fbpx
ปราบทรชนด้วยวิชามาร Sicario: Day of the Soldado

ปราบทรชนด้วยวิชามาร Sicario: Day of the Soldado

‘นรา’ เรื่อง

Sicario เป็นหนังปี 2015 ผลงานกำกับของเดนีส์ วิลล์เนิฟ เล่าถึงเคท เมเซอร์ FBI สาว ซึ่งถูกดึงตัวไปร่วมกับทีมเฉพาะกิจ ภายใต้การนำของ CIA นาม แม็ตต์ เกรเวอร์ และมือสังหารผู้มีประวัติความเป็นมาลึกลับชื่ออเลฮานโดร ทั้งหมดเดินทางข้ามพรมแดนเข้าไปยังเม็กซิโก เพื่อทลายแก๊งค้ายาเสพติด แล้วต่อมาหญิงสาวก็พบว่า ตัวเธอเองเป็นเพียงเบี้ยหมากเครื่องมือที่โดนหลอกใช้ เพื่อให้ภารกิจสีเทาเข้มจนเกือบมืดดำนี้ เกิดขึ้นเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ปราบทรชนด้วยวิชามาร Sicario: Day of the Soldado

หนังมีความโดดเด่นมาก ในการนำพาผู้ชมไปสัมผัสกับโลกอาชญากรรมอันมืดมนและโหดร้ายอย่างละเอียดถี่ถ้วน เข้มข้น หนักแน่น สมจริง เต็มไปด้วยอารมณ์กดดันตึงเครียด และลุ้นระทึกเร้าใจตั้งแต่ต้นจนจบ

สิ่งที่ยอดเยี่ยมยิ่งกว่าก็คือ เนื้อหาสาระซึ่งลงลึกไปไกล ไม่ได้เล่าจำกัดอยู่เพียงแค่การต่อสู้ขับเคี่ยวระหว่างความดีกับความชั่วเท่านั้น ทว่ายังครอบคลุมไปถึง เบื้องหลังการปราบปรามที่เกี่ยวพันกับเหตุผลแรงจูงใจทางการเมือง, ความตรงข้ามสวนทางกันระหว่างการกระทำด้วยเจตนาเป้าหมายที่ถูกต้องดีงามกับวิธีการลงมือที่ไม่สะอาดโปร่งใส, และความขัดแย้งภายในใจของตัวละครหลักๆ ระหว่างความเชื่อในเชิงอุดมคติกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง

ด้วยมาตรฐานสูงลิ่วที่หนังเรื่อง Sicario ได้สร้างไว้ รวมถึงเหตุการณ์ที่จบบริบูรณ์ในตัว การปรากฏขึ้นในอีก 3 ปีต่อมาของ Sicario: Day of the Soldado อันเป็นภาคสอง จึงทำให้ผมคิดติดลบล่วงหน้าไปสารพัดสารพันตั้งแต่ยังไม่ทันได้ดู

แรกสุดเป็นความรู้สึกปรามาสว่า นี่เป็นหนังภาคต่อที่ไม่จำเป็นต้องมี ไม่จำเป็นต้องสร้างออกมาก็ได้

ถัดมาคือ หนังภาคสองปราศจากทีมงานตำแหน่งสำคัญๆ หลายรายในภาคแรก อย่าง เดนีส์ วิลเนิฟผู้กำกับและโรเจอร์ ดีกินส์ผู้กำกับภาพ (ทั้งคู่ไปทำหนังเรื่อง Blade Runner 2049 ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน), เอมิลี บรันท์ และโยฮานน์ โยฮานน์สันคนทำดนตรีประกอบ ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อช่วงต้นปี

