คอลัมน์ Sideway เรื่องเล่ารายทางและความหลากหลายของชีวิต
1
แพร่, ธันวาคม 2565
โดยไม่ต้องให้แอปพลิเคชันบอกอุณหภูมิ ในฐานะมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่งก็พอจะบอกได้ว่าอากาศที่เรากำลังสัมผัสนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส เทอร์โมมิเตอร์ร่างกายบอกเราง่ายๆ ด้วยการขนลุกชูชัน เสื้อกันหนาวตัวเดียวเอาไม่อยู่
พวกเราสี่คนมาถึงอำเภอเมืองแพร่ช่วงหัวค่ำ บนท้องถนนมีมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ขับอยู่ไม่หนาแน่น หากสังเกตให้ละเอียดกว่านั้น บนแฮนด์ของมอ’ไซค์หลายคันมีถุงแกงแขวนอยู่ อนุมานได้ไม่ยากว่ามื้อค่ำของหลายคนกำลังจะมาถึง ไม่ได้ยกเว้นแม้แต่มื้อค่ำของพวกเรา – กลุ่มนักเดินทางผู้หิวโหยที่ใช้ชีวิตบนรถยนต์มาแล้วกว่า 500 กิโลเมตร
คืนนั้นเป็นวันเสาร์ ตรงกับวันที่มีตลาดนัดกาดกองเก่า เรามุ่งตรงหมุนพวงมาลัยไปตามกูเกิลแมปโดยไม่หยุดแวะ พอถึงที่หมาย เราลงรถมาด้วยความเหนื่อยล้าแต่ตื่นเต้น แพร่ต้อนรับเราด้วยอุณหภูมิ 18 องศาเซลเซียสและดนตรีพื้นเมืองเปิดหมวก มีร้านขายอาหารเหนือที่น่ากินทุกร้าน เราเดินแวะนั่น ชมนี่ แล้วเลือกจุดสุดท้ายที่ร้านอาหารเหนือแบบตั้งโต๊ะ เป็นร้านชั้นเดียวปูพื้นไม้ เปิดลานดินหลังร้านเป็นที่นั่ง มีสองครอบครัวนั่งกินอยู่ก่อนแล้ว พวกเราเดินเข้าไปนั่งแบบสงบอย่างผู้มาเยือน
‘จิ๊นควาย แกงฮังเล ชุดผักน้ำพริกอ่อง และข้าวเหนียว’ คือเซ็ตอาหารที่เราสั่ง เจ้าของร้านรับออเดอร์ก่อนหายไปนานหลายนาที ท่ามกลางอากาศหนาวกับมนุษย์สี่คนที่คุยกันบนรถมาจนหมดเรื่องคุยแล้ว เราจึงนั่งเงียบๆ รออาหาร จิบเบียร์ที่เหลือขวดสุดท้ายของร้านอย่างตระหนี่ขี้เหนียว
เวลาผ่านไปสักพัก ข้าวเหนียวก็ถูกนำมาเสิร์ฟก่อน หลังวางเสร็จ เจ้าของร้านสาวก็เอ่ยปาก
“น้ำพริกอ่องหมด มีอีเก๋ อยากลองมั้ย” เธอพูดสำเนียงคนเหนืออย่างเป็นกันเอง น้ำพริกอ่องหมดนั้นเข้าใจได้ แต่ที่ไม่เข้าใจเลยคือ ‘อีเก๋’ เป็นใคร?
