fbpx

ฮอยอัน – ณ ที่สิ้นสุดของบางสิ่ง

ฮอยอัน, พฤศจิกายน 2022

ฉันจดจำได้ ไม่เรียงลำดับตามนี้

-กาแฟดำสองกระป๋องในช่วงสายของวันฝนพรำ

-กลิ่นอับของกาลเวลาในช่องอิฐมืดดำ

-เสียงกระซิบบอกใกล้หู “ชั้นบนๆ” ของหนุ่มร่างสันทัด

-เพลง ‘ขอใจแลกเบอร์โทร’ ดังสนั่นบนแม่น้ำทูโบน

-วิสกี้หนึ่งแก้วกับเกี๊ยวกุหลาบบนโต๊ะที่รสชาติเข้ากันจนใจเจ็บ

-ป้าขายผลไม้พับเงิน 150,000 ดองใส่ในกระเป๋าอย่างระมัดระวัง

สิ่งสุดท้ายนี้ฉันไม่ได้เห็นเอง ทว่าสิ่งซึ่งคุณจดจำได้ในท้ายที่สุด อาจไม่ใช่สิ่งเดียวกับที่คุณเห็นเสมอไป

1

อันที่จริงจะเริ่มต้นเรื่องแบบอื่นก็ได้ แต่เพราะฉันพก ณ ที่สิ้นสุดของบางสิ่ง ของจูเลียน บาร์นส์ ฉบับแปลโดยโตมร ศุขปรีชาไปอ่านที่ฮอยอันด้วย เลยอยากเริ่มเรื่องด้วยวิธีของบาร์นส์สักครั้ง

ถ้าไม่นับอาคารเก่าสีเหลืองสวย ฉากหลังของฮอยอันสำหรับฉันคือมวลอารมณ์ในหนังสือเล่มนี้ ความทรงจำของชายสูงวัยที่เต็มไปด้วยความผิดพลาดในวัยหนุ่ม ความทรงจำที่แม้จะเข้าข้างตัวเองมากที่สุดแล้ว แต่ก็ยังมีบาดแผลเกาะกินหัวใจติดตัวมาถึงวัยชรา และเมื่อความทรงจำอันรางเลือนปรากฏตัวผ่านหลักฐานที่ชัดเจนหนักแน่น ยิ่งสั่นคลอนความรู้สึกจนมนุษย์คนหนึ่งแทบแหลกสลาย

พล็อตเรื่องแบบนี้ ไปเล่าให้ใครฟังคงโดนปรามาสว่า นี่มิใช่เป็นเพียงเรื่องเล่าความทรงจำแหลกสลายที่มีอีกร้อยพันเรื่องหรอกหรือ – สำหรับฉันคือไม่ ของแบบนี้วัดกันที่รายละเอียด และ ณ ที่สิ้นสุดของบางสิ่ง ก็ส่งผ่านเรื่องเล่าเล็กน้อยได้ทรงพลังอย่างยิ่ง

ฉันพลิกหน้าแรกของหนังสือบนดาดฟ้าร้านกาแฟสีเหลืองสวยในโอลด์ทาวน์ พระอาทิตย์กำลังอ่อนแรง แต่กลายเป็นว่านี่คือช่วงเวลาที่มันงดงามที่สุด

โต๊ะไม้เตี้ยๆ ขายาวเกะกะนั่งไม่สบาย ลมพัดโกรก ค็อกเทลราคาถูก หนังสือคนละเล่มในมือ และบทสนทนาที่โผล่มาสั้นๆ ชั่วครู่ยามอย่างรู้จังหวะ คือคำอธิบายหลวมๆ ของห้วงเวลานี้ คุณหามันไม่ได้จากที่ไหนหรอก ยกเว้นเวลาที่คุณปลดภาระงานไว้ข้างหลัง แล้วตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะไม่ทำอะไรนอกจากพักผ่อน ช่วงเวลาที่ผ่านไปอย่างสงบนี้ไม่เคยสูญเปล่า

