม 2479 ก่อนการรุกรานใหญ่ของญี่ปุ่น ณ เมืองนานกิงปีถัดมา จีนสยามผู้ยิ่งใหญ่นี้ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2482 ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์เขียนอุทิศย่อหน้าสุดท้ายไว้ว่า

“ณ อวสานนี้ ข้าพเจ้าขออธิษฐานให้ผลกุศลกรรม ซึ่งนายเซียวฮุดเสง สีบุญเรือง ได้กระทำไว้ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศจีน และที่เกี่ยวกับประเทศไทย จงบันดาลให้นายเซียวฮุดเสง สีบุญเรือง ประสพความสุขในสัมปรายภพทุกประการ เทอญ.”


อ้างอิง

[1] การสะกดบางครั้งพบว่าใช้ ‘เส็ง’ แต่ในบทความนี้ ผู้เขียนเลือกใช้ ‘เสง’ ตามหนังสืองานศพเซียวฮุดเสง สีบุญเรือง ณ เมรุวัดแก้วแจ่มฟ้า 10 กันยายน พ.ศ. 2482, (โรงพิมพ์พานิชศุภผล).

[2] ประวัติพระถังซัมจั๋ง โดย นายเคงเหลียน สีบุญเรือง พิมพ์เป็นที่ระลึกในการฌาปนกิจศพ นายเคงเหลียน สีบุญเรือง ณ วัดเทพศิรินทราวาส 27 เมษายน 2484, (การพิมพ์ไทย).

[3] หนังสือเล่มนี้ เสถียร โพธินันทะ นั่งอ่านออกเสียงให้ สุชีพ ปุญญานุภาพ ขณะยังเป็นพระมหาเปรียญเอก 9 ประโยค ฉายา สุชีโว ภิกขุ

[4] เพ็ญพิสุทธิ์ อินทรภิรมย์, เซียวฮุดเสง สีบุญเรือง ทัศนะและบทบาทของจีนสยามในสังคมไทย, พิมพ์ครั้งแรก 2547,(จุฬาฯ),น.237.

[5] กัญญานุสร เปน นิพนธ์ของหลายกวี พิมพ์แจกในงานศพ นางสาวลม่อม สีบุญเรือง เมื่อปีวอก พ.ศ. 2463, (โรงพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์) และ ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ 20 จดหมายเหตุเรื่องทางไมตรีในระหว่างกรุงศรีอยุทธยากับกรุงยี่ปุ่น ขุนจินดาสหกิจ ลม้าย ธนะสิริ แปลจากภาษาอังกฤษ ของ เซอร์ เออเนสต์ สาเตา พิมพ์ในงานปลงศพ นางสาวลม่อม สีบุญเรือง พ.ศ. 2463, (โรงพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์).

[6] ยูปิเตอร์ (ละม่อม สีบุญเรือง) แปลและเรียบเรียง, พงศาวดารยี่ปุ่น เล่ม 1-2-3, 10 ธันวาคม พระพุทธศักราช 2459,โรงพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์.

[7] วัฒนา กีรติชาญเดชา, ภาพตัวแทนของซุนยัตเซ็นในมุมมองของรัฐบาลสยามในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2446-2453, รายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการระดับชาติ SMARTS ครั้งที่ 8, น.795-806.

[8] เซี่ยกวง, กิจกรรมทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย (ค.ศ. 1906-1939),46,น.8.

[9] รักษ์ อัศวราช, การเยี่ยมชาวจีนโพ้นทะเลของ ดร.ซุนยัดเซน ใน ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ พลตำรวจตรี พระยาคทาธรบดีสีหราชบาลเมือง (เทียบ อัศวรักษ์) ณ วัดเทพศิรินทราวาส 1 มิ.ย. พ.ศ. 2512,น.28-33. ทั้งนี้ดูข้อวินิจฉัยการพบปะครั้งนี้ผู้เขียนเพิ่มเติมใน ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ และ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์, ณัฐพล ใจจริง บรรณาธิการ, ปฏิวัติ ร.ศ.130, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2564, (มติชน),น.306-308.

[10] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงอมร สีบุญเรือง ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม 2 ธันวาคม 2540, น.9.

[11] หลวงวิจิตรวาทการ, การเมืองการปกครองของกรุงสยาม, พิมพ์ครั้งแรก 30 กรกฎาคม 2475, (ไทยใหม่),น.197-198.

[12] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงอมร สีบุญเรือง ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม 2 ธันวาคม 2540, น.83.

[13] เพ็ญพิสุทธิ์ อินทรภิรมย์, เซียวฮุดเสง สีบุญเรือง ทัศนะและบทบาทของจีนสยามในสังคมไทย, พิมพ์ครั้งที่ 1, (จุฬา:2547), น.167-169.

[14] หจช. ร.7 ม.26.5/65, ม.26.5/225, ม.18/8, ม.26.5 ข/29, ม.18/8, ม.26.5 ข/28 (6 เรื่อง)

[15] เออิจิ มูราชิมา เขียนและแปล, การเมืองจีนสยาม,พิมพ์ครั้งแรก 2539, (จุฬาฯ),น.20-23.

[16] Charivat Santaputra, Thai Foreign Policy 1932-1946, 2nd edition 2000, (Suksit Siam), p.86.

[17] พรรคก๊กมินตั๋งได้โทรเลขแสดงความยินดีกับคณะราษฎรในเดือนกรกฎาคม 2475 (Bangkok Times 28 July 1932) ดู เบนจามิน เอ.บัทสัน, บรรณาธิการแปล กาญจนี ละอองศรี และ ยุพา ชุมจันทร์, อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2547, (มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์), น.369.

[18] เพ็ญพิสุทธิ์ อินทรภิรมย์, เซียวฮุดเสง สีบุญเรือง ทัศนะและบทบาทของจีนสยามในสังคมไทย, พิมพ์ครั้งแรก 2547,(จุฬาฯ),น.312.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save