“ใครคืออีเก๋นะคะ” ฉันถามไว
ฉับพลันนั้น ที่มุมปากเจ้าของร้านมีรอยยิ้ม “อีเก๋คือน้ำพริก อร่อยนะ ใช้พริกขี้หนู กระเทียม กะปิ แคปหมู มะเขือขื่น โขลกให้เข้ากัน หากินยาก” เจ้าของร้านอธิบายยาว นักเรียนสี่คนอย่างพวกเราฟังอย่างตั้งใจ อธิบายเป็นภาษาอีสานก็ว่า ‘นั่งฟังปากเส่เหว่’
“พูดขนาดนี้ เอามาเลยค่ะ” พวกเราตอบตรงกันอย่างไม่ต้องคิด เจ้าของร้านยิ้มแล้วเดินกลับเข้าหลังร้าน
ระหว่างรอ พวกเรานั่งคุยกันถึงบทความของวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่ตั้งคำถามว่า ทำไมอาหารเหนือจึงไม่ค่อยแพร่หลาย คำตอบมีแตกต่างหลากหลายกันไป บ้างก็ว่าหากินยาก ซึ่งมีสาเหตุจากอาหารเหนือทำยาก ต้องใช้วัตถุดิบหายากและมีกรรมวิธีที่ใช้เวลานาน แต่ถ้าถามฉัน ปัจจัยนั้นคือรสชาติ – ไม่ใช่ว่าไม่อร่อย แต่รสชาติมันซับซ้อนซ่อนเงื่อน จนคนที่คุ้นชินกับรสอาหารที่ตรงไปตรงมารับมือไม่ค่อยได้ ความอ่อนด้อยทางการกินนี้จะขอรับความผิดไว้แต่เพียงผู้เดียว
ระหว่างรออีเก๋ พวกเรากินจิ๊นควายและแกงฮังเล ใช้เวลาไม่นาน อีเก๋และชุดผักก็มาเสิร์ฟ รสชาติอีเก๋จะว่าเปรี้ยวก็ไม่เปรี้ยว จะว่าเผ็ดก็ไม่เผ็ด แต่ก็พอกินแกล้มผักได้เพลินดี
เราใช้เวลากับอาหารมื้อนั้นไม่นาน กินกันจนเต็มคราบพอมีแรงก็ลุกขึ้น เป้าหมายถัดไปคือ Gingerbread House Gallery ที่หลับนอนของพวกเราตลอดเวลาที่อยู่ในแพร่ ขับรถไม่ทันได้เปิดจบเพลง เราก็มาถึงที่พัก
Gingerbread House Gallery เป็นบ้านไม้ทรงขนมปังขิงตั้งอยู่ตรงมุมสี่แยกกลางเมือง ชั้นล่างเป็นคาเฟ่และร้านหนังสือ ส่วนชั้นบนเปิดเป็นที่พัก เป็นอาคารโบราณที่ได้รับการรีโนเวตจากเจ้าของที่เป็นสถาปนิก แม้จะอยู่กลางสี่แยก แต่ที่พักเงียบสงบเหมือนอยู่สุดซอย
พวกเราใช้เวลาเช็กอินไม่นาน ตรงหน้าเคาน์เตอร์มีหนังสือ หลากเรื่องเมืองแพร่ 2 ของภูเดช แสนลา วางอัดแน่นอยู่ตรงชั้น ฉันหยิบขึ้นมาพลิกดู เมื่อเห็นว่าพิมพ์เพียง 300 เล่ม และจัดพิมพ์โดยสมาคมรักษ์เมืองเก่าแพร่ จึงซื้อติดมือมาด้วย – การจะทำความรู้จักที่ไหนสักแห่ง นอกจากการคุยกับคนแล้ว การอ่านหนังสือก็เป็นอีกหนึ่งทางลัดที่ทำให้เราเข้าใจเรื่องของคนอื่นได้ดีขึ้น
เก็บกระเป๋าไว้บนห้องเรียบร้อย แม้จะเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง แต่ด้วยหัวใจวัยกระเตาะ พวกเราจึงกระโดดขึ้นรถอีกครั้ง มุ่งตรงสู่ร้าน NoMad CraftBeer&Café ร้านคราฟต์เบียร์ตรงกาดที่เราเพิ่งจากมา และที่นั่นเองที่ทำให้เราพบ ‘พี่มิ้นท์’ ตัวละครที่ทำให้การเที่ยวแพร่สนุกขึ้นหลายเท่า