ถ้าจะอธิบายโอลด์ทาวน์ในฮอยอันสั้นๆ ให้พอเห็นภาพ สถานที่แห่งนี้เหมือนจับเอาคาเฟ่ บาร์ และร้านอาหารของทั้งกรุงเทพฯ มาวางเรียงรายให้อยู่ในหมู่อาคารกลุ่มเดียวกัน คาเฟ่สวยทุกร้าน บาร์มี happy hour ทุกร้าน เวลาไม่ซ้ำกันจนกลายเป็นว่าทั้งวันคือ happy hour ส่วนร้านอาหารไม่ต้องพูดถึง ทำไมไม่มีใครเคยบอกว่าอาหารเวียดนามหลากหลายและอร่อยขนาดนี้

นาทีที่ฉันตักเกี๊ยวกุหลาบขาว (White Rose dumplings) เข้าปาก และตามด้วยเบียร์ Larue เย็นเฉียบ ฉันตัดสินใจแล้วว่าจะทำเรื่องนี้ซ้ำอีกร้อยรอบได้อย่างไม่เบื่อหน่าย

คลองเล็กแคบไหลผ่านกลางเมือง อาคารสีเหลืองทองและโคมไฟประดับประดาทั่วเมือง ทำให้โอลด์ทาวน์เหมือนเมืองในเรื่องแต่ง เรือไม้ไผ่จอดเรียงรายอยู่ชายฝั่ง นักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกเดินเตร็ดเตร่อยู่ริมน้ำ และนั่งเปิดเบียร์อยู่บางมุมของบาร์อย่างเพลินใจ เพราะที่นี่เป็นเมืองท่องเที่ยว จึงไม่มีใครเดินเร็ว ถ้าจะมีใครสักคนเดินเร็ว ก็คือคนที่พยายามหนีแม่ค้าขายกระทงเท่านั้น นอกเหนือจากนั้นทุกย่างก้าวคือความเชื่องช้า – การทำอะไรเร็วๆ คือบาปข้อแรกของที่นี่

ฮอยอันเคยเป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงศตวรรษที่ 16-17 ฮอยอันเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่พ่อค้าและเรือจากทั่วโลกมุ่งหน้ามาที่นี่ โดยเฉพาะพ่อค้าชาวจีน ญี่ปุ่น ดัตช์ และอินเดีย เพราะทำเลที่ตั้งอยู่ปากแม่น้ำทูโบน เมืองขนาดเล็กริมฝั่งทะเลจีนใต้นี้จึงคับคั่งไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา

เวลาผ่านมากว่า 400 ปี ฮอยอันก็ยังเป็นหมุดหมายของคนจาก ‘ที่อื่น’ แม้ไม่ได้มาในนามพ่อค้า แต่ผู้คนก็พร้อมจะมาใช้จ่ายเงินที่นี่ในนามของการพักผ่อนหย่อนใจ

เราสองคนเลือกมื้อค่ำเป็นก๋วยเตี๋ยวคนละชามในร้านที่มีโต๊ะเล็กเตี้ย ก๋วยเตี๋ยวเวียดนามอร่อย และมีมะนาวลูกใหญ่เท่าส้มวางเป็นเครื่องเคียงอยู่เสมอ ฉันสั่งเมนู Mì Quảng ที่เป็นเมนูพื้นฐานของที่นี่ ส่วนเตย-วจนา วรรลยางกูร ผู้ร่วมเดินทางอีกคนสั่งอีกหนึ่งเมนูที่จำชื่อไม่ได้ อาหารอร่อยเช่นเคย ก่อนเราจะตัดสินใจเดินไปตามตรอกของโอลด์ทาวน์เพื่อหาบาร์นั่ง

