fbpx

จากกิโลเมตรที่ศูนย์สู่ตะวันออกเฉียงเหนือ: Wonderful Tonight บนถนนมิตรภาพ

1

“กูเกิลแมปเขาได้ค่าจ้างจาก อบต. เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนหรือเปล่า” ฉันเอ่ยปากพลางหมุนพวงมาลัย เมื่อได้ยินเสียงหญิงสาวในโปรแกรมสั่งให้เลี้ยวซ้ายออกจากถนนใหญ่เพื่อใช้ทางหลวงชนบทแทน

คนนั่งข้างๆ หัวเราะ – เอ็ม เมธิชัย เจ้าเดิม ช่างภาพผู้รับหน้าที่เปิดเพลงและดูแผนที่ได้อย่างยอดเยี่ยมยามเดินทางด้วยกัน

จากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 226 ขับสบายๆ กลายเป็นถนนสองเลนเล็กแคบ รถเลาะไปตามกำแพงวัด เรือกสวนไร่นา และโรงเรียนประถมที่กำแพงสีเขียวอื๋อ ต้องคอยระวังรถมอเตอร์ไซค์ที่จอดข้างที่นาของคนในชุมชน เข็มความเร็วจึงแตะได้ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

“หรือไม่ถนนใหญ่คงสร้างทางข้างหน้า” ฉันถามเองตอบเอง – เหมือนเคย ถ้าไม่ใช่เรื่องจำเป็นต้องพูด เอ็มจะไม่พูด มีแค่เรื่องดนตรี การวิ่ง และการถ่ายภาพเท่านั้นแหละที่พอจะง้างปากให้เขาพูดเกินสองประโยคได้ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องชวนลำบากใจ การเงียบไม่เป็นต่างหากที่ทำให้คนหงุดหงิดกัน

หากนับถอยหลังตามเลขไมล์ ก่อนหน้านี้เราเพิ่งออกมาจากในเมืองอุบลราชธานี เสร็จสิ้นการสัมภาษณ์เพื่อทำสารคดี ‘Lasting Legacy – มรดกประชาธิปไตยในอีสาน’ ตามถ่ายเรื่องราวของพานรัฐธรรมนูญและสัญลักษณ์ประชาธิปไตยในอีสาน – สัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงการตื่นตัวของผู้คนในพื้นที่ ‘ไกลปืนเที่ยง’ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475

ที่อุบลราชธานี มีสะพานข้ามแม่น้ำมูลที่เชื่อมระหว่างอำเภอเมืองและวารินชำราบ สะพานที่เลนรถมุ่งจากเมืองไปสู่วารินฯ ชื่อว่า ‘สะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี’ ส่วนเลนที่มุ่งจากวารินฯ เข้าสู่ตัวเมืองชื่อว่า ‘สะพานเสรีประชาธิปไตย’ คนอุบลฯ ล้วนเรียกทั้งสองสะพานว่า ‘สะพานมูล’ แม้จะมีชื่อทางการติดไว้ตรงกลางสะพานก็ตาม เรื่องที่น่าสนใจคือ ทั้งสองสะพานไม่ใช่แค่สวนทางกันด้วยทิศถนน แต่ประวัติของชื่อก็สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง

สะพานหนึ่งตั้งชื่อเพื่อเฉลิมฉลองอุบลราชธานีครบ 200 ปี ควบคู่ไปกับสะพาน 200 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ที่อยู่กรุงเทพฯ ในปี 2535

อีกสะพานหนึ่งตั้งชื่อเพื่อเฉลิมฉลองประชาธิปไตย ในยุคของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในปี 2497

สะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี เป็นเส้นทางจาก ‘ส่วนกลาง’ สู่ ‘ชายขอบ’

สะพานเสรีประชาธิปไตยเป็นเส้นทางจาก ‘ชายขอบ’ สู่ ‘ส่วนกลาง’

หากมีใครสักคนบอกว่าโลกนี้ไม่มีเรื่องบังเอิญ สะพานมูลของชาวอุบลฯ อาจเป็นข้อพิสูจน์