พี่มิ้นท์เป็นอดีตนักศึกษาภาควิชารัฐศาสตร์ จาก ม.นเรศวร รุ่นพี่ ‘พี่มิ้นท์’ อีกคนที่อยู่ในก๊วนทริปเรา เมื่อการทักทายเกิดขึ้นอย่างบังเอิญตรงหน้าร้าน หลังจากนั้นเราก็ทำความรู้จักแพร่ผ่านปากคำของพี่มิ้นท์อย่างสนุกสนาน
“ต้องมีเวลาสักสิบวันแหละ ถึงจะเที่ยวแพร่ครบ” พี่มิ้นท์เปิดเรื่องอย่างยิ่งใหญ่
‘เหล้าสะเอียบ คราฟต์เบียร์ท้องถิ่น พระธาตุช่อแฮ ร้านกาแฟ ขนมจีนน้ำย้อย’ ฯลฯ และอื่นๆ อีกมากมาย คือสิ่งที่พี่มิ้นท์เชิญชวนให้ไปลอง
ก่อนมาที่แพร่ ฉันได้ยินใครต่อใครมักบอกว่า “แพร่เป็นเมืองน่ารัก” เมื่อมาถึง ฉันไม่ปฏิเสธคำนี้แม้แต่นิด แต่ที่มากกว่านั้นคือ แพร่ไม่ใช่แค่เมืองน่ารัก แต่แพร่เป็นเมือง ‘ขบถ’ ด้วย – ผู้คนมีรอยยิ้ม พูดจาต่อนยอน แต่ในใจมีความคิดยืนหยัดเป็นตัวเอง พวกเขามีคาแรกเตอร์และประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนแข็งแรง และพูดก็พูด หากมีการกระจายอำนาจที่ดีพอ ที่นี่จะกลายเป็นเมืองที่ไปไกลและน่าอยู่กว่าที่เป็นหลายเท่า
ว่ากันตามข้อมูล จากการสันนิษฐานทางประวัติศาสตร์ เมืองแพร่เป็นเมืองรุ่นแรกบริเวณลุ่มแม่น้ำยม สร้างขึ้นอย่างมากไม่เกินประมาณพุทธศตวรรษที่ 17-18 ในหนังสือ หลากเรื่องเมืองแพร่ 2 เขียนไว้ว่า ‘เมืองแพร่เกิดขึ้นด้วยปัจจัยภายในจากความเชื่อเรื่องผีเป็นหลักเหมือนเมืองน่าน ก่อนจะได้รับอิทธิพลภายนอกคือวัฒนธรรมอินเดียที่เข้ามาพร้อมกับพุทธศาสนาในภายหลัง’
เมืองที่มีแม่น้ำยมไหลผ่านนี้ มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 700-800 ปี แผ่นดินผ่านร้อนผ่านหนาวมาตั้งแต่ยุคแว่นแคว้น ยุครวมกับอาณาจักรล้านนา ยุคประเทศราชของพม่า ยุคประเทศราชของสยาม มาจนถึงยุครวมกับสยามเป็นจังหวัดแพร่
ประวัติศาสตร์แพร่ที่หลายคนอาจรู้จักกันดีคือเรื่อง ‘กบฏเงี้ยวเมืองแพร่’ ที่เกิดขึ้นในปี 2445 สมัยรัชกาลที่ 5 ยุคที่มีการปฏิรูปการปกครองดึงอำนาจเข้าสู่รัฐส่วนกลางมากขึ้น จนทำให้เมืองที่เคยปกครองตนเองลุกฮือขึ้นมาต่อต้าน หากใครตามประวัติศาสตร์จะเห็นว่า การลุกขึ้นมาเป็น ‘กบฏ’ อย่างที่รัฐส่วนกลางเรียกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่เมืองแพร่ แต่ยังมีกระจายอยู่หลายพื้นที่ เช่น กบฏผีบุญทางมณฑลอีสาน, พระยาแขกเจ็ดหัวเมืองคบคิดขบถทางหัวเมืองใต้ ในช่วงปี 2444-2445 เป็นต้น ประวัติศาสตร์บาดแผลเหล่านี้ยังรอการชำระสะสาง และแน่นอนว่าแม้เวลาจะผ่านมากว่าร้อยปี รัฐไทยส่วนกลางก็ยังมีความระแวดระวังท้องถิ่นอยู่ไม่มากก็น้อย ประวัติศาสตร์ที่เรามักได้ยินและได้อ่านจึงมีได้แค่แบบเดียว