ด้วยความที่ในอาคารแถบนั้นเป็นร้านอาหาร คาเฟ่ และร้านขายของทั้งหมด การแย่งชิงลูกค้าจึงเป็นเรื่องปกติ หลายร้านตั้งอยู่ชั้นสองหรือบนดาดฟ้า ทำให้มองจากข้างล่างไม่เห็น วิธีแก้ปัญหาคือการส่งพนักงานมาคอยเรียกลูกค้าขึ้นไปข้างบน

เด็กหนุ่มคนหนึ่งเห็นเราเดินผ่านหน้าร้าน คงเห็นท่าทางยึกยักยังตัดสินไม่ได้ว่าจะนั่งร้านไหน เด็กหนุ่มมุ่งตรงเข้ามาหาและกระซิบว่า “ชั้นบนๆ” ราวกับกำลังบอกความลับอันยิ่งใหญ่ ถ้าเป็นที่ไทยคงนึกว่าข้างบนมีกัญชาหรือขายแก๊สลูกโป่งอะไรทำนองนั้น เรายอมทำตามคำชักชวนของชายหนุ่มขึ้นไปด้านบน และพบว่ามีฝรั่งนั่งอยู่ก่อนแล้วหลายโต๊ะ บรรยากาศเหมือนร้านสเต็กข้างโรงเรียนมัธยมที่ไม่เปิดเพลง ดูสีหน้าแววตาของหลายคนแล้วคงเจอ ‘ชักชวนบอย’ กระซิบขึ้นมาเหมือนกัน

แม้ร้านจะเห็นวิวแม่น้ำชัดเจน แต่กลายเป็นว่าเบียร์ไม่อร่อยเท่าที่คิด เพราะบรรยากาศในร้านไม่ได้ เราเลยตัดสินใจมุ่งหาร้านค็อกเทลที่อยู่ไกลออกไปจากโอลด์ทาวน์ โชคดีที่โลกนี้มีกูเกิลแมป เมื่อหาร้านได้ เรามุ่งหน้าไปที่จอดจักรยาน และปั่นออกไปอย่างแข็งขัน

2

ร้านค็อกเทลตั้งอยู่ติดถนน ตรงข้ามเป็นศาลเจ้าเล็กเงียบ เราเลือกที่นั่งเป็นโต๊ะเตี้ยริมฟุตบาท เสียงแตรจากมอเตอร์ไซค์ดังทุกวินาทีที่นั่งอยู่ตรงนั้น

ร้านค็อกเทลนี้วางธีมตัวเองเป็นคอมมิวนิสต์ ไล่ตั้งแต่ชื่อร้าน Tank ไปจนถึงเก้าอี้สนาม มีหมวกสีเขียวดาวแดงประดับด้านใน สีร้านเป็นโทนสีเขียวทหาร พร้อมด้วยที่วางทิชชู่สแตนเลสแบบบุบๆ ทุกอย่างดูสวยงามและเท่ แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นปริศนาคือ กล่องสแตนเลสที่ลึกและใหญ่วางอยู่บนโต๊ะอย่างว่างเปล่า ถ้าเป็นปกติเราคงพอจะเดาได้ว่าเป็นที่เขี่ยบุหรี่ แต่ปัญหาของมันคือขนาดที่ใหญ่กว่าที่เขี่ยบุหรี่มากๆ จนจินตนาการไม่ออกว่าต้องรุมสูบกันกี่คอตตอนถึงจะสาแก่ใจที่เขี่ยนี้ เช่นเดียวกันกับที่กล่องก็ดูสกปรกเกินกว่าจะเป็นจานรองกินข้าว เราเก็บความสงสัยไว้ในใจ จนกระทั่งพนักงานเสิร์ฟของร้านเดินผ่านมา

“ขอถามอะไรหน่อยได้มั้ยคะ” ฉันเปิดประเด็น พนักงานหยุดเดินและตอบไว “ได้ครับ”