กำลังหลักที่ขาดหายไปนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งผู้กำกับ จากมือดีที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ในเรื่องคุณภาพอย่าง เดนีส์ วิลล์เนิฟ มาเป็นมือใหม่ที่เพิ่งมีผลงานผ่านตาผู้ชมไม่มากนัก (แม้จะได้รับคำชมอยู่เยอะก็ตาม) อย่างสเตฟาโน โซลลิมา ทำให้แลดูสุ่มเสี่ยงและมีโอกาสสูงยิ่งที่จะมีผลลัพธ์ลงเอยเช่นเดียวกับหนังภาคสองส่วนใหญ่ ซึ่งมักจะทำออกมาได้ด้อยกว่า ปะเหมาะเคราะห์ร้ายก็กลายเป็นการปู้ยี่ปู้ยำย่ำยี จนความประทับใจที่เคยมีต่อภาคแรกลดทอนเจือจางลง

ความหวั่นกังวล ตีตนไปก่อนไข้นี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะผมคนเดียวนะครับ เท่าที่ได้อ่านบทวิจารณ์ของฝรั่งหลายๆ ชิ้น มีคนคิดแบบผม (หรือผมคิดตรงกับเขา) อยู่เยอะทีเดียว

อย่างไรก็ตาม มีเครื่องรางของขลังที่พอจะเป็นยันต์กันเหนียว ชวนให้รู้สึกใจชื้นกระเตื้องขึ้นมาบ้างเหมือนกัน นั่นคือ Sicario: Day of the Soldado ยังคงเป็นผลงานการเขียนบทของเทย์เลอร์ เชอริแดน (นอกจาก Sicario แล้ว เขายังเป็นเขียนบทเรื่อง Hell or High Water และ Wind River ซึ่งมีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ดีมากเช่นกัน)

รวมถึงการหวนคืนกลับมารับบทบาทเดิมของ 2 นักแสดงระดับยอดฝีมืออย่าง จอช โบรลินและเบนิซิโอ เดล โทโรที่เคยสร้างความประทับใจมาแล้วจากภาคแรก และได้บทที่เด่นมากขึ้น เปิดโอกาสให้ ‘ปล่อยของ’ มากขึ้นในภาคสอง

Sicario:Day of the Soldado, แม็ตต์ เกรเวอร์, อเลฮานโดร

โดยตัวเรื่องแล้ว Sicario:Day of the Soldado ไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องต่อเนื่องกับภาคแรก (คนที่ไม่เคยดูมาก่อน สามารถเริ่มที่ภาคนี้ได้เลยครับ) เป็นเพียงพฤติการณ์ตอนใหม่ของ 2 ตัวละครหลัก คือ แม็ตต์ เกรเวอร์กับอเลฮานโดร

หนังเริ่มต้นด้วยการแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับธุรกิจเคลื่อนย้ายชาวเม็กซิกันข้ามชายแดนลอบเข้าสู่สหรัฐอเมริกา

ในบรรดาคนต่างด้าวที่แอบเข้ามายังอเมริกาเหล่านี้ บ้างก็มาด้วยเจตนาหวังดิ้นรนแบบไปตายเอาดาบหน้า เพื่อแสวงหาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ขณะที่อีกจำนวนไม่น้อยก็อาศัยช่องทางดังกล่าว ลักลอบขนยาเสพติด

สถานการณ์ดังกล่าว เป็นเหตุการณ์ปกติ เกิดขึ้นและมีมาช้านาน ผลัดกันเป็นฝ่ายได้เปรียบเสียเปรียบอยู่เรื่อยมา แต่แล้วก็มีสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไป และส่งผลกระทบสร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างใหญ่หลวง

นั่นคือ การลักลอบนำพาผู้ก่อการร้ายเข้ามาในอเมริกา

ประดาผู้ก่อการร้ายเหล่านั้น เมื่อฝ่าข้ามพรมแดนเข้ามาได้สำเร็จ ก็พากันลงมือปฏิบัติภารกิจตามแผน ‘ระเบิดพลีชีพ’ ทำลายทรัพย์สิน สร้างความเสียหาย และคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ กลายเป็นเหตุร้ายอุกอาจสะเทือนขวัญ