“เรามีเหล้ากบฏเงี้ยวนะ ถ้ามีโอกาสเดี๋ยวเอามาให้ชิม” หลังจากคุยเรื่องประวัติศาสตร์แพร่กันอย่างเจริญใจ พี่มิ้นท์ทิ้งท้ายตอนต่อไปไว้จนไม่อยากกดเปลี่ยนช่อง
เรานัดหมายกันหลวมๆ ที่ร้านกาแฟในเมือง ถ้าเจอก็เจอ ไม่เจอก็ไม่เป็นไร และเพื่อไม่ให้คืนนี้เหน็ดเหนื่อยจนเกินไป เราจึงจบที่คราฟต์เบียร์คนละสองแก้วและกลับเข้าที่พัก เตรียมรับมือกับ ‘เมืองแป้’ ให้อิ่มแปล้ในวันพรุ่งนี้
2
ถ้าเสิร์ชคำว่า ‘จังหวัดไหนกินเหล้ามากที่สุด’ ให้ลงเงินพนันตอนนี้ก็ได้ว่าไม่มีปีไหนที่แพร่ไม่ติดอันดับ โดยล่าสุดปี 2564 ภาคเหนือติดมาถึง 4 ใน 5 จังหวัดแรกของนักดื่ม คือ น่าน เชียงราย แพร่ มุกดาหาร พะเยา แต่นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของสถิติหรือเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขกังวลใจเท่านั้น มองให้ลึกลงไปกว่านั้น ที่แพร่ทำเหล้ากันเป็นงานฝีมือ ทำกันอย่างจริงจังและมีคุณภาพ – หากจะดื่มก็ดื่มกันอย่างมีคุณภาพ
เรื่องนี้คงไม่ต้องอธิบายให้มากความ เมื่อเหล้าที่ต้มที่อำเภอสะเอียบ จังหวัดแพร่ กลายเป็นเหล้าท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย และหากไม่ติดข้อกฎหมายที่จำกัดรายย่อยผลิตสุราขายเอง เหล้าสะเอียบหรือแม้แต่เหล้าต้มของไทยในหลายพื้นที่อาจไปได้ไกลระดับโลก เหมือนที่บางคนเคยบอกว่า “เรื่องการปรุงวัตถุดิบ ไม่ว่าอาหารหรือเหล้า คนไทยไม่แพ้ใคร”
หลังจากฟังทีเซอร์เรื่องเหล้ากบฏเงี้ยวมาเมื่อคืน วันนี้เรามานั่งอ่านหนังสือที่ร้านกาแฟ เลือกที่นั่งด้านนอกรับลมหนาวให้สาแก่ใจ บรรยากาศปลายปีทำให้ความสบายอกสบายใจเป็นเรื่องสามัญ และตอนที่เรากำลังจิบกาแฟคำแรกนั่นแหละที่พี่มิ้นท์เดินตรงมาหา
ได้ที่นั่งเรียบร้อย พี่มิ้นท์ควักขวดเหล้าสีใสออกมาวาง “นี่ เหล้ากบฏเงี้ยวที่เล่าให้ฟัง” ฉลากสีดำติดข้างขวด ตัวหนังสือสีแดงตัวใหญ่ว่า SHAN เขียนขยายความไว้ด้านบนว่า Spirits of Shan – Phrae 2445/1902 ดีกรีบอกตรงมุมด้านล่างว่า 35%