“อันนี้คืออะไรอะ” ฉันถามพลางชี้ไปที่กล่องสแตนเลสนั้น

“อ๋อ เป็นปิ่นโตสนามที่ทหารใช้ในช่วงสงครามครับ” เขาตอบ “อันนี้เป็นกล่อง” เขาชี้ไปที่กล่องใส่ทิชชู่ “ส่วนอันนี้เป็นฝา” เขาชี้ไปที่ที่เขี่ยบุหรี่ในสมมติฐานของเรา แล้วเดินจากไป

คำถามสำคัญก็คือ เราไม่ได้อยากรู้ว่ามันเคยเป็นปิ่นโตสนามหรือเปล่า แต่อยากรู้ว่ามันใช่ที่เขี่ยบุหรี่ไหมจะได้ทำตัวถูก อาจเพราะเราเลือกคำถามผิด ทุกวันนี้คำถามนี้ยังเป็นปริศนาธรรม

ในร้านไม่ค่อยมีลูกค้ามากนัก ฉันเลยเดินไปหน้าบาร์เพื่อดูบาร์เทนเดอร์ชงค็อกเทล หน้าตาเขาไม่ค่อยรับแขก แต่ไม่ใช่คนใจร้ายอะไร ร่างผอมสูงของเขาเคลื่อนที่อยู่หลังบาร์อย่างคล่องแคล่ว หยิบจับแก้ว ยกขวดเหล้า เทน้ำเชื่อม และเขย่าแก้วเชคได้เนียนตา พนักงานเสิร์ฟอีกคนยืนอยู่ใกล้ๆ คอยเช็ดแก้วเปล่าให้สะอาด

“เป็นคนที่นี่กันเลยรึเปล่าคะ” ฉันโยนคำถามหลังดื่มคอกเทลไปสองแก้ว

“ใช่ครับ คนที่นี่ ฮอยอันคือบ้านเกิดผม” พนักงานเสิร์ฟตอบแทนทั้งเขาและบาร์เทนเดอร์

จากการพูดคุยถึงรู้ว่าพนักงานในร้านอาหาร คาเฟ่ และบาร์ย่านโอลด์ทาวน์ ล้วนเป็นคนฮอยอัน เมื่อบ้านเกิดของพวกเขาเป็นเมืองท่องเที่ยว การมีอาชีพอยู่ที่บ้านตัวเองจึงเป็นเรื่องเป็นไปได้

เรื่องนี้ได้รับการยืนยันอีกครั้งจากไกด์ชาวเวียดนามที่พาเราไปปราสาทหมี่เซิน ระหว่างทางจากฮอยอันไปหมี่เซิน เขาชี้ออกไปนอกหน้าต่างรถตู้ ทุ่งนาเดียวดายปรากฏเป็นฉากริมทาง

“คุณเห็นทุ่งนาพวกนั้นไหม” ไกด์ว่า “ที่ฮอยอัน ไม่มีใครทำนาแล้วละ ทุกคนเข้าไปทำงานในธุรกิจท่องเที่ยวกันหมด”

ฉันหันมองทุ่งนาสีซีดจนลับตา

เมื่อดื่มจนได้ที่ และคิดว่าไม่ควรเมามายไปมากกว่านี้ เราจึงตัดสินใจเช็กบิลและปั่นจักรยานกลับที่พัก มีอะไรให้ทำอีกมากในวันถัดไป

3

วันรุ่งขึ้นเราตื่นสาย ปั่นจักรยานมาดื่มกาแฟ หาร้านอาหารเที่ยงแบบพื้นถิ่น เมื่ออิ่มหนำก็มุ่งไปหาร้านกาแฟอีกรอบ หยิบ ณ ที่สิ้นสุดของบางสิ่ง มาอ่านต่อ ตัวละครเติบโตจากวัยมัธยมเข้าสู่มหา’ลัยแล้ว เหมือนที่เราค่อยๆ เติบโตไปกับการทำความรู้จักฮอยอัน เราเตร็ดเตร่ไปทั่วเมืองเก่า เข้าร้านนั้นออกร้านนี้ เดินชมวัดและบ้านโบราณที่กลิ่นของความเก่าอบอวลอยู่ในเนื้อไม้ เข้าช่วงบ่ายร่างกายเริ่มกระปรี้กระเปร่า สลัดแอลกอฮอล์ออกไปจากเลือดได้หมดจด จึงกดเรียกรถไปที่แม่น้ำทูโบน ที่ตั้งของการล่องเรือมะพร้าว หรือ Coconut Boat อันลือลั่น