“ที่อุบลฯ ไม่มีอนุสาวรีย์พานรัฐธรรมนูญเหมือนหลายจังหวัดในอีสาน แต่เรามีสะพานชื่อเสรีประชาธิปไตย ที่ตั้งชื่อตรงไปตรงมาที่สุด ถ้าจะถามหามรดกจากยุคคณะราษฎร” ธีระพล อันมัย อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี เล่าให้พวกเราฟัง

อันที่จริง นอกเหนือไปจากสถานะแหล่งข่าว ในนามของคนรู้จักมักคุ้น ชื่อที่ฉันใช้เรียกคล่องปากกว่าคือ ‘อาจารย์ธีร์’

เขาเป็นนักเขียน อาจารย์ และนักดนตรีฝีมือหาตัวจับยาก เจ้าของหนังสือรวมเรื่องสั้น ตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์บางลำพู

ฉันรู้จักอาจารย์ธีร์ครั้งแรกที่ร้าน The Writer’s Secret ริมถนนนครสวรรค์ ในสมัยที่ฉันยังเป็นกองบรรณาธิการที่นิตยสารไรท์เตอร์ เขาสวมเสื้อยืดและกางเกงยีนส์เสมอ ไม่มากไม่น้อยไปกว่านั้น ผมยาวประคอ ปล่อยผมแสกกลางแบบไม่ตั้งใจเซ็ต ยิ้มฟันขาวจริงใจ และพูดลาวใส่ฉันทันทีตั้งแต่รู้ว่าเป็นคนขอนแก่น หลังจากนั้นก็กลายเป็นคนรู้จักมักคุ้น เราเคยร่วมวงชนแก้วกันหลายครั้ง แต่วันนี้ว่ากันด้วยเรื่องงาน

เรานัดคุยที่ร้านส่งสาร ร้านกาแฟใกล้แม่น้ำมูลที่มีจุดยืนทางการเมืองชัดเจนว่าไม่เอาเผด็จการ ‘พี่เป็ด’ เจ้าของร้านต้อนรับเราด้วยกาแฟร้อนชั้นยอดและหมุดคณะราษฎรจำลองในชั้นวางของ มีเสื้อยืดจากงานรำลึกผีบุญของอาจารย์ถนอม ชาภักดี ผู้ล่วงลับ แขวนอยู่บนผนังอย่างพอเหมาะสายตา

ในช่วงเช้าที่ลูกค้าไม่พลุกพล่าน พี่เป็ดยืนชงกาแฟไปพลาง ฟังเราสัมภาษณ์กันไปพลาง

“สัมภาษณ์คราวนี้จะให้พูดไทยหรือพูดลาว” อาจารย์ธีร์ถามทีเล่นทีจริงก่อนเริ่มสัมภาษณ์

ถ้าเป็นวัตรปกติ ยามเจอหน้า แทบไม่มีครั้งไหนที่เราพูดไทยใส่กัน ศัพท์และสำเนียงแบบลูกอีสาน native speaker ออกมาจากกกลิ้นโดยไม่ต้องพยายาม พูดให้ชัดกว่านั้นก็ว่า ‘แตกลาวซวดๆ ใส่กัน’ แต่คราวนี้อาจต้องปรับท่าที

“เอาไทยหรือเอาลาว เอ็ม” ฉันหันไปถามช่างภาพผู้อยู่หลังขาตั้งกล้อง เอ็มยิ้มแล้วตอบว่า “ไทยดีกว่าครับ สงสารคนตัดต่อด้วย” จังหวะนั้นหัวเราะครืนกันทั้งคนถามคนตอบ

“ครั้งนี้ขอรวมศูนย์หน่อยแล้วกันเด้อ” ฉันพูดหยอกอาจารย์ธีร์ก่อนเริ่มสัมภาษณ์ เรายิ้มอย่างคนเข้าใจกัน

ในเนื้อหาของบทสัมภาษณ์ คุยกันอย่างไร อาจต้องละไว้แล้วชวนให้ไปชมในสารคดีตัวเต็ม

นั่งสัมภาษณ์ในร้านอาจยังไม่เห็นภาพ อาจารย์ธีร์พาเราไปเดินที่สะพานข้ามแม่น้ำมูล รถราวิ่งขวักไขว่ผ่านแผ่นหลังไปแค่ระยะมิลลิเมตร เห็นช่างกำลังทาสีตรงคำว่า ‘สะพานเสรีประชาธิปไตย’ จากสีเหลืองกระดำกระด่างเป็นสีเหลืองทองชัดขึ้น มองไปสะพานด้านข้าง คำว่า ‘สะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี’ ทาสีเสร็จแล้ว ทุกตัวอักษรคมชัดและใหม่เอี่ยม