“ตอนแรกเราตั้งชื่อเหล้าว่า ‘SHAN REBELLION – เหล้ากบฏเงี้ยว’ เป็นโปรเจ็กต์ผลิตสุรากลั่นชุมชนของกลุ่มนักเคลื่อนไหวในจังหวัดแพร่ คือในประวัติศาสตร์กระแสหลัก เงี้ยวคือกบฏ เป็นผู้กระด้างกระเดื่อง แต่เราอยากแสดงเจตจำนงให้ Shan Rebellion เป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่ไม่สยบยอมต่อการล่าอาณานิคมภายในของสยาม แต่พอส่งขอจดเครื่องหมายการค้ากับกรมสรรพสามิต เขาไม่ให้ชื่อผ่าน เราเลยแก้เป็นแค่ Shan เฉยๆ”
พี่มิ้นท์เล่าว่า ไม่ใช่แค่ชื่อที่ไม่ผ่าน แต่ถ้อยคำโฆษณาที่พูดถึงประวัติศาสตร์กบฏเงี้ยวรวมถึงภาพผู้ก่อการไม่สามารถปรากฏได้ ซึ่งนั่นแสดงถึงความเปราะบางของรัฐไทย ดังนั้นเพื่อให้เหล้าสามารถผลิตและจัดจำหน่ายได้ จึงเปลี่ยนภาพจากผู้ก่อการเป็น ‘ตัวมอม’ โดยให้เหตุผลไว้ว่า “ตัวมอมเป็นสัตว์ในอุดมคติของชาวล้านนา และกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ไทลื้อ ไทยเขิน โดยได้รับอิทธิพลความเชื่อจากลัทธิพราหมณ์ว่าตัวมอมเป็นสัตว์ที่มีอิทธิฤทธิ์มาก แข็งแรง อวตารลงมาเพื่อปราบยุคเข็ญ”
เรานั่งฟังประวัติของเหล้ากันอย่างใจจด ระหว่างเล่าพี่มิ้นท์ก็รินเหล้าใส่เป๊กไปด้วย ว่าแล้วก็ยื่นให้ด้วยแววตาภูมิใจ “เอ้า ลอง”
ฉันหยิบเป๊กมา ดมได้กลิ่นหอมหวานนำ ยกจิบไปหนึ่งคำ รสหวานแผ่เคลือบไปทั่วปาก กลิ่นหอมเหล้าอวนอยู่ในจมูก มีปลายแสบเหล้าอยู่บ้างตอนปลาย แต่โดยรวมขออธิบายสั้นๆ ว่า ‘ละมุนตุ้น’
“เป็นไง อร่อยใช่มั้ย” พี่มิ้นท์พูดพลางกระดกคิ้ว พวกเราทุกคนลงเป็นเสียงเดียวกันว่า “อร่อย”
และเพื่อไม่ให้เป็นการเมามายจนเกินเหตุ เราจึงจิบคนละสองคำ คุยกันว่า ถ้าเมื่อไหร่กฎหมายผลิตสุราของไทยก้าวหน้ากว่านี้ เราคงได้ชิมเหล้าเบียร์จากยอดฝีมือทั่วประเทศ ไม่ใช่ต้องจำยอมซื้ออยู่แค่ไม่กี่ยี่ห้อ หรือควักเงินจ่ายเหล้านอกราคาแพงจนไม่เหลือขนหน้าแข้งให้ร่วง
หลังจิบเหล้าและได้ลิสต์ร้านอาหารมาเต็มกระดาษ เราก็แยกย้าย ตกบ่ายเลาะเมือง กินขนมจีน ตกค่ำไปนั่งค็อกเทลร้านที่เปิดแค่วันอาทิตย์ และวันสุดท้ายก่อนออกจากแพร่ เจ้าของที่พักพาเราเดินชมแกลเลอรีที่ตั้งใจให้เป็นที่พบปะเสวนาของกลุ่มคนรักศิลปะ รวมถึงตั้งใจให้เป็นที่แสดงงานของศิลปินในท้องถิ่นด้วย วันที่เราไปมีภาพถ่ายแพร่ในสายตาของคนแพร่จัดแสดงอยู่ชั้นสองของบ้าน