ท่าเรือ Coconut Boat อยู่ไกลจากโอลด์ทาวน์ประมาณ 20 นาทีขับรถ เมื่อเราไปถึงท่าเรือ มีเพิงที่เอาไว้ตั้งโต๊ะเตี้ยๆ ไว้ดื่มน้ำพักผ่อน สถานที่แห่งนั้นต้อนรับเราด้วยวงไพ่อันเงียบสงบ จะว่าแปลกตาก็แปลก เพราะที่ไทยเราจะไม่พบเจอวงไพ่ที่เงียบสงบเช่นนี้ แต่จะครื้นเครงไปด้วยเสียงเกทับของคนในวง แต่ที่เวียดนาม ผู้คนเล่นไพ่เงียบงันราวกับโขกหมากรุก และเมื่อมีคนแปลกหน้าเดินเข้าไป พวกเขาเพียงเงยหน้าจากไพ่มามองแล้วยิ้มให้ ไม่มากไม่น้อยไปกว่านั้น

เมื่อตกลงราคาได้ที่ คุณลุงคนพายเรือก็พาเราลงเรือเล็กกลมรูปทรงเหมือนกะลามะพร้าว ยื่นมือให้จับราวกับเราเป็นเจ้าหญิง และเมื่อเราลงลำเดียวกันแล้ว หลังจากนั้นชีวิตของเราก็อยู่ในกำมือของคุณลุง

คุณลุงสวมเสื้อสีฟ้าแขนยาว มีหมวกแก๊ปสีขาวกันแดดแบบมืออาชีพ ถามชื่อเสียงเรียงนามได้ว่า ‘ลุงเซิน’

ลุงเซินมีรอยยิ้มตลอดเวลาแม้ในยามพูด ระหว่างการล่องเรือ มีเสียงผู้คนครื้นเครงอยู่บนเรือลำอื่นลั่นไปทั่วท้องน้ำ บางจุดเป็นกลุ่มทัวร์ที่มีเรือกว่าสิบลำล่องเรียงกัน

“อันนี้มาเลเซีย อันนั้นเกาหลี” คุณลุงชี้บอกไปที่กลุ่มนักท่องเที่ยว ได้ยินเสียงเพลงจากลำโพงไกลๆ ลุงเซินกำลังพาเราเข้าไปในวงคอนเสิร์ตนั้น

คุณลุงพูดไทยได้หลายคำ หนึ่งในนั้นคือคำว่า “หนึ่ง สอง ซั่ม” ตอนที่กำลังถ่ายรูปให้เรา

อาชีพนี้ไม่ใช่ว่าใครก็ทำได้ เพราะคุณต้องมีความสามารถในการพายเรือ ถ่ายรูปไปด้วยประคองเรือไปด้วย แนะนำแม่น้ำ และหมุนเรือโชว์

แม่น้ำใสและนิ่ง มีแต่ผู้คนบนผืนน้ำเท่านั้นที่ไม่นิ่ง เมื่อล่องเรือเข้าไปใกล้จุดศูนย์กลางคอนเสิร์ต ฉันถึงกับตาค้างเพราะเห็นคนยืนบนเรือและใช้เท้ากับไม้พายทำเรือหมุนคว้างเป็นจังหวะตามเพลง เพลงที่ใช้ประกอบเป็นเพลงจีนท่วงทำนองสนุกสนาน นักท่องเที่ยวทุกคนยกโทรศัพท์ขึ้นถ่ายภาพ