ฉันมองแล้วคิด คำว่า ‘เสรีประชาธิปไตย’ แม้จะอยู่ในกระบวนการแต่งแต้มสี แต่สำหรับภารกิจนี้ ใช้เวลาหนึ่งวันก็คงทำสำเร็จ แต่สำหรับเสรีประชาธิปไตยในโลกจริง กว่ากระบวนการจะสำเร็จคงไม่ง่ายแบบนี้แน่ๆ

แม่น้ำมูลเบื้องล่างไหลเชี่ยว สายน้ำแห่งนี้เป็นเลือดเนื้อและชีวิตของชาวอุบลฯ คำว่า ‘มูน’ ในภาษาลาวแปลว่า ทรัพย์สิน มรดก ของมีค่าจากบรรพบุรุษ คำที่ได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่พูดบ่อยๆ คือคำคู่อย่าง ‘มูนมัง’ หมายถึงข้าวของมีค่า บ้านเรือนหรือเงินทอง – มากไปกว่านั้น ธรรมชาติและภูมิปัญญาก็ย่อมนับเป็นมูนมังเช่นกัน

จาก ‘มูน’ กลายเป็น ‘มูล’ เมื่อราชการต้องการให้เป็นเช่นนั้น แต่แม่น้ำมูลยังคงเป็นมูนมังสำคัญของผู้คนในลุ่มน้ำจนถึงทุกวันนี้ – ในบางเสี้ยววินาที ฉันเห็นมูนส่องแสงยามต้องแดด

จากแดดสายที่ร้อนพอทนไหว เริ่มกลายเป็นแดดเที่ยงที่แสบหลัง เราเดินกลับมาที่ร้านส่งสาร การสัมภาษณ์เป็นไปอย่างที่คาด เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ฉันกล่าวลาอาจารย์ธีร์และพี่เป็ด แม้ใจจะอยากอยู่อุบลฯ ต่ออีกสักคืน เพราะได้ข่าวว่าร้านอาหารและคาเฟ่ที่นี่น่าไปเยี่ยมเยือนอยู่หลายร้าน แต่ฉันกับเอ็มมีภารกิจต่อที่อนุสรณ์รัฐธรรมนูญที่สุรินทร์ และงานกองใหญ่ที่ต้องกลับมาสะสางที่กรุงเทพฯ ในวันรุ่งขึ้น เมื่อการเดินทางอันยาวไกลรออยู่ การร่ำลาจึงเป็นเรื่องจำเป็น

“แล้วค่อยนัดกันไปเที่ยวแม่น้ำโขงนะ” อาจารย์ธีร์ชวนทิ้งท้าย ฉันตอบตกลงไว้ล่วงหน้ายาวๆ แม้ไม่รู้แน่ชัดว่าจะได้เจอกันอีกเมื่อไหร่

2

“ให้ตายเถอะโรบิน ที่ฉันได้ยินมันจริงรึเปล่า

ให้ตายเถอะค้างคาว ช่างเป็นเรื่องราวที่ทนไม่ไหว

ใครคนไหนกล้าทำให้เธอเจ็บใจ

ใครคนไหนกล้าทำให้เธอเศร้าใจ

เป็นใครคนไหน บอกกันได้ไหม” 

เสียงนุ่มๆ ในเพลง Robin ของธีร์ ไชยเดช ดังขึ้นจากลำโพงรถยนต์ เอ็มมีหน้าที่ควบคุมเพลงบนรถคันนี้ ข้างทางเป็นสีเขียวขจีกินระยะทางยาวนาน กูเกิลแมปบอกว่าอีกสิบกิโลเมตรกว่าเราจะไปเชื่อมกับทางหลวง 226 อีกครั้ง ระหว่างนี้การเปิดเพลงฟังเป็นความเพลิดเพลินที่ควรกระทำ