“คนแพร่ชอบทำงานคราฟต์ อาชีพหลักของคนที่นี่คือการทำงานฝีมือ” พี่เจ้าของโรงแรมเล่าให้เราฟังระหว่างพาชม งานฝีมือที่ว่าคือการทำไม้ ทำผ้า ไปจนถึงทำเหล้า ซึ่งถ้าสืบสายไปในอดีต แพร่ก็ถือเป็นเมืองป่าไม้มาตั้งแต่ไหน ทั้งหมดนี้ฉายชัดให้เห็นตามบ้านเมืองและร้านค้าของเมืองแพร่อยู่แล้ว
เราร่ำลากันในช่วงบ่ายของวันจันทร์ มุ่งหน้าสู่เมืองน่าน เมืองแฝดของแพร่ ที่มีวรพจน์ พันธุ์พงศ์ และครูต้อม เจ้าของห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ รออยู่ – ไปดูว่า ‘น่าน’ จะ ‘แน่’ สักแค่ไหน
3
ระยะทางในกูเกิลแมปบอกเอาไว้ว่า 156 กิโลเมตร แต่ดูชั่วโมงที่ประมาณการณ์คือเกือบ 3 ชั่วโมง ด้วยเหตุว่าทางระหว่างแพร่ไปน่านนั้นคดเคี้ยวเป็นงูงอข้อเขียวจนทำความเร็วได้ไม่เต็มที่ โชคดีที่ทำทางใหม่แล้ว การขับรถจึงไม่ลำบากจนเกินไปนัก
ระหว่างทางเราเปิด People You May Know ตอนวิตนีย์ ฮิวสตัน ของช่องฟาโรส จบแล้วก็เปิดเพลงฟังต่ออย่างเพลิดเพลิน ขับยังไม่ทันปวดเท้า เราก็มาถึงตัวเมืองน่านช่วงบ่ายแก่ เดินทางเข้าพักที่บ้านๆ น่านๆ และมุ่งหาอาหารเย็นที่ร้านอาหารริมแม่น้ำน่าน
ปิดท้ายค่ำคืนที่เหน็ดเหนื่อยด้วยวงสนทนาหน้าห้องปรารถนา หนึ่งในห้องพักที่คิวแน่นที่สุดห้องหนึ่งในบ้านๆ น่านๆ โดยมีพี่หนึ่ง-วรพจน์ พันธุ์พงศ์ นักเขียนรุ่นพี่ เจ้าของเว็บไซต์ nandialogue และน้องอั๋น-เอกสิทธิ์ ไทยน้อย อดีตบาริสต้าร้าน The Writer’s Secret เป็นเจ้าภาพรับแขก
จากคนทำสื่อที่กรุงเทพฯ เดินทางมาปักหลักที่น่าน วรพจน์ซื้อที่ทำบ้านเชิงเขาที่ใครหลายคนเห็นแล้วอิจฉา ด้วยนิสัยคนทำสื่อ มาแล้วอยู่เฉยไม่ได้ เลยลงมือทำสื่อภูมิภาค เล่าเรื่องคนน่านผ่านบทสนทนากับคนที่หลากหลาย ตั้งแต่เจ้าของร้านนวด คนขายลาบ คนขายเหล้า นักเดินทาง ไปจนถึงคนทำแพ ฯลฯ – nandialogue ทำให้เห็นว่า เรื่องเล่า ‘ที่อื่น’ ก็มีความหมาย ใช่มีแต่กรุงเทพฯ เท่านั้นที่ส่งเสียงได้ดังกว่าเพื่อน
“การคุยกันทำให้ชาติเจริญ” เป็นคำที่พี่หนึ่งใช้บ่อยครั้ง เพราะเมื่อเรามีบทสนทนานั่นหมายถึงการเกิดขึ้นของความคิดใหม่ๆ ข้อโต้แย้งใหม่ๆ ทำให้คนไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ซึ่งถ้าจะมีคืนไหนที่ชาติเจริญที่สุดก็คงจะเป็นคืนนี้แหละ เพราะเราคุยกันลากยาวจนดึกดื่น ขุดเรื่องนั้นเรื่องนี้มาคุยจนต้องทักท้วงกันว่าเหลือไว้ให้คุยคืนพรุ่งนี้บ้าง ว่าแล้วก็แยกย้ายกันนอน ก่อนร่างกายจะละเอียดเป็นผุยผง