ผลจากการสืบสวนเบื้องต้น ทราบว่ากลุ่มผู้ก่อการร้ายดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนและความช่วยเหลือจากคาร์ลอส เรเยส เจ้าพ่อค้ายาเสพติดผู้มีอิทธิพลและเรืองอำนาจ

ระดับสูงเบื้องบนของรัฐบาลอเมริกัน จึงมีคำสั่งผ่านลงมาถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ใช้มาตรการตอบโต้ขั้นเด็ดขาด ทำสงครามเต็มอัตราศึก (แบบไม่ป่าวประกาศเปิดเผยและไม่เป็นทางการ) ซึ่งแน่นอนว่า เป็นการเล่นเกมใต้ดินสกปรก ผิดกฎหมาย ขาดจริยธรรม และไม่แยแสคำนึงถึงวิธีการ

แม็ตต์ เกรเวอร์ถูกเรียกตัวมา เพื่อปฏิบัติภารกิจนี้ ด้วยคุณสมบัติตรงกับที่รัฐมนตรีกล่าวไว้ว่า “dirty is exactly why you’re here”

เป้าหมายหลักคือ ปลุกปั่นยุยงให้บรรดาแก๊งพ่อค้าเสพติด เปิดศึกทำสงครามเข่นฆ่ากันเอง โดยมีคาร์ลอส เรเยสเป็นใจกลางของความขัดแย้ง เริ่มจากสังหารโหดบุคคลสำคัญในแก๊งคู่อริ (พร้อมทั้งทิ้งร่องรอยซัดทอดโยนความผิดว่าเป็นการกระทำของแก๊งเรเยส)

จากนั้นก็ลักพาตัวอิซาเบล เรเยส ลูกสาวของคาร์ลอส ให้ดูเหมือนเป็นการลงมือล้างแค้นของฝ่ายศัตรู

Sicario:Day of the Soldado

จุดใหญ่ใจความของหนัง เริ่มขึ้นหลังจากขั้นตอนเบื้องต้นสำเร็จลุล่วงไปตามแผน แต่แล้วก็เกิดปัจจัยเหนือความคาดหมายเข้าแทรกแซง จนทุกอย่างค่อย ๆ เบี่ยงเบนเฉไฉออกนอกลู่นอกทาง ไม่เป็นไปตามคาด

ซ้ำร้ายยังเกิดปัญหาเฉพาะหน้าให้ต้องตามแก้ไขคลี่คลายไปทีละเปลาะ กลายเป็นเรื่องเดือดร้อนอีรุงตุงนังวกเข้าตัวฝ่าย CIA เสียเอง บวกกับสถานการณ์ ‘ลมเปลี่ยนทิศ’ ประธานาธิบดีและรัฐบาลมีหนทางอื่นที่สะดวกง่ายดายกว่า ในการกอบกู้ภาพพจน์และรักษาคะแนนนิยม แม็ตต์ เกรเวอร์และลูกทีม รวมถึงอเลฮานโดร จึงถูกทิ้งทุ่นลอยแพ ให้ยุติภารกิจและทำทุกอย่างเพื่อ ‘ปิดปาก’ ใครก็ตามที่เผอิญมีส่วนร่วมรู้เห็นกับแผนโสมมครั้งนี้

เรื่องราวที่เหลือถัดจากนี้ คือการขมวดปมขัดแย้งเข้มข้นเป็นเงื่อนตาย ให้ผู้ชุมลุ้นระทึกว่า ตัวละครจะเผชิญหน้ารับมือกับสถานการณ์คับขันนี้ได้อย่างไร?