“คุณลุงทำแบบนั้นได้มั้ยคะ” ฉันถาม และในวินาทีถัดมาก็รู้สึกผิดทันที เพราะคล้ายกับว่าไปแหย่รังแตนเข้าเสียแล้ว คุณลุงหันมายิ้มให้ แล้วตอบเร็วว่า “ได้ จะเอาเลยมั้ย”

ยังไม่ทันปฏิเสธ คุณลุงก็ลุกขึ้นยืน แล้วใช้เท้ากดพื้นเรือเป็นจังหวะ พาเราหมุนคว้างกลางแม่น้ำเหมือนอยู่บนมอเตอร์ไซค์ไต่ถัง นาทีนั้นอาหารเที่ยงพื้นเมืองอันแสนอร่อยขึ้นมาจุกที่คอ มือจับที่นั่งแน่น แววตาเหม่อลอยไม่รู้จะโฟกัสตรงไหน และก่อนที่อาหารจะหลุดออกมา คุณลุงก็หยุดการแสดงและหันมายิ้มให้อย่างพึงใจ

เหตุการณ์นี้สอนให้รู้ว่า อย่าหาถาม

กิจกรรมต่อจากนั้นคือการล่องเรือไปตามเวทีคอนเสิร์ตต่างๆ ซึ่งคือเรือผูกกันเป็นแพ บนนั้นมีลำโพงและนักร้องซึ่งก็คือคนพายเรือนั่นแหละที่ยืนอยู่บนนั้น เพลงมีหลายแบบ ทั้งเวียดนาม จีน เกาหลี แต่ที่เห็นจะทีเด็ดที่สุดและเป็นวงที่มีคนล้อมมากที่สุดคือเวทีคอนเสิร์ตที่กำลังเปิดเพลง ‘ขอใจแลกเบอร์โทร’

นักท่องเที่ยวเกาหลีเพยิบปากตามเนื้อร้อง “ท่านกำลังเข้าสู่บริการรับฝากหัวใจ ลงทะเบียนฝากไว้ ตัวเอากลับไป ใจให้เก็บรักษา”

ไม่รู้จะอธิบายภาพที่เห็นอย่างไร แต่นาทีนั้นเหมือนกำลังอยู่ในถนนข้าวเหนียวในวันสงกรานต์ยังไงยังงั้น

เราล่องเรือบนแม่น้ำทูโบนประมาณ 45 นาทีก็ครบรอบ วนฟังเพลงและสบตากับนักท่องเที่ยวอยู่หลายที ก่อนจะกลับมาถึงฝั่งด้วยภาวะเพลียแดด

เรากลับมาที่โอลด์ทาวน์ตอนบ่ายแก่ ปั่นจักรยานทั่วเมืองเพื่อตามหาพิพิธภัณฑ์ ก่อนจะพบว่าปิดปรับปรุง ในจังหวะที่เรากำลังยืนเก้ๆ กังๆ ว่าจะไปไหนต่อ ก็เจอคุณป้าแบกผลไม้มาขายให้ เมื่อปฏิเสธในคราวแรก แกไม่ยอม ก่อนจะหยิบตะกร้าและหมวกมาใส่ให้หญิงสาวเพื่อนร่วมเดินทางสะพาย แล้วยกนิ้วโป้ง ปากบอกว่า “บิวติฟูลๆ”

ในนาทีที่คงหนีไม่รอด และรู้เขาหลอก แต่เต็มใจให้หลอก ฉันยกกล้องขึ้นถ่ายไป 3-4 ภาพ เมื่อติดกับ คุณป้าบอกราคามาทันทีที่ 200,000 ด่อง ฉันปฏิเสธกลับไปแทบไม่ต้องคิด เพราะนั่นคิดเป็นเงินไทยประมาณ 300 บาท มันแพงเกินไปสำหรับอะไรแบบนี้ คุณป้าจับส้มและลำไยยัดใส่ถุงยื่นให้ ฉันบอกไปว่า “ที่ไทย ผลไม้เท่านี้ราคาแค่ 20 บาทเท่านั้นแหละ” แต่ป้าไม่ยอม ต่อราคาไปมา จนเหลือที่ 150,000 ด่อง ฉันจำใจยื่นเงินให้ ป้าหยิบลำไยออกหนึ่งพวงเล็ก แล้วส่งถุงผลไม้มาให้