วันรุ่งขึ้นเราตื่นสาย ขับรถออกไปกินก๋วยเตี๋ยวเนื้อและเที่ยววัดภูมินทร์ แวะเติมกาแฟบ่าย และซื้อเครื่องดื่มอาหารเข้าไปใน ‘สวนไผ่รำเพย’ บ้านริมเขาของ ‘ท่าน ว. ฆราวาส’ (aka วรพจน์ พันธุ์พงศ์) เมื่อไปถึง วรพจน์ก่อกองไฟรออยู่แล้ว หมูหมักพร้อมย่าง และเครื่องดื่มหลายขนานวางเรียงอยู่บนโต๊ะ บทสนทนาคืนนั้นเริ่มต้นอย่างเชื่องช้าและเคลื่อนตัวไปอย่างเข้มข้นในช่วงดึก ดาวคืนนั้นสวยจนใจเจ็บ และถ้าจะมีที่ไหนเห็นฟ้าได้กระจ่างที่สุด ส่วนไผ่รำเพยย่อมติดอันดับต้นๆ อย่างไม่ต้องสงสัย
คืนนั้นในช่วงที่หนาวที่สุด น่าจะแตะลงไปถึงเลข 10 เราหนาวสะท้านและหลับไปอย่างเย็นเยียบแต่เอมใจ คุยกันว่าวันรุ่งขึ้นจะมุ่งหน้าไปที่แม่จริม อุทยานแห่งชาติที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองนัก
4
มักจะเป็นแบบนี้ วันที่ 4 หรือ 5 ของทริป จะเป็นวันที่ร่างกายเราใกล้แหลกละเอียดที่สุด ทรุดโทรมและร่องแร่งที่สุด สำหรับทริปนี้ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ยังดีที่อากาศหนาวตลอดวันพยุงเราไว้ได้ บ่ายวันนั้นเราขับรถออกจากเมืองมุ่งหน้าไปแม่จริม ทางคดเคี้ยวจนหมูที่กินมาเมื่อคืนจ่ออยู่ที่คอ ใช้เวลาไม่นานเราก็มาถึง อุทยานเงียบสงบ ผู้คนเงียบสงัด แต่นั่นยิ่งทำให้การเอาเท้าแช่น้ำที่แม่จริมเป็นช่วงเวลาที่น่าจดจำ
เราขลุกอยู่ที่นั่นเกือบชั่วโมง นั่งๆ นอนๆ เอาเท้าวางนิ่งให้น้ำไหลผ่าน น้ำเย็นเยียบผ่านผิวจนใจสะท้าน แต่ก็ทำให้สดชื่นในเวลาเดียวกัน ทิวเขาโอบล้อมและฟ้าที่เป็นฟ้าทำให้ที่นี่ชวนอบอุ่นใจ หลังภูเขาลูกใหญ่เป็นฝั่งลาว หลายคนว่าไว้ “แม่จริมเป็นอุทยานแห่งชาติที่สวยที่สุด” แม้ฉันจะยังไปอุทยานไม่ครบ แต่ก็เห็นด้วยกับความเห็นนี้ได้ไม่ยาก

ใกล้ค่ำ พระอาทิตย์เคลื่อนลงตามกิจวัตร พวกเราขับรถลงจากเขาก่อนจะมืด มุ่งหน้าสู่ร้านอาหารอีสานที่แทบจะเป็นร้านอาหารร้านเดียวที่เปิดอยู่ตอนนี้
ไม่แน่ใจว่าเพราะความหิวโซหรือเพราะรสมือฟ้าประทานของพี่คนขาย แต่อาหารมื้อนั้นเป็นมื้อที่อร่อยที่สุดในทริปนี้ ก้อยสุก ลาบหมู คอหมูย่าง และต้มแซบเนื้อ วางลงบนโต๊ะทีละจาน – ไม่รู้ด้วยปาฏิหาริย์หรืออะไร พวกเราใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งนาทีในการทำให้ต้มแซบถ้วยแรกหมด และสั่งถ้วยที่สองแทบจะทันทีที่ได้ชิมรสชาติของน้ำต้มแซบถ้วยแรก – ขอยืนยันว่าอร่อยจนคนขอนแก่นอาย