พ้นจากเนื้อเรื่องหลักดังกล่าวแล้ว หนังยังมีอีกเส้นเรื่องเล็ก ๆ เล่าถึงเด็กชายวัย 14 ปีชื่อมิเกล ซึ่งได้รับการชักชวนให้ทำงานผิดกฎหมาย เป็นสมาชิกแก๊งลักลอบพาคนหลบหนีเข้าอเมริกา

เรื่องราวส่วนนี้ เล่าแทรกขนานกันอยู่ตลอดเวลา เริ่มแรกก็ดูแยกขาดไม่เกี่ยวข้องกัน (จนชวนให้นึกสงสัยว่าใส่เข้ามาทำไม) แต่แล้วก็ค่อย ๆ เคลื่อนขยับเข้าหากัน จนท้ายที่สุดก็ดำเนินไปสู่จุดบรรจบที่สำคัญและส่งผลต่อบทสรุปคลี่คลายของหนัง

ขณะที่ดู Sicario:Day of the Soldado เมื่อผ่านพ้นไปได้ประมาณ 10 นาที ผมก็ปลอดโปร่งโล่งอก พอจะมองเห็นทิศทางของหนังว่า ปลอดรอดพ้นจากการเป็นหนังภาคต่อจำพวก ‘เสียของ’ และเมื่อติดตามจนจบก็ชื่นชอบและพึงพอใจมาก

ภาคสองนี้ อาจจะไม่มีพลังความสดใหม่ดังเช่นที่เคยรู้สึกสัมผัสได้ในภาคแรก แต่หนังก็ฉลาดที่จะเลือกมุ่งไปอีกทางที่ให้อรรถรสแตกต่าง ขณะเดียวกันประเด็นเนื้อหา วิธีคิด และการกระทำของตัวละครหลัก (แม็ตต์ เกรเวอร์กับอเลฮานโดร) ก็ยังคงเกาะเกี่ยวเป็นเนื้อเดียวกันกับของเดิม และเด่นในการขยายความให้รายละเอียด จนได้ภาพรวมคมชัดขึ้น

ทิศทางที่แตกต่างระหว่างทั้ง 2 ภาค อาจสรุปรวบรัดได้ว่า มีอยู่ใน 2 ส่วน อย่างแรกคือ พล็อต ภาคแรกนั้นใช้ตัวละคร FBI สาว ทำหน้าที่เป็นตัวแทนนำพาผู้ชมเข้าไปสัมผัสกับโลกแห่งการค้ายาเสพติดและการปราบปราม ผ่านมุมมองของเธอ ขณะที่ภาค 2 ใช้ตัวละครอิซาเบลเป็นมุมมองบุคคลภายนอก เข้ามาสำรวจโลกและวิธีการทำงานของฝ่าย CIA

ความแตกต่างต่อมาคือ อารมณ์โดยรวมของหนัง Sicario เน้นการสร้างความตึงเครียด บรรยากาศอึดอัดกดดัน แล้วค่อย ๆ เร่งเร้าไปสู่ความลุ้นระทึกเร้าใจ ขณะที่ Sicario:Day of the Soldado มาทางแอ็คชันทริลเลอร์เต็มตัว

ควรต้องบอกกล่าวไว้ด้วยครับว่า ปริมาณของฉากแอ็คชันที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นเรื่องของจำนวนความถี่บ่อยในการปรากฏเสียมากกว่า ไม่ใช่แอ็คชันแบบสู้กันสะบั้นหั่นแหลกยืดเยื้อสะใจ เกือบทุกครั้งมักจะเกิดขึ้นจบลงในชั่วพริบตา และถ้าจะมองกันในแง่ความสนุกแบบหนังแอ็คชัน ก็ไม่ใช่ความสนุกเร้าใจจากการออกแบบคิวบู๊โลดโผนวินาศสันตะโร แต่เป็นความระทึกจากการค่อยๆ สร้างสถานการณ์บีบคั้นหัวใจทีละน้อย หรือไม่ก็จู่โจมเล่นงานผู้ชมแบบนึกไม่ถึง ไม่ทันตั้งตัวเตรียมใจ