เราจบกันตรงนั้น และเสียใจที่รู้ทั้งรู้แต่ก็ยังเสียท่าให้ป้า

4

หลังจากสองวันอันเหน็ดเหนื่อย วันรุ่งขึ้นเราตื่นแต่เช้าเพื่อเดินทางไปที่ปราสาทหมี่เซิน มีรถตู้มารับถึงที่พัก ไกด์หน้าตาเหมือน Simu Liu พระเอกเรื่อง Shang-Chi ลงจากรถมาต้อนรับอย่างยิ้มแย้ม

เพื่อนร่วมทางบนรถตู้ของเรามีคู่รักชาวอินเดีย ครอบครัวชาวไต้หวัน และหนุ่มสาวเยอรมัน นั่งมาด้วยกัน เราทั้งหมดกลายเป็นนักเรียนของไกด์ เขาเล่าเรื่องระหว่างทางว่าเรากำลังจะไปดูนครศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสำคัญอันดับต้นๆ ของอาณาจักรจามปาตั้งแต่ศตวรรษที่ 4-15

ไกด์เล่าข้อมูลทั่วไปของเวียดนามได้น่าสนใจหลายเรื่อง หนึ่งเรื่องที่ฉันชอบคือเรื่องเก้าอี้เตี้ยของชาวเวียดนาม

“คุณเห็นคนเวียดนามชอบออกมานั่งตรงเก้าอี้เล็กๆ หน้าบ้านหรือตามฟุตบาทใช่ไหม คุณสงสัยไหมว่าทำไมเขาต้องออกมานั่งแบบนั้น” คุณครูโยนคำถาม นักเรียนชาวอินเดียตอบแบบเด็กหน้าห้องว่า “สงสัยยย”

“เพราะที่เวียดนามร้อน และบ้านพวกเราไม่ค่อยมีแอร์ เลยต้องออกมานั่งรับลม” คุณครูคลายข้อสงสัยแล้วส่งยิ้ม ฉันไม่แน่ใจนักว่าการออกมานั่งหน้าบ้านจะเย็นกว่าอยู่ในบ้านจริงไหม หากอุณหภูมิเรารันไปถึง 40 องศา

เขายังเล่าอีกว่าเวียดนามมีประชากรประมาณ 100 ล้านคน และมีจำนวนประชากรมอเตอร์ไซค์กว่า 70 ล้านคัน แน่นอนว่าเรื่องตัวเลขไม่จำเป็นต้องบอก เพราะแค่มองด้วยตาเปล่าก็เข้าใจตั้งแต่แรกพบแล้ว ฉันเคยเขียนเอาไว้ว่า “เด็กในเวียดนามนอกจากจะต้องหัดเดินแล้ว การขับมอเตอร์ไซค์น่าจะเป็นเรื่องแรกๆ ที่เขาทำได้พร้อมเดิน”

เมื่อเราไปถึงปราสาทหมี่เซิน ฉันในฐานะคนคลั่งไคล้ประวัติศาสตร์และเพิ่งอ่านหนังสือเกี่ยวกับปราสาทจบไปเมื่อไม่นานได้แต่ตาค้าง กลุ่มปราสาทตั้งอยู่กลางหุบเขา ปราสาทที่สร้างขึ้นเพื่อสักการะพระศิวะแห่งนี้ยิ่งใหญ่และโอบอุ้มกาลเวลาเอาไว้ในก้อนอิฐ ยิ่งฝนที่ตกลงมาในตอนเช้าทำให้อากาศขมุกขมัวปลุกเร้าบรรยากาศเคร่งขรึม ไกด์บอกว่าที่จริงมีหลายกลุ่มปราสาทกว่านี้ แต่หลายแห่งถูกทำลายไปในช่วงรบกับอเมริกา ระเบิดหลายลูกถูกปล่อยลงมาทำลายปราสาทอิฐอย่างราบคาบ แต่ถึงอย่างนั้น ที่ยังเหลืออยู่ก็ยังสวยงามสมกับชื่อ Mỹ Sơn ที่แปลว่า ขุนเขาอันงดงาม