อิ่มหนำสำราญแล้วกลับที่พัก ซื้อเบียร์และขนม หาโต๊ะนั่งรับลมหนาว น้ำค้างลงจนโต๊ะเปียก และด้วยความหนาวระดับนี้ น้ำแข็งกลายเป็นเรื่องไม่จำเป็น – อันที่จริง เบียร์ก็กลายเป็นเรื่องเกินเลยไปด้วยซ้ำ เพราะหนาวเหน็บและเหนื่อยล้ากันจนดื่มได้ไม่มาก ก่อนจะแยกย้ายกันเข้านอนก่อนหวัดจะถามหา ต้องเก็บร่างกายเอาไว้อีกหลายวัน
วรพจน์นอนเต็นท์กลางทุ่งนา ส่วนพวกเรานอนอุ่นสบายในห้อง ตื่นเช้ามาทานอาหารเช้าที่มีลูกชายเจ้าของรีสอร์ตทำให้ ตอนเช้าเขาดูแลรีสอร์ต ตกสายเขาเปลี่ยนเป็นชุดตำรวจเข้าเวรยาม
“สบายๆ นะครับ ผมไปเข้าเวรแล้ว” คือประโยคที่เขาทิ้งท้ายกับเรา ก่อนเดินออกไป
ตกสาย เราขับรถกลับเข้าเมือง ตั้งใจว่าคืนสุดท้ายที่น่านจะจบด้วยคราฟต์เบียร์ พี่หนึ่งแนะนำร้าน Stable Bar อยู่ย่านกลางเมืองน่าน แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะไปด้วยไหม ปล่อยให้แก๊ง ‘วัยรุ่น’ ลุยกันไปก่อน
ช่วงบ่ายเราพักผ่อนตามอัตภาพ (ไม่ใช่อัธยาศัย) พอใกล้เวลาค่ำ ฉันทักไปถามพี่หนึ่งทางกล่องข้อความอีกรอบว่ามาไหม วรพจน์ตอบมาสั้นๆ ว่า “กำลังพิจารณาสังขาร วิญญาณ อาจจะได้สักแก้ว”
และโดยไม่ต้องทำให้ผิดหวัง ดูเหมือนว่าสังขารวิญญาณของวรพจน์ยังไหวอยู่ เมื่อพี่หนึ่งปรากฏตัวที่ร้านคราฟต์เบียร์ด้วยใบหน้าแจ่มใส และลากยาวได้จนดึกดื่น
คืนนั้นเรามีบาร์เทนเดอร์หนุ่มนามว่า ‘พี่เอส’ ที่ตอนกลางวันเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ส่วนตอนกลางคืนเป็นบาร์เทนเดอร์ตามร้านค็อกเทลในน่าน ฝีไม้ลายมือระดับไม่ธรรมดา แว่วเสียงบอกว่าที่ทำนั้นเป็นความชอบล้วนๆ – หลังจากพวกเราลองสั่งเมนูค็อกเทลที่มีแทบจะทั้งหมดในร้านไปแล้ว ช่วงท้ายๆ เราจึงขอแบบ ‘custom’ ไป พี่เอสถามว่าชอบเหล้าแนวไหน อยากได้รสอะไร หนักเบาแค่ไหน สรุปใจความแล้วออกมาเป็นเหล้าเฉพาะตัวแต่ละคน ยิ่งเล่นยิ่งสนุก ที่น่าคารวะกว่านั้นคือ พี่เอสคนเดียวรับมือกับลูกค้าหลายสิบชีวิตที่ทยอยเข้าร้านมาไม่หยุดหย่อนด้วยสองมือกับหนึ่งรอยยิ้ม เอาว่านับคร่าวๆ คืนนั้นน่าจะชงค็อกเทลไปเฉียดห้าสิบแก้ว – ใครจะไปคิดว่าเมืองน่านที่เงียบสงบในตอนกลางวัน ตอนกลางคืนจะมีร้าน ‘เล็กๆ-ลับๆ’ ตั้งอยู่เป็นพื้นที่โอภาปราศรัยอย่างคึกคัก
‘น่าน’ เป็นเมืองที่ ‘แน่’ เช่นนี้
ที่เหลือจากนั้นยังมีรายละเอียดอีกมาก เล่าตรงนี้เกรงว่าจะมากความ ด้วยประการฉะนี้ที่เล่ามา จึงออกเป็นกลอนได้ว่า ‘จิบเหล้ากบฏ นอนขดที่แม่จริม’
อย่าล้อเล่นกับเมืองน่ารัก เพราะเมืองจะทำให้เราคิดถึงวนไปวนมา