ที่สำคัญคือ หลาย ๆ ฉากแอ็คชันในหนัง สะท้อนไปยังความโหดร้าย ความรุนแรง น่าสะพรึงกลัว และเศร้าสะเทือนใจที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกันอย่างอำมหิตเลือดเย็น

กล่าวโดยสรุปให้เข้าใจง่าย ผมคิดว่ามันเป็นหนังบู๊ที่มีกรรมวิธีค่อนข้างไปทางบุ๋นนะครับ

ลักษณะโดยรวมเช่นนี้ ส่งผลให้ทั้งสองภาค ดีไปคนละอย่าง ภาคแรกหนักแน่นเข้มข้นกว่า ภาคสองสนุก ดูง่ายต่อการติดตามกว่า ส่วนที่ยังคงอยู่ในมาตรฐานใกล้เคียงสูสีกันคือ ความตื่นเต้นลุ้นระทึก

ตอนที่ดู Sicario สิ่งที่ผมจดจำได้และประทับใจมากคือ การที่หนังพาผู้ชมไปสัมผัสกับโลกอาชญากรรมในเม็กซิโก ซึ่งเต็มไปด้วยความผสมปนเประหว่างความดิบเถื่อน ความสยดสยองจนเกือบจะเข้าขั้นเหนือจริง ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยความน่าเชื่อถือสมจริง เหมือนการท่องดินแดนประหลาดที่มีสิ่งพิลึกพิลั่นสารพัน แต่มีความเป็นไปได้รองรับ

Sicario:Day of the Soldado ไม่มีบรรยากาศข้างต้นให้เห็นกันมากนัก สิ่งที่หนังพาผู้ชมไปเจอะเจอ แลดูเป็นหนังสะท้อนภาพด้านลบในแวดวงการเมืองอเมริกันเสียมากกว่า ทั้งแง่มุมปฏิบัติการลับในต่างแดนสู้รบรับมือกับกลุ่มผู้ก่อการร้าย (เพื่อผลประโยชน์ของชาติตนเอง หรือบางทีอาจจะเป็นเพียงแค่ผลประโยชน์ส่วนตัวของบางคนในรัฐบาลเสียด้วยซ้ำ), การหันเหเอาตัวรอดแบบพร้อมจะทรยศหักหลังหรือกำจัดฝ่ายเดียวกันได้ทุกขณะ เพื่อให้ตนเองหลุดจากร่างแหพ้นความผิด (และไม่ต้องรับผิดชอบ) เมื่อสถานการณ์นั้นแปรเปลี่ยน มีทีท่าว่าสิ่งที่ทำลงไปกลายเป็นความผิดพลาด, ตลอดจนการชิงไหวชิงพริบขับเคี่ยวเล่มเกมการเมืองระหว่างกันแบบต่างฝ่ายต่างใช้ผู้อื่นเป็นเบี้ยในกระดาน

แง่มุมและเนื้อหาทำนองนี้ เคยมีการเล่าสะท้อนเอาไว้ในหนังและซีรีส์มากมายหลายเรื่อง Sicario:Day of the Soldado เป็นอีกครั้งหนึ่งที่นำเสนอประเด็นเดิม ๆ ออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรม กระจ่างชัด และทำให้ความสลับซับซ้อนนั้นกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย

เนื้อหาส่วนถัดมาที่ผมคิดว่า ทำได้ดีและน่าสนใจ คือ การเล่นกับประเด็นความเป็น ‘คนสีเทา’ ของตัวละครแม็ตต์ เกรเวอร์และอเลฮานโดร ซึ่งมีเป้าหมายเจตนาและวิธีการลงมือทำงาน ตรงข้ามสวนทางกันโดยสิ้นเชิง ระหว่างการพยายามทำให้สิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ด้วยลู่ทางเลวร้ายเปื้อนบาป (จนบ่อยครั้ง อาจแลดูต่ำทรามยิ่งกว่าพฤติกรรมของเป้าหมายที่พวกเขามุ่งกำจัดเสียด้วยซ้ำ)