“ขังตัวเองอยู่ในบ้าน บอกตัวเองให้เขียนเพลงให้ได้อีกสักเพลงสองเพลง จะได้ปิดอัลบั้มนี้เสียทีเพราะมันเนิ่นนานมามากพอแล้ว  …สองวันผ่านไปบรรทัดแรกยังไม่ได้เลย วางกีต้าร์แล้วสบถกับตัวเองออกมาว่า ‘ไอ้โอ๋เอ้ย ให้ตายเหอะไอ้โรบินเอ้ย…’ แล้วก็มาสะดุดด้วยคำนี้ประโยคนี้แหละ นั่งลงแล้วหยิบกีต้าร์ขึ้นมาใหม่ แล้วก็เริ่มต้นเขียนขึ้นด้วยประโยคนี้ โรบินก็จบได้ใน 40 นาที แปลกเนอะให้ตายเถอะ…”

เอ็มอ่านประโยคนี้ให้ฟัง หลังจากเพลงผ่านท่อนฮุกไปแล้ว

“หมายถึงใคร พี่ธีร์ ไชยเดชเหรอ” ฉันถาม

“ใช่ เขาเขียนเบื้องหลังเพลงไว้ในแคปชัน” เอ็มตอบ

ฉันหัวเราะแล้วว่า “ต่อให้เก่งแค่ไหน ทุกคนก็ต้องเคยผ่านภาวะแบบนี้เนอะ ไอ้การเขียนไม่ออกเนี่ย”

เราคุยกันต่อว่า ถ้าเบื้องหลังเป็นอย่างที่ธีร์ ไชยเดชเขียนเล่า ก็ไม่แปลกที่เนื้อเพลง Robin จะออกมาแบบนี้ ฟังครั้งแรกยังจับทางไม่ได้ว่าเล่าเรื่องอะไร ต้องฟังอีกสองสามครั้งถึงจะพอรู้ว่าเป็นการอกหักแบบไม่เศร้าเท่าไหร่ แม้จริงๆ จะเศร้ามากก็ตาม

การเอาคำตามสมัยนิยมอย่าง ‘ให้ตายเถอะโรบิน’ มาไว้ในเพลงรัก ถ้าไม่เก๋าจริง คงออกมาประดักประเดิดน่าดู แต่นาทีนี้ โรบินกับจอร์จคือผู้กล่อมบรรเลงการเดินทางได้อย่างยอดเยี่ยม

ระหว่างฟังธีร์ ไชยเดช ฉันไพล่นึกถึงอัลบั้มเพลงของธีร์ อันมัย คนที่เราเพิ่งจากมาเมื่อชั่วโมงก่อน

ในรถคันเก่า ฉันติดแผ่นซีดีเพลงของอาจารย์ธีร์ไว้ในช่องเก็บแผ่นเสียงตลอด ช่วงหนึ่งฟังวนจนแผ่นเป็นรอย เสียดายที่แผ่นซีดีติดไปกับรถที่จอดอยู่บ้านขอนแก่น คราวนี้เลยไม่ได้หยิบออกมาเปิดฟัง ไม่อย่างนั้นอาจได้ประชัน ‘สองธีร์’ กันสักตั้ง

ใช้ระยะเวลาหลายเพลงจบ รถก็มาโผล่ตรงทางหลวงหมายเลข 226 กลับมาทำความเร็วได้อีกครั้ง ถนนเส้นนี้ขับสบาย เป็นเส้นเลือดใหญ่ของการเดินทางในอีสานใต้ ถนนเส้นยาวนี้เริ่มจากอำเภอวารินชำราบที่อุบลฯ ผ่านศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และไปสุดทางที่สามแยกหัวทะเล อ.เมือง โคราช ระยะทางรวมกว่า 300 กิโลเมตร

ชาวบ้านแถบนั้นเรียกเส้น 226 ว่า ‘เส้นใน’ แต่ยังมีถนนสายประธานของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘เส้นนอก’ ที่แยกตัวออกมาจากถนนมิตรภาพคือทางหลวงหมายเลข 24 รู้จักกันในชื่อถนนสีคิ้ว-เดชอุดม ที่กินความยาวกว่า 400 กิโลเมตร

ถนนทั้งสองเส้นเป็นถนนลูกของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 หรือเรียกอย่างคุ้นหูกว่านั้นคือ ‘ถนนมิตรภาพ’ ถนนเส้นใหญ่ที่เริ่มต้นจากสระบุรี เข้าโคราช ขอนแก่น อุดรธานี ไปสุดที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาวที่หนองคาย