“ที่นี่คนเวียดนามไม่ค่อยมาหรอก มันเป็นบาดแผล เป็นความเจ็บปวด” ไกด์บอก เพราะอเมริกันเข้ามาทำลายอะไรหลายอย่าง และในวันที่โลกยังไม่ได้ให้ค่ากับการอนุรักษ์ โบราณสถานและโบราณวัตถุก็ถูกทำลายไปจำนวนมากอย่างน่าเจ็บปวด

“ที่เวียดนามมีคำพูดที่ว่า ‘ฝรั่งเศสสร้าง อเมริกันทำลาย’” ไกด์พูดเมื่อชี้ซากชิ้นส่วนรูปปั้นพระศิวะให้เราดู ฉันมองนิ่ง พูดไม่ออก

ปราสาทของชาวจามมีเอกลักษณ์คือการสร้างด้วยอิฐ ในขณะที่ปราสาทในอินเดียหรือเขมรจะสร้างด้วยหิน ฉันเดินเข้าไปห้องมืดดำใจกลางปราสาท หรือที่เรียกว่า ครรภคฤห์ แม้เป็นระยะทางสั้นๆ แต่ความมืดมิดและอับชื้นทำให้ความกลัวเข้าจับกุมหัวใจ

กลิ่นอับในความมืดมิดที่ไม่มีอากาศ ทำให้เหมือนกำลังเผชิญหน้ากับอดีตอย่างจังงัง เป็นกลิ่นอับที่ไม่มีที่ไหนเหมือน เพราะนี่คือกลิ่นของอิฐที่โอบอุ้มกาลเวลาเอาไว้กว่าพันปี ฉันอยู่ในนั้นได้ไม่ถึงนาทีก็ตัดสินใจเดินออกมาเพราะทนมวลที่อัดแน่นนั้นไม่ไหว

เดินจนครบทุกปราสาท ก็ถึงเวลาเดินออกมาจุดรวมพล – เพราะตื่นเช้าเกินไปทำให้ไม่มีเวลาดื่มกาแฟ คนขาดกาแฟสองคนจึงมุ่งไปที่ร้านชำ ซื้อกาแฟดำกระป๋องของเวียดนามมาคนละกระป๋อง ซัดไม่กี่อึกก็หมดด้วยความกระหาย – นี่เป็นกาแฟที่อร่อยที่สุดครั้งหนึ่งในทริปนี้

เรากลับมาที่โอลด์ทาวน์ในช่วงบ่าย ร่างกายแข็งแรงและแช่มชื่น เลือกนั่งบาร์ริมทางที่มีอาหารและเบียร์ขาย ฉันสั่งเกี๊ยวกุหลาบขาวมาทานอีกรอบ เตยสั่งคอกเทล ฉันสั่งเบียร์หนึ่งขวด หยิบ ณ ที่สิ้นสุดของบางสิ่ง ขึ้นมาอ่าน และเมื่อถึงตอนที่ตัวละครจิบวิสกี้ ฉันยกมือเรียกพนักงาน สั่งวิสกี้กับโซดามาหนึ่งแก้ว

นาทีถัดจากนั้นคือความเงียบ ในมือของฉันคือ ณ ที่สิ้นสุดของบางสิ่ง ส่วนคนที่นั่งตรงข้ามกำลังอ่าน เพราะความรักมิอาจเร่งร้อน

นี่เป็นความสงบที่ยิ่งใหญ่ เป็นบางสิ่งที่มิอาจเร่งร้อน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save