หนังทั้งสองภาคเก่งในการทำให้ พฤติกรรมของแม็ตต์และอเลฮานโดร น่าชิงชังรังเกียจ แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงทำให้ผู้ชมยอมรับ และเผลอเอาใจช่วยตัวละครทั้งคู่ไปด้วยพร้อมๆ กัน (ตรงนี้ผมคิดว่า การกำหนดบุคลิกของตัวละคร และฝีมือของนักแสดงมีส่วนช่วยอยู่มากทีเดียว)

แง่มุมเช่นนี้ เป็นการต่อยอดเพิ่มเติม จากรายละเอียดที่เคยเกริ่นและปูพื้นไว้ในภาคแรก แต่สิ่งที่คลี่คลายและพัฒนาขึ้นก็คือ เงื่อนปมช่วงท้าย ๆ เรื่องที่บีบต้อนให้ตัวละครทั้งสองต้องพบกับความขัดแย้งภายในใจอันใหญ่หลวง และนำไปสู่สถานการณ์ทางเลือกที่ ‘ตัดสินใจลำบาก’ จนค่อยๆ เผยให้เห็นอีกด้านหนึ่ง นอกเหนือจากความเป็นมืออาชีพที่เต็มไปด้วยความเลือดเย็น ไร้หัวจิตหัวใจ นั่นคือ ความเป็นมนุษย์ที่เปราะบางหวั่นไหว และรู้สึกรู้สากับชีวิตของผู้อื่น

ข้อดีงามอีกอย่างของหนังก็คือ การทำให้เห็นซีกด้านบวกบางประการของตัวละครเหล่านี้ แต่ถึงที่สุดแล้วชีวิตของพวกเขาก็ยังดำเนินต่อไปในวิถีทางเดิม ไม่ได้บรรลุธรรมจนเปลี่ยนจากคนบาปมาเป็นนักบุญ

ชื่อหนัง Sicario นั้นมีความหมายว่า ‘นักฆ่า’ ส่วน Soldado แปลว่า ‘ทหาร’ ตามความเข้าใจของผม (ซึ่งไม่ยืนยันว่าจะถูกต้องนะครับ) น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงเส้นทางชีวิตที่มีลักษณะเป็นวงจรของมือสังหาร ซึ่งได้แก่ตัวละคร อเลฮานโดร ตั้งแต่ที่มาที่ไปอันชักนำให้เขาต้องก้าวเข้าสู่โลกโชกเลือด ชีวิตความเป็นไปหลังจากนั้น รวมถึงชะตากรรมค่อนข้างแน่ชัดว่าจะมีบั้นปลายเช่นไร และรวมไปถึงการกำเนิดสืบทอดต่อเนื่องของวงจรใหม่

กล่าวโดยสรุป Sicario:Day of the Soldado เป็นภาคต่อที่สอบผ่านด้วยคะแนนที่อยู่ในเกณฑ์ดีเลยครับ เนื้อเรื่องและเหตุการณ์จบครบถ้วนในตัว ไม่มีอะไรให้ต้องค้างคาใจเหมือนภาคแรก แต่ข้อแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ คือ มีการทิ้งเชื้อให้สามารถสร้างต่อไปได้อีก

ถ้าจะให้ผมเดา ผมคิดว่ามีภาค 3 แน่นอน และผมเองก็อยากดูมากๆ ด้วย แต่มีข้อแม้ว่า ต้องเขียนบทโดยเทย์เลอร์ เชอริแดนเท่านั้น (ผมสัญญากับตัวเองไว้แล้วว่า จะติดตามผลงานของเขาในระยะยาว) รวมทั้งนักแสดงซึ่งผมระบุเงื่อนไขรายละเอียดไม่ได้ว่าต้องเป็นเช่นไร? เพราะเกี่ยวโยงกับความลับสำคัญของหนัง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save