ในตอนเด็กฉันเข้าใจเสมอมาว่า คำว่า ‘มิตรภาพ’ หมายถึงมิตรภาพไทย-ลาว แต่เมื่อโตขึ้น พอจะเข้าถึงหนังสือหนังหาประวัติศาสตร์ได้แล้ว จึงค่อยรู้ว่า คำว่า ‘มิตรภาพ’ บนถนนที่มุ่งสู่ที่ราบสูงนี้คือมิตรภาพระหว่างไทย-อเมริกา หรือที่พูดภาษาปากกันว่าเป็นถนนที่ ‘อเมริกามาสร้างให้’ ซึ่งเริ่มสร้างในปี 2498 ช่วงการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ นั่นคือ 1 ปีหลังจากการเปิดใช้งานสะพานเสรีประชาธิปไตยที่อุบลฯ

ถนนมิตรภาพเป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนอีสาน เป็นตัวเชื่อมคนที่นี่ไปสู่ข้างนอกและเชื่อมคนข้างนอกเข้ามาที่นี่ ขณะเดียวกัน ถนน ‘ลูกๆ’ ที่แตกยอดจากทางหลวงหมายเลข 2 ก็ทำหน้าที่เชื่อมการเดินทางของผู้คนหลายชีวิตบนแผ่นดินผืนใหญ่นี้  

บนถนนเส้น 226 พอเริ่มเข้าเขตจังหวัดศรีสะเกษ ป้ายชื่อหมู่บ้านเริ่มอ่านออกเสียงได้เป็นภาษาเขมร และเป็นอย่างนั้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเราขับถึงตัวเมืองสุรินทร์ บนถนนกลางเมืองมีรถอยู่ 2-3 คันที่มีป้ายทะเบียนเป็นภาษาเขมร นอกจากนี้ยังมีป้ายหลายจุดมีภาษาเขมรเขียนกำกับ ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสำหรับเมืองที่มีพื้นที่ติดกัมพูชาเช่นนี้

ฉันขับรถมุ่งไปที่ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ เพื่อไปถ่ายอนุสรณ์รัฐธรรมนูญที่ชาวสุรินทร์ร่วมใจกันสร้างเมื่อปี 2479 อนุสรณ์ตั้งอยู่ริมกำแพง แม้ไม่โดดเด่นแต่ก็ไม่ถึงกับถูกทิ้งร้าง ตรงฐานมีแผ่นจารึกรายชื่อผู้ร่วมบริจาคเงินสร้างอนุสรณ์ ตัวหนังสือยังคมชัด สิ่งที่น่าสนใจของอนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์คือฐานด้านล่างที่สลักหลัก 6 ประการของคณะราษฎรนั้น ในหลักข้อ 3 ที่ควรจะเป็นคำว่า ‘เศรษฐกิจ’ กลับถูกเปลี่ยนเป็นคำว่า ‘ความสามัคคี’

ทุกวันนี้เรื่องนี้ยังคงเป็นปริศนาธรรมว่าทำไมต้องเปลี่ยน ใครเปลี่ยน และหากจะเปลี่ยน ทำไมจึงเลือกข้อเศรษฐกิจ แทนที่จะเป็นข้อเสรีภาพ ที่ดูเหมือนว่ามีหลายคนขัดอกขัดใจกับการมีอยู่ของมัน

ไกลจากอนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์ไปกว่า 400 กิโลเมตร คณะราษฎรกำหนดให้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ถนนราชดำเนินในกรุงเทพมหานครเป็น ‘กิโลเมตรที่ศูนย์’ เพื่อสื่อความนัยถึงการเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยที่จะวิ่งกระจายไปทั่วประเทศ แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ โดยยังไม่ต้องมีกิโลเมตรที่ศูนย์ ที่มหาสารคามก็เริ่มต้นสร้างสัญลักษณ์ประชาธิปไตยไปก่อนแล้ว

อนุสาวรีย์พานรัฐธรรมนูญที่แรกในประเทศไทยไม่ได้เกิดขึ้นที่ถนนราชดำเนิน แต่เกิดขึ้นในจังหวัดที่ห่างไกลเมืองหลวงกว่า 475 กิโลเมตรอย่างมหาสารคาม พวกเขาสร้างอนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญมหาสารคามแล้วเสร็จในปี 2477 ก่อนหน้างานเปิดตัวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ราชดำเนินในปี 2483 ถึง 6 ปี

อันที่จริงหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็มีพานรัฐธรรมนูญจำนวนมากผุดขึ้นทั่วแผ่นดินที่ราบสูง ไล่ไปตั้งแต่ ร้อยเอ็ด (2479) สุรินทร์ (2479) ขอนแก่น (คาดว่า 2486) บุรีรัมย์ (คาดว่า 2487) ชัยภูมิ ฯลฯ ณ ปัจจุบันหลายแห่งยังอยู่ หลายแห่งถูกย้ายให้หลบมุม และบางแห่งถูกทุบทำลาย

การผุดขึ้นของพานรัฐธรรมนูญเหล่านี้อาจเป็นข้อโต้แย้งสำคัญของคำพูดอย่าง ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ หรือ ‘ประชาชนไม่รู้เรื่องด้วย’ ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรเมื่อ 90 ปีที่แล้ว และปัจจุบันพื้นที่เหล่านี้ยังถูกใช้ในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในต่างวาระต่างพื้นที่

3

เราเลิกงานพร้อมดวงอาทิตย์ นาฬิกาบอกเวลาเกือบ 6 โมงเย็น แต่วันนี้พระอาทิตย์เลิกงานไวกว่าปกติเพราะต้องหลบทางให้เมฆก้อนมหึมาที่ตกลงมาเป็นฝนห่าใหญ่

เราเดินทางต่อ ขับยาวจากสุรินทร์มุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพฯ ใช้เวลาไม่นานก็เข้าเส้นมิตรภาพ ถนนสายหลักที่ไม่จำเป็นต้องเปิดกูเกิลแมปแล้ว – ไม่ให้เสียชื่อคนขับรถที่ใช้ถนนเส้นนี้มาเป็นสิบปี

ร่างกายป้อแป้ แต่สมองและหัวใจยังกระปรี้กระเปร่า หลังจากฟังทุกเพลงที่ชอบบนโลกใบนี้ไปแล้วในระยะเวลา 2-3 ชั่วโมงที่ผ่านมา เอ็มเลือกเปลี่ยนบรรยากาศด้วยการเปิดรายการในช่องยูทูบ Historock TV ให้ฟังระหว่างเราขับอยู่ช่วงปากช่อง – เราเลือกชีวิตของ Eric Clapton

เอ็มบอกก่อนกดเล่นว่า “ฟังแล้วจะทึ่งว่าชีวิตคนคนหนึ่งจะเจออะไรได้มากขนาดนี้”

คนเล่าเรื่องเล่าได้ทั้งฮาและเศร้า ระยะเวลากว่าชั่วโมงสนุกเหมือนนั่งรถไฟเหาะ และหลังจากฟังจบ คำพูดของเอ็มอาจบอกอะไรได้น้อยเกินไปด้วยซ้ำ “ชีวิตคนคนหนึ่งจะเจออะไรได้มากขนาดนี้”

หลังจากฟังเรื่องราวชีวิตอันปวดร้าวของ Eric Clapton เอ็มเปิด Wonderful Tonight เวอร์ชันเล่นสดให้ฟัง

โดยไม่ต้องมีบทสนทนา พวกเราตั้งใจฟังอีริกกรีดกรายนิ้วบนกีตาร์และเสียงร้องแสนหวาน (ที่เสียงกีตาร์อาจหวานกว่า) ท่ามกลางถนนสีดำมืดมิด ไอฝนเกาะกระจก รถบรรทุกขับเรียงกันตลอดเลนซ้าย ส่วนเลนขวามีรถกระบะเจ้าถิ่นขับแซงไปคันแล้วคันเล่า มีเพียงแสงไฟหน้ารถและเสียงเพลงเท่านั้นที่นำทางเราไป

เรากำลังมุ่งหน้าไปหากิโลเมตรที่ศูนย์ – หรือในทางกลับกัน เราอาจเดินทางมาจากกิโลเมตรที่ศูนย์ได้หลายร้อยกิโลเมตรแล้ว อยู่ที่ว่าจะนับแบบไหน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save